READING

คุยกับนักจิตวิทยา ‘เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์’ ในวันที...

คุยกับนักจิตวิทยา ‘เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์’ ในวันที่บ้านอาจจะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งข่าวที่อยู่ในความสนใจและเป็นที่พูดถึงของชาวเน็ตอย่างมาก ก็คือการที่นักร้องสาวคนหนึ่งเปิดเผยว่าเคยถูกน้องชายแท้ๆ ทำร้ายร่างกาย และรุนแรงแทบจะเรียกว่าเป็นการพยายามฆ่าก็คงไม่ผิดนัก (pptvhd36)

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้อาการป่วยหรือภาวะทางจิตของผู้ก่อเหตุหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่คนภายนอกมองเห็นและรู้สึกถึงความผิดปกติของเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ครอบครัวที่ควรจะเป็นสังคมที่อบอุ่นที่สุดของคนคนหนึ่ง บ้านที่ควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดของคนคนหนึ่ง กลับทำหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้

ในฐานะคนที่สนใจและให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูและความฟสัมพันธ์ทุกรูปแบบในครอบครัว หลังจากติดตามข่าวแล้วก็ต้องยอมรับว่านอกจากความเศร้าเสียใจแล้ว ก็เกิดคำถามมากมายที่อยากได้คำตอบ

เราเลยถือโอกาสชวน นีท—เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน มาพูดคุยคลายความสงสัยว่าพี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดาจริงไหม คำว่ารักลูกเท่ากันเป็นอย่างไร และอีกหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน สิ่งที่พ่อแม่มักจะกังวลก็คือพี่น้องไม่รักกัน พี่น้องทะเลาะกัน มันเป็นเรื่องธรรมดาหรือทางจิตวิทยาสามารถบอกได้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

ในทางจิตวิทยา เรื่องการทะเลาะกัน หรือการไม่เข้าใจกันระหว่างพี่น้อง มันเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ต้องบอกว่าเคสของนักร้องที่เป็นข่าว น่าจะเป็นเคสพิเศษกว่าเคสอื่น เพราะจากที่ตามอ่านข่าว น้องชาย เคยเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลศรีธัญญา นั่นหมายความว่าเขาทะเลาะกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ควรที่จะยกให้เป็นเคสพิเศษ

แต่ถามว่าการทะเลาะกันของพี่น้องเกิดขึ้นได้ไหม มันเกิดขึ้นได้ตลอดค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็ก เด็กก็จะมีความอยากได้อะไรก็ต้องได้ ยิ่งเด็กเล็กก็จะมีความ Egocentric เป็นตัวของตัวเองสูง แล้วเวลาที่เขาเล่นกัน สมมติเด็กอนุบาล เวลาเขารวมกลุ่มกัน เขาอาจจะยังไม่รู้กฎของกลุ่ม ว่าการเล่นกันต้องมีกฎอะไรบ้าง ซึ่งเด็กจะหล่อหลอมการเล่นด้วยกันและอยู่ด้วยกัน ผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเขา ดังนั้นการทะเลาะกันของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือพี่น้องก็ถือว่าสามารถเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ

แต่สิ่งสำคัญคือใช่ว่าเราควรจะปล่อยให้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้ชีวิตของเด็ก เขาต้องเรียนรู้กฎของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่นี่แหละ ที่จะเป็นคนสร้างกฎในการอยู่ร่วมกันให้กับลูก ว่าลูกจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยังไง เล่นด้วยกันยังไงให้ไม่ทะเลาะกัน อันไหนเป็นของฉัน อันไหนเป็นของเธอ เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญก็คือเด็กจะต้องเรียนรู้กฎการอยู่ร่วมกันผ่านครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นคนสอนว่าทำยังไงพี่น้องถึงจะเล่นด้วยกันได้และไม่ทะเลาะกัน

ทีนี้เวลาพี่น้องทะเลาะกัน พ่อแม่ก็จะลำบากใจ เคยอ่านเจอว่าหมอประเสริฐ (นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) จะชอบบอกว่าพ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่เป็นศาลที่จะไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก แต่บางทีพ่อแม่ก็เห็นอยู่ใครผิด เช่น น้องผิดจริงๆ ที่ไปแย่งของพี่แล้วยังทำร้ายพี่, บทบาทของพ่อแม่เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ควรทำยังไง

ก็ต้องบอกว่าเราต้องตั้งโกล์ของการเป็นพ่อแม่ให้ชัดเจนก่อน ว่าเราอยากให้ลูกเป็นแบบไหน เช่น ถ้าเราอยากให้ลูกสองคนอยู่ด้วยกันได้ เราต้องการให้เขาไม่ทะเลาะกัน วิธีที่นีทใช้ และให้คำแนะนำพ่อแม่คือ ถ้าพี่น้องทะเลาะกันก็ผิดทั้งคู่ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายทำหรือเริ่มก่อนเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทะเลาะกัน แปลว่าผิดทั้งคู่ อันนี้คือกฎแรกที่จะให้กับผู้ปกครอง

เพราะนีทรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราตัดสินว่าลูกคนนี้ถูกคนนั้นผิด มันจะเต็มไปด้วยข้ออ้าง เคสที่นีทเคยดูแล พี่ชายชอบแกล้งน้องสาว แล้วน้องสาวก็จะโกรธ โวยวาย และตีพี่กลับ คำถามคือ ใครผิด เพราะพี่เริ่มแกล้งก่อน น้องก็เลยอาละวาด แต่ถ้าเราบอกว่าน้องสาวไม่ผิด  พี่ชายก็อาจจะเกิดความคับข้องใจได้ว่าแม่เข้าข้างน้อง เพราะพี่อาจจะแค่อยากเล่นกับน้อง แต่น้องทั้งอาละวาดและลงไม้ลงมือกับพี่ น้องก็ควรจะผิดเหมือนกัน

สุดท้ายแล้วกระบวนการอะไรก็ตามที่เราต้องบอกว่าใครถูกหรือผิด ทุกคนจะมีแผลในใจ ทุกคนจะเรียนรู้จากการมีข้ออ้าง แต่ถ้า เมื่อเกิดการทะเลาะกันคือผิดทั้งคู่ เพราะทั้งสองคนเป็นคนสร้างข้อขัดแย้งนี้ขึ้น เด็กทั้งสองคนก็จะไม่โทษกันไปโทษกันมา เพราะผิดทั้งคู่ เขาจะต้องรับผิดชอบความผิดนี้ร่วมกัน

มันก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องสอน เคสที่ยกตัวอย่าง พ่อแม่ควรบอกพี่ว่าถ้าอยากเล่นกับน้อง ต้องดูก่อนว่าน้องพร้อมที่จะเล่นหรือเปล่า และไม่ใช่อยากเล่นกับน้อง ก็เลยกระโดดถีบน้องแบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง แล้วก็บอกเขาว่าควรทำยังไง

ส่วนฝั่งน้องสาว เราก็ปล่อยผ่านไม่ได้ องสาวเองก็มีความผิดตรงที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ พอโมโหก็เผลอลงมือตีคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่ผิด ถ้าน้องไม่อยากให้พี่มาเล่นด้วย พ่อแม่ก็ต้องสอนวิธีที่จะสื่อสารหรือวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเองเวลารู้สึกไม่พอใจ

เราอย่าไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก แต่ให้มองว่ามีส่วนผิดทั้งคู่ แล้วค่อยๆ แก้ปมปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือเด็กจะไม่รู้สึกว่าใครถูกใครผิด เพราะรู้แล้วว่าความขัดแย้งมันเกิดมาจากคนทั้งสองฝ่าย และเด็กก็จะเรียนรู้ว่าจะทำยังไงให้ความขัดแย้งนี้หายไป เพราะพี่น้องเขาทะเลาะกันได้ทุกวัน พ่อแม่ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่มันเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะต้องค่อยๆ เรียนรู้การเข้าสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง

นีทเชื่อว่าถ้าเราทำแบบนี้ได้ ความขัดแย้ง และการทะเลาะกันก็จะน้อยลง หรือเกิดขึ้นแต่ไม่รุนแรง นี่คือสิ่งที่นีทมองว่าพ่อแม่ควรทำยังไงเวลาที่พี่น้อง ทะเลาะกัน

“อาจจะไม่ใช่เพราะลูก แต่อาจจะเป็นที่เราไม่มีวิธีการสอน หรือเทคนิคที่ดีพอที่จะปรับพฤติกรรมลูกได้ คือลูกอาจจะเป็นเด็กปกติ แต่เราไม่มีวิธีที่จะปรับพฤติกรรมเขา ก็อาจจะพาไปพบผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยปรับพฤติกรรมที่ถูกต้องให้”

ทีนี้ถ้าพี่น้องเริ่มเล่นกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือมีคนใดคนหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะใช้ความรุนแรงมากขึ้น หรือในกรณีที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากภาวะทางจิต มันมีจุดสังเกตตรงไหนที่พอจะเป็นสัญญาณให้พ่อแม่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องพี่น้องทะเลาะกันธรรมดาแล้ว

สมมติเด็กมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น ชอบตี ชอบแย่งของ ครั้งแรกๆ เราอย่าเพิ่งคิดว่าแบบลูกต้องป่วยหรือเป็นโรคแน่ๆ ให้ตั้งสติก่อนว่าลูกก็คือเด็กปกติที่อาจจะแสดงพฤติกรรมไม่ถูกต้อง อันดับแรกให้เราสอนเขาก่อน สอนวิธีจัดการอารมณ์ให้ลูกก่อน แล้วคอยสังเกตลูกไปเรื่อยๆ ว่า พอสอนแล้ว พฤติกรรมก้าวร้าวของลูกลดลงไหม ถ้าน้อยลงและเริ่มควบคุมอารมณ์ได้บ้างหรือยังไม่ได้บ้าง แบบนี้ไม่เป็นไร ก็คอยสอนต่อไปเรื่อยๆ

จุดตัดก็คือ ถ้าสอนแล้วแต่ลูกยังทำพฤติกรรมนั้นไปเรื่อยๆ หรือสอนแล้ว แต่ลูกกลับมีพฤติกรรมที่หนักขึ้น เกินขอบเขตที่พ่อแม่จะควบคุมหรือรับมือได้ และสิ่งแรกที่พ่อแม่ควรตระหนักก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่ารับมือกับความรุนแรงของลูกไม่ได้แล้ว ต้องรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

เพราะหนึ่งอาจจะไม่ใช่เพราะลูก แต่อาจจะเป็นที่เราไม่มีวิธีการสอน หรือเทคนิคที่ดีพอที่จะปรับพฤติกรรมลูกได้ คือลูกอาจจะเป็นเด็กปกติ แต่เราไม่มีวิธีที่จะปรับพฤติกรรมเขา ก็อาจจะพาไปพบผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยปรับพฤติกรรมที่ถูกต้องให้

หรือเด็กบางคน ผู้เชี่ยวชาญอาจจะมองเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องของพฤติกรรมแล้ว แต่อาจจะเป็นเรื่องของโรคบางอย่างก็ได้

โรคที่ว่า หมายถึงโรคอะไรได้บ้าง

มีเยอะนะคะ แต่ต้องบอกว่านีทไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคจิตเวช แต่เด็กบางคนที่เป็นเด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีภาวะออทิสติก เขาก็จะมีด้าน aggressive ที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป อาจจะควบคุมตัวเองไม่อยู่

แต่เราเป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการ เราก็จะดูว่าเด็กคนนี้มีความ aggressive แต่ยังพอปรับได้ สมมติว่าปรับไปแล้วสัก 5 วิธี รู้สึกว่าเขายังไม่ดีขึ้นเลย แล้วเขามี สัญญาณบางอย่างที่ไม่ปกติ ก็ต้องให้ไปพบคุณหมอ เพื่อดูว่าเขาเป็นโรคอะไรหรือเปล่า

แสดงว่าถ้าพ่อแม่ไม่แน่ใจว่าลูกมีปัญหาอะไร ควรไปหาจิตแพทย์ก่อน ไม่ใช่นักจิตวิทยา…

ในระบบบ้านเราคือควรไปหาจิตแพทย์ก่อน แล้วจิตแพทย์ก็จะดูว่า มีสัญญาณยังไงบ้าง สมมติจิตแพทย์มองว่า เด็กคนนี้อาจจะเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้อารมณ์รุนแรงมากผิดปกติ ถ้าหมอคิดว่าเป็นโรค หมอก็จะส่งไปให้นักจิตวิทยาคลินิกช่วยทำเทสเพื่อคัดกรอง

ส่วนการรักษาก็ทำได้หลายอย่าง ถ้าเป็นเด็กอาจจะไม่ต้องกินยา แต่อาจจะพบนักบำบัดหรือนักจิตวิทยาเพิ่มเติม อันนี้คือความรุนแรงที่มาจากโรค

ทั้งนี้อยู่ที่การดีไซน์ของคุณหมอ ถ้าคุณหมอประเมินว่าพ่อแม่ยังจัดการเองได้ ก็จะเป็นการแค่คุยกับคุณหมอแล้วพ่อแม่รับเทคนิคจากคุณหมอไปใช้ เพื่อให้อยู่ในแนวทางของการพัฒนาอารมณ์และการจัดการอารมณ์ที่ดีขึ้น

กลับมาที่เคสที่เป็นข่าว กรณีนี้คือหนึ่ง—พี่น้องทะเลาะกัน สอง—ลูกคนหนึ่งคล้ายว่าจะมีอาการทางจิต และสามที่คนพูดถึงกันมากก็คือ คนถูกกระทำเป็นลูกคนกลาง ที่เรามักได้ยินว่าลูกคนกลางจะได้รับความรักน้อยที่สุดในบ้าน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม คำถามคือพ่อแม่ควรทำตัวยังไงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้

เมื่อก่อนก็จะมีทฤษฎีว่าลูกคนกลางมักจะไม่ค่อยได้รับความใส่ใจ เพราะพอมีน้องคนเล็กพ่อแม่ก็ไปสนใจลูกคนเล็กมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว หลักเกณฑ์ที่เราจะให้ก็คือลูกทุกคนต้องเท่ากัน ดูแลลูกให้เท่ากัน อันนี้คือสิ่งสำคัญ มันจะได้ไม่มีคำว่าลูกคนกลางถูกทอดทิ้ง แล้วก็ให้เวลากับลูกเท่าๆ กัน โดยเฉพาะเวลาที่ลูกต้องการความช่วยเหลือ

“พ่อแม่ส่วนมากอาจจะคิดว่าเราบริหารความเท่าเทียมดีแล้ว  แต่ถ้ามันมีสัญญาณจากลูก พ่อแม่ก็ต้องกลับมาทบทวนทันที”

บางทีพ่อแม่อาจจะรู้สึกว่า รักเท่ากัน ให้ทุกอย่างเท่ากันแล้ว แต่ลูกอาจจะไม่รู้สึกอย่างนั้น หรือพ่อแม่บางคนพอมีลูกที่ดูแลตัวเองได้ รับผิดชอบตัวเองได้ ก็อาจจะวางใจและไม่ได้ดูแลใกล้ชิดเท่าคนอื่น ลูกก็รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใส่ใจ ไม่ให้เวลากับฉันเลย คำว่าเท่ากันสามารถทำให้เป็นรูปธรรมกว่านี้ได้ไหม

ถ้าเป็นเด็กๆ คำว่าเท่ากันของเด็กเล็กอาจจะแสดงออกผ่านสิ่งของ อย่างเช่น พี่คนโตได้ของ 1 ชิ้น คนอื่นก็ต้องได้ 1 ชิ้นเท่ากัน นี่คือเบสิกของคำว่าเท่ากันในแบบที่เด็กรับรู้

สิ่งที่อาจจะไม่ควรเกิดขึ้นเลยก็คือ พี่ได้ชุดใหม่ตลอด แต่น้องต้องรอเอาชุดเก่าของพี่ไปใส่ สิ่งนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้น แต่เราเข้าใจว่าบางครอบครัวก็ไม่สามารถซื้อของใหม่ให้ลูกทุกคนได้ แต่มันก็ต้องมีบางครั้งที่คนน้องได้ของที่พ่อแม่ตั้งใจซื้อให้เขาบ้าง เพื่อช่วยลดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจคนเป็นน้องลงบ้าง

อีกอย่างหนึ่งที่เด็กจะรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันก็คือ การที่พ่อแม่ตัดสินว่าใครถูกใครผิด ชมใครและดุใคร สิ่งที่ไม่ควรเกิดคือการที่คนหนึ่งได้รับคำชมเสมอ อีกคนโดนว่าตลอด เพราะนี่คือการบริหารความเท่าเทียมของพ่อแม่ที่มีต่อลูก

แน่นอนว่าพ่อแม่ส่วนมากอาจจะคิดว่าเราบริหารความเท่าเทียมดีแล้ว แต่ถ้ามันมีสัญญาณจากลูก พ่อแม่ก็ต้องกลับมาทบทวนทันที เช่น ลูกคนหนึ่งเริ่มเรียกร้องความสนใจ หรือลูกเริ่มพูดว่าพ่อแม่ไม่รัก พูดว่าพ่อแม่รักพี่หรือน้องมากกว่า พ่อแม่ต้องมาปรับกระบวนการความเท่าเทียมของตัวเองใหม่ เพราะลูกกำลังบอกพ่อแม่ว่า เขารู้สึกว่ามันไม่เท่าเทียมกัน

พอมีความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัว ทำให้คนเริ่มพูดกันว่าครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกคน ในฐานะที่นีททำงานเกี่ยวกับครอบครัว และให้คำปรึกษาพ่อแม่มามาก คิดว่าคำว่าครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนนี่มันเกิดขึ้นได้จริง หรือสุดท้ายแล้วครอบครัวก็ต้องเป็นที่ที่ปลอดภัยอยู่ดี… 

คำว่าครอบครัวเป็นที่ที่ปลอดภัยหรือไม่ มันเป็น perception ระหว่างพ่อแม่กับลูกนะ

แต่จากเคสที่เป็นข่าว นีทคิดว่าสิ่งที่มากกว่าคำว่า ครอบครัวเป็นที่ที่ปลอดภัยหรือเปล่า มันคือความต้องการ Family Support จากคนที่บ้าน นีทคิดว่านี่คือสิ่งที่เขาอยากจะบอกพ่อแม่ว่าเขารู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะครอบครัวไม่สนับสนุนหรือช่วยเหลือฉันเลย ทำให้ฉันรู้สึกเดียวดาย และไม่เป็นเซฟโซนที่ฉันจะไปพึ่งพาได้

ทำให้เขาต้องออกจากครอบครัว ต้องไปอยู่กับแฟน แล้วครอบครัวก็ช่วยอะไรฉันไม่ได้ อีกอย่างก็คือครอบครัวไม่ได้ลงโทษน้องและเหมือนไม่จัดการอะไรกับน้อง เหมือนเขาต้องการจะบอกว่าพ่อแม่ควรจะแฟร์เกมนะ พ่อแม่ควรจะซัปพอร์ตลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

จริงๆ แล้วการซัปพอร์ตที่ทุกคนต้องการมี 3 ส่วน เรื่องแรกก็คือ เรื่องปัจจัยทั่วไป เช่น เครื่องมือ เงินทอง ที่อยู่อาศัย คือซัปพอร์ตในสิ่งที่จับต้องได้ เรื่องที่สองคือ ซัปพอร์ตด้วยการให้คำปรึกษา ดูแล และช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา และซัปพอร์ตที่สามคือด้านจิตใจ ทำให้ฉันรับรู้ว่ามีคนที่แคร์ฉันอยู่ มีคนนี้รักอยู่ และเขาพร้อมที่จะรับฟังในวันที่ฉันไม่ไหว

สมมติว่าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดันเข้าไปในทวิตเตอร์แล้วก็ไปเจอว่าลูกตัวเองกำลังบ่นว่าบ้านไม่ใช่ที่ของเราอีกต่อไป ถ้าเรารู้ว่าลูกกำลังรู้สึกอย่างนั้น สิ่งที่พ่อแม่พอจะแก้ไขได้คืออะไรบ้าง

อันดับแรก พ่อแม่จะต้องอ่านก่อนว่า ลูกระบายเรื่องอะไรบ้าง เราต้องหาข้อมูลก่อนว่าอะไรทำให้ลูกรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัย หาให้ได้ก่อนว่าคืออะไร แล้วลองคิดดูว่าจริงอย่างที่ลูกพูดไหม เช่น เป็นเพราะพ่อแม่ไม่รับฟัง ลูกรู้สึกว่าพูดอะไรพ่อแม่ ‘ได้ยิน’ แต่ไม่ได้ ‘รับฟัง’ หรือพ่อแม่รับฟัง แต่การตอบรับเต็มไปด้วยการปฏิเสธด้วยคำว่า แต่ ไม่เอา ไม่ดีหรอก ก็อาจจะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจรับฟังจริงๆ หรือเปล่า

พ่อแม่ก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง แล้วก็อาจจะเรียกลูกมาคุยว่าอะไรที่ลูกอยากให้แม่ปรับปรุง หรืออะไรที่แม่ทำแล้วลูกจะรู้สึกว่าบ้านเป็นพื้นที่ของลูก นีทว่าเรื่องนี้มันคุยกันได้

คำถามเมื่อกี้อาจจะเป็นเรื่องความปลอดภัยทางใจ แต่สมมติว่าครอบครัวมันไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัวจริงๆ สิ่งที่เราทำได้หรือสิ่งที่เราควรจะทำ เมื่อรู้ว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้นในครอบครัวคืออะไร

อันดับแรกก็คือ ถ้าเรารู้ และเราไม่สามารถจัดการปัญหาในครอบครัวได้ ก็ต้องหาคนช่วยเหลือ เช่น ลูกเป็นคนใช้ความรุนแรงก็อาจจะต้องพาไปพบผู้เชี่ยวชาญ หรือถ้าพ่อใช้ความรุนแรงกับแม่ เราก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่เขาดูแลเรื่องนี้ แต่ว่าแน่นอนว่า นี่เรากำลังพูดกันในเชิงปฏิบัติว่าถ้าเกิดความรุนแรงในบ้านต้องทำยังไง ทุกคนก็รู้ว่ามันต้อง fix on แต่ความจริงมันเป็นเรื่องยาก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก่อนอาจจะเริ่มจากการปรึกษากับญาติพี่น้องหรือ คนอื่นในครอบครัว ว่าทำยังไงดี ให้คนนี้มาช่วยปรามคนนี้ได้ไหม แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการของการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกมากขึ้น

ขอยกตัวอย่างแล้วกัน สมมติน้องสาวนีทถูกสามีทำร้ายร่างกายเป็นประจำ เรารู้ว่าเราคงช่วยเขาไม่ได้ ถ้าเราไปคุยกับสามีเขา น้องเราก็อาจจะโดนทำร้ายอีก เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือคนอื่นเป็นทางเลือก

“เด็กจะเรียนรู้วิธีเดิมๆ ผ่านเรื่องเดิมๆ ที่เขาทำ เช่น ถ้าหากเราปล่อยให้เขา agressive หนึ่งครั้ง สมมติเขาตีกันแล้วปัญหาจบ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าถ้ามีปัญหาก็ตีกันเลยแล้วทุกอย่างจะจบ นี่คือสิ่งที่เด็กเรียนรู้”

สุดท้ายคือ บางทีเคยได้ยินวลีว่า “พี่น้องทะเลาะกันไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวโตขึ้นก็รักกันไปเอง” ความจริงแล้วพ่อแม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ได้ไหม

ถ้าถามในมุมนักจิตวิทยาก็จะบอกว่าอย่าปล่อย คือ พ่อแม่ปล่อยได้บ้าง เมื่อลูกสามารถจัดการปัญหาได้ดีขึ้นแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดคือ เด็กจะเรียนรู้วิธีเดิมๆ ผ่านเรื่องเดิมๆ ที่เขาทำ เช่น ถ้าหากเราปล่อยให้เขา agressive หนึ่งครั้ง สมมติเขาตีกันแล้วปัญหาจบ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าถ้ามีปัญหาก็ตีกันเลยแล้วทุกอย่างจะจบ  นี่คือสิ่งที่เด็กเรียนรู้

ในขณะที่บางครอบครัว ลูกอาจจะได้เรียนรู้ว่าเขาจบปัญหาได้จากการคุยและออมชอมให้กัน แต่นีทเชื่อว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเกิดมาแล้วจะได้เจอสถานการณ์อย่างนั้น

ดังนั้นตอนที่ลูกยังเด็ก เราสอนเขาก่อนจะดีกว่า ว่าถ้าขัดแย้งหรือมีปัญหากันควรทำยังไง แล้วพอลูกโตพอที่จะจัดการปัญหาเองได้ เราค่อยปล่อย

มันไม่มีจุดตายตัวว่าต้องสอนตลอดเวลา หรือต้องปล่อยตลอดเวลา แต่มันอยู่ในกระบวนการที่พ่อแม่ต้องดูว่า ลูกเริ่มแก้ปัญหาได้ดีขึ้นหรือยังแต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเห็นว่าเขาจัดการปัญหาไม่ได้ การให้ความช่วยเหลือเพื่อพาลูกมาสู่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็จำเป็นเสมอ


RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST