READING

ความกังวลของพ่อแม่คือภาพสะท้อนของสังคม: คุยเรื่องอ...

ความกังวลของพ่อแม่คือภาพสะท้อนของสังคม: คุยเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จากประสบการณ์สามสิบปีในวงการพ่อแม่ของ สุภาวดี หาญเมธี แห่ง ‘รักลูกกรุ๊ป’

วันหนึ่งในแอปพลิเคชัน Clubhouse เราตั้งห้องคุยว่าด้วยบทบาทของปู่ย่าตายายกับการเลี้ยงเด็กในยุคสมัยนี้ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเข้าใจมุมคิดของฝั่งผู้ใหญ่ด้วย จึงได้ชวน พี่ติ่ง—สุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหารสถาบันรักลูกกรุ๊ป (RLG) อดีตบรรณาธิการนิตยสารรักลูก และผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนเพลินพัฒนา เข้ามาร่วมวงพูดคุย ในฐานะ คุณย่า ของหลานชายวัยซนสองคน

แต่เราพบว่าพี่ติ่งพาเราไปไกลกว่าปัญหาความไม่เข้าใจกันของคนต่างวัยในครอบครัว เพราะในการพูดคุยวันนั้นยังพูดถึงวิธีคิด การเติบโต การส่งต่อค่านิยมและความเชื่อ อันเชื่อมโยงกับพัฒนาการของสังคมแต่ละยุคสมัย เราจึงอยากชวนพี่ติ่งคุยเรื่องนี้ต่ออย่างจริงจังเพื่อบันทึกความคิดและความรู้เหล่านั้นเอาไว้ในรูปแบบของบทความ

และนั่นก็เป็นเหตุผลให้เราขออนุญาตเข้าไปสัมภาษณ์พี่ติ่ง ถึงบริษัทรักลูก องค์กรที่ทำงานกับแม่ เด็ก และครอบครัวมายาวนานกว่าสามสิบปี

หากเราเป็นคนรุ่นเดียวกัน คงเคยได้เห็นหน้าปกนิตยสารรักลูกตามแผงหนังสือ เคยเปิดดูรายการ ดวงใจพ่อแม่ และเมื่อคนรุ่นเรากลายมาเป็นพ่อแม่เสียเอง ก็ยังได้ใช้คู่มือเลี้ยงลูก ตำราพัฒนาการเด็ก ของสำนักพิมพ์นี้ยามที่ต้องการข้อมูลอยู่บ่อยครั้ง

เราจึงอยากฟังมุมมอง ของคนที่ทำงานด้านนี้ยาวนานต่อเนื่อง เป็นผู้อยู่ในยุคสมัยที่ความตื่นตัวเรื่องการเลี้ยงลูกเริ่มจุดติด จนถึงทุกวันนี้ที่ข้อมูลความรู้สำหรับพ่อแม่ท่วมท้น แต่ดูเหมือนว่า พ่อแม่ทุกคนก็ยังเต็มไปด้วยความกังวลอย่างไม่จบสิ้นเสียที

เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว การมีลูกของคนสมัยนั้นเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกว่า มันเป็นการเล่าผ่านประสบการณ์ตัวเองนะ ซึ่งเป็นคนรุ่นเบบี้บูม เข้าใจว่าคนรุ่นพ่อแม่เราก็เลี้ยงลูกกันมาตามวิถีวัฒนธรรมพื้นฐาน ถ้าเป็นคนไทยก็จะมีคำสอนว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก, รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ทางอีสานจะมีคำผญา เป็นภูมิปัญญาการใช้ชีวิตที่ส่งต่อกันมา เพราะอย่างนั้นพ่อแม่จึงไม่ได้เลี้ยงลูกต่างไปจากที่ตัวเองถูกเลี้ยงมา พ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา เรียนจบ ป.6 หรือ ม.3 ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือมาก มีน้อยคนมากที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แต่ละวันก็เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ถ้าทำงานก็เอาลูกไปด้วย จะมีบ้างที่เป็นครอบครัวข้าราชการ คนที่ทำงานบริษัทนี่ถือว่าน้อยมาก เพราะว่าสมัยก่อนมันก็เป็นกิจการขนาดเล็ก เป็นร้านค้าขาย อย่างพี่ติ่งเองก็โตมาในบ้านที่ค้าขาย

ดังนั้นการเรียนรู้ของเรา จึงเป็นการเรียนรู้จากครอบครัวจริงๆ เราเห็นว่าพ่อแม่สอนเราอย่างไร ปฏิบัติกับเราอย่างไร มีความสัมพันธ์กับเครือญาติอย่างไร คำสอนทั้งหลายมันก็ส่งผ่านกันมาในระบบครอบครัวใหญ่

ทีนี้พอมาถึงรุ่นเราที่เป็นเบบี้บูม เราได้เรียนหนังสือกันเยอะมากขึ้น ชนชั้นกลางจะมีโอกาสเรียนจนจบมหาวิทยาลัยมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า เราโตขึ้นมาด้วยวิถีและวัฒนธรรมของครอบครัว แต่มาได้ความรู้ที่กว้างขึ้นเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย

และบังเอิญช่วงนั้นสังคมกำลังเปลี่ยน คือสังคมเรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ซึ่งก็คือรุ่นพ่อแม่ของพี่ พวกเขาก็มีความรู้สมัยใหม่บ้าง แต่ยังน้อยมาก เช่น เริ่มมีการให้ลูกกินนมทดแทนนมแม่ เพราะเมื่อก่อนเราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เริ่มมีการใช้นมอย่างอื่นในการเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นนมคุณภาพต่ำ เช่น นมข้นหวาน คนคิดว่าใช้เลี้ยงลูกได้ ที่บ้านพี่ก็เห็นเองกับตาว่าแม่เอานมข้นหวานผสมน้ำน้องกินอยู่บ้าง เพราะเขาไม่รู้ว่ามันไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ นี่คือภาพของการเลี้ยงลูกในยุคก่อนที่เราจะเป็นพ่อแม่

ต่อมาสังคมเปิดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีความรู้สมัยใหม่เข้ามาเหมือนตอนนี้ แต่มันจะเข้ามาผ่านนักวิชาการ หมอ ครูบาอาจารย์ที่ไปเรียนเมืองนอก ก็นำความรู้เข้ามา แล้วช่วงที่เราอยู่มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ก็ได้เห็นว่า คนเริ่มพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาที่ดีมากขึ้น เป็นช่วงที่เราตั้งคำถามและพูดถึงสิ่งนี้กันอย่างกว้างขวาง คือก่อนหน้านี้มันก็อาจจะมีการพูดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แมสขนาดที่คนทั่วไปจะพูดถึงได้เหมือนในตอนนั้น

เราคิดว่าสังคมมันต้องเปลี่ยน แต่มันจะเปลี่ยนจากอะไร การเข้าป่าแล้วจับปืนสู้กับอำนาจรัฐ มันใช่แนวทางของเราไหม เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่วิถีของเรา เพราะเราไม่ได้ชอบความรุนแรง ก็เลยคิดต่อไปว่า อย่างนั้นเราจะเปลี่ยนสังคมด้วยอะไร เราก็คิดถึงการเปลี่ยนด้วยการสร้างคน

คนหนุ่มสาวช่วงนั้นพูดถึงอะไรกันบ้าง

ด้วยบรรยากาศสภาพสังคมที่มันมีความกดทับ คนก็ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษา ระบบการให้โอกาสคน ระบบการเมืองการปกครอง ซึ่งพอแตะการศึกษา มันก็พาไปถึงเรื่องแนวทางการเลี้ยงดูเด็กได้ มีคนแปลหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ (Pedagogy of the Oppressed) ของเปาโล เฟรรี พูดถึงการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้คนไม่ถูกเอาเปรียบมันเป็นอย่างไร พอได้อ่านก็แล้วก็ตั้งวงเสวนากันถึงประเด็นนี้ สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กก็แปลหนังสือชื่อ เสรีภาพไม่ใช่การตามใจ เพื่อบอกว่าเสรีภาพไม่ใช่การตามใจเด็กนะ แต่มันก็คือการทำให้คนเรากล้าที่จะคิด จะแสดงออก แนวคิดเหล่านี้ก็เลยค่อยๆ เข้ามาในสังคมเรา

เราเองก็สนใจเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง สมัยเรียน (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)​ ยังไม่ได้สนใจเรื่องเด็กเท่าไร แต่สนใจการเมืองมากกว่า พอเรียนจบก็เข้าป่า พอกลับออกมา ถึงได้เริ่มสนใจเรื่องเด็ก ในแง่ที่ว่า เราคิดว่าสังคมมันต้องเปลี่ยน แต่มันจะเปลี่ยนจากอะไร การเข้าป่าแล้วจับปืนสู้กับอำนาจรัฐ มันใช่แนวทางของเราไหม เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่วิถีของเรา เพราะเราไม่ได้ชอบความรุนแรง ก็เลยคิดต่อไปว่า อย่างนั้นเราจะเปลี่ยนสังคมด้วยอะไร เราก็คิดถึงการเปลี่ยนด้วยการสร้างคน มันก็ย้อนคิดไปถึงหนังสือของเปาโล แฟรรี ที่ทำให้เราพอจะมองเห็นว่า คนที่เขาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมจำนวนไม่น้อย ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนการศึกษา และการพัฒนาคน เราก็เลยพาตัวเองมาทางนี้

ความสนใจที่จะอยากเรียนรู้โลกและพัฒนาเด็กให้กล้าคิดกล้าทำ เป็นตัวของตัวเอง ตามโลกข้างหน้าได้ อาการแบบนี้มันเกิดขึ้นในรุ่นเบบี้บูม ที่อยากเลี้ยงลูกให้ทันสมัย

ความคิดนั้นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มทำหนังสือ

ออกจากป่ามาได้สามเดือนเราได้ไปทำนิตยสาร ลูกรัก ของพี่นิดา หงส์วิวัฒน์ สำนักพิมพ์แสงแดด เป็นคนทำหนังสือแม่และเด็กรุ่นแรกๆ จากนั้นไปทำมูลนิธิเด็กอีกสองปีกว่า แล้วกลุ่มแปลนฯ​ ก็มาชวนทำนิตยสารอีกครั้ง จึงตั้งชื่อว่า รักลูก

คนอ่านในสมัยนั้นยังไม่มีมาก แต่ว่ามันมีความต้องการ เพราะเรามีปัญญาชนรุ่นใหม่ที่ผ่านสังคมที่เลวร้ายมา และเขาต้องการสังคมที่ดีขึ้น อยากพัฒนา อยากเห็นการพัฒนาคน

จึงมีปรากฏการณ์ที่ว่า คนใส่ใจเรื่องการเลี้ยงลูกมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้อ่านหนังสือ แต่ใช้วิธีถามหมอบ้าง ถามปู่ย่าตายายบ้าง แต่คนรุ่นนั้นก็เริ่มทำงานในระบบอาชีพ เช่น ราชการ เอกชน ต้องออกจากบ้าน ผู้หญิงออกมาทำงานมากขึ้น ก็เลยเริ่มมีความสนใจที่จะอยากเรียนรู้โลกและพัฒนาเด็กให้กล้าคิดกล้าทำ เป็นตัวของตัวเอง ตามโลกข้างหน้าได้ อาการแบบนี้มันเกิดขึ้นในรุ่นเบบี้บูม ที่อยากเลี้ยงลูกให้ทันสมัย

ตอนนั้นเมืองไทยมีคุณหมอที่ทำงานด้านนี้ไม่กี่ท่าน เช่น คุณหมอชนิกา ตู้จินดา, คุณหมอส่าหรี จิตตนันทน์ เป็นสองท่านที่เขียนคู่มือการเลี้ยงลูก ในขณะเดียวกันทางฝั่งอเมริกา ก็คล้ายกันนะ เบบี้บูมพอมีลูกและทำมาหากิน ตั้งตัวเองเป็นชนชั้นกลางขึ้นมาได้ ก็เริ่มสนใจความรู้ ตอนนั้นก็มีหนังสือคุณหมอ Benjamin Spock ขายได้เป็นล้านๆ เล่ม ดังนั้นความเข้าใจของเราก็คือว่า ความสนใจเรื่องการเลี้ยงลูก มันมาตามพัฒนาการของสังคม เมือสังคมเปิดกว้างให้คนมีโอกาสได้เรียนหนังสือมากขึ้น เห็นโลกกว้างขึ้น มีข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาบ้าง สมัยนั้นยังมีการคุยกันอยู่เลยว่า เราควรทำอัลตราซาวนด์ไหม จะเป็นอันตรายหรือเปล่า (หัวเราะ) พี่ติ่งยังเคยโดนคุณหมอบ่นมาเลยว่า พวกแม่เนี่ยรู้มาก ถามเยอะจนหมอปวดหัว เพราะว่าไปอ่านหนังสือพวกนี้มา เลยมาซักโน่นซักนี่ (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องไม่คุ้นของหมอ เพราะก่อนหน้านั้นหมอก็มีหน้าที่รักษาดูแลเป็นหลัก แต่ตอนนั้นคนเริ่มถามเยอะ อยากรู้เยอะ เพราะว่าพ่อแม่เริ่มได้ข้อมูลมากขึ้น ก็เลยแอ็กทีฟมากขึ้น

ดูเหมือนว่า Ecosystem ของวงการแม่และเด็ก เริ่มเกิดขึ้นแล้วในสมัยนั้น

ใช่ค่ะ การเติบโตของสังคมช่วงนั้นมันไปด้วยกันหมด เช่น ภาคธุรกิจ ก็เริ่มมีของเล่น มีของใช้เด็ก สมัยก่อนช้อนป้อนข้าวลูกก็คือช้อนที่พ่อแม่กิน (หัวเราะ) อุปกรณ์เด็กทั้งหลายดูเป็นของหรูหรา ของเล่นจริงๆ ก็มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ส่วนมากเด็กก็เล่นกันเอง เล่นตามบ้าน กิ่งไม้ใบหญ้า เอาฝาขวด ฝากระป๋องมาเล่นขายของ แต่ช่วงนั้นเองที่เราเริ่มเห็นว่ามีคนผลิตของเล่นขาย ส่วนหนึ่งมันก็มาจากต่างประเทศที่เขาพัฒนาไปพอสมควร รวมถึงการมีกำลังซื้อของคนชั้นกลางมีส่วนให้มีความต้องการบริโภคสูงมากขึ้นด้วยความที่เราเป็นนักกิจกรรม พอเราทำหนังสือไปได้ซักพัก ก็เริ่มคิดว่า เราน่าทำกิจกรรมนะ นิตยสารสมัยนั้น ถามว่าขายดีไหม เราพิมพ์ 3,000-4,000 เล่ม ก็ขายได้สักพันกว่าเล่ม มันไม่มีทางได้กำไรอยู่แล้ว ก็ต้องขายโฆษณา

แต่เราก็คุยกันว่า เรามองเห็นสัญญาณบางอย่างที่ดี เพราะว่าเราเห็นอัตราการสมัครสมาชิกสูงมากขึ้น ช่วงที่พีกมากๆ สมาชิกเป็นหมื่นๆ คนนะคะ เยอะจนเราต้องระวังว่ามันเยอะเกินไป เพราะ มันมากเกินจุดสมดุลของมัน แต่เราก็เห็นว่า สิ่งที่พ่อแม่ต้องการ ไม่ใช่แค่ความรู้ ตอนนั้น รักลูก ค่อนข้างจะเป็นหัวหอกในด้านของการให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงเด็ก วิธีคิดต่อเด็กควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่กินอยู่หลับนอนเท่านั้น

วิธีคิดของสังคมในช่วงนั้นเป็นอย่างไร

พ่อแม่ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือสังคมได้ แล้วไม่ต้องมาดูแลเรานะ เรายังคุยกันในกองบ.ก. ว่า เราต้องโยนความคิดหนึ่งเข้าไปนะ เพราะเรายังเชื่อว่า สังคมแบบตะวันออกยังตอบโจทย์ความเป็นครอบครัวได้ดี ยังจำได้ว่าเรามีการโต้ความคิดกันในบทนำบ้าง ในเนื้อหาบ้างกันอยู่

ตอนเราไปเมืองนอกครั้งแรก ไปที่บ้านพักคนชรา เจ้าหน้าที่ก็พาคนชรามานั่งรับแดด เราเห็นแล้วก็รู้สึกว่าอยากเอามานำเสนอไปในหนังสือเรา ว่าเราอยากให้สังคมไปทางนี้จริงไหม ฝรั่งเขาเลี้ยงลูกแบบสุดทิ่มประตู ให้เผชิญโลก ให้ผจญภัย พออายุ 30-40 ก็ประสบความสำเร็จ แล้วพออายุหกสิบ คุณกลายเป็นคนที่ไม่มีความหมาย เราเลยตั้งคำถาม แล้วก็เอามาคุยกันในกองฯ ก็มีคนอ่านเขียนจดหมายมาแสดงความคิดเห็น

พอความอุดมสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจมันดี คนเราก็เลยเริ่มต่อสู้กันทางความคิดบ้าง ว่าทางที่ควรจะไปเป็นแบบไหนจะดีที่สุด

อีกอย่างเราก็เริ่มมีความรู้เรื่องการไม่เร่งเด็ก ได้คุยกับอาจารย์หม่อม (หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา) เรื่องการเรียนอนุบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอิสราเอล เพราะว่าตอนนั้นเขากำลังสร้างประเทศ เลยระดมคนอิสราเอลจากทุกที่ให้กลับไปที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เขามีความรู้เรื่องการศึกษาอนุบาลดีมาก ทำให้เรารู้เรื่องปฐมวัยเป็นรากฐานชีวิต แต่ตอนนั้นประเทศเรากลับเริ่มมีกระบวนการคัดเด็กกันแล้ว จะต้องแย่งกันเข้า ต้องเรียนที่โน่นที่นี่

สมัยก่อนโรงเรียนสาธิตจะดังในหมู่นักวิชาการ หรือคนที่รวยระดับท็อปของสังคม แต่ช่วงที่เราทำ รักลูก เรามองเห็นเลยว่า ความต้องการของคนชั้นกลาง ที่คิดว่าลูกเราก็เก่งหนิ ก็อยากจะถีบตัวเองขึ้นไป กลายเป็นกระแสที่ใหญ่มากขึ้น พ่อแม่ที่เริ่มมีสตางค์ เริ่มคิดว่าเราเองก็ดูแลลูกมาดี ลูกก็น่าจะได้รับโอกาสแบบนั้นบ้าง ก็เริ่มพยายามเอาลูกเข้าไปเรียน

แต่เรายังมีผู้ใหญ่ มีนักวิชาการที่เคารพในหลักการอยู่จริงๆ เช่น โรงเรียนที่ไม่สอบ จับฉลากอย่างเดียว

บรรยากาศของคนรุ่น 14 ตุลา พอมีลูกก็อยากได้โอกาสสำหรับลูกตัวเอง คิดว่าเราแข็งแรง ลูกเรายิ่งต้องแข็งแรงขึ้นไปอีก มันเป็นธรรมชาติมนุษย์เราก็เข้าใจได้ เพียงแต่เราก็ต้องประคองกระแสสังคมไม่ให้มันมากเกินไป แต่เราก็พบว่า เราสู้ไม่ไหว (หัวเราะ)

ความกังวลของพ่อแม่สมัยนั้นเป็นเรื่องอะไรบ้าง

ก็หลากหลาย แต่ปัญหาอย่างพวก ลูกดื้อ จะน้อยนะ ไม่รู้ทำไม ที่เจอเยอะคือพวกแม่ผัวลูกสะใภ้ (หัวเราะ) คนแก่กับเราทำไมคิดไม่เหมือนกัน และปัญหาสุขภาพ ปัญหาพัฒนาการ แต่ปัญหาเรื่องพฤติกรรมจะไม่มากอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

คิดว่าเป็นเพราะอะไร

ถ้ามองจากชีวิตตัวเอง ย้อนหลังไปคนรุ่นก่อนเราจะไม่เห็นอะไรซับซ้อนวุ่นวาย ไม่ค่อยเจอปัญหาว่างั้นเถอะ การเลี้ยงลูกมันเลยราบรื่น พอมารุ่นเบบี้บูม ก็ยังไม่เจอปัญหามากนัก มันจะเป็นเฉพาะครอบครัว เช่น ครอบครัวที่แตกแยก เราจะเห็นเลยว่ามันกระทบ แต่มันสะท้อนภาพทั้งหมดของสังคมไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกว่าเราก็อยู่ในฐานะคนชั้นกลาง คนอ่านหนังสือเราก็คือพ่อแม่ชนชั้นกลาง เราอาจจะตอบไม่ได้ว่าความทุกข์ในครอบครัวยากจนคืออะไร เพราะปัญหามันอาจจะมาไม่ถึงเราก็ได้

แต่พูดได้ว่า ในกลุ่มผู้อ่านของเราเนี่ย ความใส่ใจต่อลูกนั้นมีอยู่ เพราะตอนนั้นการซื้อนิตยสารสักเล่ม ถือว่าราคาสูง เงินเดือน 3,000-5,000 บาท มาซื้อหนังสือเล่มละ 25 บาท ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแบบนั้น ความที่สังคมมันไม่ซับซ้อนสับสนมากจนเกินไป วิถีชีวิตเรายังคาดคะเนได้ เช่น เอาลูกไปส่งโรงเรียน เสร็จแล้วลูกจะทำอะไรบ้าง มันนึกภาพพอออก มันไม่ค่อยมีอะไรที่หลงหูหลงตา ประเด็นเชิงพฤติกรรม ที่เป็นความกังวลแบบที่พ่อแม่สมัยนี้มี ก็จะไม่มากเท่า เด็กเกเรก็จะเป็นเกเรเมื่อโต เมื่อเริ่มรวมเป็นแก๊งกับเพื่อน แต่มันไม่ซับซ้อน ส่วนปัญหาทางจิตวิทยา ส่วนใหญ่ก็จะมาจากครอบครัวที่ไม่แข็งแรง

แต่พอเศรษฐกิจมันโตมาก แม่ออกมาจากบ้านมาทำงานมากขึ้น มีเทคโนโลยี มีอิทธิพลจากสื่อ เราจะเห็นว่าปัญหาเชิงพฤติกรรมของเด็กก็เพิ่มขึ้นมา

แล้วความกังวลที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยของพ่อแม่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน คืออะไร

ความกังวลของพ่อแม่ชั้นกลางจะสนใจเรื่องการประสบความสำเร็จของลูก เรื่องการเรียน การทำงาน จะวนอยู่แถวนี้ค่อนข้างมาก มากจนทำให้เรารู้สึกว่าเขามองข้ามหลายเรื่อง เช่น ความสุข เริ่มเห็นแม่ที่พาลูกไปติวเยอะๆ ปี 2530-2540 เศรษฐกิจดี สังคมแข็งแรง ความมั่นใจของพ่อแม่ก็เลยดี ความคิดที่มีต่อการพัฒนาเด็กเฟื่องฟู และเป็นบันไดไปในทางบวก

แต่พอเข้าสู่ปี 40 เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องการศึกษา เรามี พ.ร.บ. การศึกษาปี 42 พูดเรื่องปฏิรูปการศึกษา ว่าเด็กๆ เรียนแบบเดิม หรือแค่ท่องจำไม่ได้แล้วนะ ต้องมีโรงเรียนที่พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วม และความคิดแบบนี้ก็มีมากขึ้น สะท้อนว่าของเก่ามันไม่โอเค เพราะเศรษฐกิจมันเดินหน้า สังคมเดินหน้า แต่การศึกษาอยู่ที่เดิม ก็เลยเกิดแรงเหวี่ยงให้ระบบการศึกษาต้องเปลี่ยน

แต่ปรากฏว่ายิ่งแย่ไปใหญ่ เพราะมันเปลี่ยนเฉพาะความคาดหวัง แต่ในทางปฏิบัติการ ไม่มีใครที่จะเข้าไปช่วยทำให้เห็นผล ไม่เห็นการพัฒนาที่ชัดเจน พ่อแม่ก็เลยทุรนทุราย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผลของการศึกษาก็ไม่ดี แต่เราก็ยังต้องดิ้นรน ที่ไหนเขาว่าดีเราก็ต้องพาลูกไป เป็นความคาดหวังที่ไม่เคยเปลี่ยน ก็คืออยากเห็นลูกประสบความสำเร็จผ่านการเรียน เป็นบันไดเดียวที่เราเห็นชัดเจนที่สุด แล้วก็อาจจะล้มน้อยที่สุด

เราทุกคนมุ่งไปทางนี้ โดยที่ลืมมองไปทางอื่นว่า โลกมันเปลี่ยน ปัจจัยหลายอย่างมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้จะยังไม่มีเทคโนโลยีมาก แต่ก็เปลี่ยนไปเยอะ เราต้องการคนกล้าคิด ทำเก่ง คิดเป็น แต่พ่อแม่จะมองเรื่องเหล่านี้น้อย แล้วไปสนใจว่า คะแนนเท่าไหร่ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ได้เท่าไร เราก็ยังวนกันอยู่แค่นี้ เอาความคาดหวังไว้ที่บนสุด แล้วสุดท้ายมันก็กดทับลงมาจนถึงเด็กเล็ก ทั้งที่จริงแล้วเขาไม่ต้องเรียนอะไรเลยก็ได้ ไม่มีปัญหา

ถ้าบอกว่ายุคสมัยนั้น ทุกคนมีความหวังและตื่นตัวกับการเลี้ยงเด็ก มีองค์ความรู้มากมาย รู้เรื่องการเล่น ไม่เร่งเรียน ทักษะสมองต่างๆ แต่ผ่านมาสามสิบปี ทำไมเรายังพูดเรื่องเดิม

มันมีตัวอย่างของคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ แล้วก็พาเด็กไปได้ดี เช่น โรงเรียนอนุบาลสามเสน เด็กส่วนใหญ่ของเขาเป็นเด็กปกติมาก เล่าเรียนและเติบโตไปตามปกติ สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่แพ้คนที่เร่งเรียนกันมาแต่เด็ก

แต่ความกังวลของพ่อแม่กลับไม่เปลี่ยน และระบบการศึกษาของเราก็ไม่ได้ปรับตัว เรากลายเป็นประเทศที่พ้นเส้นยากจนในทางเศรษฐกิจไปแล้ว แต่การศึกษาเรายังเป็นการศึกษาสำหรับประเทศยากจนอยู่เลย เพราะงั้นเมื่อมันไม่เปลี่ยน คนก็ยิ่งกลัว หลักประกันที่ดีที่สุดคือ อะไรที่เขาว่าดี ฉันต้องไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ก่อน เอาตัวให้รอดไปก่อน การศึกษามันเลยไม่เปลี่ยนจริงๆ

คนรุ่นเบบี้บูมที่เป็นพ่อแม่เป็นชนชั้นกลาง ได้ไปทำการค้า ดีลกับต่างประเทศเยอะแยะ แต่เราลืมหันมามองว่า ลูกเราไม่ได้เรียนอะไรที่เกี่ยวกับการเปิดโลกให้กว้างเลย ความคิดด้านการศึกษามันแคบมาก คนเป็นพ่อแม่ก็ถูกบังคับ โดนกดดันโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่เรื่องอื่นคุณก้าวหน้ามากแล้วนะ แต่กับเรื่องนี้เรายังติดอยู่ มีทางให้เลือกอยู่แค่นี้ เหมือนทุกคนกำลังยอมจำนน ทกคนไม่มีทางออก

เวลาเราคุยกับพ่อแม่ เราก็ถามว่า คุณก็ไปเรียนเมืองนอกมา แล้วทำไมคุณถึงทำแบบนี้ เขาก็จะบอกว่า เขาไม่มีทางเลือก นี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสังคมเท่าที่เขาจะเลือกได้ พ่อแม่รู้ทุกอย่าง แต่เลือกไม่ได้ในช่วงหลังเริ่มมีโรงเรียนทางเลือกเกิดขึ้น เราก็เริ่มมองเห็นว่าพ่อแม่หลายคนต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่ายสำหรับพ่อแม่ทุกคน มันก็ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มของพ่อแม่ที่ไม่มีห่วงทางเศรษฐกิจ กล้าพาไปเข้าโรงเรียนแบบนี้ได้ สมมติว่าเราพาลูกเราไปทดลองแบบนี้แล้วไม่สำเร็จจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ยังมีทางออกอื่นๆ แต่ถ้าคนที่เขาไม่มีทางออกอื่นมากนัก เขาก็จะคิดว่าไปทางเดิมดีกว่า มันชัวร์กว่า

มันมีช่วงที่ รักลูก อิ่มตัว และทำอย่างอื่นต่อไหม

เราทำหลายอย่าง มีช่วงหนึ่งเราไปทำพิพิธภัณฑ์เด็ก ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สมัยของผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล มันเป็นโอกาสที่เราจะทำให้คนเข้าใจว่า คนเราเรียนรู้ผ่านการเล่นได้ ไม่ได้จำเป็นต้องเรียนต้องสอบ การเรียนรู้ของเด็กมีความหมาย

แต่เราก็พบว่า ถ้าเป็นในต่างประเทศ เมื่อมีพิพิธภัณฑ์อะไรแบบนี้เกิดขึ้น โรงเรียนจะต้องเข้ามาใช้ประโยชน์ แต่นี่เราต้องไปอ้อนวอนขอให้มา เพราะว่าไม่มีรถโรงเรียน ไม่มีค่ารถ โรงเรียนที่ชอบเรียนก็บอกว่ามาแล้วจะเสียเวลาเรียน

มันทำให้เราเข้าใจว่า ความหมายของคำว่าการเรียนรู้มันยังไม่ได้ฝังลงไปในคนทั่วไป พ่อแม่ หรือครูเท่าไรนัก

คือบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็ก คุณภาพคนไม่ใช่วาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ใน agenda ของประเทศ มันเลยมีแค่วันเด็กนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่เคยถูกตั้งอกตั้งใจที่จะทำ แล้วจะไปคาดหวังความเข้าใจจากพ่อแม่ฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้

แต่ครูไม่เข้าใจไม่ได้หรือเปล่า

คุณครูเข้าใจคำว่าการศึกษา แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าน่าเสียดาย ยุคหลังๆ มีคนเข้ามาทำกิจกรรมสำหรับเด็กเยอะมาก ซึ่งมันดีนะ เด็กทุกคนควรจะได้โอกาส แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าโอกาสอยู่ในมือของคนที่มีกำลัง มันก็น่าเสียดาย และมันก็มีปัจจัยอื่นด้วย นอกไปจากพ่อแม่หรือการศึกษา ระบบการพัฒนาเมืองก็ไม่ได้คิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง แม้หลังๆ จะมีพวก TK Park แต่ก็ยังต้องดิ้นรน และคนทำงานเองก็ต้องพยายามเยอะ เพื่อจะทำให้คนเข้าใจ

คือบ้านเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็ก คุณภาพคนไม่ใช่วาระสำคัญ ไม่ได้อยู่ใน agenda ของประเทศ มันเลยมีแค่วันเด็กนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่เคยถูกตั้งอกตั้งใจที่จะทำ แล้วจะไปคาดหวังความเข้าใจจากพ่อแม่ฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้

อย่างในปัจจุบัน ที่วงการพ่อแม่เริ่มตื่นตัวกันอีกครั้ง รักลูก วางตัวเองไว้ตรงไหน

ด้วยความที่เราอยากทำ ecosystem รอบตัวเด็ก และทำงานกับพ่อแม่ชั้นกลางมานานยี่สิบปีแล้ว อาจารย์ประเวศ วะสี จึงท้าเราว่าให้ลองทำเรื่องการสร้างการเรียนรู้ในชนบทบ้าง เราก็เลยลงไปทำเรื่องครอบครัวเข้มแข็ง

ในการทำงานตลอดมา เราเห็นว่า ในขณะที่เราทำงานกับพ่อแม่ ทำงานสื่อไม่ว่าจะทางเดียวหรือสองทาง มันค่อนข้างจะเป็นไปตามอัธยาศัย คือใครมาได้ก็มา ใครได้อ่านก็ได้อ่าน หลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าจะติดตามกันต่อยังไง เพราะไม่มีเครื่องมือในการติดตาม

แต่ว่าพอเราลงไปทำงานในพื้นที่ 90 ชุมชนทั่วประเทศ เข้าไปปุ๊บ เราเอาผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูบาอาจารย์ กลุ่มแม่บ้าน มาตั้งคำถามว่า เรื่องเด็กสำคัญไหม คนแก่สำคัญไหม ครอบครัวสำคัญไหม จนเขาสุกงอมพอที่จะมองว่า ชุมชนเราจะเอาเรื่องครอบครัวเป็นตัวตั้ง เพราะว่ามันจะเป็นที่มาของเรื่องดีทุกอย่าง และเป็นที่มาของเรื่องไม่ดีทุกอย่างได้เช่นกัน

เราจึงชวนเขาทำโครงการ เน้นเรื่องการเรียนรู้เป็นหลัก เพราะเราคิดว่าคนเราจะเปลี่ยนความคิดได้ ต้องเกิดการเรียนรู้ มันสำคัญมาก มันเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนการตัดสินใจของคนได้ เราชวนสร้างแกนนำในชุมชน เอาอาสาสมัครมาเรียนรู้ว่าครอบครัวคืออะไร นิยามเป็นแบบไหน

เราใช้คำว่า ‘ครอบครัวเข้มแข็ง’ ไม่ใช่ครอบครัวอบอุ่น เพราะว่าแค่อบอุ่นมันไม่พอ ครอบครัวต้องเข้มแข็ง แล้วเข้มแข็งด้วยอะไร ก็ด้วยสิ่งที่คุณมีอยู่นั่นแหละ พ่อแม่สอนอะไรมา แล้วมีอะไรที่คิดว่ามันใช้ได้ และคุณคิดว่ามันทำให้คุณเป็นตัวเป็นตนมาจนวันนี้ได้

เราชวนชุมชนคุย ไปเดินสำรวจ เป็นการเรียนรู้โดยชุมชน เราพบว่าได้ผลมาก คนสนใจมาเป็นแกนนำชุมชนเยอะมาก เพราะเขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์ดีขึ้น จากครอบครัวแข็งแรงเลยกลายเป็นชุมชนแข็งแรง เริ่มมีกระบวนการช่วยคนทุกข์กว่า ช่วยเด็กที่พ่อแม่เขาลำบาก หย่าร้าง กำพร้า เราให้วิธีคิด แต่ให้ชุมชนเป็นคนเลือกวิธีการในการจัดการเอง

สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปสร้างความเข้มแข็งในระดับคน

(หัวเราะ) เมื่อเรามองไปที่สังคม มันก็มีองค์ประกอบที่จำเป็นจะต้องมีในสังคมหนึ่ง เช่น เราอยากเห็นเด็กคนนึงดี เราก็เริ่มต้นจากพ่อแม่ดี พ่อแม่เรียนรู้ พ่อแม่เข้าใจ เราก็เชื่อว่าเด็กจะดี แต่พอผ่านไปเกือบสิบปี เราเพิ่งเข้าใจว่าไม่พอ พ่อแม่เรียนรู้เรื่องลูกเท่านั้นไม่พอ กินอิ่ม นอนหลับ โรคภัยไข้เจ็บ การศึกษา ไม่พอ

เพราะว่าเมื่อเวลาผ่านไป จดหมายที่เขียนเข้ามาปรึกษาเป็นเรื่องหย่าร้างเยอะมาก และเราก็เลยเห็นว่า เมื่อพ่อแม่ความสัมพันธ์ไม่ดี เด็กก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เราเลยได้หลักคิดข้อที่สอง ที่ว่าด้วยพัฒนาการความสัมพันธ์

พอผ่านไปอีกช่วงหนึ่ง ใกล้ๆ ปี 2540 สิ่งที่เจอคือสมาชิกที่เกาะติดกับเรามายี่สิบปี ลูกเป็นวัยรุ่น เขียนจดหมายมาเล่าว่าลูกติดยา มันเป็นไปได้อย่างไร เลี้ยงมาดี ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีมาก แล้วทำไมลูกยังติดยา มันมีสองประเด็น ประเด็นแรกคือจากที่เราคุยกัน พบว่าพ่อแม่ไม่ใส่หลักคิด เพราะแค่ความสัมพันธ์ก็ยังไม่พอ คุณต้องมีหลักคิด ว่าจะเลี้ยงลูกไปทางไหน เป้าหมายชีวิตจะเป็นอย่างไร เคยชวนกันคิดไหมว่าเป้าหมายครอบครัวเราจะเป็นแบบนี้ อีกห้าปีจะเป็นแบบนี้ สิบปีเป็นแบบนี้ แล้วค่อยๆ ไต่ไป เรามีหลักคิดอะไรที่ดี ที่จะมั่นใจได้ว่าจะไปถึงเป้านั้น

ประเด็นที่สองคือ คุณเลี้ยงลูกดี ความสัมพันธ์ดี แต่คุณไม่ได้บอกลูกว่า เมื่อเขาออกไปนอกบ้านเขามีโอกาสเจออะไรบ้าง อีกทั้งถ้าลูกไม่ได้สัมพันธ์กับคนอื่นเลย ไม่มีเวลาให้ลูกได้ใช้ชีวิต ไม่มีกลุ่มสังคมชุมชนที่จะดูแลกัน ระบบโรงเรียนและสมาคมผู้ปกครองก็ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นคอมมูนิตี้ของพ่อแม่ แต่มีเพื่อให้มาบริจาคอะไรให้โรงเรียนนี่คือสิ่งที่เราค้นพบและเอาไปต่อยอดในการทำชุมชนเข้มแข็ง เพราะมันเวิร์ก และมันแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือมันเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่ยังมีความเป็นชุมชนอยู่ พอมีความเป็นชุมชนเขาก็จะชวนกันคุยได้ทุกเรื่อง

เรารู้สึกว่าพ่อแม่สมัยนั้นมีความหวังกว่าพ่อแม่ตอนนี้ ที่หนทางดูเหมือนจะมืดมนมากกว่า

ต้องพูดว่าเมื่อก่อน 15 ปีแรกของการทำงาน เวลาคุยกับพ่อแม่ที่มีปัญหา เราก็รับฟังแล้วก็จะอ้อมแอ้ม หาหนทางที่ประนีประนอมกับทุกฝ่าย แต่พอเราผ่านโลกมาเยอะ เลยคิดใหม่ว่า พ่อแม่ต้องตัดสินใจนะ เพราะคนที่เขาตัดสินใจ ยังไงมันก็ไม่เสีย

หนึ่ง—ลูกรู้ว่าเรากำลังทำอะไรกับเขา เด็กที่ถูกพ่อแม่ดันให้เข้าไปในระบบแบบเดิม เขาไม่รู้นะว่าพ่อแม่ต้องการอะไร เขารู้แค่ว่าพ่อแม่หวังดี แต่สิ่งที่เขาไปเจอทุกวันมันโหด ล่าสุด คุยกับผู้ปกครองเด็กที่เรียนโรงเรียนเอกชนที่ค่อนข้างเร่งเรียน เรียนพิเศษทุกเย็นและเสาร์อาทิตย์ ​เด็กก็ยอมไปนะ ให้ไปก็ไป จน ม.3 แม่ร้องไห้มาหาพ่อ บอกว่า ลูกพูดว่า จะให้เขาเรียนไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาเขาก็ยอม แต่เขารู้สึกว่าไม่ได้อะไร รู้สึกว่าเผาเวลาทิ้งไปเฉยๆ ถ้าจะให้เขาไปเรียนต่อ ก็ได้นะ มีเวลาว่างอยู่จะไปลงกี่คอร์สก็ได้ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ ตายเสียยังดีกว่า

แม่ก็ช็อกไปเลย กลัวว่าลูกจะฆ่าตัวตาย ส่วนทางคุณพ่อก็เรียกลูกมาถามว่า อยากทำอะไร แล้วเขาก็บอกว่า เอาเลย ขอแค่ให้ไปโรงเรียนตามปกติ แค่สอบให้ผ่าน ที่เหลืออยากทำอะไรก็ไม่ว่ากัน ตอนนี้เด็กเพิ่งเรียนจบ กำลังทำงานเกี่ยวกับเกม ฝีมือดีมาก เพราะพ่อแม่กลับลำทัน และลูกก็รู้ว่าพ่อแม่รักเขามาก ครอบครัวก็มีฐานความสัมพันธ์ดี

เราพูดได้เลยว่าต่อไปมหาวิทยาลัยแทบจะไม่มีความหมาย แม่บางคนยังมาถามว่าลูกจะเรียนอย่างนั้นอย่างนี้ดีไหม เราก็จะบอกว่า คุณแม่ไม่ต้องคิดเลย อีกยี่สิบปีนี่ภาพมันเลือนรางมาก หรืออย่าง ลูกชายอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด เรียนโรงเรียนทางเลือกมาจนถึงมัธยม แล้วก็บอกว่าไม่อยากเรียนแล้ว ถามว่าเรากลัวทำไมกับเด็กที่ไม่มีใจอยากจะเรียน กลัวทำไมเมื่อลูกจะเดินนอกทาง เพราะลูกเขากำลังเรียนรู้ ว่าเขาจะได้ฝึกการเป็นผู้มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้วยตัวเอง จัดการตัวเอง สิ่งนี้หรือเปล่าที่กำลังเป็นที่ต้องการ และเป็นตัวบอกว่าคนเราจะสำเร็จหรือไม่ แต่สมัยก่อนเรายังไม่มีความรู้เรื่อง EF กัน เราเลยอธิบายเรื่องเหล่านี้ไม่ได้

สมัยก่อนพ่อแม่จะทำโฮมสคูลก็จะกังวลถึงเรื่องสังคมและอื่นๆ แต่สมัยนี้พ่อแม่มีทางออกมากมาย อินเทอร์เน็ตก็มี กลุ่มที่ช่วยกันเรียนก็มี ดังนั้นเด็กเขาจะไปได้ ถ้าเรามองว่าโลกมันเปลี่ยน พ่อแม่ที่คิดได้ต้องตัดสินใจได้ และตัดสินใจเถอะ เพราะเราตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่าเราเข้าใจลูก ไม่ว่าเขาจะระหกระเหิน ไม่เรียบร้อยยังไง แต่ทุกความลำบากนั้นมันจะเป็นบทเรียนให้เขา

เพราะงั้นมองในมุมหนึ่ง โลกที่มันเปลี่ยนแบบนี้มอบโอกาสใหม่ๆ กับพ่อแม่ยุคใหม่ คือถ้าโลกมันไม่เปลี่ยน แล้วเราออกมาเดินแบบระหกระเหิน อันนี้เราอาจจะงงๆ ได้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว ดังนั้นขอให้เราแข็งแรง ขอให้เรามีจิตใจที่พร้อมจะเบิกบาน เจอปัญหาก็มองว่าไม่เป็นไร มันมีทางมากมาย และต้องชอบเรียนรู้ ถ้ารักษาสามเรื่องนี้ได้ ก็จะนำไปสู่แพสชั่น ยังไงคนแบบนี้ก็ประสบความสำเร็จ พี่รู้สึกอย่างนี้เลยนะสำหรับคนชั้นกลาง เอาลูกตัวเองให้รอดอาจจะไม่ยาก แต่มันจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ ถ้าสังคมไม่ดี ลูกเราก็คงไปต่อไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเราคิดว่าทำเพื่อลูกเรา และขณะเดียวกัน ตรงไหนที่เราทำให้สังคมดีขึ้นได้ ก็ควรจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ

สิ่งดีของโลกสมัยใหม่ ก็คือการมีเครื่องมือ ที่เป็นตัวเร่งเรื่องให้ต่างๆ ดีขึ้นได้ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้เรายังรักษาสิ่งที่เป็นพื้นฐาน เป็นธาตุของมนุษย์เอาไว้ด้วย ทำอย่างไรให้ลูกเราไม่ไถลไปกับเครื่องไม้เครื่องมือ ให้เขาเป็นมนุษย์ที่ยังใกล้ชิดธรรมชาติ เราเชื่อแบบนั้น และยิ่งแก่ขึ้นเราก็ยิ่งเชื่อมากขึ้น


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST