READING

คุยกับกลุ่ม‘ในม็อบมีเด็ก’ (Child in mob): ในวันที่...

คุยกับกลุ่ม‘ในม็อบมีเด็ก’ (Child in mob): ในวันที่ผู้ใหญ่ละเมิดและมองข้ามสิทธิของเด็ก

ในม็อบมีเด็ก

ตั้งแต่ปี 2563 ประเทศไทยมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและแสดงออกทางการเมือง ด้วยวิธีการและกลุ่มคนที่หลากหลาย และเป็นที่น่าสังเกตว่าการเรียกร้องครั้งนี้ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษามากขึ้น เห็นได้จากการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบในพื้นที่มหาวิทยาลัย การเรียกร้องผ่านสัญลักษณ์ เช่น การติดโบว์ขาวที่ชุดนักเรียน ไปจนถึงการลงถนนชุมนุมใหญ่สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่การที่เด็กๆ ออกมามีบทบาทและแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น แต่เป็นความรุนแรงที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) กังวลใจและจับมือกับหลายองค์กรเพื่อก่อตั้งโปรเจ็กต์ ‘ในม็อบมีเด็ก’ (Child in mob) ด้วยจุดประสงค์คือการให้ความช่วยเหลือเด็กในพื้นที่การชุมนุมให้ได้รับความปลอดภัย และเน้นย้ำให้สังคมเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ

เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณปิยนุช โคตรสาร—ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เกี่ยวกับโปรเจ็กต์อาสา ‘ในม็อบมีเด็ก’ และบทบาทของเด็กในโลกที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง รวมถึงอนาคตของพวกเขาด้วย

ที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์อาสาในม็อบมีเด็ก (Child in mob) 

ต้องเท้าความก่อนว่าการชุมนุมมันเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ช่วงนั้นแค่ภายในสองอาทิตย์มีม็อบมากกว่าเก้าสิบม็อบ ซึ่งถ้าสังเกตดูส่วนใหญ่ผู้ร่วมชุมนุมจะเป็นเด็กและเยาวชน ตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงมหาวิทยาลัย การชุมนุมมันเลยเป็นเหมือนเฟสติวัล มีเด็กไปทำกิจกรรม ไปตั้งบูทมีธีมอะไรต่างๆ แต่ตอนนั้นความรุนแรงยังไม่ค่อยชัด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการละเมิดสิทธิ์เกิดขึ้นก่อนนั้น เพราะเราก็จะเห็นว่ามีกลุ่มเยาวชนที่ชื่อว่านักเรียนเลว ถูกสถานศึกษาห้ามแสดงออกบ้าง ซึ่งตอนนั้นก็มีคนในองค์กรแอมเนสตี้ฯ คอยจับตาดูสถานการณ์ตลอด

แต่ว่าแอมเนสตี้ฯ ไม่ใช่องค์กรที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเด็ก เราเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน แต่อย่างไรก็ดีสิทธิเด็กก็คือสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน

จุดเปลี่ยนจริงๆ คือวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2563 ที่มีการชุมนุมหน้ารัฐสภาตรงสี่แยกเกียกกาย การชุมนุมในวันนั้นมีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม รวมถึงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย วันนั้นมีเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดนลูกหลง เราจึงเริ่มเห็นถึงพัฒนาการการใช้กำลังและความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ

แอมเนสตี้ฯ เลยคุยกับองค์กรต่างๆ และกลุ่มคนที่สนใจ ว่าเราจะทำยังไงกันดี เราควรจะรับมือกับสถานการณ์ตรงนี้ยังไง เพราะเราเองก็ยังไม่เห็นองค์กรเด็กออกมาเทกแอกชั่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าไร เพราะอาจจะมองว่าเป็นเรื่องการเมือง อาจจะกลัว หรืออาจจะมีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งไม่ว่าจะเฉดไหนก็ตาม เรามองว่าความปลอดภัยของเด็กคือประโยชน์สูงสุดและคงรอไม่ได้ว่าแบบไหนถูกหรือผิด

แอมเนสตี้ฯ เลยมีการฟอร์มโปรเจกต์ ‘ในม็อบมีเด็ก’ ร่วมกับหลายองค์กร เช่น องค์กรยูนิเซฟ หรือบางองค์กรที่เข้าร่วมก็ไม่ได้จดทะเบียนหรือเป็นองค์กรใหญ่ เช่นกลุ่มหิ่งห้อยน้อย มูลนิธิสายเด็ก (Childline Thailand) ที่ปกติก็ทำหน้าที่คอยรับฟังให้คำปรึกษากับเด็กทุกเรื่องอยู่แล้ว

วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี 2563 เป็นวันที่กลุ่ม ‘ในม็อบมีเด็ก’ เริ่มลงถนนครั้งแรก เบื้องต้นเราทำแท็กเป็นสายรัดข้อมือสีส้มแจกให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และสีชมพูแจกให้เด็กอายุ 15-18 ปี พร้อมกับคู่มือว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น ต้องติดต่อใคร ต้องเตรียมตัวยังไงและอย่างน้อยคนจะได้รู้ว่านี่คือเด็ก คือกลุ่มคนที่คุณควรจะต้องรู้ไว้ว่า เขาควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง

จุดยืนของเราคือสิทธิเสรีภาพการแสดงออก มันเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนแม้กระทั่งเด็กก็สามารถทำได้ และไม่ได้บอกว่าเราควรจะกันเด็กให้ออกจากกิจกรรมเหล่านี้ เพียงแต่ควรนึกถึงความปลอดภัยและการปกป้องคุ้มครอง เราควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้แสดงออก ไม่ว่าจะชุมนุมหรืออะไรก็ตาม

เพราะถ้ามองดูดีๆ จะเห็นว่าประเทศนี้ไม่มีพื้นที่ให้เด็กเลย ที่บ้านก็ไม่มี ที่โรงเรียนก็โดนคุกคาม ในถนนก็โดน โลกออนไลน์ก็โดน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเพียงแค่การรับมือไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งมันควรจะเป็นความเข้าใจกันและกัน ว่าจะทำยังไงให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกของเด็ก ซึ่งตอนนี้แทบจะไม่มีแล้ว

มันอยู่ที่ว่าเราได้ฟังเด็กและให้พื้นที่เด็กมากแค่ไหน ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่ลูกหลานของเรา แต่เขาก็ยังเป็นอนาคตของชาติ

นอกจากจะมีการแจกแท็กสายรัดข้อมือแล้ว ในม็อบมีเด็กยังทำหน้าที่อะไรอีกบ้าง

หลังจากมีการรวมกลุ่มกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ก็คุยกันนะว่าเราควรจะทำทุกอย่างให้ครอบคลุม คือเริ่มตั้งแต่ป้องกันไว้ก่อน มีคู่มือรายละเอียดเรื่องสิทธิเด็กที่ควรรู้ จัดคู่มือสำหรับอาสาสมัครให้เข้าใจในสิทธิเด็ก พูดคุยกับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เช่น พูดคุยกับสถานทูตของประเทศต่างๆ ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง ไปจนถึงให้ความช่วยเหลือเด็กที่โดนคดีความ สมมติเด็กโดนจับเราก็จะไปสังเกตการณ์และให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ มีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับเด็กและเยาวชน จัดนิทรรศการทำแคมเปญนำหุ่นไปวางไว้หน้าศาลว่าเด็กเหล่านี้โดนดำเนินคดีทางการเมืองอะไรบ้าง ซึ่งคนที่สนใจงานตรงนี้ก็มีแต่เด็กๆ นี่แหละ จริงๆ เราอยากจะคุยกับพ่อแม่ อยากจะคุยกับองค์กรภาครัฐที่ดูแลเป็นพิเศษ ว่าทำไมถึงเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น และพวกเรานั่งเฉยทนดูได้ยังไง

จริงๆ มันน่าเศร้ามากเลยนะที่เยาวชนถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีทางการเมืองอย่างปลายปีที่แล้วมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี โดนคดี พ.ร.บ.112 เป็นเคสแรกในประเทศ และก็มีเด็กโดนคดี พ.ร.บ.116 ซึ่งถ้านับรวมโทษกันจริงๆ เขาอาจจะโดนจำคุกเป็นร้อยปีเลยก็ได้

เราเลยรู้สึกว่าโปรเจกต์ในม็อบมีเด็ก มันมากกว่าการแจกแท็กกับคู่มือแล้ว เลยพยายามติดต่อประสานงานกับองค์กรเด็กมากมายเพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะวิธีทำงานเรื่องเด็กที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิทางพลเมือง เรายังไม่ค่อยคุ้นเคย ซึ่งก็ท้าทายมากเหมือนกันเพราะยังไม่ได้ผลตอบรับที่มากพอ

แม้ว่าประเทศไทยจะรับรองสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2538 มีกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเป็นเรื่องเป็นราว แต่พอพูดถึงเด็กในที่ชุมนุมกลับเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคย อย่าว่าแต่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กเลย พ่อแม่เองก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการยังไง คือมันเริ่มมาตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน ไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและสังคม ที่ทุกอย่างมันดูไม่เข้าใจกันเลยเหมือนอยู่กันคนละจักรวาล

ผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เคยชินกับการออกมาพูดหรือตั้งคำถาม ก็มักจะมีความคิดว่าเด็กไม่ควรมีความเห็นต่างจากผู้ใหญ่นะ เด็กจะต้องฟัง ต้องสำรวม และคิดว่าเด็กกลุ่มนี้โดนหลอกใช้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ดูถูกเด็กมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้เขาก้าวหน้าไปกว่าพวกเราแล้ว แอมเนสตี้ฯ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเด็ก แม้กระทั่งพรรคการเมือง ทุกคนต่างต้องเรียนรู้จากเด็กกลุ่มนี้ว่าเขามีความคิดเป็นแบบไหน

แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเอง เราก็เคยคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ตามเด็กถึงบ้าน เขาบอกว่าสิ่งที่ทำมันคือการช่วยไม่ให้เด็กทำผิดกฎหมาย คือมันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมเรา ทุกคนเหมือนมองกันคนละมุมเลย มีใครมานั่งฟังเด็กจริงๆ ไหมว่าเขาต้องการอะไร เวลาที่เด็กตั้งคำถามมีใครฟังและตอบเขาด้วยเหตุและผลไหม เขาต้องการแลกเปลี่ยนความคิด อยากจะบอกปัญหาอะไรบางอย่าง จุดนี้ผู้ใหญ่รับทราบหรือเปล่า

 เราถึงบอกว่าการแจกแท็กมันเป็นแค่ความคิดเบื้องต้นที่พวกเราคิดกันเอง อย่างน้อยๆ จะได้ป้องกันอันตราย แต่มันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มันอยู่ที่ว่าเราได้ฟังเด็กและให้พื้นที่เด็กมากแค่ไหน ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่ลูกหลานของเรา แต่เขาก็ยังเป็นอนาคตของชาติ

วันนี้เหมือนโลกของผู้ใหญ่กับเด็กเป็นคนละใบ

คือมันเป็นยุคที่เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ชัดมาก ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่เขาไม่ใช้โซเชียลฯ นะ เขาก็ใช้เหมือนกัน แต่อย่างที่บอกเหมือนเราอยู่กันคนละจักรวาล สื่อที่ผู้ใหญ่เสพก็เป็นชุดหนึ่ง การเข้าถึงข้อมูลของเด็กๆ ก็อาจจะเป็นอีกชุดหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝ่ายถูกมอมเมา ซึ่งจริงๆ ไม่อยากให้ปรามาสเด็กๆ เลยว่าเขาไม่รู้ เพราะเดี๋ยวนี้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ต่างๆ เองได้ ซึ่งมันก็น่าเศร้ามาก ที่พอเขาเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองก็กลับถูกหาว่าโดนล้างสมอง

โครงสร้างสังคมเรามันเป็นอำนาจนิยม เด็กจะต้องฟังคนที่แก่กว่า ไม่ว่าจะพ่อแม่ ครู หรือใครก็ตาม เด็กจะต้องฟังและห้ามเถียง แต่ในหลักการและด้านจิตวิทยาแล้ว เด็กแค่เล็กกว่าเพราะอายุ เพราะสรีระ แต่เขาก็ควรจะได้รับการสนับสนุนให้มีพัฒนาการด้านความคิดในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นการที่เขาตั้งคำถามและพูดคุยถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขาในอนาคตมันสำคัญมาก

อย่างช่วงโควิด-19 ทุกอย่างมันแย่ลงไปหมด เศรษฐกิจ การเข้าถึงระบบสาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กหลายคนได้รับผลกระทบ อาจจะเป็นพ่อแม่หรือแม้แต่ตัวเขาเอง ซึ่งเราก็มานั่งวิเคราะห์กันถึงปรากฏการณ์ในช่วงสองสามอาทิตย์นี้ ที่มีเด็กอีกกลุ่มออกมาเรียกร้องภาครัฐ ว่ามันค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มเดิมที่เป็นเด็กมหาวิทยาลัยนะ อาจเป็นเพราะครอบครัวเขาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างหนัก บางคนอาจสูญเสียครอบครัวไปเพราะโควิด บางคนอาจตกงานออกไปทำงานไม่ได้ คือเขาไม่ไหวแล้ว และมีแต่ความโกรธที่อยู่ในใจ

ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้ใครใช้ความรุนแรง เพียงแต่อยากให้ลองถอยหลังไปหนึ่งก้าว ดูว่าเด็กๆ เหล่านี้กำลังพยายามบอกอะไรเราอยู่ เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง เขาจนตรอกจริงๆ แล้ว ครอบครัวไม่มีจะกินแล้ว หรือคนที่บ้านไม่มีเตียงเพื่อรักษาโควิด มีใครเคยฟังเขาหรือเห็นหัวเขาบ้างไหม การจุดประทัดอย่างน้อยก็เป็นสิ่งเดียวที่เขาสามารถสื่อสารออกไป เพราะเขาไม่รู้จะทำยังไงแล้ว มันเศร้ามากเลยนะที่เด็กบางคนโดนคดีทางการเมืองแล้วปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้ หรือไม่มีใครให้คำปรึกษาเลย ซึ่งแอมเนสตี้ฯ เองก็เคยจัดโฟกัสกรุ๊ปชวนคุณพ่อคุณแม่มาพูดคุยด้วยกัน บางคนพ่อแม่ก็ต้องทำงาน บางคนพ่อแม่ไม่เห็นด้วย ผลสุดท้ายลูกก็ต้องหันหน้าไปหาคนอื่น และถ้าสมมติเขาไม่มีเพื่อนหรือเจอกับคนสนับสนุนที่ดีและเอาใจใส่ เด็กจะทำยังไง เรื่องนี้มันสำคัญมาก อนาคตของพวกเขาและบ้านเมืองเราจะเป็นยังไง

กลับมาที่งานของกลุ่ม เห็นมีการรับอาสาสมัคร คิดว่าน่าจะมีเด็กและเยาวชนสนใจเข้าร่วมไม่น้อย

มีค่ะ อายุต่ำกว่า 18 ปีก็มี ซึ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ นอกจากเราจะคำนึงถึงทักษะที่อาสาต้องมี เช่น เรื่องสิทธิเด็ก ทักษะความปลอดภัยต่างๆ เราก็ต้องนึกถึงการดูแลจิตใจของอาสาด้วย เพราะตั้งแต่ต้นปีมีการปะทะเปรี้ยงปร้างในการชุมนุมตลอด ทำให้อาสาสมัครบางคนเกิดอาการตกใจ หวาดกลัว ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือหรือจัดการกับความเครียดได้

ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ยังพอหาทางเยียวยาจิตใจด้วยตัวเองได้อยู่ แต่พอเป็นเด็ก เราไม่รู้เลยว่าใจของเขาบอบช้ำแค่ไหน ในกลุ่มคนทำงานจึงมี ‘กลุ่มฟื้น’ เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเยียวยาจิตใจสำหรับอาสาสมัคร เยาวชน หรือแม้แต่นักกิจกรรมที่ต้องการพูดคุยเยียวยาด้านจิตใจ คือเรื่องนี้มันสำคัญนะ เพราะบางทีเราก็หาคนที่ไว้ใจไม่ได้ หรือแม้แต่การไปหานักจิตวิทยา ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอีกเพราะค่าปรึกษาแพง สวัสดิการด้านนี้ไม่มี ด้วยเหตุนี้ในกลุ่มของเราจึงมีกลุ่มฟื้นที่คอยทำหน้าที่นี้อยู่

อาสาสมัครทำหน้าที่อะไรบ้างในหน้างาน

บอกภาพรวมก่อนว่าแอมเนสตี้ฯ มีสองโครงการหลักคือ หนึ่งสังเกตการณ์การชุมนุมหรือม็อบดาต้า ซึ่งทำงานร่วมกับ ilaw และอีกโครงการก็คือในม็อบมีเด็ก

ม็อบดาต้าจะมีอาสาสมัครไปลงสังเกตการชุมนุม บันทึกข้อมูล ก่อนลงในออนไลน์ว่าวันนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีการละเมิดสิทธิ์ไหม เพื่อนำข้อมูลไปทำงานต่อ

ส่วนในม็อบมีเด็ก ก็จะมีการเก็บข้อมูลเช่นเดียวกันกับม็อบดาต้า แต่เป็นในพาร์ตของเด็กๆ พร้อมกับแจกแท็กข้อมือ แจกใบปลิว หลังๆ ก็มีแจกชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล มีประสานงานกับกลุ่มรักษาพยาบาล มีการช่วยดูแลเด็กหากหลงกับพ่อแม่ พาเด็กส่งกลับบ้าน หรือถ้าเกิดเหตุการณ์เด็กโดนจับก็จะตามไปดูสถานการณ์ที่สถานีตำรวจด้วย

จริงๆ ก็เคยคิดเหมือนกันนะว่าลิมิตเราอยู่ตรงไหน ช่วงหลังๆ มันมีข้อจำกัดของการลงม็อบมากขึ้น เพราะม็อบมีเกือบทุกวัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาสาสมัครเยอะมันก็ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ถ้ามีแค่คนสองคนจะแจกแท็กก็แทบไม่ไหวแล้ว รวมถึงถ้าเกิดมีการปะทะขึ้น อาสาฯ ก็ต้องหาที่ปลอดภัยด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นความท้าทายเหมือนกัน เพราะขนาดนักข่าวยังโดน อาสาสมัครแพทย์ยังโดน แล้วอาสาสมัครอย่างพวกเราจะรอดไหม

เราก็ไม่รู้ว่าอาสาสมัครแต่ละคนจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ยังไง แต่ที่แน่ๆ คือเขากล้าหาญมาก ไม่ต้องพูดเรื่องรายได้เลยนะ เรามีเบี้ยเลี้ยงให้ก็จริง แต่มันไม่เยอะ พวกเขามาด้วยใจ มาก่อนที่จะรู้ว่ามีค่าอาหารและค่าตอบแทนให้ด้วยซ้ำ แต่ประเด็นคือตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยน เราอาจจะต้องมานั่งทบทวนบทบาทกันว่าจะทำอะไรได้อีกแค่ไหน เพราะสถานการณ์มันไม่นิ่งเลย

จากการเก็บข้อมูลพอจะบอกได้ไหมว่าตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมมากแค่ไหน

คิดว่าคงมีมากกว่าที่นับ เพราะปกติจะนับจากแท็กที่แจก อย่างน้อยๆ หนึ่งเดือนก็แจกไปหลายพันแท็กแล้ว ถ้านับก็น่าจะเกือบหมื่น แต่ต้องบอกก่อนว่าแท็กที่แจกเราไม่สามารถแจกได้ทั้งหมด บางทีเราก็มารู้ทีหลังว่าน้องคนนี้อายุต่ำกว่า 18 ปี ตอนเขาโดนจับไปแล้ว เด็กบางคนเขาก็ดูโตเหมือนผู้ใหญ่มากจนไม่ได้รับการแจก หรือบางทีเจ้าหน้าที่ก็ยิงแก๊สน้ำตามาก่อนที่จะเริ่มแจกก็มี

ส่วนเรื่องของอายุ เราเจอเด็กอายุต่ำสุดที่เห็นว่าไปชุมนุมคนเดียว คือ 12 ปี ส่วน 14-15 ปี ถือเป็นเรื่องปกติ 17-18 ปี ก็มีจำนวนค่อนข้างเยอะ และที่เหลือจะเป็นกลุ่มนักศึกษา แต่ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษาน้อยลง และจะเห็นว่ากลุ่มคนเปลี่ยนไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะยังมีแกนนำบ้าง แต่ตอนนี้คือมากันเอง ด้นเอง จัดการเอง มันเป็นอีกมิติหนึ่งไปแล้ว

ถ้าถามว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ยังไง มันไม่ใช่แค่การหยุดใช้กำลังแล้ว แต่มันควรหยุดวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ที่บ้าน ไปจนถึงระดับชั้นปกครองเลยด้วยซ้ำ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในม็อบ เช่น การสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา การใช้กระสุนยางทำให้พื้นที่ม็อบกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทางกลุ่มมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

มันควรจะหยุดได้แล้ว มันไม่ควรจะมีการใช้กระสุนยาง ใช้แก๊สน้ำตาตั้งแต่แรก การใช้กำลังแก้ปัญหามันไม่ใช่วิธีการแก้แต่เป็นวิธีการทำลาย แน่นอนมันมีมาตรฐานตามหลักสากลอยู่ว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังควบคุมได้ แต่ต้องให้เหมาะสมกับสัดส่วนและจำเป็นจริงๆ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมันมีเรื่องของการชุมนุมการแสดงออก แต่สิ่งที่ประเทศไทยทำอยู่ตอนนี้มันย้อนแย้งกับสิ่งที่เราไปตกลงกับชาวโลกไว้มาก

ถ้ามองย้อนกลับไปมันก็สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงมันแฝงอยู่ในโครงสร้างของบทลงโทษที่ทำให้อีกฝ่ายกลัว ใช้ความรุนแรง ทำให้ไม่กล้าทำอีก ซึ่งทั้งหมดมันสั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก พอโตขึ้นก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ มันน่าเศร้าที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความชอบธรรมที่ทำได้ไปแล้ว ที่แม้กระทั่งผู้มีอำนาจเองก็ยังคิดว่านี่คือวิธีการแก้ปัญหา จนอาจลืมไปว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันต้องนึกถึงทุกคน ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ จะเป็นลูกเต้าเหล่าใครหรือแม้แต่ลูกของเราเองก็ตาม

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ยังไง มันไม่ใช่แค่การหยุดใช้กำลังแล้ว แต่มันควรหยุดวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ที่บ้าน ไปจนถึงระดับชั้นปกครองเลยด้วยซ้ำ

 ง่ายๆ ก็คือการเกิดของเด็กคนหนึ่ง มีตัวละครไหนบ้างที่จะคุ้มครองให้เขาปลอดภัยและมีชีวิตอยู่ในแบบที่ควรจะเป็น ถ้านับก็ตั้งแต่พ่อแม่ หมอ โรงเรียน เจ้าหน้าที่รัฐ คือเราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบกับความปลอดภัยของเด็ก และประโยชน์ของเด็ก

แต่ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้น บางคนนิ่งเฉย บางคนปิดตาข้างหนึ่ง บางคนตีตราว่าเขาเป็นเด็กแว้น ตีตราว่าเขาใช้กำลัง สมควรโดนแล้ว ในเมื่อมุมมองมันเป็นลักษณะนี้ก็คงยากที่ทุกอย่างจะจบ ต่อให้ในม็อบมีเด็กมีงบที่จะช่วยเหลือตรงนี้มากแค่ไหน มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน เพราะมันเป็นเรื่องของทุกคน แต่ทุกคนไม่ได้มองผ่านเลนส์ที่มีประโยชน์สูงสุดกับเด็ก ท้ายที่สุดเด็กก็ต้องดูแลตัวเอง และหาวิธีการในแบบของตัวเอง

เอาจริงไม่มีใครอยากจะออกมาหรอก ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เด็กเขาก็อยากจะไปฟังเพลง ดูหนัง เล่นกับเพื่อน คุยกับเพื่อน เอาเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำ และยิ่งตอนนี้มีโควิดระบาดอีกการออกมาทีมันไม่ง่ายเลยนะ

ถ้าไม่ใช่การชุมนุม พอจะมีวิธีให้เด็กแสดงออกหรือเรียกร้องทางการเมืองได้โดยไม่ต้องออกไปอยู่ในแนวปะทะได้ไหม

หนึ่ง—แนวปะทะมันไม่ควรจะมีอยู่เลย สอง—คุณควรจะจัดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงออก สาม—ถามตัวเองก่อนว่าทำไมเด็กถึงออกมาขนาดนี้ ถ้าคุณให้พื้นที่ตั้งแต่ที่บ้าน ที่โรงเรียน มันจะไม่เป็นแบบนี้เลย คือเอาจริงไม่มีใครอยากจะออกมาหรอก ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เด็กเขาก็อยากจะไปฟังเพลง ดูหนัง เล่นกับเพื่อน คุยกับเพื่อน เอาเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำ และยิ่งตอนนี้มีโควิดระบาดอีกการออกมาทีมันไม่ง่ายเลยนะ

ต้องดูว่าเรามีพื้นที่เอื้ออำนวยให้เขามีกิจกรรมเหล่านี้ขนาดไหน เพราะพอเขาเขียนหรือทำอะไร แม้แต่ในโซเชียลมีเดียก็ยังถูกตามจับตามส่อง บางคนพ่อแม่ก็ห้ามไม่ให้เล่นทวิตเตอร์ เด็กๆ ก็ต้องแอบไปสร้างแอกเคานต์หลุม

คือแค่จะบอกว่าคุณห้ามเขาไม่ได้หรอก แม้กระทั่งพ่อแม่ก็ตาม มันเป็นชีวิตเขา สิ่งที่ทำได้คือการสนับสนุนให้ลูกได้เรียนรู้ ได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการทำ ได้ทำอะไรที่เกิดประโยชน์กับเขา ก็พูดคำนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า อย่าว่าแต่พ่อแม่เลย เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอำนาจ สักวันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่เด็กๆ ยังอยู่ พวกเขาควรได้รับสิ่งดีๆ เพราะมันเป็นโลกที่เขาจะต้องอยู่ต่อไป

ถ้าพูดถึงประเด็นของพ่อแม่ เราจะเห็นว่าหลายคนที่ออกมาเรียกร้อง โดยเฉพาะคนที่เป็นแกนนำหรือคนที่โดนจับ ตอนแรกอาจจะอยู่คนละขั้วกับพ่อแม่ แต่พอโดนจับ ต่อให้พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ก็จะทำทุกอย่างเพื่อช่วยลูกให้มีอิสรภาพ

ส่วนพ่อแม่ที่ยังโกรธและไม่ช่วยลูก ปล่อยให้ลูกไปหาทางออกเอาเอง เราก็เชื่อว่าพ่อแม่คงเจ็บปวดไม่แพ้กัน เพราะสุดท้ายถ้าเราเป็นพ่อแม่ ไม่ว่าจะดีหรือชั่วเราก็อยากให้ลูกนึกถึงเราคนแรก และลูกอาจจะนึกถึงเราคนแรกก็ได้ เพียงแต่เขาเข้าหาพ่อแม่ไม่ได้

เราก็หวังว่าความรักที่มีต่อกันของพ่อแม่ลูกจะทำให้เราไม่จำนนต่อความอยุติธรรม เราควรจะจับมือกัน และไม่ยอมให้ใครมาทำอะไรลูกเราและลูกหลานของคนอื่น

ตอนนี้มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงขณะเข้าร่วมการชุมนุมเยอะไหม 

ถ้านับเฉพาะเดือนสิงหาคม มีเด็กถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทั่วประเทศอย่างน้อย 73 ราย ถ้านับเฉพาะจับแบบไม่มีหมายจับและดำเนินคดี เฉพาะเดือนสิงหาคมก็ประมาณ 66 ราย รวมตอนนี้นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 ถึง 24 สิงหาคม ปีพ.ศ. 2564 มีจำนวนอย่างน้อย 121 ราย ใน 79 คดี

ในต่างประเทศ ถ้ามีการชุมนุมจะมีเคสลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเด็กหรือเปล่า และตามปกติรัฐควรตอบสนองความคิดเห็นทางการเมืองของเด็กๆ อย่างไร 

ดูจากตัวอย่างที่ดีและตัวอย่างที่น่าเศร้าแล้วกัน ตัวอย่างที่ดีคือ 2-3 ปีก่อน เราจะเห็นว่าการที่น้องเกรต้า ธันเบิร์ก ที่เป็นนักเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อม ออกมาเคลื่อนไหว มันได้สร้างแรงกระเพื่อม มีการชุมนุม มีการหยุดเรียนกันทุกวันศุกร์ ด้วยความที่เขาอยู่ในประเทศแทบสแกนดิเนเวีย เขาเลยเปิดพื้นที่ให้กับเด็ก ไม่ได้มาตัดสินว่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ มาจับ มาดำเนินคดีอะไร เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าประเทศที่ให้พื้นที่ในการรับฟังเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

แต่ก่อนหน้าที่ประเทศเราจะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น ฮ่องกงก็มีเคสเด็กอายุ 12-13 ปี โดนจับเหมือนกัน พร้อมกับมีกฎหมายอำนาจพิเศษต่างๆ

ที่พม่าก็คิดว่าหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ซึ่งอาจจะเยอะยิ่งกว่า แต่เราไม่ทราบถึงจำนวนว่าเด็กโดนกี่คน ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ได้รับผลกระทบจะเป็นในเฉดของการหนีหรือพลัดถิ่นมากกว่า

ปีที่แล้วก็มีเหตุการณ์ Black live matter ที่ประเทศอเมริกา ซึ่งพอมีการกระทำที่มิชอบโดยหน้าที่หรือเกินเลย เขาก็มีกระบวนการลงโทษหรือตรวจสอบ แต่สำหรับประเทศไทยตั้งแต่เกิดการปะทะกัน แทบไม่มีการตรวจสอบถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นเลย เช่น ระเบิดมาจากไหน ใครเป็นคนทำ เท่าที่เห็นคือไม่มีเลย

ที่จริงประเทศไทยก็มีกฎหมายที่คุ้มครองเด็ก แต่ระยะหลังเราพบว่ามีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งจับและดำเนินคดีจากการชุมนุมมากขึ้น ถ้าเราเป็นครอบครัวของเด็กๆ เหล่านั้นจะทำอะไรได้บ้าง

เบื้องต้นก็มีกลุ่มในม็อบมีเด็กของเรา ถ้าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยติดต่อเรามา เราก็จะช่วยติดต่อประสานงานให้ มีศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน รวมถึงเครือข่ายเยียวยาให้คำปรึกษา และกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ

จริงๆ หน้าที่หลักมันควรจะเป็นภาครัฐด้วยซ้ำที่ให้ความช่วยเหลือ เพราะเราก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เลยอยากให้องค์กรเด็กใช้ความเชี่ยวชาญหรือความรู้มาทำงานส่วนนี้ เพราะเราไม่สามารถทนเห็นเลือดอีกสักหยดที่ออกมาจากเด็กได้เลย มันไม่ควรจะมีสักหยดเลยด้วยซ้ำ

เราเข้าใจถูกไหมว่าการติดตาม ส่งเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน ดำเนินคดี หรือแม้แต่การสลายชุมนุม ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กๆ อย่างร้ายแรง

ก็ร้ายแรงเลย ในสิทธิเด็กจะมีหลักการ 4 ด้าน ได้แก่สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection) สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation) ซึ่งตอนนี้เด็กแทบจะไม่ได้อะไรเลย

เพราะในขณะเดียวกันเด็กก็เหมือนถูกละเมิดด้านจิตใจไปด้วย เช่น อาจจะอยู่ในขั้นที่โทษตัวเอง รู้สึกไม่มีที่พึ่ง หลายคนเป็นซึมเศร้า บางคนโดนแขวนในโลกออนไลน์ ว่าเป็นเด็กเลว โดนสืบว่าบ้านอยู่ที่ไหน โดนส่งจดหมายมาขู่ที่บ้าน บางคนกลับบ้านไม่ได้ บางคนก็ต้องหลบไปเรื่อยๆ บางคนก็กลัวว่าถ้ากลับบ้านแล้วพ่อแม่จะไม่ปลอดภัย

คุณไม่ต้องเป็นนักสิทธิมนุษยชนก็ได้ เป็นตาสีตาสาเป็นพ่อเป็นแม่ก็รู้แล้วว่านี่คือการละเมิดมันผิดตั้งแต่แรกแล้ว เลยรู้สึกว่าไม่ต้องเอาอนุสัญญาหรือเอาสหประชาชาติมาบอกก็ได้

พอมีวิธีการที่จะช่วยให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลง ไม่ปะทะ ไม่เกิดการบาดเจ็บกับเด็กได้ไหม

รัฐควรจะเปิดพื้นที่รับฟังปัญหา ให้เด็กๆ สามารถบอกสิ่งที่ต้องการได้อย่างอิสระ ไม่มีความหวาดกลัว ไม่โดนคุกคามและโดนจับ เพราะตอนนี้เด็กถูกสกัดทุกทาง ไม่ให้พูด ไม่ให้โพสต์ ไม่ให้ลงถนน ไม่ให้ทำอะไรเลย จนเกิดเป็นแรงต้าน

ส่วนภาคสังคม เราไม่ควรปิดตาว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คือรู้แหละว่ามันหดหู่และน่าสิ้นหวัง แต่ถ้าทุกคนบ่ายเบี่ยงทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่อให้เขาเห็นการเมืองแตกต่างจากคุณ ต่อให้อยู่กันคนละขั้วทางการเมือง ต่อให้เขาดูสื่อคนละช่อง แต่เขาก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เขาก็เป็นลูกหลานของใครสักคนเหมือนเรา ก็อยากให้มองตรงนี้ด้วย

จากเหตุการณ์การชุมนุมที่ทำให้มีเยาวชนวัย 14 ปี และ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริง ไม่ว่าใครจะเป็นผู้กระทำก็ตาม ในฐานะรัฐที่ต้องคุ้มครองเด็ก ควรเทกแอกชั่นกับเรื่องนี้อย่างไร

รัฐควรทำหน้าที่หาคนผิด ตรวจสอบ และรับผิดชอบ ข้อหนึ่งคือต้องเยียวยาคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งพ่อแม่และตัวเด็ก ข้อสอง ต้องสอบสวนและหาข้อเท็จจริง นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือไม่ใช่รัฐคุณก็ต้องตรวจสอบ ข้อสาม ควรระงับและไม่ควรจะมีการใช้กำลังเกิดขึ้น แล้วก็ให้พื้นที่แก่เขา

ตอนที่มีเหตุการณ์โดนกระสุนจริงยิง คุณแม่ของน้องบอกว่ามันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับลูกหรือใครทั้งสิ้น ทำไมบ้านเมืองถึงปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ แล้วน้องก็อายุแค่ 15 ปี ในฐานะที่เรามีลูกเหมือนกันก็ยังคิดเลยว่าถ้าเป็นลูกเรา เราจะทำยังไง หรือลูกเราจะโตมาอยู่ในสังคมแบบไหน ถ้าบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่

ผู้ใหญ่บางคนยังคงพูดว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก อยากฟังมุมมองคนที่ช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองว่าความจริงแล้ว การเมืองสำคัญกับเด็กอย่างไร

ชีวิตเราตั้งแต่นาทีที่คุณแม่เริ่มท้องมันเกี่ยวกับการเมืองหมด เราไม่สามารถหนีหายจากการเมืองได้ ถ้าเราโดนไล่ออกจากงานเพราะว่าเราท้อง นี่ก็การเมือง เราลาคลอดไม่ได้เงินเดือน นี่ก็การเมือง ระหว่างคลอดได้รับการดูแลที่ดีไหมนี่ก็การเมือง แม้กระทั่งวันนี้ที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ พ่อแม่ไม่มีเงินซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกเรียนมันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกย่างก้าว ทุกลมหายใจของคนเรามันเกี่ยวข้องกับการเมือง ในเมื่อมันเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะพูด มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเพื่ออนาคตและชีวิตของตัวเอง

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25/08/2021

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST