READING

การลาคลอดเป็นเรื่องของใคร?: คุยกับจะเด็จ เชาวน์วิไ...

การลาคลอดเป็นเรื่องของใคร?: คุยกับจะเด็จ เชาวน์วิไล หนึ่งในผู้เรียกร้องสิทธิลาคลอดให้แม่ทุกคน

ลาคลอด

ลาคลอด แล้วใครจะทำงานแทน?

บอกเจ้านายว่าท้องแล้วจะโดนกดดันให้ลาออกไหม?

สิทธิลาคลอดได้นาน ไม่ยุติธรรมกับคนโสดหรือคนไม่อยากมีลูกหรือเปล่า?

ทุกครั้งที่มีการพูดถึงสวัสดิการหรือกฎหมายลาคลอด โดยเฉพาะนโยบายขอเพิ่มวันลาให้กับคุณแม่แรกคลอด รวมไปถึงการพิจารณาให้คุณพ่อมีสิทธิลาเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก กระแสสังคมมักจะแตกออกเป็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย เพราะเข้าใจถึงความสำคัญของภาระหน้าที่เลี้ยงดูลูกในช่วงเวลาแรกเกิดให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ฝ่ายเห็นต่างอาจมองว่าการลาคลอดที่ยาวนาน เป็นการเพิ่มภาระให้เพื่อนร่วมงาน และไม่ยุติธรรมต่อคนที่ไม่มีลูกได้

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยมีกฎหมายให้คุณแม่ลาคลอดได้ 60 วัน แต่จะได้รับค่าจ้างเพียงแค่ 30 วัน ต่อมาจึงมีการเรียกร้องกฎหมายลาคลอดให้เพิ่มวันลาเป็น 90 วัน ในปี 2536 และปี 2564 ได้มีการพิจารณาให้คุณแม่สามารถลาคลอดเพิ่มได้อีก 8 วัน รวมเป็น 98 วัน จนถึงปัจจุบัน

แต่ถีงอย่างนั้น การขอเพิ่มสิทธิ์ลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของการสร้างบุคลาการที่มีคุณภาพให้สังคม ก็ยังคงขับเคลื่อนภายใต้การดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมถึงการบรรจุให้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองที่จะลงสมัครเลือกตั้งในสมัยหน้าอีกด้วย

เมื่อพูดถึงคนที่มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการให้กับแรงงานสตรีในสังคมไทยมานานหลายปี และเคยอยู่ในกระบวนการผลักดันให้กฎหมายลาคลอด 90 วันมีผลบังคับใช้ได้สำเร็จ เราจึงนึกถึง จะเด็จ เชาวน์วิไล—ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ทำงานเพื่อต่อสู้เรื่องอคติทางเพศ และรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาและความสำคัญของกฎหมายลาคลอด และการขอเพิ่มวันลาเป็น 180 วัน ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทยหรือไม่ เราคงต้องดูกันต่อไปยาวๆ

ย้อนกลับไปถึงที่มาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นจากการที่ผมเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ช่วงนั้นก็ได้ทำเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานหญิงอยู่ในเขตอุตสาหกรรมเลย ลงไปคลุกคลีใช้ชีวิตเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสหภาพแรงงาน และเมื่อครบวาระอาสาสมัคร ก็มาทำงานที่มูลนิธิเพื่อนหญิง โดยเริ่มศึกษาและการทำงานกับผู้ใช้แรงงานหญิงในเขตอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานทอผ้า โรงงานปั่นด้าย โรงงานเย็บผ้า ลงพื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง

ได้เห็นว่าส่วนใหญ่คนงานมีฐานะยากจน นายจ้างเอาเปรียบ ไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการก็ไม่มี หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ พัฒนาให้มีกองทุนสุขภาพสำหรับผู้ใช้แรงงาน แล้วก็ค่อยๆ เคลื่อนไหวให้เกิดกฎหมายประกันสังคม

หลังจากที่เราขับเคลื่อนจนได้กฎหมายประกันสังคมมา เราก็เห็นปัญหาของผู้หญิง ทั้งเรื่องสิทธิของผู้หญิง และการลาคลอด เลยได้มาทำเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ สำหรับแรงงานหญิงโดยตรง

พอได้เป็นผู้บริหารองค์กร ผมก็ไม่ได้ทำเกี่ยวกับมิติของแรงงานหญิงเพียงอย่างเดียวแล้ว ต้องทำประเด็นโครงสร้างปัญหาชายเป็นใหญ่ด้วย เลยต้องดูเรื่องประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ประเด็นทางเพศ เลยเริ่มคิดว่าทำไมผู้หญิงเวลาเจอปัญหา ต้องเป็นฝ่ายเดินออกจากบ้านหรือชุมชน ก็เลยเริ่มคิดว่าเราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ ก็เลยเริ่มมาทำงานกับผู้ชายมากขึ้น และเกิดเป็นมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

หลักๆ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลก็จะทำงานต่อสู้เรื่องอคติทางเพศ และทำงานรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว สามารถให้คนร้องทุกข์เข้ามาแล้วเราก็จะส่งนักสังคมสงเคราะห์ ทนายอาสาเข้าไปช่วยเหลือ

จากลาคลอด 60 วัน สู่การเรียกร้อง เพิ่มวันลาคลอดเป็น 90 วัน

ผมคิดว่าแรงงานหญิงถูกเอาเปรียบในหลายมิติ เช่น นายจ้างเอาเปรียบในการจ่ายค่าแรง หรือถูกเอาเปรียบในโครงสร้างสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เช่น เมื่อก่อนผู้หญิงจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ต้องทำงานเพื่อส่งเงินให้น้องชายเรียน หาเงินให้น้องชายบวช หรือแม้แต่แต่งงานไปแล้วก็มักจะถูกสามีเอาเปรียบ หรือใช้ความรุนแรง มีภาระสองด้าน ทั้งทำงานและงานในครอบครัว เราเลยมองว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้ คือต้องรวมกลุ่มเพื่อให้ผู้หญิงเห็นศักยภาพของตัวเอง

จริงๆ ปัจจุบันผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนก็ยังประสบปัญหานี้อยู่เพียงแต่ว่ายังไม่มีคนเคลื่อนไหว และการเคลื่อนไหวนั้นก็ไม่มีพลังเหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนบริษัทให้ลาคลอดได้ 60 วัน แต่ลูกจ้างได้ค่าแรงแค่ 30 วัน ทำให้เป็นอยู่ของครอบครัวลำบาก แต่คนก็อยากมีลูก แต่หลายโรงงาน ถ้าแรงงานหญิงตั้งครรภ์ก็ไล่ออก เพราะนายจ้างถือว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ ลูกจ้างหลายคนก็ต้องปกปิดไม่ให้คนรู้ว่าตั้งครรภ์ เพราะว่ากลัวจะถูกเลิกจ้าง หรือแม้แต่การลางานเพื่อไปหาหมอก็เป็นเรื่องยากเพราะกลัวว่าจะสูญเสียรายได้ มีการต้องรัดหน้าท้องเพื่ออำพรางหุ่น บางคนรัดท้องจนถึงขั้นแท้งเลยก็มี

มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้นำเรื่องนี้มาพูดคุยและคิดว่าเราจะเปลี่ยนแปลงปัญหานี้ได้ไหม จึงใช้โอกาสวันสตรีสากล ในการเคลื่อนไหว ตอนนั้นปี 2534 เรากะว่าจะเดินขบวนครั้งใหญ่เพื่อจะเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แต่มันตรงกับช่วงรัฐประหารพอดี พอเกิดรัฐประหาร เดินขบวนไม่ได้แล้ว เลยต้องไปจัดคล้ายงานสัมนาในโบสถ์คริสต์โดยมีคุณหญิงสายสุรี จุติกุล ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายก ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสตรี เด็ก เยาวชน และการพัฒนาสังคมมาเปิดงาน เขาก็เห็นด้วยว่าควรให้เพิ่มวันลาคลอดจาก 60 วันเป็น 90 วันตามมาตรฐานขั้นต่ำขององค์กรอนามัยโลก แต่ตอนนั้นก็มีคนไม่เห็นด้วยเยอะ นโยบายนี้ก็เลยถูกต่อต้าน

ต้องเข้าใจก่อนว่าโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ในสมัยก่อนชอบผลักภาระให้ผู้หญิง สังคมจึงมองว่าการลาคลอดเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ประเด็นทางสังคม คุณหญิงสายสุรีจึงให้เริ่มใช้นโยบายลาคลอด 90 วันกับข้าราชการก่อน แต่ส่วนตัวเราก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าลูกจ้างบริษัทเอกชนก็ควรได้สิทธิ์นี้ด้วย จึงมีการเคลื่อนไหวต่อมาเรื่อยๆ

จนโค้งสุดท้ายปี 2536 ที่มีจุดเปลี่ยน เพราะคนงานหญิงก็เริ่มไม่พอใจว่าทำไมข้าราชการถึงได้สิทธิ์ลาคลอด 90 วัน ยุคนั้น รัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ก็เลยมีการต่อรองว่าให้เอกชนเพิ่มวันลาคลอด 75 วันได้ไหม แต่พวกเรายืนยันว่าก็ต้อง 90 วัน การประท้วงจึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีแรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ยืนยันว่าจะอดอาหารและกรีดเลือดประท้วง

สุดท้ายรัฐบาลก็อ่อนลง ได้การลาคลอด 90 วัน เพราะการเคลื่อนไหวของคนงานหญิงที่มีฐานะยากจนในเขตโรงงานอุตสาหกรรมอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พระประแดง รังสิต และองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ในขณะที่ชนชั้นกลางที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้เหมือนกัน แต่มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือน้อยมาก

ล่าสุดสังคมกำลังสนใจและถกเถียงเรื่องการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน

ปี 2564 กฎหมายอนุญาตให้ลาคลอดได้เพิ่มมาอีกแปดวัน รวมเป็น 98 วัน เพื่อให้ลาก่อนคลอดได้เล็กน้อยเพื่อเตรียมตัว หลังจากนั้นก็มีความคืบหน้าเกิดขึ้นก็คือ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 มีมติ ครม. เห็นชอบร่างมาตรการขยายวันลาคลอดของข้าราชการ คือเมื่อครบ 98 วันแล้ว สามารถลาต่อเนื่องได้อีกไม่เกิน 90 วัน รวมเป็น 188 วัน โดยได้รับเงินเดือนครึ่งเดียว ส่วนข้าราชการชายยังสามารถลาไปเลี้ยงลูกได้ 15 วันเหมือนเดิม แต่สุดท้ายมติ ครม. นี้ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีการแก้ไขในระเบียบหรือยัง

ความสำคัญของการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน

ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของสิทธิสองอย่าง สิทธิแรกเป็นสิทธิของผู้หญิงในแง่สุขภาพ การลาคลอด 90 วัน และเลี้ยงลูกไปด้วย มันไม่พอที่จะฟื้นฟูร่างกายของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ต่อมาเป็นสิทธิของลูก การกินนมแม่ก็จำเป็น และลูกก็จำเป็นที่จะต้องสานสัมพันธ์กับแม่และครอบครัว โดยเฉพาะหนึ่งปีแรกที่ถือว่าเป็นปีทองของลูก และนอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการลาคลอด 180 วัน ก็คือการควบคุมการตลาดนมผงสำหรับเด็ก ที่ผ่านมาแม่หลายคนจำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผง ทำให้บริษัทที่ผลิตนมผงจากต่างประเทศได้ประโยชน์มหาศาล เราเสียเงินซื้อนมผงปีละหลายล้านบาท ก็ทำการตลาดให้คนอยากใช้นมผงเลี้ยงลูก ทั้งที่นมแม่มีประโยชน์และจำเป็นกับลูกมากกว่า และรัฐบาลก็ต้องมีนโยบายสนับสนุนและรณรงค์ให้มีกลไกและอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงที่ลาคลอดได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เรื่องนี้ก็เลยต้องควบคู่ไปกับกฎหมายลาคลอด 180 วัน อย่ามองว่าการคลอดลูกเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะในอนาคต เด็กก็ต้องเติบโตมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพถูกไหม

นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ถ้ามีสวัสดิการให้สามีลามาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้ ผมคิดว่าปัญหาการทอดทิ้งลูกที่สังคมให้เป็นภาระของผู้หญิงคนเดียวจะลดลงบ้าง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าตัวตาย น่าจะน้อยลง

มีความเป็นไปได้แค่ไหน 

ตอนนี้การลาคลอด 180 วัน เป็นหนึ่งในชุดนโยบายของพรรคก้าวไกล และก็มีหลายพรรคการเมืองเห็นด้วย แต่จะทำได้หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนองค์กรแรงงานและภาคสังคมที่เรียกร้องประเด็นนี้ยังน้อยอยู่

“กฎหมายมันไม่ควรที่จะอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรที่จะครอบคลุมคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะแรงงานหรือเจ้าของธุรกิจ และรัฐก็ควรที่จะเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือ เวลาพูดถึงครอบครัว เราหมายถึงครอบครัวยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่พ่อแม่ลูก เพราะปัจจุบันมีครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ควรจะได้รับสิทธินี้ด้วย กฎหมายในประเทศไทยควรจะก้าวหน้ามากกว่านี้ได้แล้ว”

มีผลตอบรับจากเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการเอกชนอย่างไรบ้าง

เราจะเห็นว่าต่างประเทศสวัสดิการเรื่องพวกนี้มันไปไกลมาก บางประเทศให้แม่ลาคลอดและเลี้ยงลูกได้เป็นปี กฎหมายมันไม่ควรที่จะอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรที่จะครอบคลุมคนทุกชนชั้น ไม่ว่าจะแรงงานหรือเจ้าของธุรกิจ และรัฐก็ควรที่จะเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือ เวลาพูดถึงครอบครัว เราหมายถึงครอบครัวยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่พ่อแม่ลูก เพราะปัจจุบันมีครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ควรจะได้รับสิทธินี้ด้วย กฎหมายในประเทศไทยควรจะก้าวหน้ามากกว่านี้ได้แล้ว

“ผมมองว่า เจ้าของกิจการหลายคนก็ยังมองวิกฤติแบบเดิมๆ อยู่ เช่น คนท้องเป็นภาระ การลาคลอดเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับกิจการของเขา แต่เขาลืมมองไปว่า ถ้าเขามีการบริหารที่ดี ก็จะแก้ปัญหาให้งานดำเนินต่อไปได้ ถ้าพนักงานลาคลอดแล้วกิจการไม่สามารถจัดการได้ ก็แสดงว่าเขาวางแผนไม่ดี มันเป็นปัญหาที่บริษัท ไม่ใช่ปัญหาของคนท้อง”

บางคนบอกว่า ถ้าลาคลอดนานขนาดนั้น จะเป็นการสร้างภาระหรือทิ้งงานไว้ให้กับเพื่อนร่วมงาน

ผมมองว่า เจ้าของกิจการหลายคนก็ยังมองวิกฤติแบบเดิมๆ อยู่ เช่น คนท้องเป็นภาระ การลาคลอดเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับกิจการของเขา แต่เขาลืมมองไปว่า ถ้าเขามีการบริหารที่ดี ก็จะแก้ปัญหาให้งานดำเนินต่อไปได้ ถ้าพนักงานลาคลอดแล้วกิจการไม่สามารถจัดการได้ ก็แสดงว่าเขาวางแผนไม่ดี มันเป็นปัญหาที่บริษัท ไม่ใช่ปัญหาของคนท้อง ไม่ว่าองค์กรไหนก็ควรสนับสนุนให้คนท้องได้สิทธิ์ที่ควรได้

อีกส่วนหนึ่งคือการที่บางคนมองว่า การลาคลอดเป็นสวัสดิการที่ไม่ยุติธรรมกับคนไม่มีลูก ผมมองว่าปัญหาคือการที่คนไม่อยากมีลูก เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดี ค่าแรงต่ำ ถ้าเกิดคุณอยากให้คนมีลูก คุณต้องขึ้นค่าแรง เพิ่มสวัสดิการชีวิตที่ดี

หมอเด็กทุกคนก็แนะนำว่า การเลี้ยงลูก 1-3 ปีแรก ถือเป็นปีทองของชีวิตลูก แต่คนที่ต้องทำงาน หาเช้ากินค่ำ เขาจะดูแลลูกให้ดีได้ยังไง ปัญหาก็เลยเยอะ เด็กก็โตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เราถึงบอกว่ารัฐจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน นี่พูดถึงแค่ประเด็นสวัสดิการลาคลอดนะ ยังไม่รวมถึงเรื่องอื่นที่สำคัญ เช่น ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก และการศึกษาอีก

ตอนนี้บทบาทของมูลนิธิกำลังทำอะไรกับเรื่องนี้

ผมก็มีแผนตั้งเครือข่ายว่าจะขับเคลื่อนประเด็นเพิ่มวันลาคลอด จาก 90 วันเป็น 180 วัน เพราะว่ามันนิ่งมา 30 ปีแล้ว มีการเอาคนงานมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บวกกับช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง ก็เลยอยากให้การเพิ่มวันลาคลอดได้เข้าไปอยู่ในนโยบายของพรรคการเมือง พรรคการเมืองไหนทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในภาพรวม แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะผลักดันไปได้ถึง 180 วันหรือเปล่า แต่อย่างน้อยอาจจะได้เพิ่มเป็นให้เท่าราชการที่มีมติ ครม.ไปแล้วก็ยังดี

ในมุมมองของพ่อคนหนึ่ง นอกจากวันลาคลอดและเลี้ยงลูก คิดว่าภาครัฐควรสนับสนุนหรือมีนโยบายเกี่ยวกับครอบครัวมากกว่านี้ไหม

เมื่อก่อนผมก็ลาไปเลี้ยงลูก 30 วัน รู้เลยว่าการเลี้ยงลูกมันไม่ง่าย เป็นงานที่เหนื่อยและมีความละเอียดอ่อนสูงมาก ถ้าเราไม่ได้ช่วยดูแลภรรยาตอนนั้น เขาอาจจะเครียดและนำมาสู่ปัญหาอีกหลายอย่าง

ถึงประเทศเราจะมีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แต่ผมมองว่าศูนย์รับเลี้ยงเด็กตอนนี้ก็มีปัญหามาก เพราะมันไม่มีรองรับในเขตอุตสาหกรรมที่เป็นของรัฐ บางโรงงานอาจจะมี แต่มันน้อยมาก ซึ่งถ้าอยากให้คนมีลูก ก็ต้องมองหลายๆ ด้าน เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ เรามีไว้รองรับบ้างไหม

ในกรุงเทพฯ ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ กทม. รับผิดชอบอยู่ ก็มีแค่ในเขตชุมชนบางชุมชน บางชุมชนก็ไม่มี แต่คนที่พอมีรายได้ ชนชั้นกลาง หรือคนที่ทำงานบริษัททั่วไปก็ต้องใช้บริการเนอร์เซอรีที่มีราคาสูง กลายเป็นว่าการมีลูก ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แล้วแบบนี้ใครจะอยากมีลูก อัตราการเกิดก็เลยต่ำลงเรื่อยๆ สังคมไทยจึงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

เหมือนรัฐสวัสดิการของเราไม่ได้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม 

ผมมองว่าตอนนี้รัฐสวัสดิการของเรามันกระจัดกระจาย อย่างบัตรทอง 30 บาท ก็เป็นรัฐสวัสดิการอันหนึ่ง ประกันสังคมก็เหมือนเป็นกึ่งรัฐสวัสดิการ สองอย่างนี้ยังเหลื่อมล้ำกันอยู่เลย ทั้งที่มันควรจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ประกันสังคมจ่ายให้เดือนละ 600 บาท มันน้อยมาก เมื่อเทียบกับเงินบำนาญของราชการ ข้าราชการก็ไม่ควรได้มากกว่าคนอื่น ทุกคนควรได้อย่างเท่าเทียม แต่ถึงอย่างนั้น สังคมไทยก็จำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการนะ ระบบภาษีต่างๆ ก็ต้องถูกปฏิรูปและนำไปใช้อย่างถูกต้อง

สัมภาษณ์วันที่ 28 ตุลาคม 2565

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST