READING

INTERVIEW: “ถึงไม่ได้ที่หนึ่ง เราก็ได้เพื่อน”—คุยก...

INTERVIEW: “ถึงไม่ได้ที่หนึ่ง เราก็ได้เพื่อน”—คุยกับครอบครัวน้องเชฟ (มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ไทยแลนด์)

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของรายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ไทยแลนด์ ซีซั่นหนึ่ง ที่ผ่านมา นอกจากเราจะได้เห็นฝีมือการทำอาหาร การควบคุมอารมณ์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็กทั้งสามคนที่ผ่านมาถึงรอบสุดท้ายแล้ว สถานการณ์ที่แสนจะกดดันในวันนั้น ยังทำให้เราได้เห็นน้ำใจนักกีฬาของเด็กๆ

 

โดยเฉพาะ น้องเชฟ—ด.ช. สิริศักดิ์ มาทอง หนุ่มน้อยวัย 11 ปี ที่เรียกเสียงปรบมือจากผู้ปกครองและทีมงานในรายการได้หลายครั้ง เพราะนอกจากฝีมือการทำอาหารที่จัดจ้านแล้ว น้องเชฟยังพยายามพูดเชียร์ให้เพื่อนมีกำลังใจ และพยายามให้ความช่วยเหลือเพื่อนในยามคับขันอีกหลายหน

เรามีโอกาสได้คุยกับ คุณพ่อ—อุดมศักดิ์ มาทอง และคุณแม่—สิริเกศ มาทอง สองแรงกำลังสำคัญที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงสนับสนุนให้น้องเชฟทั้งหลงรัก สนุก และมีความสุขกับการทำอาหาร

และชวนทั้งสามคนพ่อแม่ลูกมาคุยกันถึงความประทับใจที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้

“ถึงไม่ได้ที่หนึ่ง เราก็ได้เพื่อน”—น้องเชฟ

น้องเชฟในวัยเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

แม่: น้องเชฟเป็นลูกคนเดียวค่ะ แล้วก็ไม่มีเพื่อนเล่น (หัวเราะ) และที่บ้านเราทำเคเทอริ่ง (catering) เขาก็เลยได้เห็นพ่อทำอาหารเป็นประจำ

ครอบครัวเป็นเชฟทั้งคุณพ่อคุณแม่

แม่: แม่ไม่ได้เป็นเชฟค่ะ แต่คุณพ่อเมื่อก่อนเป็นเชฟในโรงแรม แล้วเขาออกมาช่วยแม่ทำเคเทอริ่งเต็มตัว น้องเชฟเกิดมาก็เห็นครอบครัวเราทำอาหาร สัก 3-4 ขวบ เขาก็เริ่มเข้าตามเข้าครัวมาหยิบจับนู่นนี่ คุณพ่อเขาก็เริ่มสอน แล้วเขาก็เริ่มทำอาหารได้

พ่อ: ตอนเล็กๆ น้องเชฟเขาอยู่กับคุณปู่คุณย่า แล้วพอดีมีเพื่อนผมซื้อพวกหม้อสแตนเลส กระทะสแตนเลสเล็กๆ เหมือนของเล่น แต่ใช้ทำอาหารได้จริงมาฝาก พ่อก็เลยหาตาแก๊สเล็กๆ มาให้เขา แล้วเขาก็เริ่มจากการลองทอดไข่ พอทำได้เขาก็ติดใจ

คุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นแววชอบทำอาหารของน้องเชฟตอนไหน

พ่อ: ตอนที่เขา 3-4 ขวบ ผมไปแข่งรายการ Iron Chef Thailand แล้วก็เอาเทปตอนที่ไปออกรายการมาให้เขาดู เขาก็ชอบดูผมทำอาหารอยู่ในโทรทัศน์ พอย้ายจากบ้านปู่ย่ากลับมาอยู่กับพ่อแม่ เขาก็เห็นว่าเราเป็นครอบครัวทำอาหารเต็มตัว เขาก็เข้ามาช่วยทำนู่นทำนี่  ตอนแรกเราก็กลัวเขาจะโดนไฟ แต่พอเขาทำอาหารแล้วมันเกิดประกายไฟ แทนที่เขาจะกลัว เขาดันชอบไปอีก

แม่: เชฟเป็นเด็กชอบเล่นไฟ (หัวเราะ)

พ่อ: เขาไม่กลัว แต่เขารู้นะว่ามันร้อน และเขาก็มีวิธีที่จะไม่ให้ตัวเขาโดนไฟ ตอนหลังเวลาเขาทำให้ไฟมันลุกแล้วมีคนว้าวกับสิ่งที่เขาทำ เขาก็ยิ่งชอบ ยิ่งภูมิใจใหญ่

ทำไมน้องเชฟถึงชอบทำอาหารคะ (หันไปถามน้องเชฟ)

เชฟ: ก็เห็นพ่อกับแม่ทำมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ (คุณแม่แซวว่า จะไม่ตอบมากกว่านี้จริงๆ เหรอ)

จำได้ไหมว่า เห็นคุณพ่อทำเมนูไหนแล้วถึงอยากลองทำบ้าง

เชฟ: สปาเกตตีครับ (เงียบ)

(คุณพ่อบอกว่าน้องเชฟเป็นเด็กขี้อาย ถ้าไม่สนิทมากๆ จะไม่ค่อยคุยเล่นด้วย)

คุณพ่อเริ่มให้น้องเชฟไปช่วยทำอาหารจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

แม่: จำไม่ได้เลยค่ะ คือเวลาไปทำงาน เราก็ไปด้วยกันตลอด จำไม่ได้เลยว่าจริงจังตอนไหน (หัวเราะ) แต่เขาจะคอยช่วยอยู่ข้างๆ พ่อเขาตลอด

พ่อ: งานแรกผมจำได้ว่าเขาไปช่วยทำบาร์บีคิวในงานแต่งงานที่เพชรบุรี ตอนนั้นเป็นงานแรกที่ไปทำงานต่างจังหวัดด้วยกัน ถ้านับงานนั้น เขายังเด็กมาก น่าจะประมาณสามขวบครึ่งได้

เวลาไปช่วยคุณพ่อทำงานกับการไปแข่งในมาสเตอร์เชฟฯ อะไรยากกว่ากันครับ (หันไปถามน้องเชฟอีกครั้ง)

เชฟ: เวลาไปทำงานกับพ่อ ก็มีคนรู้จักที่เคยทำงานด้วยกัน ก็จะรู้ใจกัน แต่เวลาไปแข่ง ก็ได้เจอเพื่อน แต่ว่าไม่เคยทำงานด้วยกันก็จะไม่รู้ใจกัน ก็ทำงานยากขึ้นนิดนึง

แล้วชอบแบบไหนมากกว่า

เชฟ: ทำกับเพื่อนก็สนุกดีครับ เวลาไปแข่งถ้าได้อยู่กับมาร์คก็รู้ใจกันแค่สองคน

ย้อนกลับมาถามคุณพ่อคุณแม่ ตอนที่ตั้งชื่อเล่นให้น้องว่า ‘เชฟ’

แม่: ก็ตั้งใจนะคะ เพราะตอนท้องเราก็ตั้งใจท้องเนอะ (หัวเราะ) แล้วพ่อก็เป็นเชฟ ที่บ้านก็ทำธุรกิจด้านนี้ด้วย เราก็คิดเลยว่าลูกคนแรกให้ชื่อเชฟ แล้วถ้ามีคนที่สองจะให้ชื่อกุ๊ก แต่เผอิญมีคนเดียว (ยิ้ม)

“เขาเห็นพ่อแล่ปลา เขาก็อยากลอง จะได้มาช่วยพ่อแล่ปลา เขาเห็นพ่อเอาหมูมาม้วน เขาก็อยากทำ เราจะไม่ใช้วิธีเรียกเขามาสอน เพราะเขาคงไม่เอา แต่เป็นการทำให้เขาดู ถามเขาว่าอยากลองทำไหม”

พอเห็นว่าน้องชอบเขาครัว ชอบทำอาหาร คุณพ่อต้องสอนอะไรเป็นพิเศษบ้าง

พ่อ: ช่วงแรกก็เน้นเรื่องความปลอดภัย สอนว่าทำยังไงไม่ให้เกิดอันตรายก่อน เพราะเขาต้องใช้อุปกรณ์ เช่น มีด ต้องสอนว่าจับยังไงถึงจะไม่บาดมือ เตาตรงไหนที่จะร้อนบ้าง ก็จะให้เขาลองแตะดูว่าเดี๋ยวมันจะร้อนนะ

แต่ไม่เคยใช้วิธีห้าม…

พ่อ: ไม่เลย ห้ามเขาไม่ได้ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ (หัวเราะ) ยิ่งห้ามเขายิ่งอยากลอง

แม่: คิดว่าให้เขาเรียนรู้จากชีวิตประจำวันของพ่อลูก มันจะไม่เหมือนส่งเขาไปเรียนเทกคอร์ส เพราะเขาจะซึมซับไปเอง อย่างเขาเห็นพ่อแล่ปลา เขาก็อยากลอง จะได้มาช่วยพ่อแล่ปลา เขาเห็นพ่อเอาหมูมาม้วน เขาก็อยากทำ เราจะไม่ใช้วิธีเรียกเขามาสอน เพราะเขาคงไม่เอา แต่เป็นการทำให้เขาดู ถามเขาว่าอยากลองทำไหม แล้วพวกเทคนิคต่างๆ เขาก็จะค่อยๆ ซึมซับไปเอง

พ่อ: เมื่อก่อนผมทำงานในโรงแรม ตอนเย็นแม่เขาก็จะพาน้องเชฟไปนั่งรอผมในห้องอาหาร เขาก็จะเห็นว่าที่โรงแรมมีเตาแบบนี้ ทำไมไม่เหมือนของที่บ้าน เขาจะเป็นเด็กช่างสังเกตว่าอุปกรณ์อะไรมีไว้ทำอะไร อย่างเช่น เตาคอมบิฯ ที่มันหน้าตาเหมือนเตาอบ เขาก็จะสังเกตแล้วรู้เองว่ามันใช้ทำอะไรได้บ้าง

น้องเชฟเริ่มเข้าวงการแข่งขันทำอาหารตั้งแต่เมื่อไหร่

พ่อ: ครั้งแรกน่าจะเป็นตอน 8 ขวบ แข่งทำแซนด์วิชของขนมปังฟาร์มเฮาส์

แม่: มันเป็นการแข่งสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบ คือช่วยกันคิดสูตร แล้วเขาก็ไปทำไปพรีเซนต์ แล้วก็ได้รางวัลรองชนะเลิศมา ต่อมาก็เป็น Iron Chef Thailand เมื่อสามปีที่แล้ว ก็ยัง 8 ขวบเหมือนกัน

พ่อ: ตอนนั้นเชฟเด็กที่สุดในรายการ ประสบการณ์ที่มีก็มาจากสิ่งที่เขาเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน โชคดีที่พวกอุปกรณ์ต่างๆ เรามีที่บ้านอยู่แล้ว เขาก็รู้ว่าอะไรต้องใช้ยังไง เลยไม่จำเป็นต้องไปเรียนเพื่อที่จะมาแข่ง ก็ใช้ความรู้เท่าที่เขาเรียนรู้มาด้วยตัวเอง

เวลาไปแข่งขัน ครอบครัวเป็นฝ่ายผลักดันหรือน้องอยากไปด้วยตัวเอง

แม่: ก็เอามาถามเขาก่อนทุกครั้ง เพราะถ้าจะไปแข่ง มันต้องมีการซ้อม ซึ่งเวลาซ้อมเราจะปวดหัวกันมาก เพราะเชฟเขาจะคิดว่าเขารู้แล้ว เขาทำเป็น แล้วเขาก็จะไม่อยากซ้อม

พ่อ: เชฟเขาจะเป็นเด็กที่สมมติว่าเราสอนเขาวันนี้ เขาจะยังไม่ทำ แต่เขาจะเก็บไว้ แล้วสิ่งที่เราสอนไว้วันนี้ เขาก็จะเอาไปทำวันพรุ่งนี้

แม่: เหมือนถ้าสอนแล้วทำตามทันทีเขาจะรู้สึกเสียหน้า (หัวเราะ)

ตอนไปแข่งรายการแรก คุณพ่อคุณแม่กังวลหรือคิดว่ามันยากเกินไปสำหรับเด็ก 8 ขวบไหม

แม่: ตอนนั้น ไม่ค่อยรู้สึกว่ายากนะคะ ไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะตอนถ่ายรายการ เขาให้ผู้ปกครองเขาไปดูได้ มีผู้ใหญ่เข้าไปช่วยเตรียมของได้ แต่ว่าเขาต้องลงมือทำอาหารด้วยตัวเอง

พ่อ: แต่พอมาแข่งมาสเตอร์เชฟฯ รายการเขาไม่ให้พ่อแม่เข้าไปดูเลย เด็กต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ของก็ต้องหาเอง

แม่: ใช่ค่ะ เราก็รอโดยที่ไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง ทำได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ รู้อีกทีตอนเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ถือเหรียญออกมาแล้ว (หัวเราะ)

“เราบอกกับเขาว่าให้หนูทำดีที่สุดเท่าที่อยากทำนะ มันเป็นโอกาสของหนู แต่ไม่จำเป็นต้องชนะก็ได้ ไม่ต้องไปเครียด แม่ไม่เคยบอกเขาว่าเชฟต้องได้ที่หนึ่ง”

ในรายการน้องเชฟดูเอาจริงเอาจัง เป็นเพราะเขาโตและเริ่มมีความคาดหวังหรือเปล่า

พ่อ: ที่จริงก็เป็นโชคดีตรงที่เขาเคยมีประสบการณ์การแข่งขันจากรายการแรกมาก่อน แต่ครั้งนั้นความกดดันมันน้อยกว่า เพราะครั้งนี้ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของเขาอย่างเดียวเลย

แม่: แต่เขาก็ไม่ค่อยเครียดเท่าไรนะคะ เพราะเขาไม่ได้คาดหวังว่าต้องชนะ หมายถึงว่า เราบอกกับเขาว่าให้หนูทำดีที่สุดเท่าที่อยากทำนะ มันเป็นโอกาสของหนู แต่ไม่จำเป็นต้องชนะก็ได้ ไม่ต้องไปเครียด แม่ไม่เคยบอกเขาว่า เชฟต้องได้ที่หนึ่ง

พ่อ: เราบอกแค่ให้เขาทำให้ดี

“มันก็ดีตรงที่ว่า ถ้าเขาชนะไม่ได้ เขาก็จะได้รู้จักคำว่าแพ้ พอรู้จักคำว่าแพ้ เขาก็จะกลับมาพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ”

แล้วคิดว่าตัวน้องเชฟเองอยากชนะไหม

พ่อ: คิดว่าเขาก็คาดหวังทุกแมตช์ แต่มันก็ดีตรงที่ว่า ถ้าเขาชนะไม่ได้ เขาก็จะได้รู้จักคำว่าแพ้ พอรู้จักคำว่าแพ้ เขาก็จะกลับมาพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

แม่: เวลาแพ้ มันก็เหมือนเป็นเกราะ พอเขาแข็งแรงแล้วเขาก็คงจะชนะบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากการที่น้องไปแข่งขันในรายการ

แม่: เขาดูมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น หมายถึงเวลาที่เขาต้องไปเจอโจทย์หรืออะไรที่เขาต้องคิดเอง ยิ่งพอเข้ารอบลึกๆ เขาก็ยิ่งมีความคิดของตัวเอง เช่น มาบอกว่า รอบนี้หนูว่าจะทำอย่างนี้

พ่อ: บางทีอะไรที่เราสอนเขา เขาก็รู้จักที่จะเก็บเอาไว้ก่อน ยังไม่ใช้รอบนี้ รอรอบต่อไปค่อยเอามาใช้ แล้วก็ผสมผสานกับสิ่งที่เขาคิดเอง

เมนูที่เตรียมไปแข่งในรอบสุดท้าย เป็นไอเดียที่น้องเชฟคิดเองหรือเปล่า

พ่อ: ตัวเมนูเราก็ช่วยกันคิดทั้งสามคน แต่เวลาซ้อมก็จะเป็นแบบนึง พอไปทำจริง ก็ออกมาเป็นอีกแบบนึง (หัวเราะ) มันอยู่ที่สถานการณ์เฉพาะหน้า และการตัดสินใจของเขา

แม่: ตอนซ้อมเราก็คิดไว้ว่ามันจะเป็นอีกแบบนึง แต่พอไปทำจริง ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เหมือนเดิม สถานที่ก็ไม่เหมือนเดิม

พ่อ: ตอนแข่งจริงมันมีข้อจำกัดต่างๆ เขาก็ต้องไปคิดและตัดสินใจเองว่าจะทำยังไง อาจจะเพิ่มอย่างนึง แล้วลดอีกอย่างนึง ทุกอย่างอยู่ที่หน้างานของเขา

แม่: ตอนนั้นมีเมนูแกงรัญจวน เราคิดไว้ว่ามันจะต้องเป็นเจลลี่ แต่พอมันไม่ออกมาเป็นเจลลี่ เขาก็ต้องคิดเองว่าจะแก้ไขยังไง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีอะไรไปเสิร์ฟกรรมการ

ดูเหมือนเป็นเด็กที่ทำอาหารไทยได้ดี แต่ส่วนตัวน้องเชฟชอบทำอาหารประเภทไหนคะ

เชฟ: ชอบทำอาหารฝรั่งฮะ

แล้วชอบกินอาหารประเภทไหน

เชฟ: ชอบอาหารฝรั่งกับญี่ปุ่น

พ่อ: เขาน่าจะซึมซับมาจากอาหารเช้าที่แม่ทำให้ทุกวัน (ว่าแล้วคุณพ่อก็เปิด อินสตาแกรม อาหารเช้าของน้องเชฟ ที่คุณแม่ทำและถ่ายรูปเก็บไว้ทุกวันมาเป็นเวลาหลายปีให้พวกเราดู)

แม่: ช่วงแรกๆ แม่ก็พยายามทำแบบน่ารักๆ ให้เขา อยากให้เขาเห็นวิธีการจัดแต่งจาน คือเราไม่ได้ใช้วิธีสอนเขาแต่จะทำให้เขาเห็น ทุกเช้าเขาก็จะเห็นแม่ทำอาหารจัดจานสวยๆ แล้วเขาก็กินสองคำอิ่ม แม่นั่งทำตั้งนาน (หัวเราะ)

ชีวิตที่โรงเรียนน้องเชฟเป็นยังไงบ้าง

แม่: จริงๆ เชฟไม่ใช่เด็กเรียนดีเลย (หัวเราะ) เขาเป็นเด็กชอบทำกิจกรรม วิชาการไม่เด่น เรียกว่าไม่เด่นอย่างมากก็ได้ แต่เราก็ไม่ได้ซีเรียสนะ

พ่อ: ผมเองก็เป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน ผมก็รู้ว่าเรื่องเรียนมันสำคัญ แต่ถ้าเราทำกิจกรรม เราเข้ากับเพื่อนได้ มันก็จะช่วยให้เราคิดหรือทำอะไรเป็นได้อีกหลายอย่าง อาจจะมากกว่าคนที่นั่งเรียนอย่างเดียวแล้วไม่เอากิจกรรมเลยก็ได้ แต่น้องเชฟนี่ก็เป็นเด็กที่เอากิจกรรมทุกอย่าง (หัวเราะ)

แม่: เขาเหมือนเป็นคนของประชาชน เพื่อนเยอะ คนรู้จักทั้งโรงเรียน กับคุณครูก็เหมือนลูกรัก มีงานกีฬาอะไรเขาก็ไปช่วย ไปเล่นทุกอย่าง… ได้หมด ยกเว้นวิชาการ (หัวเราะ)

ดูเหมือนครอบครัวพร้อมที่จะสนับสนุนทุกด้าน

พ่อ: สนับสนุนทุกเรื่องครับ ไม่จำเป็นต้องเรื่องทำอาหารก็ได้ แต่จะผลักดันไปถึงจุดไหน ทุกอย่างก็อยู่ที่ตัวเขา

ตอนนี้น้องยังมีแววสนใจด้านอื่นนอกจากทำอาหารอีกไหม

แม่: จริงๆ เขาก็ยังชอบหลายอย่างนะคะ ดนตรี ฟุตบอล ก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป อย่างฟุตบอลเขาก็ยังชอบเล่นอยู่ แต่ช่วงที่แข่งมาสเตอร์เชฟฯ ก็ต้องเอาเวลาไปซ้อมทำอาหารมากกว่า

พ่อ: แต่พอแข่งในรายการเสร็จแล้ว อย่างวันนี้ที่จริงเขาก็ต้องไปเล่นฟุตบอลที่ชมรม แล้วปกติเขาก็เล่นดนตรีในวงโยฯ

เล่นฟุตบอล เล่นดนตรี แล้วก็ทำอาหาร น้องเชฟชอบอะไรที่สุด

เชฟ: ชอบทำอาหารกับเล่นฟุตบอลครับ

เวลาแข่งขันเสร็จแล้วน้องเคยผิดหวังกับผลงานตัวเองจนคุณพ่อคุณแม่ต้องปลอบใจไหม

พ่อ: ก็มีนะ เราคุยกับเขาตั้งแต่ขึ้นรถมาเลยว่าหนูทำดีที่สุดแล้ว

“มันโชคดีตรงที่เด็กๆ เขารักกัน เขาก็เลยไม่กดดันมาก คือตอนแข่งก็แข่งไป แต่เสร็จแล้วก็ออกมานั่งเล่นเกมกันเหมือนเดิม”

รอบไหนที่น้องแข่งออกมาแล้วไม่โอเคหรือเห็นว่าน้องกังวลที่สุด

พ่อ: รอบหกคนสุดท้าย ที่น้องจัสมินเลือกกึ๋นให้

แม่: ใช่ รอบนั้นออกมาหน้าตาเครียดเลย

พ่อ: ถ้าเขาทำแล้วไม่มั่นใจ เขาจะนิ่ง เงียบ เราก็จะบอกเขาว่าไม่เป็นไร แพ้ก็แพ้ เราเป็นลูกผู้ชายพอ แล้วก็จะถามเขาตลอดว่า หนูอยากไปต่อไหม ถ้าอยากก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อไป หนูก็เห็นอยู่แล้วว่าเพื่อนที่มาแข่งเก่งกันทุกคน

แม่: มันโชคดีตรงที่เด็กๆ เขารักกัน เขาก็เลยไม่กดดันมาก คือตอนแข่งก็แข่งไป แต่เสร็จแล้วก็ออกมานั่งเล่นเกมกันเหมือนเดิม

เดี๋ยวนี้มีรายการแข่งขันสำหรับเด็กเยอะขึ้น หลายครอบครัวก็ยิ่งพยายามผลักดันให้ลูกได้ลองเข้าสู่การแข่งขัน คุณพ่อคุณแม่มีความเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง

พ่อ: อย่างแรกต้องถามความสมัครใจลูกก่อน เขาชอบไหม สนใจไหม รักมันไหม อยากที่จะทำจริงๆ ไหม ไม่ใช่พ่อแม่เป็นคนยัดเยียดให้เขาไปแข่ง หรือทำตามความต้องการของสังคม อยากให้ลูกมีหน้ามีตา

แม่: ไม่ใช่ทำเพื่อสนองความต้องการของพ่อแม่

พ่อ: เราต้องคอยดูว่าเขาพร้อมแค่ไหนและเขาโอเคไหม อย่างรายการมาสเตอร์เชฟฯ ผมก็ถามเขาก่อนว่าอยากไปไหม พอเขาตอบว่าโอเค เราถึงส่งใบสมัครเข้าไป เพราะว่าตอนที่ไปแข่ง Iron Chef Thailand นี่เขายังเด็กมาก เขาไม่รู้ว่าพอไปเจอสถานการณ์จริงแล้วเขาจะเครียด ก่อนแข่งก็เลยมีอ้วกบ้าง เหมือนเขารับความกดดันตรงนั้นไม่ไหว

แสดงว่าน้องเข้าใจความจริงจังของการแข่งขันแบบผู้ใหญ่

แม่: เขาเข้าใจนะ แต่มันไม่ใช่ความกดดันว่าต้องชนะ แม่คิดว่าเขาเด็ก เขาก็เลยกลัว แต่พอถึงเวลาลงมือทำจริงๆ เขาก็ทำได้

ตอนนั้นคุณแม่ไม่กลัวว่าน้องจะทำไม่ได้หรือรับมือไม่ไหวเหรอ

พ่อ: เราคอยถามเขาตลอดว่าไหวไหม โอเคไหม ถ้าไม่ไหวก็ไปถอนตัวกันนะ แต่ก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าหนูถอนตัว ทีมงานจะมีผลกระทบอะไรบ้าง

แม่: แม่มั่นใจในตัวเขา คือเราเชื่อว่า ถ้าเขาบอกว่าไหว หรือเขายืนยันที่จะทำต่อ เขาก็จะผ่านมันไปได้

เวลาต้องไปถ่ายรายการ น้องเชฟมีงอแงหรืออยากล้มเลิกกลางคันไหม

แม่: ไม่มีเลย เขามีความรับผิดชอบมาก

ดูเหมือนเด็กๆ จะมีความสุขกับการไปแข่งขันในรายการมาก

แม่: โอ้โห เขามาบอกแม่ว่า อยากให้รายการเลิกตีสาม จะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน เวลามีถ่ายสัมภาษณ์ทีละคน เขาจะไปขอทีมงานว่าขอถ่ายเป็นคนสุดท้าย อยากเลิกดึก ไม่อยากไปโรงเรียน

อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์วันแข่งรอบชิงชนะเลิศ

(ทีมงานช่วยบอกว่า วันถ่ายการแข่งขันรอบสุดท้าย ทีมงานนัดทุกคนมาหกโมงเช้าและเริ่มถ่ายจริงประมาณเก้าโมง)

พ่อ: เขาเรียกเชฟเข้าไปเก็บตัวตอนแปดโมง

แม่: เราก็คิดว่าเดี๋ยวก็คงได้ออกมาพักบ้าง แต่ไม่ใช่เลย เข้าไปทีเดียวแล้วก็หายไปเลย

พ่อ: คือเวลาแข่งรอบปกติ เขาจะมีเบรกกินข้าว เด็กก็ออกมาเจอผู้ปกครองได้ แต่วันที่แข่งรอบสุดท้าย เด็กสามคนนี้เหมือนถูกกักบริเวณเลย ไม่ได้ออกมาเลย (หัวเราะ)

แม่: กว่าจะเสร็จก็…​ ตีสองได้

พ่อ: ที่ในรายการเห็นว่าน้องมาร์คง่วง นั่นเขาง่วงจริงๆ เพราะว่ามันดึกมาก (หัวเราะ)

แม่: แต่วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ได้เข้าไปเห็นข้างในสตูดิโอ ก่อนหน้านั้นเราจะไม่เคยเห็นว่าลูกอยู่ในนั้นเป็นยังไง ถูกดุ ถูกว่าบ้างไหม

พ่อ: ต้องยอมรับว่าเด็กๆ ที่เข้าไปในรายการนี้เก่งกันทุกคน ขนาดเด็กตัวเล็กๆ แต่ใจเขาใหญ่มาก แล้วเราเจอกันทุกสัปดาห์มันก็ผูกพันกัน สนิทกันมาก

แม่: ลูกใครออก พ่อแม่คนอื่นก็น้ำตาไหลไปด้วย

น้องเชฟจำได้ไหมว่าเมนูสุดท้ายเริ่มลงมือทำกันตอนกี่โมง

เชฟ: ห้าทุ่มครับ

แล้ววันนั้นทำไมถึงพยายามช่วยน้องมาร์ค

เชฟ: คือตั้งแต่แข่งมาทั้งวัน ผมเห็นมาร์คเขาทำพลาดหลายอย่าง ยิ่งตอนเมนูที่สาม ตั้งแต่ทำทาร์ตร่วง ตอกไข่ แล้วก็… (นึกไม่ออก)

แปลว่าเราทำเมนูของตัวเองไป แต่ก็คอยดูเพื่อนไปด้วยเหรอ

เชฟ: เปล่าฮะ ผมได้ยินเพื่อนข้างบนตะโกนลงมา (หัวเราะ) แล้วก็เห็นกรรมการเดินมาหามาร์ค ผมก็เลยบอกมาร์คว่าให้สู้ๆ

ตอนนั้นน้องมาร์คไม่อยากทำต่อแล้วเหรอ

เชฟ: ใช่ฮะ เขาบอกว่าไม่อยากเอาไปเสิร์ฟกรรมการแล้ว

แล้วถ้าทำได้ จริงๆ เชฟอยากช่วยมาร์คทำอะไรบ้าง

เชฟ: ผมอยากให้เขาทำให้เสร็จทันเวลา จะได้มีของไปเสิร์ฟกรรมการ

แล้วเราพอใจในเมนูของตัวเองแล้วใช่ไหม

เชฟ: ตอนนั้นของผมเสร็จแล้ว ผมก็อยากช่วยมาร์ค เพราะถ้าเราทำเสร็จแต่เพื่อนไม่เสร็จ มันก็… (คิดนาน) อยากให้ทำเสร็จทั้งสามคนมากกว่า

แล้วรู้ไหมว่าตอนนั้นทุกคนที่ดูรายการประทับใจมาก

เชฟ: ไม่รู้ครับ (ทีมงานแอบบอกว่า ในไลฟ์ของรายการ มีคนคอมเมนต์ชมว่าน้องเชฟเป็นเด็กใจหล่อ)

เชฟ: ดีใจฮะ (หัวเราะ)

แล้วถ้าวันนั้นเมนูของตัวเองยังไม่เสร็จล่ะ

เชฟ: ผมก็ไม่ไปช่วย (หัวเราะ)

เสียใจไหมที่ไม่ได้เป็นที่หนึ่ง

เชฟ: ไม่เสียใจฮะ เพราะว่าก็มีคนที่เก่งกว่าเรา ถึงไม่ได้ที่หนึ่ง เราก็ได้เพื่อน

ตั้งแต่ไปแข่งขันมาอะไรสนุกที่สุดในรายการ

เชฟ: ก็ได้เจอเพื่อน รอให้แข่งเสร็จจะได้ออกมาเล่นเกม

ตอนนี้รายการจบแล้วมีแพลนจะทำอะไรต่อ

เชฟ: ไปเล่นฟุตบอลฮะ (หัวเราะ)

สุดท้ายแล้วคุณพ่อคุณแม่คิดว่าน้องเชฟได้อะไรจากการแข่งขันครั้งนี้

พ่อ: จริงๆ ต้องขอบคุณรายการ คิดว่าเขามาแข่งรายการนี้ ต่อไปทำอะไรเขาก็ไม่กลัวแล้ว

แม่: แล้วเขาได้เจอทีมงานที่ดี เพื่อนที่ดี พ่อกับแม่ก็ได้เจอเพื่อนใหม่ไปด้วย จบรายการออกมาก็ยังคงมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ยังคงนัดเจอกันอยู่

หลังรายการจบน้องน่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แม่: ก็มีคนรู้จักมากขึ้นนะคะ ไปไหนก็เริ่มมีคนมาขอถ่ายรูปบ้าง แม่ก็บอกว่าเขาว่าจะทำอะไรก็ต้องให้เกียรตินามสกุลมาสเตอร์เชฟฯ ด้วยนะ แต่ส่วนมาก คนที่เข้ามาหาเขา ก็มาแบบเอ็นดู เราเป็นพ่อแม่ก็ภูมิใจ

พ่อ: เมื่อก่อนน้องเชฟจะไม่ชอบถ่ายรูป ถ่ายรูปทีก็แทบจะทะเลาะกันตาย แต่เดี๋ยวนี้เขาก็รู้แล้วว่ามันต้องมีบ้าง แล้วก็มารยาทดีขึ้น เมื่อก่อนเขาจะชอบอยู่เงียบๆ ไม่ยุ่งกับใคร ใครมาทักเขาก็เฉยๆ แต่เดี๋ยวนี้เวลามีคนมาทักเขาก็จะสวัสดีบ้าง ขอบคุณบ้าง มันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เหมือนเขาเรียนรู้ได้จากการทำงาน

แม่: เอ๊ะ หรือว่ารายการสอนมา (หัวเราะ)

 

สัมภาษณ์วันที่ 21 ธันวาคม 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST