READING

คุยกับเจลดา ภูพนานุสรณ์—หญิงสาวนักเล่าและนักแต่งนิ...

คุยกับเจลดา ภูพนานุสรณ์—หญิงสาวนักเล่าและนักแต่งนิทานที่ใช้การทำงานกับเด็กชุบชูชีวิตตัวเอง

เราเดินทางมาที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัยตอนสายของวันพุธ วันที่เด็กหลายคนอาจจะกำลังใช้เวลาเล่นสนุกอยู่ในโรงเรียน แต่ก็ยังมีเด็กๆ ก่อนวัยเรียนบางคนที่คุณพ่อคุณแม่พามาใช้เวลาอยู่ที่ห้องสมุดแห่งนี้

เพราะวันนี้ที่นี่มีกิจกรรมเล่านิทาน และเราก็นัดแนะกับ เจ—เจลดา ภูพนานุสรณ์ หญิงสาวผู้รับหน้าที่เป็นนักเล่านิทานและชวนเด็กๆ ร้อง เต้น และเล่นสนุกด้วยกันก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะพาเด็กๆ แยกย้ายกันไปหยิบจับหนังสือในห้องสมุดกันตามอัธยาศัย

ก่อนหน้านี้ M.O.M เคยมีคอลัมน์ Kids Story เห็นชื่ออย่างนี้ แต่ความจริงแล้วเป็นนิทานเพื่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่มากกว่า หากคนที่ติดตามกันมานาน อาจจะเคยเห็นฝีมือการแต่งเรื่องและวาดภาพประกอบที่สวยงามของเจลดาคนนี้มาแล้ว

ถึงแม้จะหยุดพักการเขียนคอลัมน์ประจำให้เรามาได้สักพัก เราพบว่าเจลดาก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการทำงานนิทานเด็กและการเล่าเรื่องอย่างที่เธอชอบ สมกับการเป็นบัณฑิตจากคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาวิชาวรรณกรรมเด็ก เสียเหลือเกิน

ความสนุกของการเล่านิทาน สาขาที่เรียน หนังสืออ่านเล่น และเด็กๆ มีความสำคัญกับชีวิตของเธออย่างไร เราจะชวนให้เธอเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง

ก่อนอื่น อยากทราบว่าทำไมถึงเลือกเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก

สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก แค่ชื่อบางคนอาจรู้สึกว่าสาขานี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบวาด ชอบเขียน ชอบอ่าน แต่จริงๆ เจเรียนสายวิทย์-คณิต ไม่เคยอ่านหนังสือนอกเวลามาก่อน เพราะเป็นเด็กที่อยู่ในขนบมาก คือตั้งใจเรียนและอ่านแต่หนังสือสอบ

ลึกๆ เราชอบศิลปะ แต่เราไม่ได้เลือกเรียนสายศิลป์ พอจะเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยตั้งเป้าจะเข้าอะไรที่มีความเป็นศิลปะ แต่ก็ไม่ได้อยากวาดรูปเก่งถึงขนาดต้องดรออิ้งสวยๆ มันก็ไม่ใช่ตัวเรา เราอยากทำการ์ตูน อยากวาดการ์ตูน พอมาเห็นชื่อสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ก็คิดว่าดูเหมาะกับเราเลยตัดสินใจสอบตรงเข้ามา

จากคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือนอกเวลามาก่อน กลายเป็นคนที่รักการอ่านมากๆ เราย้อนกลับไปคิดเลยนะว่าโตได้มายังไง ทำไมถึงไม่รู้ว่าการอ่านหนังสือมันดี

การเรียนวรรณกรรมเด็กให้อะไรเราบ้าง

มันเปิดโลกเรามาก และทำให้เราเริ่มเป็นหนอนหนังสือที่แท้จริง ความโชคดีของการเรียนสาขานี้ คือเรามีหนังสือเรียนเป็นหนังสือวรรณกรรมและหนังสือนิทาน ได้เรียนรู้ว่าองค์ประกอบหนังสือเป็นยังไง จัดหน้ายังไง ได้วิเคราะห์เนื้อเรื่อง หนังสือทุกเล่มมีข้อคิดในตัวเองอยู่แล้ว มันมีสิ่งที่คนแต่งต้องการสื่อ นั่นหมายความว่าการอ่านหนังสือเพื่อเรียนของเรา มันได้สองต่อ จากคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือนอกเวลามาก่อน กลายเป็นคนที่รักการอ่านมากๆ เราย้อนกลับไปคิดเลยนะว่าโตได้มายังไง ทำไมถึงไม่รู้ว่าการอ่านหนังสือมันดี (หัวเราะ)

มีวิชาหรือโปรเจ็กต์อะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษไหม

วิชาที่รู้สึกว่าน่าสนใจและไม่คิดว่าจะได้เรียนในสาขานี้คือวิชาการละคร และวิชาการเล่านิทาน

อย่างวิชาการละคร ก็จะมีการสุ่มให้อ่านวรรณกรรมสั้นๆ ให้นั่งอ่านกับตัวเอง แล้วค่อยมาอ่านให้เพื่อนฟังในอินเนอร์นั้น จำได้ว่าเป็นวิชาที่ทำให้เจเข้าใจเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะตอนนั้นจับฉลากได้อ่านเรื่องที่ดาร์กมาก เราอ่านแล้วก็ต้อง hold อารมณ์ไว้ กลัวว่าระหว่างฟังเรื่องของเพื่อนแล้วจะคล้อยตาม แล้วจะทำของตัวเองได้ไม่ดี

จนมีเพื่อนคนหนึ่งเขาออกมาอ่านเรื่องที่สดใสมาก เสียงอ่านเขาก็ดี มันดูเป็นเรื่องที่เหมาะกับเรามาก แต่ในใจเราเหมือนมีอะไรมากั้นไว้ไม่ให้รู้สึกสดใสตามเรื่องนั้น เราก็เลยเข้าใจ จากที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้สึกกับตัวเองจริงๆ ตอนนั้นก็เลยคิดว่าพลังที่ได้จากการอ่านหนังสือมันทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้

ส่วนวิชาการเล่านิทาน ที่ชอบเพราะว่าได้ลงมือทำจริง คือจับกลุ่มกับเพื่อน 2-3 คน หาหนังสือมาหนึ่งเล่ม แล้วพยายามสร้างสรรค์วิธีการเล่าที่มากกว่าการเปิดหนังสือเล่า ตอนนั้นกลุ่มเราเลือกหนังสือภาษาอังกฤษที่เนื้อหาเกี่ยวกับสวนสัตว์ เนื้อเรื่องคือเด็กจับนกมาใส่กรงแล้วพ่อพาไปเที่ยวสวนสัตว์ วิธีการเล่าของกลุ่มเราคือให้เพื่อนเล่นไวโอลิน ส่วนเจเป็นคนเล่าเรื่อง พอเนื้อเรื่องพาเด็กไปเห็นสัตว์ต่างๆ ไวโอลินก็เล่นดนตรีสนุกๆ พอเด็กเริ่มรู้ว่าสัตว์เหล่านั้นถูกจับมาขังและไม่ได้กลับบ้าน ตรงนี้ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นดนตรีเศร้า วิชานี้สนุกมาก คือมีนักศึกษาประมาณ 30 คน ก็จะมีนิทานประมาณ 15 เรื่อง บางเรื่องก็เล่าเล่าไปด้วยวาดรูปไปด้วย มีรุ่นพี่ใช้วิธีร้องเพลงฉ่อย มันทำให้เรารู้ว่าวิธีการใช้หนังสือเล่มหนึ่งมันมีความหลากหลายมากๆ ไม่ใช่แค่เปิดแล้วอ่านให้ฟังอย่างที่เคยเข้าใจ

แล้วเราต้องเรียนจิตวิทยาเด็กด้วย  แต่เป็นขั้นพื้นฐาน มีอาจารย์หมอมาสอน ให้ความรู้พื้นฐานลำดับขั้นและพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย รวมถึงเรียนรู้ความต้องการของกลุ่มเด็กพิเศษต่างๆ

ชีวิตจริง เราไม่ได้ทำข้อสอบตลอดเวลา หนังสือที่สอนการมีชีวิตบนโลก การมีปฏิสัมพันธ์กับคน ทักษะหลายอย่างมันได้จากการอ่านหนังสือนอกเวลานี้แหละ

บางคนมองว่าหนังสือนิทานเด็กไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องให้อ่าน ในขณะที่เจใช้เป็นหนังสือเรียนได้ คิดว่าอะไรในหนังสือเด็กที่คนทั่วไปมองข้าม

ตอนมัธยมเราก็คิดแบบนั้นแหละ อ่านทำไมหนังสืออ่านเล่นเล่มละสองร้อยสามร้อยบาท  เอาไปซื้อหนังสือเรียนมาอ่านสอบสิเห็นผลกว่า แต่ว่าในชีวิตจริง เราไม่ได้ทำข้อสอบตลอดเวลา หนังสือที่สอนการมีชีวิตบนโลก การมีปฏิสัมพันธ์กับคน ทักษะหลายอย่างมันได้จากการอ่านหนังสือนอกเวลานี้แหละ

เจรู้สึกว่ามันคือการเรียนรู้ที่ช็อตคัตที่สุดแล้ว เพราะกว่าคนจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งออกมาได้ เขาต้องกลั่นชีวิตและประสบการณ์ตัวเองออกมา แต่เราแค่อ่านก็เหมือนได้ไปทำสิ่งนั้นมาแล้ว

แล้วมันยังมีรายละเอียดในหนังสืออีกเยอะมาก ภาษาที่นักเขียนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ภาพประกอบก็ช่วยเล่าเรื่องได้ หนังสือมันมีทั้งงานศิลป์ในเชิงภาพและภาษา

หนังสือเล่มหนึ่งพออีกวัยหนึ่งกลับมาอ่าน เราก็มองมันไม่เหมือนเดิมแล้ว เจเป็นคนชอบกลับไปอ่านซ้ำๆ ครั้งแรกเราอาจจะเข้าข้างตัวละครนี้ พอโตมากลับไปอ่านอีกรอบ อาจจะเข้าใจเหตุผลของตัวละครอื่นมากกว่า

ดูเป็นการเรียนที่สนุกและมีความสุขมาก

เจสนุกมาก ตอนเข้าไปเรียนปีแรก ลืมไปเลยว่าการเรียนต้องมีการเก็บคะแนน ลืมไปจนถึงปลายเทอม แล้วก็เป็นแบบนั้นมาตลอดสี่ปี ไม่เคยรู้สึกว่าไม่อยากไปเรียนเลย

เริ่มมาเล่านิทานห้องสมุดดรุณบรรณาลัยได้ยังไง

ที่ห้องสมุดดรุณฯ เวลามีวันสำคัญ เช่น วันพ่อ วันแม่ วันคริสเตียนแอนเดอร์สัน เขาก็จะมีจัดกิจกรรมสำหรับครอบครัว เวลามีกิจกรรมก็จะต้องการสต๊าฟ รุ่นพี่ที่คณะก็จะมาถามว่าใครอยากได้ค่าขนมหรืออยากมาช่วยงานก็ให้มาได้ ซึ่งเจก็ไป เพราะจะได้เก็บเป็นพอร์ตโฟลิโอด้วย ได้คลุกคลีกับหนังสือด้วย พอเรียนจบ รุ่นพี่เขามาโพสต์หาคนเล่านิทานภาษาอังกฤษกับภาษาไทย เจก็เลยสมัครไป แล้วก็ทำมาประมาณปีนึงแล้ว

เจจะมาเล่านิทานทุกวันพุธ เป็นนิทานภาษษอังกฤษเล่มหนึ่ง ภาษาไทยเล่มหนึ่ง ปกติที่นี่จะมีกลุ่มพ่อแม่ที่หากิจกรรมให้ลูกทำ และที่ห้องสมุดดรุณฯ มีเด็กต่างชาติเยอะ ก็เลยต้องเล่าเป็นภาษาอังกฤษด้วย เล่าเสร็จแล้วก็เต้นและเพลงหนึ่งเพลง เสร็จแล้วก็จะปล่อยให้เด็กๆ อ่านหนังสือนิทาน หรือฟังเพลงกันแบบฟรีสไตล์

มีเกณฑ์ในการเลือกหนังสือนิทานมาเล่าอย่างไร

กิจกรรมเล่านิทาน กลุ่มเป้าหมายของเราคือเด็กเล็กมาก ก็จะเป็นหนังสือสั้นๆ เน้นสอนคำศัพท์ สอนคอนเซ็ปต์ สอนเรื่องจำนวน สอนสี หรือเป็นเนื้อหาที่ใกล้ตัวเด็กๆ

แล้วถ้าพ่อแม่จะเลือกนิทานให้ลูก มีวิธีเลือกอย่างไรบ้าง

ถ้าพ่อแม่จะเลือกหนังสือให้เหมาะกับวัยลูก แทบไม่ต้องไปเสิร์ชหาหลักการอะไรมาก คิดแค่ว่าตอนนั้นลูกของเรา ควรรู้อะไรเพื่อดำรงชีวิตบ้าง เช่น เด็กทารกก็ควรจะรู้ว่าถ้าหิวต้องสื่อสารยังไง มากกว่ารู้ชื่อของสปีชีส์สัตว์ในอดีตกาล พอลูกโตเข้าโรงเรียนต้องเจอสังคม ต้องมีเพื่อน ก็อาจจะเอาเนื้อหาที่เกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับคน แล้วก็ค่อยเติมความรู้รอบตัวเข้ามา

บางทีพ่อแม่เห็นว่าหนังสือนิทานเล่มนี้น่าสนใจ แต่กลัวว่าเนื้อเรื่องอาจจะไม่ใช่สำหรับกับช่วงวัยของลูก หรือความจริงแล้วก็สามารถนำมาอ่านได้

เจว่าสุดท้ายมันอยู่ที่เราเอาหนังสือมาใช้ยังไงมากกว่า ถ้าคิดว่าหนังสือดีก็ซื้อเถอะค่ะ เพราะว่าวันหนึ่งลูกก็ต้องโตเพื่อเข้าใจสิ่งนี้อยู่ดี อย่างตอนนี้เราชอบ ก็อนุมานว่าพอเขาโตขึ้น เมื่อเขาเข้าใจ เขาอาจจะชอบก็ได้ แต่ตอนอ่านก็ไม่ต้องเคร่งเครียดว่าเด็กจะไม่โฟกัส เด็กจะไม่ชอบ มันแล้วแต่วัย และก็แล้วแต่ความชอบของเด็กแต่ละคนด้วย

ถ้าเป็นส่วนตัวเจนะ เวลาซื้อหนังสือ ก็จะซื้อให้หลากหลาย บางคนคิดว่าหนังสือเด็กก็ต้องส่งเสริมพัฒนาการ หนังสือเล่มไหนที่ไม่เขียนว่าเสริม EQ หรือ IQ ก็อย่าไปซื้อเลย ดูไม่คุ้ม หนังสือมีแต่ภาพ ไม่มีตัวหนังสือ ไม่คุ้ม หนังสือขาวดำไม่คุ้ม ต้องเป็นสีทั้งเล่มสิ แต่เจรู้สึกว่าความหลากหลายของหนังสือก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งได้

จากประสบการณ์การเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง มีนิทานแนวที่เล่าแล้ว เด็กจะชอบเป็นพิเศษ

จริงๆ ถ้าเป็นเรื่องที่ใช้คำศัพท์ง่ายๆ เด็กจะรู้สึกสนุกด้วยอยู่แล้ว ถ้าเปิดเรื่องมาแล้วเขารู้ว่ามันคืออะไร เขาก็จะมีกำลังใจที่จะอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างเด็กไทยกับหนังสือภาษาไทย ถ้าเล่าเป็นคำซ้ำ หรืออะไรที่ฟังเป็นจังหวะได้ เขาจะชอบ หรือตอนไปอ่านหนังสือไทยให้เด็กต่างชาติฟัง เขาพูดภาษาไทยได้ก็จริง แต่เขาอยู่ใน culture คนละแบบ เจเคยเล่านิทานที่เกี่ยวกับผึ้ง ซึ่งเราจะต้องซ้ำเสียงผึ้งบิน ‘หึ่ง หึ่ง’ ก็คิดว่าเด็กต้องชอบแน่ๆ เพราะเคยใช้กับเด็กไทยมาแล้ว ปรากฏว่า พอเราบอกผึ้งบินเสียงดัง หึ่ง หึ่ง’ น้องๆ ก็ขมวดคิ้วหนักมาก เขาบอกว่าผึ้งไม่ได้บินเป็นเสียง หึ่ง หึ่ง’ ต้องเป็น buzz buzz ก็เลยจบกันที่อุตส่าห์เลือกมา (หัวเราะ)

เจไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว นิทานแบบไหนที่เด็กจะชอบเป็นพิเศษ แต่คิดว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเขา เขาก็จะอยู่ฟังได้จนจบ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เรามองว่าเขาสนใจเรื่องนี้ เช่น เด็กที่ชอบกระต่ายมาก เขาอาจจะเอนจอยกับหนังสือสารคดีกระต่าย ที่มีรูปกระต่ายเยอะๆ โดยที่ไม่รู้เนื้อหาข้างในก็ได้ มันแล้วแต่คนจริงๆ

นอกจากเล่านิทานแล้ว ยังมีนิทานที่แต่งเอง (และเคยเป็นคอลัมน์ประจำใน M.O.M) อยากรู้ว่าการแต่งนิทานแต่ละเรื่องต้องเริ่มต้นอย่างไร

ตอนเขียนกับ M.O.M แรกๆ เรามักเขียนจากประสบการณ์ตรง ไปเจออะไรที่มันกระแทกใจหรืออิมแพ็กต์กับความรู้สึกเรา ก็จะเขียนออกมาได้ง่าย

แต่ตอนหลัง พอต้องเขียนทุกเดือน ก็จะอาศัยว่าช่วงนั้นมีประเด็นอะไรที่โดดเด่น เช่น ตอนที่มีม็อบแรกๆ ก็มีนิทานที่เกี่ยวกับการแสดงออกบ้าง  หรือบางทีก็ฟังสัมภาษณ์พ่อแม่ แล้วดูว่าเขาเจอปัญหาอะไรบ้าง เราก็เอาเรื่องที่น่าสนใจมาตั้งต้นก่อน แล้วค่อยเริ่มแต่งเรื่อง ส่วนตัวเจจะชอบใช้ความแฟนตาซี เพราะเราเป็นคนชอบอะไรที่เหนือจริง พอแต่งอะไรที่เหนือจริง คิดว่ามันดูน่ารัก มันดูเบี่ยงความสนใจได้ว่าเรากำลังบอกอะไรอยู่

นิทานที่เจแต่งให้ M.O.M อาจจะเหมือนนิทานเด็ก แต่ที่จริงจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับผู้ใหญ่มากกว่า เนื้อหาจะไม่มีเรื่องสอนเด็กกินข้าว กินผัก แต่จะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรทำยังไงกับลูกมากกว่า

พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องใช้คำสละสลวย หรือต้องคล้องจองเป็นกลอนก็ได้ จริงๆ แค่พ่อแม่ใช้เวลาในการเล่าและอ่านหนังสือกับลูกก็เพียงพอแล้ว

แล้วพ่อแม่สามารถแต่งนิทานมาเล่าให้ลูกฟังเองได้ไหม

ได้ค่ะ ถ้าจะเล่านิทานให้ลูกฟัง เริ่มเล่าจากเรื่องที่มาจากประสบการณ์ตรงมันจะง่าย โดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องใช้คำสละสลวย หรือต้องคล้องจองเป็นกลอนก็ได้ จริงๆ แค่พ่อแม่ใช้เวลาในการเล่าและอ่านหนังสือกับลูกก็เพียงพอแล้ว

แต่ถ้ารู้สึกว่าอยากแต่งนิทานและเอามาเล่าเพื่อสอนลูก เจคิดว่าว่าเราควรจะแต่งเรื่องให้โพสิทีฟมากกว่า เช่น ลูกเป็นเด็กที่เวลาโมโหแล้วชอบปาของ ก็ไม่อยากให้แต่งนิทานที่บอกว่าการปาของมันไม่ดีหรือทำให้เด็กรู้สึกว่าพฤติกรรมนี้มันน่ากลัว เพราะถ้านิทานบอกว่าปาของแล้วไม่ดี เขาอาจจะหยุดปาให้พ่อแม่ แต่เขาจะไม่รู้ว่าแล้วเวลาโมโหเขาต้องทำยังไง

สิ่งที่ทำได้คือชี้ให้เด็กเห็นว่ามีวิธีอื่นในการแสดงออก เจคิดว่าเราไม่ควรใช้วิธีการห้ามเพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี ถ้าต้องการที่จะแก้ไขหรือเล่าเรื่องเพื่อชี้นำลูก ก็ควรเลือกเป็นการสอนวิธีที่ดีกว่าให้เขา

ที่สำคัญคืออย่าแต่งให้เด็กเป็นตัวร้าย เวลาเราอ่านหนังสือ ตัวเราเองก็มักจะเชื่อมโยงกับตัวละครหลัก ถ้าเด็กอ่านหนังสือที่มีตัวละครหลักเป็นเด็ก เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กคนนั้น สมมติถ้านิทานที่เล่ามา มีเด็กเป็นตัวร้ายที่นิสัยไม่ดี แล้วตอนจบก็ยังนิสัยไม่ดี และจบน่ากลัวหรือเศร้ามาก มันก็อาจจะไม่ค่อยดีกับเด็กเท่าไหร่

เวลาคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ หรือบางทีแม้แต่พ่อแม่เป็นคนเล่านิทาน แต่เด็กก็อาจจะไม่สนใจ ไม่มีสมาธิ หรือห่วงที่จะเล่นอย่างอื่นมากกว่า แบบนี้เจมีวิธีรับมืออย่างไร

เจเคยไปอ่านหนังสือนิทานกับเด็กประถมในโรงเรียน ก็จะมีเด็กที่ซนหน่อย เราก็บอกเขาเลยว่าถ้าเกิดไม่ฟัง ครูจะไม่อ่านต่อแล้วนะ เด็กที่อยากฟังก็จะเตือนเพื่อนไปเรื่อยๆ หรือถ้าเด็กบางคนพูดไม่หยุด เราก็จะชวนมาช่วยถือหนังสือให้หน่อย เพื่อเบนความสนใจและดึงให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม

หรือถ้าอ่านกับเด็กๆ ในวงกว้าง เราจะตกลงกันก่อนว่าจะมีกฎของการฟังนิทานนะ เช่น เราจะไม่ลุกขึ้นมายืนเลยนะ เพราะเดี๋ยวเพื่อนข้างหลังจะไม่เห็น หรือเราจะไม่ตะโกนเข้ามา เพราะครูเสียงเบานะคะ

เด็กอาจจะดูเหมือนจะจัดการยาก แต่ว่าวิธีจัดการที่ดีก็คือพูดกับเขาตรงๆ ได้แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กก็เลือกใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ ถ้าไปเขาว่าหนูต้องนั่งลงนะ เพราะถ้าหนูยืนมันจะเกิดการบังจนเพื่อนข้างหลังมองไม่เห็น แบบนี้เขาไม่เข้าใจตั้งแต่แรกแล้ว เราอาจจะแค่บอกให้เขานั่งลงนะ แล้วฟังนิทานกันนะ แค่นั้นก็ได้

พ่อแม่หลายคนกังวลว่าทำไมเวลาเล่านิทานแล้วลูกถึงไม่สนใจหรือไม่มีสมาธิที่จะฟังจนจบได้

อาจต้องดูวัยของลูกก่อน ถ้ามันเป็นตามเกณฑ์ของพัฒนาการของเขา ก็ไม่ต้องตกใจ เช่น บางช่วงวัยเด็กอาจจะสามารถจดจ่อได้ประมาณ 5-10 นาที ถ้าหวังจะให้เขานั่งฟังเป็นชั่วโมงก็คงไม่ใช่

เจว่าการอ่านหนังสือมันช่วยให้เด็กมีสมาธิขึ้นนะ ยิ่งถ้าพ่อแม่อ่านให้ฟัง มันเป็นโมเมนต์ที่เด็กคนไหนก็ชอบ นั่งข้างกัน นั่งตักกัน ได้ยินเสียงพ่อเสียงแม่เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้คลอไปด้วย ก็จะช่วยให้เขาอยู่กับเรื่องนั้นได้นาน

แต่ถ้าเด็กเริ่มสนใจอย่างอื่น ก็ควรปล่อยให้เขาไปสนใจอย่างอื่น เพราะทุกอย่างก็คือการเรียนรู้ของเขาเหมือนกัน

นอกจากงานเล่านิทานที่ดรุณบรรณาลัย ตอนนี้เจทำงานอะไรเกี่ยวกับเด็กอีกบ้าง

ทำเยอะมากเลย ตอนนี้ก็มีทำงานกับหมอ เป็นทีมคอยเล่น คอยจัดกิจกรรม และประเมินเบื้องต้นว่าเด็กคนนี้มีปัญหาอะไรไหม พฤติกรรมนี้ตรงตามเกณฑ์พัฒนาการในช่วงวัยของเขาหรือเปล่า

แล้วก็มีสอนออนไลน์ แต่รับอยู่แค่คนสองคน คือเราตกลงกับคุณแม่น้องไว้ว่าจะสอนภาษาไทยน้องผ่านนิทาน ไม่ได้สอนแบบครูไทย ไม่มี ก.ไก่ สระอา คำนาม คำกิริยา แต่จะพยายามทำให้เรื่องเรียนกับเรื่องสนุกเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างเวลาสอนเรื่องพยางค์ เจจะไม่สอนว่าพยางค์คืออะไร แต่จะสอนให้เขาปรบมือเอา เช่น แนะนำตัวหน่อยว่าชื่ออะไร สมมติชื่อเจลดา เราก็ปรบมือตามพยางค์ที่ออกเสียงมา เด็กก็จะอยากเล่นปรบมือและรู้ว่าจำนวนพยางค์ก็คือจำนวนครั้งที่เขาปรบมือ

เจรู้สึกว่าการสอนโดยเฉพาะการสอนออนไลน์ ถ้าทำให้เด็กมีกิจกรรมที่ต้องขยับตัว มันจะง่ายขึ้น เพราะเด็กเล็กเขาต้องการใช้ร่างกายมากกว่า จะบอกให้เขานั่งเฉยๆ มันลำบากมาก แต่ถ้าให้เขาทำท่านั้นท่านี้ระหว่างการสอน เขาจะอยู่กับเราได้นานขึ้น

ดูเหมือนจะกลายเป็นคนที่ชอบการทำงานกับเด็กๆ มาก เจคิดว่างานนี้หรืองานที่ได้ทำกับเด็กๆ มันให้อะไรเราบ้าง

ความสนุกหรือความดีของการทำงานกับเด็กก็คือซึมซับอะไรดีๆ จากเด็กๆต่อให้เขาดื้อ เราก็จะเอ็นดู ต่อให้กลับมาเหนื่อยมาก เราก็จะรู้สึกดีในโมเมนต์นั้น เหมือนเขาดึงสายตาแบบเด็กของเรา ที่หายไปนานแล้วให้กลับมา

พอเราไปเล่นกับเด็ก มันต้องเล่นจริงๆ เราต้องสนุกกับเขาจริงๆ เราจะรู้สึกเหมือนกลับไปใช้วิธีการสนุกแบบเด็ก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นโลกมาเยอะแล้ว ความสนุกกับความตลกมันต้องใช้ทักษะในเลเวลสูง ถึงจะทำให้เขารู้สึกได้  เพราะฉันเจออะไรมาเยอะแล้ว เจว่าทำงานกับเด็กมันก็ชุบชูชีวิตตัวเองเหมือนกัน


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST