READING

คุยกับคนหน้างานจากโครงการคลองเตยดีจัง อัปเดตสถานกา...

คุยกับคนหน้างานจากโครงการคลองเตยดีจัง อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ในเขตคลองเตย ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ อย่างไร

การระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่ที่มีคลัสเตอร์การระบาดตั้งแต่ใจกลางเมืองและกระจายตัวออกไปตามจุดต่างๆ และชุมชนแรกๆ ที่ถูกพบเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ของการระบาดระลอกสามก็คือพื้นที่เขตคลองเตย ที่ประกอบด้วยชุมชนมากถึง 43 ชุมชน คิดเป็นประชากรในชุมชนกว่าหนึ่งแสนคน ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนประชากรของจังหวัดเล็กๆ ในประเทศเลยก็ว่าได้

คลองเตยดีจัง เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่รวมตัวกันทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนในพื้นที่คลองเตย และเป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ทันทีที่รู้ว่าคลองเตยกำลังต้องเผชิญกับวิกฤตที่ยากลำบาก

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณหนึ่ง—ณัฐพล สท้านอาจ เจ้าหน้าที่ประสานงาน​คลองเตยดีจัง เพื่อถามถึงความเป็นอยู่ของเด็กๆ และคนในชุมชน

สถานการณ์การระบาดของพื้นที่ชุมชนในคลองเตยตอนนี้ (19 พฤษภาคม 2564

ตอนนี้เริ่มมีการตรวจเชิงรุกที่ตลาดคลองเตยอยู่ครับ ก็เริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา วันที่คุยกันนี้ตรวจไปได้พันกว่าคน ติดเชื้อประมาณ 85 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ส่วนชุมชนอื่นในเขตก็มีติดเชื้อบ้างแต่ไม่เยอะ จะมีก็วันละคนสองคน แต่คิดว่าเพราะยังไม่ได้ตรวจเชิงรุกอย่างจริงจังเลยทำให้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

ถ้านับเฉพาะเด็กและเยาวชน สถานการณ์โดยรวมของชมชนในเขตคลองเตย เป็นอย่างไร

จากข้อมูลที่เรามีตอนนี้ คือมีเด็กติดเชื้อทั้งหมด 228 คน แบ่งออกเป็น

0-3 ปี: 29 คน

4-6 ปี: 48 คน 

7-12 ปี: 106 คน 

13-15 ปี: 45 คน 

จากผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 1,161 คนในคลองเตย จำนวนนี้คือขั้นต่ำ เพราะบางคนก็ไม่ได้ระบุอายุมา 

*ข้อมูลเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564

เด็กในชุมชนที่ติดเชื้อ มีการประสานงานและจัดการอย่างไร

ถ้าเด็กติดเชื้อแต่พ่อแม่ไม่ติด ทีมงานของเราจะประสานไปที่โรงพยาบาลเด็ก ให้เขารับไปดูแลต่อ ทางโรงพยาบาลก็จะมีมาตรการให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ไม่ติดเชื้อสามารถไปดูแลเด็กได้ แต่จะมีมาตรการป้องกันสำหรับคนที่จะเข้าไปอย่างเข้มงวด

ส่วนถ้าพ่อแม่ติดเชื้อ แต่ลูกไม่ติด พ่อแม่ก็จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลก่อน แล้วตรวจสอบว่าเด็กมีญาติที่อยู่ในชุมชนไหม ถ้ามีก็ต้องส่งเด็กให้ญาติดูแล แต่ถ้าไม่มีก็จะทำเรื่องส่งไปคลีนิก เด็กก็จะมีโอกาสได้ตรวจเชื้อซ้ำเร็วขึ้นด้วย 

แต่ถ้าในกรณีที่พ่อแม่ลูกติดเชื้อทุกคน ก็จะพยายามส่งตัวให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลเดียวกัน

ความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในพื้นที่ที่ต้องควบคุมและใช้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดเป็นอย่างไร

พอเป็นเด็กก็ควบคุมยาก เขาอยากออกมาวิ่งเล่น อยากเจอเพื่อนๆ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ก็คงทำอย่างนั้นไม่ได้ คนในชุมชนและคณะกรรมการชุมชนก็เลยพยายามให้เด็กๆ อยู่แต่ในบ้านกัน เพราะเอาจริงๆ ถ้าเด็กติดเชื้อขึ้นมา มันก็เสี่ยงที่เขาจะแพร่เชื้อได้เยอะ บางทีคนที่ติดเชื้อจากญาติก็ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน แต่มีเด็กเป็นสื่อกลางก็มี ทางกลุ่มเราเลยกำลังดำเนินการระดมทุน ให้ความช่วยเหลือเรื่องของเล่น ของใช้สำหรับเด็ก คือเราอยากให้เด็กๆ อยู่ในบ้านให้มากที่สุด แต่ถ้าเขาอยู่บ้านแล้วไม่มีอะไรทำ ไม่มีอะไรให้เล่นมันก็จะยากมากๆ 

ดังนั้นเราเลยคิดโครงการเพื่อจะระดมทุนสมุดภาพระบายสี ของเล่นต่างๆ รวมถึงของใช้สำหรับเด็กเล็ก นม ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อส่งไปให้ตามบ้านที่มีเด็กและเด็กเล็กให้ได้มากที่สุด

นอกจากส่วนนี้ ตอนนี้ทางคลองเตยดีจังกำลังให้ความช่วยเหลือด้านไหนแก่ชุมชนบ้าง

ก็จะมีเรื่องทำอาหารส่งมอบให้แต่ละครอบครัว ตรงนี้เริ่มจากทำเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่สามารถออกไปทำงานหารายได้ ก็จะมีคนโทร. ไปติดตามว่าสถานะเป็นยังไง ที่บ้านมีใครอยู่บ้าง แล้วก็ส่งอาหารไปให้

อีกโครงการจะเป็นโครงการจ้างงานคนในชุมชน โครงการนี้ทำร่วมกับกลุ่มเทใจ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) เพราะเราเข้าใจว่าคนในชุมชนตอนนี้ลำบากกันหมด เพราะบริษัทที่จ้างงานก็ยังไม่ให้พนักงานที่มาจากพื้นที่คลองเตยไปทำงาน เมื่อทำงานไม่ได้ก็ขาดรายได้ไป เราเลยพยายามหาวิธีเพื่อจะเยียวยาชุมชนให้สามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้นก่อน

หลักๆ ก็จะเป็นการจ้างแพ็กถุงยังชีพ เราจ้างคนในชุมชนให้มาช่วยแพ็กของเพื่อส่งต่อให้ชุมชนอื่นๆ อีกที มีสนับสนุนพ่นยาฆ่าเชื้อในชุมชน และมีการจ้างส่วนของการเก็บข้อมูลในชุมชน เช่น บ้านนี้มีสมาชิกในบ้านกี่คน แต่ละครอบครัวรายได้ลดลงไปเท่าไร  เพื่อจะวิเคราะห์ข้อมูลและให้ความช่วยเหลือได้ตรงจุดและเร็วมากขึ้น ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ ต่อไปเราก็ให้ทางชุมชนเก็บไว้ด้วย เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต

หากพูดเป็นภาพรวมมากขึ้น เราก็จะเรียกว่าโมเดลโควิดคลองเตย เป็นโมเดลในการให้ความช่วยเหลือที่รวดเร็วและเข้าถึงมากที่สุด ประกอบไปด้วย 5 ขั้นด้วยกันได้แก่

ขั้นที่ 1 ติดตาม: วางแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อสร้างทีมที่ติดตามคนติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง 

ขั้นที่ 2 ตัวแทน: การทำงานในพื้นที่หากเราไม่มีตัวแทนชุมชนเพื่อประสานงานจะทำให้ยากต่อการส่งต่อ กระจายข้อมูล จึงต้องเกิดการจัดตั้งตัวแทนขึ้นเพื่อจัดระบบภายในการดูแล โดยแต่ละชุมชนเลือกว่าจะมีครัวกลาง ถุงยังชีพ หรือข้าวกล่อง สำหรับการดูแลคนในชุมชนที่อยู่ในภาวะวิกฤต

ขั้นที่ 3 ตรวจเชิงรุก: การลดการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจเชิงรุกให้มากที่สุด โดยการประสานงานจากหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น และนักการเมืองเข้ามาช่วยจัดการ ส่งต่อผู้ป่วยให้เร็วยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 4 ฉุกเฉิน: ในความเสี่ยงทุกนาทีมีความหมาย จำเป็นต้องมีการระดมประสานหลายช่องทางเพื่อติดตามผู้ป่วยสีแดง ที่เสี่ยงต่อชีวิต โดยทีมเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจวัดออกซิเจนในเลือด พร้อมรายงาน ประเมินอาการ ส่งต่อความช่วยเหลือ ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์ ‘ฮอตไลน์คลองเตย’ ที่รับเรื่อง ให้คำปรึกษา หรือเคสฉุกเฉิน

ขั้นที่ 5 องค์รวม: การจัดการพื้นที่ระบาดหนัก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินภาพรวม ไม่เจาะจงแค่กรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งการบริหารแบบองค์รวมประกอบด้วย ‘โรค อาหาร อาชีพ’ สามอย่างนี้จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เช่น การจัดการเรื่องโรค, การส่งอาหารหรือการทำครัวกลางเพื่อให้ทุกชีวิตมีข้าวกิน และการมองหาอาชีพที่พอทำได้ในภาวะเดือดร้อน

คือเราพยายามจะทำให้ชุมชนเป็นคนทำงานเอง และมีเราคอยช่วยเหลือ เพราะก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ช่วยงานตรงนี้ได้นานแค่ไหน เราอยากให้ชุมชนสามารถทำงานและรับมือในช่วงวิกฤตได้ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่การระบาดของโรค COVID-19 เท่านั้น แต่ยังหมายถึงปัญหาอื่นๆ ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาอีก

ตอนนี้ทางโครงการยังต้องการความช่วยเหลือหรือขาดแคลนอะไรบ้าง

ก็จะมีเรื่องถุงยังชีพที่เราเปิดรับบริจาคของใช้จำเป็นต่างๆ ตอนนี้ของที่ส่งมาเริ่มลดน้อยลง ไม่เหมือนกับช่วงแรกๆ อาจเพราะว่ากระแสมันเริ่มดร็อป แต่จริงๆ สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังไม่ปกติเท่าไหร่

อีกเรื่องคือเราได้ผลตรวจจากหน่วยงานที่มาลงพื้นที่ตรวจค่อนข้างช้า ทำให้การให้ความช่วยเหลือเคสที่เร่งด่วนก็ช้าตามไปด้วย เพราะไม่ว่ายังไงเราก็ต้องมีผลตรวจเพื่อยืนยันกับทางศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตยก่อน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าข้อมูลจะได้มาเมื่อไหร่ อีกทั้งข้อมูลที่ได้ก็ไม่ได้ลิงก์กับทางโรงพยาบาลด้วย บางทีรับตัวคนไข้ไปแล้ว แต่ก็ยังตามผลตรวจทุกวันก็มี มันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำงานค่อนข้างลำบากเหมือนกัน

สุดท้ายถ้าอยากช่วยบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือโครงการคลองเตยดีจัง ทำได้อย่างไรบ้าง

 

เรายังรับบริจาคของใช้ที่จำเป็นอยู่ ได้แก่

 

• ของใช้สำหรับเด็ก เช่น สบู่เด็ก แป้งเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป

• ขนม นมกล่อง (สำหรับเด็ก)

• ข้าวสาร (ถุงละ 5 กิโล)

• บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

• อาหารแห้ง (ปลาแห้ง หมูหยอง กุนเชียง น้ำพริก)

• อาหารกระป๋อง

• หน้ากากอนามัย (สำหรับเด็กและผู้ใหญ่)

• ถุงดำ (ขนาด 30×40” และ 26×34”)

• แอลกอฮอล์ล้างมือ

• ยารักษาโรค เช่น พาราเซตามอล ยาแก้ไอ ยาลดไข้

• ถุงร้อนใส (ขนาด 15×30)

 

หากใครสนใจอยากบริจาคเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่คลองเตย สามารถส่งสิ่งของมาได้ที่ Music Sharing บ้านเลขที่ 2 ซ.สุขุมวิท 62 แยก 8-3 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ 10260 

หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณนินจา 087-356-4880 และ 064-541-6054

 

 

*สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST