READING

คุยกับเปเปอร์ พีรดา—สาวสวยแห่งโรงเรียนชายล้วน...

คุยกับเปเปอร์ พีรดา—สาวสวยแห่งโรงเรียนชายล้วน

ภาพเด็กสาวหน้าตาน่ารักในชุดนักเรียนชายของโรงเรียนชายล้วนชื่อดังแห่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในโลกโซเชียลฯ เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ น้องเปเปอร์ พีรดา นามวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แห่งโรงเรียนมัธยมอัสสัมชัญ บางรัก กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพียงช่วงเวลาข้ามคืน

แต่เราไม่ได้อยากคุยกับเปเปอร์แค่เรื่องรูปร่างหน้าตา เพราะการที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นหญิงสาวที่มีความสุขและได้รับการยอมรับจากสังคมโรงเรียนชายล้วนของเธอนั้น ต้องอาศัยขุมกำลังที่คอยซัปพอร์ตอยู่เบื้องหลัง

และขุมกำลังนั้นมีชื่อว่า ‘ครอบครัว’

“หนูคิดว่าพ่อแม่ทุกคน ถ้าลูกเป็นแบบนี้ต้องรู้อยู่แล้ว
แค่ยังไม่อยากพูด หรือยังไม่กล้าพูด”

ถ้าให้เล่าสไตล์การเลี้ยงดูของครอบครัว เปเปอร์คิดว่าเป็นอย่างไร

หนูเป็นลูกคนเดียว คุณแม่ใจดีค่ะ แต่คุณพ่อจะออกแนวดุหน่อย ก็เลยสนิทกับคุณแม่ หนูคิดว่าคุณแม่เขาเห็นหนูมาตลอด ก็คงรู้ว่าหนูเป็นอะไรมานานแล้ว แต่เขาแค่ยังไม่ได้พูดตอนเราเด็ก

เปเปอร์คิดว่าคุณแม่เริ่มมองเห็นด้านนี้ของเราตั้งแต่เมื่อไหร่

หนูว่าตั้งแต่เด็ก เพราะตอนอนุบาลหนูก็ชอบเล่นเอารองเท้าส้นสูงมาใส่ เอาลิปสติกแม่มาทาแล้ว

คุณแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

ใช่ค่ะ แม่เขาก็เห็นเราเล่นมาตลอด ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนคุณพ่อก็เห็นเหมือนกัน แต่เวลาเห็นแล้วคุณพ่อจะคอยห้ามไม่ให้เราเล่นแบบนั้น

เพราะคุณแม่ไม่ว่า เราก็เลยสนิทกับคุณแม่มากกว่าหรือเปล่า

ใช่ค่ะ แต่จริงๆ มันเป็นเพราะคุณพ่อกับคุณแม่เขาก็มี Activity ที่ต่างกัน เราก็เลยเลือกได้ว่าเราอยากจะไปกับใคร เพราะคุณพ่อก็จะออกแนวไปวิ่ง ไปออกกำลังกายในฟิตเนส ส่วนคุณแม่ก็จะไปทำเล็บทำผม เวลาหนูเลือกว่าจะไปไหน หนูก็เลือกไปกับคุณแม่

คิดว่าที่ชอบเล่นแบบเด็กผู้หญิง เป็นเพราะเล่นตามเพื่อนหรือเปล่า

ไม่นะคะ คือตอนอนุบาลหนูเรียนโรงเรียนสห แต่หนูก็เล่นที่บ้านคนเดียว รองเท้าส้นสูงก็ของแม่ ไม่ได้เล่นตามใคร คือที่จริงตอนอนุบาลที่โรงเรียนก็จะมีกิจกรรมวิ่งเล่น เตะบอลกับเด็กผู้ชาย หรือหัดทำขนม หนูก็เลือกจะนั่งทำขนมแบบเด็กผู้หญิง ตอนเลิกเรียนก็ไปเรียนว่ายน้ำ ไม่ได้เล่นเตะบอลกับเพื่อนผู้ชาย

ปกติแล้วเด็กผู้ชายวัยประถมน่าจะกำลังซนมาก เปเปอร์เป็นเด็กแนวไหน

จริงๆ หนูก็ซนนะคะ แต่จะเลือกไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่เขาเป็นเหมือนกับเรามากกว่า

หมายถึงเข้าไปเรียนแล้ว เราก็มีกลุ่มเพื่อนที่ชอบเล่นเหมือนเราหรือบุคลิกแบบเดียวกับเราเลย

ใช่ค่ะ คือก็ไม่ได้มีเยอะมากนะ ไม่ใช่มาถึง เจอกันแล้วมานั่งบอกกันว่าเราเป็นยังไง แต่พอเล่นด้วยกันไปเรื่อยๆ มันก็จะรู้กันไปเอง

ตอนนี้เพื่อนกลุ่มนั้นก็ยังคงเป็นเหมือนเราอยู่หรือมีใครเปลี่ยนแปลงกลับไปเป็นผู้ชายมากขึ้นไหม

ไม่มีนะคะ ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ (หัวเราะ)

คิดว่าคุณแม่รู้แต่ไม่พูดมาตลอด แล้วตอนไหนที่เริ่มเปิดใจคุยกัน

ตอน ม.1 ค่ะ คือก่อนหน้านั้นเรารู้ว่าเขารู้ แค่ยังไม่เคยพูดกันจริงจัง หรือที่ผ่านมา คุณพ่อก็จะมีดุบ้าง เวลาพูด พ่อจะบอกว่าให้พูด ‘ครับ’ นะ เราเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้เข้มงวดจริงจังอะไรมาก

ถึงขั้นอยู่โรงเรียนพูดกับเพื่อนแบบนึง อยู่ต่อหน้าคุณพ่อต้องพูดอีกแบบนึงไหม

ไม่ขนาดนั้น แต่คือหนูไม่ใช่เด็กที่พูดครับอยู่แล้ว ถึงคุณพ่อบอกให้พูดเราก็ไม่เคยพูด แต่ก่อนก็เลยเป็นเด็กที่พูดไม่มีหางเสียงเลย เพราะเราไม่รู้จะลงท้ายว่าอะไร แล้วก็เลยใช้วิธีพูดเสียงเบาๆ พูดอ่อนๆ แทน มันจะได้ดูไม่ห้วนมาก

วันที่เปิดใจคุยกับคุณแม่ คิดว่าเป็นเพราะอะไรแล้วเริ่มได้ยังไง

หนูคิดว่าเป็นเพราะแม่เขาเริ่มเห็นอะไรมากขึ้น เขาเริ่มเจอพวกวิกผมและเสื้อชั้นในของเรามากขึ้น เขาก็เลยคิดว่าคงต้องคุยกันแล้ว วันนั้นแม่ก็บอกให้มานั่งนี่หน่อย แม่มีเรื่องจะคุยด้วย…

เปเปอร์คิดว่า ถ้าวันนั้นคุณแม่ไม่เป็นฝ่ายเริ่มคุยก่อน เราจะมีทางออกของตัวเองไหม

ตอนนั้นหนูก็คิดว่าจะใช้ชีวิตแบบนั้นไปเรื่อยๆ คิดว่าวันนึงก็คงต้องบอกเขาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดไว้ว่าเมื่อไหร่ อย่างที่บอกว่าใจจริงเรารู้ว่าแม่รู้อยู่แล้ว พ่อก็รู้ หนูคิดว่าพ่อแม่ทุกคน ถ้าลูกเป็นแบบนี้เขาต้องรู้อยู่แล้ว แค่ยังไม่อยากพูด หรือยังไม่กล้าพูด

“ตอนแรกคุณพ่อก็ถามว่า มันจะกลับไปเป็นผู้ชายไม่ได้เลยเหรอ
หนูก็บอกว่ามันไม่ได้แล้ว เพราะใจเรามันอยากเป็นผู้หญิงไปแล้ว”

กลับมาที่วันนั้น ต่อจากประโยคที่คุณแม่บอกว่ามีเรื่องจะคุยด้วย แล้วเป็นยังไงต่อ

แม่ก็ถามว่า อยากเป็นผู้หญิงเหรอ ตอนที่แม่ถามพ่อก็อยู่ด้วยนะ พอหนูเห็นพ่อทำหน้านิ่งๆ หนูก็ร้องไห้เลย แต่หนูก็บอกเขาว่าหนูอยากเป็นผู้หญิง แม่ก็ถามว่า เป็นผู้หญิงขนาดไหน อยากเป็นเกย์ เป็นตุ๊ด หรือเป็นกะเทย หมายถึงอยากเป็นผู้หญิงไปเลยไหม ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงหมดเลยไหม หนูก็บอกว่าใช่ อยากเปลี่ยนหมดเลย หนูอยากเป็นผู้หญิง

แล้วคุณพ่อคุณแม่ว่าไงต่อ

ตอนแรกคุณพ่อก็ถามว่า มันจะกลับไปเป็นผู้ชายไม่ได้เลยเหรอ หนูก็บอกว่ามันไม่ได้แล้ว เพราะใจเรามันอยากเป็นผู้หญิงไปแล้ว แต่หลังจากนั้นเราก็ใช้เวลา เรารู้ว่าพ่อไม่ชอบให้เป็นผู้หญิงที่เสียงดัง กรี๊ดกร๊าด หรือไม่เรียบร้อย คือเขาบอกว่าถ้าจะเป็นผู้หญิง หนูก็ต้องทำตัวให้เป็นผู้หญิงคนนึง ไม่ใช่ทำตัววี้ดว้าย

หลังจากเปิดใจคุยกันในครอบครัวแล้ว ครอบครัวมีการ Support ยังไงต่อ

คือต้องเล่าก่อนว่า ที่ผ่านมาพวกเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งตัว หนูต้องเก็บเงินซื้อเองอยู่แล้ว ทั้งตั้งแต่ก่อนที่จะคุยกับคุณแม่ จนถึงคุยกันแล้ว หนูก็ต้องหาเงินซื้อเองนะ (หัวเราะ) คือคุณแม่บอกว่า ถ้าเราจะมาทางนี้ อยากได้อะไรเราต้องเก็บเงินซื้อเอง เพราะแม่ไม่รู้ว่าเราอยากได้อะไร หรือว่าเราต้องใช้อะไรบ้าง คือจริงๆ หนูว่าเด็กผู้หญิงผู้ชายมันก็มีความสิ้นเปลืองเหมือนกัน แล้วแต่ว่ามันไปเปลืองกับอะไร อย่างหนูตอนนี้ก็เปลืองพวกเครื่องสำอาง แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจจะต้องไปเสียเงินกับพวกของเล่นหรืออุปกรณ์อะไรอยู่ดี

แต่เรื่องที่คุณแม่เข้ามาดูแลเต็มที่คือเรื่องการรับฮอร์โมนมากกว่า เพราะพอหนูบอกแม่ว่าอยากเปลี่ยนเป็นผู้หญิงจริงๆ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งตัว แต่มันต้องมีการรับฮอร์โมนด้วย

พอครอบครัวเข้าใจความต้องการของเราแล้ว คุณแม่ก็พาไปรับฮอร์โมนตั้งแต่นั้น

ใช่ค่ะ เริ่มจากไปหาจิตแพทย์ก่อน คุณหมอก็จะคุยเพื่อยืนยันว่าเราอยากเป็นผู้หญิงจริงๆ เพราะมันก็มีบางคนที่คุณหมอคุยแล้วยังรู้สึกก้ำกึ่ง เหมือนเจ้าตัวก็ยังไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น อาจจะแค่ตามเพื่อนหรือสับสนอะไรบางอย่าง

แต่อย่างหนู จำไม่ได้แล้วว่าคุณหมอถามอะไรบ้าง แต่ว่าหนูตอบไวมาก แทบไม่ต้องคิด ไม่มีความลังเล เช่น คุณหมอถามว่าถึงขั้นอยากแปลงเพศไหม หนูก็ตอบได้เลยว่าอยากค่ะ ไม่ต้องคิดเลย

อ่อ แล้วก็มีทำแบบสอบถามด้วย แต่หนูจำไม่ได้แล้วว่าถามอะไรบ้าง (ยิ้ม) แต่หลังจากนั้นหมอก็อนุญาตให้ไปรับฮอร์โมนได้

“คุณแม่บอกคุณพ่อว่า ถ้าเธอไม่ให้ลูกเป็นแบบนี้ ลูกอยู่ในบ้านก็อาจจะเป็นผู้ชาย แต่พอออกไปข้างนอกเขาก็เป็นอย่างที่อยากเป็นอยู่ดี สู้ให้ลูกเป็นอย่างที่เขาเป็นไปเลยดีกว่า พ่อก็เริ่มเข้าใจ หนูก็โล่งตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว”

คุณแม่เอาข้อมูลหรือขั้นตอนว่าต้องทำอะไรแบบนี้มาจากไหน

หนูว่าเขาก็คงหาจากอินเทอร์เน็ต แต่ที่จริงตอนแรก คุณแม่ไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน แต่ที่โรงพยาบาลเขาก็แนะนำให้ไปโรงพยาบาลรามาฯ เพราะว่าเขามีแผนกที่เชี่ยวชาญเรื่องเพศทางเลือกแม่ก็เลยไป

พอเห็นว่าคุณแม่พยายามจัดการหลายอย่างให้ ตอนนั้นเรารู้สึกยังไง

จริงๆ หนูรู้สึกโล่งตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นคุณพ่อยิ้มให้เราแล้ว คือคุณแม่บอกคุณพ่อว่า ถ้าเธอไม่ให้ลูกเป็นแบบนี้ ลูกอยู่ในบ้านก็อาจจะเป็นผู้ชาย แต่พอออกไปข้างนอกเขาก็เป็นอย่างที่อยากเป็นอยู่ดี สู้ให้ลูกเป็นอย่างที่เขาเป็นไปเลยดีกว่า พ่อก็เริ่มเข้าใจ หนูก็โล่งตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

แล้วเราก็ดีใจด้วย หนูคิดว่าตัวเองโชคดีที่แม่เป็นคนพาไปหาหมอ แล้วก็ดูแลเรื่องการรับฮอร์โมนของเราด้วย เพราะก่อนหน้านั้นเราแอบกินเอง มันก็เสี่ยงนะคะ

หมายถึง…

คือหนูจะบอกว่า คนที่หัดกินยาคุมเพื่อเพิ่มฮอร์โมนให้ตัวเองนี่ต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ นะคะ เพื่อลองว่ายี่ห้อไหนเหมาะกับร่างกายเรา บางคนกินยี่ห้อนี้แล้วได้ผลเลยก็โชคดีไป แต่บางคนตัวแรกไม่ได้ผลหรือมีอาการข้างเคียง ก็ต้องเปลี่ยน หายาใหม่มากินเรื่อยๆ แต่พอหนูไปหาหมอ คุณหมอก็มีทั้งเจาะเลือด ตรวจมวลกระดูก วัดไขมัน มันฮอร์โมน ตรวจปัสสาวะ คือตรวจละเอียดมาก เพื่อสั่งฮอร์โมนให้เรา

ตอนนั้นได้มีการบอกเพื่อนไหมว่าเราเริ่มทำอะไรไปบ้าง

ตอนแรกก็ไม่ได้บอก เพราะว่าเราไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขนาดนั้น การให้ฮอร์โมนมันต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก มันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็สวยเลย แล้วยิ่งเราอยู่กับตัวเองทุกวัน เราก็จะไม่ค่อยรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะมันค่อยเป็นค่อยไป อย่างหนูอาจจะเริ่มจากรู้สึกว่าผิวมันดีขึ้น เนียนขึ้น แต่ถ้าเอารูปตัวเองเมื่อก่อน มาเทียบกับตอนนี้ ทั้งที่ไม่ได้ทำศัลยกรรมอะไรเลยนะ แต่ว่ามันเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ทั้งหมดก็ใช้เวลามานานมากเหมือนกัน

เพื่อนสนิทที่เหมือนเรา ทุกวันนี้เขาได้บอกครอบครัวตัวเองหรือยัง

ที่ยังไม่ได้บอกก็มี หนูว่าที่จริงครอบครัวเขาก็อาจจะเหมือนหนู คือไม่ใช่ไม่รู้ แต่เขาแค่ยังไม่ได้พูดกัน หรือถึงบอกแล้วก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะเหมือนกัน อย่างเรื่องการให้ฮอร์โมน ค่าใช้จ่ายมันก็ค่อนข้างสูง บางบ้านเขาก็อาจจะไม่ได้พร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ก็ได้

หลังจากเรารูปร่างหน้าตาเหมือนผู้หญิงมากขึ้น ฟีดแบ็กเพื่อนที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง

กว่าเพื่อนจะเริ่มเห็นมันก็เริ่ม ม. 3-4 แล้วค่ะ ที่เพื่อนเริ่มทักว่าเราผิวเนียน แล้วเราไม่มีหนวด คือหนูมีเพื่อนที่เป็นตุ๊ดด้วยกันมาตั้งแต่ ป. 1 คนนี้คือคนที่บอกว่าหนูสวยขึ้น ถ้าเทียบกับมัน (หัวเราะ) คือเราสนิทกัน เห็นกันมา 12 ปี เมื่อก่อนหนูอ้วน ตัวใหญ่ ร่างใหญ่ บึกบัก หน้าก็กลม แต่พอได้ฮอร์โมนอย่างถูกวิธีหนูก็ตัวแค่นี้

เป็นเพราะเราได้รับฮอร์โมนเร็วหรือตั้งแต่อายุน้อยหรือเปล่า

ถ้าจำไม่ผิดเขาเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 13 สำหรับหนูที่จริงถือว่าช้าตรงที่เราไปเสียเวลาลองผิดลองถูกเองมาก่อน ถ้าเทียบกับคนที่เขาเริ่มต้นอย่างถูกต้องเลย เขาน่าจะได้ผลที่ดีกว่า

นอกจากการพาไปรับฮอร์โมน ครอบครัวยังมีส่วนช่วยอะไรเราอีกบ้าง

มีส่วนทุกอย่าง เพราะว่าเรายังไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ทุกอย่าง เอาง่ายๆ แค่เรื่องค่าเทอมก็จัดว่าสูงแล้ว แล้วยังมีเรื่องการรับฮอร์โมนที่ต้องจ่ายเงินเรื่อยๆ มันก็เยอะอยู่ ส่วนพวกของใช้อื่นๆ แม่จะบอกว่า ถ้าอยากได้ก็ต้องเก็บเงินซื้อเอง

เงื่อนไขของครอบครัวนอกจากที่คุณพ่อไม่อยากให้ทำตัววี้ดว้าย

ก็มีเรื่องไม่ให้แต่งตัวโป๊ ไม่ถึงขนาดต้องเอาเสื้อผ้าที่ซื้อมาให้ดูนะ แต่เวลาเราแต่งตัวออกจากบ้านเขาก็ต้องเห็นอยู่แล้ว หรืออย่างพวกชุดว่ายน้ำ เขาก็จะไม่ให้โป๊มาก แต่จริงๆ หนูก็ไม่ได้อยากจะแต่งตัวโป๊เกินไปอยู่แล้ว

อยู่แต่กับเพื่อนผู้ชายมาตลอด เรื่องรสนิยมการแต่งตัวหรือความสวยความงามเรามีต้นแบบจากไหน

อินเทอร์เน็ตค่ะ หนูว่าโลกมันกว้างกว่าการที่เรามีเพื่อนผู้หญิงอีก อีกอย่าง การอยู่โรงเรียนชายล้วน เวลาอยู่กับเพื่อน หนูก็เหมือนผู้หญิงที่ห้าวหน่อย สามารถพูดกับเพื่อน เฮ้ยๆ ได้ ไปเที่ยวเล่นเฮฮากับเพื่อนผู้ชายได้ แต่เพื่อนผู้ชายที่โรงเรียนเขาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยนะ เขาก็เห็นเราเป็นเพื่อนผู้หญิงคนนึง

ที่ตลกคือพอหนูเริ่มมาทำคลิป ถ่ายคลิปกับเพื่อนผู้ชายลงยูทูบ แล้วมีคนที่เป็นแบบเดียวกับเราเห็นว่าเราเรียนโรงเรียนชายล้วน มีแต่เพื่อนผู้ชาย เขาก็มาแซวว่าดีจังเลยเนอะมีผู้ชายรุมล้อม (หัวเราะ) ที่จริงคือเพื่อนในโรงเรียนที่เป็นแบบเดียวกันก็มี แต่ว่าคนเรามันก็มีกิจกรรมที่ไม่เหมือนกัน บางคนเขาก็ชอบเรียน เนิร์ดๆ เรียนหนักไปเลยก็มี แต่หนูมันเป็นพวกเรียนๆ เล่นๆ เราก็เลยอยู่กับเพื่อนผู้ชายมากกว่า

คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเราแล้ว อยากรู้ว่าญาติพี่น้องคนอื่นมีปัญหาบ้างไหม

ไม่มีค่ะ คือหนูว่าถ้าพ่อแม่เราเข้าใจ คนอื่นเขาก็คงเข้าใจไปเอง อย่างตอนเราเด็กๆ เวลามีประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียน ครูก็จะมาบอกพ่อแม่ว่าเราเป็นอย่างนี้นะ ตอนนั้นพ่อแม่เรายังไม่เก็ตเขาก็คงไม่โอเคเท่าไร แต่พอโตมา คุณครูก็ยังคอยบอกพ่อแม่นะ แม่ก็จะบอกว่า อ๋อค่ะ แล้วครูก็ถามว่า เราเป็นแบบนี้คุณแม่ไม่มีปัญหาอะไรใช่ไหมคะ แม่ก็บอกว่าไม่เป็นไรค่ะ ครูก็บอกว่า ถ้าคุณแม่ไม่มี ครูก็ไม่มีค่ะ (หัวเราะ)

การที่เราเหมือนผู้หญิงในโรงเรียนชายล้วน ทำให้เรามีสิทธิพิเศษในโรงเรียนอะไรบ้าง

ถ้าเรื่องไว้ผมยาว หนูมีเหตุผลเรื่องการทำงาน แล้วหนูก็ทำงานหาเงินจริงๆ มีผลงานจริงๆ มาเป็นพอร์ตโฟลิโอยื่นขออนุญาตและบอกกับอาจารย์ว่าเรามีความจำเป็น ที่จริงหนูขอแค่ให้มันมีผมยาวด้านหน้าเป็นผมบ็อบ เพราะเวลาทำงานหนูต้องใส่วิก ถ้าไม่มีผมจริงมาช่วยเลยมันจะดูไม่เป็นธรรมชาติ คือหนูขอแค่นั้นก็พอ ไม่ได้ขอไว้ผมยาวเพื่อความสวยอะไรแบบนั้น นี่เดี๋ยวเปิดเทอมหนูก็ต้องไปเอาผมที่ต่อมาออก

ช่วงแรกก็มีอาจารย์ที่ไม่ค่อยเข้าใจ เขาบอกว่าโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนชายล้วน เวลาเธอแต่งตัวไปทำงานแล้วบอกใครว่าเรียนที่ไหน โรงเรียนเราจะเสียหายหรือเปล่า แต่หนูอธิบายว่าถ้าขนาดเป็นโรงเรียนชายล้วนแล้วยังเปิดกว้างและไม่ปิดกั้นทางเลือกของเด็กขนาดนี้ มันไม่ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีกว่าเหรอ ซึ่งอาจารย์เขาก็เห็นด้วย

หนูเข้าใจว่ามันก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย อาจารย์เขาก็บอกว่ามันมีคนที่ไม่เห็นด้วยนะ แต่ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ เช่น คนเก่าคนแก่ของโรงเรียน หรือศิษย์เก่าที่ยังไม่ยอมรับ แต่หนูคิดว่าคนส่วนมากที่เห็นด้วยหรือไม่ได้มีปัญหาอะไรน่าจะเยอะกว่า

พอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผลกับตัวเรายังไงบ้าง

ตอนนี้มีฟีดแบ็กว่า หนูเคยไปออกรายการแล้วหนูให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียบร้อย ให้ทำตัวเป็นผู้หญิงจริงๆ แต่เวลาหนูถ่ายคลิปอยู่กับเพื่อน คนจะเริ่มเข้ามาคอมเมนต์ว่า นี่เหรอเรียบร้อย ทำไมพูดคำหยาบ แต่พี่เข้าใจไหมอะ ผู้หญิงปกติเวลาอยู่กับเพื่อนเขาก็พูดคำหยาบกัน หนูก็คุยเล่นกับเพื่อนปกติ ไม่ได้ไปถ่ายคลิปเต้นยั่วยวนอะไรอย่างนั้น

กลายเป็นคอมเมนต์ตอนนี้เป็นไปในทางต่อว่าที่เปเปอร์ทำตัวไม่เรียบร้อย

ใช่ค่ะ คือเขาบอกว่าไหนบอกว่าอยากเป็นผู้หญิง แล้วทำไมพูดำจาไม่เรียบร้อย ทำไมอย่างนั้นอย่างนี้… แต่ก็ช่างมันเถอะ หนูว่าเรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน

ถ้าให้เปเปอร์เป็นบอกกับคนที่ยังไม่เคยเปิดใจคุยกันในครอบครัว

จริงๆ หนูว่าเราสามารถบอกพ่อแม่เองได้ หนูเชื่อว่ายังไงสักวันนึงพ่อแม่ก็จะรับได้ ถ้าเราใช้เหตุผลอธิบาย และเราทำตัวดี ไม่ได้ไปทำอะไรเสียหาย หรือทำอะไรให้เขาเป็นห่วง

คือถ้าบางครอบครัวรู้ตัวเร็ว พ่อแม่เข้าใจได้เร็ว ไม่ต้องรอให้เราไปบอกก็ถือว่าโชคดี แต่บางคนที่พ่อแม่ไม่เคยพูด เราก็ต้องรวบรวมกล้าแล้วไปบอกเขาเอง

สมมติวันนั้นที่คุยกับคุณแม่ แล้วผลมันออกมาในทางตรงกันข้าม

หนูก็คงเป็นเหมือนที่คุณแม่บอกคุณพ่อ คือเราก็ต้องแอบมาเป็นนอกบ้านอยู่ดี มันคงเลิกไม่ได้

หนูเคยเห็นลูกของครอบครัวนึง ก็เป็นแบบหนูเหมือนกัน เขาไว้ผมยาว แต่แม่สั่งให้ไปตัด คือแม่เขาก็รู้นะว่าลูกเป็นยังไง แต่เขายังไม่เปิดใจ แล้วก็ออกคำสั่งให้ลูกไปตัดผม สำหรับหนู การตัดผมมันคือเรื่องใหญ่มาก เพราะผู้ชายปกติก็หวงผมของตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งคนอย่างพวกหนู กว่าเราจะไว้ผมยาวได้ มันยากนะ แล้วลูกเขาโตจนเรียนจบมัธยมแล้ว ยังโดนสั่งให้ไปตัดผม หนูว่ามันโหดมาก

แล้วถ้าให้เปเปอร์พูดกับครอบครัวที่มีลูกแบบเรา

หนูอยากบอกว่าไม่ว่าจะรับได้หรือไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็สนับสนุนลูกเถอะ ยังไงก็ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว เพราะยิ่งห้าม มันยิ่งทำให้เขาต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ให้ลูกเป็นเถอะ (หัวเราะ)

 

สัมภาษณ์วันที่ 27 เมษายน 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST