READING

9 เทรนด์การกินอาหารสำหรับเด็กปี 2017 และคำแนะนำจาก...

9 เทรนด์การกินอาหารสำหรับเด็กปี 2017 และคำแนะนำจากนักกำหนดอาหาร

จะให้ลูกน้อยของเรากินอะไรอย่างไหนดี เพราะใครๆ ก็ว่าแบบนั้นแบบนี้ดี เราเลยสรุปข้อมูลจาก คุณปัฐมาพร หงษ์สุวรรณ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ฟัง ว่าแต่ละแบบดียังไงและมีคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง

1. ให้ลูกกินด้วยตัวเอง

ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่า การปล่อยให้เด็กๆ ใช้มือหยิบอาหารใส่ปากด้วยตัวเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเท่าไรนัก แต่ที่จริงแล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม การให้เด็กได้ลองกินอาหารด้วยตัวเอง นอกจากความเลอะเทอะแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการการกินอาหารของเด็กๆ อีกด้วย

เมื่อเด็กอายุ 8-9 เดือน เขาจะเริ่มใช้นิ้วมือหยิบของชิ้นเล็กได้ พ่อแม่ควรให้เด็กถืออาหารที่ไม่แข็งเกินไป (Finger Food) เช่น ฟักทองนึ่งหรือมันต้มหั่นเป็นชิ้นยาว แล้วเด็กจะหัดเอาอาหารเข้าปากกินเอง

และในช่วงอายุ 1-1 ปีครึ่ง เด็กจะสามารถใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ดีขึ้น ก็ควรฝึกให้ลูกจับช้อนและกินอาหารเอง

2. ให้ลูกกินมังสวิรัติ

การให้ลูกกินมังสวิรัติ เพราะเชื่อว่าในพืชผักมีสารเคมีปนเปื้อนหรือตกค้างน้อยกว่าในเนื้อสัตว์ (เนื่องจากผักราคาย่อมเยากว่าเนื้อสัตว์ การใส่สารเคมีจึงไม่คุ้มทุน) หรือบางครอบครัวก็มีความเชื่อทางศาสนา ที่ไม่ต้องการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น

แต่อาหารมังสวิรัตินั้นเป็นการงดเนื้อสัตว์ ดังนั้น แหล่งโปรตีน วิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิดที่พบได้ในเนื้อสัตว์ ต้องได้รับให้เพียงพอจากพืช

หากเป็นการกินมังสวิรัติชนิดที่กินนมและไข่ จะได้คุณค่าโภชนาการครบถ้วน และดีกว่าชนิดที่เคร่งครัด ซึ่งมีรายงานพบภาวะกระดูกอ่อน และโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แถมยังมีโอกาสขาดวิตามินบี 12 ซึ่งพบได้เฉพาะในเนื้อสัตว์ด้วย

ดังนั้น หากเลือกให้ลูกกินอาหารมังสวิรัติ ต้องเลือกกินอาหารให้หลากหลายจากถั่วและธัญพืช เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มให้ลูกกิน หรือให้ลูกเป็นคนเลือกด้วยตัวเองจะดีกว่า

3. หลีกเลี่ยงกลูเต็น

กลูเต็นคือโปรตีนที่พบในข้าวสาลี ข้าวไรน์ ข้าวบาร์เลย์ ซึ่งเป็นอาหารที่เด็กๆ มีโอกาสแพ้ได้ง่าย จึงพบว่าหลายครอบครัวไม่ให้ลูกกินอาหารที่มีกลูเต็น จนกว่าจะถึงวัยที่โตพอ (หนึ่งขวบขึ้นไป)

อย่างไรก็ตาม สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องให้เด็กงดอาหารที่มีกลูเต็น เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการแพ้อาหาร แต่อาจเริ่มให้อาหารที่มีกลูเต็นหลังจากเด็กเริ่มกินอาหารเสริมได้ดี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องการแพ้อาหารทุกประเภทโดยเฉพาะในเด็ก ควรให้อยู่ในการพิจารณาของแพทย์เป็นสำคัญ

4. 6 เดือนแรกให้เป็นเรื่องของนมแม่อย่างเดียวก็พอ

หนึ่งในข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกินอาหารของเด็กทารกที่พบเจอกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ จำเป็นต้องให้เด็กทารกกินอย่างอื่นนอกจากนมแม่หรือไม่

แต่ความจริงก็คือองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เด็กทารกควรกินนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 6 เดือน โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องคุณค่าทางสารอาหารที่ลูกจะได้รับ เนื่องจากนมแม่มีทุกอย่างที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในช่วง 6 เดือนแรก

และที่สำคัญก็คือ ในวัยต่ำกว่า 6 เดือน ทารกจะยังไม่สามารถผลิตน้ำย่อยที่จำเป็นในการย่อยอาหารได้ จึงไม่ควรกินอาหารเสริมเพิ่มเติมให้เป็นโทษกับร่างกายแต่อย่างใด

5. กินผักใบเขียวเท่านั้นในระยะเวลาหนึ่งสั้นๆ

บางครอบครัวที่มีความเชื่อคล้ายๆ มังสวิรัติ ว่าในผักมีปริมาณสารเคมีปนเปื้อนน้อยกว่าเนื้อสัตว์ แต่ที่ให้กินผักใบเขียวช่วงหนึ่งก็เพื่อล้างลำไส้

แม้ว่าในผักใบเขียวจะมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น แต่ก็มีพลังงานและโปรตีนต่ำ หรือถ้าเป็นชนิดที่มีโปรตีนสูงอย่างผักโขม (100 กรัมมีปริมาณโปรตีนประมาณ 2.9 กรัม) และบรอกโคลีสับ (100 กรัมมีปริมาณโปรตีนประมาณ 2.8 กรัม) ก็ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะเด็กจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่นๆ จากอาหารกลุ่มอื่น หรือได้กินผักสีอื่นด้วย เช่น สีส้มจากฟักทองและแคร์รอต หรือกินข้าว แป้ง หรือเนื้อสัตว์บ้าง เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน

6. การกินอาหารสำเร็จรูปแบบพกพา

บางครอบครัวที่อาจไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกๆ โดยเฉพาะมื้อที่อยู่นอกบ้าน อาหารสำเร็จรูปจึงช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้มีการผลิตอาหารเสริมสำหรับเด็กออกมามากมายหลายรูปแบบ ทั้งชนิดเดี่ยวหรือผสมอาหารหลายชนิด จนถึงความหยาบของเนื้ออาหารก็ไม่เหมือนกัน จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับวัยของทารก อ่านฉลากโภชนาการและส่วนประกอบให้ดี เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรุงแต่งน้อยที่สุด เพื่อให้ทารกไม่ติดรสหวาน และไม่มีส่วนผสมที่ทารกแพ้

7. การเอาอาหารใส่ถุงตาข่าย

ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยให้ทารกกินอาหารออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นถุงซิปล็อกเก็บอาหารเหลว ขวดปลายช้อน หรือชามบดอาหาร เป็นต้น แต่หนึ่งในนั้นที่กำลังมาแรงคือถุงตาข่ายสำหรับกินผลไม้ สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

วิธีการคือหั่นผลไม้ชิ้นเล็กใส่เข้าไปให้เด็กถือ และดูดกินผลไม้ด้วยตัวเอง ข้อดีคือช่วยป้องกันผลไม้ติดคอและการสำลักได้

8. เคี้ยวอาหารให้ลูกก่อน

บางครั้งพ่อแม่อาจอยากให้ลูกกินและกลืนอาหารได้ง่าย หรือมีความเชื่อว่าน้ำลายของแม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ ซึ่งความจริงยังไม่มีผลวิจัยที่แน่ชัดมารองรับ แต่หลายครอบครัวก็ช่วยเคี้ยวอาหารให้ลูกก่อนเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าทารกแต่ละช่วงวัยพัฒนาการบดเคี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งควรปล่อยให้ทารกใช้อย่างเต็มที่ ด้วยการปรับความหยาบของอาหารให้เหมาะสมตามช่วงวัย

นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารให้ลูก ยังทำให้ลูกเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคติดต่ออื่นๆ ผ่านทางน้ำลาย เพราะฉะนั้น ให้ลูกเคี้ยวอาหารเองจะปลอดภัยและมีประโยชน์กว่าแน่นอน

9. ให้ลูกกินน้ำส้มคั้นหรือน้ำผลไม้

บางครอบครัวต้องการให้ลูกได้สารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินที่ครบถ้วน จึงพยายามให้ลูกกินน้ำส้มคั้นเพื่อเพิ่มสารอาหารระหว่างวัน แต่จากข้อมูลของสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ในเด็กที่อายุต่ำกว่าหนึ่งปี ไม่มีความจำเป็นต้องให้กินน้ำส้มคั้นหรือน้ำผลไม้ เพราะเด็กจะได้รับวิตามินที่จำเป็นจากน้ำนมแม่อย่างเพียงพออยู่แล้ว

นอกจากนี้น้ำส้มคั้นหรือน้ำผลไม้ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในทางเดินอาหารได้ง่าย เพราะมีโอกาสปนเปื้อนระหว่างขั้นตอนการเตรียมอาหาร


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST