READING

5 แนวทางอยู่กับลูกในวันที่พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ฉ...

5 แนวทางอยู่กับลูกในวันที่พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ฉบับจับต้องได้ ทำได้จริง จากคนทำงานด้านเด็ก (2)

ในช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการออกไปทำงานนอกบ้าน มาเป็นการนั่งทำงานอยู่ที่บ้านแทน แถมยังกินเวลายาวนานกว่าสองสัปดาห์ (หรืออาจจะมากกว่านั้น)

ขณะที่เด็กเอง ก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นกัน เด็กหลายคนที่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ก็ต้องปรับรูปแบบมาเป็นการเรียนออนไลน์​ ส่วนเด็กที่โรงเรียนปิดเทอมก็จะว่าง ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านก็ไม่ได้ ไหนจะเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ที่ต้องการการเล่นเป็นหลัก แม้จะมีพี่เลี้ยง หรือปู่ย่าตายาย แต่เมื่อเห็นพ่อแม่อยู่ที่บ้านด้วย ก็อดจะเรียกร้อง ชวนคนที่เขารักที่สุดมาเล่นด้วยกันไม่ได้ (แต่พ่อแม่ก็ต้องทำงานไงลูก!?!)

M.O.M จึงไปขอข้อแนะนำและความคิดเห็น จากคุณครู นักจิตวิทยา และคนที่ทำงานด้านเด็ก เชี่ยวชาญด้านการเล่น การจัดกิจกรรม และเข้าใจความต้องการของเด็กๆ เป็นอย่างดี เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปปรับใช้ในช่วงเวลาที่เราต่างก็ยากลำบากกันทุกคนแบบนี้

workfromhome2_web_1

“สร้างข้อตกลงร่วมกัน แล้วจัดสรรเวลาให้มีคุณภาพสำหรับทุกคน”

ครูพิม—ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาพัฒนาการ เจ้าของเพจ Pim And Children: ครูพิม นักจิตวิทยาพัฒนาการ
ผู้บริหารหลักสูตรสถาบันเสริมพัฒนาการเด็กและครอบครัว KidiCuB

Q: แนวทางสร้างกิจกรรมง่ายๆ สำหรับพ่อแม่และคนที่อยู่บ้านทำร่วมกับเด็กๆ ช่วงที่ออกนอกบ้านไปไหนไม่ได้เลย

เบื้องต้น จะขอแบ่งเป็นสองกลุ่มก่อนนะคะ กลุ่มแรก คือกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียน และกลุ่มที่สองคือเด็กโต หรือเด็กๆ ในวัยเรียน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดแนวทางในการทำกิจกรรมได้ง่ายขึ้น

สำหรับกลุ่มแรก โดยปกติแล้ว เด็กๆ อาจจะอยู่ที่บ้านกับปู่ย่าตายาย พี่เลี้ยง หรืออาจจะเป็นเด็กๆ ที่ปกติเคยฝากเลี้ยงไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก (nursery) กลุ่มนี้ หัวใจสำคัญเลย คือการให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ และการได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย ถ้าให้กำหนดกลุ่มกิจกรรมอย่างง่ายที่สุด ก็สามารถแบ่งได้เป็น

• กลุ่มกิจกรรมกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดเล็ก (ใช้มือให้มาก เล่นอิสระกับวัสดุที่มีพื้นผิวหลากหลาย หยิบจับสิ่งของหลากหลายขนาด ) เช่น เล่นกับน้ำ ดิน แป้งปั้น เศษวัสดุ ใบไม้แห้ง ก้อนหิน หรือวัสดุอื่นๆ ที่หาได้ในบ้านและไม่เป็นอันตรายกับเด็ก

• กลุ่มกิจกรรมกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (ออกแรงและใช้ร่างกายหลายๆ ส่วน) เช่น วิ่งเล่นรอบๆ บริเวณบ้าน ฝึกเดินขึ้นลงบันได (โดยอยู่ในสายตาผู้ใหญ่) ปีนป่ายหมอน ผ้าห่ม หมอนข้าง หรือวัสดุอื่นที่หาได้จากในบ้าน เต้นประกอบเพลง

• กลุ่มกิจกรรมกระตุ้นประสาทสัมผัส (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ร้องเพลง ตี / เคาะ / เขย่า วัสดุต่างๆ เป็นต้น

และที่สำคัญก็คือ การกำหนดเวลาพักผ่อนให้เพียงพอและเป็นเวลา เพราะความต้องการตามธรรมชาติของเด็กคืออยากใช้เวลาร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่ จึงมีความเป็นไปได้ที่เด็กๆ จะตื่นตัวเมื่อคุณพ่อคุณแม่อยู่บ้านกับเขาทั้งวัน

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้ว สำหรับกลุ่มนี้ แนวทางอย่างง่ายที่สุดในการกำหนดกิจกรรมก็คือ

หนึ่ง—จัดตารางกิจวัตรประจำวันให้สอดคล้องกับตารางเรียนเดิมของเด็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการปรับตัว และเป็นรักษาวินัยไม่ให้หละหลวมในระหว่างช่วงปิดเทอม หรือวันหยุดยาว โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีการค้นหากิจกรรมที่สอดคล้องกับบทเรียนในเทอมก่อนหน้าหรือในเทอมถัดไป (หากทราบตารางเรียนแล้ว) ให้เด็กๆ ได้ทำ เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนไปในตัว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงในการใช้แนวทางนี้ก็คือ ไม่ควรกดดันตนเองหรือเด็กๆ จนเกินไป เพราะสิ่งที่เรากำหนดขึ้นนั้น เป็นเพียงแนวทางกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ ไม่ลืมบทเรียน และลดความเบื่อหน่ายเท่านั้น ไม่ใช่การทบทวนเพื่อการสอบ

สอง—จัดกิจกรรมเพิ่มทักษะชีวิตให้กับลูก ซึ่งแนวทางนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องมีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดกิจกรรม โดยกิจกรรมที่แนะนำนั้น จะเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ไม่ค่อยได้ทำในช่วงสถานการณ์ปกติ เช่น ทำงานบ้าน ช่วยงานพ่อแม่ ฝึกงานฝีมือ เลี้ยงสัตว์ เล่นกีฬา สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุภายในบ้าน หัดทำกับข้าว ฝึกฝนทักษะที่เด็กๆ อยากพัฒนา ผ่านการเรียนออนไลน์หรืออ่านหนังสือเหล่านี้เป็นต้นค่ะ

สาม—เป็นการผสมผสานระหว่างแนวทางแรกและแนวทางที่สอง โดยอาจแบ่งเป็นช่วงเวลากว้างๆ อย่างง่าย เช่น ครึ่งเช้า ทบทวนบทเรียน ครึ่งบ่ายฝึกฝนทักษะชีวิตและทำกิจกรรมใหม่ๆ แบบนี้เป็นต้นค่ะ

workfromhome2_web_2

Q : พ่อแม่อาจจะเล่นกับลูกตลอดเวลาไม่ได้ เพราะว่ามีงานต้องทำ มีประชุมต้องเข้า เราควรทำอย่างไรดี ให้สามารถบาลานซ์ระหว่างงานกับลูกได้ (โดยไม่รู้สึกผิดกับทั้งสองทาง)

 

ครูพิมแนะนำเป็น 4 วิธีหลักๆ นะคะ ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทั้งสถานการณ์นี้ และยังสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้ด้วยค่ะ

1) ทำความเข้าใจกับลูกก่อนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร

โดยปกติแล้ว เด็กๆ จะทราบดีว่า พ่อแม่จะออกไปทำงานวันใด เวลาใด สำหรับในช่วงเวลาที่พ่อแม่ต้องทำงานอยู่บ้านนี้ สิ่งหนึ่งที่จะต้องพูดคุยกับลูกให้เข้าใจก่อนว่า ทำไมช่วงนี้พ่อกับแม่จะอยู่ที่บ้านทุกวัน และทำไมลูกๆ จึงจะต้องอยู่ที่บ้านและไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เช่นกัน (อาจใช้สื่อที่เหมาะสมกับวัยเป็นตัวช่วยในการอธิบายได้ค่ะ) จากนั้นค่อยอธิบายว่า ถึงพ่อกับแม่จะอยู่ที่บ้าน แต่อาจจะไม่สามารถเล่นหรือใช้เวลากับลูกได้เหมือนวันหยุด เพราะพ่อกับแม่ยังต้องทำงาน เพียงแต่ย้ายมาทำที่บ้านเท่านั้น ซึ่งการอธิบายให้เด็กเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เด็กๆ รับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ไม่มีความคาดหวังมากเกินไป และทำให้เด็กๆ พัฒนาความเข้าใจในเรื่องเหตุผลได้ด้วย

2) กำหนดช่วงเวลาทำงานที่ชัดเจน

เรียกว่า ยกตารางงานมาไว้ที่บ้านเลยก็ว่าได้ค่ะ เดิมเข้า-ออกงาน เวลาใด เมื่ออยู่ที่บ้านก็ควรจะทำให้เกิดความสอดคล้องกัน วิธีการนี้จะทำให้เด็กๆ ไม่เกิดความสับสน เพราะกิจวัตรโดยรวมยังคงเป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องพึงระวังนะคะว่า เมื่อถึงเวลาเลิกงานแล้ว เราเลิกจริงๆ หรือไม่ เพราะหากเราต่อเวลาให้กับงานเมื่อไหร่ ก็เท่ากับเราลดเวลาที่จะใช้กับลูกๆ ลงไปมากเท่านั้นค่ะ

3) กำหนดพื้นที่ทำงานให้เป็นสัดส่วน

แม้จะไม่ได้อยู่ในสำนักงาน แต่การกำหนดพื้นที่การทำงานที่ชัดเจน จะทำให้เด็กๆ เห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่ ใช้เวลาอยู่กับพื้นที่นี้ (หรือห้องนี้) หมายความว่าท่านกำลังทำงาน ไม่ควรรบกวน นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่เองก็จะได้มีสมาธิอยู่กับงาน ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลัง อีกทั้งยังลดการปะทะที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น จากการที่ลูกๆ เข้ามารบกวนในช่วงทำงาน โดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจด้วยค่ะ

4) จัดเวลาพักสำหรับตนเองและลูก

ข้อดีข้อการทำงานทีบ้านอย่างหนึ่งคือ คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะสร้าง ‘พักน้อย’ หรือ ช่วงเบรกระยะสั้นๆ ระหว่างคุณกับลูกได้ตลอดทั้งวัน โดยอาจจะใช้ช่วงเวลาที่เดิมเคยเป็นเวลาเดินทาง หรือช่วงที่เคยเสียเปล่าในระหว่างวันให้กลายเป็นช่วงเวลา ‘เล่นกับลูก’ โดยกำหนดเป็นรอบๆ อย่างชัดเจน เช่น ช่วงเช้า หลังรับประทานอาหาร ช่วงเวลาก่อนมื้อกลางวัน และหลังเลิกงาน ช่วงละ 30-45 นาที วิธีการนี้นอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้พักสมองจากการทำงานแล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกได้ว่า คุณไม่ได้หลงลืมพวกเขาอีกด้วย

Q: หลายบ้านจะไม่เคยให้ลูกดูหรือเล่นหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่เด็กก็จะสนใจตอนที่พ่อแม่วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือหลายโรงเรียนก็ให้เด็กเรียนออนไลน์ มีการส่งกิจกรรมมาให้ทำที่บ้าน ตรงนี้พ่อแม่จะสามารถรู้ได้อย่างไรว่า ให้ลูกใช้หน้าจอเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่ให้กลายเป็นเด็กๆ หันมาติดหน้าจอในช่วงเวลาแบบนี้ 

แนวทางเบื้องต้นสำหรับการแก้ปัญหานี้ คือการที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรจัดหาพื้นที่ส่วนตัว หรือแยกพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ และอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจ ว่าสิ่งที่พ่อแม่กำลังทำ คือการทำงาน ไม่ใช่การคุยเล่น เรียกว่าเป็นการป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิด และที่สำคัญก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ใช้เวลาอยู่กับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรจะงดการใช้หน้าจอโดยไม่จำเป็น เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกว่า เขาได้รับความสนใจอย่างแท้จริง เพราะหลายครั้ง ที่เด็กสนใจการใช้หน้าจอของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่เพราะเขาสนใจอุปกรณ์ แต่เขารู้สึกว่า พ่อแม่สนใจสิ่งนั้นมากกว่าพวกเขา

ส่วนในเรื่องการใช้จอ ครูพิมขอให้ข้อกำหนดอย่างง่าย โดยการยึดตามคำแนะนำของ WHO และสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน นั่นคือ ช่วงขวบปีแรกจนถึง 2 ขวบ เด็กๆ ไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเลย ส่วนเด็กอายุ 2-4 ขวบไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงต่อวันและหากเป็นไปได้ ควรแบ่งเป็นช่วงเวลาย่อยๆ ไม่ใช้ติดต่อกันครั้งเดียวเป็นชั่วโมง ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้หน้าจอต่อหน้าลูกๆ ครูพิมแนะนำให้เราเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเล่นหรือเตรียมกิจกรรมอื่นๆ ไว้ให้เจ้าตัวเล็กทำไปพร้อมๆ กันด้วย จะเป็นการช่วยดึงความสนใจให้กับเด็ก ลดปัญหาที่อาจจะเกิดจากการก่อกวนของพวกเขา (ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขาเลย) และยังทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะต่างๆ ไปในตัวอีกด้วย

สำหรับเด็กวัย 5 ปีขึ้นไป สามารถให้ใช้ได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสม ซึ่งหากเด็กๆ มีบทเรียนหรือกิจกรรมที่ทางโรงเรียนส่งมา ก็ให้ยึดตามเวลาที่ทางครูหรือผู้มอบหมายกิจกรรมกำหนด โดยหัวใจสำคัญของการใช้หน้าจอของเด็ก ในวัยนี้คืออยู่ในสายตาของผู้ปกครองเสมอ หรืออย่างน้อยก็ควรกำหนดเวลาที่จะมาตรวจดูความเรียบร้อยเป็นระยะๆ และไม่ปล่อยให้เด็กใช้หน้าจอในที่ส่วนตัว หรือใช้เพียงลำพังเป็นเวลานานจนเกินไป

ขยายความเพิ่มอีกนิดว่า หากเราไม่แน่ใจว่า ระยะเวลาเท่าไหร่คือมากไป และลูกเริ่มจะติดจอแล้วหรือเปล่า ให้เราตรวจสอบเบื้องต้นดังนี้นะคะ

– ลูกมีเวลาพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ หากการใช้จอรบกวนการนอน และทำให้เวลาเข้านอนผิดเพี้ยน นั่นเป็นสัญญาณที่ควรระวังค่ะ

– ลูกได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมทางกายเพียงพอหรือไม่ โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กๆ ควรจะได้ขยับร่างกายด้วยการเล่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมงค่ะ

– ลูกรับประทานอาหารตรงเวลาหรือไม่ ลืมเข้าห้องน้ำบ้างไหม พฤติกรรมการกินและการขับถ่าย เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ใช้ตรวจสอบได้ว่า เด็กๆ สามารควบคุมตนเองในการใช้หน้าจอได้หรือไม่ค่ะ

workfromhome2_web_3

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับพ่อแม่

ในสภาวะที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้นอกจากความกังวลด้านสุขภาพ การงาน การเงินแล้ว ก็คือการเกิดปัญหาทางความสัมพันธ์จากการใช้เวลาด้วยกันมากจนเกินไป (แต่ไม่ใช่เวลาคุณภาพ) และปัญหาที่อาจเกิดจากการที่ไม่สามารถแบ่งแยกการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ ครูพิมจึงอยากให้คำแนะนำในการจัดสรรชีวิตในบ้านในช่วงนี้ 3 ข้อง่ายๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นภายในครอบครัวของท่าน ดังนี้ค่ะ

1) ปรับพื้นที่ในบ้านให้เป็นสัดส่วนสำหรับช่วงเวลาที่ต้องทำงาน แยกพื้นที่ทำงานของพ่อ / แม่ และพื้นที่ทำกิจกรรมของลูกและคนอื่นๆ ในบ้านให้ชัดเจน หากต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน ให้แบ่งเป็นโต๊ะหรือโซน แล้วทำความเข้าใจให้ตรงกันตั้งแต่แรก

2) จัดสรรเวลาเป็น 4 ส่วน คือ

• เวลาทำงาน (อาจยึดตามกรอบเวลางานเดิม)

• เวลาของของสามีภรรยา (ข้อนี้สำคัญนะคะ อย่ามองว่าอยู่ด้วยกันทั้งวันแล้วคือจบ เพราะการอยู่ด้วยกันทั้งวัน และการใช้เวลาร่วมกันนั้น เป็นคนละประเด็นค่ะ)

• เวลาของครอบครัว (พ่อแม่ลูกและสมาชิกคนอื่นๆ โดยอาจกำหนดกิจกรรมบางอย่างที่จะทำร่วมกัน นอกเหนือจากการรับประทานอาหาร เช่น เล่นกีฬา เล่นบอร์ดเกม ร้องเพลง ดูหนัง เป็นต้น)

• เวลาส่วนตัว การต้องอยู่ในบ้านทั้งวัน อาจจะทำให้เกิดความเครียดสะสมจากการที่พ่อแม่และลูก ไม่ได้มีเวลาเป็นของตัวเอง การสร้างช่วงเวลาพักผ่อนเป็นส่วนตัวของแต่ละคนจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะลดความเครียดของแต่ละคนแล้ว ยังเป็นโอกาสที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ฝึกฝนลูก เรื่องของการให้เกียรติและการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นด้วยค่ะ

3) จัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เมื่อคนในบ้านใช้เวลาในบ้านเพิ่มขึ้น หน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องของการจัดการงานบ้าน อาหารการกิน การดูแลอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีพ่อบ้านหรือแม่บ้าน เป็นผู้ดูแล ดังนั้น การปรึกษาหารือกันเพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะหน้าที่ในการดูแลลูก ซึ่งไม่ควรถูกโยนให้เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรที่จะมองให้เป็นโอกาสที่จะได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันกับลูกให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ หากลูกอยู่ในวัยที่เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว การมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ในบ้านให้ลูกรับผิดชอบบ้าง ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่แล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้าง self-esteem หรือการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับลูก และยังช่วยพัฒนาทักษะชีวิตในช่วงวิกฤตินี้ให้กับพวกเขาได้อีกด้วย

workfromhome2_web_4

Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST