READING

INTERVIEW: เมื่อโลกของเด็กไม่ได้มีแค่ความสุข ̵...

INTERVIEW: เมื่อโลกของเด็กไม่ได้มีแค่ความสุข – คุยกับน้องญา ปราชญา เด็กสาวผู้เดินหน้าปัญหาโรคจิตเวชในเด็ก

ปัจจุบันมีสถิติจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่าในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน (ที่มา) ในขณะที่ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 300 ล้านคน  ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก และแน่นอนว่านอกจากโรคซึมเศร้าแล้ว ยังมีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คนส่วนมากอาจคิดว่าโรคทางจิตเวชมักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่สิ่งที่หลายคนมองข้ามก็คือ ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต แต่ยังมี ‘เด็ก’ ที่ต้องเจอกับปัญหานี้เป็นจำนวนไม่น้อย และแน่นอนว่าพวกเขาก็ควรมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาและรักษาตัวเองด้วยเช่นกัน

วันนี้เรามีนัดกับ น้องญา—ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เด็กสาววัย 14 ปี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและเป้าหมายอันแน่วแน่ที่จะเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก โดยหวังที่จะให้สังคมได้เข้าใจว่าโรคทางจิตเวชไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น

 โดยก่อนหน้านี้น้องญาได้เดินหน้าเรียกร้องให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอมหรือไปด้วยกัน

แม้เราจะเห็นน้องญาพูดถึงเรื่องนี้ผ่านสื่อมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ทันทีที่เราเริ่มต้นคำถาม เธอก็พร้อมที่จะเล่าทุกเรื่องราวที่พบเจอและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้เราได้ฟังและรับรู้ถึงสิ่งที่เด็กผู้หญิงอย่างเธอกำลังพยายามบอกกับผู้ใหญ่ทุกคนได้เป็นอย่างดี

เริ่มสนใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชเมื่อไหร่ เพราะอะไร และทำไมถึงคิดว่าควรทำอะไรกับเรื่องนี้

 

ญาเริ่มทำมาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วค่ะ ญามีเพื่อนที่เป็นซึมเศร้าตอนอยู่ชั้น ป.2-ป.3 คือ ตอนแรกเราไม่รู้จักว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าได้ยังไง แต่ว่าเราเห็นว่าเขาชอบไปเสิร์ชในกูเกิ้ลว่าต้องฆ่าตัวตายยังไงถึงจะไม่เจ็บ หรือทำยังไงให้หายเครียด แต่กลายเป็นว่าเขาไปเจอคนที่เป็นซึมเศร้าเหมือนกัน แนะนำชวนกันไปกรีดข้อมือ เราเลยเริ่มสงสัยว่าทำไมเขาต้องกรีดข้อมือ ทำไมเขาต้องทำแบบนี้ เพราะว่าเราถูกสอนว่าควรทำร้ายตัวเอง ญาเลยเริ่มศึกษาว่าที่เขาเป็นแบบนี้คือปกติ หรือเขากำลังเป็นโรคอะไรหรือเปล่า เลยเริ่มรู้จักว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของอาการโรคซึมเศร้า

พอเริ่มสนใจด้านนี้ คุณแม่มีปฏิกิริยาอย่างไร

 

ตอนแรกคุณแม่ก็งงว่าทำไมเราถึงสนใจเรื่องนี้ เพราะปกติแล้วเราจะสนใจพวกงานจิตอาสาเพื่อเด็ก แต่เรื่องสุขภาพจิตคุณแม่รู้สึกว่ามันยังไกลตัวเราอยู่ ญาก็เลยยกตัวอย่างเคสเพื่อนตอนนั้นให้คุณแม่ฟังว่าเพื่อนหนูเป็นแบบนี้แม่จำได้ไหม เหมือนเราพยายามทำให้แม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว แม่ก็เลยสนับสนุนเรา

“ตอนนั้นเราหาคนคุยเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าพ่อแม่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เราก็ต้องเริ่มปรับพ่อแม่เราก่อน และยิ่งเป็นพ่อแม่เพื่อนก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ พอไปปรึกษาครู ครูก็บอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเด็กอย่างเรา ก็ท้อมาก แต่เรามีเพื่อนที่ทำร้ายตัวเองจริงๆ เลยรู้สึกว่าเราต้องพาเขาไปรักษา”

ถ้าเทียบตอนนั้นกับตอนนี้ ข้อมูลหรือความรู้ทางจิตเวชที่เรามีต่างกันเยอะไหม

 

เยอะค่ะ ตอนนั้นเราหาคนคุยเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าพ่อแม่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เราก็ต้องเริ่มปรับพ่อแม่เราก่อน และยิ่งเป็นพ่อแม่เพื่อนก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ พอไปปรึกษาครู ครูก็บอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเด็กอย่างเรา ก็ท้อมาก แต่เรามีเพื่อนที่ทำร้ายตัวเองจริงๆ เลยรู้สึกว่าเราต้องพาเขาไปรักษา แต่หลังจากพาเขาไปรักษาสำเร็จ เราก็ไม่ได้ทำต่อ เพราะไม่มีใครเข้าใจเราเลย ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทำต่อยังไง ก็เลยพักไปหลายปี และเพิ่งกลับมาทำเมื่อ 1-2 ปีที่แล้วค่ะ

มีบางครอบครัวที่คิดว่าทำไมเราถึงต้องไปเล่าหรือระบายเรื่องส่วนตัวให้จิตแพทย์ฟัง แทนที่จะเล่าให้คนในครอบครัวฟัง น้องญามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

 

เด็กส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากจะโกหกหรอกค่ะ ถ้าคุยแล้วพ่อแม่เข้าใจ เด็กก็อยากคุย แต่ประเด็นคือพอคุยแล้วเขาไม่เข้าใจเรานี่สิ เลยทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาคุยกับพ่อแม่ไม่ได้

ซึ่งมันอาจมาจากการเลี้ยงดูตอนเด็กๆ เช่น ส่วนใหญ่พ่อแม่จะไม่ค่อยชมลูก หรือว่าเวลาลูกทำดีก็จะเล่นน้อย แต่พอทำผิดก็จะเล่นใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าเขารู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องไม่ดี และถ้าบอกพ่อแม่จะต้องเล่นใหญ่ใส่เราแน่ๆ เด็กส่วนมากก็เลยไม่กล้าคุยกับพ่อแม่ค่ะ

ดังนั้นถ้ามีใครพยายามบอกว่า ครอบครัวคือเซฟโซนของเด็กทุกคน…

 

คือครอบครัวมันควรจะเป็นเซฟโซนนะคะ แต่มันอาจจะไม่ใช่สำหรับเด็กทุกคนตอนนี้การทำงานเรา คือการมาคุยกันว่าสิ่งที่เด็กอยากได้คืออะไร แล้วสรุปก็คือเขาอยากได้ครอบครัวที่เป็นพื้นฐานทำให้เขาแข็งแกร่งได้ แต่ว่าพอมาหาทางทำ มันก็ยากมากที่จะทำให้ทุกครอบครัวเข้าใจ

ที่จริงญามองว่า อนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของเราอาจจะดีกว่านี้ เพราะญาไปอ่านในกรุ๊ปแม่ลูกอ่อนแม่มือใหม่ เขาสนใจว่าจะเลี้ยงลูกยังไงนะ จนตอนนี้บางครอบครัวก็ไม่ตีลูกแล้วเพราะกลัวว่าลูกจะเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าครอบครัวรุ่นใหม่เริ่มปรับมันก็คงเป็นไปได้ แต่ว่าปัญหาก็จะอยู่ในครอบครัวสมัยนี้ที่เราคงจะปรับเขายาก

สิ่งที่ญาตั้งใจและอยากทำ เริ่มต้นอย่างไร

 

เราไปยื่นหนังสือให้กรมสุขภาพจิต และคุยกับรองอธิบดี เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจัดการให้นะ แต่หลังจากนั้นหนึ่งปีก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เราเลยไปคุยกับเขาใหม่ว่าเรามีข้อเสนอแนะแบบนี้ เขาจะช่วยอะไรได้มากน้อยขนาดไหน ปีต่อมาก็เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น

บอกก่อนว่าที่เราทำ เราไม่ได้เสนอให้แก้กฏหมาย แต่ว่าเรามาอ่านกฏหมายแล้วถึงได้รู้ว่า กฎหมายอนุญาตแค่กรณีที่ปรึกษาพูดคุย แต่หากต้องแอดมิตจะต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย ถ้าไม่มีหมอก็ปฏิเสธ เพราะว่ากลัวจะโดนฟ้อง หมอก็ไม่กล้ารักษา สิ่งที่เราขอเขาก็คือขอให้ช่วยทำหนังสือหรืออะไรที่เป็นการตอกย้ำให้จิตแพทย์มั่นใจว่าสามารถให้คำปรึกษากับเด็กได้นะ

ส่วนหลักสูตรกับอบรมครู กระทรวงสาธารณสุขก็อยากจะทำบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงศึกษาฯ คือในสองปีที่ผ่านมาเราทำกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าในปีหน้าก็คงต้องทำกับกระทรวงศึกษาฯ เราก็ต้องทำให้ผู้ใหญ่ในนั้นเข้าใจเหมือนกับกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกันค่ะ

“ตอนนี้เด็กสามารถปรึกษากับจิตแพทย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง แต่หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนที่คุณหมอคุยกับพ่อแม่เพื่อเซ็นรับยา เพราะว่าคุณหมอให้คำปรึกษาและประเมินอาการได้ ถ้าเห็นว่าเด็กมีอาการรุนแรงก็สามารถเขียนได้เลยว่าคนไข้จำเป็นต้องได้รับยาทันที หรือถ้าไม่รุนแรงมากคุณหมอก็สามารถคุยกับผู้ปกครองเพื่ออธิบายให้เข้าใจได้”

โปรเจ็กต์ล่าสุดที่น้องญา เสนอไป 3 ข้อ อย่างแก้ พรบ.ให้เด็กสามารถเข้าเจอจิตแพทย์โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครอง สอนวิชาจัดการอารมณ์ และอบรมครูให้เข้าใจเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

 

ตอนนี้เด็กสามารถปรึกษากับจิตแพทย์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง แต่หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนที่คุณหมอคุยกับพ่อแม่เพื่อเซ็นรับยา เพราะว่าคุณหมอให้คำปรึกษาและประเมินอาการได้ ถ้าเห็นว่าเด็กมีอาการรุนแรงก็สามารถเขียนได้เลยว่าคนไข้จำเป็นต้องได้รับยาทันที หรือถ้าไม่รุนแรงมากคุณหมอก็สามารถคุยกับผู้ปกครองเพื่ออธิบายให้เข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน เด็กจะถูกปิดกั้นไม่ให้พบคุณหมอและหมอก็จะไม่สามารถประเมินอาการได้

แต่จริงๆ แล้วเราไม่อยากให้เด็กใช้ยาด้วยซ้ำ เราอยากให้จิตแพทย์ส่งเด็กต่อไปให้นักจิตบำบัด เพราะว่านักจิตบำบัดไม่ได้มีหน้าที่ให้ยา แต่เขาจะบำบัด ชวนคุย และดึงจิตใต้สำนึกออกมา แต่ปัญหาก็คือเรามีนักจิตบำบัดน้อยกว่าจิตแพทย์อีกค่ะ

จิตแพทย์กับนักจิตบำบัดต่างกันอย่างไร

 

จิตแพทย์ก็เหมือนเราไปหาหมอ แล้วบอกหมอว่าอาการเป็นยังไง แล้วหมอก็สั่งยาให้เรา แต่นักจิตบำบัด เขาจะรักษาด้วยการบำบัด พูดคุย ถ้าอาการไม่หนักมาก บางคนก็สามารถหายได้เพราะนักจิตบำบัดเลย

แล้ววิชาจัดการอารมณ์ ทำไมถึงอยากให้มีวิชานี้ในโรงเรียน

 

วิชานี้จริงๆ แล้วมีหลายประเทศที่มีตัวเลขสถิติฆ่าตัวตายสูงๆ อย่างญี่ปุ่น คือมีการฆ่าตัวตายเยอะมากเลยต้องเอาวิชานี้มาลง ที่ญาทำวิชานี้ เพราะญาไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้น เราไม่อยากให้มีนักเรียนฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก ก็เลยมีวิชานี้ขึ้นมา

เราวางแพลนไว้ว่าจะสอนตั้งแต่เรื่องอารมณ์ เรื่องโรคซึมเศร้าพื้นฐาน การสังเกตตัวเอง แล้วก็ใส่ค่านิยมลงไปด้วยว่าโรคซึมเศร้าเหมือนแค่เป็นหวัดนะ ถ้าสมมติเรารักษาตั้งแต่เริ่มต้น ร้อยทั้งร้อยหายแน่ แต่ไม่ใช่ปล่อยเลยจนเป็นหนักมันจะทำให้รักษาหายช้าขึ้น ฉะนั้นถ้าเรารู้ตัวไวก็จะหายไว

การจัดการอารมณ์เนี้ยก็เหมือนกับถ้ามีใครมาว่าเรา หรือบูลลี่เรา เด็กหลายคนก็จะรู้สึกไม่ดี วิชานี้เลยเป็นการทำให้เด็กได้รู้จักจัดการอารมณ์ว่าเราควรทำอย่างไร เราควรจะเก็บเอาไว้ ปล่อยมันไป หรือพูดกับใครหรือเปล่า

ซึ่งแน่นอนว่าเราก็คงต้องสร้างหลักสูตรที่ดี และสร้างครูที่ดีมาสอนหลักสูตรอันนี้ด้วย ต้องเป็นครูที่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ ต้องเป็นครูที่เรียนหลักสูตรจากตรงนี้มาโดยตรง

นอกจากเรื่องโรคซึมเศร้า มีปัญหาทางด้านจิตเวชอื่นๆ ที่เด็กๆ ควรได้รับการช่วยเหลืออีกไหม

 

ก็มีซึมเศร้า ไบโพลาร์ PTSD (Post-traumatic stress disorder)  หรือโฟเบีย (phobia) ก็เยอะ อันนี้เป็นสี่อันดับแรกๆ แต่ถ้าพูดถึงเด็กเล็กก็จะมีพวกอาการสมาธิสั้น คิดเลขพลาด บางคนก็เป็นไบโพลาร์แต่เด็กเลย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เพราะบางทีโรคทางจิตเวชก็มากับพันธุกรรมได้

“ถ้าเราอ่านจริงๆ มันเป็นสิ่งที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก แค่ยังไม่มีใครพูดถึงว่าจริงๆ แล้วเด็กต้องการอะไร พอญามาทำตรงนี้สังคมก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้น ว่าเด็กก็เป็นได้เหมือนกันนะ จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ที่เป็นซึมเศร้าก็อาจจะมาจากเด็ก เด็กที่เป็นซึมเศร้าก็มาจากตอนที่เด็กกว่านั้น”

สิ่งที่ทำตอนนี้ขับเคลื่อนสังคมให้เข้าใจเรื่องจิตเวชกับเด็กมากขึ้นไหม อย่างไรบ้าง

 

อย่างแรกก็คือสังคมเริ่มตระหนักถึง อย่างที่สองคือคนที่ทำงานด้านนี้ ก็เริ่มคิดว่าจริงๆ แล้วเรื่องเด็กก็สำคัญและควรจะขับเคลื่อนไปด้วย

จริงๆ แล้วมีคนไม่เยอะที่จะมาขับเคลื่อนเรื่องโรคซึมเศร้า อย่างพี่ทราย เจริญปุระ ก็ขับเคลื่อนมานาน นานมากเลย แต่เหมือนเขาทำอยู่คนเดียว คนอื่นก็มีบ้างแต่ไม่เยอะ และส่วนมากก็จะเป็นการพูดถึงโรคซึมเศร้าในเชิงผู้ใหญ่ด้วย

 แต่ถ้าเราอ่านจริงๆ มันเป็นสิ่งที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก แค่ยังไม่มีใครพูดถึงว่าจริงๆ แล้วเด็กต้องการอะไร พอญามาทำตรงนี้สังคมก็เริ่มตื่นตัวมากขึ้นว่าเด็กก็เป็นได้เหมือนกันนะ จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ที่เป็นซึมเศร้าก็อาจจะมาจากเด็ก เด็กที่เป็นซึมเศร้าก็มาจากตอนที่เด็กกว่านั้น

คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชมีอัตราเพิ่มสูงมากขึ้น และเกิดกับเด็กเยอะมากขึ้น

 

อย่างแรกก็คือสังคมเริ่มตระหนักถึง อย่างที่สองคือคนที่ทำงานด้านนี้ ก็เริ่มคิดว่าจริงๆ แล้วเรื่องเด็กก็สำคัญและควรจะขับเคลื่อนไปด้วย เพราะโรคซึมเศร้าพื้นฐานมันมาจากความเครียด และความเครียดมันก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน และญาคิดว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่พอมีคนพูดขึ้นมา คนอื่นถึงจะเริ่มสงสัยว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า เลยเลือกที่จะไปหาหมอมากขึ้น อีกอย่างคือเขารู้สึกว่าเขาเป็น แต่ไม่สามารถคุยกับใครได้ แม้กระทั่งกับครอบครัว เริ่มรู้สึกว่าคนไม่ต้องการเขา ไม่ใส่ใจเขา

“ที่เราอยากเปิดทางให้เด็กเข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่ายขึ้น เพราะเราอยากให้สังคมรู้สึกว่าการไปเจอจิตแพทย์เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเป็นหวัดก็ไปหาหมอ แต่ก็ไม่ถึงกับอยากให้เครียดนิดๆ หน่อยๆ ก็ไปหาจิตแพทย์ เราก็ยังต้องการให้เขาเยียวยาตัวเอง หรือมีคนรอบข้างที่ช่วยเยียวยาเขาได้”

คนไปพบจิตแพทย์อาจไม่ใช่เพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะต้องการที่ปรึกษาด้วยหรือเปล่า

 

ที่เราอยากเปิดทางให้เด็กเข้าถึงจิตแพทย์ได้ง่ายขึ้น เพราะเราอยากให้สังคมรู้สึกว่าการไปเจอจิตแพทย์เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเป็นหวัดก็ไปหาหมอ แต่ก็ไม่ถึงกับอยากให้เครียดนิดๆ หน่อยๆ ก็ไปหาจิตแพทย์

เราก็ยังต้องการให้เขาเยียวยาตัวเอง หรือมีคนรอบข้างที่ช่วยเยียวยาเขาได้ได้ เพราะถ้าทุกคนที่เครียดแล้วต้องไปหาจิตแพทย์ ต่อไปจิตแพทย์ก็จะเจอคนไข้เยอะขึ้น แล้วคนที่เป็นจริงๆ จะมีเวลาคุยกับหมอได้น้อยลง

เราก็เลยไม่ได้อยากให้เด็กรีบไปพบจิตแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องการให้เด็กได้รู้ตัวว่าเขากำลังป่วยจริงหรือเปล่า และครูก็ควรช่วยสแกนอีกขั้นหนึ่งว่าเด็กป่วยหรือไม่ป่วย ซึ่งถ้าเด็กป่วยจริงครูก็ต้องมีความรู้พอที่จะส่งต่อเด็กไปหาจิตแพทย์ และช่วยเหลือเด็กได้

สมมติสุดท้ายถ้าสิ่งที่เรียกร้องไม่สำเร็จ คิดว่าจะทำอะไรต่อไป

 

ถ้าสมมติว่าเราไม่สามารถทำให้ราชการเข้าใจได้จริงๆ เราก็คงต้องขับเคลื่อนด้วยวิธีอื่น เช่น อาจทำแคมเปญอะไรบางอย่าง ที่ผ่านมาก็จะมี ‘การศึกษาฆ่าฉัน’ เป็นโครงการที่รุ่นพี่ของญาทำ คืออยากให้ทุกคนเห็นว่าการศึกษาก็ทำร้ายเด็กได้นะ เราอาจจะทำแบบนั้นเพื่อให้สังคมสนใจและเข้าใจเรามากขึ้น และเราอาจจะไปทำกับหน่วยงานที่เข้าใจ เช่น ยูนิเซฟ ซึ่งเขาจะมีหน่วยงานที่สนใจทำเรื่องนี้อยู่


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST