READING

เมื่อความรุนแรงฝังราก เด็กๆ ของเราจะหลุดพ้นจากความ...

เมื่อความรุนแรงฝังราก เด็กๆ ของเราจะหลุดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร – คุยกับ รศ. อภิญญา เวชยชัย

dr.apinya

แม้ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า สิ่งที่ไม่เคยหายไปจากหน้าข่าวสารหรือการรับรู้ของเราเลย ก็คือเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว การกระทำและพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดต่อเด็ก อาจจะเป็นข่าวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง อยู่ในความสนใจช่วงเวลาหนึ่ง หรือเป็นเพียงกระแสที่ดังขึ้นมาเพียงวูบแล้วก็ดับไปก็ตาม

แต่เหตุการณ์หลังจากนั้น ก็มักเป็นสิ่งที่เราไม่เคยล่วงรู้ หรืออย่างมากก็รู้ว่าคนร้ายถูกจับและดำเนินคดีตามกฎหมาย ผู้ชมอย่างเราก็คิดว่าเรื่องคงจบลงตรงนั้น ฝากความหวังเอาไว้กับระบบศาลยุติธรรม แล้วชีวิตทุกคนก็คงเดินหน้าต่อไป life goes on

แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น จากประสบการณ์การทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ และการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเด็กตลอดชีวิต ของรองศาสตราจารย์อภิญญา เวชยชัย อดีตคณบดี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าเส้นทางชีวิตของเด็กๆ ที่เคยผ่านการเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัวมานั้น ไม่ง่ายเลยที่พวกเขาจะหลุดพ้นจากบาดแผลเหล่านั้นไป และแม้อยากจะสลัดความรุนแรงให้พ้นไปจากชีวิต แต่ก็ไม่ง่ายเท่าไรนัก เพราะความรุนแรงต่อเด็กอาจถูกฝังรากอยู่ในโครงสร้างสังคมไทยอยู่แล้ว ก็เป็นได้

บทบาทของการเป็นนักสังคมสงเคราะห์ กับการทำงานคดีเด็กและเยาวชน

คดีของเด็กต่างกับคดีของผู้ใหญ่ เราจะมีประมวลกฎหมายที่เรียกว่า  ‘ป. วิ. อาญา’ เป็นกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ว่า เด็กที่ถูกทำร้ายทางร่างกาย ทางเพศ จะเป็นผู้ไปกระทำคนอื่น หรือเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเป็นพยานในที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน จะไม่สามารถสอบปากคำกับเด็กโดยลำพัง จะต้องมีสหวิชาชีพมาเป็นตัวกลาง นั่นก็คือนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาคนใดคนหนึ่งเข้ามาอยู่ตรงกลาง

เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นครอบครัวที่รู้ก่อน และก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวด้วยว่า เห็นด้วยว่าควรเปิดเผยไหม หรือควรไปหาใคร สิ่งที่เรามักจะเจอก็คือ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัวเป็นผู้กระทำ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทางเพศ หรือการปล่อยปละละเลย คนในครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะช่วยกันปกปิด เพราะรู้ว่ามีความผิด ยกเว้นแต่ว่ากรณีที่เกิดจากคนอื่นมากระทำคนในครอบครัว สิ่งที่ตามมาก็คือเขาจะเอาผิดกับเฉพาะบุคคลภายนอก ซึ่งจะทำให้เปิดประเด็น เป็นที่รับรู้ได้มากกว่า

หน่วยงานที่ใกล้รองจากครอบครัว ก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร กลุ่ม อบต. หรือผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ เมื่อรับรู้ว่ามีการถูกกระทำจากคนในครอบครัว ก็จะช่วยประสานงานแจ้งตำรวจ หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือทางเพศ จะเป็นคดีอาญา จำเป็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

รูปแบบการทำงานของเราคือ ในวันสอบสวน ตำรวจจะอยู่อีกห้องหนึ่ง ส่วนนักสหวิชาชีพจะอยู่ในห้องที่ตำรวจอาจจะมองเห็นหรือได้ยินแต่เสียงก็ตาม เขาก็จะถาม แล้วนักสหวิชาชีพทำหน้าที่ถามคำถามเด็กอีกที เช่น ตำรวจถามว่า “ตอนเขาใส่เข้าไปในตัวหนู หนูยกก้นขึ้นหรือเปล่า” แต่เราจะไม่ถามแบบนี้ เพราะมันเป็นคำถามที่ตั้งใจส่อเจตนาว่าเคสนี้เด็กให้ความร่วมมือหรือเปล่า และยังส่งผลในการทำร้ายเด็กซ้ำ และตีตราด้วยความเชื่อด้วยว่าเด็กยิมยอมพร้อมใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาช่วยทำหน้าที่พิทักษ์เด็ก ไม่ให้การสอบปากคำเป็นการทำร้ายเด็กซ้ำ และคอยดูอารมณ์จิตใจเด็กด้วย เช่น เด็กไม่พูด เด็กร้องไห้ เราก็สามารถบอกตำรวจได้ว่า ตอนนี้ขอพักก่อนเพราะเด็กยังไม่พร้อมที่จะคุย

ในการให้ปากคำจะมีการอัดวิดีโอเอาไว้ เพื่อนำวิดีโอส่งไปให้กับผู้พิพากษาในชั้นศาล เด็กจะเจอกระบวนการสองชั้น ชั้นที่เป็นขั้นสอบปากคำและชั้นศาล โดยทั่วไปจะนำวีดีโอไปเปิดเพื่อดูว่าสอบปากคำกันไปถึงไหน เด็กตอบอะไรไปบ้าง เพื่อที่จะไม่ให้เด็กสอบปากคำเด็กซ้ำ แต่นี้ไม่ใช่กฎหมายบังคับ ผู้พิพากษาส่วนมาก อาจจะไม่เชื่อว่าการสอบปากคำจะเป็นข้อเท็จจริง ก็จะให้พาเด็กมาให้การต่อหน้าอีกครั้งหนึ่ง

ที่ยากก็คือ บางทีพื้นที่ในศาลมันไม่เพียงพอ เด็กต้องมาให้การที่หน้าบัลลังก์ และต้องเจอกับคนที่กระทำเขา เด็กบางคนตัวสั่น พูดไม่ได้ ให้เด็กลำดับความว่าเขาเจออะไรมาบ้างก็กลายเป็นพูดไม่ออก จนในที่สุดหลักฐานพยานที่ควรจะปรากฏ ก็ไม่ได้ถูกทำให้ปรากฏ บางทีผ่านไปสองปีแล้วค่อยเรียกขึ้นชั้นศาล มันก็ไปรื้อความทรงจำขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้ ในด้านหนึ่งทำให้เกิดความทรงจำที่เป็นบาดแผลทางใจ และมันก็ทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดกลัว ส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมของเขา

แล้วถ้าเป็นกรณีความรุนแรง หรือคดีในครอบครัว

ถ้าเป็นเด็กที่ถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัว เช่น เด็กถูกพ่อข่มขืน แล้วแม่ไม่ได้ปกป้อง การให้ปากคำครั้งแรกของเด็ก 80 เปอร์เซ็นต์จะเป็นความจริง แต่ถ้าเราไปถามสามสี่วันให้หลัง เด็กจะให้ข้อมูลที่กลับกัน เพราะอาจจะกลัวว่าพ่อจะมีความผิด หรือเป็นเพราะแม่ขอเอาไว้

ในกฎหมายคุ้มครองเด็ก ถ้าพ่อแม่ไม่พร้อมหรือไม่ให้ความร่วมมือ เราก็จะคุ้มครองสวัสดิภาพ ทีมสหวิชาชีพจะหารือกันเพื่อจะประเมินว่า หากเด็กไม่ได้รับความปลอดภัย เด็กยังสมควรจะอยู่ในครอบครัวต่อไปหรือเปล่า ซึ่งก็คือนำเด็กไปพักที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ในบ้านพักเด็กและครอบครัวก็จะมีกระบวนการในการที่จะช่วยกันดูแลว่าเด็กควรจะไปขึ้นศาลตอนไหน ต้องหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตรงไหน

ตามจริงแล้ว จะต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ภายใน 7 วัน แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้ ดังนั้นเด็กก็จะต้องอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินประมาณ 30 วัน เพื่อหาข้อเท็จจริงหรือไกล่เกลี่ย ถ้าเกินกำหนดเวลาต้องส่งเด็กต่อไปสถานสงเคราะห์ กลายเป็นว่าเด็กก็จะต้องเจอกับภาวะที่จากบ้านมาแล้ว กำลังรู้สึกไว้ใจกับคนที่นี่ แต่ก็ต้องออกไปจากที่ที่เขาไว้ใจอีกครั้ง

ซึ่งเราต้องยอมรับว่า สถานสงเคราะห์มีเด็กอยู่จำนวนมาก แต่ละคนก็มีบาดแผลกันคนละแบบ เราเคยคุยกันว่า ไม่ควรเอาเด็กไปกองรวมกันไว้ ถ้าเอาไปแล้วควรจะมีการประเมินต่อว่าสถานการณ์ที่เด็กได้รับมันส่งผลกระทบต่อเด็กแค่ไหน ถ้ารุนแรงมาก เด็กบางคนอาจจะต้องส่งต่อให้จิตแพทย์

แต่พอเด็กเข้าไปสถานสงเคราะห์จริงๆ โอกาสที่เขาจะได้รับการดูแลอย่างลงรายละเอียดก็เป็นไปได้ยาก ในที่สุดเด็กก็จะกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ บางคนมองว่าเด็กปรับตัวได้ แต่การปรับตัวที่เกิดจากการจำนนมันดีแล้วจริงๆ เหรอ…

มีงานวิจัยหนึ่ง เป็นเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจ และแม่ส่งมาอยู่สถานสงเคราะห์ พออยู่ไปนานๆ จนเขาอายุ 18 ปี และเราไม่ได้ทำอะไรในระหว่างทาง สุดท้ายเราก็จะได้เด็กกำพร้าเทียมมาเป็นกำพร้าแท้เพิ่มขึ้น เพราะ 18 ปีที่ผ่านไปนั้นมันห่างเหิน ไม่ได้มีสายใยของครอบครัว กลายเป็นว่าเด็กต้องไปอยู่ที่ใหม่อย่างสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พอเขาอายุมากพอที่จะสามารถออกไปทำอะไรเองได้ บางครั้งเราอาจจะไม่ได้เจอเขาในฐานะพลเมืองดีก็ได้ เพราะเส้นทางชีวิตแบบนี้มันโหดร้ายมาก

ทั้งที่จริงๆ แล้วเด็กบางคนเก่ง เขาสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ สามารถไปโรงเรียน เรียนร่วมกับคนภายนอกได้ แต่ในความเป็นจริงถ้าเด็กอยู่ในสถานสงเคราะห์ พอไปเรียนร่วมกับคนอื่นก็จะถูกบูลลี่ ครูก็ไม่เข้าใจ เพื่อนก็ไม่เข้าใจ บางทีเขาไม่ได้ทำพฤติกรรมที่ไม่ดีมาก่อน แต่เขาก็ถูกตีตราไปแล้ว

แล้วถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เด็กถูกกระทำจากคนในครอบครัว แต่เด็กยังอยากขออยู่กับครอบครัว สามารถทำได้ไหม

ในความเป็นจริง การให้เด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะฉะนั้นเราต้องดูก่อน เช่น ถ้าลูกมีปัญหากับพ่อ แล้วแม่ดูแลได้ไหม ถ้าแม่ดูแลได้ เราก็จะไม่แยกเด็กออก แต่ถ้าดูแล้วเด็กมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถอยู่กับพ่อแม่ได้ เราก็จะหาญาติของเด็ก

แต่เวลาเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น หลายบ้านจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากรับเด็กไว้ เพราะไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง เราถึงต้องรีบวางแผนให้เด็กอยู่กับเราชั่วคราว เพื่อให้เราเยียวยาจิตใจเขาให้แข็งแรง และสามารถมองปัญหาของตัวเองได้อย่างเข้าใจ

จริงๆ แล้วเด็กต้องการคนที่เข้าใจ ให้เขารู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียวนะ มีคนประคับประคองที่สามารถปลอบโยน ให้กำลังใจ ให้ความหวัง ซึ่งไม่อยากให้มองว่าเป็นหน้าที่ของนักสหวิชาชีพ เราอยากให้เป็นพ่อแม่ เป็นคนที่ไว้ใจ ให้ความรักโดยไม่มีเงื่อนไข ให้ความเชื่อมั่น แต่ในความเป็นจริงเด็กต้องไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น อยู่สถานพินิจ แล้วสถานที่นั้นจะมีคนที่ทำหน้าที่นั้นได้หรือเปล่า

นักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่เขาจะใช้วิธีเล่นกับเด็กเพื่อให้เกิดความไว้วางใจก่อน แต่ในความเป็นจริง เด็กในสถานสงเคราะห์ไม่ได้เจอกับนักจิตวิทยาหรือนักสงคมสงเคราะห์เฉพาะ แต่เด็กได้เจอครูฝึก ซึ่งบางทีก็ต้องยอมรับว่าเข้าไปแล้วกลายเป็นการทำร้ายจิตใจซ้ำเติม เพราะบุคคลแวดล้อมที่รอบตัวเขาไม่ได้มีอุณหภูมิที่พอเหมาะกับเขา หรือถ้าเขาหาคนที่อุณหภูมิพอเหมาะมาไม่ทันเวลา ก็จะทำให้เด็กหลายคนชีวิตเปลี่ยนไป

มีเคสหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น เด็กอายุ 9 ปี โรงเรียนแจ้งมาว่าให้มาช่วยหน่อยเพราะว่าเด็กมีพฤติกรรมรุนแรงมาก ก็คือฆ่าลูกแมวตายด้วยการควักลูกตาออกมา 5 ตัว แน่นอนถ้าพ่อแม่เด็กคนอื่นได้ยิน เขาก็ไม่ประสงค์ให้ลูกตัวเองอยู่กับเด็กคนนี้ ต้องการให้เอาเด็กคนนี้ออกจากโรงเรียนเพราะกลัวอันตราย นักสหวิชาชีพก็เลยตามไปที่บ้านเด็กคนนี้เพื่อดูประวัติ และเชื่อมโยงได้ว่า แม่กับพ่อเลิกกันตอนที่เด็กอยู่ในท้อง พอคลอดเด็กออกมา แม่ก็เลยต้องเอาเด็กไปฝากเลี้ยงในชุมชน เราพบว่าในปีแรกซึ่งเป็นวัยทองของการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เด็กคนนี้ถูกเปลี่ยนผู้เลี้ยงดู 11 ครั้ง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะผูกมิตรกับใครได้

พอเด็กอายุเกือบสองขวบ แม่ก็แต่งงานใหม่ แม่ทำงานนอกบ้าน ส่วนพ่อเลี้ยงเป็นคนดูแล แต่พ่อเลี้ยงก็เป็นคนรุนแรง เช่น คอยตำหนิ มีระเบียบในบ้านค่อนข้างเยอะ และถ้าเด็กไม่เชื่อฟังก็จะใช้ไม้แขวนเสื้อตี พอเด็กเจอแบบนี้ การพัฒนาทางอารมณ์และจิตใจเลยไม่ได้รับการดูแล เราก็ถามแม่เด็กทำอะไรตอนที่พ่อเลี้ยงลงโทษรุนแรง แม่เด็กตอบว่า ออกจากบ้าน เพราะทนเสียงร้องไห้ของลูกไม่ได้ และค่อยกลับมาตอนแน่ใจว่าเขาเลิกทะเลาะกันแล้ว เราจึงถามต่อว่าเคยได้ถามลูกบ้างไหมหรือได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กบ้างไหม แม่เด็กก็บอกว่าไม่เคย เพราะเกรงใจพ่อเลี้ยง

การทำแบบนี้มันทำให้เวลาที่เจ็บปวดของเด็กกลายเป็นเวลาสุญญากาศ ไม่มีใครเข้าไปโอบอุ้ม ไม่มีแม้แต่แม่มาถามว่าเจ็บปวดขนาดไหน นอกจากเด็กจะถูกเลี้ยงดูโดยไม่มีความผูกพันกับใครตั้งแต่เล็กแล้ว ความสัมพันธ์กับแม่ก็ยังห่างเหินมากๆ ในกรณีแบบนี้ก็คือ เด็กไม่พร้อมจะอยู่กับครอบครัว เราจึงต้องส่งเด็กไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ แต่พฤติกรรมของเด็กกลับไม่ดีขึ้น กลายเป็นว่าโกรธง่าย โมโหง่าย ทางนักสงคมสงเคราะห์ก็ส่งต่อไปที่แพทย์เพื่อจะดูอาการบางอย่าง

ปรากฎว่าเด็กมีภาวะ ADHD (Attention deficit hyperactivity disorder) คืออาการสมาธิสั้นขั้นรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ตามประวัติ ตอนที่เด็กไปอยู่สถานสงเคราะห์ เขาก็ถูกทำร้ายทางเพศจากเด็กรุ่นพี่ที่อยู่ในนั้น ตอนปิดเทอมที่เขากลับบ้าน ปรากฏว่าเขาก็ไปละเมิดทางเพศน้องผู้หญิงข้างบ้าน เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์ ตอนอยู่ในสถานสงเคราะห์เขาก็ไม่ได้กินยาต่อเนื่อง จนกระทั่งตอนนี้เด็กคนนี้ยังอยู่สถานพินิจ

ถามว่าจุดที่ทำให้เด็กคนหนึ่งก่อความรุนแรงขึ้นซ้ำๆ อยู่ตรงไหน มันตอบไม่ได้ เพราะมันผสมกันหลายอย่าง ไม่ใช่แค่โดนพ่อเลี้ยงตบตี อาจจะเป็นเพราะแม่ก็ไม่เคยเห็นเขาในสายตาด้วย เพราะการเติบโตโดยปราศจากสายสัมพันธ์ด้วย เราจึงต้องเข้าใจกันใหม่ว่า เวลาที่เราดู turning point ของคนคนหนึ่ง บางทีเราเห็นแค่จุดเปลี่ยนตรงนั้น แต่ในทางจิตวิทยา เราต้องหาจุด pain point จุดที่ทำให้เขาเจ็บปวด และ repeat point ที่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ แล้วมันถึงจะเกิดเป็น turning point ซึ่งในสังคมเรามีเด็กประเภทนี้อีกหลายคนมาก

“การที่ผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อ ต้องแก้ที่ตัวโครงสร้างก่อน เพื่อแก้ไขว่าพ่อแม่ไม่ใช้เจ้าของลูกนะ มันจึงเป็นประเด็นเรื่องโครงสร้างและวิธีคิด”

แล้วถ้าเราเจอกรณีแบบเด็กผู้ชายคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีใคร คนรอบข้าง หรือคนในสังคม จะทำอะไรได้บ้าง

ถ้าเรารู้และเราคิดว่าเราสามารถเข้าไปช่วยเหลือเขาได้ ไปพูดคุย ไปทำให้เขารู้สึกว่าเป็นที่หลบภัย เราก็ทำได้ แต่การทำตรงนี้เป็นเพียงแค่การช่วยประทังเท่านั้น การที่ผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นวัฒนธรรมความเชื่อ ต้องแก้ที่ตัวโครงสร้างก่อน เพื่อแก้ไขว่าพ่อแม่ไม่ใช้เจ้าของลูกนะ มันจึงเป็นประเด็นเรื่องโครงสร้างและวิธีคิด

อีกส่วนหนึ่งก็คือ ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่ จะมีวัฒนธรรมที่ให้อำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ เวลาแก้จึงไม่สามารถแก้แค่จุดเดียว แต่ที่เราต้องรีบทำคือทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยก่อน บำบัดเบื้องต้น ฟังเขาจนกว่าจะรู้สึกว่าเขามั่นใจที่จะกล้าเล่าอะไรให้เราฟัง ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่พลาดไป มันไม่ได้พลาดไปทั้งหมด แล้วเขาจะตั้งหลักอย่างไร รักษาและกินยาต่อเนื่องอย่างไร เรื่องพวกนี้จึงจำเป็นต้องมีนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานแบบ case manager เข้ามาช่วยดูแล

“เวลาพ่อแม่ทะเลาะกันจะมีทั้งแบบต่อสู้ใช้กำลังและแบบไม่พูดกันเลย ซึ่งกรณีหลัง สิ่งที่เด็กรับรู้ได้คือ สายตา ท่าทาง และความเงียบ บรรยากาศในบ้านไม่เหมือนเดิม สถานการณ์นี้ดูเหมือนไม่ใช่ความรุนแรง แต่มันแฝงฝังผ่านบรรยากาศของความไม่ปกติ”

แล้วครอบครัวทั่วไป มีอะไรที่เป็นความรุนแรงที่ซ่อนอยู่โดยเราไม่รู้ตัวบ้างไหม

อยู่ที่ว่าเรามองความรุนแรงในลักษณะไหน ให้นิยามความหมายของความรุนแรงอย่างไร อาจจะเป็นทุบตี ลงไม้ลงมือ แต่ความรุนแรงที่เราพบได้ในสังคมไทยส่วนใหญ่คือความรุนแรงทางเพศ ส่วนถ้าดูสถิติความรุนแรงของต่างประเทศพบว่า ประเด็นความรุนแรงส่วนใหญ่จะการปล่อยปละละเลย

แต่สิ่งที่แทบจะไม่มีการกำหนดความรุนแรงเลย คือความรุนแรงทางจิตใจ ทั้งที่เราพบว่ารูปแบบการเลี้ยงดูทั้งหมดมันทำร้ายจิตใจเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน การใช้คำพูดรุนแรง แต่กลับไม่มีการกำหนดเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัด ทั้งที่มันกัดเซาะเราเรื่อยๆ ทุกวันตั้งแต่เล็กจนโต ในสังคมไทยไม่เคยมีสถิติตรงนี้ แต่บางคำพูดที่ทำให้เกิดความทรงจำที่เลวร้าย เกิดบาดแผลทางจิตใจ ตัวนี้กลับกลายมาเป็นปัญหา เพราะเราไม่ได้นิยามมันให้ชัดว่าตรงนี้มันคืออะไร

อีกหนึ่งความรุนแรงที่มักเกิดในครอบครัวแต่ไม่ค่อยมีคนพูดกันนั่นก็คือ ความรุนแรงจากการสื่อสารกันด้วยความเงียบ เวลาพ่อแม่ทะเลาะกันจะมีทั้งแบบต่อสู้ใช้กำลังและแบบไม่พูดกันเลย ซึ่งกรณีหลัง สิ่งที่เด็กรับรู้ได้คือ สายตา ท่าทาง และความเงียบ บรรยากาศในบ้านไม่เหมือนเดิม สถานการณ์นี้ดูเหมือนไม่ใช่ความรุนแรง แต่มันแฝงฝังผ่านบรรยากาศของความไม่ปกติ เช่น ด่าพ่อให้ลูกฟัง ด่าแม่ให้ลูกฟัง จริงๆ รูปแบบนี้เป็นอันตราย เด็กก็จะซึมซับเอาความทรงจำที่คิดว่าใช้ความเงียบแก้ปัญหาได้ แต่ความเงียบมันคือการเก็บ กักกุมความโกรธเอาไว้

หรือจริงๆ วัฒนธรรมของประเทศเรา มีความรุนแรงกับเด็กซ่อนอยู่โดยโครงสร้างอยู่แล้ว

โดยภาพรวมมันเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่ถึงโกรธเวลาที่ลูกไม่เชื่อฟัง เราต้องยอมรับก่อนว่าเราจะไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลานะ ถึงแม้เราจะหวังดี ตั้งใจเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด แต่เราไม่รู้ว่ามีอะไรที่กลับมากระแทกหรือเปล่า แล้วลูกเราจะแข็งแรงพอไหมที่จะมองอย่างเข้าใจ

แม้กระทั่งพ่อแม่ที่มีความพร้อม มีฐานะมั่นคง แต่ความรุนแรงก็เกิดขึ้นได้ผ่านความคาดหวัง เช่น มีกรณีคุณแม่ที่ค่อนข้างมีฐานะ พยายามจะให้ลูกเติบโตอย่างสวยงาม เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ให้ลูกกินนู่นกินนี่ ความเข้มงวดในการกินทำให้ลูกป่วยเป็นโรคบูลีเมีย (โรคล้วงคอ) จนกระทั่งสุดท้ายลูกเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวเลย

“สวัสดิการจะเกิดได้ก็เมื่อรัฐมองเห็นปัญหา และดูว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร แต่สถานการณ์ตอนนี้ ด้วยความเป็นรัฐรวมศูนย์ งบประมาณทั้งหมดจึงมาจากส่วนกลาง แต่รัฐเองก็ไม่ได้สำรวจว่าคุณภาพของทรัพยากรนี้มันอยู่ที่ตรงไหน แล้วรัฐช่วยอะไรได้บ้าง และต้องแก้ปัญหาอย่างไร”

เพื่อจะเข้าใจและช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ แค่พวกเราเริ่มต้นกันเองมันจะพอไหม

มันมีนะคะคนที่สนใจ อย่างเช่นที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก จะมีการรวมกลุ่มเยาวชนที่สนใจที่จะทำงานกับเด็ก แล้วก็ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์เด็ก ก็คือถ้าเขาเจออะไรในชุมชนก็จะส่งข่าวมาบอกได้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กเจออะไรที่ไม่ดี

ถามว่าดีไหม, มันดี แต่ถ้าเราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ รัฐต้องทำ ถึงที่สุด รัฐจะปล่อยความรับผิดชอบ ปล่อยให้ดิ้นรนกันเองไม่ได้ เพราะอย่างไรศักยภาพของรัฐมันแผ่กว้างมากกว่าชุมชน ถ้าจะให้ยั่งยืนรัฐต้องใส่ใจว่านี่เป็นงานหนึ่งของตัวเอง ที่ต้องจะเข้ามาช่วยเหลือ

 เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกโดยลำพัง มันสามารถมีบริการที่เฉพาะสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวไหม ในต่างประเทศจะมีสวัสดิการเช่น มีทีมเข้าไปทำความสะอาดที่บ้านเพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน มีอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยทำกับข้าวเวลาที่พ่อแม่ยังไม่กลับมา หรือมีบ้านที่ให้เด็กๆ ที่พ่อแม่ทำงานกลับมาค่ำไปช่วยสอนการบ้าน โดยทั้งหมดรัฐบาลสนับสนุน เป็นบริการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการใช้ชีวิตจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้ถุงยังชีพ

สวัสดิการจะเกิดได้ก็เมื่อรัฐมองเห็นปัญหา และดูว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร แต่สถานการณ์ตอนนี้ ด้วยความเป็นรัฐรวมศูนย์ งบประมาณทั้งหมดจึงมาจากส่วนกลาง แต่รัฐเองก็ไม่ได้สำรวจว่าคุณภาพของทรัพยากรนี้มันอยู่ที่ตรงไหน แล้วรัฐช่วยอะไรได้บ้าง และต้องแก้ปัญหาอย่างไร


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST