READING

ก้อย-กัญญ์ชลา และสำนักพิมพ์นาวา กับภารกิจพาหนังสือ...

ก้อย-กัญญ์ชลา และสำนักพิมพ์นาวา กับภารกิจพาหนังสือเด็กล่องนาวามาจากฟินแลนด์ให้ถึงมือเด็กไทย

ฟินแลนด์อีกแล้ว! เป็นอีกครั้งที่เราอยากจะชวนมาร่วมหมกมุ่น ไม่สิ มาร่วมทำความเข้าใจในประเทศฟินแลนด์แดนไอดอลด้านการศึกษา ที่จะไม่ได้พาไปคุยกับคุณครู หรือไปเยี่ยมชมโรงเรียนไหนๆ แต่เราจะมามองความเป็นฟินแลนด์ผ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็กๆ ของพวกเขา

สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ เป็นหนังสือเล่มแรกเปิดตัวสำนักพิมพ์นาวา ที่ขยายความความเป็นตัวเองเอาไว้ว่าเป็นสำนักพิมพ์ทำหนังสือเด็กจากประเทศฟินแลนด์ รู้แบบนี้ก็ยิ่งอยากทำความรู้จัก อยากเข้าไปทักทาย อยากพูดคุยให้รู้ว่าทำไมสำนักพิมพ์นี้ ถึงมีความตั้งใจแบบนี้

เป็นโชคดีของเราที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ พี่ก้อย—กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้ง ผู้แปล ผู้ทำคอนเทนต์ และทำทุกสิ่งทุกอย่างในสำนักพิมพ์นี้ ผ่านการช่วยเหลือและติดต่อจากคุณครูใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย (ผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok) ซึ่งเราเคยติดต่อเพื่อสัมภาษณ์เพื่อพูดคุยกันมาก่อน

มีเรื่องบังเอิญที่ออกจะส่วนตัว แต่อยากเล่าสั้นๆ ไว้ตรงนี้ก็คือในวันที่เรากำลังหมกมุ่น และทำสัมภาษณ์คุณครูชาวฟินแลนด์ลงใน M.O.M ไปเมื่อไม่นานมานี้ (อ่านได้ที่นี่) ครูใบปอก็ให้เรายืมหนังสือเล่มหนึ่งและบอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนโดยรุ่นพี่ที่ครูรักมาก เขาไปเรียนต่อที่ฟินแลนด์และเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และครูใบปอหวังว่าหนังสือเล่มนั้นจะช่วยให้เรารู้จักและเข้าใกล้ประเทศนี้ได้มากขึ้นอีกหน่อย

ซึ่งรุ่นพี่คนนั้นก็คือพี่ก้อย ที่เรากำลังจะได้พูดคุยด้วยนี่เอง

จึงไม่มีที่ไหนจะเหมาะกับการนั่งพูดคุยกันในวันนี้ได้เท่ากับโรงแรมมหัศจรรย์ครีมบางกอกอีกแล้ว เพราะการคุยเรื่องหนังสือว่าด้วยสิ่งประดิษฐ์เพี้ยนๆ แต่สุดเจ๋ง ในบรรยากาศที่มองไปทางไหนก็จะเห็นร่องรอยไอเดียกระฉูดของเด็กๆ และผลงานสิ่งประดิษฐ์หน้าตาพิลึกกึกกือแต่อัดแน่นไปด้วยเรื่องเล่าของเด็กๆ ช่วยทำให้เราได้เข้าใจตาตุและปาตุขึ้นเยอะเลยล่ะ

วันที่เราคุยกัน หนังสือ สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ เริ่มจำหน่ายมาได้ครบหนึ่งสัปดาห์พอดี และจากที่ติดตามเพจของสำนักพิมพ์นาวา ก็ดูเหมือนว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากครอบครัวของนักอ่านตัวจิ๋ว ดีในแบบที่คนทำหนังสือเองอาจจะไม่ได้คาดคิดมาก่อน

“เราเริ่มได้ฟีดแบ็กจากพ่อแม่ส่งหลังไมค์เข้ามาให้ ส่วนใหญ่จะเล่าว่า ลูกเขานั่งอ่านแล้วหัวเราะคิกคักอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยได้รับตอนที่ทำหนังสือผู้ใหญ่ (หัวเราะ)

คุณแม่คนหนึ่งเขียนมาว่า ตอนเช้าเปิดประตูห้องลูกเข้าไปเห็นว่าเขาเอาหนังสือมากางอ่านอยู่บนเตียงคนเดียว ทั้งที่ปกติเวลานี้แม่จะต้องเข้ามาปลุก แต่วันนั้นไม่ต้องปลุกแล้ว เพราะเขาตื่นเองและหยิบหนังสือมานั่งอ่านด้วย ซึ่งมันเป็นภาพที่แม่ไม่เคยเห็นมาก่อน จนคุณแม่ต้องถ่ายรูปแล้วส่งหลังไมค์มาให้สำนักพิมพ์ ในฐานะคนทำหนังสือแค่นี้เราก็ปลื้มปริ่มแล้ว” พี่ก้อยพูดไปก็ยิ้มไป

คิดว่าทำไมมันถึงได้ทำงานกับหัวใจเด็กมากขนาดนี้

เราว่าเล่มนี้มันเป็นเล่มที่พาเด็กเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ เด็กคนไหน ชาติอะไรมาอ่านก็เข้าใจ เพราะตอนเด็กๆ เราทุกคนก็จะอยากมีเครื่องอะไรพวกนี้ อยากมีเครื่องที่กดปุ่มแล้วพาเราไปโรงเรียนได้ หรืออย่างเสื้อชูชีพกันหลง เด็กๆ จะชอบมีปัญหาว่ากลัวพลัดหลงกับพ่อแม่ ในเล่มนี้ก็เลยเสนอทางแก้ปัญหาเป็นชูชีพกันหลง ช่วยให้เด็กๆ รู้สึกว่าการหลงมันไม่น่ากลัวนะ ถ้าหลงก็อ่านการ์ตูน กินคุกกี้รอไป เดี๋ยวพ่อแม่ก็มา

ตอนที่เลือกเล่มนี้มาทำ  เรามั่นใจว่าเด็กจะชอบ เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าเราชอบ มันต้องมีคนชอบสิ แต่ว่าในระหว่างขั้นตอนของการจัดทำโปรดักชัน เราจะได้ยินเสียงของความไม่มั่นใจดังขั้นมาบ้าง ว่ามันจะต่างวัฒนธรรมกันมากไปไหม วิธีคิดมันต่างกันไหม มันจะได้เหรอ เขาจะเก็ตมั้ย ซึ่งก็เป็นเหตุให้ตอนแรกเล่มนี้จะออกตั้งแต่เดือนมกราคม เพราะเราทำเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาปีที่แล้ว แต่เราก็เลือกที่จะเพิ่มพาร์ตด้านหลังของเล่มเข้ามา เป็นส่วนอธิบายการใช้หนังสือ การมีทรรศนะบรรณาธิการ มีวิธีใช้หนังสือ โดยครูก้า (กรองทอง บุญประคอง) คำนิยมจากคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คือเราคิดว่า ถ้าหนังสือมันทำงานเลยเราก็จะยินดีมาก แต่เพื่อความสบายใจก็ขอมีไฟส่องให้นิดนึง อยากให้มันไปแบบเซฟๆ หน่อย

แต่พอผ่านมาได้อาทิตย์กว่า เราพบว่ามันทำงานกับเด็กๆ เกินจากที่เรานึกไว้ด้วยซ้ำ อย่างเราเป็นผู้ใหญ่เราก็คิดว่า มันก็สนุกแหละ ตลกดี แต่ว่ากับเด็กๆ มันกลับทำงานไปมากกว่านั้น

ที่เซอร์ไพรส์ก็คือ มีผู้ปกครองส่งภาพลูกๆ ของเขาทำสิ่งประดิษฐ์เข้ามาให้ ครูก้าถามเราว่า เราคิดแคมเปญนี้ขึ้นมาเหรอ เราก็บอกครูไปว่า เราไม่ได้คิด เขาส่งกันเข้ามาเอง เราแค่ทำหน้าที่แชร์ต่อบนเพจ นี่เป็นสิ่งที่เกินคาดหมายจากที่เราคิดเอาไว้ และเราดีใจที่ว่าหนังสือช่วยให้ทุกคนสนุก ลูกสนุก พ่อแม่ก็สนุก เหมือนผู้เขียนเขามีอะไรบางอย่างที่เด็กอาจจะเข้าใจมากกว่าเรา ความพิลึกกึกกือ ความเพี้ยน ความตลก คือสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่รัก

ความพิลึกกึกกือ ความเพี้ยน ความตลก
คือสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นที่รัก 

ตาตุปาตุในฟินแลนด์นี่ถือว่าเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมขนาดไหน

หนังสือเล่มนี้จริงๆ อายุ 15 ปีแล้วนะ ออกมาตั้งแต่ปี 2005 เป็นเล่มแรกๆ ของซีรีส์นี้ (หนังสือชุดตาตุปาตุ มีอายุประมาณ 20 ปี) เขาจะออกเล่มใหม่ประมาณปีละครั้ง

ตาตุกับปาตุเป็นคาแรกเตอร์ที่เด็กฟินแลนด์รุ่นอายุ 20-30 กว่า

จะรู้จักดีเพราะโตมาด้วยกัน เป็นหนึ่งในหนังสือเด็กที่มียอดยืมสูงที่สุดในห้องสมุดฟินแลนด์ เป็นหนังสือที่ทุกบ้าน ทุกโรงเรียน ทุกห้องสมุดจะมี คือมีอยู่ทั่วไป หาได้ไม่ยาก

ผู้เขียน (ไอโน ฮาวุไกเนนและซามิ ตอยโวเนน) เป็นคู่สามีภรรยา อายุประมาณห้าสิบกว่า เขาช่วยกันทั้งวาดทั้งเขียนเลย สองคนนี้เขาเจอกันในโรงเรียนศิลปะ ก่อนหน้านี้เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แล้วค่อยมาทำหนังสือ

คนที่วาดตาตุปาตุขึ้นมาคนแรกคือภรรยา แล้วสามีก็ฝึกลายเส้นเพื่อให้ช่วยวาดแทนกันได้ กว่าจะเป็นตาตุปาตุหนึ่งเล่ม วิธีการทำงานก็คือ เขาจะใช้เวลาของการคิดมากกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมดในการทำงาน สองคนนี้เขาจะโยนไอเดียกันไปมาให้มันฮาก่อน เอาให้ชอบก่อน แล้วค่อยมาวาด เข้าใจว่าตอนที่เล่มนี้ออก ลูกเขาน่าจะยังเล็กอยู่ เพราะในเล่มมีเขียนไว้ว่า ‘แด่มีนา’ ซึ่งมีนาก็คือลูกของเขา เราก็คิดว่า ด้วยความที่เขามีลูก สิ่งที่เขียนออกมาก็เลยเข้าใจหัวใจของพ่อแม่ด้วย และก็ให้ลูกช่วยทดสอบด้วย ว่าอะไรเวิร์กหรือไม่เวิร์ก

ขอย้อนไปถึงความตั้งใจทำสำนักพิมพ์นาวา ที่บอกไว้ว่าจะนำหนังสือเด็กของฟินแลนด์เข้ามาให้เด็กไทยได้อ่าน มันเกิดขึ้นมาอย่างไร

ตอนที่เราไปเรียนที่ฟินแลนด์ เราอยู่ในเมืองที่มีชื่อว่า ยูวาสกูล่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัยอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ที่ไม่มีอะไรเลย มีถนนสายเดียว ในเมืองก็มีแค่ห้างเดียว เป็นตึกแถวสามชั้น อารมณ์เหมือนตั้งฮั่วเส็งบางลำพูอ่ะ มันมีแค่นั้นเลย มีร้านหนังสืออยู่ร้านหนึ่ง และที่ชั้นใต้ดินของร้านนั้นจะเป็นส่วนของหนังสือเด็ก

ด้วยความที่เมืองมันเล็กมาก มีอยู่วันหนึ่งเราไม่มีอะไรทำ เราก็เลยเดินลงไปที่ชั้นหนังสือเด็กที่อยู่ใต้ดิน ยังจำได้แม่นเลยว่าตอนนั้นเขาจัดดิสเพลย์หนังสือตาตุกับปาตุเล่มใหม่ที่เพิ่งออกมา โมเมนต์นั้นเราไม่ลืมเลย ผ่านมาสิบปียังจำได้อยู่ เพราะว่ามันน่ารัก

จากวันนั้นมันเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราไปศึกษา ไปหาหนังสือภาพของฟินแลนด์มาดู ศึกษาวรรณกรรมฟินแลนด์เพิ่มเติม แล้วก็ไปห้องสมุดเพื่อดูหนังสือภาพเล่มอื่นๆ

ทำไมจำภาพนั้นได้ชัดเจน

นึกกลับไปนะ เราว่าเราเห็นความสดใส มันเหมือนกับ สีมันก็ไม่ได้หนักนะ แต่ว่ามันสดใส มันมีความร่าเริงบางอย่าง ที่เรามองเห็นในแวบแรก แต่ว่าพอได้ดูไปลึกกว่านั้น จนทำให้เลือกมาพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะว่ามันมีความสร้างสรรค์ เรารู้สึกว่า อยากให้บ้านเรามีหนังสืออย่างนี้อ่านกันบ้าง เป็นความรู้สึกที่ต่อเนื่องมาจากที่เราเห็นแค่ความน่ารัก ปนตลก ปนเพี้ยน แต่ข้างในมันมีสาระ มันมีคุณค่าบางประการที่คงจะดีถ้าเด็กไทยได้อ่านบ้าง

ภาพวันนั้นมันอยู่ในใจเรามาตลอด พอกลับไทยแล้วมาเราก็มาทำงานนู่นนี่ ทำแม็กกาซีน ทำสำนักพิมพ์ Openbooks กับ Open World ซึ่งก็เป็นหนังสือผู้ใหญ่เนอะ แต่เล่มนี้ก็ยังอยู่ในใจ จนมาปีสองปีนี้เรารู้สึกว่าเราพร้อมแล้ว และผู้ใหญ่หลายท่านก็ให้โอกาส เราก็ลองทำเลย เราส่งอีเมลไปที่ฟินแลนด์โดยตรง ไม่ได้ผ่านเอเยนต์อะไรเลย เขียนเล่าไปว่าเราเคยประทับใจอะไรในหนังสือเล่มนี้บ้าง คุยกันอยู่พักหนึ่ง ทางนั้นเขาก็ยินดีให้เอามาพิมพ์

จากที่เราเห็นแค่ความน่ารัก ปนตลก ปนเพี้ยน แต่ข้างในมันมีสาระ มันมีคุณค่าบางประการที่คงจะดีถ้าเด็กไทยได้อ่านบ้าง 

ตอนนั้นไปเรียนอะไรที่ฟินแลนด์

เราอยู่ที่ฟินแลนด์เกือบสามปี รวมช่วงเวลาที่ไปแลกเปลี่ยนในแถวนอร์ดิกด้วย ตอนนั้นเราไปเรียนวิชาชื่อ Digital Culture หรือวัฒนธรรมดิจิทัลศึกษา และเพราะว่าเรียนวิชานี้แหละ ถึงทำให้เราเห็นเสน่ห์ของสื่อแอนาล็อก และอยากทำหนังสือ

Digital Culture มันคือการศึกษาวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล โดยสื่อก็คือแขนงหนึ่งของวัฒนธรรม ในแง่การสื่อสาร การส่งต่อสารบางอย่างในสังคม เช่นแต่ก่อนเราอาจจะสาดน้ำ แห่นางแมว เพื่อเป็นการบอกบางอย่าง แต่พอเป็นวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล มันก็จะต่างไป

และเพื่อศึกษาสื่อดิจิทัล เราก็ต้องกลับไปศึกษาสื่อแอนาล็อกด้วย เมื่อศึกษาทั้งสองสื่อเยอะๆ เลยทำให้เรารู้ว่า มันมีฟังก์ชันบางอย่างที่ทับซ้อนกัน และมีหน้าที่บางอย่างที่แทนกันไม่ได้ เราทำวิทยานิพนธ์เรื่องหนังสือภาพเรื่อง Persepolis ในสื่อแอนาล็อกที่เป็นหนังสือ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล

ด้วยความที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนเยอะ แต่เขาจะชี้ทางให้เราไปอ่านเอง ค้นเอง เราก็ค้นกลับไปถึงสื่อที่เป็นภาพและตัวอักษรทั้งหมด กลับไปถึงกำแพงอียิปต์อะไรแบบนั้นเลย กำแพงอียิปต์ถ้ามองดีๆ มันคือภาพที่ต่อกัน มันก็คือการ์ตูนน่ะ เราเลยรู้ว่า หนังสือภาพที่เป็นกระดาษมาเย็บต่อกัน เพื่อให้เปิดไปทีละหน้าเนี่ย มันมีฟังก์ชันบางอย่างที่ไม่เหมือนดิจิตัล ไม่ใช่เรื่องสัมผัสอะไรด้วย แต่เป็นฟังก์ชันของการเรียงแบบหนึ่งสองสาม เป็นความเฉพาะตัวของหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่มีภาพเยอะๆ โดยเฉพาะหนังสือเด็ก มันมีหน้าที่ มันมีความมหัศจรรย์บางอย่างที่เฉพาะตัว ที่ต้องเป็นหนังสือเท่านั้น ก่อนไปเราทำหนังสืออยู่แล้ว กลับมาเราก็คงจะทำหนังสือต่อไป

ไปเรียนดิจิทัลเพื่อกลับสู่ความแอนาล็อกเหมือนเดิม

ใช่ (หัวเราะ) คือสื่อดิจิทัลเราก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะเราเป็นคนของยุคนี้ เราก็เต็มที่ แต่เราก็มองเห็นข้อดีของทั้งสองอย่าง และเราก็เลือกใช้แต่ละสื่อในแต่ละหน้าที่ให้เหมาะสม เราชอบศึกษาที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ แล้วเราจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง เราเลยคิดว่า หนังสือนี่แหละ ที่เราทำให้เป็นประโยชน์กับเด็กๆ ได้ จนสุดท้ายก็มาลงตัวที่ตาตุปาตุ ที่เราทำให้เป็นประโยชน์กับเด็กๆ ได้ สุดท้ายก็มาลงตัวที่ตาตุปาตุ

ในฐานะคนที่ก็อยู่ในวงการหนังสือ มองระบบและวงการหนังสือของฟินแลนด์เป็นอย่างไร

หนังสือมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ก็จริงนะ แต่สิ่งที่เราสนใจจริงๆ คือคำว่า Literacy ภาษาไทยแปลมาบอกว่ามันคือการอ่านออกเขียนได้ แต่จริงๆ เราว่ามันไม่ใช่แค่อ่านได้สะกดถูก แต่คือความเข้าใจ การประมวลผล การรับเข้าข้อมูล ความเข้าใจสื่อและเข้าใจบริบทต่างๆ มันคือทุกอย่าง เราสนใจเรื่องนี้มากกว่า และฟินแลนด์เองก็ขึ้นชื่อเรื่องนี้

ถ้าพูดถึงฟินแลนด์ เราต้องพูดถึงความเสมอภาค แล้วมันเกี่ยวกับ Literacy ยังไง ก็คือ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ไหนในสังคม คุณสามารถเข้าถึงหนังสือได้ผ่านห้องสมุด และห้องสมุดที่ฟินแลนด์มันจะไม่ใช่แค่การไปยืมคืนหนังสือ ห้องสมุดทุกแห่งในฟินแลนด์เชื่อมต่อกันหมด เช่น เราอยู่ที่อิวอสกูล่า แต่หนังสือที่เราอยากได้อยู่ที่แลปแลนด์ เขาก็จะเอาจากตรงนั้นมาให้เรา เราเข้าใจว่าถ้าเป็นห้องสมุดรัฐเนี่ยไม่ต้องเสียเงินเลยนะ หรืออาจจะเสียแค่สิบหรือยี่สิบบาท คือมันน้อยมาก นั่นหมายความว่า คนสามารถมีสิทธิ์เข้าถึงหนังสือทุกเล่มในประเทศ ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นมันจะอยู่ที่ไหน ผ่านทางห้องสมุดใกล้บ้าน

อีกอย่างคือเขามีหน่วยงานที่ทำงานด้าน Literacy โดยตรง ซึ่งเขาทำงานกันจริงจัง จะมีกิจกรรมหนึ่งที่เขาจะพานักเขียนหนังสือเด็กไปทัวร์ทั่วประเทศ ไปอ่านหนังสือให้เด็กฟัง คือมันมีการทำงาน มีการจัดการที่จริงจังและจริงใจในการทำเรื่องนี้

ถ้าให้เราวิเคราะห์ คือฟินแลนด์เขาก็เล็งเห็นแล้วแหละว่าทรัพยากรที่เขามีอยู่แน่นอนอย่างเดียวคือคน เพราะการเพาะปลูกเขาก็ทำได้แค่ช่วงซัมเมอร์ที่ยาวสี่เดือน ปลูกได้แค่เบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ที่ไม่ยืนต้น พอเป็นเวลาอื่นของปีก็หนาวขาวโพลนไปหมด ย้อนไปสมัยสงครามโลก เขาเป็นผู้แพ้สงคราม เกิดความแร้นแค้น ต้องชดใช้เงิน เขาเลยเห็นแล้วว่าประเทศไม่มีทรัพยากรอื่น สิ่งที่มีคือมนุษย์ เขาจะทำอย่างไรให้มนุษย์พาประเทศไปข้างหน้าได้มากที่สุด เขาก็เลยมาลงทุนกับคน กับการศึกษา กับห้องสมุด

ขยายความเรื่องการเรียนรู้นะ มันมีมาตั้งแต่รากเดิมเลย แต่ละชาติก็จะมีวรรณกรรมประจำชาติใช่มั้ย ฟินแลนด์ก็มีเหมือนกัน เป็นเรื่อง ‘เจ็ดภราดร’ (Seven Brothers) เล่าเรื่องของพี่น้องเจ็ดคนกับสังคมที่ยากแค้น เพราะฟินแลนด์เป็นประเทศยากจนมาก่อน เพิ่งจะมาพลิกฟื้นเมื่อ 40-50 ปีมานี่เอง

หนังสือจะบอกว่า พี่น้องเจ็ดคน ถ้าไม่มีการศึกษาเรียนรู้ ก็จะเป็นชีวิตที่ปราศจากแสงสว่าง เป็นชีวิตที่ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความยากแค้นได้ และฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีข้อจำกัดเยอะ หนึ่งคือหนาว สองคือเป็นประเทศเล็กที่โดนขนาบโดยมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสวีเดน สงครามก็แพ้ การศึกษาก็อยู่ในระดับกลางๆ ทรัพยากรก็ไม่มี มันเลยจะฝังอยู่ในวิธีคิดของคนฟินน์เลยว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศไปข้างหน้าได้ มีเพียงอย่างเดียวคือความคิด คือการศึกษา

ทุกครั้งที่ได้คุยกับใครก็ตามเรื่องฟินแลนด์ จะต้องได้ยินคำว่าความเท่าเทียม จนเหมือนเป็นคีย์เวิร์ดของประเทศนี้เลย

จากการได้สัมผัสและอ่านงานฟินแลนด์เยอะๆ เราจะรู้สึกว่า ความเท่าเทียมมันเป็นหลักใหญ่ การศึกษาที่เขาพัฒนามาได้ก็เพราะความเท่าเทียม แต่ในความคิดของเรานะ เราว่าเบื้องหลังที่ลึกไปกว่าความเท่าเทียม คือการที่คนฟินแลนด์เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ ทำไมถึงอยากให้เท่าเทียม คำตอบก็คือเพราะทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าในตัวเองเหมือนกัน ทุกคนสามารถบรรลุสมรรถภาพสูงสุดของตัวเองได้ ทุกคนสามารถเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ตัวเองอยากเป็นได้ เรามองว่า สิ่งที่อยู่ข้างใต้ของความเท่าเทียม มันคือสิ่งนี้

เพราะฉะนั้น มันถึงมีการส่งเสริมการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือในโรงเรียน ทางอ้อมคือ ห้องสมุด การส่งเสริมนักเขียน ส่งเสริมการอ่าน เพราะเขาเชื่อในศักยภาพมนุษย์ ฟินแลนด์เขาจะเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์มากๆ

ยกตัวอย่างเช่น ในระบบการศึกษาของเขาจะมีครูที่ชื่อว่า ‘ครูการศึกษาพิเศษ’ คือเมื่อนักเรียนเข้าโรงเรียนตอนเจ็ดขวบ จะมีครูที่คอยสังเกตว่า นักเรียนคนไหนมีปัญหาเรื่องการอ่าน หรือการคำนวณหรือเปล่า ถ้ามี เขาจะเข้าไปช่วย โดยไม่ได้คิดว่าคนนั้นเป็นเด็กไร้ความสามารถ แต่เขามองว่า ที่เด็กมีปัญหาก็คือแค่ตอนนี้ ครูแค่เข้ามาช่วย และจะไม่แบ่งแยกเด็กไปอยู่คลาสพิเศษ หรือโรงเรียนพิเศษ

 เพราะความเชื่อที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ ทุกคนจะมีช่วงเวลาในชีวิตที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่เราอาจจะทำบางอย่างไม่ได้ และต้องการแค่ครูหรือใครสักคนเข้ามาช่วยนิดหน่อย เพื่อให้เราผ่านพ้นช่วงเวลานั้น สุดท้ายมันก็จะกลับมาที่ความเท่าเทียม คือทุกคนไปโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งมันก็สะท้อนความเป็นประเทศเขาคือ เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เห็นค่าของคน ของความแตกต่าง

เมื่อทุกคนมีคุณค่า ทุกคนก็จะมีโอกาสที่เท่ากัน เขาเลยมาพัฒนาการศึกษา เพราะเมื่อได้รับโอกาสเท่ากันแล้ว ประตูทุกบานก็เปิด คุณจะเป็นอะไรก็ได้

ทุกคนจะมีช่วงเวลาในชีวิตที่ต้องการความช่วยเหลือ
เราอาจจะทำบางอย่างไม่ได้และต้องการแค่ครูหรือใครสักคนเข้ามาช่วย
เพื่อให้เราผ่านพ้นช่วงเวลานั้น

หนังสือเด็กฟินแลนด์เป็นยังไง

เสน่ห์ของหนังสือฟินแลนด์คือความเปิดกว้าง ไม่มีผิดไม่มีถูก เหมือนอย่างสิ่งประดิษฐ์ เขาไม่ได้สอนให้ทำ ไม่ได้สรุปให้ว่าเรื่องนั้นมีข้อคิดอะไร แค่มาเล่าให้ฟังเฉยๆ

อย่างเล่มที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ เด็กๆ จะทำอะไรก็ได้ จะทำแบบนี้ หรือจะคิดต่อยอดก็ได้ มันเปิดกว้างมาก แล้วก็ไม่ได้มีโครงสร้างด้วยซ้ำว่าต้องอ่านเรียงไปตามหนึ่งสองสามสี่ ตัวละครไปที่ไหน ไม่มีเลย มันเปิดมากๆ อยากจะอ่านตรงไหนก่อนก็ได้ อ่านข้างหลังก่อนก็ได้

เราว่าลึกๆ เอาแบบไม่ดูเรื่องโครงสร้างหรืออะไรเลยนะ คือหนังสือมันมาจากคนที่จิตใจดี อย่างตาตุปาตุ พออ่านแล้วจะรู้สึกว่า คนเขียนสองคนนี้จิตใจน่ารักจังเลย ซึ่งมันก็มาจากที่ว่า พวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มันน่ารัก เพราะคนฟินน์จะมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ มี Work life balance ส่วนตัวคิดว่าคุณภาพชีวิตเหล่านี้มันออกมาทางงาน เราว่างานสำหรับเด็กที่ดีคือมันสร้างจากคนที่จิตใจดี

จุดเด่นอีกอย่างคือเราคิดว่าเขามีการหาข้อมูลที่ดี หนังสือฟินน์จะมีลักษณะคือ เขาจะรีเสิร์ช ถ้าเขาจะพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคไหน ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องตลกหรือเพี้ยนแค่ไหน แต่มันจะมีพื้นของข้อมูลอะไรบางอย่างอยู่ เขาทำการบ้านเยอะ

สน่ห์ของหนังสือฟินแลนด์คือความเปิดกว้าง ไม่มีผิดไม่มีถูก เหมือนอย่างสิ่งประดิษฐ์ เขาไม่ได้สอนให้ทำ ไม่ได้สรุปให้ว่าเรื่องนั้นมีข้อคิดอะไร แค่มาเล่าให้ฟังเฉยๆ 

เล่มต่อไปของตาตุปาตุจะเป็นเรื่องอะไร

เล่มหน้าว่าด้วยการอ่าน เป็นการพาเด็กๆ อ่าน เล่มนี้พ่อแม่ต้องอ่านกับลูก หรือถ้าเป็นเด็กโตที่อ่านเองได้ก็ควรอ่านกันเป็นกลุ่ม เพราะหนังสือจะคล้ายๆ พาเด็กเขาไปในนิทาน คนเขียนเขาก็จะวาดปุ่มให้กดทำเสียงต่างๆ ใครกดตรงไหน คนในกลุ่มก็ต้องทำเสียงนั้นขึ้นมา ใส่ซาวนด์เอฟเฟ็กต์ ใส่อารมณ์ ใส่เสียงเข้าไป มีความเป็นบอร์ดเกมนิดนึง

ในมุมคนทำหนังสือ ก็รู้สึกว่า ในทางการตลาดมันคงไม่ดีเท่าเล่มนี้แน่ๆ แต่เราก็คิดว่ามันคงต้องมี เราอยากให้มีเราก็ต้องทำ แม้จะมันเกิดผลกับคนแค่ในกลุ่มนึง เราก็จะดีใจแล้ว แต่หลังจากนั้นเราจะเอาเล่มที่ขายได้มาแล้วนะ (หัวเราะ)

ต้องใช้ความกล้าหาญมากเลยนะในการเลือกหนังสือมาพิมพ์สักเล่ม

หนึ่งคือเราเสี่ยงอยู่ในขอบเขตที่เรารับได้ด้วย อันนี้ว่ากันในเชิงความอยู่รอดนะ เราก็มีต้นทุนไว้เท่านี้ ที่เราสามารถเสี่ยงได้ สองคือเป็นเชิงในใจนะ เรารู้สึกว่า เราเกิดมาครั้งเดียว ก็อยากทำอะไรที่มันมีประโยชน์บ้าง แล้วในความคิดของเรา เล่มนี้มันมีประโยชน์มากๆ ถ้าเราอยากได้เราก็ต้องทำเอง เล่มนี้อยู่มาได้สิบห้าปี และยังได้รับความนิยมอยู่ เราก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า มันต้องใช้ได้แหละ ไม่งั้นก็คงไปตั้งนานแล้ว

กว่าเราจะเลือกเล่มนี้มันใช้เวลานานมากๆ  มีเหตุการณ์หนึ่งคือ ตอนแรกเราลังเลอยู่ระหว่างสองชุด ชุดหนึ่งเป็นแนววิทยาศาสตร์ เพราะฟินแลนด์เขาจะดังเรื่องนี้ กับอีกชุดก็คือตาตุปาตุ ตอนนั้นเราไปทะเลปราณบุรี ไปนอนบ้านเพื่อนที่เพื่อนๆ จะสลับกันไปช่วยดูแลบ้านให้ เราเองก็ชอบเอางานไปนั่งทำ เอาหนังสือไปแปล เพราะว่ามันเงียบดี  แต่บางทีก็จะมีเจอเพื่อนที่มาซ้อนกันบ้าง และครั้งนั้นเราก็ไปเจอกับรุ่นพี่ที่คณะ (อักษรศาสตร์ จุฬาฯ) คนนึง เอาหนังสือสองชุดนั้นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์เลย ตอนเย็นๆ เราก็นั่งคุยกันไป ก็เล่าให้พี่เขาฟังว่า เรากำลังเลือกจะพิมพ์หนังสืออยู่สองชุด ถ้าเป็นอันแรกที่เป็นเรื่องเทคโนโลยี เรารู้เลยว่ามันจะขายได้ในยุคนี้ แต่เล่มตาตุปาตุเราไม่รู้เลย เล่มนี้เสี่ยง แต่ใจเราน่ะ มาทางเล่มนี้

รุ่นพี่ก็ถามเราว่า ตอนเช้าตื่นมานึกถึงโปรเจ็กต์ไหนก่อน เราบอกว่า นึกถึงตาตุปาตุก่อน เขาก็บอกว่า ทำสิ่งที่เราตื่นมาแล้วนึกถึงเป็นสิ่งแรก แล้วมันจะดี คือกว่าจะมาเป็นเล่มนี้มันผ่านความคิดอะไรเยอะมาก มีทั้งคนเตือน คนห้าม คนสนับสนุน มันหลายอย่างมากเลย มีคนบอกว่า มาทำสำนักพิมพ์อะไรตอนนี้ มาทำช่วงนี้ทำไม

แต่พอได้ทำแล้วก็เหมือนได้เข้าสู่จักรวาลใหม่เลยไหม จักรวาลแห่งหนังสือเด็ก

ใช่ เป็นเรื่องใหม่เลย ฝากขอบคุณหลายท่านที่ช่วย ครูก้าคือคนหนึ่งที่เรามาหาครูก้าแล้วได้ความมั่นใจกลับไป เหมือนมีคนช่วยยืนยันอีกแรง เพราะตอนแรกเรามั่นใจเอง (หัวเราะ) เราทิ้งตัวอย่างเล่มนี้ที่เป็นแบบพิมพ์บ้านๆ เอาไว้ให้ เย็นวันนั้นครูก้าก็ตอบกลับมาและให้ความมั่นใจกับเรา

ตอนเราทำหนังสือผู้ใหญ่ เราจะไม่ค่อยได้ยุ่งกับเรื่องเลย์เอาต์หรือกราฟิกอะไรมาก แต่กับเล่มนี้ ระหว่างที่ทำ เราก็จะมีคนคอยให้คำปรึกษาเรื่องหนังสือเด็ก มีพี่เอ๋—อริยา ไพฑูรย์ ที่เป็นบ.ก.หนังสือเด็กมายาวนานตั้งแต่สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ที่ให้ความกรุณามากๆ จริงๆ หน้าที่พี่เอ๋เป็นแค่บ.ก.อย่างเดียว แต่เราปรึกษาพี่เอ๋เลยไปไกลมาก ทั้งดูฟอนต์ อาร์ตเวิร์ก และพี่เอ๋เป็นคนแนะนำวิธีการพรีออเดอร์ ให้คำปรึกษาเรื่องราคา คือทุกรายละเอียด ฝากขอบคุณพี่เอ๋ทางนี้ด้วยค่ะ

ในการทำงานเล่มนี้ทำให้เราได้เจอบุคคลหลายคนมากที่ช่วยชี้ทางให้เรา เป็นคนในวงการใหม่สำหรับเราเลย แล้วก็ไปประกอบกับความรู้เดิมที่เราเคยได้ทำหนังสือที่ Openworld กับ Openbooks ความรู้พื้นฐานต่างๆ การประเมินหนังสือ การเลือก เลย์เอาต์ เราได้มาจากทุกคน ประมวลมาใส่เอาไว้ในเล่มนี้ เราตั้งใจที่สุด

วันนี้วันที่ 6 ใช่ไหม (สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2563) วันที่จดทะเบียนบริษัทคือวันนี้เมื่อปีที่แล้ว ครบหนึ่งปีพอดี

คนที่จะโตไปจากนี้ต้องการหนังสือ เราอยู่ในโลกดิจิทัลนะ แต่สิ่งที่ฝึกทักษะ คือสื่อแอนาล็อกต่างหากทักษะการทำทุกอย่างให้เสร็จ ให้สุดทางด้วยตัวเอง ฝึกได้ด้วยหนังสือ 

จากการอยู่กับตาตุปาตุมาหนึ่งปี จนถึงวันนี้ที่หนังสือเข้าไปนั่งในใจเด็กๆ แล้ว ได้เห็นอะไรบ้าง

อาทิตย์ที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าเรามีความหวัง (หัวเราะ) เหมือนว่า พ่อแม่หรือเด็กเองก็ยังสนใจที่จะคิด ที่จะก้าวไปข้างหน้า ไปสนุกกับการคิดสร้างสรรค์ สนุกกับการหาสิ่งใหม่ๆ สนุกกับการคิดนอกกรอบ เรารู้สึกว่ามันคือความหวัง

ที่เราดีใจคือเราได้เห็นพ่อแม่ตื่นเต้นที่ได้เห็นลูกสนุก ได้เห็นลูกขำ แบ่งเป็นสองอย่างนะ อย่างแรกคือเห็นลูกขำ มีคนบอกว่า ไม่เคยเห็นลูกขำอย่างนี้เลย หรือไม่ได้เห็นทำแบบนี้มานานแล้ว กับอีกอย่างคือได้เห็นลูกอ่านหนังสือ ย้อนกลับไปเรื่องแอนาล็อกกับดิจิทัล ทำไมเราถึงเห็นเขาดีใจ และทำไมเราคิดว่ามันถึงน่าดีใจที่ลูกมาอ่านหนังสือ

เราคิดว่า จริงๆ สื่อหนังสือมันเป็นสื่อที่ หนึ่งคือมันไม่มีลิงก์ คือถ้าเราออนไลน์ มันมีลิงก์ให้เราไปเข้าโน่นเข้านี่ มีหลายหน้าต่างให้เราไปคุยกับคนโน้นคนนี้ เดี๋ยวเราก็แชตหรืออะไร แต่ถ้าเป็นหนังสือ เราอ่านแล้วมันต่อเนื่อง ออกไปไหนไม่ได้

สองคือมันเป็นสื่อที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับความคิดของตัวเอง แล้วทำไมถึงคิดว่าสิ่งนี้สำคัญในยุคนี้ เพราะว่าหลังจากนี้ไป จะยุคดิจิทัลหรือ Post-Covid หรืออะไรก็ตามแต่ เหมือนที่ทุกคนก็รู้กันแล้วว่า ความรู้มันอยู่หลากหลายที่ คนที่จะต้องเอามาเพื่อประกอบให้เป็นทางที่อยากเดิน เป็นสิ่งที่อยากประดิษฐ์ หรือว่าเป็นชีวิตที่อยากเป็นก็คือตัวเด็กเอง เพราะฉะนั้น เขาต้องอยู่กับตัวเองได้ คิดกับตัวเอง ทำงานกับตัวเองได้ แล้วหนังสือมันเป็นเครื่องมือที่ฝึกทักษะเหล่านี้

เราถึงดีใจพ่อแม่ฟีดแบ็กมาว่าลูกจับหนังสือด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก เราดีใจมากๆ เพราะนี่คือทักษะที่เขาต้องการจากนี้ไปอีก 20-30 ปี คนที่จะโตไปจากนี้ต้องการหนังสือ เราอยู่ในโลกดิจิทัลนะ แต่สิ่งที่ฝึกทักษะ คือสื่อแอนาล็อกต่างหาก ดิจิทัลก็ต้องฝึก เพราะมันก็มีเรื่องที่ต้องใช้ แต่ว่าทักษะการทำทุกอย่างให้เสร็จ ให้สุดทางด้วยตัวเอง ฝึกได้ด้วยหนังสือ

และพิเศษสำหรับผู้อ่านเพจ M.O.M สามารถพรีออเดอร์หนังสือสิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ’ ในราคาพิเศษได้ง่ายๆ เพียงแจ้งโค้ด aboutmom รับส่วนลดพิเศษ 10% จาก 225 บาท เหลือ 203 บาท (ค่าจัดส่งลงทะเบียน 40 บาท / EMS 60 บาท)

เปิดจองตั้งแต่วันนี้ถึง 25 มิ.. 2563  (เริ่มจัดส่ง 1 ..นี้ เป็นต้นไป)
สั่งซื้อได้ที่: m.me/storeminimore

 

#สิ่งประดิษฐ์สุดเพี้ยนของตาตุและปาตุ
#สำนักพิมพ์นาวา

Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST