READING

คุยกับนักจิตวิทยาโรงเรียน เรื่องการกลั่นแกล้งรังแก...

คุยกับนักจิตวิทยาโรงเรียน เรื่องการกลั่นแกล้งรังแก (Bullying)

ปฏิเสธได้ยากเหลือเกินว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต เราต่างต้องเคยโดนกลั่นแกล้ง หรือบางครั้งก็อาจเป็นฝ่ายรังแกคนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว

การกลั่นแกล้งรังแกหรือที่ยุคนี้ได้ยินกันว่าการบุลลี่ (Bullying) ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ทางร่ายกาย เช่น อ้วน ดำ เตี้ย ผมหยิก หรือการล้อเลียนในเรื่องอื่นๆ เช่น รสนิยมทางเพศ การแต่งกาย ชื่อพ่อชื่อแม่ รวมไปจนถึงการใช้ความรุนแรงทำให้เจ็บตัวและเจ็บใจ ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลลึกๆ ในใจ ทำให้สูญเสียทั้งความมั่นใจ ความเป็นตัวเอง และรุนแรงไปจนถึงทำให้เด็กอับอายจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปก็เป็นได้

เราชวน ครูพีซ—พราวพิมล เกียรตินาวาปกรณ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว มาคุยถึงเรื่องราวที่น่าตกใจ ว่าสำหรับเด็กๆ แล้ว การล้อกันเล่นไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาหรือปัญหาเล็กๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะมันจะส่งผลต่อไปจนเกิดเป็นการกลั่นแกล้งและรังแกกันในที่สุด

แล้วคุณพ่อคุณแม่จะสามารถป้องกันไม่ให้ลูกของเรา ตกเป็นเหยื่อที่โดนรังแก และไม่เป็นฝ่ายกลั่นแกล้งคนอื่นเสียเองได้อย่างไร

“ที่สำคัญคือที่จริงแล้ว เด็กเขาแค่ไม่รู้ว่า
ถ้าไม่แซวกัน เขาจะพูดอะไรกัน”

พฤติกรรมการบุลลี่ของเด็กยุคนี้เป็นอย่างไร

Bullying ก็คือการกลั่นแกล้งกันโดยคนอายุใกล้เคียงกัน ทั้งทางวาจาคำพูด ทางร่างกาย แม้แต่ทางอินเทอร์เน็ต

อย่างในโรงเรียน เด็กตั้งแต่ ป.2 ก็เริ่มมีการกลั่นแกล้งกันแล้ว ส่วนใหญ่เขาจะล้อกันด้วยคำพูด ถ้ามีการบุลลี่กันเกิดขึ้นแล้ว มันจะเหมือนโรคระบาด มีการแกล้งต่อกันไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็จะเกิดขึ้นทั้งห้อง

bullying_5

จัดการแบบนักจิตวิทยาโรงเรียนอย่างไร

ให้ความรู้แล้วสอนวิธีการป้องกันปัญหา ถ้าหนูเจอเพื่อนแกล้ง หนูจะทำยังไง ให้ทักษะการจัดการปัญหา คุยกับครูด้วยว่าเราคุยกับเด็กยังไง แล้วครูควรทำยังไง ปัญหาการกลั่นแกล้งกันของห้องนั้นก็จะลดลง เด็กก็จะรู้ตัวเร็วขึ้น เวลาจะพูดอะไรไม่ดีกับเพื่อน เขาก็จะมีแรงจูงใจให้ควบคุมตัวเองมากขึ้น

 

พอเข้าไปในห้อง เราก็จะเขียนบนกระดาน เอ้า ไหนใครเคยโดนเพื่อนแกล้ง โดนเพื่อนล้อบ้าง ล้อเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ล้อเรื่องพ่อแม่ ล้อเรื่องเกรดการเรียน เรื่องสีผิว ฯลฯ เด็กเขาก็มีประสบการณ์กันมาหมด

เสร็จแล้วพีซก็จะถามว่า เรารู้สึกยังไงเวลาเราโดนเพื่อนแกล้งหรือเพื่อนล้อ เด็กก็เริ่มยกมือ “รู้สึกไม่อยากมาโรงเรียน อยากฆ่าตัวตาย รู้สึกท้อ รู้สึกโกรธ รู้สึกเสียใจกลับไปร้องไห้ที่บ้าน” อะไรแบบนี้ พอเขารู้ว่า เฮ้ย เขาทำแบบนี้มันส่งผลกับตัวเขาด้วย กับเพื่อนเขาด้วย เขาก็จะเริ่มอยากระวังตัวเอง

ที่สำคัญคือที่จริงแล้ว เด็กเขาแค่ไม่รู้ว่า ถ้าไม่แซวกัน เขาจะพูดอะไรกัน เพราะว่าผู้ใหญ่ก็ชอบแซวเด็ก เขาก็เลยรับรู้ว่าเวลาเราจะคุยหรือมีมนุษยสัมพันธ์ เราต้องพูดว่าเธออ้วนจัง เธอผอมจัง

มันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่ไม่ค่อยดีเท่าไร

แล้วก็ไม่มีใครกล้าบอกผู้ใหญ่ว่า “อย่ามาล้อผมนะ” เพราะจะดูเป็นเด็กก้าวร้าวไปอีก มันพูดยาก เด็กก็เลยทำต่อๆ กันมา เพราะเขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไง

ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ครูพีซสอนคือ

คือถ้าไม่ล้อกัน เราคุยเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น เมื่อวันเสาร์เธอไปเที่ยวไหนมา เธอชอบสีอะไร เธอชอบกินอะไร วันนี้กินข้าวอะไรกันดี การบ้านอันนี้เสร็จหรือยัง  เธอสอนการบ้านเราได้ไหม เราก็ไกด์ไปเยอะเลย ว่าคนเราสามารถพูดคุยอะไรได้โดยไม่ต้องทำร้ายจิตใจเพื่อน

พีซเชื่อว่าใครก็ตาม ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็อยากจะทำร้ายจิตใจคนอื่น แต่การที่เขาทำอยู่นั่นและไม่หยุด อาจเป็นเพราะเขาไม่รู้จะทำยังไง เราก็เลยต้องให้เครื่องมือใหม่เขา ให้เขาลองทำดู

“วงจรของการแกล้งกัน ทั้งผู้กระทำและเหยื่อ
มักมีจุดเริ่มต้นมาจากการไม่รู้จักคุณค่าของตัวเอง”

เด็กเริ่มแกล้งกันเป็นตั้งแต่อายุเท่าไร

พีซว่าอนุบาลก็มีแล้วแหละ เพียงแต่ตอนอนุบาลมันมีกิจกรรมให้เด็กทำเยอะ เด็กก็อาจไม่รู้สึกว่าจะต้องเครียดกับการโดนแกล้งมาก แต่พอเข้าประถม ก็เริ่มเรียนยากขึ้น เริ่มเครียดมากขึ้น ยิ่งเด็กที่มีความเครียด ก็จะมีเปอร์เซ็นต์ที่เขาจะแกล้งคนอื่นมากขึ้น หรือว่าบางคนเครียดแล้วรู้สึกด้อยคุณค่า ก็จะยิ่งถูกแกล้งมากขึ้น

จริงๆ แล้วการกลั่นแกล้งกัน วงจรมันเริ่มจากไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง พอไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ก็อยากแกล้งคนอื่นเพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง ว่าฉันเก่ง ฉันมีพลังนะ พอแกล้งคนอื่นเสร็จ คนที่ตกเป็นเหยื่อโดนแกล้ง ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะกลายเป็นคนที่ไปแกล้งคนอื่นต่ออีก วนกันเป็นวงจร

ดังนั้น วิธีการตัดวงจรก็คือการเสริม self-esteem หรือความรู้สึกดี รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง

“ในงานวิจัยเขาบอกว่า ในครอบครัวที่ผู้ปกครองทำงานหนัก ทำงานเยอะ
และมีความเครียดในการทำงานสูง จะมีเปอร์เซ็นต์ที่ลูกจะเป็นคนที่แกล้งเพื่อนที่โรงเรียน”

จะเสริมจากไหนได้บ้าง

ก็จากครู จากผู้ปกครอง พีซก็ต้องให้คำแนะนำผู้ปกครองว่า ผู้ปกครองได้ชมลูกบ้างไหม ใช้ความรุนแรงกับลูกมากแค่ไหนในบ้าน ให้ลดความรุนแรงลงนะ

พ่อแม่ต้องสอนยังไง ให้ลูกไม่ไปกลั่นแกล้งคนอื่น

ในงานวิจัยเขาบอกว่า ในครอบครัวที่ผู้ปกครองทำงานหนัก ทำงานเยอะ และมีความเครียดในการทำงานสูง จะมีเปอร์เซ็นต์ที่ลูกจะเป็นคนที่แกล้งเพื่อนที่โรงเรียน

พีซเลยอยากแนะนำให้ผู้ปกครองไม่ลืมที่จะละทิ้งความเครียดไว้นอกบ้าน แล้วเหลือเวลา 5-10 นาทีต่อวันในการรับฟังลูก แชร์แลกเปลี่ยนคุยเรื่องเบาๆ กับลูกบ้าง พอลูกผ่อนคลายความเครียดแล้วรู้สึกดีต่อตัวเอง รู้สึกดีกับครอบครัว ลูกจะไม่อยากสร้างปัญหา หรือไม่อยากแกล้งคนอื่น

แต่พอลูกเกิดความเครียด พ่อแม่ไม่สนใจเขา วิธีการเดียวที่จะทำให้พ่อแม่มาสนใจเขา คือเขาไปแกล้งเพื่อน แล้วครูเรียกพ่อแม่มาที่โรงเรียน เขาก็รู้สึกว่าพ่อแม่ให้ความสนใจ

bullying_6

ถึงจะเป็นความสนใจทางลบ แต่ก็ดีกว่าที่จะไม่สนใจเลย

ใช่ เพราะเด็กเขาไม่ได้มานั่งเลือกหรอก ว่าพ่อแม่สนใจเขาทางลบหรือทางบวก อันไหนที่พ่อแม่สนใจเขาก็ทำหมด ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของคุณพ่อคุณแม่นะคะ แต่บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจละเลยมองข้าม ว่าเราต้องให้กำลังใจลูก ให้ลูกผ่อนคลายบ้าง เพราะถ้าลูกเครียด เขาไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะจัดการ เขาก็จะปล่อยความเครียดออกมาเป็นความรุนแรง ผลักเพื่อน แกล้งเพื่อน เอากรรไกรทิ่มเพื่อน กรี๊ดใส่เพื่อน เพื่อนก็จะกลายเป็นเหยื่อ

 

ส่วนคุณครู อยากให้ใจเย็นๆ พอเวลาเห็นเด็กแกล้งเพื่อน อย่าไปหมายหัวว่าเด็กคนนี้เกเร ชอบแกล้งเพื่อน เพราะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอะไร เด็กก็จะยิ่งรู้สึก “เยส ใช่ ฉันเป็นหัวโจกแกล้งเพื่อน” รู้สึกมีเอกลักษณ์ ก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป

ถ้าคุณครูเจอเด็กที่แกล้งเพื่อน ลองมองหาว่าเด็กมีความเครียดอะไรบ้าง เขาไม่มีวิธีคุยกับเพื่อนหรือเปล่า เขากำลังเครียดเรื่องครอบครัวหรือเปล่า หรือว่าปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาพีซในเพจทักษะชีวิตก็ได้ ถ้าเราไม่ได้อยู่โรงเรียนเดียวกัน มีผู้เชี่ยวชาญเยอะแยะเลยที่พร้อมจะช่วย

“วิธีที่จะทำให้เขาหลุดออกมาจากวงจร ก็คือทำให้เขารู้ว่าเขาเก่งอะไร
ทำให้เขารู้ว่าเขามีคุณค่าอะไรให้ชัดเจนมากขึ้น”

แล้วจะเลี้ยงลูกยังไง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดนแกล้ง

อย่างที่บอกไปว่าวงจรของการแกล้งกัน ทั้งผู้กระทำและเหยื่อ มักมีจุดเริ่มต้นมาจากการไม่รู้จักคุณค่าของตัวเอง ถ้าผู้ปกครองสังเกตดูเด็กที่โดนแกล้ง จะมีบุคลิกใกล้เคียงกัน หงอๆ เหี่ยวๆ ไม่สู้ ไม่มั่นใจในตัวเอง ซึ่งคนถูกแกล้งยังไงก็จะถูกแกล้งอยู่อย่างนั้น

เด็กบางคนเป็นที่ใจอย่างเดียว แต่เด็กบางคนเป็นมาตั้งแต่ร่างกาย เช่น ร่างกายไม่สมบูรณ์ อาจมีความพิการบางส่วน มันเลยง่ายที่เขาจะโดนล้อ และมันก็ยากสำหรับเขานะ ที่เขาจะมาภูมิใจในตัวเอง ดังนั้น ต้องใช้พลังคำชมและกำลังใจจากพ่อแม่ให้มาก เขาจะได้มีกำลังใจสู้ต่อไปได้

การทำให้พ้นจากวงจรการเป็นเหยื่ออย่างถาวร

วิธีที่จะทำให้เขาหลุดออกมาจากวงจร ก็คือทำให้เขารู้ว่าเขาเก่งอะไร ทำให้เขารู้ว่าเขามีคุณค่าอะไรให้ชัดเจนมากขึ้น เด็กที่รู้ว่าตัวเองมีคุณค่า บุคลิกเขาจะเปลี่ยนไป เขาจะยืดหลังตรง เขาจะเดินอย่างมั่นใจ บุคลิกเขาจะไม่น่าแกล้ง เพื่อนจะรู้สึกเกรงใจ เน้นให้เสริมตรงนี้ เรื่องความภาคภูมิใจในตัวเอง เช่น ไปเรียนว่ายน้ำให้เก่งเลย ไปเรียนวาดรูปให้เก่งเลย

ที่สำคัญเก่งอย่างเดียวไม่พอ เพราะเก่งอย่างเดียว เดี๋ยวเพื่อนก็เกลียดอีก ต้องมีวิธีไกด์ให้เขารู้ว่า เฮ้ย เขาจะคุยกับเพื่อนยังไง แบ่งปันเพื่อนยังไง เช่น มีกล้วยแทนที่จะให้ลูกไปอันเดียว ก็ให้ลูกไปหวีนึง “อะ เดี๋ยวเอาไปแบ่งเพื่อนด้วย”

เด็กเขาก็ต้องการไกด์ อย่าไปคาดหวังว่าเด็กจะต้องใช้ชีวิตเองเป็น โดยที่ไม่มีตัวอย่างเลย


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST