READING

INTERVIEW: คุยกับทีม IF (Integrated Field) ผู้ใหญ่...

INTERVIEW: คุยกับทีม IF (Integrated Field) ผู้ใหญ่ที่เข้าใจการออกแบบพื้นที่สำหรับเด็ก

IF (Integrated Field)

ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา M.O.M มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศของโรงเรียนอนุบาลหลากหลายรูปแบบการเรียนการสอน และต้องยอมรับว่า โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งที่เราไปสัมผัส ได้ค่อยๆ สร้างความสนใจใหม่ให้กับพวกเราไม่น้อย

เพราะเราไม่ได้เห็นแค่ตึก อาคาร หรือห้องเรียนสีสันสดใส และไม่ได้เห็นแค่โต๊ะเก้าอี้ย่อส่วน เพื่อแสดงออกถึงความเป็นพื้นที่สำหรับเด็กเท่านั้น แต่เราได้เห็นสถานที่ที่ตั้งใจคิดและออกแบบมาอย่างดี ทั้งในแง่ความสวยงาม ความปลอดภัย และฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเด็กๆ

Kensington Learning Space (อาคารเรียนพิเศษของ โรงเรียนอนุบาลนานาชาติเคนซิงตัน) และอาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย เป็นสองสถานที่ล่าสุดที่เราเห็นว่ามีการออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กออกมาได้สวยงามในระดับที่เด็กเห็นก็ต้องตาโต ส่วนผู้ใหญ่อย่างเราก็อดไม่ได้ที่จะอยากรู้ว่า ก่อนจะมาเป็นพื้นที่ที่ถูกใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างที่เราเห็นตอนนี้ ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการคิดอย่างไรบ้าง

บนตึกลับแห่งหนึ่งย่านพระราม 3 เป็นที่ตั้งของบริษัท IF (Integrated Field) บริษัทที่เกิดจากการรวมตัวของพาร์ตเนอร์มากกว่าสิบชีวิต เราได้พูดคุยกับ กวง—วรวุฒิ เอื้ออารีมิตร, โอ—เลอพงษ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ และ เฟย—ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ ผู้ร่วมเป็น co-founder และยังเป็นเจ้าของผลงานออกแบบ Kensington Learning Space (โรงเรียนอนุบาลนานาชาติเคนซิงตัน) และอาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัยที่เราพูดถึง

ที่มาของ IF (Integrated Field)

กวง: เราเป็นบริษัทให้บริการด้านออกแบบ พวกเราจบจากคณะสถาปัตย์มากันเกือบทุกคน แต่เรามองภาพตัวเองกันตั้งแต่ตอนเปิดออฟฟิศว่า เราไม่ได้อยากเป็นบริษัทออกแบบด้านสถาปัตย์อย่างเดียว ด้วยความที่ถึงจะจบสถาปัตย์เหมือนกัน แต่ก็มาจากหลายภาควิชา ตอนเปิดออฟฟิศเราก็เลยพยายามสลายเส้นแบ่ง ศาสตร์ต่างๆ เพื่อที่เราจะได้ทำมากกว่าสโคปงานที่เป็นเรื่องออกแบบสถาปัตยกรรมหรืออินทีเรีย ซึ่งมันก็เลยครอบคลุมไปถึงการทำ proposal หรือคิดมาสเตอร์แพลนบางทีช่วยคิดกลยุทธ์ในการสร้างโปรดักต์บางอย่างของลูกค้า แต่เมเจอร์ของเราก็ยังเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายใน

เฟย: เรียนจบมาเราก็แยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง แต่ระหว่างนั้นก็มีทำจ๊อบด้วยกันมาเรื่อยๆ

กวง: โปรเจ็กต์ที่มีการรวมตัวชัดๆ ก็คือตอนประกวดออกแบบรัฐสภา ปี 2009 เรามาทำงานด้วยกัน แล้วมันเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันทำออฟฟิศ

“ความที่พวกเราก็จบจากโรงเรียนแนวทางหลักกันมาก่อน พอเราได้ไปรู้จักโรงเรียนอีกแนว เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ หรือโรงเรียนแนวมอนเตสเซอรี เราก็… เฮ้ย โรงเรียนมันไม่ได้มีอะไรแค่ที่เราเคยรู้จัก”

เริ่มทำงานที่มีเด็กเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ตั้งแต่เมื่อไหร่

กวง: ที่จริงงานแรกที่เกี่ยวกับเด็กของพวกเราคือออกแบบโรงเรียนอนุบาลที่แม่สอด ตอนปี 2017 เจ้าของเขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สิงคโปร์ แต่กำลังวางแผนว่าจะย้ายกลับมาเมืองไทย เขาซื้อที่ที่แม่สอดมาแปลงหนึ่ง ตั้งใจจะสร้างเป็นโรงเรียนอนุบาลก่อน แล้วก็ค่อยทำเป็นประถม และมัธยมต่อไป

ตอนนั้นเราก็เริ่มเข้าไปศึกษา เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้เข้าไปศึกษา Building Type ประเภท Education และความที่เขาเป็นอาจารย์อยู่แล้ว เขาก็พาเราไปดูงานจากโรงเรียนแนวมอนเตสเซอรีหรือโรงเรียนทางเลือกต่างๆ ด้วยความที่พวกเราก็จบจากโรงเรียนแนวทางหลักกันมาก่อน พอเราได้ไปรู้จักโรงเรียนอีกแนว เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ หรือโรงเรียนแนวมอนเตสฯ เราก็… เฮ้ย โรงเรียนมันไม่ได้มีอะไรแค่ที่เราเคยรู้จัก ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นงานที่น่าสนใจ แล้วเราก็ได้ไอเดียมาหลายอย่าง

เสียดายที่สุดท้ายโรงเรียนนั้นก็ไม่ได้สร้าง แต่เราก็เก็บไอเดียจากงานนั้นไว้ แล้วก็ได้มาทำชัดๆ อีกทีที่อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย แล้วก็ Kensington Learning Space

อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย / ขอบคุณภาพจาก IF (Intergrated Field)
Kensington Learning Space / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)

ย้อนกลับไปที่โปรเจ็กต์แรก ทำไมเจ้าของถึงเลือกทีม IF เข้าไปทำงานนั้น

กวง: เขาได้รับการแนะนำมาอีกที คือเขาไม่ได้ต้องการสถาปนิกที่เชี่ยวชาญงานออกแบบโรงเรียน เพราะว่าเขาอยากได้โรงเรียนที่แตกต่าง ก็เลยไม่ได้มีฟิลเตอร์มากรองว่าเราต้องเคยทำโรงเรียนมาก่อน บวกกับเขาเห็นโพรไฟล์และงานที่เราทำหลายชิ้นว่ามันค่อนข้างมีการคิดที่รอบด้าน แล้วคงเอามาปรับใช้กับงานเขาได้

“เด็กที่มาโรงเรียนเขาไม่ได้มาเรียนอย่างเดียว แต่เขามาใช้ชีวิต ทีนี้ก็เลยต้องมองว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่สำหรับการสอน แต่โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้ คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้มากกว่า

จากการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนครั้งนั้น ได้รู้อะไรที่น่าสนใจบ้าง

กวง: ผมว่าสิ่งแรกที่พวกเราได้เรียนรู้เลยก็คือ เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น และสิ่งที่จะช่วยเสริมพัฒนาการของเขาได้ดีที่สุดมันก็คือการเล่น คอนเซ็ปต์หลักน่าจะเป็นอย่างนี้ อย่างตอนที่เราได้ไปดูโรงเรียนมอนเตสเซอรี การจัดสเปซของเขาก็จะเป็นคอร์เนอร์ ไม่ได้แบ่งเป็นห้องเรียน เพราะเด็กของเขาจะเรียนด้วยกัน ตั้งแต่ K1-3 พี่ก็จะเป็นตัวอย่างให้น้อง น้องก็ได้เรียนรู้จากพี่ เลยทำให้เรารู้ว่า เด็กที่มาโรงเรียนเขาไม่ได้มาเรียนอย่างเดียว แต่เขามาใช้ชีวิต ทีนี้ก็เลยต้องมองว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่สำหรับการสอน แต่โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้ คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้มากกว่า

เราก็เลยรู้สึกว่าการออกแบบโรงเรียน มันคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องประสาทสัมผัส ไปจนถึงเรื่องการมี social interaction กับคนอื่น

Kensington Learning Space / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)

ซึ่งหมายความว่าเราไม่ได้ออกแบบแค่งานก่อสร้างหรือเฟอร์นิเจอร์ แต่รวมไปถึงระบบนิเวศน์ในโรงเรียนด้วย

กวง: ใช่ครับ เวลาคิด เราควรคิดไปถึงขั้นนั้น คือแต่ละงานมันอาจจะมีดีเทลที่ต่างกัน แต่ว่าหลักๆ เลยก็คือการคิดว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งเข้าไปใช้ชีวิตในโรงเรียน เราจะมีแง่มุมอะไรให้เขาเห็น หรือมีกิจกรรมอะไรให้เขาทำบ้าง ทีนี้เราก็เลยคิดว่ามันต้องมีสเปซทั้งส่วนที่ formal และ informal แล้วก็ส่วนที่เป็นพื้นที่ระหว่างทาง เช่น เส้นทางจากห้องเรียนไปที่ห้องอาหาร สำหรับเด็กแล้ว พื้นที่ระหว่างทางเดินก็มีอะไรเกิดขึ้นได้อีกมากมาย

ถ้าเรานึกย้อนกลับไปตอนที่ตัวเองเด็กๆ ทางเดินพวกนี้มันไม่ได้ถูกออกแบบอะไรมาก ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่ามันสำคัญ แต่พอลองไปรีเสิร์ชก็พบว่ามันสำคัญมาก และเราก็สามารถทำ educational space ให้เกิดขึ้นระหว่างทางเดินของเด็กได้

งานออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กกับงานออกแบบทั่วไปผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันยังไง

กวง: ความยากง่ายอาจจะอธิบายลำบาก เพราะทุกงานก็มีความท้าทายเหมือนกัน แต่ถ้าเรื่องความแตกต่าง ผมว่าเด็กคือมนุษย์จิ๋ว อย่างแรกเลยเราต้องเข้าใจเรื่องสเกลของเขาก่อน เราจะดีไซน์จากความเคยชินของตัวเองไม่ได้ อย่างเช่น โถฉี่ของเด็กต้องสูงเท่าไหร่ ผมก็ต้องไปรีเสิร์ชมาก่อน

ตอนทำงานนี้ เราต้องแปะเทปไว้ที่ผนังว่าเด็กหนึ่งขวบสูงเท่านี้นะ สองขวบจะสูงเท่านี้ เพื่อเรียนรู้สเกลของเด็ก เพราะเด็กนี่ไม่ใช่ว่าเราเอาสัดส่วนของผู้ใหญ่มาลดครึ่งนึง แต่ทุกปีเขาอาจจะสูงขึ้นอีก 20 เซ็นฯ เก้าอี้ที่ตอนเขาเรียน K1 เคยนั่งได้ พอขึ้น K2 เขาอาจจะนั่งไม่ได้แล้ว

แล้วก็เรื่อง perception ของเด็ก เราก็เอาตัวเองไปวัดไม่ได้ เช่น เด็กเวลานั่งเก้าอี้เขาจะมองเห็นพื้นมากกว่าผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่เห็นผนังมากกว่าพื้น หรือเด็กเขาจะมีระยะโฟกัสที่สูงขึ้นมาจากพื้นประมาณ 1 เมตร พวกนี้คือสิ่งที่ปกติเราไม่ได้คุ้นเคยกับมันมาก่อน

“การทำสภาพแวดล้อมให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นเรื่องสำคัญ”

แปลว่าการออกแบบเพื่อเด็กแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกัน

โอ: อย่างที่เคนซิงตันก็ใช่ครับ เช่น ชั้นแรกของเขาจะเป็นพื้นที่สำหรับเด็ก 0-4 ขวบ เพราะฉะนั้นพวก dimension ของโต๊ะเก้าอี้ก็จะถูกออกแบบเพื่อวัยของเขา พอขึ้นชั้นสองก็จะเป็นเด็กโตขึ้นหน่อย และคลาสเรียนของเขาก็จะเริ่มมีสอนทำอาหาร สเกลก็จะเริ่มขยาย อาจจะบวกสัก 40-50 เซ็นฯ ซึ่งเราก็ต้องระวัง เพราะความหลากหลายมันค่อนข้างเยอะอีกอย่างก็คือเรื่องความปลอดภัยด้วย เช่น พวกกันกระแทกทุกอย่างมันก็ต้องเป็นไปตามสเกลนั้นด้วย

กวง: สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เราต้องไม่พลาดเลยคือ อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่ได้ออกแบบเพื่อให้เด็กใช้อย่างเดียว เพราะผู้ใหญ่ก็ต้องอยู่ได้ด้วย ไม่ใช่สวยนะ แต่ผู้ใหญ่เดินเข้าไปแล้วหัวชน (หัวเราะ) ความยากมันคือเราจะทำยังไงให้ทุกคนเข้าไปแล้วไม่รู้สึกแปลกแยก เช่น ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้แคบหรือเตี้ยเกินไป

อีกอย่างที่เราเรียนรู้ตอนคิดโปรเจ็กต์ที่แม่สอด คือโรงเรียนมอนเตสเซอรีเขาจะซีเรียสกับการให้เด็กผูกเชือกรองเท้าเองมาก คือการที่เด็กผูกเชือกรองเท้าเป็นมันสำคัญเหมือนเป็นหนึ่งใน curriculum ของเขา ซึ่งมันก็พอจะบอกได้ว่าการที่เด็กจะเติบโต เขาต้องได้รับการทรีตเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือให้เขาช่วยเหลือตัวเองในปัจจัยที่เขาทำเองได้ เช่น จะให้เด็กฉี่เอง ก็ควรมีโถฉี่ที่มีความสูงระดับที่เขาฉี่เองได้ หรือประตู ก็ควรทำเพื่อให้เขาเปิดปิดเองได้ เราไม่ควรสร้างนิสัยให้ผู้ใหญ่ต้องเข้าไปช่วยเหลือตลอดเรื่องพวกนี้ทำให้เรารู้ว่า การทำสภาพแวดล้อมให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นเรื่องสำคัญ

เฟย: ผมดูเรื่องกราฟิก ซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือสเปซนั้นเด็กก็ต้องใช้แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องใช้ด้วย มู้ดแอนด์โทนก็เลยต้องทำให้มันออกมากลางๆ แต่แนวคิดก็ยังเป็นเรื่อง play based เราต้องใช้การทำภาพมากขึ้น เพื่อให้เด็กจับต้องได้มากขึ้น ตำแหน่งที่วางก็เตี้ยลง เช่น แทนที่จะวางที่ความสูงประมาณ 1.50 เมตร เราก็ทำที่ความสูงประมาณหนึ่งเมตร เพื่อสร้างความสนใจและสื่อสารกับเขาด้วยภาพ ซึ่งภาพนี้มันต้องทำงานกับคนใช้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กก็ตาม

การออกแบบหรือทำงานเพื่อเด็ก แต่เจ้าของงานเป็นผู้ใหญ่ เราจะคุยกันบนพื้นฐานความชอบหรือความเหมาะสมอย่างไร

กวง: ถ้าเป็นโรงเรียน ต้องบอกว่าลูกค้าหรือเจ้าของเขารู้และเข้าใจเด็กมากกว่าเรา อย่างเรื่องพัฒนาการเด็กนี่เขารู้เยอะมาก แต่อย่างโรงพยาบาล…

พรีเซนต์หรือให้เหตุผลยังไงว่าต้องมีสไลเดอร์อยู่ในนั้น

กวง: อันนี้เขาขอมาครับ (หัวเราะ) จริงๆ นะ เป็นโจทย์ที่มาก่อนสถาปนิกอีก คือเขาบอกว่าต้องมีสไลเดอร์จากชั้นสองลงมาที่ชั้นหนึ่ง (หัวเราะ)

อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)
อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)

โจทย์ของอาคารกุมารเวชที่โรงพยาบาลเอกชัยคืออะไร

กวง: ทำยังไงก็ได้ให้เป็นโรงพยาบาลที่เด็กไม่กลัว หรือเห็นแล้วรู้สึกอยากมา แค่นี้เลย เราก็เอาไปตีความต่อว่าทำยังไงให้เด็กอยากมา ง่ายที่สุดก็คือเอาของเล่นมาล่อ (หัวเราะ) แล้วก็เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม

แต่เอางี้ คือโรงพยาบาลก็จะมีแนวคิดไม่เหมือนกับโรงเรียน อย่างโรงเรียนนี่เขาจะคิดว่า ให้เด็กล้มบ้างหรือเจ็บตัวบ้างไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลนี่ไม่ได้เลย สิ่งสำคัญที่สุดตอนที่ออกแบบโรงพยาบาลคือ การให้เด็กอยู่ในสายตา

อย่างสไลเดอร์เอง มันก็มีจุดที่เราต้องระวังหลายอย่าง เช่น มันต้องปลอดภัยด้วย ได้มาตรฐานด้วย ต้องคิดหลายอย่าง แต่ข้อจำกัดของการออกแบบที่โรงพยาบาลคือ way finding มันต้องชัด จะมาทำสเปซซับซ้อนไม่ได้ จะออกแบบยังไงก็ตาม สุดท้ายแล้ว flow มันต้องได้ เช่น พยาบาลอยู่จุดหนึ่ง เขาต้องมองเห็นรอบตัวได้ไกลที่สุด ต้องไม่มีจุดที่เด็กจะไปตกหรือติดอยู่ตามซอก มันเลยเป็นข้อจำกัดที่เวลาเราทำ play zone จำเป็นต้องอยู่ในที่คนมองเห็นได้จากทุกทิศทาง เราจะไม่เอาเข้าไปอยู่ตรงมุมที่คนมองไม่เห็น หรือถ้าอยู่มุมก็ต้องมีกระจกที่ทำให้มองเห็นจากข้างนอกได้

 แต่จริงๆ แล้วก็มีเรื่องที่ต้อง concern อีกอย่างคือต้องทำให้มันไม่สนุกเกินไป (หัวเราะ) เพราะถ้าเด็กสนุกมาก เดี๋ยวจะไม่มีใครเอาอยู่

กลับมาที่ความยากที่ลูกค้าไม่เข้าใจเรา คือตอนแรกเขาบอกว่าทำโรงพยาบาลเด็ก ก็อยากให้ใช้สีสด เขารู้สึกว่าถ้าสีไม่สดเด็กจะไม่ชอบ ซึ่งเราก็ต่อรองอยู่นาน เพราะพอไปรีเสิร์ชจริงๆ มันไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบสีสด มันมีแค่ว่าเด็กจะรับรู้สีสดได้ดีกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องชอบมากกว่าไง (หัวเราะ)

เคสโรงพยาบาล เราก็คุยกับเขาว่าการใช้สีสดมากไปมันก็ไม่ได้ดีกับคนป่วยนะ รวมถึงคนทำงาน หมอหรือพยาบาลที่ต้องอยู่ในนั้นทุกวัน ก็จะรู้สึกไม่สบายตัวเหมือนกัน

แต่งานออกแบบโรงพยาบาล เด็กที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ย่อมไม่แบ่งอายุชัดเจนเหมือนโรงเรียน เราจัดการเรื่องนี้ยังไง

กวง: ที่โรงพยาบาล เราออกแบบด้วยการนึกถึงเด็กอายุประมาณ 5-9 ปี เป็นหลัก ถ้าเด็กกว่านี้ เขาควรจะต้องมีผู้ใหญ่คอยดูใกล้ๆ แต่ถ้าโตกว่านี้ เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกสนุกกับของเล่นเหล่านี้แล้ว เราก็เลยโฟกัสที่วัยนี้เป็นหลัก

ผลตอบรับหลังจากโรงพยาบาลเปิดพื้นที่ให้ใช้งานเป็นอย่างไร

กวง: ดีนะครับ พ่อแม่ชอบ เด็กชอบ แต่พยาบาลเหนื่อย (หัวเราะ) แต่ว่าเขาก็แฮปปี้นะ

อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)
อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)
อาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)

แล้วโจทย์ของ Kensington Learning Space เป็นยังไง

โอ: ที่เคนซิงตันนี่เราชื่นชมเขามาก เพราะวิสัยทัศน์เขาชัดเจน เขาย้ำเสมอว่าการเรียนการสอนของเขาเกิดจากการเล่น หรือ play based learning เพราะฉะนั้นพอได้โจทย์นี้มา เราก็เอามาตีความต่อว่า เฮ้ย เด็กต้องเล่นยังไงให้ได้ความรู้ ซึ่งสุดท้ายเราก็ตีการเล่นออกมาได้ประมาณ 3 แบบ หนึ่ง—คือการเล่นแบบมีกฎกติกา เหมือนเวลาเราเล่นพวกหมากฮอส หรือบอร์ดเกม ที่มันต้องอาศัยกฎเกณฑ์ สอง—เล่นเหมือนการเล่นเลโก้ คือมีอุปกรณ์หรือมีเดียมา แล้วจะเอาไปเล่นหรือทำอะไรก็ได้ ส่วนอย่างที่สามก็คือฟรี เล่นอะไรก็ได้เหมือนสนามเด็กเล่นหรือบ่อทราย

กวง: แต่จริงๆ แนวคิดนี้ไม่ได้มาจากการรีเสิร์ช 100% นะ คือไม่ได้มีใครมาบอกว่าจะต้องแบ่งการเล่นออกเป็นสามแบบนี้ คีย์ของเราคือทำยังไงให้ลักษณะสามอย่างนี้มันมาปรากฏในสเปซของโรงเรียนนี้ทั้งหมด เพราะธรรมชาติของเด็กเขารู้จักการเล่นทั้งสามอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เราจะออกแบบพื้นที่ยังไงให้ส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก ซึ่งหลายๆ อย่างเราก็ไม่ต้องทำอะไร เช่น ห้องอาร์ต ก็มีโจทย์มาแล้วว่าอยากเพ้นต์ เราก็แค่คิดวัสดุให้มันเป็นไปได้

เฟย: หรือบางอย่างมันเป็นสเปซที่มีมาแต่แรก เราก็เห็นว่ามันมี potential ให้เด็กเล่นได้ แทนที่เราจะปล่อยให้มันเป็นสเปซเปล่าๆ ก็เข้าไปทำให้พื้นที่ให้เด็ก playful ได้

กวง: แต่ความยากอีกอย่างก็คือการที่ลูกค้าคร่ำหวอดกว่าเราเยอะ และเขาก็มีประสบการณ์หรือ pain point มาจากสิ่งที่เขาเคยทำมาแล้ว เขาเน้นมากๆ ว่าโรงเรียนเขาต้องออกมาสวย คือถึงแม้เด็กๆ จะทำเลอะหรือเละเทะยังไงก็อยากให้มันดูแล้วสวย

โอ: ใช่ๆ รสนิยมเขาดีมาก เขาบอกมาก่อนเลยเขาไม่เอาโรงเรียนสีสดนะ ขอโมโนโทน แล้วคุมยังไงก็ได้ให้มันออกมาสนุกด้วย

Kensington Learning Space / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)
Kensington Learning Space / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)
Kensington Learning Space / ขอบคุณภาพจาก IF (Integrated Field)

จะเห็นได้ว่ามีการใช้งานกราฟิกเข้าไปอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ อันนี้มีโจทย์เรื่องการออกแบบกราฟิกยังไง

เฟย: เขาไม่ได้มีโจทย์ แต่เราอยากให้พื้นที่มันสามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ เช่น เด็กเดินมาเรียนศิลปะ พื้นที่ตรงนี้มันไม่จำเป็นต้องมาเล่าเรื่องศิลปะ หรือกราฟิกรอบสระว่ายน้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องมาบอกว่าวิธีว่ายน้ำเป็นยังไง คือเราอยากให้สภาพแวดล้อมมันทำงาน ตรงนี้มีน้ำ เราก็ใช้ภาพสัตว์น้ำมาประกอบ เล่าเรื่องของสัตว์น้ำ นี่คือสิ่งที่เราเสนอ

ขอบเขตของงานออกแบบสิ้นสุดตรงไหน ต้องรับฟีดแบ็กจากเด็กๆ ผู้ใช้งานจริงหรือเปล่า

กวง: คือถ้าในแง่กฎหมาย เราก็มีสัญญาระบุวันที่ออกจากโปรเจ็กต์ ซึ่งมันกินระยะเวลาหลังจากการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง เราก็พร้อมที่จะปรับแก้ให้ตลอด เมื่อไหร่ที่มีฟีดแบ็ก ซึ่งมันต้องมีอยู่แล้ว บางอย่างพอใช้จริง มันก็ไม่เวิร์กหรือไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดและเสนอไป เขาก็อยากให้แก้ บางอย่างเราก็ได้เรียนรู้จากการเข้าไปแก้นี่แหละ

มีตัวอย่างเคสที่ออกแบบมาแล้ว พอเด็กใช้จริง ถึงพบว่ามันไม่เวิร์กจนต้องแก้บ้างไหม

กวง: มีครับ ที่โรงพยาบาลมีเยอะ ส่วนมากจะเป็นเรื่อง flow เช่น เราดีไซน์ให้เด็กเล่นตรงนี้ เพื่อให้ทุกคนมองเห็นได้ชัด แต่สุดท้ายมันกลายเป็นเขาไปขวางทางเวลาที่พยาบาลจะเดินไปหาอีกเคสหนึ่ง อันนี้เราก็ต้องมารีดีไซน์กันใหม่ หรือเรื่องของวัสดุที่พอใช้งานจริงแล้วมันไม่ทนทานเพียงพอ สำหรับการใช้งานที่นอกเหนือไปจากการใช้งานธรรมดา (หัวเราะ)

ในเมืองไทยเรามี specialist ที่ทำงานออกแบบสถานที่สำหรับเด็กโดยเฉพาะหรือเปล่า

เฟย: เรายังไม่เคยเห็นบริษัทที่เปิดมาเพื่อรับทำงานออกแบบสำหรับเด็กโดยเฉพาะนะ แต่งานที่ทำสำหรับเด็กแล้วน่าสนใจ ก็มีอยู่หลายเจ้า

โอ: ผมเชื่อว่า ถ้ามีคนจ้างดีไซเนอร์หรือนักออกแบบไปทำโปรเจ็กต์สำหรับเด็ก ก็คงไม่มีใครปฏิเสธ เพราะมันเป็นงานที่น่าทำ

กวง: ผมก็ไม่ได้มองว่าพวกเราเชี่ยวชาญหรือว่าเป็นกูรูเด็กนะ เราก็คิดว่าเด็กเป็น user คนหนึ่งที่เราต้องเข้าใจการใช้งานของเขาเหมือนกัน

“ในเมืองก็ควรจะมีสัดส่วนของพื้นที่ที่เอื้อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม ไม่ให้ใครต้องมารู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน หรือเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน”

แล้วถ้าส่วนตัวยังอยากออกแบบพื้นที่หรือทำอะไรเกี่ยวกับเด็กอีกบ้าง

กวง: จริงๆ ก็ มีใครจ้างให้ทำอะไรก็ทำนะ (หัวเราะ)

ในสายตานักออกแบบ คิดว่าพื้นที่ของเด็กๆ ในประเทศเรามีอะไรที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนายังไงบ้าง

กวง: ผมรู้สึกว่า ถ้าเรามองในภาพใหญ่ มันไม่ใช่แค่เด็ก แต่มันคือ universal เราพูดถึงทุกคน ทั้งเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ คือไม่ได้จะบอกว่าทุกสเปซต้องทำมาเพื่อช่วยเหลือทุกคนได้ แต่ถ้าเรามองภาพรวมแล้วในเมืองก็ควรจะมีสัดส่วนของพื้นที่ที่เอื้อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม ไม่ให้ใครต้องมารู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน หรือเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหน

แต่ถ้าให้โฟกัสเรื่อง facility ของเด็กเลย ผมว่าเมืองไทยยังขาดพื้นที่ outdoor สำหรับเด็ก คือตอนนี้เหมือนเด็กที่จะมีโอกาสได้เล่นในพื้นที่ outdoor ที่ดีๆ ก็ต้องเป็นเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนดีๆ ใช่ไหม เพราะเรายังไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะที่ดี ปลอดภัย และเด็กหรือใครก็ตามสามารถเข้าถึงได้ ผมว่าเรายังขาดมาก และการขาดแบบนี้มันเป็นการขาดที่ส่งผลต่อประเทศชาติเลยนะ

โอ: ถ้าพูดแบบนี้อาจจะไม่ใช่แค่เด็ก แต่ผู้ใหญ่อย่างเราก็ขาด (หัวเราะ)

กวง: ถ้าอยู่ในเมืองหน่อยการจะพาเด็กออกไปเล่น ก็คือต้องไปตามที่ที่ติดแอร์ ไปห้างสรรพสินค้า ผมว่ามันทำให้เด็กเราขาดการเล่นแบบ free play ขาดการวิ่งเล่นหรือปีนต้นไม้อะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็สำคัญนะ

เหมือนจะเป็นโปรเจ็กต์ที่ชอบและสนุกกับมันพอสมควรเลย

กวง: สนุกครับ ผมมีลูกพอดีเลยช่วงนั้น (หัวเราะ)

โอ: เด็กเขาจะมีความคาดเดาไม่ได้อยู่ บางทีเราออกแบบไป เราคิดว่าเราคิดดีแล้วนะ แต่เขาก็เอาไปใช้อีกแบบ ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย

กวง: ผมว่าอันนี้ก็เป็นเสน่ห์ของการทำงานออกแบบให้เด็ก

ติดตามผลงานออกแบบของทีม IF ได้ที่นี่


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST