READING

Home school ไม่ใช่การเก็บลูกไว้แต่ในบ้าน: คุยกับคุ...

Home school ไม่ใช่การเก็บลูกไว้แต่ในบ้าน: คุยกับคุณแม่แนน เจ้าของเพจ Homeschool No50 บ้านเรียนเลขที่ 50

homeschool no.50

ตั้งแต่การเรียนออนไลน์ เข้ามาเป็นหนึ่งในทางออกที่จะทำให้ระบบการศึกษาของเด็กๆ ยังคงดำเนินต่อไปได้ (แม้จะติดขัดอยู่บ้างเล็กน้อย) ในเวลาที่ประเทศต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19

การศึกษาทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ academy หรือศูนย์การเรียนรู้ที่มีวิธีการเรียนการสอนเฉพาะตัว รวมไปถึงการทำ home school หรือ ‘บ้านเรียน’ ก็เริ่มเข้ามาอยู่ในความสนใจของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เรารู้กันดีว่า โฮมสกูล หรือ บ้านเรียน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่พ่อแม่ทุกคนจะรู้จักและคุ้นเคยจนสามารถวางใจเลือกให้ลูกเล่าเรียนในเส้นทางนี้ได้โดยไม่ต้องหาข้อมูลซ้ำไปซ้ำมาวันละหลายๆ รอบ และคงไม่มีใครที่จะให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ดีไปกว่าครอบครัวที่มีประสบการณ์ตรงมาก่อน

เรามีนัดกับครอบครัว น. หนู คุณพ่อคุณแม่แนน (ชื่อเดียวกัน) เจ้าของเพจ Homeschool No50 บ้านเรียนเลขที่ 50 ที่ให้ข้อมูลดีๆ เกี่ยวการทำโฮมสกูลจากประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เลือกจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกชายทั้งสองคน นิวตั้น (8 ปี) กับโนแม็กซ์ (5 ปี) ให้ได้มากที่สุด

จุดเริ่มต้น

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเตรียมตัวมองหาโรงเรียนให้ลูกคนโต ช่วงนั้นเริ่มต้องพาน้องนิวตั้นไปเนอร์เซอรี่ เราก็เจอปัญหามากมาย และที่หนักใจที่สุดคือ เราฝึกนิวตั้นเป็นเด็กสองภาษา แต่พอไปเนอร์เซอรี่ทำให้การพูดสองภาษาของเขาสะดุด นิวตั้นไม่ยอมพูด เพราะที่นั่นไม่มีใครใช้ภาษาอังกฤษกับเขา

จนกระทั่งมีรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ก็เลยคุยกับเขาเรื่องลูก เขาก็แนะนำให้ลองศึกษาเรื่องโฮมสกูล แนนก็เลยลองหาข้อมูล เราเริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ เพราะไม่เคยมีความรู้เรื่องนี้มาก่อน เรามี คำถามในใจก็มากมายเต็มไปหมด จนไปเจอเพจ homeschool network ซึ่งเป็นหนึ่งในเพจของเครือข่ายสังคมโฮมสกูลในประเทศไทย และมีคำตอบเกี่ยวกับการทำโฮมสกูลแทบทุกอย่างที่เราสงสัย นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักกับโลกของชาวโฮมสกูล

ตอนนั้นคิดแค่ว่า เรายังไม่เจอโรงเรียนที่พอดีกับวิถีชีวิตของครอบครัวเรา แต่พอได้ศึกษาข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่า ความจริงแล้วเด็กช่วงปฐมวัย เราสามาาถเตรียมความพร้อม และทักษะที่จำเป็นต่างๆ ให้กับลูกเองได้ เช่น การช่วยเหลือตัวเอง ความมีระเบียบวินัย คิดแค่นี้ก่อนจริงๆ ค่ะ ยังไม่ได้คิดไปไกล เราคิดกันแค่จะทำโฮมสกูลช่วงอนุบาลเท่านั้น

“ถ้าเรารู้ว่าลูกชอบอะไร เราก็เอาสิ่งนั้นเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ ลูกจะได้เรียนแบบมีความสุข แล้วเขาจะไปได้เร็วมาก เพราะสิ่งที่เรียนรู้สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้”

เริ่มต้นด้วยการเรียนการสอนเป็นแบบไหน

เราจะเน้นให้ลูกเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ทั้งหมดสมมติว่า ลูกในวัย 2-3 ขวบ ชอบเล่นต่อเลโก้ เราก็จะใช้เลโก้เป็นสื่อในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เช่น นับเลข นับจำนวน แยกสี หรือว่าลูกชอบทำอาหาร  ก็สามารถเรียนรู้คำศัพท์ด้วยอาหารหรือขนมหวานก็ได้

ถ้าเรารู้ว่าลูกชอบอะไร เราก็เอาสิ่งนั้นเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ ลูกจะได้เรียนแบบมีความสุข แล้วเขาจะไปได้เร็วมาก เพราะสิ่งที่เรียนรู้สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

เรื่องไหนที่ลูกเด่นเราก็เน้นไป แต่เรื่องไหนที่ลูกอ่อนก็ค่อยๆ หาทางให้เขา แต่ถ้าเรื่องไหนที่เขาไม่เอาจริงๆ ก็พับเก็บไปก่อน ไม่ต้องรีบร้อน การไปเร่งให้ลูกเรียน โดยที่ใจเขายังไม่พร้อม ก็อาจทำให้เขาไม่สนุกกับการเรียนรู้และไม่อยากเรียนอีกเลย

แปลว่าลูกชายทั้งสองคนก็อาจจะไม่ได้เรียนเหมือนกันไปทั้งหมด

เราใช้หลักเดียวกัน คือเอาความชอบของลูกเป็นศูนย์กลาง ลูกทั้งสองคนก็มีบางอย่างที่ชอบเหมือนกันและไม่เหมือนกัน อย่างลูกคนโตชอบเกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไก ลูกคนเล็กชอบทำอาหาร เราก็เอามาประยุกต์เหมือนเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เรื่องอื่นไปในตัว และจัดกิจกรรมเสริมทักษะตามแบบที่แต่ละคนชอบเลย

อย่างครอบครัวเรา ตอนนี้น้องนิวตั้นจะเรียนที่บ้านอาทิตย์ละ 3 วัน แล้วก็ออกมาเรียนกับกลุ่มเพื่อนที่อายุไล่เลี่ยกัน มีความสนใจคล้ายกัน กลุ่มเด็กๆ ที่เรียนโฮมสกูลเหมือนกันมีเยอะมากนะคะ กิจกรรมก็เยอะ เด็กโฮมสกูลสมัยนี้ ก็เลยได้มีเพื่อนวัยเดียวกัน มีสังคมห้องเรียน ไม่ต่างจากเด็กๆ ที่เรียนในระบบเลย

“ส่วนข้อเสียที่หลายคนจะกังวลว่าทำโฮมสกูลแล้วลูกจะไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม หรือปรับตัวไม่ได้ อันนั้นเป็นความคิดที่คาดเดาของคนที่ไม่ได้ทำโฮมสกูลมากกว่า เพราะมันไม่จริงเลย การทำโฮมสกูลไม่ใช่การเก็บลูกไว้แต่ที่บ้าน”

คิดว่าพ่อแม่หลายบ้านน่าจะกังวลเรื่องข้อดีและข้อเสียของการทำโฮมสกูลอยู่ดี

แนนมองว่าจริงๆ ข้อดีและข้อเสียมันแล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนมากกว่า คนที่ยังไม่เคยได้ลองทำก็อาจจะมองเห็นข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกับคนที่ทำมาแล้วหลายปี

ถ้าให้ยกตัวอย่าง ข้อดีก็คงจะเป็น หนึ่ง—โฮมสกูลเป็นทางออกของครอบครัวที่ลูกมีปัญหาทางสุขภาพ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้เหมือนเด็กทั่วไป สอง—สามารถเลือกเรียนตามความต้องการ ตามความถนัดของเด็กได้ สาม—ตัดปัญหาใช้วลาเดินทางวันละหลายชั่วโมง สี่—ลดปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้ ห้า—จัดสรรค่าใช้จ่ายได้ตามความสะดวกของครอบครัว

ส่วนข้อเสียที่หลายคนจะกังวลว่าทำโฮมสกูลแล้วลูกจะไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม หรือปรับตัวไม่ได้ อันนั้นเป็นความคิดที่คาดเดาของคนที่ไม่ได้ทำโฮมสกูลมากกว่า เพราะมันไม่จริงเลย การทำโฮมสกูลไม่ใช่การเก็บลูกไว้แต่ที่บ้าน แต่มันคือการพาลูกออกไปเรียนรู้โลกภายนอก ให้เขาได้เจอประสบการณ์ด้วยตัวเอง

แต่นอนว่าก็ทุกอย่างย่อมมีข้อเสีย เช่น  เวลาส่วนตัวลดลง บางครอบครัวอาจจะสอนลูกเองไม่ได้ ทำโฮมสกูลแล้วลูกไม่เป็นอย่างที่หวัง การเรียนรู้อิสระมากจนไร้ทิศทาง หรือพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายมากเกินไปจนลูกเสียโอกาสในการเรียนรู้

แนนมองว่าทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ไม่มีระบบไหนที่ดีที่สุดในโลกถ้าผู้ใช้งานใช้ระบบนั้นไม่เป็น โฮมสกูลก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดการยังไงของเรา มันอยู่ที่ตัวเราเองทั้งนั้น

ในสายตาครอบครัวโฮมสกูลมองว่าระบบการศึกษาในโรงเรียนตอนนี้เป็นอย่างไร

ก็อย่างที่เห็นกันอยู่เลยค่ะ (หัวเราะ) ความรู้ในโรงเรียนของพวกเราส่วน ใหญ่เลือนหายไปหมดในเวลาสั้นๆ เพราะมันไม่มีจุดเชื่อมโยงกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เรื่องที่เด็กควรรู้ก็ไม่มีในหลักสูตร เรื่องที่อยู่ในหลักสูตรก็เป็นเนื้อหาเก่าเก็บ ปรับใช้ในโลกปัจจุบันแทบไม่ได้แล้ว

ลูกทั้งสองคนเคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงไม่ต้องไปโรงเรียน

ไม่เคยค่ะ เพราะเราอธิบายให้ลูกฟังตลอดว่ามีโรงเรียนไว้ทำไม เราต้องเรียนไปเพื่ออะไร และเราสามารถเรียนได้ด้วยวิธีไหนได้บ้างโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน และลูกก็สามารถไปโรงเรียนได้ ถ้าวันหนึ่งเขาอยากจะไปขึ้นมา

ทักษะสำคัญสำหรับพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเรียนโฮมสกูล

ทักษะการจัดการค่ะ เพราะเราต้องเป็นคนวางแผนจัดการเส้นทางการศึกษาทั้งหมดของลูก ถึงแม้ว่าเราจะสอนเองไม่ได้เรายังสามารถวางแผนจัดการหาคนมาสอนได้ ในระหว่างทางเมื่อพบปัญหาเราต้องจัดการแก้ไข ประเมินสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนแผนของลูกไปตามจังหวะในแต่ละช่วงชีวิตให้ได้

นอกจากทักษะแล้ว อะไรคือสำคัญในการทำโฮมสกูลอีก

เป้าหมายและวินัยของเราเองค่ะ แนนเจอพ่อแม่ที่ทำโฮมสกูลให้ลูกแทบทุกอาชีพ ทุกวงการในสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ด้วยซ้ำ

แต่รายละเอียดการทำโฮมสกูลมันยิบย่อยมากๆ ไม่มีหน่วยงานไหนป้อนข้อมูลให้คุณได้ครบถ้วนและถูกต้องทั้งหมด นอกจากคุณต้องขวนขวายเอาเอง วิเคราะห์ข้อมูลเอาเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือเป้าหมายและระเบียบวินัยที่เราต้องมี

คนที่ทำโฮมสกูลจนลูกโต ส่วนใหญ่จะบอกคล้ายๆ กันว่าไม่ต้องไปกังวลว่าจะสอนอะไร เพราะพอถึงวัยที่ลูกพร้อมจะเรียนรู้ เขาจะจัดสรรให้ตัวเองโดยที่เราแทบไม่ต้องไปสอนอะไรเขา เรามีหน้าที่กระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้ และคอยสนับสนุนเรื่องสภาพแวดล้อมและสร้างวินัยให้เขาก็พอแล้วค่ะ

ถ้ามีเป้าหมายและระเบียบวินัยแล้ว สามารถพูดได้ไหมว่า ใครก็ทำโฮมสกูลให้ลูกได้ 

อันนี้ตอบยากค่ะ ถามว่าใครก็สามารถทำได้ไหม คิดว่าทำได้ ถ้าศึกษาหาข้อมูลมาดีแล้ว ปรึกษาและหาข้อสรุปกันในครอบครัวดีแล้ว และพอลงมือทำแล้วพบว่ามันตอบโจทย์ มันเหมาะสมกับวิถีชีวิตของครอบครัว

แต่ถ้าลองทำแล้วคิดว่าจัดการไม่ได้ รู้สึกอึดอัด รู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกกังวล หรือไม่มั่นใจ ก็อาจจะเรียกว่าทำไม่ได้ มันต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง และต้องลองทำด้วย เพราะถ้ายังไม่ได้ลองแล้วจะตัดสินว่าทำไม่ได้เลยก็คงไม่ได้

ถ้าจะต้องแนะนำพ่อแม่ที่อยากเริ่มอยากลองทำโฮมสกูล

พ่อแม่ต้องคุยกันก่อนค่ะ ทั้งสองคนจะต้องมี mind set เรื่องโฮมสกูลไปในทิศทางเดียวกันก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนนึงฝืนทำโดยที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย  ไม่รับรู้ หรือไม่มีส่วนร่วม ปัญหาก็จะตามมาอีกเยอะ

แนนคิดว่าคนแรกที่ต้องเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองคือพ่อกับแม่ หลายคนมักจะเข้าใจว่าโฮมสกูลคือการเรียนอยู่ที่บ้าน แต่ความจริงแล้วโฮมสกูลคือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ครอบครัวเป็นคนกำหนดเอง ปกติเราจะคุ้นเคยกับการที่เด็กๆ ต้องไปโรงเรียน ซึ่งนั่นคือการศึกษาแบบอิงระบบโรงเรียน แต่ถ้าอ้างอิงตามพระราชบัญญัตการศึกษาของประเทศ ครอบครัวมีสิทธิจัดการศึกษาให้ลูกเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนค่ะ

สัมภาษณ์วันที่ 22 มีนาคม 2565

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST