READING

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้...

เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้องพักก่อน #3: คุยกับแม่เม—จุฑาทิพย์ รวมกิ่งแก้ว

การเรียนออนไลน์

หลังจากปล่อยให้เด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ต้องวนเวียนอยู่กับคำว่าเรียนออนไลน์มานานแสนนาน เราก็เริ่มได้ยินความคืบหน้าของการพยายามให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดภาคเรียนแบบเต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราย้อนกลับมาดูข้อมูลจากกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว จำนวน 6,000 คน และคาดว่าในปีการศึกษา 2564 จะมีจำนวนเด็กหลุดจากระบบมากถึง 65,000 คน นั่นหมายความว่า การเปิดเทอมที่จะถึงนี้ จะมีเด็กอีกหลายคนที่ไม่ได้กลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนตามเดิมได้

เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกครอบครัว ไม่ว่าจะความพร้อมของลูก ความพร้อมของพ่อแม่ ความพร้อมของอุปกรณ์ หรือแม้แต่บรรยากาศภายในบ้าน ทุกอย่างมีผลให้การเรียนออนไลน์ของลูกกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาของคนในครอบครัวไปโดยปริยาย

M.O.M จึงชวนคุณพ่อคุณแม่ที่ตัดสินใจให้ลูกพักการเรียนหรือลาออกจากโรงเรียน เพราะเห็นผลกระทบที่ลูกได้รับจากการเรียนออนไลน์ จนเกิดเป็นซีรีส์บทสัมภาษณ์ ‘เมื่อการเรียนออนไลน์ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลูกเราคงต้องพักก่อน’

ครั้งนี้ได้ คุณแม่เม—จุฑาทิพย์ รวมกิ่งแก้ว ที่เห็นว่า การเรียนออนไลน์ ไม่สามารถทำให้น้องชิม ลูกชายวัย 5 ขวบ มีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ได้ จนคิดว่าควรให้ลูกพักการเรียนตามรูปแบบของโรงเรียนไปก่อน

ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 การเรียนของลูกได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ต้องเท้าความก่อนว่าตั้งแต่มีโควิด-19 การเรียนมันเกิดขึ้นแบบขยักขย่อนมาก เดี๋ยวได้เรียน เดี๋ยวไม่ได้เรียน ปีที่ผ่านมาก็แทบจะไม่ให้ลูกเรียนออนไลน์เลย เอาง่ายๆ ว่าช่วงไหนที่โรงเรียนปิด ก็ให้ลูกเล่นอยู่บ้านเป็นหลัก อาจจะมีเปิดวิดีโอที่โรงเรียนอัปโหลดไว้ให้ดูบ้างประปราย

ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกว่ามันงง เพราะวิดีโอที่เปิดให้ลูกดู ก็คือมีคุณครูมาร้องเพลง มาพูดนู่นนี้ให้เด็กฟัง แต่คุณภาพวิดีโอไม่ดีเลย ไม่สามารถดึงดูดเด็กได้ คือไม่ต้องถึงขั้นทำดีมากๆ นะ เอาแค่เรื่องเสียงที่จะให้เด็กฟังก็ควรจะชัดเจน เพื่อให้เด็กรู้สึกสนใจ

พอมาปีนี้ การเรียนออนไลน์เริ่มต้นตั้งแต่เทอมหนึ่งของปีการศึกษา 2564  ตอนแรกก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดรอป อยากให้ลูกลองเรียนดูอีกครั้ง ซึ่งโรงเรียนก็ได้เปลี่ยนการเรียนการสอน จากคลิปวิดีโอเป็นมีคุณครูมาสอนสดตามตาราง วันหนึ่งเรียนประมาณ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที คลาสเช้าก็จะมีครูมาร้องเพลงให้ฟัง แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ได้เลย เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้โต้ตอบอย่างที่ควรจะเป็น ลูกก็ไม่สนใจ ไม่สนุกที่จะเรียน

คลาสที่สองเป็นวิชาเลข ภาษาไทย อังกฤษสลับกัน และถ้าวันไหนมีวิชาพละและศิลปะ ก็จะมีเรียนตอนบ่ายเพิ่มด้วย ซึ่งจากการเรียนสองวันแรกก็พบว่า คลาสเช้าไม่ต้องให้ลูกตื่นมาดูก็ได้ รอเข้าคลาสที่สองไปเลย แล้วระหว่างนั้นก็คือเอาเวลาไปทำอะไรให้ลูกตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่นพร้อมเรียนดีกว่า เขาจะได้สนุกไปกับคลาสได้อย่างเต็มที่

ให้ลูกเรียนอย่างนั้นนานแค่ไหน ถึงเริ่มคิดเรื่องพักการเรียน

เรียนไปได้สองสัปดาห์ ก็รู้สึกว่าคุณครูสอนเหมือนเวลาที่เด็กไปโรงเรียน การสอนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กบนแพลตฟอร์มออนไลน์เลย สมมติเราหาคลิปสอนอะไรก็ตามให้ลูกดู เช่น คลิปสอนเลข สอนภาษาอังกฤษ ยังรู้สึกว่าลูกได้ความรู้เหมือนกัน และสนุกกว่าด้วย คือทำไมเราจะต้องมาอารมณ์ไม่ดีใส่ลูก หรือทำไมลูกต้องมาทนนั่งเรียน มันไม่มีความสุขทั้งคู่ เรียนไปไม่กี่วัน ลูกก็บอกว่าเขาไม่ชอบเลย เขาเบื่อ

อีกอย่างคือเรารู้สึกว่า เวลาที่คุณครูถามแล้วเด็กจะตอบ บางทีครูก็ไม่สามารถโต้ตอบกับเด็กทุกคนได้ทันที มันทำให้เด็กขาดความมั่นใจ ซึ่งเข้าใจนะว่าทุกคนคงคุยกันได้ไม่หมดหรอก ถึงแม้ครูจะพยายามแยกเด็กในคลาสออกเป็นกรุ๊ปละประมาณ 5-6 คน พอกรุ๊ปแรกเรียนครบ 20 นาที คุณครูก็จะให้ไปเบรก ระหว่างนั้นครูก็จะไปสอนเด็กกลุ่มถัดไป แต่มันก็เป็นการเรียนแบบมาๆ หายๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดบวกกับประโยคที่ลูกบอกว่าเขาไม่อยากเรียนออนไลน์เลยเ เขาเบื่อ เขาอยากไปโรงเรียน เลยตัดสินใจว่าดรอปก็ได้ เดี๋ยวค่อยหาทางว่าจะทำยังไงต่อ เพราะตอนที่ไปคุยกับผู้บริหารโรงเรียน ก็รู้สึกว่าเขาไม่ค่อยรับรู้ปัญหา รู้แค่ตอนนี้เด็กๆ ใช้กูเกิ้ลคลาสรูมในการเรียน แต่ไม่รู้เลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นในคลาสบ้าง และเราก็คิดว่าจากสถานการณ์ในประเทศตอนนั้น เด็กๆ คงยังไม่ได้กลับไปเรียนในเร็ววันแน่

ปรีกษากันในครอบครัวอย่างไร

ที่บ้านเราอยู่กันแค่พ่อแม่ลูกและพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นทุกการตัดสินใจเราทำเองหมด ก็แค่เล่าให้อากงอาม่าฟังว่าไม่ได้ให้ลูกลาออกนะ แค่ดรอปไว้ก่อน

ระหว่างนั้นก็เริ่มคุยกับโรงเรียนเฉพาะทาง อย่างพวก STEM Education พวกกิจกรรมเพลย์กรุ๊ป ว่าเขามีเปิดกรุ๊ปแบบส่วนตัวไหม คือก็หาลู่ทางเอาไว้ก่อน และก็มีหาครูมาสอนภาษาไทย สอนเลข แต่ทั้งหมดเป็นการสอนผ่านกิจกรรม เหมือนมาเล่นแหละ แต่สอดแทรกความรู้เข้าไปด้วย

บางครอบครัว พ่อแม่ก็อาจจะสอนลูกแบบนี้ได้ แต่ไม่ใช่กับทุกคนที่จะมีสกิลในการสอน และไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะคิดว่าการเรียนเป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกับพ่อแม่

วิธีที่เลือกคือเปลี่ยนจากการเรียนออนไลน์เป็นเน้นให้ลูกเรียนผ่านกิจกรรมไปเลย

หลังจากไปทำเรื่องดรอปเรียบร้อย ก็เริ่มพาลูกไปทำกิจกรรม STEM ซึ่งปกติลูกชอบมากอยู่แล้ว วันแรกลูกก็ถามเลยว่าไม่ต้องเรียนออนไลน์แล้วเหรอ พอเราตอบว่าไม่ต้องเรียนแล้ว เขาก็ดีใจลั่นรถเลย ก็รู้สึกว่าคิดถูกมากๆ ที่ตัดสินใจแบบนี้

แต่ผ่านไปเกือบสองเดือน ตอนนั้นตัวเลขติดเชื้อรายวันเริ่มขึ้นไปหมื่นห้าถึงสองหมื่น ช่วงนั้นทุกคนก็กลัว ถึงจะเรียนเป็นกรุ๊ปเล็กๆ แต่ก็ต้องหยุดไปก่อน

พอที่ทำกิจกรรม STEM ปิดรอบนี้ก็ต้องปรับแผนอีก เลยมีไปเอาใบงานโรงเรียนของลูกเพื่อนที่โตกว่าหนึ่งปี มาลองให้เขาทำ เพื่อจะได้รู้ว่าในระดับอนุบาลสองโรงเรียนสอนเรื่องอะไร แต่ไม่ได้จริงจังขนาดที่ว่าต้องทำสิ่งนี้ทุกวันนะ แค่วันไหนว่างก็ลองหยิบมาทำ หยิบมาคุย มีสอนเรื่องตัวอักษร สอนนับเลข เพราะเรารู้สึกว่าทักษะทางสังคมมันสำคัญกว่า เรื่องพวกนี้สามารถเอามาสอนแทรกตามโอกาสที่เหมาะสมได้

ถ้าถามว่าบรรยากาศตอนนี้ดีขึ้นไหม ดีขึ้นมากๆ เพราะเขารู้ว่าไม่ต้องมานั่งหน้าจออีก และเราก็ไม่เสียสุขภาพจิตด้วยที่ต้องมาพะวงทั้งการเรียนออนไลน์ของลูกและการทำงานของตัวเอง ด้วยปัจจัยมันไม่สัมพันธ์กับบ้านเราจริงๆ แต่ตอนนี้คือปล่อยอิสระ ปล่อยให้เล่น เราก็แค่คอยจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเขา

ฟีดแบ็กจากลูกเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนเรียนออนไลน์เรารู้สึกว่าลูกไม่แฮปปี้เลย อาจเพราะมันเป็นเทอมที่ข้ามชั้นเรียนใหม่ จากอนุบาลหนึ่งไปอนุบาลสอง มันมีการเปลี่ยนสมาชิกนักเรียนในห้อง เปลี่ยนครูประจำชั้น ซึ่งปกติแล้วครูประจำชั้นจะต้องตามขึ้นมาด้วยทุกปี แต่ปีนี้อาจด้วยโรงเรียนมีเด็กมาสมัครเยอะขึ้น จากเดิมที่ระดับชั้นหนึ่งมี 3 ห้อง ก็เพิ่มเป็น 4 ห้อง เพื่อนเขาที่เคยเรียนด้วยกันมาก็กระจัดกระจาย ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง ไม่มีเพื่อน ครูประจำชั้นก็ไม่รู้จักขาดจุดร่วมของการเรียนไป แถมยังเจอหน้ากันผ่านจออีก

ถ้าถามว่าบรรยากาศตอนนี้ดีขึ้นไหม ดีขึ้นมากๆ เพราะเขารู้ว่าไม่ต้องมานั่งหน้าจออีก และเราก็ไม่เสียสุขภาพจิตด้วยที่ต้องมาพะวงทั้งการเรียนออนไลน์ของลูกและการทำงานของตัวเอง ด้วยปัจจัยมันไม่สัมพันธ์กับบ้านเราจริงๆ แต่ตอนนี้คือปล่อยอิสระ ปล่อยให้เล่น เราก็แค่คอยจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเขา

ถ้าจำเป็นต้องให้ลูกกลับมาเรียนออนไลน์จริงๆ คิดว่าโรงเรียนควรทำอย่างไรให้เด็กมีความสุขที่จะเรียนมากขึ้น

ต้องบอกว่าเราไม่ได้แอนตี้การให้ลูกดูหน้าจอ ไม่ได้เกลียดสื่อออนไลน์ แต่คิดว่าการเรียนออนไลน์ควรจะดึงดูดให้เด็กสนใจมากกว่าการถูกบังคับให้นั่งมองในสิ่งที่เขาไม่เอนจอย ตอนนี้มันเหมือนกับเราส่งลูกไปเรียน แล้วโรงเรียนบังคับให้ลูกนั่งคัดลายมือ คือมันก็มีเด็กที่ซัฟเฟอร์กับการทำอย่างนั้น แต่ก็มีเด็กที่แฮปปี้ด้วยเหมือนกัน

คือเรารู้สึกว่า ถ้าโรงเรียนสอนออนไลน์สนุกกว่านี้ ออกแบบวิธีการสื่อสารได้ดีกว่านี้เขาก็น่าจะเอนจอยได้ เพราะฉะนั้นปัญหาของมันคือการออกแบบการสื่อสารจากครูมาสู่เด็กมากกว่า

ในฐานะที่ลูกเป็นหนึ่งในเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์  คุณแม่คิดว่าโรงเรียนหรือภาครัฐเองควรรับมือสถานการณ์นี้อย่างไร

เรามองว่ามันอยู่ที่ผู้บริหารและนโยบายของโรงเรียน ว่ามองการเรียนการสอนออนไลน์ไว้ยังไง สอนเพื่อให้ผ่านๆ ไป สอนเพื่อให้ครบตามหลักสูตรเดิมที่วางไว้ หรือสอนเพื่อพัฒนาเด็ก ซึ่งเรารู้สึกว่าโรงเรียนของลูก คือสอนเพื่อให้ครบตามหลักสูตรที่กำหนดมากเกินไป แต่ไม่ได้มองว่าสิ่งที่เด็กจะได้รับจริงๆ คืออะไร

คิดว่าโรงเรียนต้องออกแบบ ต้องตั้งเป้าหมายใหม่ แต่โรงเรียนก็อาจจะไม่มีใครมาช่วยไกด์เรื่องนี้ให้ ก็เลยคิดว่าหน่วยงานกลางควรทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือครูและโรงเรียน เช่น มีการเทรนนิ่งเพื่อให้ครูมีการสอนที่เหมาะสมกับการสอนออนไลน์บ้าง

อย่างเทอมที่แล้ว เราไม่สนใจเลยนะ เพราะมันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับทุกคน แต่พอมาปีนี้ โรงเรียนมีเวลาเตรียมตัวเยอะมาก มีการเลื่อนเปิดเทอมไปหลายเดือน เรารู้แนวโน้มอยู่แล้วว่าโรงเรียนจะได้เปิดหรือไม่ได้เปิด ดังนั้นก็ควรตรวจสอบได้ว่าโรงเรียนเตรียมความพร้อมไปถึงไหน หรือโรงเรียนต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง

และรัฐก็ควรซัปพอร์ตตั้งแต่ต้นเลยด้วยซ้ำ คือไม่ต้องลดค่าเทอม 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ เพราะเราเข้าใจว่าโรงเรียนก็มีค่าใช้จ่าย โรงเรียนก็ยังต้องจ่ายเงินเดือนให้ครูเหมือนเดิม แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า สถานการณ์นี้มันมีอย่างอื่นที่พ่อแม่ต้องเข้ามารับผิดชอบมากขึ้นจากการที่ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดมันควรถูกคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะการที่โรงเรียนคิดค่าเทอมได้ ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ส่วนกลางเท่าไหร่ ค่าครูเท่าไหร่ ค่าอาหารเท่าไหร่ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงเลย หรือบางโรงเรียนอาจจะมี แต่ก็ไม่ใช่มาตรฐานของทุกโรงเรียนอยู่ดี

ตอนนี้ตัดปัญหาเรื่องเรียนออนไลน์ของลูกไปแล้ว แต่การดรอปเรียนมีเรื่องอื่นที่น่ากังวลอีกไหม

สิ่งที่กังวลอาจเป็นเรื่อง เราต้องเตรียมลูกยังไง เพื่อให้เขาพร้อมกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง แต่เอาจริงๆ อย่างเรื่องรู้ไม่เท่าเพื่อน เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะลูกเป็นคนที่ถ้าเขาอยากรู้ เขาก็จะถามเลย แต่ถ้าเขายังไม่อยากรู้เขาก็จะไม่สนใจ ซึ่งมันอาจจะเป็นสิ่งที่ลูกไม่อยากรู้จริงๆ ก็ได้

อย่างก่อนที่จะดรอป เราก็มีสอนเขาเขียนชื่อ เขียนภาษาอังกฤษ เพราะก่อนจบอนุบาลหนึ่ง ครูได้บอกไว้ว่าอนุบาลสองของโรงเรียนมีเป้าหมายอะไร ซึ่งก่อนหน้านี้เขาไม่สนใจเลย แต่พอเขาอยากเขียน เราบอกวิธีสักสองสามครั้ง เขาก็เริ่มทำได้เอง เรารู้สึกว่าเมื่อไหร่ที่เขาสนใจ เขาก็จะถาม เพราะฉะนั้นเราแค่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับให้ลูกกลับไปเรียนในโรงเรียนเท่าที่จะเตรียมได้

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22/09/21

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST