READING

Interview: ครูอ๊อด—สุรชัย สุขเขียวอ่อน กับบ้านนกขม...

Interview: ครูอ๊อด—สุรชัย สุขเขียวอ่อน กับบ้านนกขมิ้น บ้านหลังใหญ่ของเด็กเร่ร่อนที่มีความรักเป็นรั้วล้อมบ้าน

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อครูอ๊อดและบ้านนกขมิ้นจากโครงการรับบริจาคของมือสองสารพัดชนิดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์และสมทบเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ด้อยโอกาสที่มีครูอ๊อดเป็นเสมือน ‘พ่อ’ ของพวกเขา จากเด็กที่เคยเร่ร่อนข้างถนน ครูอ๊อดไม่มองข้ามพวกเขาและให้โอกาสเข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวขนาดใหญ่ในบ้านนกขมิ้น มีอาหารกินสามมื้อ มีที่หลับนอนให้ความอบอุ่น และได้เรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัย 

วันนี้เรามาพบครูอ๊อดที่บ้านนกขมิ้น ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ สนามเด็กเล่น และลานกว้างให้เล่นกีฬา น่าเสียดายตรงที่เวลานั้นเด็กเล็กกำลังนอนกลางวัน ส่วนเด็กโตก็ยังไม่กลับจากโรงเรียน เราจึงไม่ได้เห็นบรรยากาศของบ้านมีเด็กหลายคนหลายวัยอยู่ร่วมกัน แต่เราก็สัมผัสได้ว่าบ้านหลังนี้มีความรักความอบอุ่นที่ประคองให้ลูกนกเล็กๆ เติบใหญ่แข็งแรง และกางปีกบินสู่สังคมอย่างภาคภูมิใจ

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

บ้านนกขมิ้นมีจุดเริ่มต้นอย่างไร

บ้านนกขมิ้นเริ่มต้นจากการเป็นบ้านเล็กๆ เมื่อประมาณปี  2532 โดยคุณเออร์วิน กร็อบลี อดีตสจ๊วตชาวสวิสเซอร์แลนด์ที่มาอยู่เมืองไทย เป็นผู้ก่อตั้ง

ตอนนั้นคุณเออร์วินอายุห้าสิบกว่าๆ เขาคิดว่าหลังเกษียณอยากมาอยู่เมืองไทย ก็เลยไปเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย จนพูดภาษาไทยได้พอสมควร ตอนเรียนเห็นเด็กคนหนึ่งนอนอยู่ข้างทาง อายุประมาณ 9 ขวบ ก็แปลกใจว่าเด็กอายุเท่านี้ทำไมมานอนตรงนี้ ทำไมไม่อยู่บ้าน ก็เลยเข้าไปคุยกับเด็กคนนั้น เด็กบอกว่าที่จริงเขาหนีออกจากบ้านมา เพราะว่าครอบครัวมีปัญหา จากสุพรรณบุรีก็เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วก็มาเป็นเด็กเร่ร่อนขอทาน ได้กินบ้างไม่ได้กินบ้าง อาบน้ำบ้างไม่อาบน้ำบ้าง คุณเออร์วินก็เลยบอกว่าไปอาบน้ำที่อพาร์ตเมนต์เขาก็ได้นะ เด็กก็เลยได้ไปอาบน้ำ หลังจากนั้นเขาก็ไปชวนเพื่อนอีก 2-3 คนมาอาศัยอพาร์ตเมนต์คุณเออร์วินเป็นที่พัก แต่ตอนนั้นคุณเออร์วินไปทำงานก็ไม่ค่อยได้กลับบ้าน เจ้าของอพาร์ตเมนต์ก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เลยแนะนำว่าถ้าอยากดูแลเด็กพวกนี้ให้หาที่ทางเป็นบ้านจะดีกว่า ซึ่งคุณเออร์วินก็เห็นด้วย

พอคุณเออร์วินกลับไปที่สวิสเซอร์แลนด์หลังจากการเป็นพนักงานสายการบินและไปสมัครเป็นมิชชันนารีแล้ว เขากับเพื่อนๆ ก็ร่วมกันลงขันสมทบทุนทำบ้านพักให้เด็กกำพร้าที่เมืองไทย ได้เงินมาประมาณ 300,000 บาท ก็มาซื้อที่ดินเพื่อทำบ้าน ในตอนเริ่มต้นมีเด็ก 5-6 คน

ตอนนั้นราวปี 2530 ผมเรียนอยู่ที่รามคำแหง และเป็นครูข้างถนนไปด้วยคือไปเป็นเพื่อนเด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า ตอนนั้นมีเด็กที่อยู่กับผมประมาณ 20 คน เด็กบางคนก็โตพอสมควร พาไปสมัครงานได้ ทำงานปั๊มน้ำมัน ทำงานเสิร์ฟในร้านอาหารได้ แต่เด็กบางคนอายุเพิ่ง 9 ขวบ เขาควรจะได้เรียนหนังสือ ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าจะส่งเขาไปหาใครที่จะทำให้เขามีบ้านอยู่และมีที่เรียน ส่วนปัญหาของคุณเออร์วินคือมีบ้านแต่ไม่มีเด็ก ก็เลยมีคนแนะนำให้รู้จักกับคุณเออร์วินในตอนนั้น แล้วก็พาเด็กส่วนหนึ่งมาอยู่ที่บ้านนกขมิ้น ให้เขาได้รับการดูแล ได้เรียนหนังสือ

พอผมเรียนจบก็มีโอกาสมาร่วมทำงานที่บ้านนกขมิ้น จนคุณเออร์วินเกษียณ ผมก็เป็นผู้อำนวยการต่อ และจดทะเบียนบ้านนกขมิ้นเป็นมูลนิธิในปี 2536

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ครูอ๊อดเข้ามาทำงานนี้

ผมเกิดในครอบครัวแตกแยก พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้ แล้วผมก็ถูกส่งไปให้คนนู้นเลี้ยงที คนนี้เลี้ยงที โยนไปโยนมาเหมือนลูกบอล เกิดในสลัมคลองเตย ก็เลยหนีออกจากบ้านไปอยู่ตามตลาด หนีออกมาจากบ้านหลายเดือน พ่อก็พยายามตามหา หลังจากนั้นเขาก็ให้ผมมาอยู่กับปู่ย่าที่ตลาดคลองเตย

จนได้มาเรียนที่รามคำแหง ประมาณปี 2-3 เห็นมีเด็กมานอนอยู่ที่ซุ้ม (โต๊ะกลุ่มของนักศึกษา) เราก็ไปคุยกับเขา ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน ทำไมมานอนที่นี่ เขาก็บอกว่าเขาไม่มีบ้าน ไม่มีบ้านของเขาคือมีแม่ แต่เขาอยู่ใต้สะพานที่รถข้าม ซึ่งก็ไม่เรียกว่าบ้าน เวลามีคนผ่านมาก็ให้เงินบ้าง หรือเอาดอกไม้มาขายบ้าง แต่ถ้าไม่ได้รายได้ก็จะโดนตี เลยต้องมาแอบนอนในมหาวิทยาลัย เราก็คิดถึงชีวิตเรา เราก็เคยเป็นเด็กที่ต้องอยู่แบบนี้ ก็เลยหาโอกาสไปคุยกับเขา ชวนเขามานอนที่ซุ้มประจำของเรา แล้วก็พยายามทำกิจกรรมเพื่อหาข้าวมาเลี้ยงเด็กๆ พวกนี้ จนในที่สุดก็มีพี่คนหนึ่งทำงานอยู่ที่มูลนิธิศุภนิมิตมาชวนให้ผมไปเป็นครูข้างถนน มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 50 บาท เราก็ทำจนเขาบอกว่าจะไม่มีโครงการแล้ว เพราะเบี้ยเลี้ยงหมด ผมก็บอกไม่เป็นไร ผมทำต่อได้ จนมาเจอคุณเออร์วินและได้ทำงานที่นี่

ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจ เพราะเราเคยได้รับโอกาสจากคนในสังคมทำให้เรามีโอกาสได้เรียนจนจบ เราก็อยากให้คนอื่นได้เรียนบ้าง จริงๆ การจะทำให้เด็กพวกนี้อยากเรียนหนังสือก็เป็นเรื่องยาก แค่บอกว่าเรียนแล้วจะมีข้าวให้กิน มีที่ให้นอน มันไม่พอ เพราะว่าเขาก็หาเงินซื้อข้าวเองได้ ที่นอนก็มีอยู่เราต้องมีความจริงใจ มีความรักให้เขาจริงๆ

“การช่วยเด็กเร่ร่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าเราไม่มีโอกาสได้เจอเขาทุกวัน วันนี้เขาอยู่ที่หัวลำโพง พรุ่งนี้อาจจะอยู่ที่สนามหลวง โอกาสจะเจอเขาอีกครั้งก็ยาก”

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

ครูอ๊อดเจอเด็กเหล่านี้ได้ยังไง

ผมเป็นครูข้างถนน เวลาลงพื้นที่ก็จะเห็นเด็กขอทานตามสะพานลอย เห็นเด็กที่อยู่ตามตลาด ผมก็คุยกับพวกเขา เมื่อก่อนแข็งแรงก็ยังทำได้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าเวลาเจอเด็กแบบนี้ ถ้าเขาอยากเรียนหนังสือ ก็จะมีองค์กรที่ร่วมกันพาเด็กมาส่งให้กับเรา

มีคนเคยถามว่าทำไมครูต้องรอให้เด็กออกมาเร่ร่อนก่อนแล้วถึงจะช่วย จริงๆ แล้วเราก็ยอมรับว่าการช่วยเด็กเร่ร่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าเราไม่มีโอกาสได้เจอเขาทุกวัน วันนี้เขาอยู่ที่หัวลำโพง พรุ่งนี้อาจจะอยู่ที่สนามหลวง โอกาสจะเจอเขาอีกครั้งก็ยาก แล้วเมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ถ้าจะนัดเจอเด็กคนหนึ่งยากมากๆ เราต้องไปตามแหล่งของเขา สะพานพุทธบ้าง สนามหลวงบ้าง หัวลำโพงบ้าง ศาลเจ้าพ่อเสือบ้าง เราก็ไปเรื่อยๆ บางทีวันนี้เจอก็ได้คุยกัน แต่พรุ่งนี้มาตรงนี้ไม่เจอแล้ว เพราะเขาไปที่อื่น การช่วยเหลือแบบต่อเนื่องจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อันนี้ผมยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่เราจะช่วยได้ แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนด้วยที่เราจะได้เจอเขาบ่อยๆ

ถ้าเด็กคิดว่าเขามีข้าวกินมีที่นอนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านก็ได้ ต้องใช้วิธีไหนถึงจะชวนเขาให้มาอยู่ที่บ้านนกขมิ้นได้

จริงๆ การที่จะทำให้เด็กคิดได้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเด็กคนหนึ่ง ผมถามว่าเขามาเป็นเด็กเร่ร่อน ขอทานแบบนี้ แล้วอนาคตจะเป็นยังไง จะอยู่ยังไง เด็กคนนั้นก็พาผมเดินขึ้นสะพานลอยที่อนุสาวรีย์ชัย มีแม่คนหนึ่งอุ้มลูกอ่อนมาขอทานที่สะพานนี้ ต่อไปอีกสะพานหนึ่ง มีเด็กคนหนึ่งที่อายุประมาณ 7-8 ขวบ มานั่งขอทาน พอเลยไปอีกสะพานหนึ่งก็มีวัยรุ่นคนหนึ่งมานั่งขอทาน ใกล้ๆ กันก็มีคนแก่มาขอทาน เขาก็บอกผมว่า เขาอยู่แบบนี้ได้ตลอดชีวิตเลย มันก็จริงของเขานะ

แต่เราต้องบอกเขาว่า เราต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะอยู่ได้ก็ต้องมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่อยู่แบบมีแต่คนดูถูก แต่เราก็ต้องทำให้เขามองเห็นว่าศักดิ์ศรีคืออะไร

ผมขอเพื่อนที่ทำงานอยู่ในโครงการจัดค่ายสำหรับเด็ก บอกว่เวลาเขาพาเด็กไปจัดกิจกรรมเข้าค่ายที่ต่างจังหวัด ขอให้เด็กผมได้ไปด้วย 5-10 คน เพราะเด็กที่อยู่ในค่ายเป็นเด็กที่เรียนหนังสือ แต่เด็กของผมเร่ร่อนอยู่ตามถนน เราต้องทำให้เขาได้เจอเด็กที่เรียนหนังสือ แล้วก็ไปค่ายด้วยกัน ได้คุยกัน เขาจะได้มีเพื่อนที่พูดถึงโรงเรียน แล้วยิ่งไปเจอเพื่อนต่างเพศ เวลาไปคุยเขาก็จะถามว่าเธอเรียนที่ไหน เด็กบางคนก็ตอบไม่ได้ ภาษาไทยก็อ่านไม่ได้ แล้วเพื่อนบางคนก็ตอบว่า เรียนนานาชาติ ลองนึกภาพนะ มันมีกิจกรรมที่ต้องใช้ความรู้ ต้องออกไปเขียนภาษาไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ก็ทำไม่ได้ ได้แต่การใช้กำลังกับเล่นกีฬา เด็กก็เริ่มมาคิดแล้วว่า อ๋อ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีมันเป็นอย่างนี้ จะบอกใครว่าเป็นขอทานมันก็ไม่ได้ พอกลับจากค่าย เด็กก็มาคุยกับผมว่าอยากเรียนหนังสือแล้ว นี่เป็นกลยุทธ์ในการจูงใจเด็ก

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

ตอนนี้ที่บ้านมีเด็กกี่คน

ตอนนี้เด็กที่บ้านนกขมิ้นในกรุงเทพฯ มีประมาณ 50 คน อายุระหว่าง 5-18 ปี ถ้าโตกว่านั้นก็จะไปอยู่ในระบบหอพักของมหาวิทยาลัย แล้วก็มีเด็กที่เป็นลูกแรงงานต่างด้าว ลูกแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มาให้เราช่วยดูแลช่วงกลางวัน จันทร์-ศุกร์ ประมาณ 20 กว่าคน อันนี้เราก็ทำเป็นศูนย์สโมสรเด็กช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นโครงการเฉพาะบ้านนกขมิ้นที่กรุงเทพฯ

“เราก็เป็นครอบครัวเหมือนกับครอบครัวปกติทั่วไป เพียงแต่คนเยอะหน่อยเท่านั้นเอง”

ชีวิตประจำวันของเด็กที่บ้านนกขมิ้นเป็นยังไง

บ้านนกขมิ้นคือครอบครัว เราจดทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์ก็จริง แต่รูปแบบของเราเป็นครอบครัว ในครอบครัวก็จะมีคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องเป็นครอบครัวทดแทน ทำหน้าที่พ่อแม่ในการดูแลเด็ก คือเมื่อเป็นพ่อแม่แล้ว มันไม่มีคำว่าลาพักร้อน ลากิจนะ พ่อแม่คือพ่อแม่อยู่อย่างนี้ ลักษณะของเจ้าหน้าที่บ้านก็คือเป็นพ่อแม่ อยู่กับเด็กทุกวัน จะไปไหนก็ต้องพาลูกไปด้วย ไม่ปล่อยลูกทิ้งไว้ จะไปต่างจังหวัดก็ต้องพาไป ปิดเทอมก็ต้องพาไป กลับไปบ้านก็ต้องพาไป มีสิบกว่าคนก็ต้องไปด้วยกัน เปิดเทอม ตอนกลางวันก็ไปเรียนหนังสือ เย็นกลับมาก็ต้องเจอกัน นี่คือลักษณะของบ้านนกขมิ้น ความเป็นครอบครัวก็เลยทำให้เรามีความผูกพันกันมาก เด็กก็รู้สึกว่าเราเป็นญาติ ให้มองภาพที่นี่เป็นครอบครัว อย่าไปมองภาพของสถานสงเคราะห์ เราไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนในสถานสงเคราะห์เพราะเราต้องการให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กปกติมากที่สุด ชีวิตประจำวันคือเช้าตื่นมาก็กินข้าว ไปโรงเรียน กลับมาจากโรงเรียนก็มาช่วยกันทำเวร ทำความสะอาดบ้าน เสร็จจากทำความสะอาดบ้านก็มาเล่นกีฬา เราก็พยายามทำโรงยิมให้ สอนกีฬาบ้าง มีกิจกรรมตามความสนใจ เราก็เป็นครอบครัวเหมือนกับครอบครัวปกติทั่วๆ ไป เพียงแต่คนเยอะหน่อยเท่านั้นเอง

อาจจะมีวันอาทิตย์ที่แตกต่างนิดหนึ่งคือการไปโบสถ์ เราเป็นคริสเตียน แต่ไม่ได้บังคับให้เด็กมาเป็นคริสเตียนนะ ความเชื่อของเขาก็อยู่ที่การตัดสินใจเมื่อเขาโตขึ้น

“เด็กที่นี่ไม่เคยหนีไปไหนออกไป จริงๆ เขามีโอกาสตลอด ถ้าไม่อยากอยู่ที่นี่จะไม่อยู่ก็ได้ แต่ทำไมเขาอยู่ เพราะเราไม่ได้เอารั้วมาล้อมเขา แต่เราเอาความรักมาล้อมเขาไว้”

แล้วเด็กๆ สามารถออกไปเที่ยวกันเองได้ไหม

ปกติครับ เหมือนบ้านเลย เพียงแต่ว่าต้องขออนุญาต เราเป็นพ่อแม่ที่ลูกไปไหนต้องขออนุญาต เราคิดว่าเขาเป็นลูก และที่นี่เป็นบ้าน ผมสังเกตอย่างหนึ่ง เพราะลักษณะสถานสงเคราะห์ของเราเป็นบ้าน ตอนเช้าเขาไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน เด็กที่นี่ไม่เคยหนีไปไหน จริงๆ เขามีโอกาสตลอดนะ ถ้าไม่อยากอยู่ที่นี่จะไม่อยู่ก็ได้ แต่ทำไมเขาอยู่ เพราะเราไม่ได้เอารั้วมาล้อมเขา แต่เราเอาความรักมาล้อมเขาไว้ เพราะเขารู้ว่าอยู่ที่นี่มีคนรักเขา ถึงได้บอกว่าอาหารกับที่นอนไม่ใช่ปัจจัยหลัก ปัจจัยหลักคือความรักที่ทำให้เขาอยู่กับเรา

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

อะไรเป็นสิ่งที่ครูอ๊อดอยากให้เด็กทุกคนมีติดตัวไปจนโต

เขาไม่มีต้นทุนในสังคม สิ่งที่จะช่วยเขาได้คือความรู้ เราอยากให้เขามีความรู้ที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ แล้วก็ต้องมีความรักคนอื่นด้วย เราต้องพยายามปรับความคิดเขาว่าคนในสังคมรักเขา เราจะบอกว่าคนมาเลี้ยงอาหาร เอาของมาให้ เพราะว่ารักพวกเรา ให้เขามีทัศนคติที่ดีกับคนในสังคม ให้เขามีความรู้ และรักคนอื่นเหมือนกัน และสิ่งที่เราคาดหวังคือ พอเขาออกจากเราไปแล้ว เขามีครอบครัว เขาก็จะดูแลครอบครัวของเขา เด็กหลายคนได้แต่งงาน พอแต่งงานไม่มีญาติผู้ใหญ่ ก็ให้ผมไปเป็นพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ให้ ดูแลจนแต่งงานจนมีลูก จนตอนนี้ผมจะกลายเป็นปู่ไปแล้ว

มีกฎเกณฑ์อะไรในการให้เด็กออกไปมีครอบครัวไหม

มีกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย สถานสงเคราะห์จะดูแลเด็กจนถึงอายุ 18 ปี พอครบ 18 ปี ถ้าเขาไม่อยากอยู่เขาก็ไปได้ แล้วเราก็ไม่มีสิทธิจะห้ามเขาเพราะเขาโตแล้ว แต่เด็กบางคนอยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็ต้องอยู่ในกฎกติกา เราบอกว่า จะเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ต้องตั้งใจเรียน และจะมีหอพักให้ เป็นหอพักใกล้มหาวิทยาลัยที่เราจัดไว้ให้

หรือบางคนอายุ 18 ปีแล้ว แต่ยังเรียนไม่จบมัธยม ก็ยังอยู่ต่อ แล้วค่อยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเรียนจบมัธยมแล้ว อายุ 18 ปีขึ้นไปแล้ว จะออกไปทำงานเองก็ได้

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

แปลว่าเด็กที่บ้านนกขมิ้นดูแลก็อาจจะมากกว่าอายุ 18

อายุสูงสุดของเด็กที่จะอยู่ในสถานสงเคราะห์คือ 18 แต่ในการดูแลของเรา เราก็ดูแลจนกว่าเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็อาจจะเป็น 23-24 ปี บางคนจบไปทำงานโรงแรม บางคนก็ไปทำงานสังคมสงเคราะห์ ไปทำบริษัท จบเป็นพยาบาลก็มี แต่ถ้าหางานไม่ได้เราก็พยายามแนะนำบริษัทต่างๆ ให้เขาลองไปสมัคร คนที่ออกไปแล้วก็กลับมาช่วยเราในวันหยุดเขาก็มี

คือส่วนใหญ่ของคนที่เข้ามาทำงานที่นี่หรือเปล่า

ส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กของเราที่โตขึ้นมา อีกส่วนเป็นคนที่เคยมาร่วมกิจกรรมกับเรา มีคนถามเหมือนกันว่า มาทำงานนี้อยู่ได้ยังไง มีเงินเดือนไหม ผมก็บอกว่ามี แต่ไม่มาก แต่มันต้องมี เพราะว่าถ้าเรามองอาชีพอื่นๆ ครูเป็นอาชีพ ครูก็ต้องมีเงินเดือน ตำรวจก็ต้องมีเงินเดือน ที่เข้ามาทำงานเพื่อสังคมก็ต้องมีเงินเดือน พูดง่ายๆ เรามีบ้าน เราไม่มีเวลาในการทำความสะอาดบ้าน เราก็ต้องจ้างคนเข้ามาทำความสะอาดให้ เหมือนกัน ผมเข้ามาแก้ไขปัญหาในสังคม ผมก็ต้องขอการสนับสนุนจากคนในสังคมด้วย ต่างประเทศเขาเข้าใจนะว่า เงินบริจาคส่วนหนึ่ง 10 % จะเป็นเงินที่มาดูแลภาคสังคม แต่เมืองไทยยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็เลยยังแก้ปัญหาไม่หมด ถ้าคนเข้าใจตรงนี้มากๆ ก็จะแก้ปัญหาสังคมได้

จะเข้ามาทำงานที่บ้านนกขมิ้นต้องมีคัดเลือกหรืออบรมอย่างไรบ้าง

ถ้าทำด้านดูแลเด็ก ก็ต้องดูประวัติเขาก่อน ดูว่าเขาเป็นคนยังไง สุขภาพจิตเป็นยังไง ส่งไปอบรมเวลามีการจัดอบรม เกี่ยวกับการดูแลเด็ก การทำงานกับเด็ก ถ้าทำงานด้านเกี่ยวกับประชาสัมพันธ์ ดูว่าจบอะไรมา พอมีข้อมูลในการทำประชาสัมพันธ์ได้ไหม จบบัญชีก็มาทำบัญชี

บางทีเราก็ดึงเด็กที่เพิ่งเรียนจบให้กลับมาช่วยงาน ไม่อย่างนั้นถ้าเราเป็นอะไรขึ้นมาจะไม่มีคนสานต่อ แต่เราต้องเข้าใจว่า เขาต้องมีที่พัก มีอาหาร มีครอบครัว จะให้เขาทำงาน เขาต้องอยู่ได้

ตรงนี้บางทีสังคมไม่เข้าใจ อาจจะมองว่า เงินบริจาคมาถึงเด็กหรือเปล่า หรือเอามาใช้จ่ายหมด จริงๆ มันมีกฎหมาย เงินบริจาคเข้ามูลนิธิต่างๆ จะใช้ได้แค่ 10-15% ซึ่งก็คือสวัสดิการเงินเดือนของพนักงาน ความคิดว่าคนทำงานภาคสังคม ไม่ต้องได้รับค่าตอบแทน เป็นความคิดสมัยก่อน ถ้าจะทำจริงๆ เราต้องมีทีมงาน และก็ต้องดูแลทีมงานด้วย

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานนี้คืออะไร

อนาคตของเด็ก แต่ผมทำงานคนเดียวไม่ได้ ผมต้องอาศัยการสนับสนุนจากสังคม ช่วงแรก คนอาจจะมองว่าเอาเด็กมาบังหน้าหรือเปล่า เราก็ต้องทำให้สังคมเห็นความตั้งใจของเราจริงๆ บางคนไม่เข้าใจว่ามันจะแก้ปัญหาได้ยังไง สังคมเรามีเด็กเร่ร่อนแบบนี้อีกเยอะ ถ้าเด็กสักคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากร แล้วเข้ามาทำร้ายคุณหรือคนในครอบครัวของคุณ คุณจะเข้าใจผมทันที

ตั้งแต่เริ่มทำมาจนถึงวันนี้ เคยท้อบ้างไหม

ท้อได้แต่ถอยไม่ได้ครับ เพราะว่าเราก็ต้องต่อสู้ มีหลายอย่างที่เราจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้

ในฐานะที่เราก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เราสามารถช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง

ผมอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน แห่งการให้ แล้วก็ไม่อยากให้คิดว่าต้องรวยก่อนแล้วค่อยช่วยคนอื่น ไป จริงๆ การช่วยเหลือคนในสังคม การให้โอกาส ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเงินอย่างเดียว คุณมีความรู้ อาจจะมาช่วยเราได้ มาสอนเด็กเล่นดนตรีบ้าง มาสอนเด็กทำงานประดิษฐ์ สอนทำการบ้าน หรือว่าคุณมีของที่คุณไม่ใช้ เหลือใช้ เสื้อผ้ามือสอง เสื้อผ้าเก่า หนังสือเก่า เครื่องไฟฟ้าเก่า เสียแล้ว คุณก็เอามาบริจาคได้ ผมก็เอาของพวกนี้ไปขายแล้วก็เอาเงินมาเป็นค่าเทอมให้เด็กๆ ได้ ผมอาจจะเป็นคนที่รับบริจาคอะไรแปลกๆ เช่น รับบริจาคแสตมป์เซเว่น หรือรับบริจาคคะแนน All Member บางคนบอกว่า ผมให้บริจาคให้ครู 3,000 คะแนน (เท่ากับ 30 บาท) ก็เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจนะ เราสร้างสังคมแห่งการให้ ทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกว่าให้ได้ง่ายๆ ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาก แต่ทำให้เขามีความสุข เราต้องช่วยกัน ไม่ต้องมาคิดว่าเด็กเป็นลูกเป็นหลานหรือเปล่า

ความสุขในการทำงานนี้คืออะไร 

ความสุขของผมคือได้เห็นความสำเร็จของเขา เราเลี้ยงเด็กที่เขาไม่มีต้นทุนทางสังคมเลย ไม่มีอนาคตเลย จนเขามีอนาคต มีความสำเร็จ มีครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุข

 

วันที่สัมภาษณ์ 16 มกราคม 2563
ผู้สัมภาษณ์: ลฎาภา อินทรมหา

Guest Writer

นักเขียนรับเชิญ (แทบ) ไม่ซ้ำหน้า ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวที่ (แทบ) ไม่ซ้ำใคร

COMMENTS ARE OFF THIS POST