READING

‘การศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่ผลลัพธ์ท...

‘การศึกษาคือกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ปลายทาง’ คุยกับครูจุ๊ย—ว่าที่ ส.ส.หน้าใหม่ เรื่องการศึกษาและภาษาอังกฤษของเด็กไทย

เมื่อปลายปี 2018 เราได้เห็นข่าวนโยบายการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ทำการยกเลิกการให้คะแนนและตัดเกรดในเด็ก ป.1-2 ยกเลิกการสอบกลางภาคและปลายภาคในหลายระดับชั้น รวมถึงยกเลิกการจัดลำดับในห้องเรียน

และหลายสัปดาห์ก่อน ข่าวนโยบายการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ได้รับความสนใจในหมู่ชาวเน็ตไทยอย่างคึกคักอีกครั้ง เนื้อหาของนโยบายก็คือ ประเทศสิงคโปร์กำลังจะเริ่มยกเลิกการแบ่งสายในระดับมัธยม เพื่อให้นักเรียนได้เลือกเรียนวิชาตามความสนใจ และแต่ละวิชาจะแบ่งเป็นหลายระดับ โดยนาย นายออง ยี คุง—รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พูดถึงนโยบายนี้เอาไว้ว่า “เราจะไม่ปล่อยให้ปลาว่ายน้ำในลำธารสามสายแยกกัน แต่จะเป็นแม่น้ำกว้างเพียงสายเดียว และปลาแต่ละตัวจะว่ายไปตามเส้นทางของตัวเอง” (ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-47471753)

ไม่กี่วันถัดมา ประเทศไทยก็มีมติเรื่องการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษ จาก English Program (EP) เดิม เป็น Intensive English Program (IEP) เน้นการสอนวิชาภาษาอังกฤษ และปรับให้เดิมที่เรียนวิชาอื่นๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ ก็เปลี่ยนเป็นภาษาไทยแทน เพื่อแก้ปัญหาเด็กอ่านข้อสอบประเมินระดับชาติซึ่งเป็นภาษาไทยไม่เข้าใจ (และล่าสุดทางกระทรวงฯ ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นเพียงการเสนอเท่านั้น ยังไม่ใช่นโยบายบังคับใช้)

แม้จะเกี่ยวกันเท่าไร แต่ทั้งหมดนั้นต่างก็เป็นนโยบายด้านการศึกษาที่สองประเทศกำลังเดินหน้า หากวัดกันที่ความคิดเห็นของชาวเน็ต เราก็จะพอมองออกถึงความคิดเห็นต่อแนวทางของทั้งสองประเทศที่ดูช่างจะแตกต่างกันเสียเหลือเกิน

และแม้จะไม่เกี่ยวกันอีก แต่ข่าวคราวทั้งหลายก็ทำให้เรานึกถึง ครูจุ๊ย—กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อดีตคุณครูภาษาอังกฤษ นักวิจัยด้านการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ และล่าสุดเธอเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ และเป็นหัวหอกด้านนโยบายการศึกษาของพรรคอนาคตใหม่

เราเลยถือโอกาสหอบเอาทุกประเด็นที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย ไปคุยกับครูจุ๊ย เพราะคิดว่าเธอน่าจะให้ความคิดเห็นกับเราได้ ทั้งในมุมของคุณครูที่อยู่ในระบบการศึกษา และในฐานะของคนที่กำลังจะเข้าไปทำงานด้านนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ

จากหลายๆ นโยบายของสิงคโปร์ มันดูน่าอิจฉา ประเทศไทยเราพอจะทำแบบเขาบ้างได้ไหม

เราบอกวิธีดูประเด็นเรื่องการศึกษาก่อน คืออย่าดูที่ปลายทางว่าเขาทำอะไร แต่ให้ดูกระบวนการที่เขาใช้ อย่างสิงคโปร์ ทั้งสองนโยบายเหมือนกัน คือเขาไม่ได้ประกาศแล้วทำเลย เขาค่อยๆ ทำเป็นขั้นบันได เริ่มต้นจากโรงเรียนแม่ข่ายก่อน แล้วค่อยขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ กว่าจะบังคับใช้ กว่าจะเปลี่ยนทั้งหมดทั่วประเทศคืออีกสามสี่ปีข้างหน้า นี่เป็นตัวอย่างของการดำเนินนโยบายด้วยความเข้าใจ

เทียบกันจริงๆ โครงการ ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ เราก็เอามาจากสิงคโปร์นะ ปรัชญามันคือการมองว่าการศึกษาไม่ได้อยู่แค่ที่โรงเรียนเท่านั้น ซึ่งสิงคโปร์เองก็ได้รับอิทธิพลมาจากฟินแลนด์อีกที ตอนเขารับวิธีการนี้มา เขาก็เริ่มทำกับโรงเรียนแม่ข่ายก่อน พอโรงเรียนแม่ข่ายแข็งแรงแล้ว ก็ค่อยๆ ขยายไปที่โรงเรียนลูกข่าย มันมีขั้นตอนของมัน

แต่พอเรารับมา เราประกาศใช้โครงการนี้เลย จึงจะมีคำถามจากผู้ปกครองเยอะมากว่า อ้าว ลดเวลาเรียนแล้วจะให้ลูกฉันไปทำอะไร ซึ่งเราไม่มีมาตรการรองรับเอาไว้ เราไม่ได้เตรียมกิจกรรมให้เด็กเลือก ไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมพื้นฐานให้เขาออกไปใช้ไปทำที่อื่นนอกโรงเรียน ทำให้ทุกครั้งที่มีนโยบายออกมามันถึงไม่สามารถทำได้จริง เพราะมันขาดกระบวนการให้คนได้ปรับตัว

นโยบายการยกเลิกการสอบ และจัดลำดับในห้องเรียน มันสามารถทำได้ในบ้านเราไหม

เราเคยคิดเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกัน เพราะการจัดอันดับในห้องเรียนอย่างไรก็นำมาสู่การเปรียบเทียบอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นต้องทำเลยด้วยซ้ำ ทำไมเราจะต้องเปรียบเทียบเด็กที่ไม่เหมือนกันด้วยมาตรวัดหรือข้อสอบชุดเดียวกัน จึงคิดว่า ด้วยหลักคิดนี้ ถ้าจะเอามาใช้ในบ้านเรา ทำได้ง่ายที่สุดคือการยกเลิกการจัดลำดับที่ในห้องก่อน หมายถึงระบบเดิมยังคงอยู่ การวัดสอบวัดระดับยังอยู่ เกรดยังอยู่ แต่ไม่ประกาศลำดับที่ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราจะทำแบบนี้ มันก็จะต้องมีช่วงเฝ้าระวัง มีจังหวะ Ready –  Set – Go ให้คนหน้างานมีเวลาในการปรับตัวและทำความเข้าใจ

ซึ่งคนหน้างานที่ว่า นอกจากคุณครูแล้ว ผู้ปกครองเองก็ต้องทำความเข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราถึงต้องเลิกจัดอันดับ แล้วก็ต้องไม่ไปตั้งกลุ่มไลน์เพื่อจัดลำดับกันเอง ต้องเข้าใจกันก่อนว่าเด็กเล็กเขาจะไม่ได้เป็นไปตามพัฒนาการเป๊ะๆ สมมติเราจะบอกว่าวันนี้เด็กทั้งสามสิบคนในห้องจะต้องเขียนคำนี้ได้เหมือนกันทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น แทนที่จะเป็นการสอบตัดเกรด เราควรเปลี่ยนเป็นการประเมินด้วยการเขียนบรรยาย

อย่างที่ฟินแลนด์เขาจะประเมินเด็กด้วยการเขียนบรรยายว่าเด็กทำอะไรได้บ้าง ปีที่แล้วลูกคุณทำอันนี้ได้ ปีนี้ลูกคุณทำอันนี้ได้ วัดพัฒนาการของเด็กเปรียบเทียบปีที่แล้วกับปีนี้ โดยไม่ต้องไปวัดลูกคุณกับลูกคนอื่นเป็นอย่างไร ให้เด็กแข่งกับตัวเอง ผู้ปกครองเองก็สามารถติดตามได้ด้วยว่า พัฒนาการลูกเราเป็นอย่างไร ช้าหรือเร็วแบบไหน มันมาจากความเข้าใจพื้นฐานที่ว่าเด็กไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

ซึ่งถ้าจะเอามาทำจริงๆ จะยากไหม เพราะคนในสังคมยังไม่ได้มองแบบนี้

จุ๊ยคิดว่ารัฐบาลหรือส่วนกลางที่ทำเรื่องความเข้าใจของภาคประชาชนที่อยู่รอบตัวเด็ก คือพ่อแม่ ครู โรงเรียน ยังทำได้ไม่มากพอ เช่น ถามว่าพ่อแม่รู้ไหมว่าลูกเครียด เขารู้ แต่พอถามกลับว่าแล้วจะให้เขาทำอย่างไร เราไม่มีคำตอบให้ จุ๊ยว่าสื่อสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ได้

รัฐมีหน้าที่ในการให้ความรู้ประชาชน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าพ่อแม่ต้องดิ้นรนหาความรู้กันเอง ซึ่งข้อมูลมีอยู่เต็มไปหมด ข้อมูลตีกันชวนสับสน เราต้องเพิ่มการให้ความรู้พ่อแม่ผ่านภาคส่วนต่างๆ ภาพในฝันเลยคือ เรามองเห็นพื้นที่อนามัยสามารถช่วยแนะนำปัญหาการศึกษากับคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่นั่นก็หมายความว่า พื้นฐานความเข้าใจเรื่องการศึกษามันต้องใกล้กันก่อน

นโยบายใหม่ของสิงคโปร์มันเหมือนเปลี่ยนภาพลักษณ์และวิธีคิดด้านการศึกษาของบ้านเขาไปเลย จากแต่ก่อนคนจะมองว่าการเรียนสิงคโปร์เครียดและแข่งขันสูงมาก แต่แนวทางที่เขากำลังจะไปมันเหมือนจะไม่ใช่แบบเดิมแล้ว

จุ๊ยมีเพื่อนเป็นคุณครูที่สิงคโปร์ จากการเฝ้าดู เราพบว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีการสอนที่แตกต่างจากเดิม เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของช่วงเวลาของการที่สิงคโปร์ได้เรียนรู้แล้วว่าปัญหาของระบบเดิมมันคือความเครียด เครียดทั้งเด็กและผู้ปกครอง ประกอบกับมันมีครูรุ่นใหม่เข้ามาในระบบ เริ่มใช้วิธีการใหม่ๆ ในการสอน มันก็เลยพอดีกัน แต่นั่นแปลว่าผู้บริหารเขามอนิเตอร์ความเป็นไปของการเรียนการสอนอยู่ตลอด

เล่าเรื่องครูที่สิงคโปร์ให้ฟังหน่อย

เพื่อนเราเป็นข้าราชการ สอนชั้นมัธยมต้นวิชาประวัติศาสตร์ ในโรงเรียนรัฐบาล ถามว่าเนื้อหาที่เขาเรียนเยอะไหม มันก็เยอะพอสมควร แต่วิธีการจัดกระบวนการเรียนการสอนของเขาทำให้เด็กมีส่วนร่วมมาก ครูมีอิสระพอสมควรในการจัดการเรียนการสอน เขาสามารถใช้วิธีการได้หลากหลายในการสอนเด็ก เราก็เลยคาดเดาว่าคุณครูก็มีอิสระจากการแนวทางของรัฐพอสมควร

แต่ถ้าเป็นฟินแลนด์จะอิสระกว่านี้มาก

ใช่ อิสระแบบที่ไม่มีประเมินระหว่างทางเลย จะมีเพียงไกด์ไลน์จากส่วนกลางเท่านั้น เช่น ของไทยจะมีการสอบวัดระดับชาติทุกสามปี แต่ฟินแลนด์จะมีการสอบวัดระดับชาติที่ปลายทางครั้งเดียวเลยคือตอน ม.6  นอกนั้นจะเป็นการสอบระดับโรงเรียนเท่านั้น แม้จะดูเหมือนจะเรียนอะไรก็ได้ แต่มันก็มีหลักสูตรแกนกลางเหมือนทุกประเทศ เพียงแค่ข้อดีก็คือ หลักสูตรแกนกลางของเขายืดหยุ่นมาก ก็คือมันมีวิชาหลักที่เขาจะบอกว่าเด็กต้องเรียนรู้อะไรบ้าง แต่กองวิชาเลือกตัวโรงเรียนต้องเป็นคนออกแบบเอง วิชาหลักก็อย่างเช่น เลข เด็กจบชั้นนี้จะต้องบวกลบคูณหารเลขได้เท่านั้นเท่านี้ ภาษาแม่ยังต้องเรียน วิชาของเขาจะชื่อว่าภาษาแม่และวรรณคดี ก็คือต้องเรียนทั้งภาษาและวรรณคดี แต่ว่าโรงเรียนก็มีอิสระที่จะเลือกเรียนวรรณคดีเรื่องอะไร

จุ๊ยได้กลับไปโรงเรียนเก่าที่ฟินแลนด์สมัยที่เราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เราพบว่าโรงเรียนให้เด็กอ่านวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่มันร่วมสมัยมาก  เราก็ได้คุยกับคุณครูว่าทำไมเลือกเรื่องนี้ คุณครูบอกว่าเด็กเป็นคนเลือก เด็กเขาสนใจเลยเลือกที่จะเรียนเล่มนี้ แล้วกิจกรรมคุณครูก็สามารถออกแบบได้เต็มที่ มีการทำการ์ตูนจากวรรณกรรม มีการวิเคราะห์หลายประเด็นจากหนังสือ เพราะเล่มนี้มีทั้งเรื่องเพศยาเสพติด ให้เอามาต่อยอดได้ มีงานศิลปะที่มาจากงานวรรณกรรม ที่เราตื่นเต้นมากคือครูบอกว่า อาทิตย์หน้านักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมจะมาที่โรงเรียน นี่เขาเอาจริงถึงขนาดนั้น

นี่มันคือเกิดจากการที่เด็กสนใจและครูมีหน้าที่จัดกระบวนการ เหมือนเวลาจุ๊ยสอน ก็จะใช้หลักการนี้เลย คือถามเด็กก่อนว่าอยากเรียนอะไร เด็กบอกว่าอยากเรียนดิสนีย์ เราก็ให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษผ่านดิสนีย์ หน้าที่เราคือจัดการสอนอย่างไรให้เขาได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าต้นกำเนิดของดิสนีย์มาจากไหน อ้อ มาจากกริมม์ งั้นเขาก็ต้องอ่านกริมม์นะ

เด็กเขาไปค้นมาได้ว่าซินเดอเรลล่าทั่วโลกมีกี่เวอร์ชัน เราก็เลยต่อยอดมันด้วยการตั้งคำถามว่า ในมุม Cross culture วรรณกรรมข้ามวัฒนธรรม ซินเดอเรลลาในแต่ละประเทศต่างกันอย่างไร ดูเหมือนเรียนไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ เรามีการวางแผนให้เราเห็นภาพว่าจะสอนอะไร แล้วเราก็จะเอาโครงนั้นมาทำงานร่วมกับเด็กๆ ว่าเด็กอยากรู้อะไร ให้แสดงความคิดเห็น จนออกมาเป็นการเรียนที่เราออกแบบร่วมกัน

เราเลยคิดว่าเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราก็ควรให้คุณครูมีพื้นที่ที่จะได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง

“เราเคยคุยกับเด็กที่คลองเตย เรียนได้เกรดไม่ดี รอซ่อมอยู่หลายวิชา พอได้คุยลึกขึ้น เราก็พบว่าวันพรุ่งนี้ของเขามันมีแค่ร้านอาหารตามสั่งของแม่ เขารู้สึกว่าแล้วจะเรียนไปทำไมในเมื่ออนาคตมีเท่านี้ แต่เมื่อได้คุยไปนานเข้า เราก็จะพบว่าเขามีเรื่องที่เขาสนใจ เพียงแต่ว่ามันไม่เคยมีระบบที่มาช่วยให้เขาเดินไปถึงความสนใจนั้นได้เลย”

จากการที่ไปลงพื้นที่ช่วงหาเสียง ได้เห็นอะไรบ้าง เด็กๆ สมัยนี้เขาเป็นอย่างไร

เราได้เห็นว่า เด็กๆ เขาไปไกลกว่าโครงสร้างประเทศเราเยอะมาก เขาสามารถเดินมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเราได้อย่างละเอียด นี่แหละคือที่เราบอกว่าทำไมยังมีความหวัง เพราะเด็กรุ่นปัจจุบันมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลในหลายทางมากๆ และเขาก็พัฒนาทักษะการจัดการกลั่นกรองข้อมูลมาได้พอสมควร มากพอที่เขาจะตัดสินใจได้ว่าเขาจะคิดอะไร เชื่ออะไรและอยากพูดอะไร

เราไปเจอน้องๆ ชั้นมัธยม ชนเผ่าปกากะญอ และกะเหรี่ยง ที่โรงเรียนแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พอได้นั่งคุยกันสักพัก เขาสามารถบอกเราได้ว่าอยากเป็นอะไร หนูอยากเป็นพยาบาลค่ะ หนูอยากเป็นคุณครูสอนวิชาภาษาไทยค่ะ เขาระบุวิชาได้เลยว่าเขาอยากสอนวิชานี้ อีกคนบอกว่าอยากเป็นหมอ แต่ยังไม่แน่ใจ คำว่าไม่แน่ใจนี่สำคัญมากนะ เด็กคนนี้รู้ตัวว่าเขาไม่แน่ใจและสามารถบอกออกมาได้ แล้วเขาก็บอกต่อว่า สิ่งที่ชอบคือประเทศลาว เขาอยากศึกษาเรื่องประเทศลาว นี่คือเรากำลังคุยกับเด็กที่อยู่ในโรงเรียนห่างไกลนะ

มีเด็กอีกคน อยู่ชั้น ม.1 เขาอยากเป็นดีไซเนอร์ เราเลยบอกให้เขาเล่าเรื่องเสื้อผ้าให้ฟัง เท่านั้นแหละ ตาเขาก็เป็นประกายขึ้นมา เขาเล่าเรื่องชุดชนเผ่าที่เขาใส่มาต้อนรับเราว่าเป็นวัฒนธรรมของคนที่นั่น ที่จะต้องออกแบบเสื้อผ้าที่เขาอยากใส่กันเอง มีดีเทลเป็นเหรียญของม้งมาประดับ เสื้อผ้าของเขามันเลยมีแค่ตัวเดียวในโลก

เด็กอีกแบบคือ เด็กที่คนคิดว่าเราหมดหวังกับเขาแล้ว เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว ต้นทางอาจเกิดจากเขาถูกหล่อหลอมมาให้เป็นแบบนั้น เราเคยคุยกับเด็กที่คลองเตย เรียนได้เกรดไม่ดี รอซ่อมอยู่หลายวิชา พอได้คุยลึกขึ้น เราก็พบว่าวันพรุ่งนี้ของเขามันมีแค่ร้านอาหารตามสั่งของแม่ เขารู้สึกว่าแล้วจะเรียนไปทำไมในเมื่ออนาคตมีเท่านี้ แต่เมื่อได้คุยไปนานเข้า เราก็จะพบว่าเขามีเรื่องที่เขาสนใจ เพียงแต่ว่ามันไม่เคยมีระบบที่มาช่วยให้เขาเดินไปถึงความสนใจนั้นได้เลย

ถ้าสมมติหนึ่งในสามโครงสร้างรอบตัวเด็ก คือโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน อะไรสักอย่างมันทำงานได้ เท่านี้เราก็ช่วยเด็กคนนี้ได้แล้วนะ แต่ถ้าทั้งสามอย่างมันไม่มีประสิทธิภาพ เราก็จะได้เด็กที่เราคิดว่าเขาไม่มีหวังแล้ว

เราปฏิเสธที่จะเชื่อว่าคนเราเกิดมาแล้วจะไม่มีศักยภาพในการผลักดันตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น เราว่าทุกคนไปได้ ถ้ามีระบบที่ช่วยให้เขาหาตัวเองให้เจอ และส่งเสริมเขา

“ในบ้านเราตอนนี้ ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นบันไดไต่เต้าทางสังคมมากกว่าการเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ถ้าเราไปดูระเบียบกระทรวงมันจะมีการเขียนไว้เลยว่า การเรียนหลักสูตรที่เสริมภาษาอังกฤษต้องเสียเงินเท่าไรยังไง นั่นหมายถึงคุณกำลังบอกคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ปลายทางว่า การลงทุนกับการศึกษาต้องใช้เงินซื้อมาเท่านั้น”

เรื่องที่กระทรวงศึกษาเปลี่ยนหลักสูตร EP มันเป็นทิศทางที่ถูกแล้วไหม

หลักสูตร EP ที่เราใช้กันอยู่ มันคือเรียนเหมือนภาคภาษาไทยนั่นแหละ เพียงแต่แปลมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งคนสอนก็มีหลายแบบมีทั้งที่เป็นเจ้าของภาษาและคนไทยแล้วแต่จะจัดการ จุ๊ยเห็นด้วยเรื่องการทำให้เด็กใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ที่นี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูบริบทด้านภาษาของประเทศเราก่อน

คือประเทศเราเนี่ยไม่ใช่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as a Second Language – ESL) แต่เรามีภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ (English as a foreign language – EFL) เช่น สิงคโปร์เป็น ESL เขาใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน มีสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาอังกฤษ ออกไปตลาดก็พูดภาษาอังกฤษ ภาษาราชการส่วนหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แล้วสิงคโปร์ยังอยู่ในสถานะที่เคยเป็นเมืองใต้อาณานิคมอีก ดังนั้น ระยะห่างของภาษาอังกฤษระหว่างสิงคโปร์กับเรามันเลยเยอะ

ในบ้านเราตอนนี้ ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นบันไดไต่เต้าทางสังคมมากกว่าการเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ถ้าเราไปดูระเบียบกระทรวงมันจะมีการเขียนไว้เลยว่า การเรียนหลักสูตรที่เสริมภาษาอังกฤษต้องเสียเงินเท่าไร นั่นหมายถึงคุณกำลังบอกคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ปลายทางว่า การลงทุนกับการศึกษาต้องใช้เงินซื้อมาเท่านั้น ซึ่งเมื่อคุณซื้อมันมา คุณก็ต้องคาดหวังผลตอบแทน แล้วสิ่งที่คุณหวัง ความกดดันมันไปตกอยู่กับลูก

ส่วนตัวเราเชื่อว่า เด็กต้องเข้าใจภาษาแม่ หรือภาษาที่หนึ่งให้ดีก่อน เพื่อเอาเครื่องมือจากภาษาที่หนึ่งไปใช้ในภาษาที่สอง คุณต้องมีคอนเทนต์ มีประเด็นที่จะสื่อสาร รวมกับความเข้าใจในการใช้ภาษาที่หนึ่งมันต้องดีพอก่อนที่จะไปภาษาที่สอง

ที่ฟินแลนด์เขาจะคล้ายเรา คือภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ เด็กต้องเรียนภาษาฟินแลนด์ และสวีเดนก่อน ถึงจะได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สาม แต่ถามว่าทำไมเด็กฟินแลนด์ถึงสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี เพราะว่าหนึ่งมันมีช่วงที่เขาปฏิรูป Ecosystem ภาษาอังกฤษ เขาสร้างขึ้นมาหมดเลย จากเดิมหนังยังมีพากย์ทับ เขาก็เอาออก คนก็เลยถูกบังคับให้ต้องได้ฟังภาษาอังกฤษ เพราะอย่าลืมว่าการเรียนภาษามันไม่ใช่การเรียนแต่ในห้องสอน แต่มันคือเราเรียนไปเพื่อสื่อสาร ดังนั้นเด็กฟินแลนด์ก็เลยจะไม่ได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษเร็วอย่างที่เราเข้าใจ เขาจะเริ่มเรียนช้ากว่านั้น บางโรงเรียนเริ่มที่ตอน ป.3 นี่คือเร็วแล้วนะ

ถ้าเราออกไปเดินถนน เด็กรุ่นใหม่พูดภาษาอังกฤษได้หมดแล้ว แต่คนรุ่นเก่าก็พูดไม่ได้เลยเหมือนกัน เราจะเห็นความแตกต่างตรงนี้ชัดเจนมาก อย่างเราเองก็ได้ภาษาฟินแลนด์มาจากปู่กับย่าข้างบ้าน เขาทำขนมอร่อย เราชอบไปขอขนมเขากิน เลยได้ภาษาฟินแลนด์แถมมาด้วย เพราะเขาไม่พูดภาษาอังกฤษ

หนังสือเรียนภาษาอังกฤษของฟินแลนด์มาจะมีความน่าสนใจอยู่ คืออย่างของไทยเราจะนำเข้าตำราจากต่างประเทศแล้วเอามาใช้เลย มันเลยจะมีเนื้อหาบางอย่างที่ไม่เข้ากับเรา เช่น London Tube เราก็จะสงสัยว่าทำไมเราต้องรู้เรื่องนี้ มันไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ในขณะที่ฟินแลนด์ เขาจะแปลหนังสือ ปรับหนังสือภาษาอังกฤษให้มีเนื้อหาใกล้ตัวกับนักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะได้นำไปใช้ได้จริง

อีกอย่างคือเขาไม่ได้หวงความเป็นภาษาที่หนึ่ง ถ้าไปดูหนังสือเรียนภาษาอังกฤษฟินแลนด์เราจะพบว่าเขาจะแปลให้เป็นทั้งสองภาษา คือฟินแลนด์และอังกฤษ ซึ่งมันมาจากวิธีคิดที่ว่า เขาพัฒนาทักษะทางภาษาที่หนึ่งให้มั่นคงก่อน แล้วค่อยต่อยอดไปภาษาที่สอง

แต่ของเรามันกลับเป็นหลักสูตรที่แยกกัน มีเด็กที่เรียนภาคไทย และห้องเรียนแบบเน้นภาษาอังกฤษ จึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ

ใช่ เป็นความเหลื่อมล้ำมาก มีเด็กไทยจำนวนหนึ่งที่ได้เข้าสู่ระบบ EP และเด็กอีกจำนวนมากอยู่ในระบบปกติ เท่าที่เคยคุยกับเด็กๆ เขาก็จะมองว่าสองห้องนี้เหมือนกัน เพียงแค่เปลี่ยนเป็นเรียนภาษาอังกฤษ และห้องเรียนติดแอร์ (หัวเราะ) แถมเด็ก EP จะบ่นว่าต้องท่องศัพท์สองชุด ทั้งไทยและอังกฤษ เพราะว่าข้อสอบระดับชาติยังเป็นภาษาไทยอยู่เลย

แบบนี้เราควรทำอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเรื่องภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา

สิ่งที่อยากเห็นที่สุดคือแต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ ได้ออกแบบวิชาหรือสิ่งที่นักเรียนต้องเรียนด้วยตัวเอง ไม่ได้มาจากการไปวางว่าหนึ่งโรงเรียนต้องได้สามภาษา หรือหนึ่งโรงเรียนต้องได้ห้าภาษา บางพื้นที่อาจจะบอกว่า เขาเป็นโรงเรียนศาสนามุสลิม เขาต้องได้ภาษาอาหรับ เพราะเขาใช้เยอะกว่า ตรงนี้เขาควรจะได้ออกแบบเอง

และเอาจริงๆ อาจจะมีคนมาเถียงด้วยซ้ำว่าภาษาที่จำเป็นมันไม่ใช่ทั้งอังกฤษ  จีน หรืออาหรับด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ภาษาที่คุณคิด แต่มันคือภาษาโค้ด แล้วเราจะทำยังไงล่ะ

เรารู้สึกว่าการเรียนภาษาที่ตอบโจทย์คือ การย้อนกลับไปดูว่าผู้เรียนในพื้นที่นั้นเป็นใครและต้องการอะไรบ้าง

เวลาเราสอนภาษาอังกฤษในห้องเรียนเด็กวิทยาศาสตร์สิ่งที่จุ้ยชอบที่สุดและดีใจที่สุด ไม่ใช่การที่เด็กบอกว่าหนูรักภาษาอังกฤษ แต่คำตอบที่โดนใจเราที่สุดคือเด็กบอกว่าภาษาอังกฤษทำให้ผมได้เห็นโลกอีกใบหนึ่ง ผมเอามันไปใช้หาข้อมูล เพราะภาษามันสะท้อนชีวิตคนเขาเลยได้เห็นคนที่คิดอีกแบบ ด้วยการใช้ภาษาอีกแบบ เราได้ยินแล้วเราก็สบายใจ

“ยิ่งเป็นเด็กเล็ก เวลาที่เขาได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่มันสำคัญกับเขามากๆ ถ้าพูดเป็นภาษาคุณหมอประเสริฐ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) คือมันเป็นช่วงของการวางรากฐานชีวิต เป็นการสร้างความไว้ใจต่อโลก ที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเขาไว้ใจพ่อแม่ก่อน ถ้าสร้างได้ไม่ดีก็เหมือนรากฐานชีวิตที่ง่อนแง่น ถ้าคุณเอาเวลานั้นไปหาเงินตลอดเวลาจนไม่ได้เจอหน้าลูกเลย มันคุ้มไหมกับภาษาที่ได้มา”

แต่กระแสโรงเรียนนานาชาติและการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก ตอนนี้มันราคาแพงเหลือเกิน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของพ่อแม่มากกว่าลูก ถ้าเราไม่มองว่าโรงเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างเดียวในชีวิตลูกเราจะผ่อนคลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราเติบโตมาในโรงเรียนไทย เรียนก็เรียนเป็นภาษาไทย เคยไปประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษแค่ครั้งเดียวคือแคนาดาตอนมัธยมต้น ไปอยู่ฟินแลนด์ก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่เราก็พูดภาษาอังกฤษได้

มันมีวิธีการเรียนอย่างอื่นอีกมากมาย แต่เข้าใจความกังวลของคุณพ่อคุณแม่นะ และเราเป็นครูสอนภาษา ไม่มีทางที่จะไม่เข้าใจความสำคัญของภาษา แต่กับปรากฏการณ์นี้ เราอาจจะต้องย้อนกลับมาดูว่า ถ้าเราต้องการลงทุนกับลูกมากขนาดนั้น มันทำให้คุณภาพชีวิต หรือความสุขในบ้านลดลงหรือเปล่า แล้วลองชั่งน้ำหนักดู สมมติเราส่งลูกเรียนจนไม่มีเวลาอยู่กับลูกเลย มันคุ้มไหม

หรือที่สุดแล้ว ถ้าต้องยอมถอยเพราะเราไม่มีเงินมากขนาดนั้น มันก็มีหนทางอื่นอีกหรือเปล่าที่จะช่วยให้ลูกสนใจภาษา และมันก็เป็นความสนใจที่มันมาจากเขาเอง จุ๊ยว่าสมการเรื่องความสุขในครอบครัวคือเรื่องที่ผู้ปกครองต้องไปคิดเยอะๆ

ยิ่งเป็นเด็กเล็ก เวลาที่เขาได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่มันสำคัญกับเขามากๆ ถ้าพูดเป็นภาษาคุณหมอประเสริฐฯ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) คือมันเป็นช่วงของการวางรากฐานชีวิต เป็นการสร้างความไว้ใจต่อโลกที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเขาไว้ใจพ่อแม่ก่อน ถ้าสร้างได้ไม่ดีก็เหมือนรากฐานชีวิตที่ง่อนแง่น ถ้าคุณเอาเวลานั้นไปหาเงินตลอดเวลาจนไม่ได้เจอหน้าลูกเลย มันคุ้มไหมกับภาษาที่ได้มา

มันจะมีหวังไหมที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับการเรียนภาษาอังกฤษโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน หรือเด็กทุกคนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้

มันเกิดขึ้นได้ถ้าเรามีระบบการจัดการที่ดี ถ้าเป็นเรา เราจะทำสองเรื่อง หนึ่งคือการผลิตครูภาษาอังกฤษด้วยหลักสูตรภาษาอังกฤษล้วน หมายความว่าถ้าคุณเข้าไปในสถาบันฝึกหัดครู คุณจะต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอด ทั้งในห้องเรียน การทำรายงาน การสื่อสารโต้ตอบ ทั้งแในการเรียนการสอนจะต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ในตอนนี้ยังไม่ใช่ทุกที่ที่สามารถทำได้ เราอยากผลักดันให้มันเกิดขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะต้องไปจ้างชาวต่างชาติตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้หาง่าย

สองคือปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างจังหวัด หรือโรงเรียนห่างไกล ที่หลายคนไม่รู้คือการจัดการบุคลากร เช่น โรงเรียนคุณมีคุณครูภาษาอังกฤษเกษียณไป แล้วคุณก็ทำเรื่องขอครูภาษาอังกฤษไปหนึ่งคน ส่วนกลางก็อาจจะส่งครูมาให้ แต่เป็นครูพละ เพราะมันถูกจัดการด้วยพื้นที่การศึกษา โรงเรียนไม่ได้มีอำนาจในการจัดการเรื่องนี้ ถ้าเราจำไม่ผิด World Bank เคยพูดกับประเทศเราไม่รู้กี่ปีแล้วว่าการจัดการทรัพยากรบุคคลของเราต้องได้รับการปรับปรุง ดังนั้นเวลาเราพูดว่าคุณภาพของครูไม่ผ่าน มันก็มีครูที่ทักษะไม่ถึงจริงๆ แล้วยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าครูส่วนใหญ่ก็อยากไปโรงเรียนใหญ่ ไม่อยากไปโรงเรียนเล็ก ซ้อนเข้าไปอีก ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทยมันซ้อนกันไม่รู้กี่ชั้น

“เด็กไทยเหนื่อยตั้งแต่ ป.1 หมดแรงตั้งแต่ตอนนั้น เพราะต้องท่องต้องสอบ ใครมันจะไปรักการเรียน ในเมื่อการเรียนมันไม่เห็นมีความสุขเลย แล้วคุณไม่มีวันได้ Lifelong Learner เพราะเด็กหมดแรงตั้งแต่เล็กๆ แล้ว”

มันก็จะมีค่านิยมที่ว่า ถ้าจะให้ดี เรียนภาษาอังกฤษก็ต้องเรียนกับ Native speaker จะได้ได้สำเนียงที่ถูกต้อง ถ้าเป็นครูไทยมาสอนผู้ปกครองจะเชื่อหรือ

มีสิ่งหนึ่งที่เราชอบทำกับเด็กเวลาเราสอนคือ พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่เพราะมาก ดูอเมริกันมาก แต่ว่าไม่มีเนื้อหาอะไรเลย กับพูดสำเนียงปกติสำเนียงไทยๆ แต่ว่ามีเนื้อหาเราครบถ้วน แล้วก็จะถามเด็กๆ ว่ารู้สึกยังไง เขาก็จะบอกว่าอันนั้นมันเพราะมากเลย แต่มันไม่มีเนื้อหาอะไรเลยนะครู เขาก็จะเห็นภาพว่า สิ่งสำคัญมันอยู่ที่เนื้อหา ไม่ใช่สำเนียง

มันต้องมีการปรับกันพอสมควรว่า การสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องของสำเนียง (Accent) แต่เป็นเรื่องของ การออกเสียง (Pronunciation) คือการออกเสียงให้ชัด เด็กควรจะเข้าใจพื้นฐานของการออกเสียงว่าที่เราออกเสียงไม่ชัดนัก มันเป็นเพราะสระสุดท้ายของภาษาไทย เสียงมันไม่มีลม แต่ภาษาอังกฤษมันมีลม ดังนั้นถ้าเราออกเสียงแบบไทย มันก็อาจทำให้ความหมายของคำที่จะสื่อผิดเพี้ยน

อีกอย่างที่เราชอบทำคือให้เด็กฝึกภาษากับ SIRI ถ้า SIRI ฟังสิ่งที่เด็กพูดออก ก็แสดงว่าเราสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ บางทีเราพูดแล้ว SIRI ไม่เข้าใจ แต่เด็กพูดแล้วกลับฟังรู้เรื่อง ถ้าแข่งกัน เขาก็ชนะไป เทคนิคอะไรแบบนี้มันใกล้ตัวเรามากเลย

จุ๊ยชอบเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง มันเป็นห้องเรียนจำลองวิชาภาษาอังกฤษของครูฟินแลนด์ที่มาสอนที่เมืองไทยในชั้นเด็กอนุบาล วันนั้นเขาสอนเรื่องสีของรุ้ง พอถึงช่วงที่คุณครูเริ่มประเมินเด็ก คุณครูก็ถามว่า ใครอยากจะยกมือออกมาเขียนคำว่า Purple บ้าง มีเด็กน้อยคนหนึ่งยกมือแล้วเดินออกมา นี่เขาสำเร็จไปหนึ่งขั้นแล้วนะเพราะครูได้ใจเด็กไปแล้ว เด็กถึงกล้าเดินออกมา

ปรากฏว่า เด็กคนนั้นสะกดผิด เราดูอยู่เราก็ลุ้นมาก ด้วยความที่เป็นครูเหมือนกัน ก็อยากรู้ว่าเขาจะทำอย่างไร คุณครูปรบมือก่อน แล้วก็เดินไปชม บอกว่า “หนูเก่งมากที่กล้าออกมาเขียนให้เพื่อนๆ ดู ขอบคุณหนูมากๆนะ เห็นเลยว่าหนูสามารถถอดเสียงคำว่า Purple ออกมาเป็นคำได้ และคุณครูอ่านออกด้วย แต่มันมีผู้ใหญ่เมื่อนานมาแล้ว เขาตกลงกันเอาไว้ว่ามันเขียนอีกแบบหนึ่ง ครูก็ว่ามันน่าจะเขียนได้หลายแบบ แต่พอดีเขาตกลงกันไปแล้วน่ะว่ามันเขียนแบบนี้ งั้นเรามาดูกันนะ ว่าเขาสะกดแบบไหน”

เราได้ยินแล้วแบบ เฮ้ย! ไม่มีคำการบอกว่าเด็กเขียนผิดสักคำเลย ไม่มีการฆ่าความพยายามของเด็กเลย นี่แหละคือหัวใจของการเรียนรู้ คุณจะทำอย่างไรให้คุณบ่มเพาะความอยากรู้อยากเห็นให้ยังอยู่ไปเรื่อยๆ จุ๊ยพูดทุกเวทีนะว่าพรรคการเมืองใดก็ตามที่พูดเรื่อง lifelong Learning แต่คุณไม่ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ คุณจะไม่มีวันทำได้ เด็กไทยเหนื่อยตั้งแต่ ป.1 หมดแรงตั้งแต่ตอนนั้น เพราะต้องท่องต้องสอบ ใครมันจะไปรักการเรียน ในเมื่อการเรียนมันไม่เห็นมีความสุขเลย แล้วคุณไม่มีวันได้ Lifelong Learner เพราะเด็กหมดแรงตั้งแต่เล็กๆ แล้ว ภาษาก็เหมือนกัน ถ้ามันเริ่มต้นอย่างไม่สนุก ใครจะไปอยากเรียน

ในห้องเรียนของจุ๊ย จะมีคาบหนึ่งที่เราจะให้เด็กมาสอบปากเปล่ากับเราสองคน โดยเราจะตั้งคำถามที่เป็นปลายเปิด แล้วให้เขาไปเตรียมคำตอบ เพราะเราอยากรู้จักการใช้ภาษาอังกฤษของเขา เราพบว่าหลายเด็กคนมีแผลจากการเรียนภาษาอังกฤษ หลายคนกลัวการออกมาพูดหน้าห้อง เพราะเขาเคยถูกล้อจากคนที่เป็นครู งานของเรานอกจากจะต้องสอนภาษาอังกฤษ อีกส่วนเราก็เลยต้องเยียวยาเขาเหมือนกัน ถ้าในห้องเรียนของจุ๊ยมีเด็กที่ล้อเพื่อนเรื่องสำเนียงภาษาอังกฤษ เราจะเดินเข้าไปหยุดเขาเดี๋ยวนั้น แล้วบอกเขาว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณควรทำ เราต้องทำให้เด็กที่มีบาดแผล เห็นว่าครูพร้อมที่จะปกป้องเขา

สำหรับครูจุ๊ย ภาษาอังกฤษกับเด็กไทยเป็นอย่างไร

พื้นฐานภาษาอังกฤษที่เด็กไทยทุกคนควรทำได้คือพูดรู้เรื่อง เขียนอีเมลพื้นฐานได้ อ่านข่าว อ่านบทความทั่วไปเข้าใจได้ ไปต่างประเทศ ไปตามที่สาธารณะที่มีป้ายแล้วเขาอ่านออก เข้าใจ เอาตัวรอดได้ เท่านี้ก็ถือว่าพอใช้ได้

เรามองว่าการเรียนภาษาอังกฤษควรแบ่งเป็นระดับ เช่น ที่ฟินแลนด์ เขาจะแยกภาษาอังกฤษเป็นตัวง่ายกับตัวยาก ตัวง่ายเนี่ยยังไงเด็กทุกคนก็จะต้องเรียน ต้องผ่านให้ได้ แล้วถ้าคุณรู้สึกว่า พอแล้ว ชีวิตไม่ได้ต้องการภาษาอังกฤษที่ไกลกว่านั้น ก็หยุด แต่กับใครที่ชอบภาษา ต้องการจะเขียนวรรณกรรมโพสต์โมเดิร์น ก็เรียนต่อตัวที่ยากกว่า นี่มันก็เป็นแนวทางเดียวกับที่สิงคโปร์กำลังจะทำ คือให้เด็กเรียนในเส้นทางเดียวกัน แล้วเมื่อจะลงลึกขั้นแอดวานซ์​ ก็ให้เขาเลือกกันเองตามความสนใจ

อีกอันที่คิดไว้ คือการใช้เทคโนโลยีช่วยคุณครู อย่างปัจจุบันนี้เราจะมี DLTV หรือครูตู้ ที่เปิดให้นักเรียนดู แต่จริงๆ แล้วสื่อนี้มันควรจะใช้กับครูมากกว่าเด็ก เพราะการใช้ทีวีกับเด็กมันทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กหายไป ดังนั้นสื่อนี้เมื่อใช้กับครู ก็จะเป็นเหมือนไกด์ไลน์ให้คุณครูรู้ว่าต้องสอนแบบไหนยังไง ซึ่งจะไม่ใช่ DLTV ก็ได้ อาจจะเป็นช่องยูทูบ ที่คุณครูสามารถกดหยุด กดดูซ้ำถ้าสนใจตรงไหน อันนี้คือเอาไว้ใช้ในกรณีที่คุณครูไม่มีทักษะทางการสอนเลยจริงๆ เช่นครูพละที่ต้องไปสอนภาษาอังกฤษเราโกหกไม่ได้ว่าเราไม่มีความเหลื่อมล้ำ เราโกหกไม่ได้ว่าเรามีครูที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพอยู่จริงๆ ทีนี้เราต้องแก้ปัญหาจะทำยังไง มันก็ต้องใช้วิธีนี้แหละ

อย่างที่ครูจุ๊ยบอกเรื่องการสร้างครูนี่ต้องใช้เวลาเท่าไร

เริ่มตั้งแต่ทำหลักสูตรจนคุณครูสามารถทำงานได้จริงๆ อย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 6-7 ปี แต่ว่าทางลัดมีนะ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือวิชาเฉพาะด้านในเด็กโต เราสามารถเอาคนที่มีทักษะเรื่องนั้นอยู่แล้ว พวกคนที่เขาจบเฉพาะทาง มาเทรนเรื่องการจัดการเรียนการสอน อาจจะบวกเป็นปีครึ่งหรือสองปี แล้วก็ให้เขาฝึกงาน ฝึกการสอน จัดการห้องเรียน ทำ Lesson Plan ถ้าใจเขาอยากเป็นครูอยู่แล้ว มันมีทางลัดที่สามารถทำได้ แต่จะไม่ใช่ในเด็กเล็ก ในเด็กเล็กต้องฝึกครูเยอะกว่า เพราะมันปัจจัยเรื่องพัฒนาการเด็ก จิตวิทยาการเรียนรู้ จิตวิทยาพัฒนาการ

มองในฐานะคุณครูมันพอมีหวังบ้างไหมที่การศึกษาไทยมันจะเปลี่ยนแปลงได้

ที่ตัดสินใจมาทำงานการเมืองเพราะมีความหวัง ถ้ามองไม่เห็นเลย เราอยู่ในห้องเรียนไม่ดีกว่าเหรอ มีความสุขจะตายได้อยู่กับเด็กทุกวัน เพราะเรารักอาชีพนี้มาก แต่เรามีความหวัง เพราะว่ายิ่งได้ทำงาน ยิ่งได้เจอคุณครูรุ่นใหม่ที่พยายามเปลี่ยนห้องเรียนตัวเองเยอะขึ้นเรื่อยๆ เช่นเมื่อวันก่อนก็เพิ่งมีเพิ่งมีคุณครูกล้าเปลี่ยนแปลง SAR (Self assessment Report) คือใบประเมินตนเองที่คุณครูจะต้องทำ จากเดิมมันก็เป็นแบบฟอร์มให้กรอกมากมาย คุณครูคนนี้เขาก็บอกว่า ขอทำหน้าเดียว สรุปทุกอย่างในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เป็นอินโฟกราฟิก หน้าตาสวยงาม ปรากฏว่า ผอ.ยอมให้ใช้ นี่ไงความหวัง มันไม่ใช่แค่ครูเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ระบบเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน คนที่จุ๊ยได้เจอตลอดทางคือความหวัง

ซึ่งคุณครูที่ว่านี้มีจำนวนเยอะไหม

เรากำลังมีครูที่จะเกษียณออกไปหลักสองสามแสนนะ และที่จะเข้ามาใหม่อีกแสนกว่า มันคือการถ่ายเลือดครั้งสำคัญ แต่เราจะรักษาไฟของคนรุ่นใหม่อย่างไรไม่ให้มอดไปเสียก่อน

งั้นก็ต้องขอฝากความหวังไว้ด้วยนะ

เวลาพูดเรื่องการศึกษา จุ๊ยไม่เคยมองว่ามันมีฮีโร่ มันต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ถ้าเราจะเปลี่ยนมุมมองของคน มันมีทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาชน และสื่อ เผลอๆ ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงด้วยซ้ำ ที่รับผิดชอบเรื่องการทำให้การศึกษาของเรามีหน้าตาแบบใหม่ แล้วประสานให้หน่วยอื่นๆ เข้ามาช่วยกันดังนั้นมันไม่ใช่งานของใครคนเดียว

คนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้ดี คือคนที่ทำงานเป็นทีมได้ดี คุณทำงานคนเดียวไม่ได้ เพราะมิติของการศึกษามันกว้างใหญ่มาก และคุณก็ต้องเข้าใจด้วยว่าวันหนึ่งคุณก็ต้องกระจายอำนาจที่คุณมีอยู่ในมือให้กับคน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเขามีศักยภาพที่จะจัดการชีวิตของเขาเองได้ คุณต้องเชื่อในมนุษย์ก่อนคุณถึงจะเป็นนักการศึกษาที่ดี

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562
อ้างอิง
Workpointnews
Bbc
Mcmk

Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST