READING

INTERVIEW: เกื้อกมล นิยม—ครูอักษรแห่งสำนักพิมพ์สา...

INTERVIEW: เกื้อกมล นิยม—ครูอักษรแห่งสำนักพิมพ์สานอักษร ใช้แค่ความไว้ใจ แล้วปล่อยลูกให้เติบโตไปกับหนังสือนิทาน

“อ่านหนังสือเยอะๆ นะลูก จะได้เก่งๆ” น่าจะเป็นคำพูดที่คนรุ่นพ่อแม่อย่างเราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะถูกสอนมาว่าหนังสือคือสื่อที่นำพาความฉลาดเฉลียว

แต่การสร้างนักอ่านที่ดีสักคน อาจจะมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ เป็นการรบเร้าขอให้แม่อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เคยนั่งจ้องภาพสวยๆ บนหน้าหนังสือ แล้วท่องเที่ยวอยู่ในปราสาทและป่าลึกลับที่เราต่อยอดเข้ามาไว้ในหัว แต่งตัวเลียนแบบตัวละครที่ตัวเองอยากเป็น เราที่กำลังอ่านวรรณกรรมคลาสสิก หนังสือปรัชญาเล่มหนาเตอะ หรือความเรียงว่าด้วยความลับของจักรวาลกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนเติบโตมาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน นั่นคือ หนังสือนิทาน

เพื่อให้เข้าใจโลกของนิทานและหนังสือเด็กมากขึ้น เราเลยมาคุยกับคนทำหนังสือเด็กอย่าง เกื้อกมล นิยม —บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร นักเขียนนิทาน นักขายหนังสือ และครูอักษรในเพจของสำนักพิมพ์ ที่มักจะเขียนเรื่องราวสนุกๆ ว่าด้วยการอ่านหนังสือให้เราได้อ่านอยู่เสมอๆ

และนี่คือการสนทนาด้วยความอยากรู้ว่า กว่าจะมาเป็นหนังสือเด็กสักเล่ม ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง และเมื่อหนังสือเล่มนั้นถูกส่งต่อถึงมือเด็กๆ แล้ว มันจะพาเด็กๆ ของเราไปได้ไกลแค่ไหนบ้าง

“มันเป็นความลวงที่ว่าหนังสือเด็กต้องเป็นสีสันสดใส จนทำให้เด็กเองก็ติดเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราให้เขาได้รับรู้ รับสารที่มันไม่มีสีตั้งแต่ต้น เขาจะไม่มีปัญหาเลยนะ แล้วการที่ไม่มีสี ก็ไม่ได้แปลว่าทำงานน้อยกว่ามีสี”

การตั้งต้นเป็นหนังสือเด็กสักเล่ม ต้องเริ่มต้นอย่างไร

โชคดีที่สำนักพิมพ์เราอยู่ในโรงเรียน (โรงเรียนรุ่งอรุณ) เราก็เลยจะมีหนูทดลองเป็นเด็กๆ เยอะ (หัวเราะ) รวมถึงครูและผู้ปกครองด้วย วิธีการคือเราจะเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องเรียนก่อน เพื่อดูว่าเขาต้องการอะไร เช่น ทางครูบอกมาว่า อยากได้สื่อที่ช่วยสอนเรื่องสระ จริงๆ เขาไม่ได้ตั้งใจอยากสอนหรอก แต่อยากให้เด็กคุ้นเคยกับเสียงก่อน แล้วค่อยเชื่อมโยงเสียงเข้ากับสัญลักษณ์ แถมครูยังบอกว่าอยากได้เป็นกลอนเพราะเด็กๆ ชอบ จากที่เราเข้าไปดู ก็จะเห็นว่ามีมันมีพวกกิจกรรมเข้าจังหวะเยอะ เขาอยากให้หนังสือมันเข้าไปอยู่ได้ในทุกกิจกรรมเลยได้ไหม

หลังจากนั้นเราเลยเริ่มดูพฤติกรรมเด็กว่าเขาชอบอะไร เขาใช้ภาษาอย่างไร ภาษาของเด็กเขาจะสนุกในการในการเปล่งเสียง ก็จะเอาอะไรพวกนี้มาใช้ ทำเสร็จก็ไปทดลอง ทดลองทั้งภาพแล้วก็กลอนด้วย แล้วก็ดูรีแอ็กชัน ว่าอันไหนที่เขาหัวเราะ อินไปด้วย หรืออันไหนเขานั่งนิ่ง ฟังได้นาน แบบนี้จะเก็บไว้ อันไหนที่ใช้ไม่ได้เราก็ทิ้ง แต่งใหม่

แล้วเราก็มาพยายามถอดรหัสด้วย ว่าที่เขาเอา เขาเอาเพราะอะไร เช่น เขาเอาเรื่องการไล่เสียง เรื่องการคาดเดา อย่างเล่ม ปาร์ตี้เป่าปี่ จะเป็นเสียงสัตว์ พยัญชนะจะเป็นเสียงสัตว์ใช่ไหม เวลาเด็กเขาคาดเดาได้ เขาจะรู้สึกฟิน ฉันรู้แล้วนะอันนี้มันจะร้องอย่างไร หรือว่าเอาเรื่อง เช่นเรื่องเกี่ยวกับแม่อย่าง ไก่ไม่ไปไหนเด็กจะชอบมาก เราก็จะถอดรหัสออกมาประมาณนี้ ในแง่ภาษาประมาณนี้ ในแง่เรื่องประมาณนี้ ก็จะมาเป็นชุดความเข้าใจที่เรามีอยู่

