คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินชุดความคิดที่ว่า ลูกคนโตมักมีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบสูง ส่วนลูกคนกลางมักมีความเป็นประนีประนอม มีความทะเยอทะยานสูง ขณะที่ลูกคนเล็กมักถูกมองว่าไม่มีความเป็นผู้ใหญ่และมีความเอาแต่ใจมากที่สุด
ทฤษฎี ลูกคนเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของ ทฤษฎีลำดับการเกิด (Birth Order Theory) ที่พัฒนาโดย Alfred Adler นักจิตวิทยาชื่อดัง โดยอัลเฟรดเชื่อว่าลำดับการเกิดของลูกในครอบครัวส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมของเด็ก โดยบุคลิกภาพของลูกคนเล็ก มักมาจากการได้รับความเอาใจใส่และการปกป้องจากพี่น้องและพ่อแม่มากที่สุด ทำให้น้องคนสุดท้องมีแนวโน้มที่จะเป็นคนเอาแต่ใจมากที่สุด
แต่ความจริงแล้ว ทฤษฎีนี้ก็ไม่ได้กฎตายตัวว่า ลูกคนเล็ก จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่และสภาพแวดล้อมในครอบครัว ส่งผลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของลูกมากกว่าลำดับการเกิดภายในครอบครัว
แนวทางการเลี้ยงลูกคนเล็ก
1. เน้นเรื่องความรับผิดชอบ
ลูกคนเล็ก มักได้รับการช่วยเหลือจากทุกคนในครอบครัว และอาจได้รับมากเกินไปจนขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ เช่น คุณพ่อคุณแม่คอยบอกให้พี่ช่วยทำทุกอย่างแทนน้อง จนน้องไม่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและไม่มีหน้าที่สำคัญภายในบ้าน
แต่การสร้างความรู้สึกว่าตนเองสำคัญต่อครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการมอบหมายงานง่ายๆ ที่เหมาะสมกับวัยของลูก แม้จะเป็นน้องคนสุดท้องก็ตาม และเมื่อลูกโตขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มหน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับ
2. ลดการปกป้องที่มากเกินไป
พ่อแม่และพี่มักพยายามปกป้องน้องคนสุดท้อง จนทำให้ลูกขาดโอกาสแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นควรเริ่มปล่อยให้ลูกได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ต้องปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง การสนับสนุนให้ลูกเผชิญปัญหาจะช่วยพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองได้
3. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบลูกคนเล็กกับพี่ๆ เช่น ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่ อาจทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ควรมองหาความสามารถเฉพาะตัวของลูกแต่ละคน และส่งเสริมในสิ่งที่ลูกถนัด เช่น หากลูกคนโตชอบเรียนรู้แนววิชาการ ก็ส่งเสริมการเรียนวิชาต่างๆ แต่หากน้องคนเล็กสนใจการวาดรูป ก็ควรสนับสนุนด้วยการให้ลูกมีพื้นที่แสดงออกของตัวเอง โดยไม่พยายามยึดโยงความถนัดของลูกแต่ละคนเข้าด้วยกัน เช่น ให้ลองเรียนศิลปะหรือจัดพื้นที่ในบ้านสำหรับแสดงผลงาน การยอมรับในตัวตนของลูกจะช่วยให้ลูกแต่ละคนมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
4. สอนการแบ่งปันและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ลูกคนเล็กอาจคุ้นชินกับการได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง ทำให้บางครั้งลูกอาจมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเกิดขึ้น เช่น หวงของและไม่รู้จักการแบ่งปัน เพราะมักเป็นคนที่ได้รับการเสียสละจากพี่ๆ อยู่เสมอ
คุณพ่อคุณแม่จึงควรเน้นเรื่องการปรับตัวเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม เช่น ลูกต้องรู้จักแบ่งปันผู้อื่น ไม่ใช่คอยให้คนอื่นมาเสียสละให้ พร้อมทั้งอธิบายว่าการแบ่งปันช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้อย่างไรด้วย
อ่านบทความ: ลูกนิสัยไม่เหมือนกัน: ความแตกต่างนิสัยของลูกคนโต คนกลาง คนเล็ก และลูกคนเดียว
COMMENTS ARE OFF THIS POST