READING

INTERVIEW: ความพิเศษของลูก เปลี่ยนคุณพ่อให้เป็นนัก...

INTERVIEW: ความพิเศษของลูก เปลี่ยนคุณพ่อให้เป็นนักบำบัด ‘ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ’ เจ้าของเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้

มีพ่อแม่ไม่น้อยเลยที่บอกว่า การมีลูกถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต หรือลูกคือคนที่เข้ามาทำให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความน่ารักและสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของลูก อาจทำให้พ่อแม่หลายคนมีความสุขที่ได้เฝ้าดูการเติบโตและเห็นพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกอย่างใกล้ชิด

และก็ยังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่การมีลูกไม่ใช่แค่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชีวิตประจำวัน แต่เงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดมาพร้อมกับลูกนั้น สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ซึ้งและเข้าใจความหมายของการมีชีวิตมากขึ้น เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ คุณพ่อฤทธิ์—ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ คุณพ่อเลี้ยงเดียวของน้องเซน—ลูกชายวัย 8 ปี ที่เกิดมาพร้อมโรคอัลฟีซินโดรม (Alfi’s Syndrome) และเป็นที่มาที่ให้คุณฤิทธิ์หันมาให้ความสนใจการบำบัดด้วยศาสตร์และวิธีต่างๆ จนมาลงตัวที่ การบำบัดด้วยถาดทราย (sandtray.play.therapy) ที่นอกจากจะลงมือลงแรงศึกษาเพื่อใช้ในการบำบัดและส่งเสริมพัฒนาการให้กับน้องเซนแล้ว ยังเปิดบ้านเพื่อใช้ความรู้ด้านการบำบัดด้วยถาดทรายให้เป็นประโยชน์ทั้งกับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ และคนอื่นๆ ต่อไป

จุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจ แล้วก็เริ่มทำงานจิตวิทยาเพื่อการบำบัด

เริ่มจากตอนที่รู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษครับ เรารู้เลยว่าครอบครัว คนดูแล หรือคนที่ต้องทำงานกับคนพิการ หรือคนที่มีความต้องการพิเศษ เขาก็มีความทุกข์เหมือนกัน

ช่วงที่ผมรู้สึกทุกข์แล้วกว่าจะผ่านพ้นมาได้ ก็ได้เจอกับนักจิตวิทยาการปรึกษาเยอะ แล้วช่วงที่พยายามส่งเสริมพัฒนาการของลูกก็เจอนักบำบัดเยอะมาก แค่หมอก็น่าจะมากกว่าสามสิบคนแล้ว เราก็เลยได้เห็นว่าวิชาเกี่ยวกับการบำบัดมันช่วยเหลือผู้คนได้ เหมือนการใช้แนวทางบางอย่างขยับเขยื้อนสิ่งที่อยู่ในใจได้ ก็เลยเริ่มที่จะสนใจการบำบัดที่เกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกต่างๆ แล้วก็สนใจในเรื่องศิลปะบำบัดด้วย

ตอนแรกเราก็ต้องพยายามหาตัวเองก่อนว่าจะถนัดกับเครื่องมือแนวไหน ชอบแนวไหนหรือแนวไหนที่จะได้ใช้ศักยภาพตัวเองได้มากที่สุด ก็ได้มาเจอการบำบัดด้วยถาดทรายนี่แหละที่เราเคยรู้จักมานานแล้ว แต่ก็รู้จักแบบผิวเผินและไม่ได้ลึกซึ้งกับมันจริงๆ

ต่อมาผมไปเรียนศิลปะบำบัดหลักสูตร Professional Certificate in Creative Art Therapy ก็เริ่มอินกับการบำบัดด้วยศิลปะ และเห็นว่าศิลปะบำบัดมันสามารถช่วยให้ผู้คนไปต่อกับชีวิตได้

จนเราได้มาเจอกับศาสตร์การบำบัดในถาดทรายที่จิตแพทย์ในโรงพยาบาลเด็กเขาสอนอีกครั้ง ก็รู้สึกว่ามันดีมากเลย

ขออนุญาตถามถึงโรคอัลฟี่ซินโดรม (Alfi’s Syndrome) ของน้องเซนเกิดขึ้นได้อย่างไร และอาการเป็นอย่างไร

อัลฟี่ ซินโดรม เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 9 ลองจินตนาการว่าโครโมโซมมันก็เหมือนปาท่องโก๋สองแท่งติดกัน แต่ว่าโครโมโซมคู่ที่ 9 ชิ้นนึงของเขามันเกิดมีไม่เท่าคนอื่น ก็เลยส่งผลให้เขามีพัฒนาการรอบด้านช้ากว่าคนอื่น กล้ามเนื้อนุ่มนิ่ม กะโหลกศีรษะผิดรูป แนวโน้มสติปัญญาต่ำ

อย่างเซนตอนนี้อายุ 8 ขวบ แต่ว่าเพิ่งเดินได้ตอน 6 ขวบ ก่อนหน้านั้นก็คลานมาโดยตลอด และภาษาพูดของเขายังมีน้อย เวลาที่เขาจะพูดหรือสื่อสารอะไร ก็ยังบอกความต้องการของตัวได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าเทียบกับคนที่เป็นโรคเดียวกัน คนอื่นอาจจะมีปัญหาสุขภาพประกอบด้วย เช่น หัวใจ ไต หรือกระดูก ซึ่งเซนก็มี แต่ถือว่าไม่ได้เยอะมาก

ความล่าช้าทางพัฒนาการมีผลต่อการไปโรงเรียนของน้อง

ตอนนี้ก็ใช้วิธีทำบ้านเรียน (Home School) อยู่ แล้วก็อยู่เนอร์เซอรีร่วมด้วย เพราะเราก็ต้องทำงาน แต่ถ้าถามว่าน้องไปโรงเรียนทั่วไปได้ไหม เท่าที่ผมทราบ ถ้าเราจะเลี้ยงเด็กให้ได้มาตรฐาน อัตราส่วนของคือ ครู 1 คน ต่อเด็ก 6 หรือ 7 คน ในเมืองไทยทำได้เหรอ แล้วถ้าทำได้ก็จะแพงมาก แล้วถ้าแพงมาก เราจะมีตังค์จ่ายไหม ถ้าถามว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ผมว่าอันดับแรกมันคือสัดส่วนของครูกับเด็กที่ได้มาตรฐาน อันนี้อนุโลมให้นับครูพี่เลี้ยงด้วยนะ

และเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ ถ้าอยากจะส่งเสริมพัฒนาการของเขาให้ดีที่สุด แต่ตอนนี้ในโรงเรียนรัฐบาลหรือสังกัดกทม. มีอัตราส่วนเด็ก 33 คน มีครู 1 คน มันก็ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้วหรือเปล่า

สมมติง่ายๆ นะ ในห้องเรียนหนึ่งก็จะต้องมีเด็กที่เฮี้ยวบ้าง เด็กที่นิ่งบ้าง หรือมีเด็กที่ต่อต้านบ้าง ครูหนึ่งคนที่จะต้องดูแลเด็ก 33 คน เขาก็ต้องไปดูแลคนที่เฮี้ยวหรือคนที่ทำอะไรแล้วดูไม่ปลอดภัยก่อน ยังไม่นับเด็กที่แบบว่าป่วยต้องกินยาตามเวลา หรือเด็กที่ต้องมีวีลแชร์ ประเด็นหนึ่งคือโรงเรียนมีลิฟต์ให้เด็กที่นั่งวีลแชร์ใช้ไหม ก็ไม่มี

พ่อแม่เลยต้องหาทางบำบัดลูกด้วยตัวเอง ซึ่งศาสตร์การบำบัดด้วยถาดทรายเป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดที่ใช้กับเด็กๆ อยู่แล้วใช่ไหม

ใช่ครับ เพราะที่จริงถาดทรายบำบัดมีการใช้กันมาเก้าสิบกว่าปีแล้ว แล้วก็ค่อนข้างแพร่หลาย เพียงแต่ว่าการใช้จะเป็นเฉพาะในกลุ่มจิตแพทย์และนักจิตวิทยา หรือทำกันในโรงพยาบาลมากกว่า

ทำไมการบำบัดด้วยถาดทรายถึงเหมาะกับเด็ก

เวลาที่เราจะบำบัดความคิดหรือความรู้สึกของเด็ก มันยากตรงที่เด็กไม่ได้ใช้ภาษาแบบเดียวกับเรา บางทีเราพูด เขาอาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง รวมถึงเด็กเองก็ถ่ายทอดความคิดตัวเองออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

ปกติแล้วเด็กมักจะถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ผ่านการเล่นเป็นหลัก เราจึงเลือกใช้การเล่นเป็นตัวช่วยในการบำบัด ซึ่งการเล่นบำบัดมันก็มีอยู่หลายแขนง ไม่ว่าจะ doll therapy (การบำบัดด้วยตุ๊กตา) การทำงานฝีมือ และการบำบัดด้วยถาดทรายก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้การเล่นเป็นหลัก

โดยการบำบัดด้วยถาดทรายจะเน้นไปที่การเล่นฟิกเกอร์ เน้นไปที่ของเล่น หรือไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่น จะเป็นวัตถุอะไรก็ได้ ซึ่งตอนหลังผมก็เลยเรียกว่าการเล่นถาดทรายและวัตถุสัญลักษณ์

แล้วข้อดีของมันก็คือ เวลาเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองออกมาผ่านการเล่นทรายและของเล่น มันจะทำให้เราเห็นว่าเด็กกำลังรู้สึกหรือคิดอะไรอยู่ และเขาจะไม่ต้องรู้สึกว่ามีใครมาทำอะไรกับเขา แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาและถาดทรายตรงหน้า แล้วเวลานักบำบัดจะเข้าไปช่วยเหลือ ก็จะให้ความช่วยเหลือผ่านถาดทราย เด็กก็จะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ปัญหาอีกอย่างของเด็กคือนอกจากเขาจะมีข้อจำกัดเรื่องคำศัพท์ที่จะอธิบายแล้ว เด็กบางคนก็ไม่พูด การบำบัดด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เขาได้รับการบำบัดได้โดยไม่ต้องพูด แต่เขาจะเล่าออกมาผ่านการเล่น หรือเด็กบางคนก็พูดเยอะเกินไป เยอะในแบบที่คนฟังแล้วจับใจความไม่ได้ วิธีนี้ก็ช่วยได้เหมือนกัน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลของมันก็ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก การบำบัดด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป คือเป็นวัยที่เขาจะไม่เอาของเข้าปาก เพราะเราต้องใช้ของเล่นหรือวัตถุชิ้นเล็กๆ และ อย่างเด็กเล็กหรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบ รูปแบบการเล่นของเขาอาจจะไม่ได้เล่นแค่ถาดทรายตรงหน้า เพราะพัฒนาการทางการเล่นของเด็กแต่ละวัยก็ไม่เหมือนกัน

และสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ถ้าอย่างเด็กพิเศษ ก็ดูว่าเราจะโฟกัสอะไรบ้าง อันดับแรกที่ต้องโฟกัสก็คือเราจะใช้กรอบพัฒนาการด้านไหนบ้าง เช่น ด้านร่างกาย ด้านการสื่อสาร การเข้าสังคม เราถึงจะได้กิจกรรมที่จะใช้ ว่ามีอะไรที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านไหนบ้าง และกิจกรรมนั้นๆ มีหลักฐานทางวิชาการรองรับหรือเปล่า

แต่สรุปคือ การเล่นมันช่วยเรื่องพัฒนาการให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ แต่ต้องบอกว่ามันไม่ใช่ยาครอบจักรวาล คือช่วยได้เหมือนที่ช่วยเด็กทั่วไป เพราะว่าเขาก็คือเด็ก เพียงแต่เด็กจะตอบสนองกับวิธีการบำบัดแบบไหนก็อาจจะแล้วแต่คน และอาจจะแตกต่างทั้งศาสตร์การบำบัด หรือนักบำบัด ศาสตร์เดียวกันแต่นักบำบัดคนละคน การตอบสนองออกมาไม่เหมือนกันก็ได้

ผิวสัมผัสของทรายมีผลกับพัฒนาการของเด็กอย่างไรบ้าง

คือทรายมันสามารถถ่ายทอดในลักษณะที่สร้างสภาพแวดล้อมได้ การเล่นรูปแบบอื่นมันสร้างสภาพแวดล้อมไม่ค่อยได้แต่พอเป็นทราย มันก็จะมีข้อดีที่ใช้อธิบายได้หลายอย่าง เอาเป็นว่าผมอธิบายนอกเหนือจากที่หาอ่านได้ทั่วไปแล้วกัน

คือหนึ่งเป็นเรื่องของ Sense of Nature มันเหมือนการทำให้เราได้กลับไปสัมผัสกับธรรมชาติ

สองก็คือ Sense of Control Environment เวลาคนมีบาดแผลทางจิตใจ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เขาถูกกระทำ เพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันควบคุมไม่ได้ เขาถึงถูกกระทำ แต่ในถาดทรายมันจะมีสิ่งที่เขาปรับเปลี่ยนได้ เขาอยากจะทำแม่น้ำตรงนี้ก็ได้ เขาอยากจะทำเนินเขา เขาอยากจะทำถ้ำ มันเป็นไปได้ทั้งนั้น เหมือนเราสามารถสร้างและควบคุมสภาพแวดล้อมให้เป็นอย่างที่ต้องการได้

สามคือ Sense of Grounding  หมายถึงการได้อยู่กับประสาทสัมผัสผ่านมือ มันช่วยให้เอื้ออยู่กับปัจจุบันมากขึ้น

และสุดท้าย Sense of Fluid แม้เราจะบอกว่าทรายมันควบคุมได้ แต่ก็มีบางส่วนที่เราควบคุมไม่ได้เหมือนกัน เพราะบางทีเราจับทรายมันก็ไหลบ้าง หกบ้าง มันเหมือนการประนีประนอมกับสภาพแวดล้อมที่เราพอจะควบคุมได้  แต่ก็ไม่ได้ ร้อย เปอร์เซ็นต์

ถ้าในแง่ของการส่งเสริมพัฒนาการ จริงๆ เด็กเขาคู่กับการเล่นอยู่แล้ว อย่าไปคิดว่าการบำบัดมันจะต้องเป็นอะไรที่เฉพาะทางจนแตะไม่ได้ มันก็คือการเล่นนั่นแหละ เพียงแต่การเล่นในเด็กของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ถ้าเสริมด้วยการเล่นชนิดนี้ก็อาจจะดีมากขึ้น

กระบวนการจริงๆ มันอยู่ที่ตัวนักบำบัดว่าจะนำเสนออะไร แล้วจะมุ่งส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กในด้านไหน อันนี้เรื่องพัฒนาการแต่สำหรับเด็กที่มีปัญหาหรือมีความกังวลมากถึงขั้นเรียกว่าป่วยหรือเป็นโรค ไม่ว่าจะเกิดจากการเลี้ยงดู หรือจะเกิดจากอะไรก็ตามการเล่นก็จะเข้าไปทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตใจของเด็กทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเขาได้

ส่วนมากพ่อแม่ที่พาลูกมารับการบำบัดเกิดจากปัญหาอะไร

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอารมณ์ เช่น ลูกมีความคิดลบกับตัวเอง แคร์ความเห็นของเพื่อนมากเกินไปจนไม่เป็นตัวของตัวเอง ปรับตัวเข้ากับเพื่อนหรือโรงเรียนใหม่ไม่ได้ อีกแนวหนึ่งก็จะเป็นแบบพ่อแม่อยากให้นำสืบว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกที่โรงเรียน การเล่นก็พอจะบอกร่องรอยอะไรบางอย่างได้ เช่น ลูกเล่นด้วยการเอาอะไรไปขัง ถ้าเราสังเกตมันก็เอามาใช้เป็นร่องรอยได้ 

ส่วนเหตุผลที่เขามา ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขามาด้วยเรื่องอะไรและต้องการอะไร เพราะบางทีมาแล้วพบว่ามันกลายเป็นปัญหาของผู้ใหญ่มากกว่า ดังนั้นก็ต้องช่วยกันดูว่าปัญหามันอยู่ที่ตัวเด็ก หรือว่าเป็นปัญหาที่มาจากการเลี้ยงดูกันแน่ ซึ่งแนวผมก็ไม่ได้บอกว่า คุณเลี้ยงดูลูกไม่ดีอะไรอย่างนี้ เพียงแต่ว่าถ้าปรับนิดนึง สักห้าหรือสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วมันช่วยให้เด็กดีขึ้นได้ จะลองไหม

แล้วนอกจากใช้ความรู้เรื่องจิตวิทยาในการบำบัดแล้ว คิดว่าความเป็นพ่อของตัวเองมีส่วนช่วยในการทำงานนี้อย่างไรบ้าง

มันอาจจะไม่ใช่เพราะความเป็นพ่อซะทีเดียว แต่ผมมองว่า ผมเลี้ยงลูกเอง ดังนั้นผมก็จะอินกับคนที่เลี้ยงลูกเอง คือรู้สึกเข้าใจเขา เข้าใจว่าเราก็ยังเป็นมนุษย์ธรรมดา มันก็จะมีวันที่เราปรี๊ดแตก วันห่วยๆ วันที่แสดงบทบาทไม่ดีหรือทำหน้าที่ของตัวเองได้ไม่ดี มันก็มีอยู่ดังนั้นเวลาที่ผู้ใช้บริการมาบอก ผมก็จะบอกว่า ผมเข้าใจนะ แต่ว่าเราจะมีประเด็นอะไรไหมที่พอจะช่วยให้ไปต่อกันได้ คือในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่ดี เราจะลดได้ไหมล่ะ ปรี๊ดเพราะอะไรเหรอ เป็นเพราะว่าไม่ได้ปล่อยวางบางอย่างหรือเปล่า หรือว่าหาเงินไม่เพียงพอ หรือเป็นเพราะว่าไม่มีเวลาดูแลตัวเอง มันคือมันอะไรกันแน่ไม่ได้หมายความว่า นักบำบัดที่ไม่ได้เป็นพ่อเขาจะทำไม่ได้ เขาก็ทำได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีลูก แต่ว่าเนื่องจากผมมีทั้งประสบการณ์ตรงส่วนหนึ่ง แล้วก็มีลูกที่มีความต้องการพิเศษด้วย ก็อาจจะแตกต่างกับคนทั่วไปที่เขาอาจจะไม่เข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เท่าผม

ส่วนมากเด็กที่ได้รับการบำบัดด้วยถาดทรายจะดีขึ้นในด้านใดบ้าง

ถ้าถามว่าดีขึ้นไหม ก็ดีขึ้น แต่มันอาจจะไม่ชัดเจนมาก มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง เด็กเขาก็จะมีความซับซ้อนในแบบของเขา เอาเข้าจริงเด็กสนุกที่จะมาที่นี่ แต่ถ้าเราไปพยายามทำอะไรกับเขามาก เขาก็จะไม่ค่อยโอเค เพราะเขาอยากมาสนุก แต่ขั้นตอนการบำบัดบางทีมันก็มีอะไรที่ไม่ค่อยสนุกเหมือนกัน เช่น จดบันทึกอารมณ์ สนุกไหมล่ะ ไม่สนุกหรอก  ส่วนใหญ่ที่มักจะได้ผล กลับกลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่มากกว่า พอพ่อแม่ปล่อยวาง เด็กก็จะได้รับผลพลอยได้ คือเขาได้มีที่ระบาย มีคนรับฟัง บางทีคนเราก็ต้องการแค่นี้แหละ พอพ่อแม่เริ่มปล่อยวาง   ลูกก็ได้ประโยชน์ไปโดยที่เขาไม่รู้หรอกว่ามันมีอะไรเปลี่ยนไป

มีอะไรอยากแนะนำครอบครัวหรือผู้ปกครองที่กำลังดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยตัวเอง

ถ้าคุณเบื่อเวลาที่มีคนมาคอยบอกคุณให้สู้ๆ ฟังผมนะ ถ้าคุณเหนื่อยก็พัก หนักก็วาง ง่วงก็นอน ไม่ไหวก็ขอความช่วยเหลือ ส่วนจะช่วยเหลืออะไรยังไงก็ว่ากันต่อไป แล้วในวันนี้คุณทำอะไรมาเยอะแล้ว ผมเชื่อว่าคุณผ่านมามาก และผมเชื่ออีกว่าคุณและลูกสมควรที่จะได้รับอะไรที่ดี แต่ถ้าตอนนี้มันเหนื่อยล้ามาก พักก่อน ถ้าไม่ไหว ต้องลองขอความช่วยเหลือครับ

อยากให้บ้านหลังนี้ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กคนอื่นๆ ยังไงบ้าง

ถ้ามองในฐานะพ่อ ที่ไหนก็เป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ เพราะเอาเข้าจริงสถานที่มันก็คือสถานที่ แต่กระบวนการก็คือผม เพราะฉะนั้นเราจะไปที่อื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่นี่ แต่ขอแค่มีพื้นที่ให้กับเด็กๆ ได้มีอิสระและปลอดภัย เขาจะได้สร้างสรรค์ออกมาได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกผู้ใหญ่กดทับ

แต่ถ้าในฐานะนักบำบัด เราขนของไปไม่ไหว (หัวเราะ) คือจริงๆ ก็มีรับออกไปบำบัดข้างนอก แต่ออกไปบ่อยไม่ไหวนอกจากทำเพื่อคนอื่นแล้ว การทำงานนี้ก็ทำให้ตัวเองด้วย คือเป็นอาชีพที่เราได้เลี้ยงลูกและมีเวลาที่ยืดหยุ่นได้ ก็ต้องบอกตามตรงว่าเซนมีแนวโน้มที่จะไม่ได้เข้าโรงเรียน ด้วยเงื่อนไขที่ว่าน้องยังไม่สามารถบอกความต้องการตัวเองได้ เรียกว่ายังดูแลตัวเองไม่ได้ ก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป คือทำงานที่มีรายได้ด้วยและก็มีน้องอยู่ด้วย

ก่อนหน้านี้ผมก็เคยสมัครงานมาก่อน แล้วมันก็ยากเหมือนกัน ที่เขาจะรับเงื่อนไขว่าเราจะต้องเอาลูกไปทำงานด้วย ยิ่งตอนนั้นน้องยังเดินไม่ได้ จะพาไปเนอร์เซอรีก็หมดสิทธิ์ เพราะเนอร์เซอรีทั่วไปจะมีเด็กวิ่งกันเจี๊ยวจ้าว แต่เซนยังคลานและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีที่ไหนที่เขาอยากจะรับ เพราะเขาการันตีความปลอดภัยไม่ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจ


Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST