ในโลกของศิลปะและการเล่าเรื่อง ศิลปินมักใช้ผลงานของตัวเองเป็นกระจกสะท้อนชีวิตเพื่อเล่าเรื่อง อารมณ์ และความรู้สึกที่ซับซ้อน
เหมือนดังที่ มุนินฺ หรือ มุนินทร์ สายประสาท คุณแม่ศิลปินของลูกชายวัย 6 ขวบ (น้องโลมา) เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตส่วนตัว ผ่านผลงานศิลปะในนิทรรศการ Like You Never Left
เราจึงขอนัดพูดคุยกับ มุนินฺ เพราะอยากชวนพูดคุยถึงแรงบันดาลใจ ความท้าทาย และความหวังของเธอ ทั้งในฐานะศิลปินและคุณแม่ที่กำลังนำทางลูกน้อยผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต และการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้คุณแม่มุนินฺค้นพบตัวเองในบทบาทใหม่ๆ ได้อย่างไรบ้าง

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้
Like You Never Left เป็นนิทรรศการกลุ่มที่นำเสนอโดย RCB Experimental Art Lab โปรเจ็กต์พิเศษโดย ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ร่วมกับคุณบอย—ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ นักสะสมผลงานศิลปะ ที่ได้ร่วมกันคัดเลือกและนำเสนอผลงานของศิลปินที่มีความโดดเด่นในแง่ของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก แล้วเราก็มีโอกาสเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
คอนเซ็ปต์ของงานก็จะพูดเกี่ยวกับพื้นที่ ความทรงจำ บุคคล หรือสถานที่บางอย่างที่ฝังลึกลงไปในจิตใจของเรา ซึ่งก็ตีความได้หลากหลาย เช่น ความรัก บ้านหลังเก่า เพื่อนเก่า แต่สำหรับเราพอได้ยินคอนเซ็ปต์นี้ก็เลยทำให้เรานึกถึงบ้านและครอบครัวเราเอง เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาเราแยกทางกับสามี และสถานะตอนนี้เป็น co-parenting เราก็เลยอยากพูดถึงการที่ลูกมีบ้านที่ไม่เหมือนเดิม แต่ก็อยากให้คำว่าบ้านอยู่กับเขาทุกที่ เลยอยากเล่าเรื่องที่เรารู้สึกมากที่สุดในช่วงนี้ ก็เลยออกมาเป็นผลงานที่ชื่อว่า Home was Here

ทำไมถึงตัดสินใจเล่าเรื่องนี้
ตอนแรกก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะพูดยังไงดี เพราะเรื่องนี้ก็ค่อนข้างละเอียดอ่อนและลูกก็ยังเด็ก เป็นเรื่องที่คิดอยู่นานว่าจะทำยังไงให้เรื่องมันออกมาแล้วไม่สะเทือนใจหรือว่าเศร้าเกินไป แต่ว่าโดยปกติแล้วเราก็ถนัดงานที่ถ่ายทอดจากสิ่งที่เรารู้สึก ก็เลยคิดว่าถ้าเราทำก็น่าจะทำได้ดี เพียงแต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลาในการทบทวนหน่อยว่าจะทำยังไงให้ออกมาซอฟต์ที่สุดและดีกับทุกฝ่ายที่สุด
จริงๆ ก็อยากจะพูดเรื่องลูก และก็นึกถึงตัวบล็อกไม้ที่เคยเล่นกับเขา ก็เลยเอาส่วนนี้มาแทนคำว่าบ้าน แล้วลองมาสเก็ตซ์ดูว่าเราจะสื่อสารออกไปยังไงให้ดูเป็นมุมมองของลูก
ปกติผลงานของมุนินฺจะค่อนข้างอบอุ่น โรแมนติก และพูดถึงความรู้สึกในแง่บวกมากๆ พอต้องมาทำงานที่ realistic มากขึ้น เป็นอย่างไรบ้าง
ท้าทายมากๆ แต่รู้สึกว่าตัวเองมีสเต็ปการเปลี่ยนแปลงในงานมาตลอดตั้งแต่ช่วงสองปีที่เริ่มมีปัญหา มันก็มีผลต่องานเรามาเรื่อยๆ มีผลกับวิธีการเล่าหรือภาพที่วาด อย่างปีที่แล้วที่ทำ Solo Exibhition ก็จะเป็นเรื่องของช่วงเวลาที่เรากำลังผ่านเรื่องยากๆ งานก็เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงเวลานั้นด้วย บางคนบอกว่างานดาร์กมากขึ้น สีหม่นขึ้น แต่งานด้านที่สว่างๆ สดใสก็ยังมีอยู่นะ (หัวเราะ) ก็ยังปนๆ กันไป
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือเราเริ่มใช้สีน้ำมัน จากตอนแรกทำงานสีอะคริลิค ด้วยความที่เป็นสีน้ำมัน มันจะดูมีมิติมากขึ้น สีจะมีความหม่นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้มีความสดใส ก็เลยคิดว่าน่าจะเหมาะกับการถ่ายทอดเรื่องนี้ ความรู้สึกก้อนใหญ่ที่รู้สึกกับเรื่องนี้ก็คือความเศร้า เสียใจ ผิดหวัง แต่เราก็ไม่อยากสร้างผลงานด้วยความรู้สึกแบบนั้น เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ทำให้สดใสด้วยอะไรสักอย่าง ก็เลยคิดว่าอยากทำให้ตัวบล็อกไม้เป็นสีสันแล้วก็เน้นไปที่ตัวละครของเด็กที่มีแววตาที่สื่อถึงการเข้าใจ ยอมรับ และยังมีความหวังอยู่
อีกเรื่องที่คิดว่าท้าทายมากๆ คือการเล่าเป็นแอนิเมชัน เรื่องนี้ก็คิดหลายตลบมาก ปกติถ้าเราจะทำเรื่องเศร้าก็จะไม่ยั้งเลย แต่พอเป็นเรื่องนี้ก็คิดว่าจะทำยังไงดีให้ไม่เศร้าเกินไป

เตรียมตัวนานไหมกับงานครั้งนี้
นานพอสมควรเลย พอคิดว่าจะเล่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้มั่นใจว่าควรทำยังไงดี ก็มีปรึกษาหลายๆ คนและพยายามหาข้อมูลอ่าน แต่ก็มีการพูดถึง co-parenting น้อยมากเลยที่เป็นฉบับภาษาไทย เราก็เลยไม่แน่ใจว่าที่เราทำมันถูกหรือยัง มันโอเคไหม แต่สุดท้ายก็ไปอ่านเจอว่าจริงๆ แล้วเราสามารถคุยกับลูกเรื่องนี้ได้นะ เราสามารถทำความเข้าใจไปพร้อมกับเขาได้ แล้วก็เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เราค่อยๆ ใช้สิ่งที่คุ้นเคยอย่างงานศิลปะที่แม่ทำอยู่แล้วหรือของเล่นที่เขาคุ้นชิน ค่อยๆ อธิบายสิ่งที่เข้าใจยากสำหรับเขาตอนนี้ เราก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น และคิดว่าน่าจะโอเค
การเป็น Co-parenting ในแบบฉบับของครอบครัวมุนินฺ
จริงๆ เราเองก็เพิ่งรู้จักคำนี้เมื่อไม่นาน แต่ก็คิดว่าถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่ใช่ซิงเกิลมัมแน่ๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้เห็นนิยาม Co-parenting ในสังคมไทยมากนัก เพราะเมื่อหย่าร้างหรือแยกทาง ลูกอาจจะต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พอเราเลือกทางนี้ คนในครอบครัวก็จะถามว่า มันได้จริงเหรอ โอเคไหม ไหวไหม เพราะถ้าเป็นการจัดการของเราคนเดียว เราก็ดูแลแค่ความรู้สึกของตัวเองว่าต้องเข้มแข็งและทำให้ดี แต่พอต้องช่วยกันทั้งสองฝั่ง กลายเป็นว่าส่วนสำคัญก็คือการสื่อสาร แต่เราและพ่อของลูกก็ยืนยันว่าเราพร้อมที่จะทำแบบนี้
ลูกรับรู้เรื่องของครอบครัวที่เปลี่ยนไปมากแค่ไหน
จริงๆ ก็ใช้เวลามา 2-3 ปี ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่เรามีโปรเจ็กต์ใหญ่และต้องไปทำงาน ทำให้เขาต้องอยู่กับคุณพ่อ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังเด็กมากและยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็พอปรับตัวได้
พอถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ เราหาข้อมูลเยอะมากว่าจะพูดกับลูกยังไง พยายามเช็กเรื่องการรับรู้ว่าลูกพร้อมที่จะเข้าใจความสัมพันธ์มากแค่ไหน ซึ่งพอเขาเข้าโรงเรียน ก็จะเริ่มได้เห็นความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ เราก็เริ่มสังเกตจากการรับรู้และสิ่งที่เขาสื่อสารกับเรา อย่างตอนนี้เขาอาจยังไม่ได้เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ว่ามันคืออะไร แต่เขารับรู้ได้โดยพฤติกรรมว่าพ่อกับแม่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน เขาจะต้องอยู่กับพ่อสัปดาห์นี้ และอยู่กับแม่อีกสัปดาห์ แต่ช่วงหลังมาเขาจะเริ่มพูดว่าแม่ต้องไปทำงาน แต่เราไม่อยากให้เขาคิดว่าเป็นความผิดของงาน นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องค่อยๆ ปรับความเข้าใจกับลูกเหมือนกัน วันหนึ่งถ้าเขาพร้อมจริงๆ เราก็คงอธิบายได้ว่าพ่อกับแม่แยกกันอยู่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะแม่ว่าทำงาน น่าจะยังต้องใช้เวลาไปเรื่อยๆ

“เราต้องโฟกัสว่าบทบาทตอนนี้ของเราคือพ่อกับแม่ และเป้าหมายของเราคือการทำให้ลูกมีความสุข อะไรที่เป็นปัญหาของเราไม่ใช่ปัญหาของลูก ต่อจากนี้ก็พยายามมากๆ ที่จะเข้าใจแต่ละฝ่าย เพื่อให้การสื่อสารของเรามันราบรื่น”
ยังมีอะไรที่คิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
การปรับตัวเป็นเรื่องใหญ่มากๆ สิ่งที่เราพยายามจะไม่ทำเลยก็คือเปรียบเทียบครอบครัวตัวเองกับครอบครัวอื่น ที่บอกว่าจะพยายามไม่ทำก็คือยังทำไม่ได้นะ (หัวเราะ) มันยากมากๆ อย่างช่วงแรกมันก็อดเปรียบเทียบไม่ได้เวลาที่เห็นภาพของครอบครัวอื่นหรือชีวิตคนรอบข้าง เรารู้สึกว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เรามีแต่ความรู้สึกอยากขอโทษลูก ซึ่งรู้เลยว่ามันส่งพลังงานอะไรบางอย่างออกมาแน่ๆ และก็รู้ตัวว่าจิตใจไม่มั่นคง คิดว่ากว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ก็ใช้เวลาเยอะเหมือนกัน
ต่อมาก็เรื่องการสื่อสารกับพ่อของลูก เพราะมันก็จะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย ถ้าเราจัดการได้ไม่ดี มันก็จะปนกันไปหมด เพราะฉะนั้นเราต้องโฟกัสว่าบทบาทตอนนี้ของเราคือพ่อกับแม่ และเป้าหมายของเราคือการทำให้ลูกมีความสุข อะไรที่เป็นปัญหาของเราไม่ใช่ปัญหาของลูก ต่อจากนี้ก็พยายามมากๆ ที่จะเข้าใจแต่ละฝ่าย เพื่อให้การสื่อสารของเรามันราบรื่น พยายามคิดว่าเขาก็เหมือนเรา เขาก็รักเด็กคนนี้มากๆ เหมือนเรา พอคิดแบบนี้ก็ทำให้มุมมองที่มีต่อเขา ไม่ได้เอาด้านลบมานำทาง
ในมุมของแม่ที่ต้องทำงานไปด้วย คิดว่าจะบาลานซ์ระหว่างงานกับครอบครัวอย่างไร
ด้วยความที่อาชีพเราคือศิลปินอิสระ ธรรมชาติของเราก็จะชอบคิดงาน ชอบทำงาน แต่ในบทบาทของการเป็นแม่เราก็อินกับลูกมากเหมือนกัน เรียกง่ายๆ ว่าโลภ (หัวเราะ) จะเอาทุกอย่าง ก็เลยยากขึ้นในการจัดการเวลา แต่ก็พยายามจะแบ่งเวลาให้ลูกเป็นอันดับแรกก่อน
ข้อดีของการเป็นฟรีแลนซ์ก็คือเราสามารถมองทุกอย่างเป็นโปรเจ็กต์ได้ ช่วงนี้ทำงานหรือช่วงนี้ทุ่มเทเวลากับลูกได้เต็มที่ แต่ในทุกเดือนก็จะต้องมานั่งคุยกับพ่อของลูกว่าสัปดาห์นี้มีใครต้องไปไหนทำอะไร เพื่อที่จะได้จัดสรรเวลากัน

คิดไหมว่าจะต้องบอกกับลูกอย่างจริงจังเมื่อไร
คิดว่าท้ายที่สุดก็ต้องบอกลูกอยู่ดี แต่ก็คงใช้วิธีเดิมคือ เช็กว่าตอนนี้ลูกสามารถรับรู้ได้แค่ไหน คิดว่าคงไม่ช้าก็เร็วๆ นี้ แต่เราเชื่อว่าเขาจะเข้าใจได้ เขาจะมีมุมน่ารักที่มันแปลกมาก เช่น เวลาที่เขาบอกรักเรา ก็จะบอกว่าเราเป็นแม่ที่ดีที่สุดนะ แล้วแทบทุกครั้งเขาก็จะพูดว่าพ่อคือพ่อที่ดีที่สุดเช่นกัน ทำให้เรารู้ว่าลูกเริ่มเข้าใจแล้วว่าเวลาที่พูดถึงคนนึงก็ควรพูดถึงอีกคนด้วย จะได้ไม่มีใครเสียใจ
การเป็นแม่ในฐานะ Co-parenting เป็นอย่างไร มีอะไรแตกต่างจากเดิมบ้าง
เรารู้สึกว่าเป็นการทำงานคนเดียวมากขึ้น เพราะว่าการดูแลทุกอย่างต้องเพิ่มขึ้นเท่าตัว เหมือนเราต้องเข้มแข็งขึ้นในทุกด้านเลย ทั้งร่างกาย และความคิด เราต้องรู้สึกว่ามั่นคงในจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน
เหมือนที่เราวาดรูปนี้ขึ้นมา เพราะอยากให้รู้สึกว่าลูกยังมีบ้าน มีพ่อกับแม่ที่ให้เขาเป็นที่หนึ่ง แต่ว่าก่อนที่จะให้เขาเชื่อตรงนั้นได้ เราต้องเริ่มจากตัวเองก่อน
จากประสบการณ์ที่เปลี่ยนสถานะเป็นพ่อแม่ช่วยกันเลี้ยงลูก ทำให้เห็นมุมมองอะไรใหม่ๆ บ้าง
น่าจะเป็นเรื่องความละเอียดอ่อนกับลูกมากขึ้น เพราะว่ามันเริ่มด้วยความรู้สึกที่เป็นด้านลบก่อน เรารู้สึกขอโทษลูกตลอดเวลา อยากทำให้ดีกว่านี้ พออยู่กับเขาไปเรื่อยๆ ในความเป็นเด็กของเขา มันทำให้เราได้รับความคิดและประสบการณ์ที่บริสุทธิ์จริงๆ มันช่วยให้เราไม่มองสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้แย่ลงกว่าเดิม
และคิดว่าลูกเองปรับตัวและเข้าใจได้มากกว่าเรา ในมุมของเราคือผู้ใหญ่สองคน ที่ผ่านมีประสบการณ์ด้วยกันมาเยอะ แต่ในมุมของลูก ถ้าถามเขาว่าพ่อหรือแม่เจ๋งไหม เขาก็คงชอบทั้งคู่ เหมือนเราก็ได้เลือกคนที่เป็นพ่อในแบบที่ลูกชอบ ตัวเราเองก็เป็นแม่ที่ลูกชอบ เราว่าลูกเป็นศูนย์กลาง ซึ่งพอเห็นความคิดนี้ก็รู้สึกดีขึ้น

มีอะไรอยากบอกคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในสถานะ Co-parenting หรืออยู่ในระหว่างการตัดสินใจบ้างหรือเปล่า
เราเลี่ยงมากๆ ที่จะพูดคำว่าหย่าร้าง เพราะมีช่วงหนึ่งที่เราตั้งสถานะในเฟซบุ๊กว่าหย่าร้าง ก็มีคนรอบข้างที่มีความรู้สึกว่ารุนแรงกับคำนี้ แต่อย่าให้การหย่าร้างมันเปลี่ยนตัวตนของเรา และไม่ต้องคิดว่ามันเลวร้ายขนาดนั้น
ถึงแม้เวลาอยู่กับลูก ก็ยังมีความรู้สึกว่าอยากให้ทุกอย่างมันดีกว่านี้ แต่พอคิดว่าอีกฝั่งก็คงรู้สึกอยากจะทำให้ดีที่สุดเหมือนกัน ดังนั้น พยายามรู้สึกขอบคุณกันดีกว่า
และสุดท้าย อยากพูดอะไรถึงคนดูนิทรรศการครั้งนี้บ้าง
อยากจะเชิญทุกคนให้ไปดูนิทรรศการ Like You Never Left สำหรับงานชิ้นที่ใช้เวลาในการคิดทบทวนไตร่ตรองมากับมันเยอะมากๆ อยากจะให้ทุกคนแวะไปดู ถ้ายังไม่เคยฟังเรื่องราวของเรา มาดูรูปนี้คิดว่าอาจจะได้เมสเซจเดียวกัน คือการ เข้าใจ ยอมรับ และรู้สึกมีความหวัง ไม่ว่าจะเคยมีประสบการณ์สูญเสียหรือปล่อยใครไป ก็อยากให้มาดูภาพและแอนิเมชันที่เราตั้งใจทำ หวังว่าจะรู้สึกดีขึ้น และมีความหวังไปพร้อมๆ กัน
ร่วมย้อนเวลาสู่ห้วงของความทรงจำกับนิทรรศการ Like You Never Left จัดแสดงให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 9 มีนาคม 2568 ที่ RCB Galleria 4, ชั้น 2 River City Bangkok เวลา 10.00 -19.00 น.
COMMENTS ARE OFF THIS POST