READING

คุยกับเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’: เมื่อ ‘การกลั่นแกล้ง...

คุยกับเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’: เมื่อ ‘การกลั่นแกล้ง’ (Bullying) เริ่มต้นจากความแตกต่าง เราจะช่วยลูกรับมือกับปัญหานี้อย่างไร

ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเราต้องหันกลับมาพิจารณาให้ดีว่า หนึ่งในต้นเหตุของปัญหา  ดังกล่าวกำลังวนกลับมาสู่เรื่องราวของการกลั่นแกล้ง หรือการบูลลี่ที่เกิดขึ้นทั่วทุกแห่งในสังคม ไม่ว่าจะภายในโรงเรียนหรือโลกออนไลน์ แต่ทั้งหมดล้วนแต่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ถูกกระทำนับครั้งไม่ถ้วน 

บางครั้งพวกเขาอาจใช้วิธีทำร้ายตัวเองเพื่อระบายความคับแค้นใจ แต่หลายครั้งพวกเขาก็เลือกที่จะทำร้ายคนที่ทำร้ายเขา กลายเป็นวัฏจักรที่น่าเศร้า

วันนี้ M.O.M ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเม—เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา มาอธิบายพูดคุยทั้งสาเหตุของการบูลลี่ และการช่วยลูกให้สามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น

และในฐานะผู้ใหญ่ในสังคม เราจะช่วยกันรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร

การกลั่นแกล้งหรือบูลลี่คนอื่น เป็นสัญชาตญาณปกติของคนเราหรือเปล่า ทำไมอยู่ๆ เด็กถึงรู้จักการล้อเลียนปมด้อยของคนอื่นได้

การบูลลี่โดยส่วนใหญ่ต้องมีที่มาที่ไปอยู่แล้ว เด็กที่ไปบูลลี่คนอื่นส่วนมากจะเป็นเพราะตัวเขาเองขาดอะไรไปหรือเปล่า หรือเขามีแรงจูงใจอะไรหรือเปล่า เพราะว่าการขาดก็มีหลายกรณี หนึ่งคือขาดความรัก ขาดความผูกพันในครอบครัว ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรักที่เพียงพอ ก็จะค่อนข้างเปราะบางภายใน และแสดงออกในลักษณะที่แข็งแกร่งภายนอก เช่น แสดงตัวเป็นหัวโจก ซึ่งการบูลลี่คนอื่นก็เป็นการแสดงออกว่าตัวเองอยู่สูงกว่าคนอื่นอะไรทำนองนี้

กรณีที่สองเป็นลักษณะของสังคม เช่น การไม่ยอมรับหรือบอยคอตคนที่แตกต่าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากการที่เด็กถูกเลี้ยงดูโดยไม่ได้รับการปลูกฝังว่าความแตกต่างเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่เป็นไปในลักษณะ ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นนะถึงจะดี หรือถ้าแตกต่างแปลว่าไม่ดี

เมื่อเด็กมาเจอคนแตกต่างในสังคมเขาก็จะรู้สึกไม่โอเค จึงทำให้เกิดการไม่ยอมรับเพื่อนคนนี้ และอาจจะชักชวนให้กลุ่มเพื่อนตนเองไม่ยอมรับเพื่อนคนนี้ไปด้วย อาจจะไม่ถึงขั้นกลั่นแกล้งหรือทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการบอยคอตและไม่ยอมรับคนนั้น

“ลักษณะส่วนใหญ่ของเด็กที่บูลลี่คนอื่น คือถ้าไม่ขาดก็เกินมา ขาดก็คือขาดรัก เกินก็คืออาจจะโดนทำร้าย โดนล้อเลียนมาจากคนในครอบครัว จากสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่”

แสดงว่าครอบครัวก็มีส่วนสำคัญกับปัญหาการบูลลี่

มีส่วนค่ะ คนที่จะไปบูลลี่คนอื่นก็ต้องมีลักษณะบางอย่าง เพราะโดยปกติแล้วเราคงไม่ไปบูลลี่ใคร ถึงแม้ว่าเราจะไม่ชอบเพื่อนคนนี้ แต่เราก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตี พูดล้อเลียน แต่ต้องมีคนนำก่อนสักหนึ่งคน

 เมื่อเพื่อนคนอื่นเห็นเป็นเรื่องสนุกก็ทำให้เกิดเป็นกระแส ช่วยกันล้อเพื่อนคนนี้ ซึ่งมันเกิดจากการมีคนหนึ่งขึ้นมานำอยู่ดี และคนที่ขึ้นมานำก็ต้องมีที่มาที่ไปเหมือนกัน

ลักษณะส่วนใหญ่ของเด็กที่บูลลี่คนอื่น คือถ้าไม่ขาดก็เกินมา ขาดก็คือขาดรัก เกินก็คืออาจจะโดนทำร้าย โดนล้อเลียนมาจากคนในครอบครัว จากสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ โดยอาจมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา และเขาก็ทำเช่นนี้กับคนอื่นในสังคมได้เหมือนกัน เพราะเด็กที่บูลลี่คนอื่นถ้าเขาไม่มีแรงจูงใจอะไร ก็อาจเกิดจากการชินกับสภาพแวดล้อมที่อยู่ อาจจะโดนแซวอีอ้วน อีดำ มันก็คือความเคยชินของเขาเหมือนกัน

ปัญหาการบูลลี่ส่วนมากเกิดขึ้นในโรงเรียน คุณครูที่ถือว่าอยู่ใกล้เด็กที่สุดควรมีส่วนป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

ในความเป็นจริงแล้ว ในห้องเรียนแต่ละห้องควรจะเซตระบบ เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้ว ต้องมีกติกาที่ชัดเจนเหมือนในครอบครัว โดยกติกาสามข้อที่ควรมี คือ

  1. ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ก็เป็นเรื่องของการส่งงาน มาเรียนตรงตามเวลา
  2. ไม่ทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะทางกาย วาจา ใจ เพราะถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ถ้าเด็กมีปัญหากับเพื่อน แล้วไม่สามารถคลี่คลายได้ ครูก็ควรให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ ไม่ควรให้เด็กจัดการตั้งศาลเตี้ยกันเอง
  3. ไม่ทำร้ายข้าวของผู้อื่น หรือห้ามขโมยของเพื่อน อะไรทำนองนี้

อันนี้ก็เป็นกฎที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะในสังคมไหน และครูก็ควรจะเซตระบบตั้งแต่วันแรกที่เจอหน้ากัน คุยกันในเชิงการยอมรับความแตกต่าง และไม่ควรจะสร้างมาตรฐานว่าแบบเดียวเท่านั้นที่จะถูกต้อง คุณครูควรจะสร้างทัศนคติในเชิงบวกทุกแง่มุมของความคิด ไม่ใช่ว่าความคิดแบบนี้เท่านั้นถึงจะถูก หรือรูปร่างแบบนี้ถึงจะเป็นที่ยอมรับ เช่น เมื่อก่อนก็จะมีการประกวดเด็กเก่ง ต้องเรียนได้เกรดสี่เท่านั้นถึงจะได้เป็นเด็กหน้าห้อง มันไม่ควรมีบรรทัดฐานแบบนั้น แต่เด็กทุกคนควรมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ทุกคนควรจะได้ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่เด็กเก่งอยู่กับเด็กเก่ง เด็กที่เรียนไม่ดีก็จับกลุ่มไว้ด้วยกัน มันจะเป็นการแบ่งแยกโดยที่ทำให้เด็กรู้สึกด้วยตัวเขาเอง คือเด็กอาจยังไม่รู้สึกว่าเพื่อนเขาไม่ดีก็ได้ แต่พอคุณครูแบ่งว่านี้เป็นเด็กหลังห้องก็ทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดี บอกต่อๆ กันว่าอย่าไปยุ่งนะเพราะเป็นเด็กหลังห้อง

มันมีงานวิจัยสมัยก่อน เขาทดลองแบ่งออกเป็นเด็กเก่งและเด็กไม่เก่ง แล้วคุณครูก็ให้การตอบสนองระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้ต่างกันไป

การทดลองคือเด็กไม่เก่งถ้าทำอะไรก็ตามให้ตอบสนองแย่ๆ ส่วนเด็กเก่งจะได้รับการตอบสนองที่ดีมากๆ จนถึงช่วงพีกเด็กก็เริ่มทะเลาะกันและโทษกันเอง ว่าเป็นเพราะคนนั้นถึงโดนทำโทษ เป็นเพราะคนนี้ถึงโดนแบบนี้ ซึ่งการทดลองทางจิตวิทยาอันนี้ทำให้พบว่าทัศนคติของผู้ใหญ่มีผลต่อการที่เด็กจะมองกันและกันอย่างไร ในลักษณะแบบไหน

ดังนั้นคุณครูก็ไม่ควรสร้างทัศนคติที่แบ่งแยกว่าใครเป็นเด็กเก่ง ไม่เก่ง  เด็กเกเร หรือเด็กไม่ดี คือทุกคนควรได้รับโอกาส ถ้าเด็กไม่ดีควรแก้ปัญหาในเชิงชวนเขาเรียน ไม่ใช่การผลักไส

สุดท้ายคือทุกโรงเรียนถ้าเป็นไปได้ คุณครูควรจะเข้าใจเรื่องพัฒนาการและจิตวิทยาในเด็ก เพราะจริงๆ เด็กที่มีความแตกต่างเขาต้องการความช่วยเหลือนะ หรือเขาอาจจะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้า

“ทางเลือกทางการศึกษามันมีมากมาย แต่ทางเลือกชีวิตลูกไม่ควรจะโดนบังคับให้ไปเจออะไรแบบนั้น”

เราอาจเคยได้ยินการสอนที่ว่าถ้าถูกบูลลี่ก็ต้องรู้จักเอาคืนสิ มันเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

ถ้าในความเป็นจริงก็ไม่ถูก เพราะตาต่อตาฟันต่อฟันมันก็จะไม่สิ้นสุดสักที แล้วก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางที่ดีที่สุดเมื่อรู้ว่าลูกโดนบูลลี่ คุณพ่อคุณแม่ควรจะรับฟัง แล้วก็ถามเขาว่าเราช่วยอะไรได้บ้าง

ถ้าเด็กรับมือไม่ไหว เขาก็อาจจะขอไม่อยู่ที่นี่แล้วได้ไหม พ่อแม่อาจจะมองว่ามันเป็นการหนีปัญหา แต่บางครั้ง ถ้าลูกไม่ไหวจริงๆ เราก็ควรพาลูกกลับมาตั้งหลัก มาดูกันสิว่าเราจะต้องเสริมอะไรก่อนที่ลูกจะกลับไปสู่โรงเรียนอีกรอบ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ทางเลือกทางการศึกษามันมีมากมาย แต่ทางเลือกชีวิตลูกไม่ควรจะโดนบังคับให้ไปเจออะไรแบบนั้น

แล้วเรารู้ได้ยังไงว่าลูกเราอ่อนแอ บรรทัดฐานของคำว่าอ่อนแอมันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่การมองว่าลูกเราสู้คนอื่นไม่ได้ หรือลูกไม่ต้องการสู้กับใครแล้ว อันนี้ก็เป็นตัวเลือกของลูกด้วยเหมือนกัน เพราะพ่อแม่มองว่าการที่ลูกหนีปัญหาแปลว่าลูกอ่อนแอ ซึ่งอาจจะไม่ใช่

ลูกอาจจะคิดว่า เพราะถ้าเขาสู้ แล้วเมื่อไหร่จะหยุด ลูกอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับสังคมแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรามีตัวเลือกมากมาย ไม่ใช่ว่าการที่ลูกเข้ากับโรงเรียนนี้ไม่ได้ หมายถึงลูกเข้าสังคมไม่ได้ เราก็ไม่ควรไปตัดสินเขา เพราะว่าโรงเรียนก็มีหลายแบบ สังคมก็มีหลายแบบ ถ้ามันไม่โอเค ทำไมเราจะเปลี่ยนไม่ได้

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เด็กถูกบูลลี่

โดยส่วนใหญ่เด็กที่ถูกบูลลี่มักจะมีปัจจัยประมาณ 3 ปัจจัยหลัก คือ

  1. เด็กไม่เคยได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง พ่อแม่อาจจะให้ความช่วยเหลือเร็วเกินไป หรือไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เขา นั่นคือเขาไม่รู้ข้อจำกัดร่างกายตัวเอง ความสามารถตัวเอง และก็การรับรู้การพึ่งพาตัวเองในวัยที่ควรจะทำได้ ก็เป็นเรื่องพื้นฐานนี้แหละ การกิน นอน ใส่เสื้อผ้า แต่งตัว เมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียนแล้ว เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็จะแตกต่างจากเพื่อน เพื่อนจะมองว่าไอ้นี่กินข้าวช้าจังเลย หรือว่าคนนี้ทำไมลืมรูดซิป

การบูลลี่มันเริ่มจากสุขอนามัยของเด็กนี้ละ เช่น ขี้ตา ขี้มูก ตัวเหม็น เข้าห้องน้ำไม่ล้างก้น มันมักจะเริ่มมาจากเรื่องพวกนี้ เด็กมักจะบูลลี่เรื่องของสภาพภายนอก ซึ่งพัฒนาต่อไปที่ Self-Esteem คือเด็กที่โดนเพื่อนล้อก็จะทำให้เขาไม่มั่นใจในตัวเอง

  1. เด็กที่ไม่ควบคุมตัวเอง เด็กส่วนใหญ่ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็อาจจะนำไปสู่การไม่สามารถทำงานหรือทำการบ้านเสร็จได้ ควบคุมการกินออกกำลังกายไม่ได้ นำไปสู่รูปลักษณ์ภายนอกหรือความคิด ทำให้เขาแตกต่างจากเพื่อน
  2. เด็กที่มีลักษณะไม่เหมือนกับกลุ่มเพื่อนตัวเองจริงๆ เช่น เด็กที่เป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมาก ตรงนี้เราโทษเด็กไม่ได้ คือเราไม่ได้สังเกตว่าเด็กอาจจะไม่เหมาะกับพื้นที่ตรงนี้ หรือเราไม่ได้ช่วยให้เขาปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างรวดเร็ว ก็อาจจะถูกล้อเลียนได้

ในฐานะผู้ใหญ่ เรามีวิธีสังเกตไหมว่า เด็กแต่ละคนจะมีรีแอ็กชั่นกับการถูกบูลลี่มาก-น้อยอย่างไร

คือถ้าพ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่ลูกอายุ 0-6 ปี เราจะรู้ว่าจักลูกเราดี และรู้ว่าลูกเปลี่ยนไป แต่ถ้าไม่เคยเข้าใจเขามาก่อน หรือเพิ่งมาสนใจตอนที่เขาเป็นวัยรุ่นแล้ว ก็ดูได้จากลูกอาจจะมีสภาพร่างกายที่บอบช้ำ หรือมีบาดแผลตามตัว

แต่ตอนนี้มันอาจจะไม่เห็นเป็นบาดแผลแล้ว เพราะอาจจะเป็นการบูลลี่ทางไซเบอร์ อาจจะบูลลี่ผ่านคำพูด หรือการบอยคอต เราก็จะต้องดูว่าหนึ่งลูกมีแนวโน้มซึมเศร้าหรือเปล่า เช่น เก็บตัวในห้อง ไม่กินข้าว ไม่พูดคุย หรือเขาอาจจะนอนไม่หลับ หรือมีอาการเครียด ปวดหัว ไม่อยากไปโรงเรียน อาการเหล่านี้ก็เป็นการบ่งบอกได้เหมือนกัน

ต่อมาก็คือ พ่อถึงแม้ว่าลูกจะโตเป็นวัยรุ่นแล้ว การพูดคุยกับลูกทุกวันก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่ดี หรือถ้าไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน ก็ใช้วิธีรับฟังเขาไม่ตัดสินเรื่องของเขา และอย่าเพิ่งไปบอกวิธีแก้ปัญหา เพราะบางครั้งลูกต้องการที่ระบายมากกว่า


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST