READING

Interview: Elisa Seppänen คุณครูฟินแลนด์ที่มาไกลพ...

Interview: Elisa Seppänen คุณครูฟินแลนด์ที่มาไกลพร้อมรอยยิ้ม และชั้นเรียนที่ทำให้เข้าใจว่า ดนตรี ธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องเดียวกัน

ฟินแลนด์ที่เรารู้จัก ดูจะเป็นประเทศที่แสนดี ไหนจะได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก และปีที่แล้ว (2019) องค์การสหประชาชาติได้จัดอันดับให้ฟินแลนด์เป็น ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก’ เข้าไปอีก ประเทศเล็กๆ ทางตอนเหนือของยุโรปแห่งนี้ เลยดูเหมือนจะเป็น ‘ไอดอล’ ที่ชาวโลกหันมาจับตาและสนใจว่า อะไรทำให้พวกเขาได้ยืนอยู่ในตำแหน่งที่หลายประเทศอยากไปยืนตรงนั้นบ้าง

แต่ต้นทางที่จะไปให้ถึงผลลัพธ์นั้นได้ น่าจะมาจากการทำความเข้าใจ ถึงวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่ก่อร่างสร้างความเป็นฟินแลนด์ขึ้นมา

ฉันสนใจฟินแลนด์มากขึ้น ตอนที่ได้ข่าวเรื่องระบบการศึกษา แต่เพราะฟินแลนด์ไม่ใช่ญี่ปุ่น ที่จะบินไปมาด้วยตั๋วราคาโปรโมชันได้ สิ่งที่คนในประเทศเอเชียอาคเนย์อย่างฉันพอจะทำได้ก็คือ อ่าน ดู แล้วก็ฟัง

ฉันหาหนังสือเกี่ยวกับฟินแลนด์มาอ่าน เข้าไปร่วมวงฟังเวลามีกิจกรรมที่เขาคุยกันถึงประเทศนี้ และการเข้าใกล้ฟินแลนด์มากที่สุดของฉัน ก็คือตอนที่ได้ไปสัมภาษณ์ ‘ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ’ ที่ตอนนี้กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว บทสนทนาของเราในวันนั้น ว่าด้วยการทำความเข้าใจระบบการศึกษา ที่เชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ของครูจุ๊ยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทั้งนักเรียนและนักศึกษาของประเทศฟินแลนด์

เมื่อได้รู้ว่า จะมีโอกาสได้คุยกับคนฟินน์ตัวจริงเสียงจริง ฉันจึงอดตื่นเต้นไม่ได้

ครูเอลิซ่า เซปปาเนน (Elisa Seppänen) เป็นคุณครูสอนดนตรี ที่บินอ้อมโลก (คุณครูใช้คำว่าอ้อมโลก เพราะตอนนั้นมีการปิดเส้นทางการบินบางเส้นทาง จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับอิหร่าน) มาเพื่อจัดเวิร์กช็อป ‘The Magic of Music & Movement for children in Early Years โลกแห่งการเรียนรู้ที่แสนสนุกและมีความสุขของเด็กๆ ตามปรัชญาและแนวคิดของออร์ฟ (Orff Schulwerk)’ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมไทยออร์ฟ ชูลแวร์ค ที่โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)

สองวัน ก่อนจะถึงเวลาที่ได้คุยกัน ฉันได้ไปเข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียนของครูเอลิซ่าที่มีนักเรียนเป็นคุณครูและคนทำงานกับเด็กปฐมวัยหลายสิบชีวิต ชั้นเรียนที่ทำให้คนเหล่านั้นได้กลายเป็นเด็กซุกซนอีกครั้ง เพราะครูเอลิซ่าชวนให้ทุกคนผ่อนคลายและกลับมาเป็นเด็กซนไปด้วยกัน

และวันนั้นเองที่ฉันได้รู้จักกับการสอนดนตรีแบบออร์ฟ

นอกจากเรื่องของฟินแลนด์ที่เราอยากรู้ ก็เลยมีคำถามเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพราะฉันอยากจะเข้าใจแนวทางดนตรีแบบออร์ฟ ที่สามารถอธิบายตามประสาคนไม่ประสาทางดนตรีได้ว่า “ได้ยินแล้วรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย แต่เสียงมันทุ้มอยู่ข้างใน ลึกลงไปกว่าแค่ชั้นผิวหนัง”

โตมาแบบไหน ถึงเรียกได้ว่าคนฟินน์ 

นี่คือสิ่งแรกที่ฉันอยากรู้ เพื่อเติมเต็มความสงสัยที่ว่า คนที่นั่นเขาเติบโตกันมายังไง ถึงได้เป็นประเทศที่น่าอิจฉา

แล้วฉันก็ชวนครูเอลิซ่าเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กของตัวเอง ครูเอลิซ่าเล่าว่าครอบครัวของครูเป็นครอบครัวปกติค่อนข้างจะใหญ่ เธอมีพี่น้องเจ็ดคน คุณพ่อเป็นวิศวกรและทำกิจการของที่บ้าน ส่วนคุณแม่ออกจากงานมาเพื่อดูแลลูกอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาในสมัยนั้น ต่างจากสมัยนี้ที่เด็กๆ จะเข้าโรงเรียนอนุบาลเร็วขึ้น เพราะคุณพ่อคุณแม่ต้องออกไปทำงาน “แม่ของฉันได้รางวัลคุณแม่ดีเด่นจากประธานาธิบดีด้วยนะ” เอลิซ่าพูดเสร็จแล้วก็หัวเราะขึ้นเสียงดัง เธอคงเขินนิดหน่อยที่จะได้เล่าเรื่องน่าภูมิใจของคุณแม่ให้คนที่เพิ่งรู้จักกันฟังแบบนี้ เอลิซ่าบอกว่า คุณแม่ของเธอเชื่อในการอยู่เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณแม่ใช้เวลา 15 ปีในการอยู่บ้านและให้เวลากับลูกเต็มที่

“เห็นความสำคัญของการอุ้ม การกอดลูกเอาไว้ในอ้อมแขน เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กต้องการจากพ่อแม่”

หลังจากนั้น เธอก็เริ่มเล่าต่อ… “แม่ของฉันทำงานให้กับเมืองที่เราอยู่ เธอทำงานด้านการดูแลเด็กและครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น คุณแม่บางบ้านกำลังป่วย และมีลูกเล็ก เขาต้องการความช่วยเหลือ ทางการก็จะส่งคนแบบแม่ของฉันเข้าไปช่วยครอบครัวเหล่านี้

เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่แม่ทำงาน แม่ได้เข้าไปทำงานกับครอบครัวที่มีปัญหาลึกและหนัก ไม่ใช่ปัญหาแบบที่เราจะพบได้ทั่วไป แม่มักจะเล่าให้ลูกๆ ที่บ้านฟังว่า งานหลักของแม่ คือการให้ทุกครอบครัวที่แม่เข้าไปช่วยเหลือ มองเห็นความสำคัญของการแสดงออกซึ่งความรักกับลูก เห็นความสำคัญของการอุ้ม การกอดลูกเอาไว้ในอ้อมแขน เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กต้องการจากพ่อแม่ ฉันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้เรื่องเหล่านี้ แต่ครอบครัวที่แม่เข้าไปทำงานด้วยอาจเป็นข้อยกเว้น ซึ่งมันก็เข้าใจได้นะ เพราะถ้าคุณจมอยู่ในปัญหาที่หนักมากๆ มีความทุกข์รุมเร้าจากรอบด้าน คุณอาจมองไม่เห็นทางแก้ง่ายๆ พวกนี้

ครอบครัวของเอลิซ่าใช้เวลามากมายไปกับการทำกิจกรรมร่วมกัน เข้าป่าเพื่อไปเดินสำรวจ เล่นกีฬา เต้น เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ งานประดิษฐ์ แม้กระทั่งเอลิซ่าที่ตอนนี้เป็นคุณครูดนตรี แต่อีกด้านหนึ่ง เธอเป็นนักกีฬาฟุตบอลอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็มาจากการที่เธอได้ทำอะไรหลายอย่าง และเอาจริงกับมันมาตั้งแต่เด็ก

“คุณแม่ของฉันเชื่อเรื่องการเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เลือกเส้นทางของตัวเองอย่างอิสระ พี่น้องของฉันจึงมีความหลากหลายในสิ่งที่ทำ มีคนที่ทำงานด้านวัฒนธรรม มีนักฟลุตในคณะโอเปรา มีคนทำงานในพิพิธภัณฑ์ มีคนเป็นนักออกแบบจิวเวลรี เป็นครูสอนเปียโน เป็นพยาบาล เป็นวิศวกรที่สานต่อกิจการของพ่อ และฉันที่เป็นครูสอนดนตรี เรามองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราเห็นจากคุณพ่อ แม้ว่าคุณพ่อจะเป็นวิศวกร แต่เขาชอบถ่ายรูปมาก เรียกเขาว่าเป็นช่างภาพได้เลยล่ะ นั่นทำให้งานที่พ่อทำมันน่าสนใจเสมอ เขาจะคิดอะไรออกมาเป็นภาพ ใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในงานด้านระบบ เขาเป็นคนที่ครีเอทีฟมากๆ คนนึงเลยล่ะ”

การรับฟังและให้อิสระในการทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ จึงเป็นฐานรากของวัฒนธรรมที่สะท้อนจากหน่วยครอบครัวขึ้นมาถึงภาพใหญ่ในระดับสังคม เราเคยได้ยินเรื่องของห้องสมุด Helsinki Central Library Oodi ที่สร้างขึ้นจากการสอบถามและรับฟังความต้องการของประชาชน จนทำให้เกิดเป็นพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของทุกคนในเมือง,​ เราเคยได้ยินเรื่องของท่าเรือเฮลซิงกิ ที่ออกแบบโดยเด็กนักเรียน และได้รับการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงโดยภาครัฐ หรือแม้แต่การเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา ที่ไม่ได้มาจากการนั่งประชุมในห้องโดยคณะผู้บริหาร แต่เป็นการฟังเสียงคุณครูที่อยู่หน้างาน และร่วมออกแบบหลักสูตรแกนกลางของประเทศไปด้วยกัน

“ในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ เราพยายามจะลดการทดสอบให้เหลือน้อยที่สุด แล้วไปเน้นที่การได้นั่งพูดคุยกัน เปิดโอกาสให้ทั้งเด็กได้ทำการประเมินตนเอง ได้พูดคุยกับตัวเองว่า ฉันได้เรียนอะไรไปบ้าง ฉันชอบหรือไม่ชอบอะไร ฉันอยากรู้อะไรมากกว่านี้ ฉันค้นพบความเชื่อมโยงกันของสิ่งที่ได้เรียนไปบ้างไหม เพราะตอนนี้ที่ฟินแลนด์พยายามผลักดันการเรียนการสอนแบบ Phenomenon Approach ที่เป็นการศึกษาจากประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าสนใจ แล้วสร้างความเชื่อมโยงแบบสหวิชา คือเด็กๆ จะได้เรียนทุกวิชานะ แต่เป็นการเรียนผ่านเรื่องเรื่องเดียว ขยายออกไปเป็นภาพกว้างให้เขาเห็น

ดังนั้นความเชื่อมโยงมันจะถูกสร้าง ครูเองก็ได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น ได้ใช้ความถนัดที่มีในแต่ละคนออกมาได้เต็มที่ วิชาจะถูกเชื่อมกัน ครูเองก็จะถูกเชื่อมกันด้วย

คุณครูของเรามีอิสระมากในการจัดการเรียนการสอน โดยส่วนกลางจะเคารพในวิธีการ และสไตล์ของครูแต่ละคน ที่ยังเกาะเกี่ยวไปกับหลักสูตรแกนกลางของประเทศ ซึ่งหลักสูตรที่ว่านี้ มันก็มีที่มาจากพวกครูนี่ล่ะ ทุกครั้งที่จะมีการปรับหลักสูตรใหม่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาจะสอบถามคุณครูทุกคนว่า มีอะไรที่อยากคงไว้ มีปัญหาตรงไหน มีอะไรที่เราช่วยกันปรับได้บ้าง คุณครูสามารถส่งเสียงของเราไปยังส่วนกลางได้อย่างเต็มที่ และได้รับการรับฟัง ฉันสามารถเขียนอีเมลไปหารัฐมนตรีได้ เพราะมันง่ายมากที่เราจะเข้าถึงฝ่ายบริหาร รวมถึงว่า สหภาพครูที่ฟินแลนด์ก็ค่อนข้างใหญ่และเข้มแข็ง เราทำแบบนี้กันมานานจนมันกลายเป็นวัฒนธรรมของการออกเสียงไปแล้ว และแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งที่เราทำได้ เพราะประเทศเราเล็กด้วย”

เพราะวัฒนธรรมของการฟังทุกเสียงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเอลิซ่า ตั้งแต่อายุเก้าขวบ

“ตอนนั้นฉันอยู่ ป.3 ได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีสำหรับเด็ก ในฐานะตัวแทนฝ่ายเด็ก (หัวเราะ) ฉันสามารถบอกกับผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการเหมือนกันได้ว่า ฉันชอบหรือไม่ชอบตรงไหน แล้วฉันก็ลงคะแนน และคะแนนของฉันก็ถูกนับไปเป็นผลการตัดสิน

เหตุการณ์วันนั้นทำให้ฉันประทับใจมาก เพราะฉันได้เห็นผู้ใหญ่มากมายที่ทำอะไรเยอะมากให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะในด้านดนตรี ฉันเลยอยากทำแบบนั้นบ้างเมื่อฉันโตขึ้น ฉันอยากทำดนตรีที่ดีให้กับเด็กๆ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ฉันตั้งใจว่า ฉันจะเป็นคุณครูสอนดนตรี”

ในขณะที่ตัวฉันตอน ป.3 ยังไล่ตอบคำถามคุณครูอยู่เลยว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นหมอหรือเป็นครู’ แต่เด็กหญิงเอลิซ่าวัยเก้าขวบกลับตั้งใจมุ่งมั่นและกำหนดเส้นทางเดินของตัวเองว่าจะเป็นครูสอนดนตรีให้ได้

 

ฉันบอกกับเอลิซ่าไปว่ามันเร็วมากเลยนะ การที่คุณค้นพบตัวเองได้ตั้งแต่อายุเก้าขวบ

“ใช่ มันเร็วจริงๆ และฉันคิดว่ามันเป็นเพราะระบบรัฐสวัสดิการของประเทศเราด้วย คือเราไม่จำเป็นต้องเป็นหมอถึงจะประสบความสำเร็จและมีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตที่ดี แต่เราสามารถฝันที่จะเป็นอะไรก็ได้ เราอยากเป็นศิลปินก็ได้ แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นงานที่มั่นคง และไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ เราไม่ได้มีความร่ำรวยเป็นเป้าหมาย แต่เราอยากได้รู้สึกว่าข้างในเรามีความสุข มันอาจจะไม่ใช่ภาพแทนของทุกคนนะ แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นเป้าหมายของคนในครอบครัวฉันและคนอีกจำนวนหนึ่งในฟินแลนด์

ระบบสังคมแบบนี้เปิดโอกาสให้เราสำรวจเพื่อค้นพบตัวเองได้อย่างเต็มที่ ฝันได้อย่างอิสระ ถ้าได้ลองแล้วพบว่าเราไม่เหมาะกับตรงไหน เราถอยหลังกลับเพื่อไปลองสิ่งใหม่ได้ เช่น ฉันลงเรียนปริญญาโทด้านจิตวิทยา แต่เมื่อเรียนไปแล้วก็พบว่า มันไม่ได้เหมาะกับฉันเลย ประตูแห่งโอกาสจะเปิดอยู่เสมอ โดยที่เราไม่ต้องคอยกังวลว่า เรามีเงินไม่พอสำหรับค่าเรียน”

“มันเปลี่ยนได้อย่างอิสระขนาดนั้นเลยเหรอ” ฉันถาม

“ใช่ แต่มันก็อันตรายนะ สำหรับเด็กๆ ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร จนทำให้พวกเขาไม่จริงจังกับอะไรสักอย่าง ด้วยระบบนี้ ถึงคุณจะไม่มีงานทำ แต่รัฐก็ยังจะจ่ายค่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล และทุกอย่างให้กับคุณอยู่ดี แถมคุณยังได้เงินสำหรับใช้ชีวิตด้วย มันจึงยากสำหรับคนที่รู้สึกสิ้นหวังแล้วจะมีแรงบันดาลใจในการฮึดสู้และฟื้นตัวขึ้นมา เพราะว่ารัฐยังออกทุกอย่างให้อยู่ มันจึงสำคัญมากที่เราจะต้องช่วยให้ทุกคนหาแพสชันข้างในของตัวเองให้เจอ”

“เด็กๆ ของเรารุ่นนี้ ที่จะต้องเติบโตไปในโลกอีกสี่ห้าสิบปีข้างหน้า พวกเขาจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์เยอะมากๆ (เน้นเสียง) เพื่อที่จะอยู่รอด”

ชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ และธรรมชาติช่วยสร้างตัวตน

เมื่อได้พูดคุยกันนานเข้า บวกกับข้อสังเกตใหญ่ๆ ที่ฉันได้จากการไปสังเกตการณ์ชั้นเรียนดนตรีและการเคลื่อนไหว แทบทุกกิจกรรม ทุกเรื่องเล่า จะเห็นว่าเอลิซ่าจะนำเอาธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างแทรกซึม ไม่โจ่งแจ้ง ไม่โผงผาง จนทำให้เราพอรับรู้ได้ว่า คนฟินแลนด์ผูกพันกับธรรมชาติมากแค่ไหน

“ธรรมชาติมีผลกับคนเราเยอะมาก โดยเฉพาะกับเด็กๆ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย ที่บอกว่า การเข้าไปเดินป่าเพียงหนึ่งครั้ง ส่งผลกับชีวิตคุณอย่างไรบ้าง และนั่นคือสิ่งที่เด็กๆ ของเราได้รับการปลูกฝังให้ทำ จนกลายเป็นวิถีชีวิตที่เราทุกคนคุ้นเคยตลอดการเติบโต

เพราะประเทศเรามีแต่ป่า ครอบครัวในฟินแลนด์จึงเข้าป่ากันเป็นเรื่องปกติ แม้ในยุคนี้มันจะกลายเป็นแฟชันที่นิยมในกลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่มากขึ้นด้วย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นวิถีชีวิตที่เราทำกันมา การเดินป่าสำหรับฉัน ไม่ต่างอะไรกับการไปดูนิทรรศการศิลปะ การเข้าพิพิธภัณฑ์ หรือการไปงานเทศกาลดนตรี

ป่าเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยเปิดประสาทรับรู้ ช่วยให้เรามีสมาธิ และเยียวยาข้างในคนเราได้ เมื่อฤดูร้อนมาถึง คนฟินน์จะเดินทางเข้าป่า เข้าไปจนลึกเหมือนเราอยู่ส่วนไหนของโลกก็ไม่รู้ ใช้เวลาอยู่ที่นั่น ที่ที่มีแต่เราไม่มีใคร ที่ที่เรามีอิสระพอที่จะทำอะไรก็ยังได้ เปลือยกายก็ยังได้เลย (หัวเราะ)

เราให้ความสำคัญกับความรู้สึกเนื้อรู้สึกตัว คนฟินแลนด์จึงกระโดดลงไปว่ายในน้ำแข็ง ก่อนจะขึ้นมาซาวน่า ความรู้สึกทั้งเย็นและร้อนที่เกิดกับตัวเรา มันดีมากๆ ทำให้เรารู้ตัว และมองเห็นร่างกายเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น

สิ่งเดียวที่เป็นอันตรายสำหรับเราทุกปี คือความมืดมิดยาวนานในฤดูหนาว (ที่หลายครั้งกินเวลายาวนานกว่า 6 เดือน—ผู้เขียน) มันไม่ใช่ตำนานในนิทานที่คุณเคยอ่าน แต่มันคือเรื่องจริง เมื่อปีที่แล้ว เรามีจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดตั้งแต่เราเคยบันทึกมา และมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคุณรู้สึกแย่กับชีวิตน่ะ เพราะว่าเราเป็น ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก’ ใช่ไหม (หัวเราะ) แต่มันเกิดจากการเผชิญกับความมืด ความมืดทำงานกับความรู้สึกข้างในของเรามากๆ เมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา ด้วยสภาวะแปรปรวนทางอากาศที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ และมันตรงกับวันเกิดของฉันพอดี ไม่เคยมีวันเกิดปีไหนของฉันเลยที่ไม่มีหิมะตก แต่ปีนี้ ไม่มีหิมะตกที่เฮลซิงกิ นั่นเลยยิ่งทำให้ทุกอย่างมืดลง มืดลงไปอีก แสงสว่างในหนึ่งวันหลงเหลือน้อยมากๆ

คนฟินแลนด์จึงค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้มาก เรียกว่าจริงจังได้เลย มันเป็นความท้าทายของประเทศเรา เพราะสภาวะโลกร้อนส่งผลโดยตรงกับสภาพอากาศ และมันก็กระทบกับการใช้ชีวิต และจิตใจของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะเดียวกัน ตอนที่คุณกำลังสร้างสรรค์อยู่นั้น คุณยังจะต้องเป็นนักเชื่อด้วย ความคิดของคุณจะต้องบอกว่า มันเป็นไปได้สิ มันต้องเป็นไปได้ และความคิดสร้างสรรค์จะทำหน้าที่ในการเปิดอิสระให้ความคิดจะเป็นอะไรก็ได้ และมันต้องเป็นไปได้

ดังนั้น มันจึงเป็นไปได้แน่ๆ ที่เราจะหยุดภาวะโลกร้อนได้ มันจะต้องเป็นไปได้ และเราต้องใช้มวลความคิดสร้างสรรค์จำนวนมหาศาล (เน้นเสียง) แต่มันจะเป็นไปได้

“ทุกคนมีท่วงทำนอง (Melody) มีจังหวะ (Rhythm) เป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างความสอดประสาน (Harmony) ให้ท่วงทำนองของแต่ละคนกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวงให้ได้ มันเหมือนกับเรามองเห็นและรับรู้การมีอยู่ของตัวเรา และเราก็เห็นของคนอื่นด้วย”

ข้อจำกัด อิสรภาพ ความคิดสร้างสรรค์ สามสิ่งสำคัญของดนตรีแบบออร์ฟ

ความรักในดนตรี ความผูกพันกับธรรมชาติ และความเชื่อในพลังของความคิดสร้างสรรค์ ประกอบรวมกันเป็นเส้นทางสายคุณครูดนตรีของเอลิซ่า ที่เลือกสอนตามแนวทาง ออร์ฟ ชูลแวร์ค’ (Orff Schulwerk) แนวการสอนดนตรีสำหรับเด็กที่คิดค้นโดย คาร์ล ออร์ฟ คีตกวีชาวเยอรมันและกูนีลด์ คีทแมน ที่มองเห็นว่า ดนตรีนั้นนอกจากจะให้สุนทรียะ จินตนาการ ความสนุกและจรรโลงใจแล้ว ดนตรียังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กไปเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ด้วย

ดนตรีของออร์ฟออกแบบมาจากความเข้าใจลึกซึ้งในธรรมชาติของเด็ก ที่พร้อมจะมีความสุขเสมอเมื่อได้ฟังดนตรี เด็กๆ จะมีอิสระ กระโดดโลดเต้น ตบมือ และบางครั้งพวกเขาก็จะสร้างจังหวะและท่วงทำนองเป็นของตัวเอง

“หลักการของออร์ฟคือความไว้เนื้อเชื่อใจ ความรู้เนื้อรู้ตัว การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปิดรับต่อความคิดสร้างสรรค์ และการเชื่อมต่อกับคนอื่น ทั้งหมดนั้นจะทำให้ทุกคนช่วยกันสร้างสรรค์ดนตรีที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ นั่นทำให้ทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกันสร้างสรรค์ดนตรีที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนมีท่วงทำนอง (Melody) มีจังหวะ (Rhythm) เป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างความสอดประสาน (Harmony) ให้ท่วงทำนองของแต่ละคนกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวงให้ได้ มันเหมือนกับเรามองเห็นและรับรู้การมีอยู่ของตัวเรา และเราก็เห็นของคนอื่นด้วย”

 

“มันเหมือนกับวงออเคสตร้าไหม” ฉันถาม

“คล้ายกันค่ะ รูปแบบวงออเคสตร้าจะมีการเตรียมการมาก่อนจะแสดงจริง แต่ดนตรีแบบออร์ฟนั้นให้ความสำคัญกับพื้นที่ให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะช่วง Improvisation และการร่วมด้วยช่วยกันออกไอเดีย เช่น ในกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ผ่านมา นักเรียนของฉันคนหนึ่งออกไอเดียว่าอยากเล่นเมโลดี้แบบนี้ เราก็ยอมรับในไอเดียเขา และคนอื่นในวงก็จะช่วยกันสนับสนุนให้ภาพรวมของเพลงออกมาสอดประสาน มี Harmony

การสอนดนตรีแบบออร์ฟ จึงเป็นกิจกรรมปลายเปิด ที่ถ้าเกิดมีเด็กสักหนึ่งคนบอกว่า เขาอยากลองเล่นเมโลดี้อันนี้ดู พวกเราก็จะให้เขาลองเล่น มาเล่นกันเถอะ และทุกคนจะช่วยกันเล่นเสริมเข้าไป เมื่อเด็กๆ รู้สึกวางใจว่า พวกเขาสามารถออกความคิดเห็นได้ แถมยังเป็นที่ยอมรับอีก ครั้งต่อไปเขาจะพยายามต่อยอดความคิดสร้างสรรค์เดิม เพิ่มเข้าไปอีก สนุกกับมันอีก เพราะการค้นพบของพวกเขาได้รับการยอมรับ พวกเขาได้รู้จักแก้ปัญหา ได้ทดลอง เพื่อให้ได้เสียงดนตรีที่ทุกคนพอใจร่วมกัน เราจึงได้เห็นความคิดสร้างสรรค์สดใหม่อยู่เสมอในชั้นเรียนแบบออร์ฟ

ออร์ฟจึงให้ความสำคัญกับทั้งระดับปัจเจก ที่ทุกคนมีตัวตน มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง และในขณะเดียวกันทุกคนก็ต้องอยู่ร่วมในสังคมด้วย การเรียนรู้แบบนี้จึงทำให้เด็กได้ทักษะทางสังคมเยอะมาก รวมถึงด้านสุนทรียะ ที่จะเข้าไปทำงานกับความรู้สึกภายใน

ฉันเชื่อว่าความรู้สึกของความเป็นอิสระและความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีความรู้สึกมั่นคงที่ข้างในก่อน เช่น คุณไม่สามารถที่จะเล่นดนตรีได้อย่างอิสระ โดยไม่เริ่มต้นจากกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น ตอนนี้ไซโลโฟนของเรามีเพียงหนึ่งบาร์ คุณมีหนึ่งบาร์กับไม้ตีสองอัน นี่คือข้อจำกัดตั้งต้นที่คุณมี จากนั้นมันเป็นหน้าที่ของความคิดสร้างสรรค์ที่จะปลดปล่อยตัวเองไปกับดนตรีอย่างอิสระ คุณจะตีอย่างไรตามใจคุณก็ได้ ภายใต้ข้อจำกัดนี้ เมื่อข้อจำกัดเปลี่ยน เช่นเพิ่มเป็นสองบาร์ สี่บาร์ คุณก็จะรู้สึกว่า โอเค ฉันเข้าใจข้อจำกัดที่มีแล้ว ที่เหลือก็ลุยได้

มันได้ผลกับเด็กๆ นะ เราเป็นแม่ เรารู้ดีอยู่แล้วว่าเราไม่สามารถที่จะไปบอกเด็กๆ ว่า “มาเลยลูก หนูจะทำอะไรก็ได้ อยากกินอะไรก็กิน” มันไม่ใช่แบบนั้นใช่ไหม ที่เราทำกันก็คือ “เอาล่ะ เรากำลังจะกินมื้อเช้ากันนะ และหนูสามารถเลือกได้ว่าหนูอยากกินอะไร เท่าที่ในตู้เย็นของเรามี” มันคือพื้นที่ให้เด็กได้คิด ตัดสินใจ และสร้างสรรค์ บนพื้นฐานที่ว่าเรามีกรอบมาให้ว่านี่คืออาหารเช้านะ และสิ่งที่หนูเลือกจะกินได้ก็จะอยู่แค่ในตู้เย็นที่บ้าน เขาอาจจะอยากเอาแยมมาใส่นมก็ได้ มันคือความคิดสร้างสรรค์ มันคืออิสรภาพ ที่ตั้งอยู่บนความมั่นคงในใจก่อน

ตอนที่ฉันได้มาเห็นโรงเรียนนี้ (โรงเรียนจิตตเมตต์ ปฐมวัย) ฉันยังคิดว่าเด็กๆ ที่นี่มีพลังและมีอิสระดีจัง อยากให้เด็กๆ ที่ฟินแลนด์มีอิสระได้เท่านี้บ้าง (หัวเราะ) เพราะบางครั้งในโรงเรียนอนุบาล พวกเขาก็มีความเข้มงวดกับเด็กๆ อยู่บ้าง เช่น การไม่ให้พูดคุยกันในระหว่างการแสดง ซึ่งฉันว่าเราน่าจะผ่อนคลายกว่านี้ได้

 

“โห ขนาดอยู่ฟินแลนด์ ยังต้องการอิสระอีกเหรอคะ” ฉันถามแบบเหวอๆ

“ใช่ ขนาดฟินแลนด์นี่แหละ (หัวเราะ) ฉันเคยได้พบกับคณะกลองของญี่ปุ่น พวกเขามาที่ฟินแลนด์และมาหาฉันที่โรงเรียน ฉันก็ถามเขาว่า พวกคุณเข้มงวดกับนักเรียนของคุณแค่ไหน หรือจริงไหมที่พวกคุณให้นักเรียนยืนเข้าแถวตรง และต้องถือไม้กลองทำมุมเก้าสิบองศาเป๊ะๆ พวกเขาบอก ไม่นะ เราไม่เข้มงวดเลย นักเรียนของเราสามารถเล่นได้อย่างอิสระ เราให้ความสำคัญกับการด้นสด (Improvise) ฉันได้ยินแบบนั้นก็แปลกใจ เพราะฉันคิดมาตลอดว่า คนญี่ปุ่นจะต้องเข้มงวดมากแน่ๆ คนญี่ปุ่นเขาก็เลยบอกว่า พวกเราก็คิดว่าที่ฟินแลนด์เองก็คงจะเข้มงวดมากเหมือนกัน ฉันได้ยินแล้วก็ต้องกลับมาทบทวน เอ๊ะ หรือว่าเราจะเข้มงวดจริงอย่างที่เขาว่านะ (หัวเราะ)

ฉันคิดว่าเราไม่ได้เข้มงวด แต่เรามีระเบียบแบบแผนมากกว่า แบบแผนคือหนทางเดียวที่พาเราไปพบอิสรภาพ กิจวัตรที่หนักแน่นมากพอ จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เรารู้สึกมั่นคง เพื่อที่จะไปต่อได้ คนเราต้องรู้สึกมั่นคงก่อน เราถึงจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่”

ดนตรีสร้างเด็ก เด็กจะสร้างโลก

ทุกวันนี้ เอลิซ่ายังคงเดินตามความฝันเมื่อวัยเก้าขวบ ปัจจุบันเธอเป็นคุณครูสอนดนตรีอยู่ที่สถาบัน Helsinki Music Institute และยังมีชั้นเรียนสอนคุณแม่ตั้งครรภ์ ในการใช้ดนตรีเยียวยาความเจ็บปวดจากการคลอด สำหรับคุณครูยิ้มสวยคนนี้ ดนตรีจึงเหมือนจะเป็นคำตอบของทุกคำถาม เพราะดนตรีคือโลกทั้งใบของเธอ

“ดนตรีคือสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่วันแรก และเป็นสิ่งสุดท้ายที่หลงเหลือในชีวิต ตอนท้อง ฉันมักจะฮัมเพลงหนึ่งเป็นประจำ และเมื่อลูกสาวฉันคลอด เพลงแรกที่เธอร้องก็คือเพลงนั้น เพลงเดิมที่ฉันร้องให้เธอฟัง แม่และลูกเชื่อมถึงกันได้ดนตรี อย่างเป็นธรรมชาติมากๆ

ส่วนคุณยายของฉันเป็นอัลไซเมอร์ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ท่านจำใคร หรือเรื่องราวอะไรไม่ได้แล้ว แต่เมื่อน้องสาวของฉันเล่นเปียโนเพลงหนึ่งขึ้นมา คุณยายก็ฮัมเพลงนั้นตามเสียงเปียโน สิ่งเดียวที่ยังเหลือ คือเสียงเพลง ที่ไม่มีวันหายไปไหน

จังหวะและท่วงทำนองของดนตรี จะพาคนเรากลับไปยังที่ที่สบายที่สุดบนโลกใบนี้ นั่นคือในท้องของแม่ ที่นั่น เราได้รับการดูแลปกป้องให้ปลอดภัย เราได้รับอาหาร เราได้ยินเสียงหัวใจที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ และเราก็เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ ไปตามการเคลื่อนไหวของแม่ ไม่มีที่ไหนจะสุขและสบายเท่าที่นี่

เมื่อเราเล่นดนตรี เสียงเบสจะเป็นจังหวะเหมือนกับหัวใจแม่ ร่างกายจะได้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะและท่วงทำนองอย่างอิสระ เราได้รับสัมผัสจากเพื่อน ขณะเดียวกันเราก็สัมผัสเข้าถึงข้างในใจของตัวเราเอง

ดนตรีกับการเคลื่อนไหวจึงมาด้วยกันอย่างแยกไม่ออก เพราะการเคลื่อนไหวจะพาเราด่ำดิ่งลงไปในดนตรี มันคือการแสดงออกทางดนตรีที่ไม่มีข้อจำกัดเลย เมื่อมีการเคลื่อนไหวเข้ามาประกอบด้วย

การพาร่างกายเข้าไปร่วมรู้สึก (Embodiment) จะช่วยขยายช่องการเรียนรู้ และฉันว่าเรานำมันไปใช้ในการเรียนการสอนอื่นๆ ได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เด็กรับรู้จำนวนห้าได้ ผ่านการกระโดดห้าครั้ง บวกไปอีกสอง เขากระโดดเพิ่มอีกสองครั้ง นั่นจะทำให้เด็กได้ ‘รู้สึก’ ถึงจำนวนเหล่านั้นจริงๆ เป็นการเรียนรู้จากร่างกาย เกิดเป็นการตื่นรู้ ความรู้จะติดอยู่ในเนื้อในตัว เกิดเป็นความคิดที่ว่า ร่างกายของฉันสามารถทำงานร่วมกับสมองได้นะ เมื่อนั้นการเรียนรู้จะลึกขึ้น”

“เสียงร้องเพลงของแม่ จะไม่มีวันเป็นพิษเป็นภัยกับลูก ต่อให้คุณร้องเสียงหลงแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่คุณแสดงให้ลูกได้เห็น คือความกล้าหาญ ที่จะไปสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้เห็นว่า แม่ของฉันเป็นตัวของตัวเองแค่ไหน แม่ของฉันก็ไม่กลัวที่จะร้องเพลง”

คุยกันมาถึงตรงนี้ ฉันก็เข้าใจแล้วว่าดนตรีสำคัญกับคนเรามากแค่ไหน และทำไมเราถึงควรให้ลูกได้คลุกคลีกับดนตรีให้มากที่สุด แต่เราไม่ใช่คุณแม่ที่เป็นครูสอนดนตรีแบบเอลิซ่า เราไม่ได้มีพื้นฐานทางดนตรีอะไรเลย ร้องเพลงยังเสียงหลงด้วยซ้ำ แล้วลูกเราจะได้ประสบการณ์ทางดนตรีที่ดีจากเราไปจริงๆ หรือ…

“แค่คุณอ่าน อ่านบทกวี ฟังเพลงที่มีความหมายกับคุณ เพลงนั้นมันจะมีความหมายกับลูกด้วย การให้ลูกได้รู้จักกับดนตรีคลาสสิกนั้นดี แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความเชื่อมต่อทางอารมณ์ เช่น ถ้าคุณมีความรู้สึกกับจังหวะกลองมันๆ ในเพลงร็อกมากกว่า คุณโยกหัวไปตามจังหวะเพลง นั่นคือคุณมีความรู้สึกกับเพลงนั้น และลูกก็จะรับรู้สิ่งนั้นได้ ฉันมองว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าการจะบอกว่า เราควรเปิดเพลงอะไร

และแน่นอนว่าเสียงร้องเพลงของแม่ จะไม่มีวันเป็นพิษเป็นภัยกับลูก ต่อให้คุณร้องเสียงหลงแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่คุณแสดงให้ลูกได้เห็น คือความกล้าหาญ ที่จะไปสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกได้เห็นว่า แม่ของฉันเป็นตัวของตัวเองแค่ไหน แม่ของฉันก็ไม่กลัวที่จะร้องเพลง แม้มันอาจจะไม่เพราะ แต่แม่มีความสุขกับมัน

มีงานวิจัยหนึ่งจากสวิตเซอร์แลนด์ เขาให้เด็กมาทดลอง โดยเด็กนั่งอยู่ที่ตักแม่ ข้างหน้าจะมีคนตีกลองเป็นจังหวะให้เด็กดู เด็กก็จ้องมองกลองไม่ละสายตา ในขณะเดียวกัน ที่อีกห้องหนึ่ง เป็นเด็กกับแม่ และกลองเหมือนกัน แต่เขายื่นกลองให้เด็ก และเด็กก็หยิบจับกลองมาตีเล่นกับคุณแม่

จากนั้น เขานำเด็กทั้งสองคนมาไว้ที่ห้องเดียวกัน เด็กจะได้ดูหนังที่ฉายภาพของคนตีกลอง เมื่อฉายไปได้สักพัก หนังจะเริ่มเปลี่ยนไป โดยภาพและเสียงจะไม่ตรงจังหวะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กคนที่เมื่อสักครู่นี้ได้ลงมือเล่นตีกลอง เครื่องจะตรวจจับการทำงานในสมองของเขาได้ว่า มันมีการเปลี่ยนแปลง ในสมองของเด็กทำงานหนักขึ้น เพราะสงสัยว่า นี่มันไม่ใช่ดนตรีแล้ว มันต้องมีอะไรผิดไปแน่ๆ ในขณะที่เด็กอีกคน ที่ไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงกับดนตรี สมองเขาทำงานตามปกติ ไม่ได้สังเกตเห็นความผิดปกติอะไร

ดังนั้น เพื่อให้ลูกของเราเชื่อมโยงกับดนตรีจริงๆ คุณแม่ควรปล่อยให้เขาได้ลองได้เล่น ได้ลงมือทำ หู ตา มือ ทุกอย่าง ให้เขาได้ลงไปสัมผัสกับสิ่งนั้น ปล่อยให้พวกเขาได้สำรวจ นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ทำที่บ้านได้ คุณจะเล่นกับอะไรก็ได้ เสียงอะไรก็ได้ เด็กๆ เขามีสายตาของความเป็นนักทดลองอยู่แล้ว และเขาจะสนุกมากถ้าได้ทดลองเพื่อค้นพบเสียงใหม่ๆ

ฉันได้รู้มาว่า มีหลายประเทศในโลกใบนี้ ที่ไม่มีการสอนดนตรีในโรงเรียน ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราทำกับเด็กๆ เราไม่ได้ใช้ศักยภาพสมองของเด็กอย่างเต็มที่ และเราก็ไม่ได้พัฒนาสมองของพวกเขาด้วย เพราะดนตรีจะมีทั้งจังหวะและท่วงทำนอง เมื่อทั้งสองมารวมกัน เซลล์ประสาทในสมองส่วนที่อยู่ด้านหลัง จะทำหน้าที่เชื่อมเอาทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน และมันจะทำให้สมองของเราใหญ่ขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งฉันคิดว่า เมื่อมันเป็นเรื่องของดนตรี มันไม่ใช่การมาตัดสินว่า คุณเล่นเก่งแค่ไหน แต่มันคือการตอบคำถามที่ว่า คุณได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ทางดนตรีมากแค่ไหน”

“ถ้าอย่างนั้น คุณคิดว่าจำเป็นไหมที่เด็กทุกคนควรได้ลองสัมผัสกับดนตรี”

“Yes, It’s a human right” เอลิซ่าตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

และนั่นก็เป็นท่อนจบของบทสนทนาที่ช่วยยืนยันน้ำหนักของทุกสิ่งที่เราคุยกันมาได้เป็นอย่างดี…


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST