วันนี้เราอยู่ในห้องทำงานของคุณหมอที่เต็มไปด้วยของเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็กอย่างสไลเดอร์ ชิงช้า เบาะรองกระโดดสีสันสดใสเต็มห้อง แต่ถ้ามองดีๆ ของทุกชิ้นในห้องนี้นอกจากจะมีไว้หลอกล่อเด็กๆ ที่มากับคุณพ่อคุณแม่ ยังมีไว้เพื่อสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กๆ ในการดูแลของ แพทย์หญิงสุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คุณหมอผู้ดูแลเรื่องพัฒนาการในเด็กและวัยรุ่น จนถึงให้คำปรึกษากับเด็กและครอบครัว ประจำโรงพยาบาลพญาไท 1
นอกจากจะเป็นคุณหมอผู้ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่มาหลายครอบครัว แต่ในฐานะคุณแม่ของเด็กชายอารมณ์ดี น้องฮัวโต๋ หรือ ด.ช. พลัฎฐ์ ตริยาวธัญญู (วัย 1 ปี 4 เดือน) แล้ว การเป็นคุณแม่ยังช่วยให้คุณหมอเข้าใจจิตใจของคุณแม่ที่ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น
“การบอกคนอื่นว่าเรามีปัญหาอะไร
มันทำให้คนอื่นพร้อมที่จะเข้าใจเรา ช่วยเหลือเรา
ยามที่เกิดปัญหา แต่เราต้องแสดงตัว
ไม่งั้นมันยากที่คนอื่นเขาจะช่วยเหลือได้ถูกต้อง”
ถึงจะเป็นหมอ แต่ตอนตั้งครรภ์ก็มีเรื่องชวนให้กังวลเหมือนกัน
จริงๆ เราตั้งใจจะมีน้องอยู่แล้ว แต่ตอนแรกแค่สงสัยว่าประจำเดือนขาด อาจจะท้อง ก็เลยไปเจาะเลือด แต่ระหว่างรอผลตรวจ ประจำเดือนก็มา เลยโทร.บอกสามีว่าไม่ได้ท้องแล้วนะ แต่ผลตรวจเลือดออกมาว่าท้อง โอ๊ะ ดีใจ! รีบโทร.บอกสามีอีกรอบ (หัวเราะ) แต่มันก็มีความกังวล เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราเป็นหมอเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นอะไร
ใช้ความเป็นคุณหมอปลอบใจตัวเองได้ไหม
ความรู้ที่มีอยู่มันนานมาแล้ว ต้องกลับไปตั้งต้นกันใหม่ เรามีสารานุกรมอยู่เล่มนึงก็คอยเปิดดูตลอด เพื่อให้รู้ว่าจุดสำคัญของมันอยู่ตรงไหน จะได้ไม่ทำอะไรที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรืออาการบาดเจ็บ เพราะอะไรที่มันก้ำกึ่งหรือเลือกได้ เราก็จะเลือกสิ่งที่ทำแล้วไม่ลำบาก เลือกจุดที่สบายของตัวเอง ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้กับแทบจะทุกเรื่อง
จุดที่สบายของตัวเอง แต่ก็ยังปลอดภัยต่อลูก
เช่น ขึ้นมอเตอร์ไซค์ ก็บอกคนขับไปเลยตรงๆ ว่าท้องอยู่ อย่าเขินอาย เพราะคนทั่วไปเขาอาจจะไม่รู้ว่าเราท้อง เพราะเขายังมองไม่เห็น แต่ถ้าเขารู้ เขาก็จะช่วยระวังให้เรา
แปลว่าการส่งสัญญาณนั้นสำคัญ
ทางตำราเขาจะเรียกว่า การ ‘call for help’ หรือการร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น การบอกคนอื่นว่าเรามีปัญหาอะไร มันทำให้คนอื่นพร้อมที่จะเข้าใจเรา ช่วยเหลือเราในยามที่เกิดปัญหา แต่เราต้องแสดงตัว ไม่งั้นมันยากที่คนอื่นเขาจะช่วยเหลือได้ถูกต้อง
เป็นหมอสามารถ ‘call for help’ กับคนไข้ได้ไหม
ไม่เคยนะคะ เราแพ้ท้องตลอดเจ็ดเดือนเลย แต่ก็จะบอกคนไข้ว่า หมอแพ้ท้องหน่อย พอคนไข้รู้ เขาก็จะโอเค รู้ว่าเรานั่งนานได้ประมาณไหน แต่ด้วยหน้าที่ เราก็ต้องโฟกัสที่การให้คำปรึกษา พอโฟกัสกับคนไข้ อาการคลื่นไส้แพ้ท้องก็หายไป แต่พอตรวจเสร็จก็มีบ้างที่ต้องลุกไปอาเจียน เสียงโอ้กอ้ากนี่ได้ยินตั้งแต่ท้าย OPD ไปถึงข้างหน้า
แปลว่ายังทำงานได้เหมือนเดิม
ใช่ค่ะ ช่วงที่เยอะที่สุดคนไข้ประมาณหกคนต่อวัน แต่ความหนักมันอยู่ที่เราต้องสะกดอาการแพ้ท้อง แล้วนั่งฟังคนไข้ ซึ่งบางช่วงก็มีที่ต้องฝืนตัวเอง เพราะคนแพ้ท้องมักจะหิว แต่กินอะไรได้ไม่เยอะ พอนั่งนานๆ ลมในท้องก็จะยิ่งเยอะ บางทีอยากจะผายลม แต่พอต้องอั้นไว้ มันก็ยิ่งกระตุ้นให้อาเจียนง่ายขึ้น
การรับฟังปัญหาของคนไข้ มีผลกระทบต่อคุณหมอที่กำลังจะเป็นแม่บ้างไหม
ไม่กระทบค่ะ เรื่องที่เขาปรึกษาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจ แต่การนั่งนาน นั่งอั้นนี่มีผลต่อร่างกาย ถ้าไม่ท้อง หมอก็นั่งได้เลยสองสามชั่วโมง แต่พอท้องก็ต้องขอออกไปเดินบ้าง แต่เคสจิตเวชบางทีก็มีความยุ่งยาก เขากำลังนั่งเล่า ร้องไห้ เราจะไปตัดกลางคันไม่ได้
แต่คุณแม่ก็ต้องมีวิธีดูแลจิตใจตัวเอง
เขียนไดอารี่ ซึ่งพอเราย้อนกลับมาอ่านสิ่งที่คิดตอนท้อง มันทำให้เห็นตัวเองมากขึ้น ว่าเราไปมองแต่คนอื่นมากเกินไป ซึ่งมันไม่มีประโยชน์กับการเติบโตของลูกเราเลย เพราะทุกคนมีบริบทชีวิตที่ต่างกัน แต่การที่เราโฟกัสเรื่องของตัวเอง เราจะไม่หวั่นไหว ก็เลยเขียนเป้าหมายไว้ว่าจะเลี้ยงลูกแบบไหน ไว้เตือนความทรงจำของเรา
เป้าหมายนั้นคือ
เป้าหมายของเราก็คือ เราอยากเลี้ยงลูกให้เป็นที่รัก เป็นคนที่คนอื่นรักด้วย คือเขาต้องรักตัวเอง แล้วก็เป็นที่รักของคนอื่นด้วย
หลังคลอดแล้วก็ลางานออกมาเลี้ยงลูกเต็มตัว
ใช่ค่ะ ดูแลน้องแบบเต็มเวลา 6 เดือน รวมตอนท้องก็ลางานไป 8 เดือนเต็มๆ เพราะช่วงสามเดือนแรกเราอยากจะโฟกัสเรื่องความใกล้ชิด กอดเขา หอมเขา มองหน้าเขา กล่อมเขา กอดแนบอก ให้เขารับรู้เสียงเรา การทำงานบ้านและกิจกรรมทุกอย่างในบ้าน เขาจะได้เห็นเราหมด อะไรที่ต้องจัดการตัวเอง เรามีเป้าหมายว่าจะลดการพึ่งพาคนอื่นให้มากที่สุด
เหตุผลที่ตัดสินใจส่งลูกไปเนิร์สเซอรี่ตอนอายุ 7 เดือน
ก็ลังเลนะ แต่เราอยากทำอะไรที่ควบคุมชีวิตตัวเองได้ แล้วก็พบว่าเด็กเขาก็รู้จักเราและเริ่มทำความรู้จักคนอื่นได้โดยที่ไม่กลัวมาก เขาจะจดจำเราได้ แต่ไม่ติดเรา ก็เลยเป็นช่วงเวลาที่ลูกมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับครูพี่เลี้ยงครึ่งนึง กับที่บ้านครึ่งนึง
ข้อดีของเนิร์สเซอรี่ที่คุณหมอค้นพบ
พอถึงวัยที่เขาเริ่มกลัวคนแปลกหน้า เขาจะแค่ทำหน้ากังวลนิดหน่อย แต่สามารถผละออกจากเราไปได้ แค่ขอกอดหน่อย แล้วก็จะไปกอดคุณครู เพราะเขาก็คุ้นเคยกับครูด้วย
หมอเลยคิดว่าพ่อแม่ที่กังวลว่าจะเป็นแม่ฟูลไทม์หรือพาไปเนิร์สเซอรี่ดี ก็อย่ากลัว อย่าเพิ่งคิดมาก เอาที่สะดวกดีที่สุด
“เพราะเวลาเราเป็นหมอ
เราก็จะมีเป้าหมายในการรักษาคนไข้
แต่พอมาเป็นแม่ มันทำให้เรารู้เลยว่า
สิ่งที่แม่เขาเป็นและทำเพื่อลูก
เขาอดทนมามากแล้วจริงๆ”
สังเกตได้ว่าน้องเป็นเด็กอารมณ์ดี
ตั้งแต่สองสามเดือนก็จะจับแก้มให้เขายิ้มๆ เขาก็จะเริ่มยิ้มเป็น และทำให้เขาได้ยินเสียงหัวเราะของเราตลอดเวลา เด็กก็จะยิ่งอารมณ์ดี คือพ่อแม่ต้องปรับจิตใจตัวเองก่อน ให้เป็นคนมองโลกในแง่ขำๆ ให้เป็น ไม่ต้องไปซีเรียสอะไรมาก หัวเราะให้ง่าย แล้วลูกก็จะอารมณ์ดี เพราะมีเราเป็นตัวอย่าง
อารมณ์ของลูกเริ่มมาจากพ่อแม่
ค่ะ หมอว่าบางทีพ่อแม่ต้องปรับความคาดหวังด้วย บางคนมีหลายสิ่งที่อยากทำให้ลูกมากเกินไปจนเครียด แต่จริงๆ มันไม่เป็นไร ลูกพูดได้ตอน 15 เดือนก็ไม่เป็นไร เพราะหมอเชื่อว่าพัฒนาการของมนุษย์มันมาได้เรื่อยๆ พอเราไม่เครียด เราฮิฮะ ลูกก็อารมณ์ดีตามเรา เน้นที่คุณพ่อคุณแม่นี่แหละ
การมีลูกทำให้เข้าใจคนที่มาปรึกษาเรามากขึ้นไหม
โห หมอว่าดีมากเลยนะ การมีลูกทำให้เรามีความเป็นแม่ เข้าอกเข้าใจว่าความเป็นแม่น่ะ มันไม่ได้สมบูรณ์แบบหรอก เพราะเวลาเราเป็นหมอ เราก็จะมีเป้าหมายในการรักษาคนไข้ แต่พอมาเป็นแม่ มันทำให้เรารู้เลยว่า สิ่งที่แม่เขาเป็นและทำเพื่อลูก เขาอดทนมามากแล้วจริงๆ แต่บางเรื่องเขาอาจจะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือไม่พร้อมที่จะทำ เช่น ในเคสของเด็กสมาธิสั้น ออทิสติก พูดช้า มันมีปัจจัยมากมายที่ดูดพลังคุณแม่และทำให้เขาแก้ไขไม่ได้ ในฐานะหมอ เราก็ใจเย็นขึ้น ไม่ไปบังคับให้คนไข้ทำอะไรเกินตัว
แปลว่าคุณหมอเข้าใจคนไข้มากขึ้นผ่านจิตใจของคนเป็นแม่
เมื่อก่อนเราเหมือนครูที่ไปสอนเขา แต่ตอนนี้เราจะเป็นเหมือนเพื่อนช่วยเขาหาทางออกมากกว่า เพราะการมีลูกทำให้เรารู้ว่าการเป็นครูมันไม่ได้ช่วยอะไร คำแนะนำบางอย่าง ใครๆ ก็รู้อยู่แก่ใจ แต่มันไม่ใช่เวลาที่จะมาใช้ตอนนี้ เราก็ไปทำอย่างอื่นดีกว่า เชียร์แม่ให้ทำอะไรอย่างอื่นดีกว่า
“คำแนะนำบางอย่าง ใครๆ ก็รู้อยู่แก่ใจ
แต่มันไม่ใช่เวลาที่จะมาใช้ตอนนี้”
เป้าหมายในการเป็นคุณแม่ต่อไปจากนี้
เราอยากเป็นแม่ที่พยายามพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับวิชาความรู้ด้วย มันถึงจะบาลานซ์ชีวิตได้ เราเรียกเองว่า ‘ใฝ่รู้คู่ทางสายกลาง’ เราจะใช้คำนี้กับตัวเองตลอด เพราะเวลาที่ความรู้มาก แต่จิตใจหวั่นไหว ตึงเกินไปกับความคิด ความคาดหวัง ไม่ยอมผ่อน ก็จะทำอะไรได้ไม่ดีหรอก
คุณพ่อคุณแม่ต้องทบทวนตัวเอง ตั้งหลักที่ตัวเองเสมอ ที่เหลือลูกจะปรับตามเราค่ะ แต่ถ้าสงสัยว่าลูกเราพัฒนาการช้าไหม ก็ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรรอ เพราะบางเรื่องเราไม่สามารถตอบเองได้ทั้งหมด การอ่านในอินเทอร์เน็ตเราก็มักจะหาแต่ข้อมูลที่เข้าข้างตัวเอง ขนาดลูกหมอไม่สบาย สามีเป็นหมอฉุกเฉิน เรายังบอกเขาเลยว่า ไม่ได้นะ เธอจะมาวินิจฉัยลูกไม่ได้ ต้องไปหาหมอเฉพาะทาง เพราะบางทีเราไม่รู้จริง เวลาเราเป็นแม่ เราก็ต้องเป็นแม่ ไม่ใช่หมอ ลูกป่วยก็ต้องพาไปหาหมอเหมือนกัน
NO COMMENT