แล้วตอนทำภาพ เลือกอย่างไรว่าแต่ละเล่มจะใช้ภาพแบบไหน

เรื่อง end product มันไม่ใช่สิ่งที่เราใช้ตัดสินใจนะ เราตัดสินใจด้วยลักษณะภาพ ด้วยการจัดวาง ด้วยการใช้สีและความถนัดของคนวาด เราดูนะว่าคนวาดคนนี้ถนัดแบบไหน แล้วเราก็จะให้โจทย์ที่เข้ากับความถนัดเขา บางคนสไตล์เขามันจะเป็นแบบเดียวตลอด วาดด้านข้างตลอด แล้วก็เป็นกราฟิกที่ตัดทอนมาแล้วไดนามิกมันน้อย แต่หนังสือเด็กมันจะต้องชวนอ่าน ชวนมอง เราก็เลยจะขอเพิ่มไปว่า เปลี่ยนเป็นมุมบนบ้างได้ไหม ใส่ลูกเล่นเข้าไปเพิ่มหน่อยได้ไหม คือเหมือนกับเราต้องทำงานกับคนวาด เพื่อให้เหมาะสไตล์เขา

แสดงว่าคนจะมาวาดภาพให้หนังสือเด็ก แค่วาดรูปได้อาจจะไม่พอ

ใช่ โดนเราแก้ยับ (หัวเราะ) เพราะมันไม่เหมือนกัน หนังสือเด็กมันไม่ใช่การเล่าเรื่องชั้นเดียว เพราะเด็กจะอ่านภาพด้วย นักวาดบ้านเราส่วนใหญ่จะโตมาจากการวาดภาพประกอบแม็กกาซีน ซึ่งมันก็จะเน้นความดึงดูดสายตา ความสวยงามน่ามอง แต่ของเด็กไม่ใช่นะ สำหรับเด็กมันเป็นเรื่องของภาพนี้มีอะไรที่ฉันกินได้บ้าง เช่น แบบนี้ฉันดูออกแล้วว่ามันเป็นตัวอะไร มันรู้สึกยังไงแล้วมันทำอะไรต่อ แล้วตัวเขาเข้าไปแทนตัวละครนั้นได้ไหม มันเป็นการเข้าถึงคนดูในแบบที่ไม่ได้เข้าถึงด้วยความน่ารัก ความสวยงาม แต่เข้าถึงด้วยคาแรกเตอร์ ด้วยจิตวิทยา เช่นฉากบางอย่างที่เด็กจะชอบ เช่น ฉากที่น่าค้นหา หรือพวกฉากของความอบอุ่น

อีกอย่างหนึ่งคือคนชอบติดเรื่องความสวย แต่ที่จริงมันไม่ต้องสวยนะ (คุณเกื้อลุกไปหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ดู) อย่างเล่มนี้เป็นของเกาหลี เส้นไม่จำเป็นเลย แต่ว่าอารมณ์มันได้ แล้วเด็กก็ตีความออกด้วยว่าสิ่งที่เขาเห็นคือเครื่องปิ้งขนมปัง เพราะมันปิ้งขนมปังออกมาได้ แล้วขนมปังแต่ละอัน รูปร่าง สีก็ต่างกัน คือเส้นแบบนี้มันดีด้วย ตรงที่ว่า เด็กเขาจะรู้สึกว่าตัวเองก็วาดได้ เข้าถึงง่าย ไม่ใช่อะไรที่มันดูสวยงามสำเร็จรูป

ถึงจะบอกว่าลายเส้นไม่สวย แต่โดยรวมเล่มนี้ก็สวยนะ

มันมีเรื่องนี้ด้วย คือเรื่องของการออกแบบที่ทำให้รับสารได้ง่าย เช่นการวาง องค์ประกอบให้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้มันทำให้เด็กอ่านง่าย และช่วยสร้างรสนิยม สร้างความเป็นระเบียบในระบบคิดระบบมอง เหล่านี้ต้องมีนะ ซึ่งประเด็นนี้อาจจะถูกคำนึงถึงน้อยในหนังสือบ้านเรา

เช่นเล่มนี้ กุริกับกุระ ลายเส้นมันธรรมดามาก เด็กวาดตามได้เลย แต่การวางองค์ประกอบไม่ธรรมดา เริ่มตั้งแต่ว่า เรารู้ได้อย่างไร ว่าตัวไหนชื่อกุริหรือกุระ เพราะเขาจะวางซ้ายขวาเอาไว้ตลอด และใช้สีเป็นตัวช่วยด้วย เล็กๆ น้อยๆ เขาจะเก็บรายละเอียดให้หมด

แล้วทางญี่ปุ่นเขาซีเรียสมากเรื่ององค์ประกอบ เคยคุยกับพี่แต้ว (ระพีพรรณ พัฒนาเวช—อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก) เราเอาของเขามาแปล แล้วครอปอะไรออกไปซักอย่าง เขาก็ไม่ยอม ต้องเอากลับมา เพราะว่ามันจะทำให้น้ำหนักในหนึ่งหน้ามันพอดีอะไรแบบนี้ คือความพอดีมันทำให้เด็กไหลไปกับเรื่องได้ง่าย

เหมือนกับห้องเรารกๆ ไม่รู้จะดูตรงไหนก่อน แต่ถ้ามันมีจุดเด่นให้เห็นเป็นอันแรก แล้วค่อยไล่ดูต่อว่ามันมีอะไรอีก แบบนี้สนุก หนังสือเด็กที่ดีจะมีจุดเด่นแบบนี้ทุกหน้า บางหน้าก็วางแบบให้น้ำหนักซ้ายขวาเท่ากัน เพราะความสำคัญของตัวละครทั้งสอง ในเรื่องราวช่วงนี้มันเท่ากัน หรืออย่างฉากที่กุริกุระจะเปิดฝาหม้อ เด็กๆ จะชอบมาก เพราะจากหน้าหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลย แต่พอเปิดมาอีกหน้า ก็เหมือนเปิดฝา เขาก็จะได้เค้กที่มันฟู่ออกมา คือหนังสือมันเล่นได้

แสดงว่าคุณพ่อคุณแม่ควรไว้ใจศิลปิน ไว้ใจ บ.ก. ไว้ใจหนังสือเถอะ ว่าเขาผ่านการคิดมาเยอะมาก 

ใช่ คือ อ่านแต่คำเลยนะ ไม่ต้องอธิบายอะไร ไว้ใจหนังสือให้มันทำงานกับเด็ก พ่อแม่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก แต่ที่เราเจอมา บางทีเราก็เคยถูกต่อราคา โดนบอกว่า นิทานไม่มีตัวหนังสือทำไมราคาเท่ากับเล่มที่มีตัวหนังสือ หรือโดนว่าทำไมทำหนังสือขาวดำ

แล้วทำไมถึงทำขาวดำ

มันเป็นความลวงที่ว่าหนังสือเด็กต้องเป็นสีสันสดใส จนทำให้เด็กเองก็ติดเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราให้เขาได้รับรู้ รับสารที่มันไม่มีสีตั้งแต่ต้น เขาจะไม่มีปัญหาเลยนะ แล้วการที่ไม่มีสี ก็ไม่ได้แปลว่าทำงานน้อยกว่ามีสี มันมีจุดประสงค์ของผู้แต่ง ของผู้ออกแบบอยู่นะ เช่น นิทานชุดเลขแสนสนุก ของเราก็ทำเป็นสองสี เราเลือกคนวาดคือ สุวิมล หลูไพบูลย์ เพราะเขาวาดละเอียดมาก เด็กวัย 5-6 ขวบ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเล่มนี้เขาจะชอบรายละเอียด เพราะเขาชอบค้นหาสิ่งที่อยู่ในภาพ แล้วเอามาตีความ ทีนี้พอมันละเอียดมากๆ แล้วถ้ามีสีสดใสเข้าไปอีกเนี่ย มันจะทำให้เขาไม่มีสมาธิ มันจะดูเยอะไปหมด อย่างบางเล่มที่มันไม่มีตัวหนังสือเลย แล้วมีสีและภาพที่ละเอียดซับซ้อนเนี่ย มันทำได้นะ แต่ของเรามันมีเรื่องราวด้วย มีสัญลักษณ์และตัวเลขด้วย ดังนั้นเราเลยต้องลดอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเราต้องเลือก เราเลยเลือกลดให้เหลือแค่สองสี แล้วก็ให้เด็กหา ให้เด็กนับ เขาก็จะมีสมาธิกับหนังสือได้ดีกว่า

“กลไกที่เด็กทำงานกับหนังสือ เด็กเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการตีความ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณมนุษย์”

ในมุมคนทำหนังสือเด็ก เรามีหนังสือเด็กที่ดีและหนังสือเด็กที่ไม่ดีไหม 

จริงๆ เราว่าดีหมดนะ  ต้องย้อนไปที่ว่าจุดประสงค์ของหนังสือเด็กก่อนว่าคืออะไร อันดับแรกคือมันเป็นสิ่งที่ทำให้แม่กับลูกได้ใกล้ชิดกัน อ่านด้วยกัน ลูกอยู่บนตักแม่ เป็นช่วงเวลาที่มีค่าและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี นี่คือจุดประสงค์หลักของนิทาน ดังนั้นมันจะเป็นเล่มไหนก็ได้ อะไรก็ได้

เคยมีหนังสือพูดถึงแม่คนหนึ่ง กำลังเรียนปริญญาเอกเลยไม่มีเวลาอ่านหนังสือให้ลูก เพราะเขาต้องอ่านหนังสือของตัวเอง สิ่งที่แม่คนนั้นทำจึงเป็นการเอาลูกนั่งตัก แล้วก็อ่านวิทยานิพนธ์ให้ลูกฟัง สิ่งที่เด็กได้รับคือความรัก มันมีอยู่และเด็กก็สัมผัสได้ แล้วเขาก็ได้ยินเสียงของแม่ด้วย เสียงที่แม่อ่านเป็นเสียงของความรัก ทีนี้เรื่องอื่นๆ มันจะตามมาเอง เรื่องภาษา เรื่องความรู้ มันจะตามมาเอง แต่สำคัญคือความรัก คือสายสัมพันธ์กับแม่

อีกระดับขึ้นมาคือกลไกที่เด็กทำงานกับหนังสือ เด็กเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการตีความ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณมนุษย์ เช่น เด็กทารกเขาก็จะตีความน้ำเสียงแม่ กลิ่นของแม่ ก่อนจะค่อยๆ เห็นหน้าแม่ชัดขึ้น แล้วถึงจะจำได้ว่าคนนี้คือแม่ พอโตขึ้นมาหน่อย เขาก็จะเริ่มตีความสถานการณ์ เช่น ถ้าไปห้างฯ เขาจะได้เห็นร้านอาหาร เห็นคนเยอะแยะ ทีนี้อีกระดับขึ้นมาก็เป็นหนังสือ จากภาพ จากสัญลักษณ์ พอเห็นภาพปุ๊บจะพร้อมตีความทันที สมมติเล่มนี้ (บาบา) หน้าปกจะมีรูปตา เด็กเขาก็จะรับรู้ว่า มันมีตา มีปาก มีเขี้ยว ในหัวเขาก็จะเริ่มเชื่อมโยงกับความรู้ชุดเดิมที่มี ว่าตัวนี้เป็นยักษ์หรือเปล่า น่ากลัวหรือเปล่า แต่ว่า ดวงตาของบาบามันดูไม่ดุเลยนะ ดูอ่อนโยน หรือว่ามันจะไม่น่ากลัว แล้วก็ยังมีเรื่องสีสันที่มันดูสดชื่อ ไม่หม่นไป แต่ก็ยังคงความลึกลับอยู่ สิ่งเหล่านี้เด็กเขาอธิบายออกมาเป็นคำไม่ได้นะ แต่เขารู้สึกไปแล้วเต็มๆ เพราะกระบวนการตีความของเขาได้ทำงานไปแล้ว

 “เรื่องกระบวนการที่ให้เด็กได้คิด ได้เรียนรู้เอง ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้จนโต”

หน้งสือสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย ควรเป็นแบบไหน

เด็กเล็กตั้งแต่ 0-3 ขวบจะชอบกลอนมาก ถึงจะไม่รู้ความหมาย เข้าใจเรื่องไม่ได้ทั้งหมด แต่เด็กสามารถจับเสียงที่มันมีความเป็นแพตเทิร์นของจังหวะได้ ตรงนี้จะช่วยดึงเขาให้อยู่กับเรื่องได้ดี เขาจะสนุก อย่างชุดกลอนสระของสานอักษรนี่ทำให้เด็กดุ๊กดิ๊กได้ตั้งแต่อยู่ในท้องเลย ที่มันเวิร์กเพราะว่าเล่มนี้เราทดลองกับเด็กของเราจริงๆ เลยรู้ว่าต้องทำหนังสือแบบไหนให้เด็กติด

หลังจากนั้น พอเด็กเริ่มโตขึ้น เขาก็จะเริ่มสนใจเรื่องราวบ้างแล้ว ก็จะเป็นเริ่มเป็นเรื่องแล้วแต่ว่าอาจจะยังมีความเป็นกลอนอยู่บ้าง หรือไม่ก็เป็นแพตเทิร์น มีประโยคซ้ำๆ ให้เขาได้ร่วมเล่น เช่น เอ้า…ฮึบ เด็กเขาจะรอคอยเพื่อพูดตาม

ถ้าเด็กได้อ่านหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก แบบจับเขานั่งตักแล้ว แล้วให้เขาได้เห็นหนังสืออยู่ข้างหน้า มีการเปิดหนังสือให้เห็น เขาก็จะค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าหนังสือนะ มันทำงานแบบนี้นะ เรื่องราวมันจะออกมาเป็นแบบนี้นะ ตั้งแต่ขวบกว่าๆ เขาก็สามารถนั่งฟังเรื่องสั้นๆ ได้แล้ว เช่น ช่วยเช็ดให้หน่อย มันเป็นลักษณะที่ดีของหนังสือเด็กเล็ก

ลักษณะที่ดีของหนังสือเด็กเล็กเป็นยังไง

จะเป็นหนังสือที่ภาพชัดมาก ตัวละครก็จะมีสรีระใกล้เคียงความจริง หรือตัดทอนน้อยมาก และท่าทางก็จะเหมือนของจริง เช่น วิธีการที่ภาพเด็กในหนังสือจับช้อน ก็จะจับแบบเด็กจริง แล้วก็จะไม่มีพล็อต แค่เป็นการบรรยายว่าขณะนั้นเกิดอะไรขึ้น แม่ก็เล่าตามนั้นเลย ไม่ต้องอธิบายภาพ เล่าแค่ตัวหนังสือเท่าที่มี ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสมองเด็ก เพราะว่าพอเราอธิบายปุ๊บ เขาจะยึดเอาคำของเราเป็นคำตอบสุดท้าย เขาจะไม่ทำงานเอง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากนะ เรื่องกระบวนการที่ให้เด็กได้คิดได้เรียนรู้เองต้องรักษาเอาไว้ให้ได้จนโต

พอโตขึ้นอีกก็จะเป็นพวกหนังสือภาพทั่วไป อย่าง กุริกุระ ตอนแรกที่อ่าน ก่อนจะมาทำหนังสือเด็ก เราคิดในใจว่า อะไรวะ เลอะเทอะปะวะ (หัวเราะ) แต่พอเรารู้จักเด็ก เราเลยเข้าใจว่า เล่มนี้มันคือภาพแทนนิสัยของเด็กเลย มันคือวิธีที่เด็กใช้ภาษา เขาจะไม่ค่อยปะติดปะต่อ มันบรรยายว่า กุริกับกุระหิ้วตระกร้าใบใหญ่เข้าไปในป่า สองเราหนูนาชื่อว่ากุริกับกุระ อยู่ๆ ก็ร้องเพลงเฉยเลย มันเป็นนิสัยของเด็ก คำก็เป็นคำที่ก็ไม่ได้มีความหมาย ไม่ได้คล้องจองอะไร แล้วมันก็มีคำสนุกๆ อย่าง ‘กรุบกรับ กุริกุระ’ พอมันเป็นนิสัยเขา เด็กก็เลยจะอินง่ายมาก ไปทำอะไรในป่า ก็ไปเด็ดใบไม้ ไปเก็บอะไรที่มันหล่นๆ ก็เป็นนิสัยเด็กเหมือนกัน

หนังสือภาพแบบนี้ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกและท้าทาย อยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะเรื่องพวกนี้มันไม่มีในชีวิตจริง ภาษาคนทำหนังสือจะเรียกว่าพล็อตมีปัญหา เริ่มมีปัญหาขึ้นมาแล้วเขาแก้ปัญหาอย่างไร เด็กชอบการแก้ปัญหามากนะ คือมันเหมือนได้เล่นเกม ยกของไม่ไหวต้องทำยังไง อะไรเล็กน้อยพวกนี้ ผู้ใหญ่จะมองข้าม เพราะเราผ่านมันมานานแล้ว แต่สำหรับเด็กการแก้ปัญหาเล็กๆ พวกนี้มันช่วยให้เขาตามเรื่องต่อไปได้ และสนุกไปกับมัน

หลังจากนั้นก็จะยังเป็นหนังสือภาพเหมือนเดิม แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มยาก และต้องแยบคายกว่าเดิม ตัวหนังสือจะบรรยายเยอะขึ้น บรรยายอารมณ์ บรรยายฉาก เพื่อช่วยให้เด็กค่อยๆ สร้างภาพขึ้นมาในหัว เป็นการเตรียมให้เด็กไปอ่าน Chapter book หรือพวกเรื่องสั้น วรรณกรรมเยาวชน อันนี้ได้ตั้งแต่ 4-5 ขวบเลยนะ ถ้าเขาเริ่มอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก ถ้าลูกพร้อม ถึงเขาจะยังอ่านไม่ออก เราก็อ่านให้ฟังได้

เรื่องสั้นก็อ่านให้ลูกฟังได้ด้วยเหรอ

ใช่ อ่านให้ฟังได้ถึงมัธยมเลยนะ มีหนังสือเล่มนึงชื่อ The Read-Aloud Handbook ของนักเขียน Jim Trelease บอกว่าพ่อแม่สามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้จนถึงมัธยมเลย เพราะว่ายังไงเราที่เป็นผู้ใหญ่ ก็มีทักษะในการเข้าใจภาษามากกว่าเด็ก ลุ่มลึกกว่าเด็ก เพราะเราอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว เราอ่านหนังสือมาก็เยอะแล้ว

อย่างช่วงลูกวัยรุ่น เขาไม่ฟังเราแล้ว เวลาเขาล้างจาน เราก็นั่งอ่านบทกวี แต่เป็นบทกวีแบบที่มันโดนใจ เป็นพวกบทกวีที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต หรือว่าพูดถึงมุมมองสีเทาๆ ให้ลูกได้ยินได้ฟัง อ่านแบบอ่านลอยๆ ขึ้นมานี่แหละ เพราะเขาไม่ฟังสอนแล้ว สอนไม่ได้แล้ว หรือจะอ่านบทความ ความคิดเห็นทางปรัชญาเลย เพราะเด็กมัธยมต้องการความท้าทาย คนเขียนเขาก็อ่านอะไรแบบนี้ให้ลูกฟังจนโต เรารู้จักลูกเราดี เรารู้ว่าเขากำลัง go through ปัญหาอะไรอยู่ และเขาไม่คุยปัญหาเหล่านี้กับเราหรอก แต่เรายังทำสิ่งนี้ได้

เหมือนอย่างที่บอกว่า เด็กสี่ห้าขวบก็อ่านวรรณกรรมได้แล้ว เพราะทักษะการรับรู้ การตีความเขาไปไกลแล้วไง แต่ทักษะการอ่านการเขียนมันยังมาไม่ทัน แม่เลยช่วยได้ด้วยการอ่านเรื่องที่มันยากเกินกว่าที่เขาจะอ่านเอง แต่มันท้าทายความคิดเขาไปก่อน

“ถ้าเป็นหนังสือที่ทำมาดี มันจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แทนตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครในนั้น แล้วคลี่คลายตัวเขาออกมาจากเรื่องยากๆ เช่น ความกลัว ความตาย การพลัดพราก” 

ตอนอ่านหนังสือ จะเกิดอะไรในหัวเด็กบ้าง

มันเกิดการตีความ เวลาที่เราอ่านหนังสือให้เด็ก หรือเวลาเด็กเขาได้เห็นภาพ เห็นเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ มันจะเกิดการตีความขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว หนังสือก็เป็นการตีความต่อเนื่อง เป็นการทำงานของสมองหลายส่วนมาก เช่น พอเด็กเห็นภาพแมว เขาก็จะดึงเอาประสบการณ์ที่เขามีต่อแมวมาใช้ เพื่อระบุว่า สิ่งนี้คือแมว ทีนี้มันก็จะมาหมดเลย มาพร้อมกับสัมผัส แมวมันขนนุ่มนะ แมวมันมีเล็บนะ มาพร้อมกับเสียงเมี้ยว มาพร้อมกับภาพที่ว่า แมวกินอะไร ทั้งหมดนั้นมันมาหมดเลย ไม่ได้มาแค่แมวหรือคำว่าแมว เพราะฉะนั้น กระบวนการ synapse จึงเกิดขึ้นในสมอง

อีกอย่างที่ดีคือมันเป็นเรื่องของอารมณ์ อารมณ์มันจะตามมาด้วย เช่น บางคนเคยมีประสบการณ์กับแมวไม่ค่อยดีเท่าไร เคยโดนแมวข่วน ภาพจำนี้มันก็จะแว้บขึ้นมาด้วยตอนเขาเห็นภาพแมว ทีนี้เจ้าแมวตัวนี้มันจะดำเนินเรื่องไปยังไง เขาก็จะคอยติดตามต่อ บางเล่มวางคาแรกเตอร์มาให้เป็นแมวน่ากลัว บางเล่มเป็นแมวน่าสงสาร เด็กเขาก็จะเอาภาพเดิมที่เขามีต่อแมวมาก่อนหน้านี้ มารวมกับเรื่องที่กำลังอ่านตรงหน้า เพื่อคาดเดาเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทุกอย่างจะมาพร้อมกันหมด

ภาษาก็จะตามมาด้วย เพื่อใช้ในการอธิบายให้ตัวเองฟัง บางคำหรือบางอารมณ์เขาจะยังไม่รู้จัก เหมือนระบุมันไม่ได้ แต่หนังสือช่วยเขาได้เพราะว่ามันมีคำมากำกับ ซึ่งมันจะช่วยเด็กได้เยอะมากในการคลี่คลายตัวเอง ถึงบอกว่า ถ้าเป็นหนังสือที่ทำมาดี มันจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แทนตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครในนั้น แล้วคลี่คลายตัวเขาออกมาจากเรื่องยากๆ เช่น ความกลัว ความตาย การพลัดพราก บางครั้งผู้ใหญ่จะกังวลว่า มันจะอีโมชันนอลมากไปไหม เราว่าความ อีโมชันนอลก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เขาต้องผ่านไปให้ได้ แต่เราก็ต้องคอยช่วยดูเหมือนกัน เพราะบางเรื่องก็อาจจะเยอะไปสำหรับช่วงวัยนี้

เยอะกว่าที่พ่อแม่คิดไว้มาก

ใช่ การทำงานในสมองเด็กมันจะมาหมดทั้งองคาพยพ เพราะฉะนั้นยิ่งหนังสือเปิดโอกาสให้เด็กได้ตีความมากเท่าไรก็ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นหนังสือที่ภาพกับตัวหนังสือมันเหมือนกันเป๊ะ ไม่ต้องตีความอะไรไปมากกว่านั้น รูปไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากไปกว่าตัวหนังสือเลย สมองเด็กก็จะทำงานนิดๆ สั้นๆ ไม่ได้ตีความเพิ่ม ไม่ได้จินตนาการเพิ่ม ไม่ได้คาดเดา ไม่ได้เชื่อมโยงเลย มันก็เลยจะได้น้อยหน่อย

แล้วที่อาจจะไม่ดีอีกอย่างก็คือ เด็กจะกลายเป็นแค่ผู้เสพอย่างเดียว ไม่ได้เป็นผู้สร้าง คือคอยแต่จะรับ แล้วมันจะชินด้วยนะ ถ้าเด็กไปเจอหนังสือที่ไม่มีคำบรรยาย เขาจะไปไม่เป็น แล้วก็จะรู้สึกไม่สบายใจ เขาจะกังวลว่าฉันตีความผิดหรือเปล่า ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเด็กเลย

นิทานที่ดีจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ตีความ ไม่ใช่การนำเสนอชุดความจริงสำเร็จรูป

ยกตัวอย่างชุดหนังสือของ จอน คลาสเซน (Jon Klassen) ก็ได้ เขาเป็นนักวาด หนังสือของเขาที่ดังคือซีรีส์หมวก (หมวกใบเล็กของเจ้าปลายักษ์, เห็นหมวกของฉันไหม, เต่าสองตัวกับหมวกหนึ่งใบ) เราว่ามันเอาเด็กอยู่ได้หลายระดับ ถ้าคุณจะสอนเด็กเรื่องความดี ต้องสอนแบบนี้ ซึ่งคือ มันเริ่มด้วยการเรียกร้องความสนใจก่อน ชื่อหนังสือบอกว่า หมวกใบเล็กของเจ้าปลายักษ์ แต่ทำไมภาพมันถึงเป็นปลาตัวเล็ก และทั้งเล่มจะเล่าแบบนี้ คือเป็นตรงข้ามกับสิ่งที่เห็นตลอด มันจะดึงความสนใจเด็กได้ สมองต้องทำงานตลอด

เล่มนี้มันจำลองสภาวะของคนที่เป็นขโมย ในใจเขาจะกังวลไปหมด คำพูดที่ออกมาคือสิ่งที่ขโมยหลอกตัวเอง เราจะไม่โดนจับหรอก ไม่หรอก คือคนไทยชอบสอนกันว่า การไปขโมยของมันทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ที่จริงก่อนจะไปถึงจุดนั้น ตัวคนที่ขโมยเองนี่แหละที่เดือดร้อน หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เห็นว่า เดือดร้อนอย่างไร ไม่ได้มาเขียนบอกนะว่าเธอจะอึดอัดนะ เธอจะเกิดความกังวลใจนะ ไม่ได้บอก แต่ทำให้เห็นเลย พอเด็กอ่านจบ ทั้งห้องจะอึ้ง เงียบกริบเลยนะ บางคนเขาก็จะเป็นห่วงว่าปลาตัวเองจะเป็นอย่างไร บางคนจะขอกลับมาที่หน้าก่อน เพื่อดูอีกทีว่าปลามันโดนทำอะไรหรือเปล่า แล้วเขาก็จะถกกัน บางคนก็จะสมน้ำหน้าตัวเล็กโดนแน่ บางคนก็บอกว่าอาจจะไม่โดนก็ได้นะ เพราะหนังสือก็ไม่ได้บอกซะหน่อยว่าโดนอะไร บางคนก็สงสารปลาตัวเล็ก คนที่ก่อนหน้ารู้สึกสมน้ำหน้า พอได้ยินเพื่อนพูดว่าสงสาร ก็จะเริ่มคิดว่า เออ ก็น่าสงสารเหมือนกันนะ บางคนก็บอกว่าปลาตัวใหญ่นิสัยไม่ดี ไปกินปลาตัวเล็ก เพื่อนก็จะบอกว่า แต่เขาเป็นคนถูกขโมยหมวกไปนะ เหล่านี้เราปล่อยให้เด็กเขาคุยกันได้เลย ครูไม่ต้องทำอะไร แค่นั่งเฉยๆ แล้วฟัง

ถ้าจะสอนเด็กเรื่องความดีมันเลยต้องสอนแบบนี้

ใช่ ทำให้เห็นชัดเจนว่า การทำดีมันทำเพราะว่าอะไร ทำเพราะเราสบายใจ ทำแล้วเราปกติ ทำแล้วเราอยู่ในสังคมได้อย่างดี ไม่ใช่ทำแล้วคนอื่นจะมองว่าเราดี อันนี้เราเห็นเยอะมาก การไป ตั้งเป้าว่าการกระทำผิดอันนี้ไม่ดี อันนั้นไม่ดี ซึ่งไม่ใช่ว่าเด็กเขาจะไม่รู้นะ เขารู้อยู่แล้ว เพราะในสังคมเขาเป็นทั้งผู้กระทำแล้วผู้ถูกกระทำเสมอ

เราเคยทำหนังสือชุดหนึ่ง เขาให้โจทย์มาเป็นเรื่องพลเมืองดี เราก็มาคิดว่า ทำยังไงดีนะ ก็ร่างสตอรีบอร์ดมาร่างหนึ่ง เอาเข้าไปลองกับเด็ก ปรากฏว่าเด็กรื้อโครงเรื่องของเราหมดเลยนะ คือเราจะติดภาพว่า จะบอกเด็กยังไงว่าอันไหนดีหรือไม่ดี อันไหนควร อันไหนไม่ควร แต่ในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นจะต้องไปแปะป้ายมันเลย

สุดท้ายเล่มที่เราทำ ที่มาของมันคือเราเห็นเด็กสองคนเล่นกัน ใช้กระชอนทำเป็นเหมือนเล่นขายก๋วยเตี๋ยว แล้วก็มีอีกคนหนึ่งพรวดพราดเข้ามาเล่นด้วย คนที่เล่นอยู่ก็เลยไม่อยากให้เล่น ถามว่ามีใครในนั้นผิดไหม ไม่มีหรอก เขายังเป็นเด็ก เขายังไม่รู้ว่าต้องเข้าหาเพื่อนด้วยจังหวะแบบไหน

ทีนี้เด็กคนนั้นเขาก็เลยถอยไปตั้งหลักใหม่ คราวนี้เข้ามาเบาๆ แต่เด็กสองคนเดิมก็ยังแอ็กท่าอยู่ เพราะเขามีประสบการณ์เดิมที่ไม่ดี ยังไม่ให้เล่น บอกเพื่อนว่าร้านเต็มแล้ว เด็กคนเดิมเขาก็เลยไปตั้งหลักอีกที คราวนี้เขาไปหยิบกระชอนมา แล้วมาบอกเพื่อนว่า เรามีกระชอนนะ เพื่อนก็เลยโอเค เดี๋ยวเราปิดร้านตรงนี้ก่อน แล้วค่อยเปิดร้านใหม่ อย่างนี้มันคือการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกัน โดยที่เขาไม่ต้องรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นคนไม่ดี

ซึ่งจริงๆ เด็กไม่ต้องเป็นคนดีก็ได้

ไม่ต้อง เดี๋ยวเขาปรับของเขาไปเอง แล้วเด็กปรับง่ายมากด้วย แต่เมื่อไหร่ที่เราไปแปะป้ายความดี คนดี เด็กเขาก็จะทำตาม ทำแบบนี้เป็นคนไม่ดีเลย เธอแกล้งเพื่อน เธอไม่แบ่งของ เธอเห็นแก่ตัว เขาจะไปชี้หน้าบอกคนอื่นแบบนั้น แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นคนดี คือการเป็นคนดีไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่การเป็นคนดีของเขา มันคือการเป็นเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ให้พ่อแม่ ให้สังคม ให้ครูยอมรับ แต่เขาไม่ได้เป็นคนดีเพื่อให้ตัวเองสบายใจ

ก็เหมือนเวลาเด็กหกล้ม เด็กเขายังไม่มีข้อมูลในหัวมาก เขารู้สึกตกใจและเจ็บ ก็เลยร้องไห้ออกมา ถ้าครูไม่ไปปักหมุดที่แผล แต่มาถึงก็โอบกอด แล้วถามว่าเป็นยังไงลูก เกิดอะไรขึ้น พอถามแบบนี้เด็กจะได้ตอบได้ พอตอบออกมาเขาก็จะมีข้อมูลในหัวว่าเขาหกล้ม แล้วพอครูบอกว่าเดี๋ยวครูทายาให้ แผลก็จะหาย แบบนี้อารมณ์มันจะน้อยลง เขาก็จะผ่อนคลายพอที่จะฟังข้อมูลเพิ่มเติม และผ่านเรื่องนั้นไปได้

ทุกอย่าง ถ้าเราทรีตมันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันก็จะคลี่คลายของมันไปเอง

แต่สมัยก่อนเราก็โตมากับนิทานที่บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดีนะ

มันเป็นชุดความรู้เดิม เมื่อประมาณห้าสิบปีก่อนฝรั่งก็เป็นแบบนั้น แต่ว่าของเราเป็นแล้วไม่เลิก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวัฒนธรรมโดยรวมด้วย ไม่ใช่แค่หนังสือหรอก เรื่องอื่นก็ด้วย ถ้าเราสังเกตดู จะเห็นว่าคนไทยชอบความชัดเจน ชอบคำตอบเดียว สำเร็จรูป ไม่ค่อยชอบตอนจบแบบปลายเปิดให้ถกเถียงกันต่อ เพราะไม่อยากขัดแย้ง หรืออย่างหนังสือ wordless พ่อแม่จะกลัวมาก กลัวว่าจะเล่าผิด เดี๋ยวลูกจะเข้าใจเรื่องผิด ซึ่งเราคิดในใจว่าไม่มีใครผิดหรอก แม้แต่กับหนังสือที่มีตัวหนังสือ เด็กจะตีความเป็นอย่างอื่นก็ไม่ผิดนะ ถามว่ากระบวนการตีความได้ทำงานไหม ทำงานเต็มที่เลย ทำดีด้วย ตราบใดที่กระบวนการนั้นได้ทำงานเต็มที่ ติ๊กถูกได้เลย

สุดท้ายแล้ว นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

มันอาจจะยากกับพ่อแม่หน่อยในการที่จะทำใจว่าหนังสือที่เราซื้อมาทำไมมันไม่มีขอคิดส่งท้าย ไม่บอกว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรนะ ตอนเราเป็นเด็กนักเรียนเราก็นั่ง รับฟัง จด เราไม่ได้ถูกสอนมาให้เป็นผู้สร้าง มันเลยทำให้เราติด แต่ไม่ใช่ว่าเราชอบ

มันคงจะคุ้นเคยที่เราซื้อหนังสือเล่มนี้มาให้ลูกเพราะว่ามันสอน สอนเรื่องการทำดี การดูแลตัวเอง บางทีก็สอนภาษา แต่เราต้องมองใหม่ว่าจริงๆ แล้ว การที่ลูกจะได้นั้นมันไม่ได้เกิดจากการเป็นผู้รับ ไม่ใช่ได้เพราะหนังสือมันบอกมาแล้ว แต่มันเกิดจากการทำงานภายในตัวเขาเอง ได้เพราะสมองเขาทำงาน เขาเป็นคนสร้างความคิดของเขาเอง นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็ก

นั่นหมายความว่า พ่อแม่ต้องไว้ใจลูกให้มาก

มาก (เน้นเสียง) ต้องใช้คำนี้เลย พ่อแม่ต้องไว้ใจในศักยภาพของเด็ก แล้วก็อย่าเพิ่งไปโฟกัสกับความถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ เพราะว่าเขาเพิ่งเกิดมาบนโลกได้ 3 ปี 5 ปี 6 ปี เขาเพิ่งจะเจอโลกนี้ เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ให้เวลาเขาในการทำความรู้จัก

อย่างเรื่องภาษา เป็นเรื่องใหญ่กับพ่อแม่มาก เพราะเราจะชอบวัดว่าลูกเข้าใจภาษาเมื่อลูกอ่านออกเขียนได้ แต่จริงๆ แล้ว ภาษาเรามีไว้ทำอะไร เรามีไว้สื่อสาร ลูกสื่อสารได้ตั้งนานแล้วนะ สื่อสารได้ดีด้วย เขาระบุได้ จินตนาการได้ เชื่อมโยงได้ คือได้ทุกข้อแล้วเรื่องการสื่อสาร การอ่านกับการเขียนมันเป็นแค่สิ่งเล็กๆ ซึ่งต้องใช้ความคุ้นเคยกับสัญลักษณ์ ต้องใช้ความเข้าใจที่ซับซ้อน และเขาก็ต้องมีกล้ามเนื้อที่พร้อมเพื่อจะเขียนอีก เราต้องให้เวลาเขาหน่อย อย่างที่บอกว่า เขาเพิ่งอยู่ในโลกไม่นาน ในทางวิชาการบอกว่า ช่วง Early literacy Period กินเวลาตั้งแต่ 0-8 ปีเลยนะ เพราะฉะนั้น วางใจให้เขาพัฒนาในแบบของเขาเองดีกว่า


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST