READING

INTERVIEW: พอใจยิ่งกว่าพอใจ: คุยกับคุณแม่น้องพอใจ ...

INTERVIEW: พอใจยิ่งกว่าพอใจ: คุยกับคุณแม่น้องพอใจ หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันคนเก่งแห่งรายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ไทยแลนด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กผู้หญิงตัวเล็ก (กว่าใครเพื่อน) สวมแว่นสายตา กรอบสีดำหนาและใหญ่ไปเกือบครึ่งของใบหน้าที่เล็กจิ๋ว กำลังก้มหน้าก้มตาทำอาหารอยู่ในสเตชั่นทำอาหารที่สูงตามมาตรฐานผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กน้อยวัย 8 ขวบ อย่าง น้องพอใจ (ด.ญ. พอใจ โสตถิทัต) ยังจำเป็นต้องมีบันไดเล็กๆ คู่กาย เอาไว้ช่วยเพิ่มระดับความสูงให้ตัวเองเวลาทำงาน

สีหน้าและแววตามุ่งมั่นตอนทำอาหาร รอยยิ้มที่ส่งให้เพื่อนและพี่กรรมการ อย่างไม่ตื่นตระหนกหรือหวั่นเกรงความกดดันที่อยู่ตรงหน้า ประกอบกับฝีมือทำอาหารที่ไม่ด้อยไปกว่าผู้เข้าแข่งขันรุ่นพี่ ทำให้น้องพอใจเป็นหนึ่งในผู้แข่งขันมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ไทยแลนด์ ซีซั่นที่หนึ่ง ที่ได้รับแรงใจและแรงเชียร์จากคนดูทุกเพศทุกวัยไปอย่างง่ายดาย

เราอยากจะพูดคุยกับครอบครัวของน้องพอใจตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่รายการเริ่มออกอากาศ และทำให้เราได้เห็นว่าน้องพอใจสามารถรับมือกับโจทย์และสถานการณ์กดดันในรายการได้อย่างน่ารักและน่าชื่นชม

พอรายการถ่ายทำและประกาศผลเสร็จสิ้น เราจึงมีโอกาสได้คุยกับ คุณแม่—จินต์รัตน์ สุนทรญาณกิจ และ คุณพ่อ—พีรอรรถ โสตถิทัต สองผู้อยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งในจิตใจของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อพอใจคนนี้

ย้อนถามถึงตอนที่มีน้องพอใจเข้ามาเป็นสมาชิกคนเล็กสุดของบ้าน

แม่: ตอนแม่เลี้ยงพี่พราว (พี่สาวคนโต อายุห่างจากน้องพอใจ 4 ปี) เราเกิดมาก็ไม่เคยเป็นแม่ก่อนเนอะ ลูกคนแรกก็เลี้ยงตามสัญชาตญาณ ค่อนข้างวุ่นวายมาก แต่พอมีน้องพอใจ ความวุ่นวายก็น้อยลง เพราะมีประสบการณ์แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวลมาก

แต่แม่มีความตั้งใจว่า พอน้องพอใจคลอดแล้ว ยังไงแม่ก็จะต้องมีเวลาดูแลพี่พราวด้วย เพื่อไม่ให้เขาเสียใจ เขาจะได้ไม่คิดว่าน้องมาแย่งเวลาของแม่ไป

พ่อ: ใครจะซื้อของมาฝากก็บอกว่าให้ซื้อมาให้คนพี่ดีกว่า เพราะของน้องเราก็เตรียมไว้หมดแล้ว

แม่: ใช่ค่ะ บอกให้มาเยี่ยมพี่พราว เพราะคนน้องยังเล็กมาก เขาไม่รู้เรื่อง กินแต่นม เวลาพี่ไปโรงเรียน แม่ก็ดูแลน้อง แต่พอคนพี่กลับมา ก็พยายามมีเวลาให้เขาเต็มที่ แล้วแม่ก็คิดว่าดี เพราะพราวก็เป็นพี่ที่รักน้อง ไม่เคยเห็นเขามีความรู้สึกอิจฉาน้องเลย

วิธีการเลี้ยงพี่พราวกับน้องพอใจเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

แม่: วิธีการเลี้ยงเหมือนเดิม เหมือนกันทั้งสองคน แต่ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ตื่นตระหนกเวลาเขาป่วยเล็กน้อย พอเป็นแบบนี้เราก็มีเวลาซึมซับความน่ารักของลูกมากขึ้น (หัวเราะ) ในขณะที่ตอนเลี้ยงคนแรก เราวิตกกังวลมากกว่านี้

พ่อ: ตอนมีคนแรกคนเดียวรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าอีก

แม่: ใช่ค่ะ เหมือนพอใจเขามาเบรก แล้วก็ช่วยให้ชีวิตเรารีแลกซ์มากขึ้น

แสดงว่าน้องพอใจเลี้ยงง่าย

แม่: ง่ายค่ะ พอเราคิดว่าง่ายเขาก็ง่าย คิดว่าจริงๆ เขาจะเลี้ยงยากหรือง่ายมันก็อยู่ที่เรา เราไปทำให้มันยุ่ง เขาก็ยุ่ง เราทำให้ชิล ลูกเราก็ชิลตาม เพราะเราเลี้ยงกันเอง ไม่เคยมีพี่เลี้ยงเลยทั้งสองคน

ก่อนหน้ารายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ฯ เคยเห็นน้องพอใจในรายการแข่งขันร้องเพลงมาก่อน ระหว่างร้องเพลงกับทำอาหาร จริงๆ น้องสนใจอะไรก่อนกัน

แม่: คนพี่เขาชอบร้องเพลงมาก ชอบดนตรีมากกกก เพราะฉะนั้น พอใจเกิดมาเขาก็เจอว่าพี่เล่นดนตรี พี่ชอบร้องเพลง เล็กๆ เขาก็เล่นจัดคอนเสิร์ตกันอยู่ที่บ้านสองคน เล่นอยู่ตลอดเวลา พอใจเขาก็เริ่มจากชอบดนตรีก่อน

ส่วนทำอาหารเริ่มเพราะเขาย้ายไปโรงเรียนรุ่งอรุณ แล้วที่โรงเรียนเขาให้เด็กทำกับข้าว ทำอาหาร พอเวลาแม่ทำกับข้าวที่บ้าน เขาก็เริ่มมาป้วนเปี้ยน มาคอยถามว่าให้ช่วยไหม มีอะไรให้ทำไหม อยากรู้อยากทำ อยากใช้อุปกรณ์ อยากลอง

พ่อ: เขาชอบเล่นครัวปลอม คือครัวที่เป็นของเล่นสำหรับเด็ก ไปแข่งมาสเตอร์เชฟฯ กลับมาก็ยังมานั่งเล่นครัวปลอมของตัวเองอยู่

แม่: เหมือนเขายังเห็นความสนุกของมัน

ครอบครัวเลือกให้น้องเรียนโรงเรียนทางเลือก แสดงว่ามีแนวทางการเลี้ยงลูกที่ชัดเจนมากว่าจะมาทางนี้

แม่: ชัดเจนมาก เราไม่ได้เน้นด้านวิชาการ เราเลี้ยงแบบเน้นทักษะชีวิต

พ่อ: เราชอบให้เขาเรียนรู้อะไรไปตามวัย ตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งตั้งแต่อนุบาลก็ได้

เป็นเพราะพี่พราวเป็นผู้นำร่องให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีหรือเปล่า

แม่: ถามว่าเห็นผลไหม เอาจริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะวัดผลจากอะไร แต่เรารู้สึกได้ว่ามันเวิร์ก แล้วทางอื่นมันก็ไม่ใช่สำหรับลูกของเรา อาจเป็นเพราะเป้าหมายเราเป็นคนละแบบ เราคิดว่าเมื่อเขาพร้อม เช่น ร่างกายพร้อม กล้ามเนื้อพร้อม เขาก็จะทำอะไรได้เอง

“เราก็เห็นแล้วว่า เวลาน้องไปอยู่ในสังคม อยู่ในเกมการแข่งขัน เขาก็สู้ได้ อาจจะไม่ใช่สู้ด้วยความเก่ง แต่เขาสู้ได้ด้วยความรู้สึกของเขา หัวใจของเขาที่อยากจะสู้ แม่ว่ามันมีพลังมากกว่าการที่เขาถูกบังคับ หรือถูกลากเข้าไปแข่ง”

ปกติครอบครัวที่ให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก มักจะโดนถามว่ากังวลไหมว่าพอมาเจอการแข่งขันในโลกภายนอกแล้วลูกจะสู้คนอื่นไม่ได้

แม่: ไม่กังวลเลย เพราะมันเป็นทางที่เราไม่ได้อยากแข่งอยู่แล้ว หรือเราเองก็เคยได้ยินมาว่า เด็กที่เรียนโรงเรียนทางเลือกเป็นพวกโลกสวย แต่เราก็เห็นแล้วว่า เวลาน้องไปอยู่ในสังคม อยู่ในเกมการแข่งขัน เขาก็สู้ได้ อาจจะไม่ใช่สู้ด้วยความเก่ง แต่เขาสู้ได้ด้วยความรู้สึกของเขา หัวใจของเขาที่อยากจะสู้ แม่ว่ามันมีพลังมากกว่าการที่เขาถูกบังคับ หรือถูกลากเข้าไปแข่ง

เพราะฉะนั้นเราให้เขาได้เริ่มต้นด้วยความอยากของเขาเอง มันจะมีพลังให้เขาทำ ในทางของเขาเอง แม่คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นนะ (หัวเราะ)

อะไรทำให้รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เขาชอบจริงๆ แล้วเราควรต้องสนับสนุน

แม่: แม่ไม่ได้รู้สึกขนาดนั้นเลย แต่ว่าเราเห็นเขาชอบเล่น ชอบทำ แล้วเขาก็จะมาชวนแม่ทำเมนูอื่น สมมติว่า แม่ชวนเขาทำคุกกี้ เขาก็ถามว่ามีอะไรยากกว่านี้ไหม คุกกี้ทำเป็นแล้ว อยากลองทำอย่างอื่นที่มันสนุกกว่า แม่ก็ต้องไปหาอย่างอื่นมาลองทำไปด้วยกัน

พ่อ: เราเคยให้เขาทำขนมขาย เพื่อเก็บเงินซื้อไมโครโฟนมาก่อน

แม่: อ่อ ใช่ค่ะ คือก่อนหน้านั้นน้องชอบกินเมอแรงก์มาก แล้วมันก็ทำไม่ยาก แม่ก็เลยให้เขาสองคนพี่น้องช่วยกันทำ แล้วแม่จะช่วยขายให้ ก็ขายเพื่อนๆ ญาติๆ ในเฟซบุ๊กนี่แหละ เป้าหมายคือเขาจะเอาเงินไปซื้อไมโครโฟน ราคาหมื่นนึง เขาก็ทำขนมขายแล้วก็เก็บเงินจนซื้อได้สำเร็จ

อาจจะยิ่งชอบทำอาหารเพราะอย่างนี้ (หัวเราะ)

แม่: คิดว่าเขาก็คงรู้สึกว่าเขาทำได้ แม่ไม่ได้สรุปหรือจำกัดความว่า ลูกเป็นเด็กชอบทำอาหาร แต่คิดว่าเขาทำได้ เขาชอบเล่นแบบนี้

ย้อนกลับไปตอนแข่งขันร้องเพลง (รายการวีคิดส์ไทยแลนด์) ตอนนั้นทำไมถึงตัดสินใจสมัคร

แม่: ตอนนั้นแม่ไม่ได้คิดเลย ไม่เคยมีความคิดว่าลูกจะต้องไปแข่งอะไร แต่มีคนมาชวน เพราะแม่เคยถ่ายคลิปพอใจร้องเพลงลงเฟซบุ๊ก แล้วไม่ได้เปิดสาธารณะด้วยนะ แต่ก็คงมีเพื่อนมีคนรู้จักเห็น แล้วไปแนะนำต่อ ก็เลยมีคนมาชวน

ไม่เคยคิดจะแข่ง แต่ครอบครัวก็ไม่ได้ปิดโอกาสที่เข้ามา

แม่: ใช่ค่ะ แม่ไม่ได้ตัดสินใจให้เขานะ แม่บอกให้เขาไปคุยกับทีมงานเอง เพราะถ้าถามเขาว่าไปไหม เขายังไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แม่ก็เลยให้เขาไปคุยกับทีมงานเอง พอไปคุยแล้วเขาก็ชอบ เขาก็สนุกสนาน

อย่างรายการมาสเตอร์เชฟฯ นี่แม่ก็ถามเขาว่าอยากลองส่งไหม เขาก็โอเค คนพี่แม่ก็ถาม เขาก็อยากไปกันทั้งสองคน แต่คนพี่ไม่ได้ติดเข้ามาถึงรอบออดิชั่น (หัวเราะ)

พอน้องได้เข้าถึงรอบออดิชั่นแล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

พ่อ: บ้านเราก็เริ่มฝึกทำไป ซ้อมไปพร้อมกับลูก

แม่: ใช่ แม่ทำกับข้าวไม่เป็นนะคะ เวลาอยากทำอะไรก็เปิดยูทูบ ทำไปพร้อมกัน

“วัยเขาอาจจะยังไม่ถึงขั้นหาทางแก้ปัญหา แต่เขาก็จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการทำทุกอย่างว่า ถ้ามันเสียก็ทำใหม่ ถ้าเราไม่ได้ลองทำอะไรเลย เราก็คงไม่รู้อะไรเลย”

แต่ซ้อมทำอาหารก็ใช่ว่าจะออกมาเหมือนเดิมหรือประสบความสำเร็จทุกครั้ง

แม่: เราเฟลกันเยอะมากนะ โดยเฉพาะเวลาหัดทำเบเกอรี่ แม่ก็ไม่รู้ว่าทำไมวันนี้ทำสำเร็จ พรุ่งนี้ทำไม่สำเร็จ แต่แม่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากที่จะสอนให้เขารู้ว่า ถ้าหนูไม่ล้มเลิกไปก่อน สักวันหนูก็ทำได้ แต่คนที่จะเลิกไปก่อน ก็คือแม่นี่แหละ (หัวเราะ) บางทีแม่ยังรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้วนะ ทำมาสิบครั้งแล้ว ยังไม่ได้สักที

เวลาทำไม่สำเร็จ น้องพยายามคิดแก้ปัญหาเองหรือเปล่า

แม่: เขายังคิดได้ไม่ถึงอย่างนั้น แม่ว่าบางอย่างมันก็เกินความวัยเขา เช่น เราทำเมอแรงก์ มันยากที่จะเข้าใจว่าทำไมถาดนี้ได้ ถาดนี้ไม่ได้ แม่ยังไม่เข้าใจเลย ต้องโทร. ถามคนนั้นคนนี้ตลอด แต่แม่ก็จะคอยมาบอกเขาว่ามันอาจจะเป็นเพราะอย่างนี้นะ วัยเขาอาจจะยังไม่ถึงขั้นหาทางแก้ปัญหา แต่เขาก็จะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการทำทุกอย่างว่า ถ้ามันเสียก็ทำใหม่ ถ้าเราไม่ได้ลองทำอะไรเลย เราก็คงไม่รู้อะไรเลย

ตั้งแต่ไปแข่งในรายการ คุณแม่เห็นอะไรในตัวลูกอีก นอกจากการเป็นเด็กที่ทำอาหารได้

แม่: ทึ่งในตัวเขานะ แม่ก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะทำได้ขนาดนี้ เราก็ประหลาดใจกันมาก โดยเฉพาะเรื่องความแข็งแกร่งในใจเขา แม่ทึ่งมากว่า เฮ้ย ทำไมเขาไหว ทำไมเขาไม่รู้สึกอะไรเลย

พอใจดูเป็นน้องเล็กที่สุดในเกม คุณแม่กังวลไหมว่าน้องจะสู้คนอื่นไม่ได้

แม่: แม่ไม่กังวลนะคะ เพราะเราไม่ได้คาดหวังหรือคิดว่าเขาไปแข่งด้วยซ้ำ แม่คุยกับน้องตลอดว่าเราไปเล่นเกม ถ้ามีโจทย์มาแบบนี้ น้องลองทำซิว่าจะสำเร็จไหม มันอาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่น้องจะแพ้หรือไม่แพ้ แม่ภูมิใจในตัวน้องตั้งแต่ยังไม่ออกจากบ้านแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าคุณแพ้วันนี้ ก็เพราะว่าคุณทำพลาด ไม่ต้องเก็บมาเสียใจ อยากให้เหมือนเราพาเขาไปเล่นมากกว่า

แล้วน้องสนุกกับการเล่นนี้ไหม

แม่: เขาสนุกมาก ต้องเรียกว่าสนุกมากๆ (เน้นเสียง) เขาไม่เคยงอแงว่าไม่อยากไปทำเลย ต่อให้รายการเลิกดึกมาก และเราก็กลัวว่าเขาจะเหนื่อยแล้วเขาจะงอแง แต่ไม่มีเลย

มีความสุขกับการไปถ่ายรายการมาก

แม่: มากกกก เขามีความสุขทุกรอบ เอาจริงๆ พอถึงรอบหลังๆ แม่ก็เริ่มเป็นฝ่ายเบรกเขา เพราะกลัวเขาเสียใจมั้ง เราก็เลยคอยบอกเขาว่า พี่เขาเก่งกันทั้งนั้นเลยนะ แต่น้องเป็นเด็กโพสิทีฟ เขาก็จะบอกว่า หนูน่าจะสู้ได้นะ เป็นแบบนี้ตลอดเวลา

คุณแม่คิดว่าเพราะอะไร

แม่: คิดว่าเพราะเขารู้ว่าเขาอยากทำอะไร แล้วเขาก็ตั้งใจทำมันจริงๆ เรามีหน้าที่สนับสนุนอย่างเดียว

“น้องเลิกเรียนสี่โมง ต้องมายืนรอให้แม่วนรถรับเขาปุ๊บ ก็วนรถกลับบ้านเลย รีบมาทำกับข้าว มาซ้อม แม่รู้สึกว่ามันหนักมาก แต่เขาไม่เคยบ่น แม่เลยคิดว่าเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจเอง ถ้าเกิดเขาโดนบังคับ เขาคงจะไม่อดทนขนาดนี้แน่”

สนับสนุนหมายถึง มีพาไปเรียนทำอาหารเพิ่มเติมบ้างไหม

แม่: ไม่เคยเลย ฝึกเอง แต่เหนื่อยมากนะคะ (หัวเราะ) ถ้ามาเห็นว่าเขาซ้อมยังไงจะรู้ว่าเหนื่อยมาก น้องเลิกเรียนกลับมา ก็มาหัดทำอาหารเยอะมาก

พ่อ: เขาซ้อมกันเยอะมาก ส่วนพ่อต้องคอยเก็บจานมาล้างเยอะมาก (หัวเราะ)

แม่: เป็นการฝึกที่โหดมาก น้องเลิกเรียนสี่โมง ต้องมายืนรอให้แม่วนรถรับเขาปุ๊บ ก็วนรถกลับบ้านเลย รีบมาทำกับข้าว มาซ้อม แม่รู้สึกว่ามันหนักมาก แต่เขาไม่เคยบ่น  แม่เลยคิดว่าเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจเอง ถ้าเกิดเขาโดนบังคับ เขาคงจะไม่อดทนขนาดนี้แน่ เหมือนตอนที่เขาไปแข่งร้องเพลง คือเรารู้สึกเลยว่า ถ้าเขาไม่มีใจจะไป เขาคงอยู่ตรงนั้นไม่ได้

น้องรับมือกับความกดดันและความคาดหวังจากตัวเองและคนรอบตัวอย่างไร

พ่อ: คือมันก็มีความคาดหวัง แต่ว่าเขามองมันเป็นบวกมากกว่า

แม่: สิ่งที่กดดันเขาได้มากที่สุดหรือที่เรารู้สึกว่าทำให้เขาเครียดได้ก็คือเวลา เช่น รอบที่ทำคัปเค้กแล้วน้องทำไม่ทัน เอาจริงๆ คือตอนแรกพอใจดูนาฬิกาในรายการไม่เป็น (หัวเราะ) เพราะว่าเข็มนาฬิกามันเดินถอยหลัง พอใจเขาดูไม่เป็น เขาก็ไม่เข้าใจมันมาตั้งสามเทป แต่ไม่มีใครรู้

พ่อ: คือเวลาเหลือน้อย แต่น้องคิดว่าเยอะ (หัวเราะ)

มารู้กันตอนไหนว่าน้องดูนาฬิกาไม่เป็น

พ่อ: จนเขามาบอกว่าหนูเห็นว่าเวลาเหลือตั้งเยอะ

แม่: เขาเด็กมาก เราก็เลยต้องกลับมาแก้ปัญหา คือแบ่งเวลาให้เขาเป็นช่วง ช่วงละ 20 นาที ดูเป็นช่วงสั้นๆ ว่า 20 นาทีนี้หนูควรทำอะไรเสร็จ แล้วถ้ามันไม่ทันในช่วงแรก แปลว่าช่วงที่สองน้องต้องเร่งมือหน่อยนะ วางแผนกันใหม่ โดยที่มีเขาช่วยกันคิดว่าเราจะแก้ปัญหาแบบนี้ แล้วเขาก็เข้าใจ หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาเรื่องทำไม่ทันแล้ว

รอบที่แข่งทำคัปเค้กถือเป็นโจทย์ยากที่สุดสำหรับน้องใช่ไหม

แม่: ไม่ยากเลย คัปเค้กคือของถนัดเขา เพราะเราทำกันบ่อย แต่ที่ทำไม่ได้ น่าจะเป็นเพราะความประมาท จริงๆ เขาดีใจที่โจทย์ขนมมาแล้ว เขาได้ทำแล้ว แต่ดันพังซะงั้น

เวลาน้องผิดหวังกับผลงานตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องรับมืออย่างไร

แม่: ก็วันที่ออกมาจากรอบทำคัปเค้ก เขาออกมาร้องไห้ เราก็คุยกัน แม่ก็กอดเขา บอกเขาว่า เราคุยกันแล้วว่าถ้าทำแล้วพัง ก็ให้มันพัง พังก็ต้องยอมรับ ก็แค่นั้นนะ เราก็ปลอบแล้วก็คุยกันว่าแม่พาหนูมาเล่นเกม หนูต้องสนุกกับมัน แต่ถ้าเล่นแล้วเศร้า ก็เลิกดีกว่า เท่านั้นก็หายเลย ยังไม่ทันได้กลับบ้าน เขาก็หายเศร้าแล้ว ไม่ได้ติดใจอะไรเลย

ครอบครัวต้องสอนเรื่องการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่นบ้างไหม

แม่: ไม่ได้สอนอะไรเป็นพิเศษ เขาก็อยู่ของเขาได้เอง ดูเหมือนจะมีแต่คนเอ็นดูเขาด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

คิดว่าพ่อแม่ทุกคนก็อยากสนับสนุนลูกเต็มที่ แต่บางครอบครัวอาจกลัวว่าการผลักดันและสนับสนุนลูกมากไปจะกลายเป็นความกดดัน หรือทำให้ลูกเหนื่อยมากเกินไป

พ่อ: จริงๆ มันก็มีจุดนั้น คือถ้าจะทำแล้วมันก็ต้องซ้อม ต้องเหนื่อย แต่ว่าเขาเป็นคนตัดสินใจที่จะเล่นเกมนี้ เขาก็ต้องไปต่อ

แม่: มันเหนื่อยมากกกก (เน้นเสียง)

“แม่จะให้ความรักเขาก่อนที่จะให้ความรู้เสมอ หมายความว่า เรารักเขา เรามั่นใจในตัวเขา เขาอยากเล่น อยากทำอะไร เราก็ให้เขาทำอย่างนั้น”

แล้วพอใจเหนื่อยไหมคะ

พอใจ: ก็เหนื่อยค่ะ (ยิ้ม)

พ่อ: แต่พ่อกับแม่เหนื่อยกว่า ลูกเขาก็เห็นว่าเราเหนื่อยไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเราส่งเขาไปเรียนหรือไปเหนื่อยอยู่คนเดียว เราไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนั้น ไม่เคยบอกว่า เฮ้ย ไปเรียนสิ ทำไม่ได้ก็ส่งไปเรียน แบบนี้ไม่เคย

แม่: แม่คิดว่า แม่จะให้ความรักเขาก่อนที่จะให้ความรู้เสมอ หมายความว่า เรารักเขา เรามั่นใจในตัวเขา เขาอยากเล่น อยากทำอะไร เราก็ให้เขาทำอย่างนั้น เขาชอบร้องเพลง แม่ไม่เคยส่งเขาไปเรียนร้องเพลง เขาชอบทำอาหาร แม่ก็ยังไม่เคยส่งเขาไปเรียนทำอาหาร คือบางคนอาจจะเห็นว่าลูกชอบ แล้วรีบผลักดันให้ลูกไปเรียน แต่ว่าเราไม่รีบ

พ่อ: เราอยากให้ตัวตนของเขายังอยู่ ถ้ารีบให้ไปเรียนปุ๊บ ตัวตนของเขาจะกลายเป็นตัวครูเลย ครูคนนี้สอนมาแบบนี้ เขาก็จะกลายเป็นแบบนี้ กลายเป็นหาตัวเองไม่เจอ

แม่: แม่คิดว่า เราปล่อยให้เขาเล่นเยอะๆ แล้วเราคอยดูเขาไปถึงจุดนึง มันก็คงมีจุดที่ต้องซีเรียสแล้วก็ผลักดันเขา แต่ก็ต้องคอยดู อย่าเพิ่งรีบผลักให้เขาไปทำอะไรตั้งแต่เล็ก

เหมือนตั้งแต่พอใจไปแข่งมาสเตอร์เชฟฯ ก็มีเพื่อนมาถามเยอะว่าเลี้ยงลูกยังไงหรือมาบอกว่าอยากจะส่งลูกไปเรียนที่นั่นที่นี่ เราก็บอกว่าไม่ต้องหรอก ปล่อยให้เขาเล่นไปเถอะ แล้วพ่อแม่ต่างหากที่เป็นคนต้องมาเล่นกับลูก

แต่ก็น่าจะมีคนเข้าใจว่ามีการส่งน้องไปเรียนทำอาหารมา

แม่: ไม่เคยเรียนเลย

พ่อ: เวลาคนมาถามว่า เลี้ยงยังไง เราก็บอกว่า เลี้ยงเอง

แม่: ใช่ ถ้าเลี้ยงลูกเอง เดี๋ยวเราก็จะรู้เองว่าต้องเลี้ยงยังไง เพราะเราจะเจอตัวตนของเขา เพราะเราเห็นเขาตลอดเวลา

“หนูชอบทำทุกอย่าง ถ้าหนูไม่ได้โดนบังคับ”

อยากถามพอใจบ้างว่านอกจากร้องเพลงกับทำอาหาร หนูชอบทำอะไรอีกบ้างคะ

พอใจ: (คิดนาน) ชอบทุกอย่าง ถ้าที่โรงเรียนหนูก็ชอบทำศิลปะ ชอบทำงานไม้ แล้วก็ปั้นดิน แล้วก็ชอบว่ายน้ำ แต่ว่าชอบเล่นมากกว่า ไม่ได้ชอบเรียนจริงจัง หนูชอบทำทุกอย่าง ถ้าหนูไม่ได้โดนบังคับ

พอใจเคยลองทำอะไรแล้วรู้สึกไม่ชอบไหมคะ

พอใจ: ไม่มีเลย

แล้วสมมติว่าหนูต้องไปทำอะไรที่ไม่ชอบ…

พอใจ: ถ้าหนูไม่ชอบ… (คิด) หนูก็จะ… ทำไป… เพราะถ้าแม่ให้หนูเรียน หนูก็เรียนเพราะว่ามองไปถึงอนาคต เราจะได้มีความรู้ ถ้าเราไม่ทำแล้ว เราก็อาจจะทำไม่เป็น โตขึ้นไปแล้ว ก็ทำไม่ได้

เวลาไปรายการหนูสนุกกับอะไรมากที่สุด

พอใจ: เพื่อน ได้อยู่กับเพื่อน ได้เจอเพื่อนใหม่

แล้วหนูไม่ชอบอะไรในรายการบ้างไหมคะ

พอใจ: ไม่มีเลย

รายการเลิกดึก หนูก็ชอบเหรอ

พอใจ: (หัวเราะ) ชอบค่ะ หนูชอบนอนดึก

แม่: ใช่ค่ะ เขาชอบให้เลิกดึก แม่นี่แหละไม่อยากให้เลิกดึกเลย (หัวเราะ)

โจทย์ทำอาหารในรายการครั้งไหนยากที่สุด

พอใจ: (คิดนาน) หนูว่า มันไม่ได้ยาก แต่มันก็ไม่ง่าย หนูว่าหนูก็ทำได้หมด ถ้าหนูได้ฝึกเยอะๆ

ส่วนมากเมนูที่ทำในรายการเป็นเมนูที่หนูเคยฝึกทำมาก่อนแล้วหรือเปล่า

พอใจ: ส่วนมากก็เคยฝึกนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าบางอย่างก็ไม่เคยทำเลย อย่างตอนที่ให้ทำเนื้อแกะ ในชีวิตนี้หนูยังไม่เคยกินมาก่อนเลย

แล้วหนูทำยังไงกับมัน

พอใจ: ก็ทำเหมือนเนื้อ

การแพ้อาหารทะเลเป็นอุปสรรคในการทำอาหารของพอใจไหม

แม่: น้องแพ้พวกอาหารทะเลที่มันมีเปลือกค่ะ ปู กุ้ง แต่ถ้าเป็นปลาก็กินได้ แต่น้องทำได้หมดนะ อยู่ที่บ้านแม่ก็ให้หัดทำ แล้วใช้วิธีใส่ถุงมือเอา จริงๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะสัมผัสได้ไหม แต่ก็ป้องกันไว้ก่อน มีรอบแรกๆ ที่ต้องทำเย็นตาโฟ เขาต้องลวกปลาหมึก เสร็จแล้วเขาก็คันมือ หลังจากนั้นเวลาฝึกเองที่บ้าน แม่ต้องให้เขาใส่ถุงมือ แต่เขาทำได้

แต่รอบที่โจทย์เป็นปูอะลาสก้า น้องก็เลยไม่ได้ทำ

แม่: หนูเสียใจใช่ไหมที่ไม่ได้ทำ (หันไปถามน้องพอใจ)

พอใจ: (พยักหน้า)

แม่: เขาเสียใจที่ไม่ได้ทำหลายรอบ

ตอนนี้เพื่อนที่โรงเรียนพอใจชอบเล่นอะไรกัน

พอใจ: ที่โรงเรียนก็เล่น… กีฬา เอ๊ย ไม่ใช่กีฬา เพื่อนๆ หนูก็เล่นสนามเด็กเล่น

แล้วเพื่อนอยากทำอาหารเหมือนพอใจไหม

พอใจ: ที่โรงเรียนก็ทำกับข้าวกินเองทุกวันอยู่แล้ว

พอใจชอบโรงเรียนที่เรียนตอนนี้ไหมคะ

พอใจ: ชอบค่ะ เพราะว่าได้ทำอาหาร สนุกดี เราทำอะไรแล้วเราก็ได้กิน เขาให้คิดเมนูเอง หนึ่งห้อง ทำหนึ่งเมนู เตรียมไว้ล่วงหน้า แล้วก็ช่วยกันทำ

ดูเหมือนการทำอาหาร ทำให้น้องเป็นเด็กที่รู้จักวางแผนการทำงานได้ดี

แม่: ใช่ เราก็เห็นพัฒนาการของเขานะ เวลาทำที่บ้านเราจะคุยกันก่อนว่าทำยังไงกันดี เราทำอันนี้เสร็จแล้วค่อยมาทำอันนี้เนอะ ก็คือช่วยกันวางแผน แล้วจากสิ่งที่มันดูเหมือนยาก พอเราย่อยมันออกมาเป็นส่วนเล็กๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรยาก เขาก็จะมั่นใจ สังเกตว่าถามอะไรเขา เขาจะไม่ค่อยมองว่ามันยาก เขาจะตอบว่ามันง่าย เหมือนคำพูดติดปากเขาเลย แต่ว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ

เป็นเพราะคุณแม่ไม่เคยไปบอกเขาว่าหนูทำไม่ได้หรอกหรือบอกมันยากเกินไป ด้วยหรือเปล่า

แม่: จริง เพราะเราไม่ได้มองที่เป้าหมายใหญ่อย่างเดียว เรามองทีละส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ ทำให้มันผ่านไป คือแม่เลี้ยงลูก แม่ไม่ได้รอดูที่ผลลัพธ์ แม่ดูที่โพรเซสการทำ ว่าลูกไม่จำเป็นต้องได้แชมป์ แม่ไม่ได้คิดว่าเขาจะเข้ามาถึงรอบสิบคนสุดท้ายด้วยซ้ำ แต่ว่าวิธีคิดก่อนที่จะมาถึงตรงนี้ แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว แล้วเขาอาจจะได้อะไรเก็บไปใช้ในอนาคตเขา มันเกินคุ้มมาก

ต่อไปถ้าน้องอยากไปแข่งขันรายการประเภทอื่นอีกครอบครัวก็ยังยินดีสนับสนุน

แม่: จริงๆ บ้านเราไม่ใช่สายแข่งเลย ตอนนี้แม่ก็เนื้อยเหนื่อย (หัวเราะ) คือที่จริงเราเคยคุยกันไว้ว่าน้องอยากไปแข่งเดอะวอยซ์คิดส์ แต่พอดีมีมาสเตอร์เชฟฯ มาก่อน แล้วก็มาถึงตรงนี้ แม่ขอหยุดก่อนนะ แม่ไม่ไหวแล้ว นี่เราผอมกันทั้งบ้านแล้ว (หัวเราะ)

(คุณแม่หันไปถามน้องพอใจว่าน้องยังอยากไปเดอะวอยซ์คิดส์อยู่ไหม, พอใจตอบว่า นิดหน่อย)

ถ้าถามตอนนี้ว่าพอใจโตขึ้นอยากเป็นอะไรคะ

พอใจ: (ส่ายหัว) หนูคิดว่า ถ้าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรมากที่สุด หนูก็เป็นเลย

แล้วตอนนี้ล่ะคะอยากเป็นอะไร

พอใจ: ตอนนี้ไม่อยาก อยากเป็นนักเรียนธรรมดา (หัวเราะ)

กลับมาที่คำถามที่บอกว่าโดนถามบ่อย คือสรุปแล้วคิดว่าเราเป็นครอบครัวที่เลี้ยงลูกยังไง

แม่: วิธีการเลี้ยงลูกที่อยากแชร์ มันก็มีสำคัญไม่กี่เรื่องหรอก แต่สิ่งที่เป็นหลักของเราเลยก็คือ แม่ให้ความรักก่อนใช่ไหมคะ ต่อมาก็เป็นเรื่องวินัยที่สำคัญมาก คือเหมือนบ้านเราจะชิล แต่เราก็มีวินัยน ถ้าหนูอยากเรียนดนตรี หนูก็ต้องซ้อมทุกวัน วินัยสำคัญมาก แล้วก็ทำให้ดูอยู่ให้เห็น หมายถึงอยากให้ลูกเป็นยังไง เราก็ทำแบบนั้นให้เขาเห็น และข้อสุดท้ายคืออยากให้เขาเป็นเด็กที่สุขง่าย-ทุกข์ยาก คือเราพยายามจะเอาธรรมะใส่เข้าไปในชีวิตประจำวันเยอะมาก อาจจะยกตัวอย่างจากคนรอบตัว ให้เห็นว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ เราจะคุยกันโดยมีธรรมะแทรกอยู่ตลอด

ทุกวันนี้คิดว่าน้องพอใจเป็นได้ดังใจคุณพ่อคุณแม่หรือว่าเกินคาด

แม่: เกินค่ะ เพราะเราไม่ได้หวังด้วย เราก็คิดให้เขาเป็นนักเรียนธรรมดา (หัวเราะ) แต่เป็นนักเรียนธรรมดาที่รับผิดชอบตัวเองได้ แค่นั้นคือสิ่งที่เราต้องการจากเขา

และแม่ก็ไม่เคยรู้ว่าเขาจะแกร่งขนาดนี้ เพราะเขาไม่เคยเจออะไรกดดันมาก่อน เพิ่งมาได้เห็นในรายการนี่แหละ บางคนบอกว่าเด็กเรียนโรงเรียนทางเลือกเป็นพวกโลกสวย แต่แม่คิดว่าเขาก็อยู่ในสังคมได้ เขาแกร่งกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำ เขารับมือกับมันได้ แก้ไขได้ เอาตัวรอดได้

 

สัมภาษณ์วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST