ในยุคที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดน้อย และมีแนวโน้มว่าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ การชวนกันวางแผนย้ายครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศไม่ใช่แค่กระแสนิยมในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
วันนี้เราเลยชวน ดอกแคร์—ภคมล ศรีแผ้ว คุณแม่ของลูกสาวสองคน น้องเฟรอ (5 ขวบ) และน้องเฟร่า (3 ขวบ) มาพูดคุยถึงการตัดสินใจย้ายครอบครัวจากเมืองไทยไปออสเตรเลีย และประสบการณ์การเป็น คุณแม่ต่างแดน ว่าตอบโจทย์ ตรงใจ และนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของเธอหรือไม่
ทำไมต้องเป็นออสเตรเลีย
คุณพ่อคุณแม่ของแคร์อยู่ที่นั่น ปกติเราก็ไปหาเขาอยู่บ่อยๆ เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้สัญชาติ ยังเป็นแค่ Permanent Residence (PR) คือต้องต่อวีซ่าทุก 4 ปี แต่ว่าได้รับรัฐสวัสดิการทุกอย่างเหมือนกับพลเมืองออสเตรเลีย
พอย้ายมาแล้ว ลูกคนเล็กคลอดที่ออสเตรเลีย ก็เลยได้ถือสองสัญชาติ ส่วนตัวแคร์คิดว่า เราเป็นแม่ เรามีหน้าที่เลือกทางที่ดีที่สุดให้กับลูก และคิดว่าอย่างน้อยลูกก็จะได้มีตัวเลือกว่าในอนาคตเขาอยากอยู่ที่ไหน ถ้าเขาอยากกลับมาอยู่ไทยก็อยู่ได้ หรืออยากอยู่ออสเตรเลียก็อยู่ได้
รัฐสวัสดิการที่ว่า ต่างจากประเทศไทยแค่ไหน
ย้อนไปตั้งแต่การคลอดลูกคนแรกที่เมืองไทย ตอนนั้นเราคลอดที่โรงพยาบาลรัฐฯ ค่าคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 บาท แล้วเราก็ต้องจ่ายเงินพิเศษอีกประมาณ 5,000 บาท เพื่อให้ได้รับการดูแลมากขึ้น
แต่ต้องบอกว่าเรื่องที่แคร์เล่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เจอนะ ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลอื่นเป็นแบบนี้ไหม คือตอนมาถึงโรงพยาบาลเรามาติดต่อตรงเคาน์เตอร์ว่าเราปวดท้องคลอดลูก เขาก็ให้เราเดินไปรอที่หน้าห้องคลอดเอง น้ำคร่ำก็ไหล แต่ไม่มีใครสนใจเลย พอเดินไปถึงก็ต้องนอนรวมกับคุณแม่ที่มารอคลอดเหมือนกันประมาณ 40 คน ตอนนั้นยังคิดเลยว่าถ้าทุกคนคลอดพร้อมกันจะทำยังไง…
แล้วปวดท้องมากพออยู่แล้ว ยังต้องกรอกเอกสารต่างๆ เองทั้งหมด ซึ่งแคร์มีสามีไปด้วย ก็เลยมีคนจัดการตรงนี้ให้ แต่ลองคิดดูว่าคนที่มาคนเดียวจะทำยังไง
พอได้เข้าห้องคลอด ก็จะมีหลายเตียงและมีม่านกั้น ซึ่งคลอดพร้อมกันได้สามคน มีคุณหมอคนเดียวต้องวิ่งไปวิ่งมาดูแลทุกคน พอคลอดปุ๊บพยาบาลก็อุ้มลูกเราออกไปโดยไม่ทันได้เห็นหน้ากันด้วยซ้ำ
พอคลอดแล้วต้องไปนอนพักฟื้นที่ห้องรวม ทั้งที่จริงเราจองห้องพิเศษไว้ แต่ก็ต้องรอให้มีคนออกก่อนถึงจะมีห้องว่าง เรื่องค่าใช้จ่ายตอนคลอด ตอนนั้นเราเบิกประกันสังคมไม่ได้ แต่ใช้สิทธิ์ของคุณพ่อเบิกได้ แต่ก็ไม่เต็มจำนวน ตอนนั้นถามว่าเครียดเรื่องเงินไหม ก็เครียดนะ เพราะเด็กคนหนึ่งค่าใช้จ่ายเยอะมาก และลูกคนโตหลังคลอดแล้วก็มีภาวะตัวเหลือง ต้องคอยพาไปหาคุณหมอเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งก็จะอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท ไหนจะค่าวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก…
พอย้ายมาอยู่ออสเตรเลียได้ 3 เดือน ก็คลอดลูกคนที่สอง ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐบาลเหมือนกัน แต่ตอนนั้นคุณพ่อแคร์ขับรถไปส่งแล้วบอกว่าเราปวดท้องจะคลอดลูก ก็มีทีมพยาบาลเอารถเข็นมารับแล้วพาเราเข้าไปในห้องรอคลอดซึ่งเป็นห้องส่วนตัวที่สะดวกสบายมาก สั่งอาหารมากินก็ได้ แค่เรามี green card ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มสักบาท แค่ยื่นบัตรให้เจ้าหน้าที่ก็จะจัดการกรอกข้อมูลให้
ห้องคลอดก็มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า และสิ่งที่เราสัมผัสได้มากที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่เขาให้บริการด้วยความเต็มใจไม่ตะคอก ไม่โวยวาย และใจเย็นกับเรา
พอคลอดแล้ว พยาบาลก็จะเอาลูกมาวางไว้บนหน้าอก เพื่อให้แม่ลูกได้สัมผัสกัน ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า การทำแบบนี้จะช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดให้กับคุณแม่ได้ แล้วพยาบาลก็พยายามบีบน้ำนมแม่อย่างน้อยหนึ่งหยด ป้อนใส่ปากลูก และมีเวลาให้แม่ลูกอยู่ด้วยกัน ก่อนจะพาลูกไปทำความสะอาด แล้วก็เอากลับมาส่งที่ห้องพักฟื้น ไม่ได้แยกกันอยู่แบบที่เจอตอนอยู่เมืองไทย
หลังคลอดสามวัน กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ก็มีพยาบาลมาเยี่ยมที่บ้าน เขาจะมาดูว่าที่บ้านเรามีเตียงสำหรับเด็กไหม ซึ่งเป็นกฎบังคับเลยว่าต้องมี ในห้องมีอะไรที่เสี่ยงเป็นอันตรายสำหรับเด็กไหม
เราไปแจ้งเกิดลูกที่ Centrelink ซึ่งจะเป็นศูนย์ดูแลทุกอย่างเกี่ยวกับเด็ก คนชรา ผู้พิการ คนไร้บ้าน เขาก็จะถามว่าคุณมีรายได้เท่าไร มีภาระหนี้สินอะไรหรือเปล่า เขาจะดูรายได้และรายจ่ายทั้งหมดของเราแล้วก็จะโอนเงินค่าเลี้ยงดูเด็กมาให้ทุกสองสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่ไม่น้อย จนกระทั่งลูก 4-5 ขวบ ก็จะได้เงินน้อยลง เพราะเขามองว่าพอลูกเข้าโรงเรียน แม่ก็ต้องเริ่มหางานทำได้แล้ว คือเด็กไม่จำเป็นต้องอยู่กับแม่ตลอดเวลาแล้ว แล้วเงินก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ตามอายุลูก จนถึงลูกอายุ 16 ปี
อย่างเรื่องวัคซีนขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ที่ไทยต้องจ่ายเงินเอง แต่ที่นี่รัฐบาลบังคับให้ฉีดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างลูกคนโตฉีดวัคซีนมาจากเมืองไทยบ้างแล้ว พอมาอยู่ที่นี่ ตัวไหนที่ต้องฉีดเพิ่ม ก็จะได้ฉีดฟรี เพราะเขามองว่าเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล
การที่สวัสดิการดี ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของแม่ดีตามไปด้วย?
ใช่ค่ะ แคร์ทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านอาหารไทย ซึ่งที่เลือกทำพาร์ตไทม์ เพราะตอนนี้เรายังได้เงินสนับสนุนจากรัฐฯ เราทำงาน 3 วันต่อสัปดาห์ วันละ 4-5 ชั่วโมง แล้วก็เลือกทำงานช่วงเย็น ห้าโมงครึ่งถึงสี่ทุ่ม เพราะตอนนี้ ถึงลูกคนโตจะไปโรงเรียน 5 วัน แต่ลูกคนเล็กยังเรียนอนุบาล ไม่ได้ไปโรงเรียนทุกวัน เราก็เลยอยากดูแลลูกในตอนกลางวัน แล้วคุณยายก็จะเข้ามารับช่วงต่อในตอนที่เราไปทำงาน ก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องบาลานซ์เวลาระหว่างการทำงานกับลูก
เพราะเราเอาลูกเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกงาน เราเชื่อว่าการใช้เวลากับลูกในช่วงวัย 5 ปีแรกสำคัญต่อพัฒนาการของลูกมาก ก็เลยอยากใช้เวลาอยู่กับลูก เลี้ยงลูกเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เลยพยายามเลือกงานที่ตรงกับเวลาของลูกที่ยังไม่โตมากพอที่จะดูแลตัวเองได้ทั้งหมด
ประกอบกับตอนนี้เรายังได้เงินช่วยเหลือจากรัฐสวัสดิการ ก็เลยไม่จำเป็นต้องทำงานเต็มเวลา แต่ถ้าวันหนึ่งที่ลูกโตขึ้น เราก็อาจจะหางานฟูลไทม์ เพราะมันก็จะตรงกับเวลาของลูกในช่วงวัยต่อไปพอดี
เราสามารถเลี้ยงลูกอย่างเดียวตลอดช่วงเวลาที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้ไหม
ถ้าถามว่าไม่ทำงานแล้วใช้เงินรัฐฯ จนลูกอายุ 16 ปี เลยได้ไหม ส่วนตัวคิดว่าอยู่ได้นะ แต่แคร์มองว่าการที่เราออกไปทำงาน ไปมีสังคม ไม่ใช่อยู่กับลูกตลอดเวลา มันก็ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายมากขึ้น
ในฐานะแม่นอกจากรัฐสวัสดิการ ประทับใจอะไรในออสเตรเลียมากที่สุด
น่าจะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อม แคร์ให้ลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน ค่าเทอมคิดเป็นเงินไทยประมาณพันกว่าบาทต่อปี แต่หลักสูตรการเรียนการสอนและบรรยากาศโรงเรียนที่นี่จะคล้ายหมดไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐหรือเอกชน เขาจะเน้นให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ เติบโตกับธรรมชาติ ชอบที่เขาให้ความสำคัญกับเด็กมากๆ เพราะว่าเด็กจะต้องเติบโตมาพัฒนาการประเทศต่อไป
COMMENTS ARE OFF THIS POST