จุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จด้านวิชาการ อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลของ Shrewsbury International School Bangkok Riverside นั่นคือการวางรากฐานในช่วงวัยแรกเริ่มของการเรียน คือปฐมวัยต่อเนื่องสู่ระดับประถมศึกษา หรือที่ Shrewsbury เรียกว่า Junior School
เพราะช่วงเวลาปฐมวัยของเด็กๆ เป็นวัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และจากทัศนคตินั้นจะทำให้เด็กๆ เป็นคนรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต การคัดเลือกบุคลากรที่จะทำงานกับเด็กในช่วงชั้น Junior School จึงต้องเป็นไปอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้คนที่มีประสบการณ์ด้านการสอน มีความเข้าใจ และสามารถส่งแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนได้
วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ Mr. Philip Stewart—ครูใหญ่ (แผนกประถม) หรือ Head of Junior คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา และพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดด้านการศึกษาและการดูแลเด็กในช่วงวัยสำคัญนี้ รวมถึงมุมมองจากประสบการณ์การทำงานในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ และโรงเรียนนานาชาติชั้นนำในเอเชีย
‘โรงเรียนชั้นเด็กเล็ก’ นั้นสำคัญอย่างไร
องค์ความรู้ที่เราเริ่มมองเห็นภาพตรงกันมากขึ้นก็คือรากฐานสำคัญที่สุดในการสร้างมนุษย์ ให้พร้อมที่จะเป็นนักเรียนรู้ และขยับขึ้นสู่การเรียนเนื้อหาวิชาการที่ยากขึ้นตามลำดับ เริ่มต้นที่ช่วงชั้นปฐมวัย
ในฐานะครูที่ทำงานกับเด็กวัยนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างประสบการณ์และอำนวยการเรียนรู้ให้เด็กๆ และทำให้เด็กรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
คุณฟิลลิปส์อยู่ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นอาจารย์ จึงรายล้อมไปด้วยคนที่ทำงานด้านการศึกษา เขาจึงเดินตามรอยทางนั้น เมื่อเรียนจบและได้ใบอนุญาตประกอบอาชีพ จึงเลือกที่จะมุ่งตรงมาที่สายการศึกษาปฐมวัย (Early Years Education) ด้วยเหตุผลแรกเริ่มคือการเชื่อความรู้สึกตัวเอง ก่อนที่จะได้ทำงานแล้วพบว่า เขาชอบงานนี้มากจริงๆ
“การตัดสินใจของผมในวันนั้นคือคิดว่ามันเป็นงานที่สนุก และได้อยู่กับคนตัวเล็กๆ ที่มีแต่ความกระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมและอยากเรียนรู้เป็นที่สุด เด็กๆ ไม่เคยต้องดื่มกาแฟเพื่อจะตื่นตัวเลย (หัวเราะ) เพราะธรรมชาติของพวกเขาเป็นแบบนั้น
เมื่อคุณได้ทำงานกับเด็ก สิ่งที่เราจะได้สัมผัสแน่ๆ ก็คือได้เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้นตลอดเวลา เป็นความสำเร็จที่มองเห็นและจับต้องได้ เพราะเด็กๆ เติบโตและทำอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้นทุกวัน ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กทำได้ ครูก็จะได้เห็นความสำเร็จของตัวเอง ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและร่วมสร้างพัฒนาการนั้นให้เกิดขึ้นด้วย
แน่นอนว่าการศึกษาช่วงปฐมวัยนั้นเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคตได้ และผมก็มีความสุขในฐานะครู ที่ได้เห็นการเริ่มต้นของพวกเขา ก่อนจะเติบโตและพัฒนาขึ้นทุกวัน จนเมื่อวันที่เขาผ่านด่าน IGCSE ผ่าน A-Level เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี และประสบความสำเร็จในการทำงาน”
“ผมเป็นแฟนตัวยงของ Play-based learning และคิดว่าการเรียนรู้ที่แสนสนุกนี้ไม่ควรหยุดลงแค่ช่วงปฐมวัยเท่านั้น เมื่อโตขึ้นเราก็ควรจะรักษานิสัยอยากเรียนอยากรู้ ไม่หยุดสำรวจ และตั้งคำถาม แบบที่เคยเป็นในวัยเด็กเอาไว้”
รากฐานของความสำเร็จนั้นเริ่มต้นที่ ‘การเล่น’
ระบบของโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ แบ่งการเรียนการสอนออกเป็นสามช่วงชั้น คือ Junior School (อายุ 3-11 ปี), Senior School (อายุ 11-18 ปี) และ Sixth Form (อายุ 16-18 ปี) ซึ่งบทบาทของคุณฟิลลิปส์นั้นจะดูแล Junior School หรือช่วงชั้นแรกเริ่มของโรงเรียน ที่แม้จากผลงานและชื่อเสียงของโรงเรียนที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่านักเรียนที่จบจากโชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ จะมีความพร้อมด้านวิชาการยอดเยี่ยม และสามารถเข้าเรียนต่อระดับสูงขึ้นในสถาบันระดับโลกได้มากมาย แต่คุณฟิลลิปส์ก็ย้ำหนักแน่นว่า ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้ ด้วยรากฐานสำคัญ ก็คือโอกาสที่เด็กๆ จะได้ ‘เล่น’ อย่างมากพอในช่วงชั้นปฐมวัย
“Play-based learning สำคัญมากกับเด็กวัยนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเตรียมให้เขาพร้อมไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโต
ในฐานะผู้ใหญ่ เรารู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่ต้องมีเพื่อประสบความสำเร็จในการทำงานก็คือความรู้ความเข้าใจในทางวิชาการ มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ดี เหล่านี้คือสิ่งที่เราสร้างให้เด็กๆ ได้ผ่านการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นในวัยที่เขาควรจะได้เล่นอย่างเพียงพอ
แนวทางการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทุกวันนี้ คือมองหาคนที่รู้รอบด้านมากกว่าคนเรียนเก่ง และต้องสามารถนำเสนอความคิดในที่สาธารณะได้ คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลได้ โอกาสที่เด็กเล็กจะได้ฝึกฝนทักษะเหล่านี้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด ก็คือการเล่น โดยมีคุณครูที่เชี่ยวชาญวางเป้าประสงค์ไว้เบื้องหลัง และนอกจากคุณครูแล้ว พ่อแม่ก็ควรมอบโอกาสให้ลูกๆ ได้เล่นเช่นกัน
ผมเป็นแฟนตัวยงของ Play-based learning และคิดว่าการเรียนรู้ที่แสนสนุกนี้ไม่ควรหยุดลงแค่ช่วงปฐมวัยเท่านั้น เมื่อโตขึ้นเราก็ควรจะรักษานิสัยอยากเรียนอยากรู้ ไม่หยุดสำรวจ และตั้งคำถาม แบบที่เคยเป็นในวัยเด็กเอาไว้ เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ของโลกไม่เคยหยุดทดลอง พวกเขาพยายาม ผิดพลาด และเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ
ดังนั้นงานของผม ในฐานะ Head of Junior จึงต้องสร้างและรักษาวัฒนธรรม Play-based Learning ให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศรอบตัวเด็ก นั่นคือ ตัวเด็ก คุณครู และครอบครัว พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าช่วงเวลาปฐมวัยของลูกนั้นสำคัญแค่ไหน เราอาจเห็นความสำเร็จของรุ่นพี่ที่เมื่อปีก่อนสามารถเข้า Oxbridge ได้ จุดเริ่มต้นของพวกเขาเหล่านั้นก็มาจากการได้เล่นในช่วงชั้นปฐมวัย เราต้องทำให้พ่อแม่เห็นภาพตรงกันกับเราให้ได้ ว่าประสบการณ์การเรียนรู้ในช่วงวัยแสนสำคัญนี้ จะส่งผลถึงอนาคตของเด็กๆ ได้อย่างไร
พัฒนาเด็กไปพร้อมๆ กับการพัฒนาครู
เพื่อสร้างนักเรียนที่สนุกกับการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของผู้บริหาร คือการไม่หยุดพัฒนาบุคลากรครู เพราะครูคือคนที่ทำงานใกล้ชิดเด็กมากที่สุด
“ผมมีหน้าที่สำคัญที่จะสนับสนุนและพัฒนาทีมครูให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ เริ่มด้วยการสร้างศักยภาพของโรงเรียน ให้สามารถดึงดูดครู หรือนักการศึกษาที่มีความสามารถที่สุดจากทั่วโลกมาร่วมงาน และเมื่อพวกเขามาอยู่ที่นี่แล้ว ก็จะต้องได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง อัปเดตความรู้และแนวทางใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในห้องเรียน สามารถเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะทำให้งานของครูเป็นไปได้อย่างราบรื่น จนสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดต่างๆ
“ถึงแม้ว่าในชั้น Early Years หรือ EYs จะเป็น Play-based Learning แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบ One size fits all ที่ทุกคนทำทุกอย่างเหมือนกันหมด เพราะเรามองเด็กในระดับบุคคล เราสนใจว่าเด็กแต่ละคนมีความพร้อมแค่ไหน ในช่วงเวลาใด และพัฒนาเขาตามจังหวะความพร้อมนั้น”
Junior School กับช่วงสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน
เพราะช่วงชั้น Junior School นั้นครอบคลุมช่วงวัยที่กว้างมาก คือ 3-11 ปี จากวัยอนุบาลไปจนจบชั้นประถมศึกษา จากวัยที่สนุกกับการเล่น โรงเรียนจะพาพวกเขาเข้าสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น เริ่มต้นอ่านเขียนเรียนวิชาการอย่างราบรื่น นั่นคือความท้าทายของการจัดการศึกษาในช่วงชั้นนี้
“สิ่งที่โชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ทำก็คือ เรามั่นใจว่าคุณครูฝั่งอนุบาลมองเห็นภาพการเรียนการสอนของชั้นประถม เช่นเดียวกัน คุณครูประถมก็เข้าใจวิธีการจัดการเรียนรู้ของวัยอนุบาล เพื่อให้คุณครูทั้งสองฝั่งมองเห็นภาพการเติบโตของเด็กตรงกัน เป็นการเดินทางที่ต้องประสานต่อเนื่องให้ราบรื่นไปตลอดทาง
และถึงแม้ว่าในชั้น Early Years หรือ EYs จะเป็น Play-based Learning แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบ One size fits all ที่ทุกคนทำทุกอย่างเหมือนกันหมด เพราะเรามองเด็กในระดับบุคคล เราสนใจว่าเด็กแต่ละคนมีความพร้อมแค่ไหน ในช่วงเวลาใด และพัฒนาเขาตามจังหวะความพร้อมนั้น เช่น เด็กบางคนมีความพร้อมและสนใจที่จะอ่านเขียน เราก็จะให้เขาได้ทำ โดยไม่เปรียบเทียบ เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน โรงเรียนมีหน้าที่มอบโอกาสให้เขาได้สำรวจตัวเองและร่วมเดินไปตามย่างก้าวของเด็ก”
สร้าง Sense of community ผ่านทางออนไลน์
การเริ่มงานใหม่ในฐานะ Head of Junior ครั้งนี้เป็นแบบ New Normal เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น ทำให้โรงเรียนยังต้องเปิดเทอมและจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ผ่านทางออนไลน์อยู่ ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ในอนาคตหลังจากนี้ โลกอาจจะมอบบททดสอบเป็นสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้แบบนี้มาให้เราได้เจออีกแน่ๆ แล้วบทบาทของโรงเรียนหลังจากนี้ ควรจะเตรียมตัวอย่างไร
และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในประเทศอื่น สามารถนำมาปรับใช้กับที่นี่ได้อย่างไรบ้าง
“ผมเพิ่งเริ่มงานได้ไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็มองเห็นและชื่นชมคุณครูของเรามากๆ ที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนกับเด็กๆ แน่นอนว่าการสอนออนไลน์กับเด็กสามปี สิบปี หรือว่า 16 ปีนั้นย่อมไม่เหมือนกัน แต่คุณครูก็จัดการมันได้อย่างดี
สิ่งที่โชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ ทำก็คือพยายามให้การเรียนการสอนออนไลน์นั้นเป็นการสอนสดมากที่สุด ผมคิดว่ามันสำคัญมากในการสร้างความรู้สึกว่ามันปกติ รับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมต่อ สื่อสารและโต้ตอบเหมือนได้เจอกันจริงๆ เพราะเราไปโรงเรียนเพื่อสร้างสังคม แต่เราจะสร้างมันไม่ได้เลยหากมีแต่การเรียนกับคลิปที่อัดไว้ล่วงหน้า เราจึงรีวิวการสอนกันตลอดเวลา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ครูและนักเรียนได้พบกันสดๆ มากขึ้น
มากไปกว่านั้น ในเทอมนี้เราจัดให้มี Live Assembly ให้เด็กๆ ทั้ง 500 คนเข้าร่วมประชุมยามเช้าผ่านระบบซูม ที่เราทำแบบนี้ นอกจากเพื่อสื่อสารข้อความจากโรงเรียนไปยังเด็กๆ และครอบครัว แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือการที่เราได้มองเห็นกัน เกิดเป็น Sense of Connection ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางสังคมและอารมณ์ อันเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสามารถในการเรียนรู้ต่อไป
ในระยะยาว เรากำลังศึกษาเรื่อง Hybrid Learning เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการอยู่ร่วมกับโควิด-19 และรวมถึงสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
การสอนแบบ Hybrid Learning จะใช้เมื่อเด็กบางคนไม่สามารถมาโรงเรียนได้ อาจจะด้วยสมาชิกในครอบครัวต้องกักตัว ดังนั้นการเรียนในห้องและออนไลน์ จะต้องสามารถจัดคู่ขนานกันไปได้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น โรงเรียนจะต้องวางแผนล่วงหน้า เตรียมแผนสำรอง รวมถึงมั่นใจว่า ทั้งครูและนักเรียนมีอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมที่สุด”
“สิ่งที่สถาบันชั้นนำของโลกมองหาในตอนนี้ ไม่ใช่เพียงนักเรียนที่เรียนดี แต่เขามองกว้างไปกว่านั้น เขาสนใจว่าเด็กได้เข้าร่วมทำงานอาสาเพื่อสังคมบ้างไหม มีทักษะและความถนัดอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา การละคร ฯลฯ ด้วยหรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เด็กเป็นคนรอบรู้ และมีความสมดุลระหว่างการเรียนวิชาการกับการจัดการชีวิตนอกห้องเรียน มองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นผ่านการได้ทำกิจกรรม”
พ่อแม่ควรวางเป้าหมายให้ชัดก็จริง แต่อย่าเครียดกับมันมากเกินไป
ในฐานะครูและผู้บริหาร คุณฟิลลิปส์ย่อมได้สัมผัสกับความคาดหวังและความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติหรือภาษาไหนล้วนมีจุดร่วมเดียวกันคือ อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก เพื่อให้ลูกมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต
“สิ่งที่สถาบันชั้นนำของโลกมองหาในตอนนี้ ไม่ใช่เพียงนักเรียนที่เรียนดี แต่เขามองกว้างไปกว่านั้น เขาสนใจว่าเด็กได้เข้าร่วมทำงานอาสาเพื่อสังคมบ้างไหม มีทักษะและความถนัดอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา การละคร ฯลฯ ด้วยหรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เด็กเป็นคนรอบรู้ และมีความสมดุลระหว่างการเรียนวิชาการกับการจัดการชีวิตนอกห้องเรียน มองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นผ่านการได้ทำกิจกรรม
ที่โชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์จึงมีโปรแกรม Co-Curriculum ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองเลือกกิจกรรมในทุกด้านตามความสนใจ คู่ขนานไปกับการเรียนวิชาการในห้องเรียน เพราะโอกาสที่เด็กได้สำรวจตัวเองนั้นสำคัญมากๆ
ก่อนวัย 12-13 ปี เด็กควรได้ทดลองให้หลากหลายที่สุด เพื่อดูว่าเขาชอบและถนัดอะไร เพราะทางเลือกสำหรับเด็กมีมาก ผมเริ่มว่ายน้ำตอนอายุ 7 ปี ระหว่างนั้นก็เล่นกีฬาอื่นๆ ไปด้วย จนอายุ 13 ปี ผมตัดสินใจเลิกเล่นกีฬาอื่น เพื่อรักษาร่างกายและโฟกัสกับกีฬาว่ายน้ำที่ผมเลือกจะจริงจังกับมัน ผมจึงอยากแนะนำพ่อแม่ว่าไม่ต้องรีบร้อนเกินไป ให้เด็กได้สำรวจความชอบอย่างเต็มที่ก่อน แล้วเมื่อถึงเวลาเขาจะประเมินตัวเอง และเลือกเส้นทางที่ชัดเจนของตัวเองได้
ดังนั้น การวางแผนอนาคตให้กับลูก หากเริ่มต้นที่การเลือกโรงเรียน สิ่งแรกเลยคือพ่อแม่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจปรัชญาและแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนนั้นๆ ดูนักเรียนที่จบการศึกษาไปแล้ว และมองย้อนถอยหลังกลับไปว่าพวกเขาเริ่มต้นอย่างไร อีกสิ่งสำคัญคือพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน เพื่อให้ทราบแนวคิด วิสัยทัศน์ และมุมมองของโรงเรียน ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับครอบครัวเราหรือไม่
แต่หากให้พูดในฐานะของคุณพ่อของลูกสี่คน ผมก็จะบอกว่า เราวางแผนได้ แต่อย่ากังวลมากจนเกินไป เพราะแน่นอนว่าทางเลือกนั้นปรับเปลี่ยนได้เสมอ แต่บทบาทสำคัญที่สุดของพ่อแม่ คือการให้ความรัก ความมั่นคงแข็งแรง ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ลูกมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้เติบโตตามพัฒนาการช่วงวัย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะมอบให้กับลูกได้”
COMMENTS ARE OFF THIS POST