พญ. อมรรัตน์ อาภรณ์วิชานพ—กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ จะมาอธิบายว่าในน้ำนมแม่มีภูมิต้านทานอะไร และทำไมจึงสำคัญต่อเด็กๆ มาก
1. ทำไมเราถึงไม่สามารถผลิตนมที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับนมแม่ได้
เพราะในน้ำนมมี ‘โปรตีนภูมิต้านทาน’ เช่น โปรตีนกลุ่ม Secretory IgA ซึ่งทำหน้าที่เป็นภูมิต้านทานโดยตรง และโปรตีนกลุ่ม Lactoferrin ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายเด็กสร้างภูมิต้านทานของตัวเอง และยังเป็นโปรตีนที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคบางชนิด
ส่วนที่เหลือคือโปรตีนกลุ่ม Oligosaccharide และคาร์โบไฮเดรตบางส่วน ซึ่งจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในร่างกายของผู้ใหญ่ วิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถสังเคราะห์หรือผลิตภูมิต้านทานเหล่านี้ออกมาทดแทนได้
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเติมสารอาหารที่มีประโยชน์ให้กับน้ำนมชนิดอื่นอย่างไร สิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังทดแทนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
2. ความมหัศจรรย์ของภูมิต้านทาน
อย่างตัวที่หมอบอก Secretory IgA มันเป็นสารที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ทันที พอเข้าสู่ปาก ลิ้น หรือลำไส้ มันจะฆ่าเชื้อโรคบางตัวได้เหมือนยาฆ่าเชื้อ เหมือนแอลกอฮอล์เลย
เพราะร่างกายของเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานอะไรการให้กินนมแม่ก็เพื่อเติมภูมิต้านทานให้เขา
3. ภูมิต้านทานเหล่านี้จะลดความเสี่ยงของโรคอะไรได้บ้าง
ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินหายใจ
ลดการเป็นหวัด
ลดความรุนแรงของการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ เช่น RSV
ลดการเกิดเยื่อแก้วหูอักเสบ
ลดการเกิดท้องร่วงและท้องเสีย
4. แม่ควรกินอะไร เมื่อไหร่ เพื่อสร้างภูมิต้านทานดีๆ ส่งต่อให้ลูก
อาหารที่แม่กินตั้งแต่ตั้งครรภ์ ไปจนหลังคลอด และช่วงให้นมลูกล้วนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป
อาหารที่กินขณะตั้งครรภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจะได้รับสารอาหารจากแม่ไปช่วยเรื่องการเจริญเติมโต บำรุงร่างกายแม่ให้แข็งแรง มีพลังงาน เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด และที่เหลือจึงใช้ปรับปรุงโครงสร้างร่างกายคุณแม่ให้แข็งแรงต่อไป
อาหารที่กินหลังคลอด วัตถุประสงค์คือ เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและสร้างน้ำนมให้กับลูก
ส่วนประเภทของอาหารนั้น
สำหรับ หญิงตั้งครรภ์ คุณหมอแนะนำให้กินมากกว่าที่เคยกินปกติประมาณ 300 กิโลแคลอรี และให้เน้นพวกโปรตีน
ยกเว้นกรณีที่ลูกมีภาวะแทรกซ้อน เช่น รกไม่แข็งแรง หรือเด็กตัวเล็กผิดปกติ ให้คุณแม่พยายามกินอาหารให้มากขึ้นไปอีก
ในขณะที่ หญิงให้นมบุตร ให้กินมากกว่าช่วงเวลาปกติประมาณ 500 กิโลแคลอรี และเน้นเพิ่มอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลัก
5. อาหารที่คุณหมอแนะนำ
พวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ซึ่งเมื่อก่อนจะมีการเน้นให้คุณแม่บำรุงด้วยการดื่มนมมากๆ แต่หลังๆ มาพบว่า การกินนมมากเกินไปของแม่มีส่วนทำให้เด็กแพ้นมวัวมากขึ้น ก็ต้องลดเรื่องการกินนม แล้วหันไปเน้นโปรตีนอื่นๆ เช่น พวกเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และปลา เป็นหลัก
ส่วนสารอาหารอื่นๆ เช่น แคลเซียม วิตามินดี โฟเลต และเหล็ก ต้องเพียงพอ ต้องมีการออกกำลังกาย ออกแดด เพื่อให้วิตามินดีในร่างกายสมบูรณ์
6. สารอาหารในน้ำนมแม่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ
นมแม่มี 4 ระยะ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ และความต้องการสารอาหารของลูก
ระยะแรก คือ ระยะหัวน้ำนม (Colostrum) คือช่วงที่เรากำลังพยายามเค้นให้มีการสร้างน้ำนมเกิดขึ้น ซึ่งจะมาในช่วงวันที่ 1-5 หลังคลอด นมส่วนนี้จะมีโปรตีนสูง มีภูมิต้านทานเยอะมาก ความหนาแน่นเยอะมาก ถือว่าเป็นนมส่วนที่ไม่ควรขาด
ระยะที่สอง คือ ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional Milk) คือระยะที่นมมีการเปลี่ยนแปลง อยู่ในช่วง 6-14 วันแรก ในช่วงนี้ไขมันกับน้ำตาลแล็กโตสจะสูงขึ้น
ระยะที่สาม จะเข้าสู่ระยะที่น้ำนมสมบูรณ์แล้ว เราเรียกว่า ระยะน้ำนมแม่ (Mature Milk) จะมาช่วงวันที่ 15 ถึงเดือนที่ 6 จะเป็นช่วงที่ภาวะน้ำนมสมบูรณ์ที่สุด มีสารอาหารทุกอย่างครบถ้วน
ระยะที่สี่ คือ ระยะหย่านม (Weaning Milk) จะเป็นช่วงหลังจากหกเดือน ตอนนี้ปริมาณน้ำนมทั้งหมดจะลดลง แต่โปรตีนกับไขมันจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็จะล้อกับปริมาณความต้องการสารอาหารนั้นๆ ของเด็ก เพราะหลังจากหกเดือน เด็กจะได้อาหารเสริมที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาโต เพราะฉะนั้นนมจะถูกลดความสำคัญลงมา
7. กินนมแม่ถึงอายุเท่าไรดี
ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ แต่ถ้าถามว่าควรกินให้ได้เท่าไร เอาสมบูรณ์เพอร์เฟกต์คือหกเดือนแรก แต่หยุดเมื่อไหร่ไม่มีข้อจำกัด
เพราะหลังจากหกเดือน ควรมีสารอาหารจากข้าวเป็นสารอาหารรอง
แต่หลังหนึ่งปีให้มีข้าวเป็นอาหารหลัก แล้วนมเป็นสารอาหารรอง แต่เด็กๆ สามารถกินนมแม่ถึงเมื่อไหร่ก็ได้
8. ช่วงคุณแม่ป่วยก็ให้นมได้
ส่วนใหญ่สามารถให้นมได้ตามปกติ ยกเว้น ถ้าแม่ป่วยเป็นโรคร้ายแรง อย่างเช่น วัณโรค ที่ยังไม่ได้รักษา, เอชไอวี, คุณแม่ที่ให้ยาเคมีบำบัด ใช้สารกัมมันตรังสีในการรักษาร่างกาย คุณแม่ที่ติดสารเสพติด
9. คุณแม่ที่เป็นไข้หวัดก็สามารถให้นมลูกได้?
สิ่งสำคัญคือน้ำหู น้ำตา น้ำลาย และสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกายเป็นตัวที่มีเชื้อโรค อย่าให้สัมผัสกับเด็ก
ใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ สัมผัสแค่หัวนม เอาลูกเข้าเต้าได้ แต่มือ เสื้อผ้า และร่างกายเราต้องสะอาด ก่อนจับเขาทุกครั้งเราต้องมั่นใจว่ามือเราไม่โดนเชื้อโรคมาถ้ามือเราสะอาด อุปกรณ์ทุกอย่างเราสะอาด ก็เอาลูกเข้าเต้าได้ตามปกติ
10. การให้ลูกกินนมแม่ ของคนอื่น
ไม่ควร เพราะเราไม่รู้ว่าแม่เจ้าของน้ำนมจะมีโรคอะไรซ่อนอยู่ เช่น โรคตับอักเสบซี (ที่ไม่แสดงอาการ)
เว้นแต่การรับบริจาคที่มีการตรวจโรคอย่างถูกต้องและปลอดเชื้อทุกอย่าง เช่น ธนาคารนมแม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น
11. คุณหมอขอแถม: โฟเลต—สารอาหารที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ทางการแพทย์พบว่าโฟเลตเป็นส่วนที่ใช้สร้าง Neural Tube ก็คือใช้สร้างระบบประสาทของตัวอ่อน ซึ่งคนปัจจุบันมักจะขาด แล้วทำให้การเจริญเติบโตของระบบประสาทไม่สมบูรณ์ แล้วทั้งชีวิตเราให้ความสำคัญกับระบบประสาทที่สุด ลูกจะฟังก์ชันดีไม่ดีก็อยู่ที่ระบบประสาท
การกินโฟเลตไม่ได้มีผลข้างเคียงร้ายแรงอะไรเลย มันเป็นเรื่องจิ๊บๆ เพราะฉะนั้นเลยมีคำแนะนำว่ากินไปเลยไม่เสียหาย ป้องกันลูกเป็นโรคสมองพิการ
12. ควรเริ่มกินตอนไหน ยังไง…
ถ้าปัจจุบันแพทย์จะเน้นให้กินเป็นยาบำรุงไปเลย ตามปกติ ผู้หญิงควรกินโฟเลตก่อนตั้งครรภ์ประมาณสามเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ก็ควรกิน เพื่อให้ระบบประสาทสร้างให้สมบูรณ์ แนะนำกินเป็นเม็ดไปเลย หรือกินผักใบเขียวแทนก็ได้
13. กินถึงเมื่อไหร่
ลูกคลอดแล้วก็กินได้บ้าง แต่เน้นกินอาหารให้ครบห้าหมู่ เน้นผักสีเขียวและอาหารจากธรรมชาติมากขึ้น
NO COMMENT