READING

INTERVIEW: นิทานธรรมชาติจากใบไม้ แสง และเงา: คุยกั...

INTERVIEW: นิทานธรรมชาติจากใบไม้ แสง และเงา: คุยกับยอด—เจริญพงศ์ ชูเลิศ นักเล่านิทานจากกลุ่มนิทานใบไม้

นิทานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเด็กๆ มาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านหรือพัฒนาไปแค่ไหน นิทานก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงจิตใจของเด็กๆ ได้เสมอ

สำหรับเด็กๆ แล้วนิทานเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโลกแห่งจินตนาการ ทำให้พวกเขาได้ผจญภัย ไปยังสถานที่แปลกใหม่และดินแดนมหัศจรรย์ต่างๆ นอกจากนั้นยังทำให้เด็กเข้าใจบางสิ่งและเรียนรู้บางอย่างในชีวิตจริงได้โดยง่าย

การเล่านิทานให้เด็กฟัง มีวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือ เล่าปากเปล่า เปิดคลิปเสียง หรือคลิปวิดีโอ แต่วันนี้ M.O.M ได้มีโอกาสได้ทำความรู้จัก คุณยอด—เจริญพงศ์ ชูเลิศ นักเล่านิทาน จากกลุ่มนิทานใบไม้ ผู้ซึ่งสร้างสรรค์การเล่านิทานด้วยใบไม้ แสง และเงาที่หาได้ทั่วไปตามธรรมชาติ

แล้วเราจะได้รู้ว่าโลกแห่งจินตนาการของเด็กๆ นั้นมีวิธีการเข้าถึงได้มากมายแค่ไหน

เริ่มสนใจการเล่านิทานได้อย่างไร

ถ้าให้เริ่มต้นจริงๆ น่าจะเป็นช่วงที่ได้ทำละครหุ่นเรื่อง ควายไม่กินหญ้า ซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้าน เพราะเราทำงานกับเด็กและเยาวชน เวลาทำกิจกรรมค่ายหรือมีกิจกรรมละครก็มักใช้นิทานพื้นบ้านหรือเอานิทานต่างประเทศมาให้เด็กๆ ได้อ่าน หรือเอามาทำเป็นกิจกรรมบ้าง เล่นเป็นละครบ้าง ก็ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับนิทานไปด้วย

พอช่วงหลังๆ ได้ลองเล่นหนังบักตื้อ ซึ่งเหมือนหนังตะลุงของภาคใต้ แต่เป็นการละเล่นของอีสาน ซึ่งใช้เนื้อเรื่องนิทานพื้นบ้านมาแสดงเหมือนกัน ก็เริ่มคิดว่า เอ๊ะ ชีวิตเราอยู่กับนิทาน ได้ใช้นิทานทำงานมาตลอด แล้วยิ่งมีลูก ก็ยิ่งรู้สึกว่านิทานนั้นดีกับเด็กมาก และเราก็ชอบอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังอยู่แล้ว ก็เลยไปเข้าค่ายเขียนนิทานกับครูปรีดา ปัญญาจันทร์ คือไปฝึกเขียนนิทานและวาดนิทาน หลังจากนั้นก็กลับมาฝึกตัวเองต่อ เพราะว่ารู้สึกว่าถ้าเราสร้างสรรค์นิทานเองได้มันก็จะมีประโยชน์มาก หนึ่ง—เราได้อ่าน ได้เล่านิทานให้ลูกฟัง สอง—ถ้านิทานเราได้ทำเป็นหนังสือและสามารถตีพิมพ์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ คนอื่นต่อไป

“พอเราได้เล่าได้อ่านหนังสือนิทานดีๆ เราก็รู้สึกว่านิทานเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะทำหนังสือนิทานดีๆ แบบนี้บ้าง เราก็เลยมุ่งมั่นที่อยากจะเล่านิทานด้วย แต่งนิทานด้วย”

ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้ความสำคัญของการเล่านิทานมากขึ้น

คิดว่าใช่นะครับ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เรามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นทั้งนักแต่งนิทานและนักเล่านิทาน เพราะก่อนหน้านี้ผมก็ชอบเล่านิทานให้ลูกหรือให้เด็กๆ ฟัง แต่เราก็หยิบยกนิทานมาจากเรื่องของคนอื่น พอเราได้เล่าได้อ่านหนังสือนิทานดีๆ เราก็รู้สึกว่านิทานเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากจะทำหนังสือนิทานดีๆ แบบนี้บ้าง เราก็เลยมุ่งมั่นที่อยากจะเล่านิทานด้วย แต่งนิทานด้วย

“ผมคิดว่านิทานเป็นอะไรที่ง่ายสำหรับเด็ก เช่น นิทานอีสป เรื่อง กระต่ายกับเต่า พอพูดถึงปุ๊บเด็กก็รู้จักกันหมด คือมันสื่อความหมายให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่าย ผมว่ามันช่วยทำให้เด็กเข้าใจเรื่องความดี-ไม่ดีผ่านตัวละครในนิทานได้ง่ายๆ โดยที่เราไม่ต้องไปพูดอะไรที่มันซับซ้อน”

มองว่าการเล่านิทานให้เด็กฟังสำคัญอย่างไร

ผมคิดว่านิทานเป็นอะไรที่ง่ายสำหรับเด็ก เช่น นิทานอีสป เรื่อง กระต่ายกับเต่า พอพูดถึงปุ๊บเด็กก็รู้จักกันหมด คือมันสื่อความหมายให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่าย ผมว่ามันช่วยทำให้เด็กเข้าใจเรื่องความดี-ไม่ดีผ่านตัวละครในนิทานได้ง่ายๆ โดยที่เราไม่ต้องไปพูดอะไรที่มันซับซ้อน ส่วนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมก็สอดแทรกอยู่ในนิทาน แล้วยังมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แถมมาด้วย

แล้วมาเริ่มเป็นนิทานใบไม้ได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นคือเราชอบนิทาน อันนี้คือข้อหนึ่ง สองคือเราทำงานหนังบักตื้อ (หนังตะลุงอีสาน) ซึ่งเราต้องไปเวิร์กช็อปการทำหนังตะลุงมาก่อน ซึ่งตัวหุ่นหนังตะลุงมันทำมาจากหนังวัว จะเย็บหรือจะตอกมันก็ค่อนข้างต้องใช้กำลัง ถ้าเป็นเด็กเล็กเขาจะทำไม่ได้เลยผมก็เลยคิดว่า เอ๊ะ… แล้วอะไรที่เด็กๆ จะทำเองได้ ก็เลยนึกถึงใบไม้ เพราะเราก็ทำงานศิลปะจากธรรมชาติอยู่แล้ว ก็เลยค่อนข้างคุ้นเคยกับใบไม้ เรารู้ว่าใบไม้มันมีรูปทรงที่หลากหลาย สีสันก็ไม่ได้น้อยไปกว่าสีที่เด็กๆ ชอบใช้ ผมก็เลย มา! มาลองดูกัน

ก็เริ่มจากเอาใบไม้มาทำเป็นหุ่นเชิด ลองชวนลูก ชวนเด็กๆ มาสร้างสรรค์ใบไม้ให้เป็นตัวละครดู หยิบยกเรื่องจากหนังสือนิทานที่น่าสนใจมาเล่าไปด้วย เวลาเดินทางไปไหนก็จะเอาหุ่นเชิดที่ทำจากใบไม้พวกนี้ไปเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง

เห็นว่านอกจากใบไม้ แสง และเงาแล้ว ยังมีการใช้ดนตรีเข้ามาช่วยในการเล่านิทานเล่าด้วย, ดนตรีสำคัญต่อการเล่านิทานใบไม้อย่างไร

ถ้าเป็นละครนิทาน ดนตรีและเพลงจะเข้ามาเสริมให้สนุกขึ้น ทำให้นิทานมีสีสันมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นดนตรีที่มีจังหวะง่ายๆ เด็กก็จะเล่นไปด้วยได้ เช่น ปรบมือ ร้องเพลงตาม ถ้าพูดให้ชัดเจนก็คือดนตรีทำให้นิทานมีชีวิตชีวามากขึ้น

“อย่างผมเองก็สนใจเอาใบไม้มาเล่นเป็นเงา เพราะถ้าเป็นแค่หุ่นใบไม้มันก็น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเงามันก็จะให้ภาพที่ไม่ปกติ คนจะรู้สึกว่าไม่ได้เห็นภาพนี้ได้บ่อยๆ แถมยังสามารถเพิ่มลูกเล่นได้อีก ผมก็เลยชอบการเล่านิทานที่มีเทคนิคหลายอย่าง เพราะเด็กๆ สนุก แล้วเราก็สนุกด้วย”

การเล่านิทานด้วยเทคนิคแตกต่างกัน เช่น เล่าปากเปล่า หุ่นมือ หรือนิทานใบไม้ ให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างไร

โดยพื้นฐานถ้าเราเล่าด้วยหนังสือ เด็กก็จะสนใจภาพและตัวหนังสือ แต่ถ้าเล่าด้วยการเล่นหุ่นมือ เด็กก็จะสนใจที่ตัวหุ่น ได้ความคิดสร้างสรรค์และใช้จินตนาการในการเล่นตัวหุ่น ได้เรียนรู้นิทานผ่านตัวหุ่น ถ้าเป็นนิทานเพลงเด็กก็ได้ใช้จินตนาการตามไปดนตรีและจังหวะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าจะเทคนิคไหนก็ล้วนทำให้เด็กผจญภัยไปกับเนื้อเรื่องและตัวละคร แต่ปลายทางก็คือเขามีความสุขนั่นแหละ

ถ้านิทานมันสนุกแล้ว เทคนิคอื่นๆ ก็จะช่วยเสริมให้นิทานมีความน่าสนใจขึ้นไปอีก อย่างผมเองก็สนใจเอาใบไม้มาเล่นเป็นเงา เพราะถ้าเป็นแค่หุ่นใบไม้มันก็น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเงามันก็จะให้ภาพที่ไม่ปกติ คนจะรู้สึกว่าไม่ได้เห็นภาพนี้ได้บ่อยๆ แถมยังสามารถเพิ่มลูกเล่นได้อีก เช่น ทำเป็นเงาเล็ก เงาใหญ่ ผมก็เลยชอบการเล่านิทานที่มีเทคนิคหลายอย่าง เพราะเด็กๆ สนุก แล้วเราก็สนุกด้วย

นอกจากการใช้ใบไม้ในการเล่านิทานแล้ว ยังมีการใช้วัสดุธรรมชาติมาทำอย่างอื่นอีกไหม

ถ้านอกจากนิทานใบไม้ ผมก็ทำงานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งก็จะไม่ใช่แค่ใบไม้แล้ว เช่น งานประติมากรรม งานปะติดจากวัสดุธรรมชาติ ยิ่งเรามีลูกเล็ก ผมก็เอาพวกวัสดุธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ ขอนไม้ ท่อนไม้ มาตัดแต่งทำมาเป็นของเล่นให้ลูกเล่นด้วย คือเรามีความเชื่อว่าเด็กที่ได้สัมผัสธรรมชาติเยอะๆ จะได้ประโยชน์มากกว่าของเล่นที่ซื้อมา

“ผมรู้สึกว่าเวลาอยู่กับธรรมชาติเราจะรู้สึกสบายใจขึ้น เช่น เรานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ เรารู้สึกเย็นสบาย ดูนกบินไปบินมา ฟังเสียงร้องของนก ฟังเสียงสายลม ผมว่านี่เป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะเด็กๆ ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติเยอะๆ ผมว่าจะทำให้เขาเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น เป็นคนสังเกตสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น”

นอกจากเด็กกับนิทานแล้ว เด็กกับธรรมชาติก็ควรอยู่คู่กันถูกหรือเปล่า

บางทีผมก็รู้สึกขอบคุณตัวเองนะที่เราได้เกิดเป็นเด็กชนบท หรือเรียกง่ายๆ ว่าเด็กบ้านนอก (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าเรามีต้นทุน เราได้สัมผัสกับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ได้ไปทุ่งนา ไปเข้าป่าเลี้ยงวัวกับพ่อ นี่มันเป็นต้นทุนที่ดีของเรา

แล้วพอได้เรียนที่โรงเรียนเด็กรักป่าที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนนอกระบบยุคแรกๆ ของไทย โรงเรียนนี้ช่วยให้เราเรียนรู้ศิลปะจากธรรมชาติมากขึ้น ได้เรียนรู้กระบวนการทำหุ่น ได้เล่นหุ่น เรียนรู้ดนตรี เหมือนเป็นการปูพื้นฐานมาตั้งแต่ จนทำงานทุกวันนี้ก็ยังใช้วิชาเหล่านี้อยู่

มันทำให้ผมรู้สึกว่าเวลาอยู่กับธรรมชาติเราจะรู้สึกสบายใจขึ้น เช่น เรานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ เรารู้สึกเย็นสบาย ดูนกบินไปบินมา ฟังเสียงร้องของนก ฟังเสียงสายลม ผมว่านี่เป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะเด็กๆ ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติเยอะๆ ผมว่าจะทำให้เขาเป็นคนที่ใจเย็นขึ้น เป็นคนสังเกตสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น แม้แต่นิทานใบไม้ ผมก็จะชวนให้เด็กสังเกตดูใบไม้รอบตัว บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาความงามที่ใหญ่โตมโหฬาระ ยิ่งถ้าเราเห็นความงามจากสิ่งเล็กๆ ที่อยู่รอบตัวได้ มันก็จะง่ายมากเลยที่เราจะมีความสุขกับเรื่องอื่นที่ใหญ่ขึ้น

ตอนนี้คณะนิทานใบไม้ทำงานอย่างไร ได้รับการตอบรับจากเด็กๆ และผู้ปกครองอย่างไรบ้าง

แรกๆ นิทานใบไม้เริ่มแสดงที่เพรชบุรีและอุตรดิตถ์ ถ้าเป็นช่วงหลังก็จะมีไปงานหนังสือที่เชียงใหม่ เนิร์สเซอรี่ที่ปากช่อง  ไปโรงเรียนที่จังหวัดสุรินทร์ ล่าสุดก็เพิ่งไปแสดงที่จังหวัดหนองคายกลับมา ถ้านับจริงๆ ก็ร้อยกว่ารอบได้แล้ว คนดูแต่ละรอบก็จะเป็นเด็กเล็กกับผู้ปกครอง เล่นเสร็จก็จะมีผู้ปกครองมาคุย หรือเดินมาบอกว่าเป็นงานแสดงที่แปลกใหม่ เขาไม่เคยเห็นใครใช้ใบไม้เล่านิทานมาก่อน

หรืออย่างที่เชียงใหม่ ก็เข้าไปเล่นในห้องเรียนของเด็กอนุบาลเลย เด็กๆ เขาก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ อย่างนิทานที่ตั้งใจให้เด็กเรียนรู้ว่าต้นไม้มาจากไหน ทำหน้าที่อะไร ผมก็ทดสอบไปด้วย เพราะอยากรู้ว่าเราเล่านิทานแบบนี้เด็กจะรู้เรื่องไหม ปรากฏว่า เด็กๆ ตอบได้หมดเลย โดยที่เราไม่ต้องพูดเป็นภาษาวิชาการ เราก็ยิ่งรู้สึกว่าการเล่านิทานมันทำให้เด็กเข้าใจเรื่องที่สอนในห้องเรียนได้ง่ายมากครูที่ได้ดูเขาก็จะมองว่ามันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ เขาก็ต่อยอดว่าเอานิทานไปทำเป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนได้  ซึ่งเราดีใจนะ ถ้านิทานใบไม้ของเราไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้รับประโยชน์อีกต่อหนึ่ง

ในอนาคตอยากให้การเล่านิทานใบไม้ต่อยอดไปอย่างไร

ในอนาคต หนึ่ง—ก็คือตัวเองยังต้องเรียนรู้การสร้างสรรค์นิทานใบไม้อีกไปเรื่อยๆ และเรายังอยากสร้างสรรค์อะไรอีกหลายอย่าง เช่น อยากให้ใบไม้มีสีสันแบบนี้ไปนานๆ จะต้องทำอย่างไร ผมเลยอยากทำให้เป็นงานเอกสารทางวิชาการเล็กๆ สไตล์ของเราเอง เผื่อที่ว่าหากมีคนสนใจก็จะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น อยากรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับใบไม้ เช่น อันนี้ใบไม้อะไร ความหนาบางยังไง ทำอะไรได้บ้าง ก็จะลงรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ นอกจากใบไม้เราก็จะได้เรียนรู้ต้นไม้ไปพร้อมกันด้วย

ในส่วนของนิทานใบไม้ก็จะมีการพัฒนาต่อไปอีก ไม่รู้ว่าจะต้องพัฒนาต่อไปถึงไหน แต่อยากทำให้ดีที่สุด อยากสื่อสารให้ชัดเจนที่สุด มีเสน่ห์ที่สุด ปลายทางของเรื่องนี้ก็ยังอยากทำเป็นหนังสือนิทานออกมา

มีอีกหนึ่งอย่างที่อยากทำคือคลิปวิดีโอหรือทำช่องยูทูบ หรือทำเป็นหนังสือสอนการสร้างสรรค์นิทานใบไม้

แต่ที่พูดมานี้คือเยอะมากเลย (หัวเราะ) ก็คงต้องใช้เวลา ค่อยๆ ทำไป ระหว่างเดินทางเราก็เก็บสะสมข้อมูลและประสบการณ์ เหมือนนิทานใบไม้พาเราเดินทางไปพร้อมกัน


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST