ความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย และอยากปกป้องลูกให้พ้นจากอันตราย คือสัญชาตญาณตามธรรมชาติของคนเป็นพ่อเป็นแม่
รวมถึงความรัก ความหวังดี ที่พ่อแม่ทุกคนมีต่อลูก อยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีและมีความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จึงมักไม่รู้ตัวว่าความหวังดีและห่วงใยที่มีให้ลูก ได้กลายเป็นความรู้สึก หวงลูก ตั้งแต่เมื่อไหร่ และไม่ทันระวังว่าการ หวงลูก มากเกินไปนั้น ไม่ได้ส่งผลดีต่อลูกอย่างที่คิด
เรากำลังเป็นพ่อแม่จอมหวงอยู่หรือเปล่า?
ถึงแม้ว่า ‘ความหวง’ และ ‘ความห่วง’ จะเป็นคำที่คล้ายและมีความหมายใกล้เคียงกัน และจุดเริ่มต้นของทั้งความหวงและห่วง ก็คือความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อลูก
แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือที่กระบวนการคิดและวิธีการแสดงออกที่กลายเป็นพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ โดยคุณพ่อคุณแม่ที่หวงลูก มักจะเข้มงวดกับลูกเพราะอยากให้ลูกอยู่ใกล้ และยึดตามความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ห่วงใยลูก มักจะนึกถึงความปลอดภัยและความสุขของลูกเป็นหลัก
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณของการเป็นพ่อแม่หวงลูก ได้จาก 3 พฤติกรรมการเลี้ยงดูของตัวเอง ดังนี้
1. พยายามกีดกันลูกจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง
การปกป้องลูกจากอันตรายถือเป็นหน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ แต่การพยายามกีดกันลูกจากสถานการณ์ที่ควรปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น ห้ามลูกปั่นจักรยาน เพราะกลัวอุบัติเหตุ นอกจากจะทำให้ลูกขาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ แล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด กดดัน และอาจกลายเป็น เด็กเก็บกด ได้
2. วางแผนให้ลูกทุกเรื่อง
การช่วยวางแผนและจัดการชีวิตให้ลูกเป็นเรื่องที่ดี แต่หากคุณพ่อคุณแม่พยายามควบคุมชีวิตลูกมากเกินไป ก็จะทำให้ลูกเสียโอกาสในการเรียนรู้ วางแผน และจัดการชีวิตตัวเอง เช่น คุณพ่อคุณแม่ที่กำหนดว่าลูกต้องเรียนดนตรีเสริมในวันเสาร์ เรียนภาษาในวันอาทิตย์ โดยไม่เคยถามหรือสังเกตความชอบของลูก พฤติกรรมเหล่านี้ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กลายเป็นพ่อแม่จอมบงการในสายตาลูกได้
3. อ่อนไหวและเป็นกังวลเรื่องลูกมากเป็นพิเศษ
เรื่องของลูกมักจะเป็นเรื่องสำคัญของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับลูก หรือเมื่อลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติ ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลและร้อนใจได้
แต่ทั้งนี้ หากคุณแม่เริ่มไม่สบายใจ กังวล และอ่อนไหวกับเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นกับลูก เช่น รู้สึกผิดและโทษตัวเองที่ปล่อยให้ลูกปั่นจักรยานจนรถล้ม เป็นกังวลว่าจะเกิดอันตรายรุนแรงกับลูกตลอดเวลา จนกลายเป็นความพยายามที่จะไม่ให้ลูกได้คิด ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ก็ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่า คุณพ่อคุณแม่กำลังจะกลายเป็นพ่อแม่จอมหวงเข้าแล้วล่ะค่ะ
อย่างไรก็ตาม ความหวงลูกที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่พฤติกรรมตามสัญชาตญาณที่ไร้เหตุผลเท่านั้น แต่ยังมีงานวิจัยเผยว่า คุณพ่อคุณแม่ที่มีความรู้สึกหวงลูกมากเป็นพิเศษ มักมีที่มาจากเรื่องราวของตัวเองในอดีต หรือปมในใจ เช่นเคยประสบเหตุการณ์ไม่ดีมาก่อน เมื่อมีลูกจึงรู้สึกหวงและไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญเหตุการณ์เดียวกันอีก
แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความหวงและเป็นห่วงลูกก็คือ การสอนลูกให้รู้จักรับมือและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ แทนที่จะพยายามกีดกันลูกจากโลกภายนอก เพื่อให้ลูกเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ และเมื่อนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็จะค่อยๆ หวงและห่วงลูกน้อยลงได้เช่นกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST