READING

ลูกไปเอานิสัยไม่ดีมาจากไหน!?: 5 เหตุผล ที่บอกว่าทำ...

ลูกไปเอานิสัยไม่ดีมาจากไหน!?: 5 เหตุผล ที่บอกว่าทำไมลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารัก

นิสัยไม่ดี

ทั้งที่พยายามเลี้ยงดูและคอยเตือนคอยสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ เพราะอยากให้ลูกเป็นที่รักของทุกคน แต่บางทีลูกก็ยังแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกมา จนคุณพ่อคุณแม่อดสงสัยไม่ได้ว่าลูกไปเอา นิสัยไม่ดี มาจากไหน

คำอธิบายก็คือ เมื่อเด็กไม่สามารถใช้คำพูดอธิบายว่าพวกเขากำลังคิดหรือต้องการอะไรได้ดีพอ พวกเขาก็ใช้วิธีสื่อสารผ่านพฤติกรรมและการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา

Dr. Laura Markham นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เขียนหนังสือ Peaceful Parent, Happy Kids: How to Stop Yelling and Start Connecting ได้กล่าวไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เด็กทำ คือความพยายามที่จะตอบสนองความต้องการหรือแสดงความรู้สึกที่ถูกต้อง แม้ว่าเราจะทำตามความต้องการของเด็กๆ ไม่ได้ทุกอย่าง แต่ความรู้สึกและความต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอ แม้ว่าเด็กๆ จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น เมื่อลูกมองมาที่คุณพ่อคุณแม่ และทิ้งซีเรียลลงบนพื้น—นั่นอาจเป็นการขอความช่วยเหลือบางอย่าง”

ดังนั้น การมองข้ามพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไปสู่การมองหาสาเหตุและความต้องการที่แท้จริงของลูก จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่จัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ และยังช่วยเปลี่ยนคำถามที่ว่า ลูกไปเอา นิสัยไม่ดี มาจากไหน เป็นการหาคำตอบว่าลูกกำลังพยายามสื่อสารอะไรกับเรามากกว่า

ทำไมลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารัก

1. ลูกต้องการเรียกร้องความสนใจ

Misbehave_web_1

ธรรมชาติของลูกที่ยังเล็กคือต้องการให้คุณพ่อคุณแม่รักและเอาใจใส่ตลอดเวลา เพราะการถูกเมินเฉย หรือรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ตัวเองรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งและไม่ปลอดภัย เด็กๆ จึงแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงพฤติกรรมเชิงลบ เช่น กรีดร้องเสียงดัง ขว้างปาข้าวของ ก็มักจะได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและน่าพอใจกว่า

ลอว์รา มาร์กแฮม แนะนำว่า หากเด็กเรียกร้องความสนใจ แสดงว่าเขารู้สึกไม่ได้รับการเอาใจใส่เพียงพอ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรทำสิ่งตรงข้าม ก็คือให้ความใส่ใจกับลูกมากขึ้น เช่น มีช่วงเวลาคุณภาพกับลูกอย่างน้อยวันละ 20 นาที ที่จะวางมือจากทุกอย่างมานั่งเล่นหรือพูดคุยกับลูกโดยเฉพาะ ก็จะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกได้ ก่อนที่ปัญหาพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจจะลุกลามต่อไป

2. ลูกกำลังเลียนแบบพฤติกรรม

Misbehave_web_2

เด็กในวัย 2-6 ปี จะเริ่มสร้างบุคลิกและพฤติกรรมของตัวเอง จากการเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือแม้แต่สื่อที่พวกเขาพบเห็น ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง คำพูด และการแสดงออกโดยที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้เป็นพฤติกรรมที่ดีหรือไม่

ดังนั้นการระมัดระวังและคัดกรองพฤติกรรมคนใกล้ชิด รวมถึงสื่อต่างๆ ที่ลูกจะพบเห็นได้ ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดพฤติกรรมไม่น่ารักที่เกิดจากการเลียนแบบของลูกได้

3. ลูกกำลังทดสอบขีดจำกัดของคุณพ่อคุณแม่

Misbehave_web_3

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งกฎเกณฑ์หรือพยายามมีข้อตกลงกับลูก ลูกก็จะตอบสนองด้วยการทดสอบว่าหากพวกเขาไม่ทำตามกฎและข้อตกลงนั้นคุณพ่อคุณแม่จะมีท่าทีอย่างไร

วิธีรับมือก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำตามกฎ และบอกผลลัพธ์ที่ลูกได้รับหากไม่ทำตามที่ตกลงเอาไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าตกลงกันว่าจะเลิกเล่นตอนห้าโมง แล้วลูกไม่ทำตามนั้น ลูกก็จะถูกลดเวลาการทำกิจกรรมอื่น และไม่ได้มาเล่นอีกในวันต่อไป ที่สำคัญคือพยายามอย่าเปลี่ยนสถานการณ์เล็กๆ ให้กลายเป็นสงครามแห่งการเอาชนะ เช่น ใช้การลงโทษที่รุนแรงไร้เหตุผลมาสู้กับลูก เพราะเมื่อลูกรู้ถึงขอบเขตที่ชัดเจนของคุณพ่อคุณแม่ พวกเขาก็ไม่จำเป็นจะต้องทดลองฝ่าฝืนเพื่อพิสูจน์ข้อจำกัดของคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป

4. ลูกขาดทักษะที่จำเป็น

Misbehave_web_4

บางครั้งพฤติกรรมที่ไม่น่ารักก็เกิดจากการที่ลูกไม่ได้รับการฝึกหรือส่งเสริมให้มีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ลูกทะเลาะแย่งของกับเพื่อน เพราะขาดทักษะการเข้าสังคม จนทำให้มีการแสดงออกเหมือนเด็กก้าวร้าว หรือลูกแอบเอาของเล่นที่เสียหายไปทิ้ง เพราะขาดทักษะการแก้ปัญหาก็เป็นได้

ดังนั้น เมื่อลูกพฤติกรรมไม่น่ารัก คุณพ่อคุณแม่ควรลองแนะนำหรือเสนอทางเลือกอื่น เช่น แทนที่จะแสดงออกอย่างนั้น ลูกควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วสอนให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองต่อไป

(อ่านบทความ: 5 กิจกรรมง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มทักษะที่จำเป็นให้ลูกน้อย)

5. ลูกถูกทำให้ขาดความเชื่อมั่นและเคารพตัวเอง

Misbehave_web_5

การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ อาจมีส่วนทำให้ลูกมีทัศนคติไม่ดีต่อตัวเอง เช่น การเป็นพ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป คอยตำหนิและต่อว่าทุกการกระทำของลูกมากเกินไป ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ขาดความเชื่อมั่น และสูญเสียความเคารพตัวเอง จนแสดงเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมาเพราะคิดว่า ถึงอย่างไรตัวเองก็ไม่ใช่เด็กดีในสายตาคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว

คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยระวังวิธีการเลี้ยงดูของตัวเอง ด้วยการฝึกวินัยให้ลูกอย่างอ่อนโยน ใช้ความรัก ความเข้าใจ และการเลี้ยงดูเชิงบวก เพื่อให้ลูกรู้สึกเป็นที่รักและมีค่าในสายตาคุณพ่อคุณแม่เสมอ

6. ลูกอาจกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต

Misbehave_web_6

ปัญหาทางพฤติกรรม อาจกำลังบอกได้ว่าลูกกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็จะมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ไม่อยู่นิ่ง ไม่ฟังใคร หรือเด็กภาวะซึมเศร้า ก็อาจจะมีพฤติกรรมเศร้าซึม ขาดแรงจูงใจ และไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนด้วย และหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูก ยากเกินที่จะรับมือด้วยตัวเองและเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง อาจต้องนึกถึงการพาลูกไปพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อหาต้นเหตุของปัญหาและได้รับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

อ้างอิง
verywellfamily
education

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST