READING

เมื่ออยากได้คำตอบ จึงต้องออกเดินทาง: คุยกับแพรว–ภั...

เมื่ออยากได้คำตอบ จึงต้องออกเดินทาง: คุยกับแพรว–ภัชชา เหมหงษา ครูอาสาที่อาสาไปไกลถึงบนดอย

ครูอาสา

“หน้าหนาวอยากไปไหนคะ” แพรว–ภัชชา เหมหงษา ครูอาสา วัยยี่สิบกลางๆ ที่ขอพาตัวเองจากกรุงเทพฯ ไปสอนเด็กนักเรียนไกลถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เอ่ยปากถามเราก่อนที่เราจะเริ่มถามคำถามที่เตรียมมาเสียอีก

แน่นอนว่าพอเข้าหน้าหนาว คนกรุงเทพฯ แบบเราก็อยากจะไปเที่ยวรับอากาศหนาว (ที่ไม่ค่อยได้เจอ) บนเขา บนดอยสูง อยากไปสูดอากาศบริสุทธิ์ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ สัก 3-4 วันก็คงจะดี

แต่สำหรับแพรว การตัดสินใจขึ้นดอยในหน้าหนาว ไม่ใช่การไปเที่ยวเพื่อสัมผัสอากาศหนาวเย็นในฐานะนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เธอจะขึ้นดอยไปเป็น ครูอาสา เลือกที่จะใช้เวลาสี่เดือนอยู่ที่นั่นเพื่อหาคำตอบบางอย่างและเข้าใจการใช้ชีวิตบนดอยให้มากที่สุด

หลังจากที่กลับมาแล้ว เราคิดว่าแพรวน่าจะมีอะไรหลายอย่างที่อยากคุยอยากเล่าให้คนอื่นได้ฟัง จึงเป็นที่มาของการนัดคุยและสัมภาษณ์ของเราในวันนี้

ทำไมต้องไปเป็นคุณครูอาสา

ต้องเล่าก่อนว่าปกติเป็นคนชอบใช้ชีวิตแบบท้าทายอยู่แล้ว เคยคิดว่าอยากไป work and travel ที่อเมริกา หรืออย่างมากที่สุดเลยคือไปเรียนต่อแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศคนเดียว แต่ความฝันอีกอย่างหนึ่งก็คืออยากเป็นครูอาสาบนดอยด้วย เพราะปกติเราก็ชอบไปทำกิจกรรมอาสาในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว อย่างไปเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟังก็เคยทำมาก่อน แต่ความฝันแรกก็ต้องพับเก็บไป เพราะกว่าจะเรียนจบ กว่าจะเก็บเงินได้อายุก็เกินเกณฑ์ที่กำหนดไปแล้ว พอจะไปเรียนต่อช่วงนั้นเพิ่งปิดประเทศเพราะโควิด-19 ก็เลยคิดว่าคงไม่ได้ทำอะไรแล้ว ก้มหน้าก้มตาเป็นทำงานต่อไปก่อน

แล้ววันนึงก็เห็นประกาศหาคุณครูอาสาของ มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก (Child’s Dream Foundation) กำลังเปิดโครงการรับสมัคร ครูอาสา ต้องไปลงพื้นที่ 4 เดือน ซึ่งมันตอบโจทย์เราในตอนนั้น เพราะเราไม่ได้อยากไปแค่วันสองวันแล้วจบ เราอยากไปคลุกคลี อยากไปหาคำตอบอะไรหลายอย่าง ก็เลยตัดสินใจสมัครโครงการนี้อย่างไม่ลังเล

เป็นครูอาสาต้องทำอะไรบ้าง

สารภาพว่าเราไปด้วยการเอาภาพคุณครูที่เคยเจอในชีวิตเป็นที่ตั้ง คิดว่ามันก็คือการสอนเด็กๆ ตามสิ่งที่เราถนัด พอถึงเวลาเลิกเรียนก็ส่งเด็กๆ กลับบ้าน หลังจากนั้นก็น่าจะสบายๆ ได้ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์อย่างที่วาดฝันไว้

แต่พอไปเป็น ครูอาสา จริงๆ สิ่งที่คิดไว้พลิกหมดเลย เริ่มแรกคือเราได้รู้ว่าการเป็นครูไม่ได้จบแค่การสอน ยังมีงานเอกสาร งานจัดการจัดเตรียมสถานที่ ต้องทำงานวิจัยเยอะแยะ แล้วยิ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้มีบุคลากรมากพอ บางทีคุณครูก็ต้องรับบทแม่ครัว เป็นคุณหมอจำเป็น เป็นคนขับรถ เป็นภารโรง เรียกว่าครูหนึ่งคนแทบจะต้องทำได้ทุกอย่าง

เราเลยเข้าใจว่าทำไมกลุ่มครูรุ่นใหม่ถึงต้องเรียกร้องอยากให้ครูได้ทำหน้าที่สอนเด็กจริงๆ อย่างที่หลายประเทศทำได้

แต่ถ้าเล่าแบบสนุกๆ ก็คือ เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว (หัวเราะ) เพราะบทบาทหน้าที่ของครูโดยเฉพาะครูที่อยู่พื้นที่ห่างไกลเป็นแบบนั้นจริงๆ คือไม่ได้จบที่การสอน บางวันเดินตามทุ่งนากับเด็กๆ แล้วเด็กกลัวผี เราก็ต้องรับบทหมอผี ปราบสัมภเวสีให้เด็กด้วย

ส่วนกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ครูก็คือได้ไปลองเก็บข้าวโพด ได้จับปลา จับลูกอ๊อด แล้วก็ไปเป็นแม่ครัวในงานแต่งงานของคนในหมู่บ้าน เป็นหลายอย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อน

ใครเป็นคนเลือกหรือจัดการให้ว่าครูอาสาต้องสอนวิชาอะไร

โรงเรียนที่แพรวไปสอนเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในสังกัดรัฐบาล มีนักเรียนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง ป.6 ทั้งโรงเรียนมีครูกับนักเรียนกันอยู่ประมาณห้าสิบกว่าคน เป็นครูประจำเจ็ดคน แล้วก็ครูอาสาอีกสองคน แพรวได้สอนเด็ก ป.2 และ ป.4 แต่ก็มีสอนเด็กนักเรียนชั้นอื่นบ้างประปราย

ก่อนไปจะมีช่วงเวิร์กช็อปของโครงการ เพื่อคุยกันว่าเราถนัดอะไร คิดว่าจะสอนยังไง อย่างแพรวถนัดทางวิชาที่ต้องท่องจำ เช่น ภาษาไทย สังคม หรือวิชานอกห้องเรียน เช่น ศิลปะ หรือให้คำแนะนำเรื่องอาชีพต่างๆ เราจบนิเทศศาสตร์มา ก็เลยจะเน้นเรื่องการสื่อสาร การใช้สื่อหรือการครีเอทีฟ สร้างสรรค์วิธีสอนเป็นการ์ดเกมบ้าง ทำเป็นเกมโชว์บ้าง ไม่ให้เด็กๆ รู้สึกเบื่อ

มีอีกเคสครูอาสาอีกคนหนึ่งที่อยู่คนละโรงเรียน เขาจบด้านบริหารธุรกิจมา ก็ใช้ทักษะที่เรียนมาสอนเด็กๆ ให้สร้างเพจเฟซบุ๊กเอาไว้ขายย่ามผ้าทอของชนเผ่า สอนการตอบลูกค้า ซึ่งแพรวว่าแบบนี้มันดีมาก

ความเป็นอยู่ของครูอาสาเป็นอย่างไรบ้าง

ทางโรงเรียนมีบ้านพักครูให้ค่ะ พักกับครูอาสาอีกคนที่ไปด้วยอยู่ด้วยกัน บ้านพักที่แพรวอยู่ถือว่ามีสภาพดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ มีให้ครบเลย ส่วนอาหารสามารถไปกินได้ในโซนห้องครัวของโรงเรียนที่ใช้เตรียมอาหารให้กับเด็กๆ ทำอาหารกินกันเองก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีคุณครูประจำที่อยู่ที่นั่นทำให้กิน หรือบางทีตอนเย็น ก็จะมีคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่บ้านใกล้โรงเรียนก็จะชวนไปกินข้าวที่บ้าน แต่ความจริงบนดอยก็มีร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนม การกินอยู่ที่นี่ดีมาก

ประสบการณ์แปลกใหม่ในการเป็นครูอาสาที่เจอมามีอะไรบ้าง

จริงๆ มีเยอะมาก แต่ขอยกตัวอย่างเรื่องนี้แล้วกัน คือเราได้เห็นเด็กอนุบาล หุงข้าวทอดไข่ดาว ทอดไส้กรอกกินเองได้ ซึ่งตอนเราอายุเท่านี้ ยังขอให้พ่อชงนมให้อยู่เลย เราเลยรู้สึกว่าเด็กๆ ที่นี่มีสกิลการใช้ชีวิตที่ดีมาก คือถ้าต้องอยู่คนเดียว เขาก็สามารถเอาตัวรอดได้

หรือมีเด็กคนหนึ่ง เวลาที่แพรวสอน เขาจะค่อนข้างเรียนรู้ได้ช้ากว่าเพื่อน แต่พอไปดูวัว เขาสามารถจำหน้าและลักษณะของวัวได้ว่าวัวตัวนี้เป็นคนละตัวกับที่เจอเมื่อวาน ทั้งที่สีและลายก็เหมือนกัน และเราก็ดูไม่ออกเลย

และอีกเรื่องนึง คือตอนที่แพรวป่วย ทั้งเป็นไข้และเจ็บคอมาก ไอไม่หยุดเลย ฝากคนที่จะเข้าไปในเมืองซื้อยามาให้ก็ยังไม่หาย แต่พอไปเดินป่ากับแม่ของเด็กนักเรียน เขาหยิบผลไม้อะไรไม่รู้มาให้กิน ลูกมันจะสีเหลืองๆ ประมาณฝ่ามือ กัดไปแล้วคือขมฝาดมากจนแทบกินต่อไม่ได้ แต่พอกินเสร็จแล้วดื่มน้ำตาม ที่ไออยู่ก็หายทันที กลายเป็นความประทับใจของเรา เพราะถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี

เด็กบนดอยเป็นอย่างไรบ้าง

โดยส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้นะคะ แต่ด้วยความที่เด็กที่แพรวไปสอน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์เป็นชนเผ่า ‘ปกาเกอะญอ’ เขามีภาษาถิ่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นภาษาไทยนี่ถือเป็นภาษาที่สองของเขานะ ก็เหมือนเราคนไทยที่ไปเรียนภาษาต่างประเทศแหละ บางคนอ่านออกเขียนได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจภาษามาก เช่น คำแสลง สำนวน เขาอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ

ยกตัวอย่าง เราเห็นนักเรียน ป.6 ออกมาเตะบอลเวลาเรียน เราก็เลยถามว่านี่มันกี่โมงแล้ว เขาก็จะตอบว่าไม่รู้บ้าง หรือวิ่งไปดูนาฬิกามาบอกเราว่าเก้าโมงครับครู ทั้งที่เจตนาจริงๆ ของเราคือการดุเขาว่านี่มันกี่โมงแล้ว ทำไมยังมาเล่นอยู่ตรงนี้ต่างหาก (หัวเราะ) หรือเวลาที่เราอุทานว่า ตายแล้ว! เด็กจะตกใจมากว่าใครตายครับครู (หัวเราะ)

ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ของเด็กๆ ด้วยความที่ส่วนใหญ่ผู้ปกครองเขาเป็นชาวนาชาวสวน เด็กบางคนก็จะได้สกิลหรือหน้าที่นี้มาด้วย เช่น เลิกเรียนเสร็จก็ต้องไปช่วยแม่เลี้ยงหมู ไปจับปลา บางคนเป็นพี่ก็ต้องกลับไปอยู่บ้านเลี้ยงน้องๆ ระหว่างที่พ่อแม่ไม่อยู่ แต่ว่าเด็กๆ เขามีกิจกรรมให้ทำฟรีๆ เยอะ มีน้ำตกให้เล่นน้ำฟรี มีบุฟเฟ่ต์ต้นมะขามเก็บกินเท่าไหร่ก็ได้ แต่เด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือก็มีบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือเด็กๆ ทุกคนต้องมีหน้าที่ที่พ่อแม่มอบหมายให้รับผิดชอบ

โครงสร้างสังคมและการศึกษาของเด็กๆ เหมือนหรือต่างกับเด็กๆ ในเมืองยังไง

มันมีความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องการรับรู้ข้อมูลของเด็กๆ มากกว่า

ต้องเล่าย้อนไปว่า มีครั้งนึงแพรวจัดกิจกรรม ให้เด็กนักเรียนได้ทำความรู้จักอาชีพต่างๆ ด้วยการให้เด็กๆ เขียนจดหมายคุยและถามคำถามถึงคนที่ทำอาชีพนั้นๆ แล้วเราก็พยายามติดต่อหรือหาคนที่ทำอาชีพนั้นจริงๆ มาช่วยตอบจดหมายเด็กๆ แต่ความน่าเป็นห่วงก็คือข้อมูลการรับรู้ของเด็กในพื้นที่น้อยกว่าที่เราคิด มันเลยกลายเป็นข้อจำกัดของตัวเขา

เช่น เราแนะนำให้รู้จักกับอาชีพไกด์ท่องเที่ยว เด็กก็แปลกใจว่ามีอาชีพที่ไปเที่ยวแล้วได้เงินด้วยเหรอ หรือแนะนำอาชีพสถาปนิก เด็กๆ ก็ตื่นเต้น เพราะเขาโตมาด้วยการเห็นพ่อ หรือคนในหมู่บ้านสร้างบ้านกันเอง จึงไม่รู้ว่าเราจำเป็นต้องมีอาชีพออกแบบสิ่งปลูกสร้างกันด้วย

ที่เด็ดสุดเลยคือมีนักเรียนชายคนหนึ่ง บอกว่าความฝันคืออยากโตไปเป็นคนแต่งรถซิ่ง เพราะเป็นคนชอบรถ เวลาเห็นคลิปรถซิ่งตามยูทูบแล้วรู้สึกว่ารถเท่มาก เราก็เลยบอกเขาว่า ถ้าอยากทำรถน่าจะเป็นวิศวกรหรือเปล่า ถึงได้รู้ว่าเขาเพิ่งเคยได้ยินคำว่าวิศวกรครั้งแรก พอเราอธิบายและลองเปิดคลิปวิศวกรรถยนต์ให้ดู เขาเลยเข้าใจว่าจริงๆ แล้วอยากทำแบบนี้ต่างหาก แต่เขาไม่เคยรู้ว่ามีอาชีพแบบนี้

เทียบกับเด็กในเมืองหลวงที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลมากกว่า มีทุกอย่างคอยซัปพอร์ตมากกว่า ยิ่งถ้าเป็นเด็กในบ้านที่มีฐานะด้วย แค่บอกว่าโตขึ้นอยากเป็นวิศวกรก็มีสถาบันพร้อมติวให้ สมัยนี้บางโรงเรียนมีสอนเขียนโค้ดตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ นี่คือความแตกต่างที่เราเห็นได้ชัดเจน

“เรามองว่าสิ่งที่ครูอาสาทำมันคือการเอาพลาสเตอร์มาแปะบาดแผล ซึ่งมันเป็นแค่การแก้ปัญหาปลายทางให้พอประคองไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ระบบที่ดีจะช่วยทำให้เราเจอว่าแผลนั้นเกิดจากอะไร จะทำยังไงไม่ให้เกิดแผลขึ้นมาอีก และสุดท้ายเมื่อปิดโอกาสที่จะเกิดแผลได้ พลาสเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีก”

ทำไมถึงพื้นที่ห่างไกลหรือบนดอย ถึงต้องมีครูอาสา

จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่แพรวสงสัยมานาน เพราะคนส่วนใหญ่จะมองว่าการไปเป็นครูอาสาบนดอยเป็นการไปสนุกๆ ในเมื่อต้องมีครูบรรจุในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งครูที่บรรจุจริงๆ ก็มีนะ แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครอยากเป็นครูบรรจุบนดอย คำตอบก็คงเป็นเรื่องสวัสดิการ

สุดท้ายแพรวก็มาตกตะกอนได้ว่าคนที่ควรตอบคำถามนี้ไม่ควรเป็นเรา แต่ต้องเป็นคนที่อำนาจโดยตรงมากกว่า

เรามองว่าสิ่งที่ครูอาสาทำมันคือการเอาพลาสเตอร์มาแปะบาดแผล ซึ่งมันเป็นแค่การแก้ปัญหาปลายทางให้พอประคองไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ระบบที่ดีจะช่วยทำให้เราเจอว่าแผลนั้นเกิดจากอะไร จะทำยังไงไม่ให้เกิดแผลขึ้นมาอีก และสุดท้ายเมื่อปิดโอกาสที่จะเกิดแผลได้ พลาสเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีก

“เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ มันไม่ใช่แค่เรื่องสองเรื่อง แต่มันคือความบกพร่องของระบบที่ส่งผลกันเป็นทอดๆ จนมันกลายเป็นภาพใหญ่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตขาดหายไป”

นอกจากคุณครูไม่พอ อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ หรือความเหลื่อมล้ำอย่างที่รู้กัน โรงเรียนบนดอยยังมีปัญหาอะไรที่เรานึกไม่ถึงอีกบ้าง

เราอยากจะให้ทุกคนลองมองภาพให้กว้างมากขึ้นเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ สมมติ ถ้าวันนึงเรามีพลังวิเศษที่สามารถเอาโรงเรียนนานาชาติที่ดีที่สุดในประเทศ เอาครูที่เก่งที่สุดย้ายไปอยู่บนดอยได้ในพริบตาเดียว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ถึงเราจะมีโรงเรียนที่เนื้อที่เป็นไร่ มีครูที่เก่ง มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่ถ้าฝนตก นักเรียนก็จะเดินทางมาโรงเรียนไม่ได้ เพราะถนนที่เป็นดินจะลื่นและอันตรายเกินไป

หรือถ้าเด็กเกิดปวดฟันขึ้นมา ก็ต้องรอให้ถึงวันตรวจฟันประจำปีถึงจะมีหมอฟันขึ้นไปหาพวกเขา ไม่อย่างนั้นก็ต้องขับรถลงจากดอยเพื่อไปหาหมอในเมือง หรือวันดีคืนดีน้ำไม่ไหล ทุกคนก็ต้องไปช่วยกันขนน้ำในบ่อใช้ก่อน หรือสมมติวันหนึ่งมีนายทุนบอกว่าอยากได้แรงงานไปช่วยงานที่ไร่ ให้ค่าแรงวันละ 150 บาท คุณว่านักเรียนที่อยู่ตรงนั้นคงอยากโดดเรียนจริงไหม

เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ มันไม่ใช่แค่เรื่องสองเรื่อง แต่มันคือความบกพร่องของระบบที่ส่งผลกันเป็นทอดๆ จนมันกลายเป็นภาพใหญ่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตขาดหายไป

“ไม่ว่าจะเป็นเด็กในเมืองหลวง เด็กต่างจังหวัด หรือเด็กบนดอย ทุกคนสมควรได้รับ ‘การเลี้ยงดูที่ดี’ และ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ เพราะจากที่เห็นมา เราพูดได้เต็มปากว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเด็กในเมืองหรือเด็กบนดอยก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ดีพอสำหรับเขาอยู่ดี”

“เด็กบนดอยไม่มีถนนใช้ ต้องเดินลุยน้ำลุยดินอันตราย แต่เด็กกรุงเทพฯ ก็ต้องเดินข้ามถนนที่รถไม่ยอมหยุดให้ข้าม ต้องนั่งรถสาธารณะที่ไม่ตรงเวลา ฟุตปาธที่มีน้ำขัง เรื่องแบบนี้ต่อให้เราทุกคนพร้อมใจกันบริจาคเงินและสิ่งของเป็นสิบล้าน มันก็ยังอยู่ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคนที่มีอำนาจในการแก้ไข ทุกอย่างถึงเปลี่ยนแปลงได้”

จากประสบการณ์การเป็นครูอาสา มีอะไรที่อยากสื่อสารออกมาให้สังคมรับรู้มากขึ้นบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเด็กในเมืองหลวง เด็กต่างจังหวัด หรือเด็กบนดอย ทุกคนสมควรได้รับ ‘การเลี้ยงดูที่ดี’ และ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ เพราะจากที่เห็นมา เราพูดได้เต็มปากว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเด็กในเมืองหรือเด็กบนดอยก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ดีพอสำหรับเขาอยู่ดี

เด็กบนดอยไม่มีถนนใช้ ต้องเดินลุยน้ำลุยดินอันตราย แต่เด็กกรุงเทพฯ ก็ต้องเดินข้ามถนนที่รถไม่ยอมหยุดให้ข้าม ต้องนั่งรถสาธารณะที่ไม่ตรงเวลา ฟุตปาธที่มีน้ำขัง เรื่องแบบนี้ต่อให้เราทุกคนพร้อมใจกันบริจาคเงินและสิ่งของเป็นสิบล้าน มันก็ยังอยู่ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยคนที่มีอำนาจในการแก้ไข ทุกอย่างถึงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าอยากเห็นความสุขของเด็กทุกคน นี่ก็เป็นเรื่องที่เราอยากให้สังคมโฟกัสมากขึ้น

สัมภาษณ์วันที่ 29 เมษายน 2565

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST