ต่อจากซีรีส์ Interview Working Mom ที่เราตั้งใจสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยและดูแลลูกไปด้วย เพื่อแบ่งปันเรื่องราว ความหนักหนาสาหัส การจัดการเวลา และรับมือกับความกดดันจากภาระหน้าที่อันท่วมท้น
ในทางกลับกัน นอกจากคุณแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยแล้ว เราก็ยังมี ซีรีส์ Interview Full-Time Mom หรือคุณแม่ที่วางมือจากงานประจำมาทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลลูกแบบเต็มตัว เต็มวัน ด้วยความเต็มใจ
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ติดตาม M.O.M ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของบทความเนื้อหาดีๆ ของเรา ก็มาจากฝีมือการเขียนผ่านประสบการณ์ตรงของตัวเองและหาข้อมูลอย่างเข้มข้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เข้าอกเข้าใจคุณพ่อคุณแม่ของ แอร์—ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล คุณแม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ตัวเองรัก เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับน้องธันโฮม ลูกชายวัย 5 ขวบ สุดที่รักอย่างเต็มที่
ก่อนจะเป็นคุณแม่ฟูลไทม์
ก่อนมีลูกเราทำงานประจำเป็นกองบรรณาธิการ งานหลักคือเขียนคอนเทนต์ สัมภาษณ์ และออกกอง ทำอยู่ประมาณ 3 ปี ก็แต่งงานและมีลูกเลย แต่ตอนนั้นยังสนุกกับการทำงานมาก
จำได้ว่าตอนท้องประมาณ 2-3 เดือน เราก็ไปทำงาน ไปออกกองกับทีมตามปกติ แต่พอกลับมาบ้าน รู้สึกว่าตัวเองท้องแข็งมาก ก็เลยหาข้อมูลว่าอาการท้องแข็งของคนท้องคืออะไร ซึ่งสรุปได้ว่ามันคืออาการที่ไม่ดีนัก มีความเสี่ยงที่จะแท้งสูง คนในบริษัทก็เริ่มเตือนว่าให้ทำงานเบาๆ ก็เลยเน้นเขียนงานอยู่ออฟฟิศเป็นหลักแทน แล้วก็ทำงานอย่างนี้จนท้องได้ 8 เดือน บ.ก. ก็บอกว่าให้เตรียมตัวคลอดได้แล้ว อยู่บ้านไปเลย ไม่ต้องทำอะไรเลยด้วย (หัวเราะ)
เท่ากับได้หยุดยาวไปจนถึงลาคลอด 3 เดือน พอคลอดและถึงเวลาที่ต้องกลับมาทำงาน เราก็เลยต้องพาลูกไปอยู่ที่บ้านคุณแม่ เพราะตอนกลางวันที่ต้องไปทำงานก็จะให้คุณแม่ช่วยดูแลลูกให้ ซึ่งเราโชคดีตรงที่คุณแม่ค่อนข้างเข้าใจคนรุ่นใหม่ แม่เคยพูดกับเราว่า แอร์เป็นแม่แล้ว แม่เคารพในการเป็นคุณแม่ของแอร์ ไม่ว่าแอร์จะเลี้ยงลูกแบบไหนก็พร้อมที่จะซัปพอร์ต เราก็เลยรู้สึกแฮปปี้มากที่เขาไม่นำสิ่งที่เคยเลี้ยงเรามาใช้กับหลานเลย
ก็เหมือนยังเป็น Working Mom อยู่
ช่วงที่กลับไปทำงานยังต้องพกเครื่องปั๊มนมไปด้วย ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ของคนในออฟฟิศที่มีคุณแม่นั่งปั๊มนมไปด้วยทำงานไปด้วย (หัวเราะ) แต่ทุกคนก็น่ารักมาก จะช่วยกันเคลียร์ตู้เย็นเพื่อให้แม่มีพื้นที่แช่นมได้ แต่ก็จะมีบางวันที่เราต้องไปออกกอง ไม่สามารถปั๊มนมได้ ก็มีอาการหน้าอกคัดน้ำนม จนต้องบีบน้ำนมทิ้งในห้องน้ำ เราร้องไห้เลย เสียดายมาก เพราะเราเป็นแม่ที่น้ำนมน้อย ก็อยากให้ลูกได้กิน แต่น่าจะเป็นเพราะฮอร์โมนหลังคลอดด้วยที่ทำให้อารมณ์อ่อนไหวง่าย เพราะหลังจากนั้น ก็คิดได้ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็จะมีน้ำนมใหม่อยู่ดี
แต่ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้สึกโชคดีที่ทั้งครอบครัว หัวหน้า และคนในออฟฟิศมีความเข้าใจคุณแม่ลูกอ่อน เลยทำให้เราคิดว่าทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วยก็โอเค แฮปปี้ดีนะ
“ทุกคนก็เป็นห่วงว่าถ้าเราไม่ทำงาน ก็จะไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าหลังจากลาออกแล้วจะทำยังไง แต่รู้สึกว่าต่อจากวันนี้จะต้องเลี้ยงลูกเองแล้ว”
ดูเหมือนทุกอย่างราบรื่นดี แล้วอะไรทำให้ตัดสินใจลาออกมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์
เราเคยปรึกษาพี่บ.ก.ว่ารู้สึกกังวล เวลาที่ต้องคิดว่าจะเลือกทำงานก่อนหรือเลี้ยงลูกก่อนดี เขาตอบว่า ไม่ว่าแอร์จะเลือกทางไหนมันก็จะมีความเครียด ความวิตกกังวล และมีปัญหาที่ต้องแก้ในบริบทที่แตกต่างกัน มันขึ้นอยู่กับว่าแอร์ยอมรับและมีความสุขกับจุดไหนมากกว่า เราก็เลยเก็บมาคิดและตกตะกอนได้ว่าไม่ว่าจะเลือกแบบไหน เราก็จะยอมรับผลที่ตามมาด้วยความเต็มใจและมีความสุข
จนกระทั่งลูกอายุหนึ่งขวบ เราเริ่มรู้สึกว่าอยากให้เวลากับลูกมากขึ้น พอมองหน้าลูกแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กหนึ่งขวบได้แค่ปีนี้ เด็กสองขวบได้แค่ปีนี้ เด็กสามขวบได้แค่ปีนี้ ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลยนะ ตอนนั้นความคิดก็ตีกันไปหมด งานก็ดี เงินเดือนก็ไม่น้อย ลูกก็มีคนช่วยเลี้ยง ทุกอย่างลงตัวอยู่แล้ว
แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจคุยกับสามีว่าเราอยากเลี้ยงลูกเอง สามีก็เข้าใจ จากนั้นเราก็ไปคุยกับบริษัทว่าเราลาออกมาเลี้ยงลูกเอง ทุกคนก็เป็นห่วงว่าถ้าเราไม่ทำงาน ก็จะไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าหลังจากลาออกแล้วจะทำยังไง แต่รู้สึกว่าต่อจากวันนี้จะต้องเลี้ยงลูกเองแล้ว
แต่พอเอาเข้าจริง ตอนนี้ก็มีรายได้จากการทำงานเสริมรับฟรีแลนซ์เขียนบทความแนวที่เราถนัดนี่แหละ
ประสบการณ์คุณแม่ฟูลไทม์ครั้งแรก
ไม่เหมือนกับที่คิดไว้เลย (หัวเราะ) ลูกในแต่ละช่วงวัยมีความยากที่เราคาดไม่ถึงเยอะมาก จากที่เราคิดว่าเลี้ยงลูกเอง มีเวลาให้ลูกเต็มที่ ยังไงก็เอาอยู่ แต่กลับกลายเป็นว่ามันมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลย เช่น ทำไมลูกไม่สบายอีกแล้ว หรือทำไมลูกเลิกผ้าอ้อมไม่ได้ ทำทุกวิถีทางแล้วก็ไม่ได้ ทำไมหลายคนบอกว่าง่ายแต่ลูกเราทำไม่ได้สักที กลายเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมจัดการไม่ได้ ก็ทำให้รู้สึกเหนื่อย
หรือถ้าเป็นตอนที่ยังทำงาน แต่ละวันได้เจอคนเยอะแยะ แต่พอเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ เราเจอแต่มนุษย์จิ๋วคนนี้คนเดียวทั้งวัน มันก็เริ่มทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ความรู้สึกก็ปนเปกันไปหมด ทั้งความเหนื่อย เครียด จนร้องไห้ แต่ร้องไห้เสร็จก็ต้องเลี้ยงลูกต่อ โชคดีที่ยังมีครอบครัว มีเพื่อนแวะเวียนมาหา มีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ที่มีลูกวัยใกล้ๆ กัน ก็พอจะทำให้รู้สึกดีขึ้น
คุณแม่ฟูลไทม์น่าจะเฝ้ารอเวลาที่ลูกถึงวัยเข้าโรงเรียน
ก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การเป็นคุณแม่ฟูลไทม์มีอรรถรสขึ้นมาก ก็ตอนที่ลูกเข้าอนุบาลนี่แหละ เราคิดว่าเดี๋ยวลูกไปโรงเรียนก็จะได้มีเวลาว่างให้ตัวเองมากขึ้น เราก็แพลนไว้ว่าจะรับงานเขียนคอนเทนต์ จะทำแบรนด์ตัวเอง จะคิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ แต่พอเอาเข้าจริง ลูกไปโรงเรียนแค่วันละ 4-5 ชั่วโมง ทำอะไรแทบไม่ทันเลย
มีวิธีบริหารจัดการกับรายได้ที่ไม่แน่นอนของตัวเองอย่างไร
การเป็นฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอนก็เป็นเรื่องที่ทำให้เครียด วิธีของเราก็คือจะทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าใช้จ่ายว่ามีอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญคือต้องขอบคุณสามีที่เหนื่อยกับการทำงานมากๆ เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายของครอบครัว โดยที่เขาก็ไม่เคยพูดว่าตัวเองต้องจ่ายเยอะ มีแต่ให้กำลังใจเรา ส่วนตัวเราเห็นสามีเหนื่อย เราก็จะไม่ไปขออะไรที่เกินความเป็นจริงด้วย
ปัจจุบันก็ยังพอใจที่เลือกให้เวลากับลูกเป็นหลัก และสนุกกับการทำงานแบบนี้
ใช่ค่ะ เราชอบทำงาน เราเลยเรียกตัวเองว่าแม่ฟูลไทม์ที่มีงานทำ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอกเหมือนแต่ก่อน ก็ใช้วิธีแบ่งเวลามาทำงานเสริม เลี้ยงลูก ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางฮีลตัวเอง ไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวมากเกินไป เราจะทำเช็กลิสต์ว่าในแต่ละวัน ต้องทำอะไรบ้าง
มีวันหนึ่ง เราทำงานเยอะมาก จนลูกพูดว่า “ทำไมหม่าม้าไม่เล่นกับโฮมเลย หม่าม้าเอาแต่ทำงาน” เราก็ โอ้โห… แสดงว่าเราให้ความสำคัญเขาน้อยลงใช่ไหม ก็ต้องพยายามลดงานลง แต่ส่วนใหญ่งานเรายืดหยุ่นได้ ถึงแม้จะอยากทำมากแค่ไหน ก็ยังอยากให้เวลาลูกเป็นหลักเหมือนที่ตั้งใจไว้แต่แรกมากกว่า
เคยมีคนถามไหมว่า เลี้ยงลูกทั้งวันทำอะไรบ้าง
ตอนนี้ลูกอายุ 5 ขวบ เขาไปโรงเรียนนานขึ้น เราก็ใช้เวลาช่วงที่เขาไปโรงเรียนจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มจากเรียงลำดับความสำคัญว่าในวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง มีงานอะไรที่เร่งด่วนต้องส่ง มีงานบ้านอะไรที่ต้องทำ พอบ่าย 3-4 โมงก็ออกไปรับลูกที่โรงเรียน แล้วหลังจากนั้นก็จะให้เวลาลูกอย่างเต็มที่จนกระทั่งลูกเข้านอน ก็อาจจะเหลือเวลาพอให้ทำอะไรอีกนิดหน่อยได้
วันธรรมดา ถ้าวันไหนไม่มีงาน หลังจากลูกไปโรงเรียนแล้ว แม่ก็ออกไปนวด ไปคาเฟ่ เติมพลังให้กับตัวเองบ้าง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะให้ลูกอยู่กับคุณพ่อมากหน่อย เราก็จะได้มีเวลาออกห่างจากลูกบ้าง
บางครั้งเราก็ส่งลูกไปอยู่กับคุณตาคุณยายบ้าง แล้วเราก็ใช้เวลากับสามีสองคน เพราะว่าบางทีเราให้เวลาแต่กับลูก แล้วเราก็ลืมเติมเต็มคู่ชีวิตของเรา เราก็ต้องแบ่งพาร์ต วางความเป็นแม่วางไว้ก่อน แล้วก็เติมความเป็นภรรยาให้มากขึ้น แล้วก็อย่าลืมที่จะเป็นตัวเองด้วย เมื่อไรที่เรามีความสุข ลูกก็จะมีความสุข ครอบครัวก็จะมีความสุข
“การที่หลายคนมองว่า ก็แค่อยู่บ้านเลี้ยงลูก ความจริงแล้ว การเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่การทำให้ลูกกินอิ่ม นอนหลับ แต่การเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง คือการที่เราตั้งใจที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ดีมีคุณภาพของสังคม”
เคยคิดว่าการเป็นแม่ฟูลไทม์ไม่ได้ง่ายหรือสบายอย่างที่ใครๆ คิดบ้างไหม
เลี้ยงลูกอยู่บ้านมันไม่สบายแน่นอนค่ะ การที่หลายคนมองว่า ก็แค่อยู่บ้านเลี้ยงลูก ความจริงแล้ว การเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่การทำให้ลูกกินอิ่ม นอนหลับ แต่การเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง คือการที่เราตั้งใจที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ดีมีคุณภาพของสังคม มันยากนะ เราเลยมองว่าการอยู่บ้านเลี้ยงลูกไม่ได้สบาย มันก็มีความเครียดหลายอย่างเหมือนกัน
สุดท้าย แม้ลูกจะโตขึ้นกว่านี้ก็ยังคิดว่าตัวเองจะเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ต่อไปหรือเปล่า
ใช่ค่ะ เคยมีคนถามว่าตอนนี้ลูกโตแล้ว จะกลับไปทำงานประจำไหม เราก็ตอบว่าไม่ เรารู้สึกมีความสุขกับชีวิตตอนนี้แล้ว แล้วถ้ามีคนถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ยังจะอยากมีลูกแล้วจะลาออกมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์หรือเปล่า เราตอบได้เลยว่าเรายืนยันที่จะทำแบบเดิม เพราะมันคุ้มค่ามากๆ
ที่ผ่านมาเรามองว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่ถึก ทน และมองเห็นโลกใบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม จากคนที่เคยคิดถึงแต่ตัวเอง กลายเป็นคนที่คิดถึงตัวเองน้อยที่สุด และอยากจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง อยากเป็นผู้หญิงที่ดีกว่านี้สำหรับสามี ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันถูกหรือเปล่า แต่มันทำให้เรากลายเป็นคนที่อยากแข็งแรงเพื่อที่จะอยู่ใช้เวลาแบบนี้ไปนานๆ
COMMENTS ARE OFF THIS POST