พ่อแม่อาจไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา และมีหลายครั้งที่ต้องเอาลูกไปฝากไว้กับปู่ย่าตายาย ฝากไว้กับเพื่อนบ้าน เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งทางเลือกสุดท้ายที่พ่อแม่ไม่อยากทำ คือการปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียวตามลำพัง
คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เราลองชวนผู้ใหญ่ที่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแชร์เรื่องราวและเหตุการณ์ฝังใจเกี่ยวกับการถูกปล่อยให้รอ หรือทิ้งให้อยู่คนเดียว แล้วจะพบว่า เรามักจดจำช่วงเวลาที่ถูกปล่อยให้รอได้ แม้จะผ่านไปนานเท่าไรแล้วก็ตาม
ประสบการณ์ตรงจากการถูกปล่อยให้รอคนเดียว
1. “โทร.ให้แม่มารับ แต่พ่อรับสายแล้วบอกว่าแม่รถคว่ำ”
—ชนม์ณนันท์ ถายาธัชนันท์ (ลูกจ้างโครงการธนาคารออมสินภาค 7)
“ตอนนั้นอยู่ ป.6 วันนั้นเป็นวันกินเลี้ยงจบอนุบาลของโรงเรียน ฝนก็ตก งานเลี้ยงก็ใกล้เลิกแล้ว เลยโทร.ตามให้แม่มารับได้แล้ว ตอนโทร.หา สายแรกแม่รับสายนะ แต่พอโทรอีก 2-3 สาย แม่ก็ไม่รับ จนเพื่อนกลับบ้านกันไปหมดแล้ว เหลือเราอยู่กับเพื่อนสองคน ก็เลยโทร.ไปอีก แต่คราวนี้พ่อรับโทรศัพท์แทน บอกว่าแม่รถคว่ำ แต่ไม่ได้เป็นไรมากนะ แต่เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ อีก”
2. “รถโรงเรียนมาส่งที่บ้านตั้งแต่สี่โมงเย็น แต่กลับไม่มีใครอยู่บ้าน บ้านก็ล็อก…”
—ศาสตรกวิน ลภัสรดาเศรษฐ์ (ว่างงาน)
“เคยแต่โดนทิ้งตอนเด็ก ตอนนั้นไปโรงเรียน รถโรงเรียนมาส่งที่บ้านตั้งแต่สี่โมงเย็น แต่กลับมาไม่มีใครอยู่บ้าน บ้านก็ล็อก จำได้ว่าเดินไปมาหน้าบ้านตั้งแต่สี่โมงถึงหกโมงเย็น ลุงมารับที่บ้านบอกว่าทุกคนไปงานรับปริญญาพ่อ พ่อไปรับน้องที่โรงเรียนแล้วตั้งแต่ตอนกลางวัน ตอนเย็นเขามีกินเลี้ยงกัน พอไปถึงที่งานเลี้ยง พ่อถามทำไมมาช้าจัง ให้ลุงไปรับตั้งนานแล้ว สรุปว่าวันนั้นลุงแวะดื่มเหล้าก่อน เลยไม่ได้ไปรับเรา เรื่องวันนั้นเลยเป็นปมในใจมาจนถึงทุกวันนี้”
3. “ตื่นมาแล้วไม่เจอใคร…”
—กมลวรรณ ม่วงคำ (กราฟิกดีไซเนอร์ / นักตัดต่อวิดีโอ)
“เหตุการณ์ที่ทำให้กลัวการโดนทิ้งให้อยู่คนเดียว มันเริ่มมาจากตอนสมัยอยู่ประถม พ่อกับแม่ชอบให้อยู่เฝ้าบ้านคนเดียว พอโตมา เวลาที่อยู่กับใคร พอตื่นมาแล้วคนนั้นไม่อยู่ หรือออกไปไหนไม่บอก จะตกใจมากเลย รู้สึกใจไม่ดี อยากร้องไห้”
4. “กินไอติมเสร็จแล้ว แม่ก็ยังไม่มา…”
—ทักษพร สาราพฤษ (ฟรีแลนซ์)
“ตอนไปเที่ยวห้างฯ แล้วแม่ทิ้งไว้ที่ร้านไอติม เรียกแม่ แต่แม่ไม่อยู่ ก็นั่งรอ คิดว่าเดี๋ยวแม่ก็มา จนไอติมหมดแม่ก็ยังไม่มา เลยร้องไห้ พี่พนักงานที่ร้านถามว่าเป็นอะไร เลยตอบไปว่าแม่ไหนๆ (แม่อยู่ไหน) พนักงานก็บอกว่า อ่อ! เดี๋ยวแม่มา แม่ไปซื้อของ เลยฝากหนูไว้ที่ร้าน แต่ก็ยังไม่หยุดร้อง ยังร้องไห้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะตอนนั้นคิดว่าทุกคนโกหกและคิดว่าโดนทิ้งจริงๆ ร้องแบบว่าเมื่อไหร่แม่จะมา สักพักแม่ก็เดินมา เลยค่อยๆ หยุดร้องไห้”
5. “เมื่อไหร่แม่จะมารับ… / ลูกฉันอยู่ไหน…”
—พิชญา เตระจิตร (คอนเทนต์ครีเอเตอร์)
“ตอนนั้นประมาณ ป.1 หรือ ป.2 จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าแม่มารับช้ามากกกก ในโรงเรียนไม่มีใครเลย ตอนนั้นกลัว มองไปทั่วโรงเรียนและคิดในใจตลอดเลยว่า เมื่อไหร่แม่จะมารับสักที คิดจนร้องไห้ออกมา จนกระทั่งมีคุณครูมาเจอเข้า และเขารู้ว่าบ้านเราอยู่ใกล้กัน คุณครูเลยพาเรากลับบ้านด้วย
ทีนี้แม่ไปรับที่โรงเรียนไม่เจอ ก็ตกใจ แต่คงรู้จากที่โรงเรียนว่าเรากลับบ้านไปกับครูที่บ้านอยู่ใกล้เรา แม่เลยรีบตามไปรับที่บ้านครู จำได้ว่าวันนั้นยังไม่ทันเข้าไปนั่งในบ้านครู แม่ก็มารับพอดี
วันนั้นแม่อธิบายให้ฟังว่าทำไมถึงมารับช้า ตั้งแต่นั้นแม่ก็ให้ท่องจำเบอร์แม่ไว้จนขึ้นใจ และสั่งว่าจะกลับกับคนอื่นให้โทร.บอกแม่ จะไปไหนมาไหนให้โทร.บอกแม่ด้วย เอาจริงๆ แล้วพ่อแม่เราไม่ได้มารับช้าตลอดหรอก มีวันที่มาเร็ว มาช้าบ้าง แต่หัวสมองเราเองนี่แหละ ดันจดจำภาพและความรู้สึกวันที่พ่อแม่มารับช้าฝังใจเอง”
ประสบการณ์ที่ถูกปล่อยให้รอจะส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กๆ ดังนี้
- กลัว
ความกลัวเป็นอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ ว่ามีบางสิ่งมาคุกคามชีวิต ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจ เช่น กลัวพ่อแม่ไม่มารับ กลัวการไม่เป็นที่รัก กลัวถูกลืม
ถ้าพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกลืมหรือถูกทิ้งตลอดเวลา เด็กอาจจะขาดความมั่นใจในตัวเอง และไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตได้
- ร้องไห้
การร้องไห้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความกลัวนั่นเอง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองความกลัวของร่างกาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่กลัวแล้วจะร้องไห้ ในเด็กบางคนอาจแสดงอารมณ์โกรธ โมโห และก้าวร้าวแทนด้วยซ้ำ
- กลายเป็นปมฝังใจ
เมื่อถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวบ่อยๆ เด็กๆ อาจเก็บเหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้ในจิตใต้สำนึก และกลายเป็นปมฝังแน่นในจิตใจ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีนิสัยไม่ชอบการรอคอย ไม่รู้จักรอคอยผู้อื่น เพราะพวกเขามีประสบการณ์การรอคอยที่ไม่น่าจดจำในวัยเด็กนั่นเอง
เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีธุระจำเป็นที่ต้องไปรับลูกช้าหรือปล่อยลูกไว้ลำพัง คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เหตุผลบอกกับลูกให้เข้าใจ ถึงความจำเป็นที่ทำให้เขาต้องรอหรืออยู่คนเดียวบ้างบางเวลา มีการนัดหมายให้แน่นอน ว่าคุณจะสามารถมาหาเขาได้เวลาไหน และพยายามอย่าผิดสัญญาที่ให้ไว้กับลูกบ่อยเกินไป จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ และไม่กลัวว่าจะถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง
NO COMMENT