READING

คุยกับ พญ.พนิดา รณไพรี พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากันจริ...

คุยกับ พญ.พนิดา รณไพรี พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากันจริงหรือ แล้วคนเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องจริงไหม

ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน อิจฉากัน หรือรู้สึกว่าได้รับความรักจากพ่อแม่ไม่เท่ากัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสถาบันครอบครัว ที่พ่อแม่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน

ยิ่งรู้แบบนี้ พ่อแม่ก็ยิ่งอยากให้ลูกทุกคนรักใคร่ปรองดองกัน ด้วยการเลี้ยงดูและปลูกฝังค่านิยมว่า เป็นพี่ต้องเสียสละ เป็นพี่ต้องยอมรับผิด เป็นพี่ต้องโดนทำโทษแทนน้อง ฯลฯ

เราจึงชวน พญ. พนิดา รณไพรี—กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ มาพูดคุยและแนะนำแนวทางให้กับคุณพ่อคุณแม่ ที่มีลูกหรือกำลังจะมีลูกคนต่อไป ว่าควรเตรียมวิธีการเลี้ยงดูลูกๆ อย่างไร ไม่ให้พี่น้องเกิดปัญหาคาใจกันต่อไปในอนาคต

“ความรู้สึกไม่สำคัญเท่าการแสดงออก ถึงแม้เราจะรู้สึกรักลูกเท่ากันหรือไม่เท่ากัน รักเหมือนหรือไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ควรจะแสดงออกในทางบวกกับลูกทุกคน”

คำพูดที่ว่า ‘พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากัน’ เป็นจริงหรือไม่…

รักเป็นความรู้สึก คงไม่มีใครตัดสินได้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเกิดถามหมอ หมอว่ามีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง ทั้งที่รักเท่ากันและไม่เท่ากัน ขึ้นกับบริบทว่า พ่อแม่ลูกมีภูมิหลังกันมาอย่างไร

หมอมองว่ารักลูกเท่ากันมีโอกาสเป็นไปได้ แต่รักลูกเหมือนกัน อาจจะเป็นไปไม่ได้ เช่น รักเท่ากัน แต่อาจแสดงออกคนละอย่าง

และถ้าถามว่าผิดไหมที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ก็คงไม่มีอะไรผิด เพราะเป็นธรรมชาติของความรู้สึก เหมือนเราเป็นลูก ถามว่าพ่อกับแม่ให้กำเนิดเรามา เลี้ยงเรามาทั้งคู่ เรารักพ่อกับแม่เท่ากันไหม ก็คงไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับบริบทด้วย ว่าเป็นอย่างไร

สำหรับหมอ ความรู้สึกไม่สำคัญเท่าการแสดงออก ถึงแม้เราจะรู้สึกรักลูกเท่ากันหรือไม่เท่ากัน รักเหมือนหรือไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ควรจะแสดงออกในทางบวกกับลูกทุกคน แสดงให้ลูกรับรู้ว่ารัก รักและหวังดีแบบไม่มีเงื่อนไข แต่จะออกมาในรูปแบบใดก็แล้วแต่ครอบครัว

พ่อแม่จะแสดงออกถึงความรักที่ไม่มีเงื่อนไขได้อย่างไร

ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขเริ่มได้ตั้งแต่วัยทารก เด็กวัยทารกต้องการการตอบสนองทางกาย อยากให้พ่อแม่ใส่ใจดูแลทางกาย เช่น เวลาเขาร้อง แล้วพ่อแม่เข้าไปดูแล เข้าไปหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงร้องไห้ พ่อแม่ไม่รังเกียจที่จะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขา เราอาจรู้สึกว่าเด็กไม่รู้เรื่องหรอก แต่จริงๆ เด็กจะซึมซับเรื่องพวกนี้ และรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็ยังรัก

แต่พ่อแม่บางคน พอเห็นลูกร้องไห้ก็ปล่อยให้ร้องไป ไม่สนใจลูก ไม่ตอบสนองทางกายต่อลูก การทำแบบนี้จะทำให้เด็กไม่เชื่อมั่นในความรักของพ่อแม่

ถ้าลูกรู้สึกว่าได้รับความรักไม่เท่าคนอื่น จะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมาให้เราเห็น

หลายอย่างเลย เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจบอกมาตรงๆ เลยว่า แม่ไม่รักหนูเหรอ แต่เด็กบางคนจะเก็บเข้าไปไว้ข้างใน และแสดงอาการอย่างอื่นออกมาแทน ถ้ากังวลมากๆ ก็จะส่งผลต่อเรื่องของการกินการนอนที่ผิดปกติ บางคนอาจดื้อ บางคนอาจเก็บตัว ซึมเศร้า เล่นคนเดียว พฤติกรรมเด็กจะเปลี่ยนไปได้หลายอย่างเลย พ่อแม่ต้องคอยสังเกตดู ว่าลูกมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิมไหม

แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร

อันดับแรก ต้องสะท้อนความรู้สึกก่อน หลักการที่จะคุยกับเด็กคือ เราต้องคลายความกังวลของเขา ด้วยวิธีการสะท้อนความรู้สึก ก็คือสังเกตความรู้สึกลูก และพูดความรู้สึกที่สังเกตได้ออกมา ลูกจะรู้ว่าแม่เข้าใจเขา เป็นพวกเดียวกับเขา เช่น “แม่เข้าใจนะคะ หนูรู้สึกเสียใจใช่ไหมคะ หนูรู้สึกเหงาใช่ไหม หนูรู้สึกว่าคุณแม่รักหนูน้อยลงใช่ไหมคะ”

ให้พูดแบบนี้ก่อน แล้วอธิบายว่าแม่สังเกตได้ “แม่เข้าใจหนูนะ จริงๆ แล้วแม่ยังรักหนูเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าน้องยังเล็ก น้องยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม่เลยต้องช่วยเหลือน้องก่อน แต่หนูช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว หนูช่วยคุณแม่ได้ด้วย ตอนที่หนูเด็กๆ แม่ก็ทำอย่างนี้กับหนูเหมือนกัน”

และพ่อแม่ควรบอกลูกให้ชัดเจน ว่ายังรักลูกเสมือนตอนที่มีเขาเป็นลูกแค่คนเดียวเสมอ ถ้ามีคลิปวิดีโอตอนที่ลูกยังเด็กมาเปิดให้ดู ก็จะช่วยให้ลูกคลายกังวลลงได้

อันดับต่อมาคือการแสดงออก จะแสดงออกยังไงขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ถ้ายังเด็กมากๆ ก็เล่านิทาน เล่าเปรียบเทียบ เช่น อาจบอกว่าเวลาลูกออกไปยืนที่สนามหน้าบ้าน ยืนใต้ดวงอาทิตย์ ไม่ว่าลูกจะก้าวไปยืนตรงไหน ลูกก็ยังได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์ ก็เหมือนกับความรักของแม่ ไม่ว่าลูกจะเป็นลูกคนที่เท่าไร จะยืนอยู่ตรงไหน ลูกจะได้รับความรักจากพ่อแม่เท่าเดิม

“มันเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ที่จะบอกว่าพี่ต้องเสียสละ เรื่องของพี่น้อง ถ้าจะให้ถูกต้อง ก็ต้องดูตามสิทธิ ลำดับการเกิดไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษ หรือกำหนดว่าพี่จะต้องให้น้องเสมอ น้องจะต้องรับเสมอ”

การสอนว่าคนเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง

มันเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ที่จะบอกว่าพี่ต้องเสียสละ เรื่องของพี่น้อง ถ้าจะให้ถูกต้อง ก็ต้องดูตามสิทธิ ลำดับการเกิดไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษ หรือกำหนดว่าพี่จะต้องให้น้องเสมอ น้องจะต้องรับเสมอ

มันไม่สมควรที่มีอะไรต้องให้น้องหรือพี่ก่อน ควรจะสอนให้เด็กรู้จักของของตัวเอง พิทักษ์สิทธิของตัวเอง พิทักษ์สิทธิของคนอื่น และไม่ล่วงละเมิดสิทธิของคนอื่น

เราจะสอนเรื่องสิทธิให้เด็กอย่างไร

เรื่องนี้ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เล็กๆ เวลาที่ลูกทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่จำเป็นจะต้องบอกลูกคนโตว่าต้องรักน้องนะ เพราะความรักระหว่างพี่น้อง เป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้

แต่ต้องมีกติกาว่า ทุกคนมีสิทธิในของของตัวเองอย่างไร ตั้งขอบเขตของตน และไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น เช่น ของของตัวเอง ตัวเองก็ต้องมีสิทธิ ถ้าน้องอยากได้ ก็ต้องบอกน้องว่าอันนี้เป็นของของพี่เขา เป็นสิทธิของพี่ เพราะฉะนั้น พี่มีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ เวลาน้องจะเล่นของพี่ น้องต้องมาขอ ถ้าพี่ให้ก็โอเค ถ้าพี่ไม่ให้ เราก็จะไม่มีการบังคับว่าต้องให้

เพียงแต่ถ้าพี่ยอมให้น้อง พ่อแม่อาจชมว่าลูกมีน้ำใจ “หนูเก่งมากเลยที่แบ่งของให้น้องเล่น” แต่ถ้าพี่ไม่ให้ เราก็จะไม่ว่าลูก อาจชวนให้เขาคิดว่า “หนูยังไม่พร้อมที่จะให้น้องใช่ไหม แล้วหนูมีของเล่นอย่างอื่นที่อยากให้น้องเล่นแทนไหม”

นี่คือการสอนให้พี่รู้จักสิทธิของตัวเอง และสอนให้น้องรู้ว่า ของของคนอื่น เขาก็มีสิทธิที่จะไม่ให้เราได้

เวลาทะเลาะกัน คนเป็นพี่มักเป็นฝ่ายผิดและถูกต่อว่าเสมอ

ก็ให้ว่ากันไปตามผิดตามถูก ไม่ได้ว่าตามความเป็นพี่หรือน้อง ไม่มีการทำโทษไปก่อนทั้งคู่ ต้องสอบสวนว่าตกลงใครทำก่อน และลงโทษไปตามความผิด

สำหรับเด็กที่โตแล้ว ถ้ามีเรื่องขัดแย้งกัน เราลองถามเขาว่า อยากคุยกันเองก่อนไหม ลองให้เขาแก้ปัญหากันเองก่อน พ่อแม่อาจยังไม่ต้องเข้าไปมีบทบาท ถ้ามันยังไม่รุนแรงมาก รอดูว่าเขาจะจัดการปัญหาอย่างไร ถ้าพี่น้องจัดการกันได้ก็โอเค แต่ถ้าจัดการกันไม่ได้แล้ว เราอาจเข้าไปถามทั้งสองคน ว่ามีอะไรอยากบอกพ่อกับแม่ไหม มีอะไรอยากให้พ่อกับแม่ช่วยไหม

ถ้าเขาบอกว่าไม่เป็นไร จัดการเองได้ ก็ต้องเคารพในสิทธิของเขา แต่ถ้าสมมติพี่มาฟ้องว่าน้องแย่งของเล่นหนู และน้องก็ตีหนูด้วย พ่อแม่ควรตั้งใจรับฟัง ไม่ตัดสิน และลองฝึกให้เขาแก้ปัญหาเอง แต่ถ้าพ่อแม่เห็นว่าใครเป็นคนทำผิด ก็ต้องลงโทษคนที่ทำผิด

หมอแนะนำไม่ให้ใช้วิธีการทำโทษรุนแรง ลองใช้เป็น positive time-out ให้ลูกรู้สำนึกด้วยตัวเอง เหตุการณ์ไหนที่พ่อแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็ทำให้เขารู้ว่าพฤติกรรมนี้สังคมยอมรับไม่ได้ เช่น น้องตีพี่ แล้วลงไปร้องดิ้นที่พื้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือจับพี่กับน้องแยกกัน ให้น้องไปอยู่มุมสงบ แล้วอธิบายให้น้องฟังว่า “ตอนนี้หนูกำลังโมโห หนูน่ากลัวมาก แม่กลัว พี่กลัว เรายังคุยกันไม่ได้ และทุกคนไม่ชอบ แม่อยากให้หนูนั่งอยู่ตรงนี้ก่อน และสงบสติอารมณ์ก่อน ถ้าเมื่อไหร่หนูสงบสติอารมณ์ได้ แล้วค่อยกลับมาคุยกัน”

พอเขาสงบสติอารมณ์ได้แล้ว และเดินกลับมาหาแม่ พ่อกับแม่ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ยอมรับได้ ชมเขาว่า “ดีมาก ที่หนูระงับตัวเองได้ หนูสงบแล้ว อย่างนี้ทุกคนไม่กลัว ทุกคนพร้อมจะคุยกับหนูแล้ว”

การเลี้ยงดูพี่น้องแบบผิดๆ จะส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างไร

การสอนคนเป็นพี่ว่าต้องเสียสละเสมอหรือผิดเสมอ จะทำให้เด็กเก็บกด กัดกร่อนจิตใจ ไม่เชื่อมั่นในความรักของพ่อแม่ และเกิดคำถามว่า ทำไมต้องโดนทำโทษทุกครั้ง นี่เป็นเพราะน้องที่ทำให้เราถูกลงโทษ เมื่อพี่เจอเหตุการณ์แบบนี้หลายๆ ครั้ง ก็จะกลายเป็นพี่ที่เกลียดน้องได้

“ช่วงอายุลูกที่ห่างกันสองปี เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องจะอิจฉากันมากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าวางแผนจะมีลูก ก็อยากจะให้พี่คนโตอายุมากกว่าสามขวบขึ้นไป”

ปัญหาบ้านแตกคือพี่น้องอิจฉากัน

วิธีแก้ไขปัญหานี้ที่ดีที่สุดคือป้องกัน เราต้องวางแผนตั้งแต่จะตั้งท้องเลย อายุลูกที่ห่างกันสองปี เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องจะอิจฉากันมากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าวางแผนจะมีลูก ก็อยากให้พี่คนโตอายุมากกว่าสามขวบขึ้นไป ก็จะพอป้องกันปัญหานี้ได้

หรือถ้าป้องกันไม่ทันแล้ว ช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งท้องคนน้อง แม่ต้องพยายามทำกิจกรรมกับลูกคนโตให้ปกติเท่าที่จะเป็นได้ ถ้ามีแรงอยู่ก็อุ้มลูก อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง เวลาพูดถึงน้องที่กำลังจะเกิดมา อาจจะแค่บอกว่า “เดี๋ยวช่วงเดือนมกราคม บ้านเราจะมีเบบี๋อีกคนนะลูก เป็นน้องของหนู”

และเมื่อน้องคลอดออกมาแล้ว ถ้าพี่อยากจะกอด อยากจะหอม อยากจะอุ้มน้อง หรืออยากจะช่วยเลี้ยงน้อง ก็ควรอนุญาตให้พี่ได้ทำ แต่ไม่ควรบังคับให้ต้องทำนั่นทำนี่ให้น้อง

พ่อแม่ควรมี quality time กับคนพี่ให้เหมือนเดิม อย่าให้เขารู้สึกเหมือนโดนแย่งความรัก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องช่วยกัน เช่น ช่วงที่ลูกคนพี่เล่นกับคุณแม่ คุณพ่อก็ช่วยดูลูกคนเล็กไป

ปัญหาของลูกคนกลาง (Wednesday’s Child) คือพ่อแม่มักมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ

ลำดับการเกิดมันก็มีผลต่อจิตใจและอารมณ์ของลูกจริงๆ สภาวะลูกคนกลาง ก็อาจส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคงได้ และตัวแม่เองก็อาจทำให้ลูกรู้สึกแบบนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

ลูกคนแรกอาจจะดูแลดี ลูกคนที่สอง พ่อแม่อาจรู้สึกเฉยๆ ที่เขาเกิดมา ทำให้ไม่ได้ดูแลเป็นพิเศษ แต่พอมีลูกคนเล็กกลับมีความรู้สึกว่า ต้องดูแลเอาใจใส่เยอะ ก็จะทำให้ลูกคนกลางน้อยเนื้อต่ำใจ ระแวง สงสัยต่อความรักของพ่อแม่ และอาจส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น ลูกคนกลางดื้อ ต่อต้าน โมโหก้าวร้าว หรือไม่ก็เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมยอมคน ซึ่งถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมผิดปกติไหม มันก็ไม่ผิดปกติ มันเกิดขึ้นได้

 

 

 

สัมภาษณ์วันที่ 18 ตุลาคม 2561

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST