READING

INTERVIEW: ณัฐิยา ศิรกรวิไล—ผู้ทำให้ ‘วัยแสบสาแหรก...

INTERVIEW: ณัฐิยา ศิรกรวิไล—ผู้ทำให้ ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ ไม่ได้เป็นแค่ละครของเด็กบ้านแตก

ท่ามกลางกระแสละครหลังข่าวที่เข้มข้นและโด่งดังจนเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอย่าง กรงกรรม ที่โรงเรียนเปี่ยมคุณ—สถานที่สมมติในละคร วัยแสบสาแหรกขาด ก็ยังคงเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ต่อเนื่องมาถึงซีซั่นที่สอง

เรื่องราวของพีท เด็กที่กรีดร้องเอาแต่ใจ, ไออุ่น สาวน้อยที่สับสนและไม่เข้าใจความต้องการของตัวเอง, บุ๊ก เด็กวัยรุ่นที่ติดเกมจนสูญเสียชีวิตประจำวันของตัวเองไป, ใบพัด นักเรียนออทิสซึ่มกับสังคมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และวีหนึ่ง นักเรียนดีเด่นที่ไม่มีใครมองเห็นความกดดันภายใต้รอยยิ้มและการเฝ้าบอกทุกคนว่าตัวเองไม่เป็นไร

เรื่องราวเหล่านี้ ผู้ใหญ่อย่างเราจะมองว่าใกล้หรือไกลตัวอย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เด็กๆ ในสังคมของเรา ไม่เคยมีใครประสบปัญหาหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่หนักหนาอย่างนั้น

ณัฐิยา ศิรกรวิไล คือผู้หยิบประเด็นความไม่สมบูรณ์ภายในครอบครัวขึ้นมาขยายให้เราได้เห็นว่าบางปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาในวัยเด็กที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข

ที่มาของการเริ่มเขียนบทละครวัยแสบสาแหรกขาด

พี่เคยมีโอกาสไปรู้จักกับรุ่นพี่คนนึงทำงานเป็นแนนนี่ที่อเมริกา คุยกันไปคุยกันมา เขาก็บอกว่าวันนี้เด็กที่เขาดูแลอยู่จะต้องไปเข้าโครงการชื่อ banana split ซึ่งมันคือโครงการที่โรงเรียนไปจ้างนักจิตวิทยามาคุยกับเด็กที่อยู่ในครอบครัวหย่าร้าง หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เราก็สนใจเพราะว่าชื่อมันเก๋มาก ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่ม ก็เจอว่ามันเป็นโครงการของนักจิตวิทยาท่านนึง แล้วก็มีโรงเรียนที่สนใจเอาโครงการเข้ามาใช้ในโรงเรียน นั่นคือแรงบันดาลใจแรกที่เรารู้สึกว่าประเทศเขาใส่ใจเด็กมาก ในขณะที่ชื่อโครงการเขาก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องซีเรียส

แล้วอีกครั้งคือพี่ไปแคนาดา เพื่อนคนไทยพี่ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาในโรงเรียนที่นั่น ก็เลยถามเขาว่างานมันคืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง พอคุยแล้วเราก็คิดว่าเอออาชีพนี้น่าสนใจจังเลย

แล้วพี่ทำงานกับช่อง 3 วันนึงผู้ใหญ่ถามว่าเราอยากทำอะไร พี่ก็บอกว่าพี่อยากเขียนเรื่องที่เราคิดขึ้นมาใหม่ เพราะว่าก่อนนี้เราเขียนบทดัดแปลง คือเขียนบทละครที่มีบทประพันธ์มาก่อนเยอะแล้ว และก็มีสองประเด็นที่เราสนใจอยู่ อย่างแรกคือเราเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีอัตราการหย่าร้างเยอะ แล้วเราก็อยากทำละครที่เกี่ยวกับอาชีพ หมายถึงละครที่มันลงลึกเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง อีกอย่างคือเราสนใจเรื่องเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพราะเราคิดว่ามันเป็นทาร์เก็ตใหม่ๆ ของคนดูละคร ก็เลยเป็นหลายๆ ไอเดียมารวมกัน

คือ เวลาเราเห็นครอบครัวที่หย่าร้างกัน เรามักจะเกิดคำถามขึ้นมาว่าเด็กๆ ในครอบครัวนั้นเขาเข้าใจสถานการณ์ หรือสถานภาพของพ่อแม่ที่มันเปลี่ยนไปไหม เราก็เลยคิดว่าอยากจะโฟกัสเรื่องนี้ ก็เลยเอาประเด็นพวกนี้มารวมๆ กันเป็นไอเดียเสนอช่อง

ตอนเสนอมีเริ่มเขียนเป็นบทหรือเนื้อเรื่องหรือยัง

ยังค่ะ (หัวเราะ) พี่ก็บอกเขาว่า พี่อยากทำละครแบบนี้ แล้วก็เล่าไอเดียให้เขาฟัง

แต่แนวละครมันดูเหมือนไม่ใช่แนวที่ตลาดชอบสักเท่าไร

ใช่ค่ะ แต่ทางช่องก็ซื้อไอเดีย แล้วให้เราไปทำมาเป็นเรื่องย่อ พี่ก็กลับมาทำเรื่องย่อขนาดยาว ประมาณ 20 หน้ากระดาษได้ เสร็จแล้วส่งให้พี่สมรักษ์ (สมรักษ์ ณรงค์วิชัย) แล้วเขาก็โอเค

นี่คือที่มาของวัยแสบฯ ซีซั่นแรก

แต่ซีซั่นแรกก็ไม่ได้มีแค่ประเด็นเด็กที่ครอบครัวหย่าร้าง ประเด็นอื่นๆ ในเรื่อง เช่น เด็กชอบขโมย เด็กโกหก ทำร้ายร่างกายตัวเอง เพิ่มเข้ามาได้อย่างไร

หลังจากช่องอนุมัติให้ทำแล้ว พี่ก็เริ่มไปรีเสิร์ช เริ่มสัมภาษณ์ แล้วมันก็มีบางอย่างที่เราพบเจอได้จากคนใกล้ๆ ตัว หรือเห็นจากในข่าว มันเริ่มจากการที่เราสนใจเรื่องช่วงอายุของเด็กก่อน ในซีซั่นแรกเราให้ความสำคัญกับเด็ก ม.ปลาย ก็เลยคิดว่าจะให้มีสองคน ส่วนอีกสามคนเป็นเด็กเล็กคือประถมสองคน แล้วก็เป็นเด็ก ม.ต้น หนึ่งคน พอเราเลือกอายุของตัวละครที่เราต้องการจะสื่อสารได้แล้ว เราก็ลองหาข้อมูลว่าในเด็กวัยอย่างนี้ มันมีพฤติกรรมอะไรที่สะท้อนออกมาจากการเลี้ยงดูบ้าง

“สิ่งสำคัญในการคุยกับเด็กสักคนมันคือการมองตาหรือสังเกตพฤติกรรมของเขา ไม่ใช่แค่ได้ยินว่าเขาพูดแบบนี้แล้วก็จบ แต่จริงๆ บางทีการที่เด็กไม่พูดมันไม่ได้แปลว่าเขาโกหกหรือปิดบัง แต่บางทีตัวเขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไร หรือต้องการอะไร”

อาชีพคุณครูนักจิตวิทยาของตัวละครครูทราย มีวิธีหาข้อมูลอย่างไร

พี่ดีลกับคณะจิตวิทยาของจุฬาฯ ค่ะ แล้วก็ขอสัมภาษณ์อาจารย์หลายๆ คน สัมภาษณ์นักจิตวิทยาที่เขาทำงานจริง มีไปคุยกับน้องคนนึงที่เป็นที่ปรึกษาในสถานพินิจเด็ก แล้วก็สัมภาษณ์จากนักศึกษาจิตวิทยาจริงๆ ด้วย ศึกษาจากวิชาที่เขาเรียนด้วย เพราะว่าเราต้องการข้อมูลจากหลายมิติ แล้วก็เอามาผสมกัน

ปัจจุบันตำแหน่งงานนี้มีในโรงเรียนจริงๆ หรือยัง

ตามโรงเรียนอินเตอร์ฯ หรือบางโรงเรียนในประเทศเรามีนะคะ แต่ยังไม่เยอะ แล้วก็เขาไม่ได้โฟกัสแค่ปัญหาของเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่หย่าร้าง แต่เขาต้องเข้าถึงทุกปัญหา ออกแนวเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็ก คือเด็กอยู่ดีๆ ก็สามารถเดินมาหาเขาได้ เช่น กังวล เครียด ไม่สบายใจ หรือแม้แต่อยากเรียนคณะอะไรก็เดินเข้ามาคุยกับเขาได้หมด

แต่ครูทราย เราให้เขาโฟกัสที่เด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง เพราะจุดเริ่มต้นในภาคหนึ่งคือ ตัวพระเอกซึ่งเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนเขาสังเกตเห็นว่ามีเด็กโดนไล่ออกเยอะ เขาก็มาหาสาเหตุว่าเด็กโดนไล่ออกเพราะอะไร และเขารู้สึกว่า การไล่เด็กออกจากโรงเรียนมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่เหมือนเป็นการโยนปัญหากลับเข้าไปสังคม โรงเรียนควรจะมีส่วนในการแก้ปัญหาให้เด็กก่อน แล้วเขาก็ค้นพบว่าในเด็กที่โดนไล่ออก มากกว่าครึ่งมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ เขาเลยสนใจประเด็นนี้

โครงการชื่อ ‘ผูกสาแหรก’ ในเรื่องมันเลยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของเด็กที่อาจจะโดนไล่ออก

เหมือนเด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้างคือคีย์แมสเสจของวัยแสบสาแหรกขาดซีซั่นแรก… หรือที่จริงแล้วเป็นของทั้งสองซีซั่น

ใช่ค่ะ คือในซีซั่นแรก เราต้องการจะบอกว่า บางครั้งความบกพร่องของสังคมที่เราเห็นอยู่นี่มันเริ่มมาจากความไม่สมบูรณ์ของครอบครัว

ส่วนซีซั่นสองเราอยากจะบอกให้ ‘ฟังเสียงจากข้างใน เราจะเข้าใจกันมากขึ้น’ หรือการ listen to the unspoken words, you will understand more คือบางครั้งการที่เราจะเข้าใจปัญหาของคนอื่น มันไม่ใช่แค่ฟังจากคำพูดของเขา อันนี้คือธีมของเรื่องในซีซั่นนี้เลย

สิ่งสำคัญในการคุยกับเด็กสักคนมันคือการมองตาหรือสังเกตพฤติกรรมของเขา ไม่ใช่แค่ได้ยินว่าเขาพูดแบบนี้แล้วก็จบ แต่จริงๆ บางทีการที่เด็กไม่พูดมันไม่ได้แปลว่าเขาโกหกหรือปิดบัง แต่บางทีตัวเขาเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไร หรือต้องการอะไร

“พอพ่อแม่ไม่เห็น เด็กเกิดอะไรขึ้น เขาก็ไม่มีใครให้เข้าไปหา มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคม เพราะฉะนั้นบางตำแหน่งหรือบางอาชีพมันเลยเกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหายไป”

พอหาข้อมูลเรื่องนี้แล้วคิดว่า อาชีพนักจิตวิทยาในโรงเรียนจำเป็นหรือสำคัญแค่ไหน

พี่มองว่าเมื่อก่อน โรงเรียนถูกวางไว้ว่าเป็นสถานที่ให้ความรู้ เพราะว่าปัญหาต่างๆ ในสังคม หรือแม้แต่ในตัวเด็กเองอาจจะไม่ได้หลากหลายมากนัก สิ่งที่มันกระตุ้นให้เกิดปัญหาอาจจะมีแค่ไม่กี่อย่าง แต่เดี๋ยวนี้มันมีแยกย่อยลงไปเยอะ ครอบครัวเมื่อก่อนเป็นครอบครัวใหญ่ ก็จะมีคนช่วยพ่อแม่เป็นหูเป็นตา เช่น คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย ลุงป้าน้าอา แต่ปัจจุบันครอบครัวเดี๋ยวนี้เป็นครอบครัวเล็กๆ อาจจะอยู่กันในคอนโดฯ มีพ่อแม่ลูก หรือเล็กกว่านั้น เด็กบางคนออกมาอยู่คอนโดฯ คนเดียวด้วยซ้ำ ทีนี้พอพ่อแม่ไม่เห็น เด็กเกิดอะไรขึ้น เขาก็ไม่มีใครให้เข้าไปหา มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคม เพราะฉะนั้นบางตำแหน่งหรือบางอาชีพมันเลยเกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหายไป

หมายถึงว่าช่องว่างระหว่างลูกกับพ่อแม่ และคุณครูกับนักเรียนมีมากขึ้นใช่ไหม

คือครูก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม ก็ยังสอนหนังสือ เพราะหน้าที่หลักของครูก็คือให้ความรู้ พี่เองก็เรียนครูมา เราเรียนจิตวิทยาเป็นพื้นฐานมานิดเดียว ไม่ได้เรียนลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอะไรกับเด็ก บางทีครูก็ไม่รู้ว่าจะช่วยยังไง เพราะเราไม่เข้าใจเขาจริงๆ อย่างเช่น ให้เราไปเจอกับเด็กที่เป็นออทิสติก เราก็ไม่รู้ว่าจะเข้าหาเขายังไง หรือเจอเด็กที่กรีดข้อมือตัวเอง ทำร้ายร่างกายตัวเอง มันเป็นเรื่องใหญ่นะ เราไม่รู้เลยว่าเราจะช่วยเขายังไง ลองนึกว่าคุณครูเจอเด็กขโมยของ ครูก็ต้องดุหรือทำโทษ เด็กทำผิดนะที่ขโมยของ แต่ครูจะไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของเด็กเป็นยังไง เขาเป็นอะไร ทำไมเขาถึงต้องขโมยของ แต่ไม่ได้แปลว่าครูผิดนะ เพราะองค์ความรู้และหน้าที่ของครูก็คือแบบนี้

เพราะฉะนั้นนักจิตวิทยาจึงต้องเข้ามาเสริม ไม่ได้แปลว่าครูบกพร่อง อย่างในเรื่องจะมีฉากที่ครูศิลปะเขารู้สึกว่ารูปที่เด็กวาดออกมามันแปลกๆ แต่เขาก็ไม่ได้มีความรู้ที่จะเข้าใจได้ เขาแค่สังเกตเห็นความผิดปกติหรืออะไรบางอย่างที่อยากให้ครูทรายช่วยดูหน่อย แต่ถ้าโรงเรียนนี้ไม่มีครูทราย ครูศิลปะคนนั้นก็อาจจะต้องสงสัยต่อไป แล้วปัญหาของเด็กก็ไม่ได้รับการแก้ไข

ที่มาของเคสต่างๆ ในซีซั่นสองเลือกจากอะไร

เหมือนเดิมค่ะ เราเลือกจากช่วงอายุของเด็ก เราอยากจะขยับกลุ่มคนดูให้โตขึ้นมานิดนึง เราก็เลยให้เรื่องของพีทเป็นตัวแทนของเด็กเล็กหนึ่งคน มีเด็ก ม.ต้น หนึ่งคน คือไออุ่น แล้วก็มาเพิ่มเด็ก ม.ปลายให้เป็นสามคน คือเคสของบุ๊ก เด็กติดเกม ใบพัด เด็ก ม.5 ที่เป็นออทิสติก แล้วก็วีหนึ่ง ม.6 พอได้กลุ่มเป้าหมายแล้วเราก็ไปรีเสิร์ช และพี่เป็นคนที่ชอบดูข่าวและตามข่าวว่าโลกของคนในช่วงวัยแบบนี้มันมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง

อย่างไออุ่น เคสนี้เป็นเด็ก ม. ต้น เพราะเขาเป็นวัยที่เพิ่งโตเป็นหนุ่มสาว เป็นวัยที่คนเราจะเห็นความแตกต่างทางเพศได้ชัดเจน หรือเด็กติดเกม พี่หาข้อมูลมาว่าเด็กจะเล่นเกมหนักมากตอนช่วงปิดเทอม ซึ่งปิดเทอม ม.3 ขึ้น ม.4 นี่แหละที่มันนานจนมีเวลาให้เด็กเล่นเกมอย่างหนักหน่วง แล้วมันก็เป็นช่วงที่เขาเปลี่ยนสังคมเปลี่ยนเพื่อนด้วย เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เด็กจะดำดิ่งก็เป็นไปได้ง่าย เด็กออทิสซึ่ม เราก็อยากให้เขาโตหน่อย จะได้เห็นปัญหาในอีกมุมนึง มุมที่เขาจะต้องอยู่ในสังคมจริงๆ ส่วนวีหนึ่งก็ชัดเจนมาก เขาเป็นเด็กที่เครียดเพราะกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย

เด็กเล็ก ทำไมถึงเลือกพูดถึงเรื่องกรี๊ด หรือ Temper tantrums

คือมันมีช่วงนึงที่เราเห็นข่าวหรือคลิปอะไรแบบนี้บ่อยมาก ลูกกรี๊ดแล้วพ่อแม่ก็ยืนถ่ายคลิป หรือคนอื่นถ่ายคลิปมาด่า แต่จริงๆ เด็กที่มีปัญหาไม่ใช่ตัวประหลาด เวลาเขามีปัญหา เราต้องตระหนักอะไรบางอย่างว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ ยิ่งคลิปของฝรั่งในยูทูบจะมีแบบนี้เยอะมาก ลองเสิร์ชว่า Temper tantrums ดูสิ เป็นคลิปที่พ่อแม่โพสต์เองด้วยนะ บางทีเขาก็เห็นเป็นเรื่องตลกว่า ลูกกรี๊ดอีกแล้ว

อย่างเคสตัวละครไออุ่น มีการเลือกใช้คำว่า gender creative แทนที่จะเป็นคำอื่น เพราะอะไรถึงมาลงตัวที่คำนี้

ที่จริงเราเลือกและพูดถึงกันอยู่หลายคำ เช่น gender fluid เพื่อนพี่ที่เป็นนักจิตวิทยาที่แคนาดาเป็นคนเสนอคำว่า gender creative เพราะเป็นคำที่มีนักจิตวิทยาใช้ แต่ยังไม่ได้แพร่หลาย ที่ชอบเพราะรู้สึกว่าความหมายมันเป็นบวก เพราะตอนนี้โลกเราไม่ได้มีแค่ LGBT บางครั้งเด็กอาจจะเป็นเลือกที่จะสร้างสรรค์เพศของตัวเองขึ้นมา แล้วเราชอบคำว่าความหลากหลายทางเพศในภาษาไทย แล้วภาษาอังกฤษมันควรจะเป็นคำไหนดี แล้วก็มาชอบที่คำนี้

มีประเด็นอะไรที่เคยเลือกเข้ามาในเรื่องแต่ตกรอบหรือต้องเอาออกไปก่อน

เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะว่ามันหนักมากเกินไป แล้วก็เรื่องยาเสพติด มันมีรายละเอียดเยอะขนาดที่ถ้าจะทำคงต้องทำแยกไปอีกเรื่อง

ขอบคุณรูปจากละครเรื่องวัยแสบสาแหรกขาด

กลับมาที่เรื่องเด็กติดเกม เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าอาการติดเกมจะถึงขนาดต้องส่งตัวบำบัด ซึ่งมันมีเคสนี้จริงๆ ใช่ไหม

พี่เคยดูข่าวเป็นวัยรุ่นจีนอายุประมาณ 18-19 ปี นั่งเล่นทั้งวันทั้งคืน เล่นมานานจนครอบครัวไล่ออกจากบ้าน แล้วเขาไปประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พ่อแม่รู้ข่าวก็บอกว่า เด็กคนนี้สมควรตายแล้ว คือครอบครัวไม่ไหวแล้ว เราก็มาคิดดูว่าก่อนที่เขาจะไปถึงขั้นนั้นได้ เขาต้องดำดิ่งแค่ไหน มันคงไม่ได้แค่ชอบเล่นเกมธรรมดาแล้ว

ประกอบกับช่วงนั้นองค์การอนามัยโลกก็ออกมายืนยันอาการติดเกมมันคือความป่วยอย่างหนึ่งนะ เขาใช้คำว่า symptoms แล้วก็บอกว่าอาการจะเป็นอย่างนี้ๆ เราก็ลองเอามาค้นข้อมูล ก็เจอว่าที่เมืองไทยมีคุณหมอชื่ออาจารย์ชาญวิทย์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เราก็ไปขอสัมภาษณ์ แกก็เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมาก แล้วคุณหมอก็ใจดีมาก ท่านให้ข้อมูลและก็ช่วยดูบทของพาร์ตนี้ให้ทั้งเรื่อง แล้วท่านก็ช่วยปรับช่วยแก้ไข เพราะฉะนั้นในพาร์ตนี้มันเลยมีความแปลกใหม่ และไม่มีใครต่อต้าน

ตอนแรกเรากลัวมากกว่าถ้านำเสนอเรื่องนี้แล้ว ถ้าทำให้เกมเมอร์หัวร้อนขึ้นมา ละครของเรามันจะเนกาทีฟทันที เขาจะคิดว่าเราเว่อร์ หรือทำให้สังคมเข้าใจเขาผิด แต่ปรากฏว่าไม่เลย ด้วยเนื้อหาที่มันเคลียร์ เด็กที่เล่นเกมเขาดูแล้วเขายังบอกกับพ่อแม่ได้ว่าเขาไม่ได้มีอาการติดเกมนะ

สถานที่บำบัดเด็กที่มีปัญหาอย่างในละครมีจริงไหม

มีจริงๆ ค่ะ คือสาขาจิตวิทยาที่ศิริราชค่ะ ไม่น่าเชื่อใช่ไหม (หัวเราะ) มันมีฉากนึงในเรื่องที่มีคนพูดถึงกันมาก คือตอนที่คุณหมอเขามาพูดเรื่องสถิติต่างๆ ให้บุ๊กฟัง เพราะว่าเราได้ข้อมูลมาว่าการพูดกับเด็กในเคสนี้ เขาเป็นเด็กที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการแข่งขัน มีตัวเลข มีการวัดผล เราจะไป Abstrack ใส่เขาไม่ได้ อย่างในเรื่องที่คุณหมอพูดเรื่องข้อมูลตัวเลข เด็กก็จะสนใจฟัง ซึ่งวิธีกับไดอะล็อกที่เราใช้ในเรื่องคือคุณหมอเขาทำอย่างนี้จริงๆ

“บางทีเด็กที่เรามองว่าเขาไม่มีปัญหา เขาอาจจะมีอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ก็ได้ ผู้ใหญ่บางคนพอเห็นว่าลูกเรียนเก่งก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว แต่ที่จริงมันไม่ใช่ ก็เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ในซีซั่นสอง”

ตอนทำซีซั่นแรก เราตั้งใจว่าจะมีการทำซีซั่นสองเกิดขึ้นไหม

ไม่เลยค่ะ (หัวเราะ) แต่ทีนี้ผู้ใหญ่ท่านใช้คำว่า ในเมื่อเราสร้างนวัตกรรมเอาไว้แล้ว เราก็ควรทำซ้ำหรือทำต่ออีกสักครั้ง แล้วพอดีมันเป็นช่วงที่พี่ไปสนใจประเด็นที่ว่า บางทีเด็กที่เรามองว่าเขาไม่มีปัญหา เขาอาจจะมีอะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ก็ได้ ผู้ใหญ่บางคนพอเห็นว่าลูกเรียนเก่งก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว แต่ที่จริงมันไม่ใช่ ก็เลยเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ในซีซั่นสอง

พอลงมือทำซีซั่นสองแล้ว คิดว่าปัญหาไหนหนักหรือน่าเป็นห่วงที่สุด

พี่ว่าทุกเรื่องมันก็หนักในแบบของมัน เอาเป็นว่า เรื่องที่เรารู้สึกแปลกใหม่และสนใจมากที่สุดคือเรื่องออทิสซึ่ม เพราะว่าเด็กออทิสซึ่มเขาไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาโอเคกับตัวเขา คนอื่นต่างหากที่มีปัญหา เคสนี้มันเลยเป็นการคุยกับคนรอบข้างเพื่อให้เข้าใจเขามากกว่า เพราะปัญหาของเด็กออทิสซึ่มจะเกิดเพราะคนรอบข้างไม่เข้าใจ

KNut_8

ในเรื่องที่มีพูดถึงโรงเรียนสาธิตเกษตรว่าเป็นต้นแบบเรื่องการรับเด็กพิเศษเข้าเรียน

ใช่ค่ะ ทุกอย่างเหมือนในละครเลย ที่โรงเรียนเขาก็ไม่ได้คิดจะรับยังไงก็ได้ เขาต้องรับในจำนวนที่คุณครูผู้ช่วยจะตามประกบได้

ความคาดหวังจากการทำละครที่คนมองว่าไม่ใช่ละครตลาด

คือพี่สนใจการเปลี่ยนผ่านและการล่มสลาย ที่คนเขาบอกว่า mass market มันจะเริ่มฉีกเป็น niche market มากขึ้น เราต้องเลือกว่าเราอยากจะพูดหรือสื่อสารกับใคร พี่ก็เลยถือว่านี่คืองานทดลองของพี่ ว่าถ้าเราลองได้สื่อสารกับกลุ่มที่ทางการตลาดเขามองว่ามันมีพาวเวอร์ ในเมื่อเราเลือกกลุ่มเป้าหมายแล้วว่า เราจะคุยกับใคร อาชีพอะไร อยู่ที่ไหน แล้วสิ่งที่ได้กลับมามันตรงโจทย์ไหม

และสิ่งที่สังเกตก็คือเรื่องนี้มันอาจจะไม่แมส แต่ฟีดแบ็กที่กลับมาถึงเรา ข้อความที่ส่งมาทางอินบ็อกซ์มันกลับเยอะมาก เป็นทั้งพ่อแม่ หรือตัวเด็กเอง แล้วมันก็เป็นกลุ่มคนที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้รับ เช่น มีผู้บริหารโรงเรียนจริงๆ ส่งข้อความมาบอกว่าเขาก็เจอสถานการณ์แบบนี้เหมือนกัน พ่อแม่บอกว่าขอบคุณที่ทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น พอได้เห็นผลลัพธ์แบบนี้ เราก็รู้สึกได้ว่ามันมาถูกทางแล้ว

 

 

สัมภาษณ์วันที่ 17 เมษายน 2562

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST