เรื่องหนักใจของคุณแม่ที่ทำงานประจำ ก็คือหลังจากลาคลอดครบสามเดือนแต่ยังรู้สึกไม่พร้อมที่จะกลับไปทำงาน อยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเองต่อไป…
เช่นเดียวกันกับ นิดนก—พนิตชนก ดำเนินธรรม คุณแม่นักคิด นักเขียน อดีตครีเอทีฟประจำ M.O.M (ตอนนี้ไม่ประจำแล้ว) และบทบาทใหม่กับการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ BooksBunny ร้านหนังสือตราเด็กส่งกระต่าย
ก่อนหน้าที่จะผันตัวเข้าสู่วงการแม่อย่างเต็มตัว นิดนกเคยเป็นพนักงานประจำ ในบริษัทที่มั่นคง และกำลังมีหน้าที่การงานก้าวหน้า แต่เมื่อวันหนึ่งเธอต้องกลายมาเป็นคุณแม่ของลูกสาวสุดที่รัก ‘น้องณนญ’ แม้จะพยายามทำทั้งหน้าที่แม่และหน้าที่พนักงานขององค์กรให้ดีมากแค่ไหน สุดท้ายนิดนกก็ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่วงการคุณแม่ฟูลไทม์ เพราะความอยากดูแลลูกด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด
จากสาวออฟฟิศสู่คุณแม่ฟูลไทม์ เส้นทางชีวิตจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน และการตัดสินใจครั้งนั้นจะคุ้มค่าและตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองหรือไม่ เราชวนนิดนกกลับมานั่งคุยกันถึงเส้นทางในวงการที่เข้ามาแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะออกทางไหนกันอีกครั้ง
ก่อนเป็นคุณแม่ฟูลไทม์
ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานเกี่ยวกับการตลาดและการสื่อสาร เข้างาน 8 โมงครึ่ง เลิก 5 โมงเย็นเหมือนบริษัททั่วไป แต่ช่วงที่เริ่มท้องเป็นจังหวะเดียวกับที่เราได้เลื่อนตำแหน่งงานสูงขึ้น พอใกล้คลอดก็เลยไปคุยกับเจ้านายว่าขอลาคลอด 6 เดือน หมายถึงใช้สิทธิ์ลาคลอดตามปกติ 3 เดือน แล้วหลังจากนั้นจะขอทำงานที่บ้านต่อ อีก 3 เดือน แล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากันว่าจะทำยังไงต่อ คือไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะลาออก เพราะเราคิดว่าการเลี้ยงลูกไปด้วย ไกวเปลไปด้วย ก็คงไม่น่ายาก (หัวเราะ)
แผนของเราคือ หลังจากที่ลาคลอดครบ 6 เดือน ก็จะกลับไปทำงาน ส่วนลูกก็จะฝากไว้ที่เนอร์เซอรี่ แต่ปรากฏว่าลูกคลอดก่อนกำหนด 1 สัปดาห์ ทุกอย่างปุบปับมาก ยังไม่ทันได้ลางานเลย แล้วช่วงนั้นยังมีแพลนงานที่ต้องส่ง จำได้เลยว่าหลังจากคลอดลูกเสร็จ ตอนกลางคืนเราต้องเปิดคอมพ์ฯ ทำงานส่ง เพราะมีกำหนดส่งวันนั้น (หัวเราะ)
ช่วงลาคลอด 3 เดือนแรก เป็นยังไงบ้าง
ตอนนั้นเรามีภาวะ baby blue มันทำให้เรารู้สึกว่าเมื่อไรจะหลุดพ้นจากความรู้สึกเหล่านี้ เมื่อไรความยากลำบากเหล่านี้จะหมดไปสักที มองไปข้างหน้าก็ไม่เห็นเลยว่ามันจะง่ายขึ้น ด้วยความที่ชีวิตเดือนแรกของลูกมันมีแพตเทิร์น ถ้ามีอะไรหลุดจากแพตเทิร์นนั้นไป เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะต้องจัดการอะไรบ้าง เช่น ปกติลูกกินนมแล้วจะต้องนอน 3 ชั่วโมง แต่ถ้าวันนั้นลูกไม่นอน เอาแต่ร้องไห้ เราก็จะรู้สึกว่า เกิดอะไรขึ้น! ลูกต้องป่วยแน่ๆ! แล้วควรพาไปโรงพยาบาลหรือเปล่า ไหนจะเชื้อโรคอีก… มันคงเป็นกลไกของแม่ที่พยายามจะปกป้องลูกทุกอย่าง สมองกับสัญชาตญาณทำงานหนักมาก คือเราจะไม่มองโลกในแง่ดีเลย มันเป็นความกังวลล่วงหน้าตลอดเวลา ตื่นนอนด้วยความระแวงไปหมด แต่พอผ่านเดือนแรกไปได้ก็เริ่มดีขึ้น
ได้เตรียมใจไว้ไหมว่าเป็นขนาดนี้
ไม่เคยคิดเลย เราคิดว่าตัวเองสุขภาพจิตดีมากเลยนะ เจอปัญหาอะไรก็ผ่านมันไปได้ ตอนก่อนเราจะคลอดก็อ่านหนังสือแนวทางการเลี้ยงลูกเยอะมาก ก็คิดว่าโอเค จะทำตามในหนังสือบอกนี่แหละ จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า ถ้าคลอดลูกแล้วพยาบาลจะให้ลูกเรากินนมผง ให้ปฏิเสธไปเลยนะ เพราะเดี๋ยวเด็กจะติดนมผง จะไม่อยากกินนมแม่ แต่พอถึงวันคลอดจริงๆ เราไม่มีน้ำนม พยาบาลก็บอกว่าตอนนี้น้องเริ่มตัวเหลือง ให้กินนมผงสักหน่อยไหม เราก็ปฏิเสธเลย
แต่พอผ่านไปอีกวัน ลูกเริ่มตัวเหลืองมากขึ้น เราก็โอเค งั้นให้เลยค่ะคุณพยาบาล อยากให้กินอะไรก็ได้หมดเลย (หัวเราะ) เลยทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราอ่านมา สิ่งที่เราเคยมั่นใจว่าจะทำได้ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเราคนเดียว เพราะเราทำได้ แต่ลูกอาจจะทำไม่ได้
พอครบวันลา 3 เดือนแรก กับ 3 เดือนที่ต่อมาที่เริ่มทำงานที่บ้าน…
ตอนนั้นแหละที่ทำให้รู้ว่าคนคนเดียว จะทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย มันไม่สามารถทำได้ เพราะเราไม่มีพี่เลี้ยง เราไม่สามารถมีสมาธิที่จะทำงานได้เลย เลยเริ่มคิดว่าจะต้องทำยังไงดี ก็เลยเริ่มไปหาเนอร์เซอรี่ แต่ก็ยังไม่เจอที่ถูกใจ เลยเริ่มปรึกษากับสามีว่า ถ้าเราไม่ทำงานจะเกิดอะไรขึ้น หรือถ้าทำงานอย่างอื่นแล้วเงินเดือนลดลงจะเป็นอะไรไหม ซึ่งสามีก็โอเค เราก็เลยไปคุยกับเจ้านายว่า ต่อจากนี้จะขอปรับรูปแบบการทำงานเป็นสัญญาจ้างแทน อาจจะเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละครั้งหรือแล้วแต่งานที่ทำ สรุปเราก็เลยได้เลี้ยงลูกเป็นงานหลัก แล้วก็ทำงานอื่นตามโปรเจ็กต์ที่รับผิดชอบ แต่ทำอย่างนั้นได้ประมาณปีกว่า ก็รู้สึกว่าไม่เวิร์ก แล้วบริษัทเองก็อาจจะรู้สึกไม่เวิร์กเหมือนกัน เพราะเขาอาจจะต้องการคนที่พร้อมทำงานเต็มที่ได้มากกว่านี้ ก็เลยตัดสินใจหยุด แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ที่ให้เวลากับลูกเป็นหลัก แล้วก็รับงานอื่นๆ ไปด้วย
“การทำงานเสริมของคุณแม่ฟูลไทม์ที่ดูเหมือนจะยืดหยุ่น แค่ไปรับส่งลูก นอกนั้นก็เป็นเวลาทำงานได้ แต่ความเป็นจริงเราไม่สามารถทำอะไรให้ปะติดปะต่อได้เลย”
การเป็นแม่ฟูลไทม์ที่ยังทำงานไปด้วย ต้องปรับตัวยังไงบ้าง
ปรับเยอะเหมือนกัน อย่างแรกในแง่ของเวลาที่ต้องประชุมหรือติดต่อกับคนอื่น เราก็จะมีเวลาตั้งแต่ 9.00-15.00 น. เพราะลูกไปโรงเรียน แล้วก็ได้แค่นี้นะ ถ้าหลังจากนั้นก็ต้องรอหลังสามทุ่ม
ต่อมาในแง่การแบ่งว่าจะทำอะไรช่วงไหน เพราะถึงแม้จะมีเวลาตั้งแต่ 9 โมง แต่กว่าสมองจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ ก็หลังเที่ยง แล้วพอบ่ายสามก็ต้องไปรับลูกที่โรงเรียนแล้ว การทำงานก็เลยขาดตอนไปด้วย
การทำงานเสริมของคุณแม่ฟูลไทม์ที่ดูเหมือนจะยืดหยุ่น แค่ไปรับส่งลูก นอกนั้นก็เป็นเวลาทำงานได้ แต่ความเป็นจริงเราไม่สามารถทำอะไรให้ปะติดปะต่อได้เลย เหมือนเหมาะกับการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดต่อเนื่องมาก เพราะการมีลูกจะเหมือนมีเวลาเป็นห้วงๆ
อย่างตอนที่ลูกยังเล็ก กินนมเสร็จก็หลับประมาณ 3 ชั่วโมง พอตื่นมาก็กินนม แล้วก็เล่น จากนั้นก็หลับ 3 ชั่วโมง วนไปแบบนี้ แต่พอลูกโตขึ้นมาหน่อย ลูกก็จะตื่นนานขึ้น แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่เราต้องอยู่กับเขา ลูกต้องการเรา มันเลยทำให้เวลาที่เราจะได้อยู่กับตัวเองมันน้อยลง จนไม่สามารถที่จะทำงานเชิงคุณภาพได้ ไม่สามารถครีเอตอะไรใหม่ๆ ได้ถ้าไม่มีสมาธิมากพอ
“เราอาจจะขาดรายได้ ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือการยอมรับนับถือในฐานะทางสังคม คุณค่าของเราเคยผูกกับงาน ตอนนี้ก็เอามาผูกกับลูก แต่ว่ามันก็พาเราไปเห็นโลกใหม่ ไปเจอผู้คนใหม่ๆ ได้เห็นอะไรที่เราไม่เคยคาดคิด เหมือนได้อะไรมา ก็ต้องเสียบางอย่างไป”
เสียดายไหมที่ตัดสินใจเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ทั้งที่ช่วงท้อง หน้าที่การงานก็กำลังไปได้ดี
พูดตรงๆ ก็เสียดายเรื่องเงิน แต่ว่าก็ทำให้เราได้พบกับโลกใบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เราเข้าใจคนที่เขาเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ชีวิตในช่วง 8 โมงถึง 5 โมงเย็นจะอยู่ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในออฟฟิศ หรือร้านอาหารที่คนเยอะในวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ต้องต่อคิว อย่างเราก็ชอบพาลูกไปเพลย์กรุ๊ป วันธรรมดาก็คนน้อย ลูกได้เล่นสบาย เรารู้สึกว่านี่คือพริวิลเลจของคนที่ไม่ได้ทำงาน เราอาจจะขาดรายได้ ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือการยอมรับนับถือในฐานะทางสังคม คุณค่าของเราเคยผูกกับงาน ตอนนี้ก็เอามาผูกกับลูก แต่ว่ามันก็พาเราไปเห็นโลกใหม่ ไปเจอผู้คนใหม่ๆ ได้เห็นอะไรที่เราไม่เคยคาดคิด เหมือนได้อะไรมา ก็ต้องเสียบางอย่างไป
เราเคยมีความคิดเอาไว้ว่าถ้าวันหนึ่งมีลูก ก็คงจะออกจากงานมาเลี้ยงลูกเอง แต่เราก็อยากคุยกับที่ทำงานก่อนว่าให้เราได้มากแค่ไหน เราอ่านในหนังสือเขาก็จะบอกว่าเด็กต้องการแม่ถึง 6 เดือน อย่างในต่างประเทศก็สามารถลาคลอดได้อย่างน้อย 6 เดือน หรือดีที่สุดคือหนึ่งปี ก็เลยคิดว่า อยากให้ลูกอยู่กับเราอย่างน้อยที่สุด 6 เดือนถึงหนึ่งปี แต่พอได้เลี้ยงลูกถึง 6 เดือนแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ได้ว่ะ… มันต้องไปต่อ (หัวเราะ)
ตอนนั้นคิดว่า ลูกยังเล็กมากเลย เพิ่งจะนั่งได้แล้วก็กำลังจะเริ่มกินอาหาร ซึ่งในการเริ่มกินอาหารมันเป็นเรื่องใหญ่มากทั้งแม่และเด็ก เราจะพลาดโมเมนต์นี้ไม่ได้ แล้วลูกก็ไม่สามารถที่จะเริ่มโดยไม่มีเราได้ด้วย อย่างเราตั้งใจจะให้ลูกกินอาหารแบบ Baby Led Weaning ช่วงนั้นยังไม่ได้ลาออก แต่ก็ไปคุยกับที่ทำงานว่าวีกลูกกำลังเริ่มกินอาหาร ขอไม่ไปออฟฟิศนะ เพราะอยากอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของลูก พอผ่านช่วงหัดกิน ก็เริ่มจะคลาน พอคลานได้ก็จะเดิน มันก็ต่อเนื่องเป็นทอดๆ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากอยู่ในทุกสเต็ปที่เขาเติบโต
เป้าหมายของเราคือ อยากรู้ว่ามนุษย์คนหนึ่งเติบโตมายังไง และถ้าพลาดโมเมนต์ไหนไป ก็แสดงว่าเราทำเป้าหมายนั้นไม่สำเร็จ
มีคนบอกว่างานเลี้ยงลูกก็เครียดไม่ต่างกับงานอื่น แม่นิดนกเป็นอย่างนั้นไหม
เครียดมากนะ อย่างแรกคือส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดมักจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอยู่แล้ว แต่เราโชคดีที่รู้ว่าตอนไหนที่กำลังรู้สึกไม่ดี ก็จะต้องหาที่พึ่งทางใจ เช่น โทร. ไประบายกับเพื่อน
ต่อมาเป็นความเครียดเชิงความสัมพันธ์ เพราะเราไม่ค่อยได้เจอคน จากตอนทำงานประจำ เราเจอผู้คนตลอดเวลา แต่พออยู่บ้านเลี้ยงลูก เวลาเห็นเพื่อนนัดออกไปเจอกันก็จะเศร้า ทำไมถึงไม่ได้ออกไปบ้าง ทำไมชีวิตที่เคยสนุกสนานมันหายไป แต่ก็จะมีช่วงที่คุณย่ามาช่วยเลี้ยง เราก็ได้ออกไปใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงบ้าง (หัวเราะ)
สุดท้าย เป็นความเครียดเรื่องคุณค่าของตัวเอง มีหลายครั้งที่เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราพอใจในตัวเองหรือยัง ยิ่งพอเพื่อน คนรอบตัว หรือใครก็ตาม เริ่มทยอยประสบความสำเร็จ เราก็เริ่มกลับมาดูตัวเองว่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอยู่ โดยที่ไม่ต้องพยายามเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับลูกมากเกินไป เพราะไม่อย่างนั้นก็แสดงว่าเหมือนเรากำลังพึ่งพิงลูก ใช้ลูกเป็นอะไรบางอย่างที่เอาไว้เติมเต็มตัวเอง สำหรับเราคิดว่าปัญหาใหญ่สุดคือ เราไม่ได้ทำงานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนเมื่อก่อน ทำให้นานๆ ทีก็ต้องกลับมานั่งทบทวนว่าตัวเรามีคุณค่าต่อใครบ้าง
ส่วนเรื่องที่เสียใจที่สุดคือน่าจะเป็นการที่เราไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์เดิมเอาไว้ได้ เช่น เริ่มคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง ตามเขาไม่ทัน ก็เลยเหมือนเริ่มห่างหายกันไป แต่ว่าพอลูกเข้าโรงเรียน เราก็ได้เจอสังคมใหม่ที่เป็นแม่ๆ เหมือนกัน ได้เจอคนที่คุยเรื่องเดียวกัน
พอพูดถึงรายได้แล้ว คิดว่านอกจากบริหารเวลาแล้วการบริหารรายได้ก็น่าจะยากเหมือนกันหรือเปล่า
เราบริหารได้ไม่ดีเลย (หัวเราะ) คือเราตกลงกับสามีว่า ตอนที่ทำงานประจำ ค่าใช้จ่ายของลูกจะแชร์กันคนละครึ่ง แต่พอเป็นฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอน การแชร์ก็เริ่มต่างกันนิดหนึ่ง กลายเป็นตกลงกันว่าค่าใช้จ่ายเรื่องลูก เธอรับผิดชอบไปเลยนะ ส่วนเราก็ดูแลตัวเอง ถ้าอยากให้ลูกไปเรียนพิเศษเรื่องไหน ก็จะช่วยออกค่าเรียนของลูกบ้าง แต่ว่าสามีเป็นรายได้หลัก และเราจะพยายามดูแลตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเขาโอเค และถ้าเราต้องการความช่วยเหลือ เขาก็ซัปพอร์ตได้
ถือว่าทำได้ดีในแง่การตกลงกับสามี
เราคิดว่าการคุยกันให้เข้าใจมันสำคัญมากๆ ต้องเข้าใจว่าบางคนไม่ได้สมัครใจมาเป็นคุณพ่อคุณแม่ฟูลไทม์ แต่ถ้ามีลูก ก็ต้องมีใครสักคนมาทำงานเลี้ยงลูก อาจจะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ก็ได้ แต่เราชั่งน้ำหนักแล้วว่า สามีน่าจะมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่า โอกาสที่จะเพิ่มรายได้มากกว่า ฉันยินดีเลี้ยงลูกเอง ดังนั้นเราก็ยังต้องไปเป็นทีมนะ
กิจวัตรประจำวันของแม่ฟูลไทม์ที่ทำงานไปด้วยเป็นยังไงบ้าง
เราเอากิจวัตรของลูกเป็นหลัก เริ่มจากเราตื่นนอนก่อนลูก เพื่อเตรียมตัวจัดการกิจวัตรช่วงเช้า แล้วก็ไปส่งลูกที่โรงเรียน เมาท์มอยกับแม่ๆ ตามประสาพอ 9-10 โมงเช้า ก็เริ่มทำงาน ถึงบ่ายสองโมงครึ่ง พอใกล้เวลาที่จะต้องไปรับลูกก็จะไม่ค่อยมีสมาธิแล้ว พอส่งลูกเข้านอน 2-3 ทุ่ม ก็จะเป็นเวลาของเรา บางทีก็ทำงานต่อบ้าง แต่พักหลังก็จะพยายามไม่ทำแล้ว อยากมอบความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวเองบ้าง
แต่ช่วงนี้ลูกเพิ่งขึ้นป.1 ด้วยความที่เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ เขาก็ยังต้องการเราเยอะเหมือนกัน จากที่คิดว่าพอลูก ป.1 เราน่าจะทำงานได้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่าทำอะไรไม่ได้เลย เพราะแม่ก็ต้องเริ่มสังคมใหม่ของตัวเองเหมือนกัน ต้องปรับตัวและมันยังไม่ลงตัวขนาดนั้นแล้วก็เป็นช่วงที่ละเอียดอ่อน เราต้องใช้เวลากับลูก ใกล้ชิดกับลูก ชวนคุยถามไถ่ ถามเรื่องที่โรงเรียนใหม่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ถึงจะได้เวลาว่างคืนมาจริงๆ
เคยคิดไหมว่า พอลูกเริ่มโตแล้วจะกลับไปทำงานประจำ
เคยคิดนะ แต่คิดว่าคงทำไม่ได้แล้ว รู้สึกว่าไม่เก่งเท่าเด็กรุ่นนี้แล้ว สมมติทำงานที่เดิมก่อนที่จะมีลูกเลย เราคิดว่าก็คงทำไม่ได้แล้ว เพราะตัวเราไม่ได้อัปเดตกับโลกใบใหม่ ไม่รู้เลยว่าเขาใช้เครื่องมืออะไรในการทำงาน หรือวิธีการทำงานของคนในองค์กรเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ว่าถ้าเป็นงานประจำในรูปแบบอื่นๆ หรือเป็นงานแบบโปรเจ็กต์ อาจจะเป็นไปได้ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้
นอกจากเวลาที่ได้ใช้กับลูก การเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ให้อะไรเราอีก
มันทำให้เราได้เจอความสนใจใหม่ๆ จากที่เมื่อก่อนสนใจเรื่องการพัฒนาคนและการสื่อสารให้องค์กรประสบความสำเร็จ พอเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ เหมือนเราค้นพบสิ่งที่ตัวเองสนใจว่ามนุษย์คนหนึ่งเติบโตมายังไง ในการเติบโตต้องใช้อะไรบ้าง การศึกษาที่ดีคืออะไร เหมือนมันมีจักรวาลที่กว้างใหญ่ เป็นวงการที่อยู่แล้วเราสนุกไปกับมัน และรู้สึกว่าสามารถอยู่กับมันได้อีกนาน อาจจะเพราะว่างานที่เราทำ มันพาเราไปเห็นข้อสังเกตที่เกี่ยวกับแม่และเด็กเยอะ เช่น วันก่อนเพื่อนเพิ่งพูดว่า “คุณแม่คนหนึ่งเขาอาจจะดูเป็นคนเยอะ จนน่ารำคาญ แต่เพราะว่าเขาเป็นแม่ฟูลไทม์ โลกทั้งใบของเขามีแค่ลูก จึงไม่มีอะไรสำคัญกว่าลูกอีกแล้ว ทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับลูกมันเลยดูเยอะไปหมด” พอเพื่อนพูดแบบนี้เรารู้สึกเห็นด้วย เพราะโฟกัสทุกอย่างมันไปลงที่คนๆ เดียว ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาตามมา แต่ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะเราไม่มีงาน ไม่มีเงิน มีแต่ลูกเป็นที่ยึดเหนี่ยว
สิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ฟูลไทม์ก็การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
เราเข้าใจว่าทุกคนก็ต้องการเห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งพอไม่ได้ทำงาน มันยากมากเลยที่จะรู้สึกว่าวันนี้เราทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม เราจึงต้องหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ก็ต้องพยายามระวังไม่ให้คุณค่าของตัวเองไปพ่วงอยู่กับลูกมากเกินไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST