เป็นประเด็นขึ้นมาถึงความเหมาะสมของหัวข้อการเสวนา ที่ว่าด้วยการเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน (ทางเพศ) เราเลยไปชวน เม—เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา มาคุยกันถึงเรื่องนี้ ว่าในมุมของนักจิตวิทยาที่ศึกษาและทำงานกับเด็กและครอบครัวมาพอสมควร จะมองเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง
“เพศสภาพคือ sex คือเพศชายและเพศหญิงที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะร่างกายให้มาแบบนี้ แต่เพศสภาวะคือ gender คือสิทธิ์ในการเลือกของตัวเด็กเอง ในต่างประเทศเขาเชื่อว่า gender เป็นการตัดสินใจของตัวบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่ทางกายภาพเป็นตัวกำหนด”
เราสามารถเลี้ยงลูกไม่ให้เบี่ยงเบนทางเพศได้จริงหรือ
เป็นไปไม่ได้ค่ะ ถึงแม้ว่ายังไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่งานวิจัยหลายงานบอกว่า มันไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ตั้งครรภ์ เด็กได้รับฮอร์โมน หรือมีลักษณะทางพันธุกรรม เป็นผลมาจากชีวโมเลกุล และอะไรหลายๆ อย่าง รวมเข้ากับสภาพแวดล้อมด้วย คล้ายกับโรคทางจิตเวช ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อย่างน้อยร้อยละ 50 คือมันก็มีหลายงานวิจัย แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ชัวร์ๆ ว่ามันเกิดจากการถ่ายทอดฮอร์โมน หรือสารเคมีในร่างกายอย่างเดียว
ถ้าลองยกตัวอย่าง ก็เหมือนกับการที่เด็กเลือกจะชอบสีอะไร พ่อแม่ก็ไม่ใช่คนกำหนดใช่ไหมคะ เช่นเดียวกับเรื่องเพศ ถ้าเกิดว่าพ่อแม่เปิดกว้าง เด็กเขาจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไปกดดัน แล้วเด็กเขาจะเปลี่ยน ถ้าเด็กชอบสีไหน ถึงแม้ว่าเราจะให้เขาชอบในสีที่เราบอกให้เขาชอบ แต่ในใจเขาก็ยังชอบสีเดิมอยู่ดี
สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่ในครอบครัวทหาร พยายามเลี้ยงลูกชายให้เป็นเพศชาย ให้ลูกทำกิจกรรมลุยๆ ให้ลูกเล่นกีฬา แต่สุดท้ายเด็กหลายคนเขาก็รู้ตัวเองมาตั้งแต่เล็กๆ ว่าเขาอยากเล่นตุ๊กตามากกว่า
ไม่อย่างนั้นที่ต่างประเทศมันจะไม่มีคำว่า transgender เพราะว่าในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา เขายอมรับให้เด็กสามารถแต่งตัวตามเพศสภาวะที่ตัวเองต้องการได้
เพศสภาพคือ sex คือเพศชายและเพศหญิง ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะร่างกายให้มาแบบนี้ แต่เพศสภาวะคือ gender คือมันเป็นสิทธิ์ในการเลือกของตัวเด็กเอง ในต่างประเทศเขาเชื่อว่า gender เป็นการตัดสินใจของตัวบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่ทางกายภาพเป็นตัวกำหนด คล้ายกับศาสนาหรือความเชื่อ
เปลี่ยนจากการเลี้ยงลูกไม่ให้เบี่ยงเบน เป็นการอยู่กับลูกที่เบี่ยงเบนทางเพศอย่างไรให้มีความสุข
เป็นเรื่องของการยอมรับก่อนเลยค่ะ ซึ่งต้องเกิดที่ตัวเรา มากกว่าที่จะเป็นตัวลูก เพราะตัวเขาเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือ มองว่าการเบี่ยงเบนมันไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ได้ผิดปกติ ไม่ได้เป็นโรคที่ต้องรักษา มันไม่ได้มีความผิดปกติทางพยาธิสภาพใดๆ มันเป็นเรื่องของการเลือกของเด็กคนนึง ดังนั้น ขั้นตอนแรกของการยอมรับ ก็คือการมองว่าลูกก็เป็นคนธรรมดา เขาแค่เลือกว่าเขาอยากจะเป็นอะไรเท่านั้นเอง
การยอมรับจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรารับรู้ว่าเขาเป็นลูกของเรา และเขาก็มีชีวิตของเขา ถึงแม้ว่าเราคาดหวังจะให้เขาเป็นอะไรก็ตาม เราก็อาจจะผิดหวังได้ เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราคาดหวังแล้วเขาต้องทำตาม แต่มันไม่ใช่ตัวเขา นั่นแปลว่าลูกกำลังแบกรับอะไรบางอย่างอยู่ ไม่ใช่แค่กับเรื่องเพศสภาวะนะ แต่อาจรวมถึงเรื่องหน้าที่การงาน และเรื่องอื่นที่พ่อแม่ชอบคาดหวังกัน
“การเบี่ยงเบนไม่ได้แปลว่าลูกเป็นคนดีไม่ได้ หรือลูกไม่มีความสามารถ ลูกก็เป็นคนธรรมดา เขาแค่เลือกว่าเขาอยากเป็นสีอะไรแค่นั้นเอง ส่วนเรามีหน้าที่เป็นบ้านที่อบอุ่น มีหน้าที่สนับสนุน ฟูมฟักเขา ให้สิ่งที่ดีในการให้เขาเติบโต สอนวินัย สอนเหมือนเด็กทั่วไปนี่แหละค่ะ เพราะเขาก็คือเด็กทั่วไปคนนึง”
เป็นบ้านที่อบอุ่นให้กับลูก
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ คือต้องยอมรับว่าชีวิตเป็นชีวิตของลูก การเบี่ยงเบนไม่ได้แปลว่าลูกเป็นคนดีไม่ได้ หรือลูกไม่มีความสามารถ ลูกก็เป็นคนธรรมดา เขาแค่เลือกว่าเขาอยากเป็นสีอะไรแค่นั้นเอง ส่วนเรามีหน้าที่เป็นบ้านที่อบอุ่น มีหน้าที่สนับสนุน ฟูมฟักเขา ให้สิ่งที่ดีในการให้เขาเติบโต สอนวินัย สอนเหมือนเด็กทั่วไปนี่แหละค่ะ เพราะเขาก็คือเด็กทั่วไปคนนึง
สองคือให้กำลังใจ บางครอบครัวมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่การจะให้ลูกออกไปอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข อาจเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้เขาที่ยอมรับในตัวเองแล้ว เป็นที่ยอมรับของคนอื่นได้ด้วย ต้องเตือนลูกเสมอว่า ถึงแม้ว่าคนอื่นจะยังไม่ยอมรับลูกในตอนนี้ แต่ลูกมีอะไรดีบ้าง ลูกมีความสามารถอะไรบ้าง และลูกสามารถทำอะไรให้สังคมได้บ้าง สิ่งนี้ใช้ได้กับทุกคน เพราะเราต่างก็แสวงหาการยอมรับ เราก็สอนลูกแบบนั้นเลย ไม่จำเป็นว่าต้องบอกว่า มันเป็นเรื่องเพศนะ
ถ้าลูกต้องการเป็นที่ยอมรับ ลูกก็ต้องทำอะไรให้คนอื่นยอมรับ ไม่ใช่พยายามเรียกร้อง ลูกเป็นตัวของตัวเองนี่แหละ และลูกต้องทำสิ่งที่ดี เช่น อะไรบ้าง ให้ความช่วยเหลือเมื่อคนอื่นทำไม่ได้ แต่ตัวเองทำได้ หรือเป็นตัวของตัวเอง และทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ให้ดี หรือไปให้ไกลถึงจุดที่ตัวเองสามารถจะไปได้ถึง สองอย่างนี้สำคัญ คือการให้ในสิ่งที่ให้ได้ และมั่นคงในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่จำเป็นต้องโอนเอนไปตามสังคมทุกอย่าง
แล้วเด็กจะรู้ได้ยังไงว่าสังคมไม่ใช่ทุกอย่าง ก็คือบ้านจะต้องเป็นทุกอย่างให้เขา เช่น ถึงแม้ว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว สังคมยังไม่เปิดกว้างให้เขา มันจะไม่เป็นไรก็ต่อเมื่อ เขารู้ว่าคนที่เขารักรออยู่ที่บ้าน และทุกคนพร้อมจะกอด ให้การสนับสนุน และจะอยู่ให้เขากลับไปขอกำลังใจได้เสมอ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวนี่แหละค่ะ ว่าจะเป็นที่พักพิงให้เขาได้ไหม
“เราดีใจที่ลูกเราไม่เบี่ยงเบนได้ แต่เราก็ไม่ควรสอนลูกเราให้รังเกียจเพศที่ไม่ตรงกับสภาวะตัวเองด้วย เราควรสอนให้เด็กมองเห็นทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน”
รับไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ขอให้อยู่ตรงนั้นให้ลูกก็พอ
สำหรับครอบครัวที่รับไม่ได้ หรือรับได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น คุณแม่รับได้แค่คนเดียว แต่คุณพ่อไม่ยอมรับ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเหมือนกัน ก็สามารถช่วยลูกได้ด้วยการเป็นพ่อเป็นแม่ให้เขาตามปกติ ไม่ควรใช้การประชดประชัน หรือพูดจาทำร้าย เรายอมรับเขาไม่ได้ไม่เป็นไร เราเก็บเอาไว้ก่อน แต่สิ่งที่แสดงออกคือเราไม่ควรแสดงออกทางลบ หรือแสดงออกในเชิงทำร้าย เช่น การประชดประชันลูก “อยากใส่กระโปรงนัก เอาไปใส่เลย” หรือ “อยากแมนนักใช่ไหม ไปเลย ไปต่อยมวยเลย” น้ำเสียงประชดประชันแบบนี้ เด็กเขารับรู้ได้
อีกอย่างคือไม่ใช้การหนี เช่น อิกนอร์ไม่พูดด้วย ไม่อยากทำกิจกรรมด้วย หรือรังเกียจ เด็กเขาก็รับรู้ได้เหมือนกัน เรายอมรับสิ่งที่เขาเป็นไม่ได้ แต่อย่างไรเขาก็เป็นลูกของเรา เราแค่ต้องอยู่ตรงนั้นก็พอ ไม่ได้ต้องไปสนับสนุน พาเขาไปเต้น ไปซื้อกระโปรงอะไรขนาดนั้นก็ได้ แค่อยู่ที่บ้าน กินข้าวด้วยกัน ทำกิจกรรมที่ครอบครัวทำด้วยกันตามปกติ
เราไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่ไปสนับสนุนเขา หรือพยายามดันเขาไปให้สุด ถ้าใจพ่อแม่ยังไม่พร้อม เพราะสุดท้ายเด็กก็รู้อยู่ดีว่าเราไม่พร้อม และไม่จริงใจต่อเขา
สิ่งสำคัญที่สุด เป็นเรื่องของการที่ให้เด็กรู้ว่าตัวเองเบี่ยงเบนแล้ว ไม่ไป bully คนอื่น คือมันก็มีเหมือนกัน ที่เด็กไม่ให้การยอมรับคนอื่น เหมือนกับเขามีความมั่นใจแล้ว เริ่มมีจุดยืน ตั้งแก๊งกับเพื่อนที่คล้ายกันแล้ว เกิดอยากแก้แค้น เธอทำฉันก่อน ฉันก็เลยทำบ้าง มันก็มีเหมือนกันในกลุ่มวัยรุ่น กลายเป็นการบุลลี่ซ้อนบุลลี่ เพราะเขาเคยโดนทำมา เขาก็คิดว่าเมื่อเขามีกลุ่มที่แข็งแกร่ง ก็อยากจะกลับไปทำกับพวกที่เคยรังแกเรามาก่อน
เราต้องสอนลูกให้เขารู้ว่า ถึงตัวเองมั่นคงแล้ว เป็นที่ยอมรับแล้ว ก็ไม่ควรไปทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน ไม่ใช่แค่กับลูกที่เบี่ยงเบนทางเพศนะคะ แต่คือกับลูกทุกคน เราดีใจที่ลูกเราไม่เบี่ยงเบนได้ แต่เราก็ไม่ควรสอนลูกเราให้รังเกียจเพศที่ไม่ตรงกับสภาวะตัวเองด้วย เราควรสอนให้เด็กมองเห็นทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน
คิดว่าการใช้คำว่า ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ นั้นเหมาะสมหรือไม่
โดยทั่วไป คำนี้อาจถือว่าเป็นคำที่ค่อนข้างสุภาพแล้ว หากจะใช้ในการอธิบาย แต่ส่วนตัวคิดว่าคำที่น่าจะเหมาะกับการใช้ แต่เขาไม่ใช้กันคือคำว่า เด็กเลือกที่จะเป็นเพศสภาวะใด แค่นั้นเองค่ะ
เช่น เราเกิดเป็นผู้หญิง และเราเลือกเพศสภาวะเป็นผู้หญิง ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ว่าเด็กคนไหนก็มีสิทธิ์ใช้คำนี้ได้ ทั้งเด็กที่ตรงเพศ และเด็กที่เป็น transgender มันทำให้เกิดความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยกด้วยค่ะ
NO COMMENT