READING

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้...

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้องพักก่อน #2: คุยกับแม่อัฟ—กัญญณัช ถาวรวิริยะนันท์

เรียนออนไลน์

หลังจากปล่อยให้เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ต้องวนเวียนอยู่กับคำว่า เรียนออนไลน์ มานานแสนนาน เราก็เริ่มได้ยินความคืบหน้าของการพยายามให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดภาคเรียนแบบเต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราย้อนกลับมาดูข้อมูลจากกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว จำนวน 6,000 คน และคาดว่าในปีการศึกษา 2564 จะมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบมากถึง 65,000 คน นั่นหมายความว่า การเปิดเทอมที่จะถึงนี้ จะมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่ได้กลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนตามเดิมได้

เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกครอบครัว ไม่ว่าจะความพร้อมของลูก ความพร้อมของพ่อแม่ ความพร้อมของอุปกรณ์ หรือแม้แต่บรรยากาศภายในบ้าน ทุกอย่างมีผลให้การเรียนออนไลน์ของลูกกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาของคนในครอบครัวไปโดยปริยาย

M.O.M จึงชวนคุณพ่อคุณแม่ที่ตัดสินใจให้ลูกพักการเรียนหรือลาออกจากโรงเรียน เพราะเห็นผลกระทบที่ลูกได้รับจากการ เรียนออนไลน์ จนเกิดเป็นซีรีส์บทสัมภาษณ์ ‘เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้องพักก่อน’

    ตอนที่สองนี้เราได้คุยกับ แม่อัฟ—กัญญณัช ถาวรวิริยะนันท์ หนึ่งในคุณแม่ที่ถูกสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องทบทวนและตัดสินใจให้น้องเอวาวัยสามขวบครึ่ง นักเรียนชั้นอนุบาลหนึ่ง หลักสูตรภาษาอังกฤษแห่งหนึ่ง ต้องดรอปเรียนเพื่อเว้นระยะห่างจากการ เรียนออนไลน์ ที่ไม่เหมาะกับเด็กวัยนี้เอาเสียเลย

เพราะลูกอยู่ในวัยที่การเล่นสำคัญกว่า

จริงๆ แม่ให้น้องดรอปเรียนตั้งแต่การระบาดรอบแรกแล้ว  ตอนนั้นคิดว่าการเรียนออนไลน์ไม่น่าจะตอบโจทย์กับเด็กวัยนี้เท่าไหร่ ส่วนตัวเราก็ไม่อยากให้ลูกต้องมานั่งดูหน้าจอ บวกกับโรงเรียนของลูกเป็นแนว play based learning อยู่แล้ว ดังนั้นแนวทางการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนส่งมาให้จึงเน้นกิจกรรมและการเล่น ก็ยิ่งคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกเรียนออนไลน์ต่อ

ต้องบอกก่อนว่าปกติที่บ้านก็มักจะให้ลูกทำกิจกรรมเหมือนกับที่โรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งโชคดีมากๆ ที่โรงเรียนเข้าใจธรรมชาติของเด็กเล็ก และอนุญาตให้ดรอป และเป็นค่าเทอมของค่าเทอมขอได้เราก็เลยไม่ลังเลที่จะให้ลูกดรอปออกมาก่อน แต่ถ้าโรงเรียนไม่อนุญาตให้ดรอป ก็คงให้ลูกลาออกอยู่ดี

ประสบการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์ไม่ใช่ทางออกของเด็กเล็ก

ที่โรงเรียนมีให้ทดลองเรียนผ่านระบบออนไลน์ฟรีสองอาทิตย์ เอาแค่วันแรกที่ลูกต้องแนะนำตัวเองต่อหน้ากล้องและเพื่อนในชั้นเรียนก็เริ่มเห็นแล้วว่าการเรียนออนไลน์ไม่น่าเหมาะกับเขา เพราะตอนแรกลูกก็ดูสนใจดีแต่แค่แป๊บเดียวเขาก็ไปทำอย่างอื่น กลายเป็นแม่ต้องนั่งฟังคุณครูพูดอยู่คนเดียว

 พอถึงช่วงที่ครูเรียกให้เด็กๆ ทุกคนมารวมตัวกัน เด็กแต่ละคนก็นั่งมองหน้าจอเฉยๆ โดยไม่มีการโต้ตอบใดๆ นอกจากครูจะเรียกหรือถามใครขึ้นมาตรงๆ

จากวันนั้นก็ไม่เคยให้ลูกเรียนออนไลน์อีกเลย

เป็นการตัดสินใจที่ไม่มีใครคัดค้าน

ทุกคนพูดแบบเดียวกันหมดว่าดีแล้ว ไม่มีใครว่าอะไรเลย บางคนยังบอกให้ทำโฮมสกูลไปจนจบอนุบาลเลยด้วยซ้ำ เพราะเราอธิบายว่าโรงเรียนของน้องเอวา เป็นโรงเรียนที่ไม่เน้นให้เด็กเล็กเรียนหนังสืออยู่แล้ว แต่จะเน้นเด็กเรียนรู้จากการเล่น ซึ่งถ้าดูเอาต์ไลน์ของทางโรงเรียนก็จะเห็นว่ากิจกรรมในนั้นเหมือนกับกิจกรรมที่เราให้ลูกเล่นเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการดรอปเรียนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

เรื่องเล่นของลูกที่คุณแม่จัดการได้

ปกติก็จะให้ลูกทำกิจกรรม sensory play หรืองานประดิษฐ์ งานฝีมือต่างๆ เช่น ตอนเช้าอาจจะมีกิจกรรม sensory play ให้ลูกเลือกเองบ้างหรือเราจัดให้บ้าง หลังจากนั้นก็ให้เขาออกกำลังกาย ปีนป่าย วิ่งในบ้าน เต้นระบำ เล่นบทบาทสมมติ ซึ่งช่วงนี้เขากำลังอินเรื่องการเล่นบทบาทสมมติมากๆ

ช่วงบ่ายก็อาจจะเป็น crafts work หรือบางวันก็อ่านนิทานด้วยกัน หรือบางวันลูกก็จะบอกเลย ว่าอยากเล่นอันนี้ อยากอ่านหนังสือเล่มนี้ หรือมีเทศกาลอะไรในช่วงนั้นก็จะจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับเทศกาลให้เล่น เช่น ล่าสุดสอนเกี่ยวกับเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ก็ทำขนมไหว้พระจันทร์ ทำโคมไฟด้วยกัน

คือเราเลี้ยงลูกแบบให้ลูกได้ออกความเห็น ถามเขาว่าอยากทำอะไร อยากเล่นอะไร แล้วก็ทำด้วยกัน

ส่วนตัวคิดว่าทั้งโรงเรียนและภาครัฐควรเร่งปรับหลักสูตรการเรียนออนไลน์ให้เอื้อต่อเด็กและผู้ปกครองมากขึ้น เพราะคิดว่ายังไงโควิด-19 ก็คงยังอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี และบางโรงเรียนอาจต้องมีการศึกษาหลักสูตรโรงเรียนที่มีวิธีการเรียนการสอนออนไลน์แล้วได้ผลดี มาปรับใช้กันดู อย่างน้อยก็อาจจะช่วยให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนออนไลน์เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยมากขึ้น

หลักสูตรการเรียนออนไลน์ควรปรับให้เอื้อต่อเด็กและผู้ปกครอง

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน จะบอกว่าให้หยุดเรียนไปเลยหนึ่งปี ก็อาจจะเกินไปหน่อย เพราะเราเข้าใจทั้งสองฝ่าย ทั้งโรงเรียนและตัวเด็ก อย่างเด็กที่อยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญของการศึกษา เช่น นักเรียน ม.3 และ ม.6 เพราะเราก็การันตีไม่ได้ว่าหนึ่งปีผ่านไปแล้วโควิดจะจบจริงๆ

ส่วนตัวคิดว่าทั้งโรงเรียนและภาครัฐควรเร่งปรับหลักสูตรการเรียนออนไลน์ให้เอื้อต่อเด็กและผู้ปกครองมากขึ้น เพราะคิดว่ายังไงโควิด-19 ก็คงยังอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี และบางโรงเรียนอาจต้องมีการศึกษาหลักสูตรโรงเรียนที่มีวิธีการเรียนการสอนออนไลน์แล้วได้ผลดี มาปรับใช้กันดู อย่างน้อยก็อาจจะช่วยให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนออนไลน์เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัยมากขึ้น

เช่น เด็กเล็กถึงระดับชั้น ป.6 สามารถลดการบ้านหรือไม่ต้องมีเลยได้ไหม ส่วนเด็กเล็ก เน้นเรียนด้วย play based ส่วนเด็กโตปรับให้มีการเรียนแบบ project based คือให้เด็กๆ ได้คิดโครงการ แล้วนำเสนอ แทนที่จะเน้นการท่องจำ เปลี่ยนเป็นเน้นให้เด็กทำความเข้าใจสิ่งที่มาจากการศึกษาด้วยตัวเอง ถ้าเป็นแบบนี้คุณครูจะสามารถอธิบายให้คำปรึกษาต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้

เด็กจะเรียนดีถ้าโรงเรียนมีวิธีการสอนที่เหมาะกับเด็ก 

ตอนเด็กๆ ตัวเราเองเรียนโรงเรียนเอกชนทั่วไป ผลการเรียนไม่ดี สอบตกก็บ่อย แต่พอขึ้นมัธยม ได้ย้ายมาเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ปรากฏว่าผลการเรียนดีขึ้น ทั้งที่เราก็ตั้งใจเรียนเท่าเดิม แต่ที่โรงเรียนใหม่เขาเน้นให้นักเรียนทำงานเป็นโปรเจ็กต์ เน้นสอนให้นักเรียนทำความเข้าใจ มีการบ้านไม่เยอะ แต่เน้นให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมมากกว่า ข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นการถามความคิดเห็นของเราที่อ้างอิงมาจากเรื่องที่เรียน ซึ่งเราทำได้เพราะมันมาจากความเข้าใจจริงๆ และสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงต่อไป

รอวันที่สถานการณ์ดีขึ้น

ถ้าโรงเรียนกลับมาเปิดเทอมได้ตามปกติ ก็คงให้ลูกกลับไปเรียนที่โรงเรียนเหมือนเดิม เพราะอยากให้เขาได้เข้าสังคม ได้เล่นกับเพื่อนๆ แต่ก็คงต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะตอนนี้คิดว่ายังไงอยู่บ้านก็ดีกว่าไปโรงเรียนแน่ๆ

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23/09/21

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST