READING

Great Grandma คุณย่ารุ่นใหม่ ‘รุจิราภรณ์ หวั่งหลี’...

Great Grandma คุณย่ารุ่นใหม่ ‘รุจิราภรณ์ หวั่งหลี’

บ้านที่ต้อนรับเราด้วยสีเขียวของต้นไม้ใหญ่น้อยในสวนที่จัดแต่งอย่างสวยงามและมีระเบียบ เกือบทำให้เราลืมไปว่าเพิ่งผ่านการจราจรแสนสาหัสในซอยสุขุมวิท 49

เรามีนัดกับ คุณเปี๊ยะ—รุจิราภรณ์ หวั่งหลี มัณฑนากรมือวางอันดับต้นๆ คนหนึ่งของประเทศ และน้องปณต หวั่งหลี เด็กชายวัยสามขวบ หลานชายคนเดียวของบ้าน

01
Career Woman

ท่าเรือโบราณริมน้ำเจ้าพระยาที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมและนิทรรศการเอนกประสงค์ของคนรุ่นใหม่อย่าง ‘ล้ง 1919’ ด้วยไอเดียของคุณเปี๊ยะ คุณย่าคนเก่งแห่งบ้านหวั่งหลี

“น่าจะประมาณปีหนึ่งแล้วที่ดิฉันวางมือจากงานไปมาก ช่วงนี้เข้าออฟฟิศอาทิตย์ละสามครั้ง ครั้งละครึ่งวัน จากที่เคยทำงานฟูลไทม์เป็น career woman มาสี่สิบปี ตอนนี้คิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ก็แค่เข้าไปช่วยดูเวลามีปัญหา ไปเซ็นเอกสาร แล้วก็ภาพรวมว่าเราต้องแก้ไขอะไร ทำอะไร สิ่งสำคัญที่ยังทำอยู่คือการไปดูตัวเลข เพราะบริษัทอินทีเรียหลายบริษัทก็เป็น คือทำงานครีเอทีฟกันจนลืมดูเรื่องตัวเลขไปเลย” (หัวเราะ)

ถึงแม้จะออกตัวว่าวางมือจากหน้าที่การงานไปเยอะ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องงาน แววตาของคุณเปี๊ยะก็ยังคงมุ่งมั่นและกระฉับกระเฉง อาจจะมากกว่าหนุ่มสาววัยทำงานอย่างเราด้วยซ้ำ

“แล้วก็ยังเป็นคนวางไดเรกชั่นของบริษัทว่าจะเป็นยังไง จะเดินไปทางไหน ต้องพัฒนาอะไรเพื่อจะให้บริษัทเราเข้าไปสู่ International Level ถ้าเราอยากจะไปอยู่ตรงนั้น มาตรฐานของเราก็จะต้องสูงขึ้นไปอีก”

ส่วนแพลนระยะยาวที่จะหันมาดำรงตำแหน่งคุณย่าฟูลไทม์เมื่อไรนั้น คุณเปี๊ยะบอกว่า ตอนนี้ก็วางใจคล้ายกับได้วางมือจากงานมาในระดับหนึ่ง เพราะที่บริษัทนอกจากจะมีพาร์ตเนอร์หลายคนช่วยกันดูแล ก็ยังมีพนักงานที่คุณเปี๊ยะเคยส่งไปเรียนต่อต่างประเทศและกลับมาช่วยเป็นกำลังสำคัญในบริษัท

“พอเขาทำงานกับเรานานๆ เราก็ส่งเขาไปเรียนปริญญาโท พอกลับมาก็มีความมั่นใจขึ้น ได้ภาษา ได้รู้ว่าฝรั่งก็ไม่ได้เก่งไปกว่าเราเลย เพราะจริงๆ แล้วเด็กไทยมีความสามารถเยอะมาก แต่บางคนก็ขาดประสบการณ์ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ออกไปเห็นอะไรด้วยตัวเอง”

02
คุณย่า

“ธรรมชาติมันไม่มีการปรุงแต่ง ถ้าเขารักธรรมชาติ รักต้นไม้ รักสัตว์ได้ โตขึ้นไปเขาก็คงจะจิตใจดี อ่อนโยน มันเป็นการสอนโดยที่เราไม่ต้องไปปากเปียกปากแฉะบอกเขา ให้เขาซึมซับและมันจะกลายเป็นธรรมชาติของเขา”

น้องปณตเดินเข้ามาทักทายพวกเราและพี่เข้มพี่ไข่—สุนัขสองตัวของคุณเปี๊ยะและเพื่อนซี้ประจำบ้านของน้องปณต

“หน้าที่เลี้ยงหลานเป็นของคุณพ่อคุณแม่เขา จริงๆ ต้องบอกว่าดิฉันไม่ใช่คนชอบเด็กสักเท่าไร รักสัตว์มากกว่า (หัวเราะ)”

คุณเปี๊ยะตอบคำถามพร้อมกับสอดส่ายสายตาดูว่าน้องปณตทักทายเพื่อนสี่ขาทั้งสองอย่างไร

“เด็กนี่เขาวุ่นวายมาก ดิฉันเอาไม่อยู่ ถ้าจะมาอยู่ด้วยนานๆ ต้องมีพี่เลี้ยงมาช่วย แต่ส่วนมากเขาจะมาเจอ มาเล่นด้วยกัน แล้วย่าก็คอยสอนเขาเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่า”

ถึงแม้คุณย่าจะออกตัวว่ารักสัตว์มากกว่ารักเด็ก แต่น้องปณตก็ดูเหมือนจะคุ้นเคยและมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างมากตอนอยู่กับคุณย่า ทำให้เราแอบแน่ใจว่าย่าหลานคู่นี้ต้องผ่านการใช้เวลาและมีประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันมาไม่น้อย

“เราอยากให้เขาเป็นเด็กที่โตมากับธรรมชาติ แต่คุณแม่เขาเป็นหมอก็ไม่ค่อยมีเวลา ดิฉันก็เลยเป็นคนพาไปเล่นนอกบ้าน พาไปเห็นอะไรที่เป็นธรรมชาติ ปณตเป็นเด็กที่ชอบเล่นอยู่นอกบ้าน เวลาพาเขาออกไปเดินเล่นข้างนอกเจอกบ เจอหอยทาก ก็จะคอยบอกเขาว่าไม่ต้องกลัว สัตว์ก็เป็นเพื่อนร่วมโลก แล้วก็สอนให้เขาเห็นแล้วก็เอนจอยกับมัน ไม่จำเป็นต้องพาไปเที่ยวดูอะไรแพงๆ ออกมารอบบ้านก็มีอะไรให้เขาได้เห็นมากแล้ว”

พอพูดถึงสัตว์ ปณตก็เอ่ยชื่อ ‘พี่ทอง’—ตัวละครลับอีกตัวหนึ่งในบ้าน ซึ่งคุณเปี๊ยะบอกว่าเดี๋ยวคุยกันตรงนี้เสร็จแล้วจะให้น้องปณตพาเราไปหาพี่ทองสักหน่อย

“ธรรมชาติมันไม่มีการปรุงแต่ง ถ้าเขารักธรรมชาติ รักต้นไม้ รักสัตว์ได้ โตขึ้นไปเขาก็คงจะจิตใจดี อ่อนโยน มันเป็นการสอนโดยที่เราไม่ต้องไปปากเปียกปากแฉะบอกเขา ให้เขาซึมซับและมันจะกลายเป็นธรรมชาติของเขา”

หลายนาทีแล้วที่น้องปณตยังคงวอแวอยู่กับพี่เข้มพี่ไข่ของเขาไม่ห่าง จนคุณเปี๊ยะต้องหันไปปรามไม่ให้น้องปณตกวนใจพี่ทั้งสองมากเกินพอดี

“ด้วยความที่เขาเด็ก บางทีเขาก็ตีหมา บางก็เอาเท้าเขี่ย แต่ใจจริงเขาก็ต้องรัก เพราะเขาโตมาด้วยกัน” คุณเปี๊ยะพูดอย่างเข้าใจ

03
ความรักที่ให้หลานเป็นเรื่องสบายใจ

“หน้าที่เราคืออยากให้เขามีความสุข
ส่วนจะอยากให้ทำอะไรเป็นอะไร นั่นมันหน้าที่ของพ่อแม่เขา”

ดูเหมือนที่เราเคยเข้าใจว่าคนเป็นพ่อแม่รักลูกอย่างไร ปู่ย่าตายายย่อมรักลูกของลูกยิ่งกว่าเป็นสองเท่าจะเป็นหลักการที่ใช้ไม่ได้ เพราะคุณเปี๊ยะบอกกับเราว่าการเลี้ยงลูกกับเลี้ยงหลานไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ความแตกต่างอยู่ที่วุฒิภาวะและประสบการณ์ชีวิต

“ตอนเลี้ยงลูกเราก็อายุน้อย ยังไม่มีประสบการณ์ แต่เรามีความอยากเยอะมาก อยากให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าเขาเป็นลูกของเรา มันเลยมีตัวตนของเราเยอะเหลือเกิน

แต่พอเป็นหลานก็อายุมากขึ้น เรา wiser เพราะว่าเรามีประสบการณ์ชีวิตพอที่จะรู้ว่ามันไม่มีอะไรได้อย่างใจไปทุกอย่าง แต่ถ้าเราสอนให้เขาเป็นคนดี สอนให้เขามีความรับผิดชอบ ทุกอย่างที่จะตามมามันก็ควรจะดี…”

การสนทนาถูกคั่นจังหวะเล็กน้อยจากแก๊งเพื่อนตัวจิ๋วของน้องปณต ซึ่งคุณเปี๊ยะบอกว่าเด็กๆ จะมารวมตัวกันที่บ้านเพื่อเรียนภาษาจีนสัปดาห์ละครั้ง

“ความรักหลานมันเป็นรักแบบสบายใจ พูดถึงนึกถึงแล้วยิ้มได้ เพราะว่าเราไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องแบก เขามีพ่อแม่ของเขาอยู่ เราแค่คอยให้ความรัก ให้ความอบอุ่น ดูเขาจากวงนอกแล้วก็ไกด์อยู่ไกลๆ แต่ถ้ามันจะผิดเพี้ยนไปเราก็ทำอะไรไม่ได้หรอก เราแค่ต้องทำส่วนของเราให้ดีที่สุด”

คุณเปี๊ยะหันไปทักทายเพื่อนๆ ของหลานเรียบร้อยแล้วก็ไม่ลืมที่จะหันกลับมาพูดถึงความแตกต่างระหว่างการเป็นคุณแม่และคุณย่ากับเราต่อ

ไม่ใช่แค่สนิทสนมกับหลาน แต่คุณเปี๊ยะยังเผื่อแผ่ความใจดีไปถึงเพื่อนๆ ตัวจิ๋วของหลานชายที่เราต้องส่งช่างภาพมาชวนเด็กๆ แยกออกไปถ่ายรูป ก่อนที่การพูดคุยจะวุ่นวายกันไปใหญ่

“ดิฉันเป็นคนดุนะคะ เมื่อก่อนเวลาทำงานดุมาก อารมณ์ร้อนและไม่ค่อยน่ารัก กับลูกก็ดุมาก สมัยเลี้ยงพ่อเขา แค่มองตาก็หยุดแล้ว แต่กับหลานนี่ไม่ดุเลย ปณตไม่ค่อยดื้อ ย่าก็เลยใจดีกับเขา อย่างที่บอกว่าความรักลูกกับรักหลานมันต่างกัน เพราะลูกจะมีความเป็นตัวแทนของเราสูงมาก เราอยากให้เขาเป็นแบบที่เราอยาก แต่หลานนี่หน้าที่เราคืออยากให้เขามีความสุข ส่วนจะอยากให้ทำอะไรเป็นอะไร นั่นมันหน้าที่ของพ่อแม่เขา”

04
Generation Gap

ครอบครัวใหญ่หลายครอบครัวอาจจะมีปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างเจเนเรชั่น พ่อแม่หาข้อมูลมาอย่างหนึ่ง ปู่ย่าตายายก็เคยมีประสบการณ์มาอย่างหนึ่ง กลายเป็นความขัดแย้งในการเลี้ยงดูสมาชิกรุ่นเล็กที่สุดในบ้าน แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่

“เราต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ คือไม่เข้าไปก้าวก่ายเขามากเกินไป คือถ้าเรามีความเห็น ก็อาจจะแสดงความเห็นได้ แต่เราต้องไม่ไปบังคับให้เขาใช้ความเห็นเราเลี้ยงลูกเขา เพราะยังไงก็เป็นลูกของเขา ถึงแม้ว่าจะเป็นหลานของเราก็เถอะ ถ้าเราไปฝืนมันก็จะเกิดความขัดแย้งแล้วก็จะอยู่กันไม่มีความสุข คนที่อยู่ตรงกลางก็จะลำบากใจ”

05
จุดเปลี่ยน

ตอนที่เรามาถึง คนในบ้านเอาน้ำเย็นใส่แก้วใสมาเสิร์ฟ ส่วนของน้องปณตเป็นน้ำส้มคั้นในแก้วพลาสติกสีขุ่นใบเล็ก พอปณตเห็นแล้วก็บ่นอุบว่าทำไมแก้วของตัวเองเป็นพลาสติก จนพี่เลี้ยงต้องอธิบายว่ามันเป็นแก้วรียูส ปณตจึงยอมเข้าใจแต่โดยดี

คุณเปี๊ยะบอกกับเราว่าตัวเองไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน เพิ่งมาเริ่มให้ความสำคัญไม่นานนี้ โดยมีน้องสาวที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศเป็นแรงบันดาลใจ

“เมื่อก่อนดิฉันก็เป็นคนทำงาน อยู่ในสังคมที่ไม่ได้มานั่งคิดถึงสิ่งแวดล้อม แต่น้องสาวเป็นคนที่แคร์และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เขาก็ค่อยๆ มาบอกว่าให้เลิกทำอะไรบ้าง เลิกใช้พลาสติกบ้าง เราก็เริ่มซึมซับมาจากเขา”

เป็นเรื่องธรรมดาที่ช่วงแรกของการพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในบ้าน ย่อมได้รับผลตอบรับที่ไม่ค่อยดีนัก

“ถึงแม้ว่าเราจะช่วยไม่ได้มากไม่ได้ แต่ก็ช่วยเท่าที่เราช่วยได้ เริ่มทำกันเองในบ้าน เริ่มสอนลูกสอนหลาน สอนเด็กในบ้านให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมบ้าง แรกๆ เขาก็รำคาญกันนะคะ เคยทิ้งขยะกันโครมๆ ทำไมต้องยุ่งยาก แต่น้องสาวก็มาอธิบาย เขาก็ค่อยๆ เข้าใจกันไป”

06
คนเก็บของเก่าคือผู้ให้ความรู้

ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดก็คือตัวเองและคนรอบข้าง สิ่งแรกที่คุณเปี๊ยะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านก็คือแยกขยะ แต่ไม่ใช่คิดจะแยกอย่างไรก็แยก ต้องมีการหาความรู้มาก่อน

“น้องสาวดิฉันไปคุยกับคนขับซาเล้งที่มาเก็บของเก่าที่บ้าน ไปรอถามเขาตอนกลางคืนว่าเวลาเก็บของจากเราไป มีอะไรที่ใช้ได้บ้าง เรื่องแบบนี้ต้องขอความรู้จากเฟิสต์แฮนด์ใช่ไหมคะ ซึ่งซาเล้งนี่แหละคือคนที่ให้ข้อมูลได้ว่าของอะไรมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ อะไรเก็บไปแล้วใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้”

หลังจากนั้นคุณเปี๊ยะก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ และเมื่อคนในบ้านเห็นความเอาจริงเอาจัง ทุกคนก็เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเหมือนกัน

“มานึกตอนนี้แล้วรู้สึกว่าเมื่อก่อนตัวเองแย่มาก ที่ไม่เคยนึกถึงเรื่องพวกนี้เลย เรียกว่าคิดแต่เรื่องงาน เรื่องออฟฟิศ ในขณะที่คนอื่นเขาก็ทำงานเหมือนกัน แต่เขาไม่มองข้ามก็มี แต่ดิฉันคิดว่ามันไม่มีอะไรที่สายเกินไป ถึงเราอายุมากแล้วเพิ่งเริ่มมาทำ แต่เรารู้ตอนนั้น เราก็ทำตอนนั้น แล้วก็ทำให้ดีที่สุดในความสามารถที่เราทำได้ จะให้ดิฉันไปทำหรือไปบอกกับคนเยอะๆ ดิฉันก็ทำไม่ได้ เพราะงั้นเราก็ทำในส่วนที่เราทำได้”

07
เริ่มจากแยกขยะสู่การรียูส

“เขาไม่ได้มีรีแอกชั่นกับใคร แต่ว่าเขาจะไม่ทำอย่างนั้น พูดตรงๆ คือเขาเด็กเกินไปที่จะแสดงออกกับเรื่องแบบนี้ แต่ย่าจะบอกเขาว่า เราจะไม่ทิ้งขยะลงบนถนน”

“เป็นเรื่องการรียูส ปณตเขาจะไม่กินอะไรแล้วเหลือทิ้ง เขาจะพยายามกินให้หมด รู้จักการ zero waste ไม่ใช่อะไรเหลือก็ทิ้ง เพราะเราบอกให้เขาเห็นคุณค่าของทุกอย่าง กินก็กินให้หมด หรือเวลาไปข้างนอกเขาก็จะมีขวดน้ำประจำตัว ไม่ต้องไปซื้อน้ำกินข้างนอก ดิฉันก็พยายามทำอย่างนั้น แล้วปณตก็ให้ความร่วมมือดีทีเดียว”

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา ต่อให้มีความตั้งใจดีมากแค่ไหน พอออกไปนอกบ้าน ความสะดวกสบายและพฤติกรรมของคนในสังคมก็มีส่วนทำให้เราหลงลืมและคล้อยตาม เช่น ไม่มีน้ำดื่มให้เติม ไม่มีถังให้แยกขยะ หรือเห็นคนอื่นมีพฤติกรรมตรงข้ามกับที่ตัวเองเรียนรู้มา เด็กอย่างน้องปณตจะหนักแน่นต่อคำสอนของคุณย่าได้อย่างไร

“เขาไม่ได้มีรีแอกชั่นกับใคร แต่ว่าเขาจะไม่ทำอย่างนั้น พูดตรงๆ คือเขาเด็กเกินไปที่จะแสดงออกกับเรื่องแบบนี้ แต่ย่าจะบอกเขาว่า เราจะไม่ทิ้งขยะลงบนถนน เพราะฉะนั้นเวลาเขาแกะขนมหรือมีขยะในมือเขาก็จะถือไว้อย่างนั้น รอจนกว่าจะได้ไปทิ้งในถังขยะ”

08
ความคาดหวัง

เห็นคุณเปี๊ยะจริงจังกับการสอนและฝึกน้องปณตให้เป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เราก็แอบคิดว่าในสายตาผู้ใหญ่ คงแอบคาดหวังอะไรไว้กับเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของโลกเราไม่น้อย

“เขาอายุแค่นี้เราไม่ต้องไปบอกให้เขา save earth เขาแค่ต้องเริ่มจากตัวเขาเอง และมีวินัยในตัวเองเพียงพอ รับผิดชอบต่อสังคมในส่วนของตัวเองเท่านั้นก็พอ เขายังเล็ก ดิฉันคิดว่าเราอย่าไปหวังว่าเขาจะต้องเปลี่ยนโลก แต่พอเขาโตขึ้นเขาก็จะทำอะไรได้มากขึ้นเอง

แต่ถ้าเป็นไปได้ก็คงอยากให้เขาดูแลตัวเองได้ ช่วยเหลือสังคมได้ อยากให้เขาเป็นคนที่มีความสุขกับการให้มากกว่าการรับหรือการเป็นคนที่อยากได้นั่นได้นี่ คิดว่าถ้าเราปลูกฝังให้เขาเป็นเด็กที่มีความสุขกับการให้ เขาก็คงจะโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ อย่างอื่นมันก็คงขึ้นอยู่เหตุปัจจัย เราคิดว่าเราให้เขาทั้งอาหารกายและอาหารสมอง แล้วก็สอนเขาเรื่องจิตใจ เราก็ทำส่วนของเราให้เต็มที่ แต่ว่าจะไปหวังมาก สุดท้ายมันก็ต้องแล้วแต่เขาอยู่ดี”

09
เชื่อว่าครอบครัวเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ

“เด็กควรได้อยู่กับครอบครัวที่สอนให้เขาเป็นคนรับผิดชอบ สอนให้รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี รู้ผิดชอบชั่วดี เพราะคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะไปบอกให้เขาสนใจเรื่องอะไร ใส่ใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น ดิฉันเชื่อว่ามันสำคัญที่ตัวคนและคนก็สร้างมาจากครอบครัว เช่น เด็กที่เห็นว่าการชกต่อยและใช้กำลังเป็นเรื่องธรรมดา อาจเป็นเพราะครอบครัวเขามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สมมติเป็นลูกหลานดิฉัน ถ้าไปต่อยหรือทำร้ายร่างกายคนอื่นมันไม่ธรรมดา เราลงโทษทันที เด็กก็จะรู้ว่าเขาต้องไม่ทำ เขาทำแบบนี้ไม่ได้

แต่ละคนก็มีทางของตัวเอง เราอย่าไปหวังอะไรในอนาคตมากเลย ปัจจุบันนี่แหละทำให้มันดีที่สุด แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีอะไรเหมือนกันทั้งหมด คุณมาสัมภาษณ์ดิฉัน ดิฉันก็อาจจะพูดง่าย เพราะดิฉันมีปัจจัยที่พอจะทำได้ แต่บางคนเขาต้องทำงานทั้งวัน เลิกงานก็เหนื่อยมากแล้ว จะไปคาดหวังให้เขามีเวลาทำอะไร บางทีชีวิตมันก็ไม่ได้แฟร์ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเราโชคดีแล้วก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้มันดีที่สุด”

10
สมัยไหนก็มีคำว่า ‘เด็กสมัยนี้…’

บ่อยครั้งที่เราได้เห็นผู้ใหญ่เปรียบเทียบความแตกต่างของคนในแต่ละยุคสมัย คำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ มักถูกนำมาใช้เชิงตำหนิว่าสู้เด็กสมัยก่อนหน้าไม่ได้

“ไม่ค่อยอยากคิดว่าเจเนเรชั่นนี้เป็นยังไง เจเนเรชั่นต่อไปจะเป็นยังไง เหมือนทุกวันนี้ได้ยินคนบ่นว่า ‘โอ๊ย เด็กสมัยนี้…’ แต่สมัยก่อน เราก็เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดแบบนี้ถูกไหมคะ มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด อยู่ที่ใครจะพูดตอนไหนมากกว่า ถ้าจะบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีสัมมาคารวะ แต่คุณเคยอ่านเรื่องสี่แผ่นดินใช่ไหม ตอนนั้นแม่พลอยก็โดนว่าแบบนี้มาก่อน มันก็เป็นแบบนี้แหละค่ะ” (หัวเราะ)

ก่อนการพูดคุยจะจบลง น้องปณตแยกจากกลุ่มเพื่อนกลับมาหาคุณย่าของเขาอีกครั้ง ช่วงหนึ่งของบทสนทนาระหว่างคุณย่ากับหลานชายคือการถามตอบว่ามาเรียม (ลูกพะยูนที่เพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้าวันสัมภาษณ์ไม่นาน) เป็นอะไรตาย น้องปณตจึงอธิบายด้วยความเข้าใจแบบเด็กๆ ว่า มาเรียมกินพลาสติกเข้าไป จึงปวดท้องตาย…

หลังจากนั้นก็เป็นเวลาที่คุณเปี๊ยะพาเราเดินดูเรื่องการจัดการขยะภายในบริเวณบ้าน ที่ห้องครัว มีถังขยะหลายใบเรียงรายในจุดที่สะดวกต่อการแยกและทิ้งขยะมากที่สุด ลานหลังบ้าน ก็มีถังขยะสีเขียว แดง เหลือง น้ำเงิน ใบใหญ่เอาไว้แยกขยะประเภทต่างๆ ซึ่งน้องปณตก็มีความแม่นยำในการจำได้ว่าขยะอะไรควรทิ้งลงในถังสีอะไรได้เป็นอย่างดี

และสุดท้าย ก็คือการแวะทักทาย ‘พี่ทอง’—ตะพาบน้ำสีเผือกที่คุณเปี๊ยะรับอุปการะมาจากคนงานตอนทำโปรเจ็กต์ล้งด้วยกัน น้องปณตส่งเสียงเรียกพี่ทองที่นอนแอบอยู่ใต้กอบัวในสระปูนเล็กๆ ที่มีตาข่ายล้อมแน่นหนา

เราถามคุณเปี๊ยะว่า ตาข่ายมีไว้ป้องกันอะไร คำตอบที่ได้ก็คืองูเหลือมตัวใหญ่ ที่คุณเปี๊ยะเห็นใจไม่ยอมเรียกเจ้าหน้าที่มาจับ ขอแค่ต่างคนต่างอยู่และไม่มากินสมาชิกในบ้านหลังนี้เป็นอาหารก็พอ


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST