READING

คุยกับ ‘ณิชา พีชวณิชย์’ นักเขียนนิทานส...

คุยกับ ‘ณิชา พีชวณิชย์’ นักเขียนนิทานสำหรับเด็ก

ไม่ว่ายุคสมัยของการอ่านจะเปลี่ยนไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว หนังสือนิทานก็ยังคงเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้พวกเขาได้เปิดโลกแห่งจินตนาการ เรียนรู้ และทำความรู้จักกับการอ่าน

ไม่ใช่แค่ M.O.M ที่เห็นความสำคัญของหนังสือสำหรับเด็ก แต่ท่ามกลางยุคที่สำนักพิมพ์หนังสือต่างพยายามหาทางปรับเปลี่ยนตัวเองไปในรูปแบบที่ต่างกัน เรายังมีสำนักพิมพ์ Make a wit เป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ ในเครือบริษัทบันลือพับลิเคชั่นส์ ที่ตั้งใจทำหนังสือนิทานสำหรับเด็กเกิดขึ้น และเปิดตัวด้วยหนังสือนิทานสองเล่ม คือ หนูหอมทำไก่ย่าง และ เล่นด้วยกันกับปังปอนด์ ซึ่งใช้ตัวการ์ตูน ‘ปังปอนด์’ ที่คุณพ่อคุณแม่น่าจะคุ้นเคยหน้าตากันมาก่อน

เราจึงถือโอกาสนี้มาพูดคุยกับ น้ำหวาน—ณิชา พีชวณิชย์ ผู้แต่งนิทานทั้งสองเล่มของสำนักพิมพ์ Make a wit และในฐานะนักเขียนผู้มีความสุขกับการแต่งนิทานและคลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือเด็กมาหลายปี เธอจะมาเล่าให้เราฟังว่าหนังสือเด็กที่เหมือนจะไม่มีอะไรมาก แท้จริงแล้วมีอะไรมากกว่าที่เราคิด

เข้ามาคลุกคลีกับวงการนิทานเด็กได้อย่างไร

เราชอบเข้าห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือนิทานมาตั้งแต่เรียนประถม พอโตขึ้นก็ชอบงานขีดๆ เขียนๆ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้มาทำหนังสือเด็ก ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลือกสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เพราะเป็นสาขาที่คิดว่าน่าจะได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ แล้วก็คิดว่า เรียนทำหนังสือเด็กคงไม่ยาก แต่พอได้มาเรียนจริงๆ โอ้โห! เหมือนเปิดโลก เราได้รู้ว่าศาสตร์การทำหนังสือเด็กมันมีอะไรเยอะมาก แต่ในความเยอะนั้น ก็มีเสน่ห์ที่ทำให้เราทึ่งอยู่บ่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็รู้สึกสนุกกับมันแบบสุดๆ

พอเรียนจบ ที่จริงเราก็ตั้งใจจะทำงานหนังสือเด็ก แต่สมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะยังไม่มีประสบการณ์ เลยไปทำงานด้านนิตยสารแทน ซึ่งก็สนุกและแฮปปี้มาก แต่วันหนึ่งได้กลับไปที่มหาวิทยาลัย ไปฟังสัมมนาของรุ่นน้อง เป็นหัวข้องเกี่ยวกับนิทาน ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนได้กลับบ้าน กลับไปสนุกกับสิ่งที่เราคุ้นเคย ก็เลยเหมือนได้คำตอบว่า เรายังรักงานด้านนี้อยู่ อยากทำงานด้านนี้อยู่ เราเลยลองหาทางทำงานด้านนี้อีกสักตั้ง ในที่สุดก็ได้รับโอกาสทำงานหนังสือเด็กแบบจริงจังครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ห้องเรียน ที่นี่เหมือนเป็นครู เป็นที่ที่ให้โอกาส เป็นผู้มีพระคุณ เราเรียนรู้การทำงานหนังสือเด็กแบบจริงจังจากที่นี่ แล้วก็พยายามพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ เหนื่อยนะ เงินก็ไม่ได้เยอะหรอก แต่จนวันนี้ก็ยังสนุกกับมันอยู่

ปกติหาแรงบันดาลใจ หรือข้อมูลที่จะนำมาใช้ในนิทานอย่างไร

ถ้าเป็นนิทานที่คิดโครงการขึ้นมาเอง ไม่ใช่นิทานที่สำนักพิมพ์มาให้ ส่วนมากเราก็เอาแรงบันดาลใจมาจากตัวเองตอนเป็นเด็กบ้าง จากเด็กๆ รอบตัวบ้าง เราเห็นพวกเขาแล้วก็คิดว่า เราอยากบอกอะไรกับเขา อยากให้เติบโตมาเป็นคนแบบไหน เป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน เป็นคนที่คิดถึงจิตใจผู้อื่น มีความกล้าหาญที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง เราก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาเขียนเป็นนิทาน ให้นิทานเป็นสื่อกลางบอกกับเขาแบบอ้อมๆ

“บางคนคิดว่าหนังสือเด็กตัวหนังสือน้อย แค่เอาตัวหนังสือแปะๆ ไปก็ได้แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวเราว่ามันไม่ใช่ หนังสือเด็กต้องการการวางเลย์เอาท์ที่อ่านง่าย อ่านแล้วภาพกับเนื้อหาไปด้วยกัน ดังนั้นกราฟิกก็ต้องเข้าใจแก่นของเรื่องด้วย”

อยากให้ช่วยอธิบายงานเขียนนิทาน จนออกมาเป็นหนังสือ

เริ่มจากวางโครงเรื่อง แก่นเรื่อง เราอยากนำเสนออะไร อยากให้เรื่องราวเป็นแบบไหน กำหนดรูปเล่ม จำนวนหน้า คำนวณต้นทุนต่างๆ ถ้าโอเคแล้วก็ลองร่างเนื้อหา เขียนเป็น storyboard หรือถ้าไม่ได้วาดเองก็ต้องคุยกับทีมให้เข้าใจตรงกัน เราว่าตรงนี้สำคัญมาก เพราะงานหนังสือเด็ก ภาพกับเรื่องมันต้องไปด้วยกัน เหมือนเนื้อเพลงกับดนตรีที่ต้องประสานสอดคล้องกัน มีบางเล่มเหมือนกันที่เราอาจจะอธิบายสิ่งที่เราอยากสื่อสารออกไปไม่ชัดเจนพอ เนื้อหากับรูปก็เลยไม่ไปด้วยกัน อ่านแล้วมันไม่ได้ในสิ่งที่เราพยายามสื่อออกไป ซึ่งมันก็น่าเสียดาย

โดยปกติแล้ว หลังจากนักวาดภาพวาดภาพเสร็จ เราจะเอาภาพทั้งหมดของเขามาดู มาลองจัดเรียงหน้า แล้วปรับแก้เนื้อหาให้เข้ากับภาพอีกรอบเพื่อให้ราบรื่นที่สุดก่อน ค่อยส่งให้กราฟิกจัดหน้า

กราฟิกนี่ก็สำคัญ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่คนมักมองข้าม บางคนคิดว่าหนังสือเด็กตัวหนังสือน้อย แค่เอาตัวหนังสือแปะๆ ไปก็ได้แล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวเราว่ามันไม่ใช่ หนังสือเด็กต้องการการวางเลย์เอาท์ที่อ่านง่าย อ่านแล้วภาพกับเนื้อหาไปด้วยกัน ดังนั้นกราฟิกก็ต้องเข้าใจแก่นของเรื่องด้วย บางทีเวลาทำหนังสือ บก. ถึงต้องไปนั่งดูกราฟิกจัดหน้า แบบแก้กันตรงหน้าคอมพ์ อธิบายกันตรงหน้าคอมพ์เลย

หลังขั้นตอนการจัดหน้าก็คือส่งพิมพ์ อันนี้ก็สำคัญอีก สีตรงตามที่ต้องการไหม คุณภาพการพิมพ์ออกมาเป็นอย่างไร ภาพคมภาพแตกหรือเปล่า บางเล่มก็มีเทคนิคพิเศษ ปั๊มทองบ้าง ป็อปอัปบ้าง กว่าจะเป็นหนังสือเด็กหนึ่งเล่มก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็สนุกนะ

“เราว่าหนังสือเด็กนี่ซับซ้อนสุดๆ แล้ว ในความเรียบง่ายเหมือนไม่มีอะไร มันผ่านการคิด การย่อยมาหลายขั้นตอน เช่น เราอยากเขียนหนังสือเรื่องหมาให้เด็กๆ อ่าน เราต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับหมาเป็นสิบๆ เล่ม แล้วจึงค่อยเอามาเขียนให้เป็นหนังสือที่เนื้อหาสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ”

บางคนอาจมองว่าการแต่งนิทานเด็ก ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน แต่อยากให้ช่วยอธิบายว่า นิทานสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย มีความแตกต่างกันอย่างไร, ต้องคำนึงอะไรบ้าง

เอาจริงๆ นะ เราว่าหนังสือเด็กนี่ซับซ้อนสุดๆ แล้ว ในความเรียบง่ายเหมือนไม่มีอะไร มันผ่านการคิด การย่อยมาหลายขั้นตอน เช่น เราอยากเขียนหนังสือเรื่องหมาให้เด็กๆ อ่าน เราต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับหมาเป็นสิบๆ เล่ม แล้วจึงค่อยเอามาเขียนให้เป็นหนังสือที่เนื้อหาสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจได้ และที่สำคัญ คือเราต้องคัดกรองว่าเนื้อหาถูกต้อง บางเล่มถึงต้องหาที่ปรึกษา หาข้อมูลเพื่อคอนเฟิร์มเนื้อหาซ้ำแล้วซ้ำอีก หนังสือเด็กนี่ถ้าข้อมูลผิด คือเหมือนเราทำบาปเลยนะ เพราะเราเอาสิ่งที่ผิดไปใส่สมองของเขา เด็กเขาจะเชื่ออย่างนั้น และอาจเชื่อไปจนโต

เด็กแต่ละช่วงวัย พัฒนาการทางสมอง ทางร่างกายแตกต่างกัน ความสนใจ ความชอบ ธรรมชาติของเขาก็แตกต่างกัน เด็กเล็กๆ ต้องการหนังสือแบบหนึ่ง โตขึ้นมาก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง เราต้องเข้าใจเขา เข้าใจพัฒนาการ ความต้องการ ความอยากรู้ในแต่ละวัยของเขา เช่น เด็กเล็ก นอกจากจะต้องทำเนื้อหาให้อ่านง่ายแล้ว ภาพก็ต้องดึงดูดเขา ตัวเล่มต้องทนทาน ปลอดภัย เพราะบางทีเด็กจะขยำหนังสือ ขว้าง หรือเอาเข้าปาก มุมหนังสือต้องโค้งมนไม่เป็นอันตราย ส่วนเด็กโต เนื้อหาอาจละเอียดขึ้นมาหน่อย เริ่มออกสู่โลกนอกตัวเขามากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ยากเกินวัย เด็กโตบางคนพอเจอหนังสือที่เด็กเกินไป เขาก็เบื่อเหมือนกัน

พ่อแม่และผู้ปกครอง จะรู้ได้อย่างไรว่า หนังสือนิทานแบบไหนเหมาะกับเด็กในช่วงวัยใด

ปกติบนปกหนังสือนิทานจะระบุช่วงวัยของเด็กๆ ที่เหมาะสมกับเล่มนั้นเอาไว้อยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถพิจารณาจากตรงนั้นได้เลยค่ะ และอาจลองสังเกตความชอบของลูก พัฒนาการของลูก เราเคยเจอบางครอบครัวเอาหนังสือของเด็กโตไปอ่านให้เด็กเล็กฟัง เขาก็เข้าใจได้ นั่นเป็นเพราะเขาพร้อมจะเรียนรู้

พัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน หนังสือที่เหมาะกับเด็กๆ แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่หลักๆ แล้ว สำนักพิมพ์มักกำหนดกลุ่มเป้าหมายโดยส่วนใหญ่ของหนังสือเอาไว้ให้คุณพ่อคุณแม่แล้วค่ะ

เท่าที่เคยแต่งนิทานมา มีเรื่องไหนของตัวเองที่ชอบ ประทับใจ หรือมีผลตอบรับที่ดีที่สุด หรือมีนิทานเด็กเรื่องไหนที่ชอบมากที่สุด

หนังสือทุกเล่มที่เราทำ เรารักมันหมดเลยนะ แต่ถ้าจะให้พูดถึงเล่มที่มีฟีดแบ็กมากที่สุด ก็คงจะเป็นเล่มที่ชื่อว่า ตุ๊กตาแห่งความทรงจำ เป็นหนังสือนิทานเล่มแรกของเราที่ผลตอบรับดีกว่าที่คิดไปเยอะมาก ทั้งในแง่ของรางวัล การได้ไปตีพิมพ์ที่ประเทศต่างๆ หรือเสียงตอบรับจากคนอ่าน

เล่มนี้เนื้อหาจะค่อนข้างลึกซึ้งในแง่ความรู้สึก มันไม่ได้เศร้านะ ออกแนวเป็นความซาบซึ้ง ตื้นตันอะไรทำนองนั้น มีครั้งหนึ่ง ทางสำนักพิมพ์ส่งหนังสือเล่มนี้ไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ เขาเล่าว่า มีผู้หญิงชาวต่างชาติคนหนึ่งเดินเข้ามาในบูท ขอให้แปลหนังสือเล่มนี้ให้ฟัง เจ้าหน้าที่ก็อ่านไปแปลไป ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นน้ำตาไหล แล้วฝากเขากลับมาบอกเราว่า เธอประทับใจมาก เราได้ฟังเรื่องนี้จากทีมงานก็ดีใจมาก มันเหมือนสิ่งที่เราต้องการสื่อ มันสื่อไปถึงคนอ่านได้จริงๆ เพราะตอนเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ เราก็เขียนไปน้ำตาไหลไปเหมือนกัน ต้องยกเครดิตให้นักวาด และทีมงานคนอื่นๆ ด้วย ที่ช่วยทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์มากกว่าที่เราคาดหวังเอาไว้เยอะเลย

ส่วนนิทานของคนอื่นๆ ที่ชอบ ต้องบอกว่ามีเพียบ แต่นักทำหนังสือเด็กที่เราชอบที่สุด เรียกว่าเป็นไอดอลเลยคือ Mo Williams หนังสือที่เราชอบหลายเล่มก็เป็นผลงานของเขา เล่มที่เราชอบที่สุดชื่อว่า My friend is sad. ไม่มีพิมพ์เป็นภาษาไทย แต่หาซื้อในเมืองไทยได้นะ นอกจากนี้ก็มีนิทานที่ชอบอีกเป็นลังๆ เลยค่ะ

“เราก็ยังอยากให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือนิทานกับลูก เพราะถึงโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ธรรมชาติของเด็กก็ยังเหมือนเมื่อร้อยๆ ปีที่แล้ว คือเด็กต้องการคุณพ่อคุณแม่ ต้องการเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดกัน”

มุมมองคนทำงานเกี่ยวกับหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ในยุคที่ว่ากันว่าพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาอ่าน หนังสือนิทานให้ลูกฟัง เรายังควรให้ความสำคัญกับนิทานในรูปแบบหนังสือหรือไม่

ส่วนตัวเราไม่ได้แอนตี้เทคโนโลยีนะ คือโลกยุคนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เด็กยุคนี้ก็ต้องสัมผัสเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติ เพราะอนาคตของเขาเป็นแบบนั้น แต่เราก็ยังอยากให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือนิทานกับลูก เพราะถึงโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ธรรมชาติของเด็กก็ยังเหมือนเมื่อร้อยๆ ปีที่แล้ว คือเด็กต้องการคุณพ่อคุณแม่ ต้องการเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดกัน

เทคโนโลยีต่างๆ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ มันคือการสื่อสารทางเดียว ภาพมันตัดฉับๆ ตัดเร็วๆ เด็กที่สัมผัสสิ่งเหล่านี้เร็วเกินไปและมากเกินไปอาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร บางคนเป็นออทิสติกเทียมไปเลยก็มี แต่การอ่านหนังสือนิทานมันไม่ใช่แบบนั้น เวลาอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง เด็กๆ จะได้ทั้งความสนุก ความอบอุ่นที่ได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ ได้สื่อสาร พูดคุย ซักถาม โต้ตอบ ฝึกสังเกตจากภาพประกอบที่สวยงาม หากคุณพ่อคุณแม่เปิดคลิปนิทานให้เขาฟัง หรือเปิดยูทูบให้เขาดู เขาจะไม่ได้ปฏิสัมพันธ์ตรงนี้ ซึ่งมันจะส่งผลต่อพัฒนาการของเขาโดยตรง

เราถึงยังสนับสนุนให้คนรอบตัวเราอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง เพราะช่วงเวลาที่ลูกยังเล็ก ช่วงที่คุณยังเติมความรัก ความอบอุ่นในจิตใจของเขาได้มันสั้นมาก คุณพ่อคุณแม่ที่เวลาน้อยอาจจะเหนื่อยหน่อยที่จะต้องมานั่งอ่านนิทานให้ลูกฟัง แต่มันคุ้มค่านะ เพราะมันจะส่งผลดีต่อเวลาทั้งชีวิตของเขาที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และใช้ชีวิตต่อไปในโลกนี้

อ่านหนังสือกับลูกมันเสียเวลาไม่มากหรอก บางทีเราเล่นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ยังใช้เวลาเยอะกว่านั่งอ่านนิทานกับลูกเลยค่ะ ดังนั้นถ้าถามเรา เราว่าหนังสือนิทานก็ยังสำคัญ และไม่ว่าวงการสิ่งพิมพ์จะได้รับความนิยมน้อยลงแค่ไหน แต่เราก็ยังอยากให้หนังสือเด็กยังคงมีอยู่ เพราะนี่คือเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาเด็กๆ ได้ง่าย ราคาไม่แพง และคุ้มค่าที่สุดค่ะ


RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST