เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจว่าเพราะอะไร ปัญหาความรุนแรง การล่วงละเมิด ทำร้ายร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็ก จึงดูเหมือนจะมีท่าทีที่รุนแรงและโหดร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ
และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือคนที่กระทำและใช้ความรุนแรงกับเด็ก มักไม่ใช่คนอื่นไกล แต่กลับกลายเป็นคนในครอบครัวของเด็กเสียเอง
โดยสถิติในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ปี 2561 พบว่ามีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรีถึงร้อยละ 83.6 หรือเฉลี่ยคือมีเด็กและผู้หญิงถูกทำร้ายมากถึง 5 คนต่อวัน (ที่มา) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ
M.O.M ได้มีโอกาสเข้าพูดคุยกับ คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ผู้ที่คอยทำงานและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตกอยู่ในฐานะเหยื่อของความรุนแรงต่างๆ พร้อมสอบถามวิธีการทำงานของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และมีส่วนช่วยดูแลและปกป้องเด็กๆ ของพวกเรากันอย่างไรบ้าง
บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของมูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็กคืออะไร
มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็กดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2524 ภารกิจของเราคือพยายามจะช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์ หนึ่ง คือเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น มีระบบรับแจ้งเหตุ ส่วนที่สองเกิดจากการที่เราทำงาน จนได้รู้ว่าการตามแก้ปัญหาอย่างเดียวมันเป็นปลายทาง แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะมีการแจ้งเหตุทุกวัน
สมัยที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเริ่มทำงาน รัฐอาจยังไม่ดำเนินการหรือมีกลไกที่ช่วยเหลือเด็กอย่างครอบคลุม แต่ในปัจจุบันระบบราชการมีบ้านพักเด็กอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นหากพบเจอเด็กที่ถูกทำร้ายก็สามารถแจ้งที่สายด่วน 1300 แล้วศูนย์ช่วยเหลือสังคมก็จะประเมินว่าเคสนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ก็จะประสานงานไปจังหวัดต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายของเรา
ถามว่ามูลนิธิเด็กฯ องค์กรภาคประชาสังคม มีความจำเป็นอะไรต้องเข้ามาทำ ก็เพราะว่าปัญหามันมีมากเกินกว่าที่รัฐจะทำได้ ดังนั้นจึงต้องมีหน่วยงานที่ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือกับเด็กโดยเฉพาะ
อย่างเมื่อก่อนถ้าเกิดเหตุจังหวัดไหนก็จะต้องไปจังหวัดนั้น แต่ระบบปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถตั้งเรื่องและส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนั้นได้เลย
พอพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก มีสถิติเกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน
ถ้าเกิดว่ามาดูตัวเลขของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก แต่ละปีก็จะได้เป็นเลขหลักร้อย แต่ว่าอาจจะไม่ใช่เด็กใหม่ทั้งหมด
ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กส่วนใหญ่มาจากคนแปลกหน้า หรือคนใกล้ตัวในครอบครัวมากกว่ากัน
คนใกล้ตัวมากกว่าค่ะ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะมีข่าวคนลักพาตัวเด็กขึ้นรถตู้อยู่บ่อยๆ แต่ความเป็นจริงเราจะพบว่าความรุนแรงส่วนใหญ่มาจากครอบครัวมากกว่า
สังคมเรามีคำคำนึงคือ ‘รักลูกให้ผูกรักลูกให้ตี’ หรือวิธีคิด ‘เด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่’ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่มีความคิดแบบเก่า หรือไม่มีทักษะการเลี้ยงดู ก็มีโอกาสจะถูกทำร้ายได้ เพราะพ่อแม่คิดว่าเป็นสิทธิ์ของฉัน แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่
ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในปี 2535 และมีการปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศ ให้เป็นไปตามอนุสัญญาสอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก มาตรา 23 ซึ่งเขียนไว้ชัดเลยว่าผู้ปกครองจะต้องเลี้ยงดูลูกตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งเป็นกฎกระทรวง ซึ่งการทำหน้าที่ของผู้ปกครอง รวมถึงพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือใครก็ตามที่เลี้ยงเด็ก จะต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้สมบูรณ์
จุดเริ่มต้นของความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดจากอะไร
มันมีหลายเหตุผลเลยนะ อย่างบางองค์กรอาจมีสถิติตัวเลขความรุนแรงที่มาจากการดื่มสุรา อันนี้ก็เป็นไปได้ แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการขาดสติมากกว่า
หรือคนที่กระทำเองก็เคยถูกเลี้ยงดูมาอย่างไม่เหมาะสม และก็เลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับคนอื่นต่อไป เป็นวงจรที่ไม่สิ้นสุด
นอกจากการทำร้ายร่างกายแล้ว มีการทำร้ายอื่นๆ อย่างไรบ้าง
มีนะ การใช้คำพูดก็สำคัญ เด็กบางคนบอกว่าตีเขาเลยยังดีกว่าการทำ emotional abuse (ทำร้ายจิตใจ) อย่างคำพูดประเภท “กูไม่น่าให้มึงเกิดมาเลย” พูดตอกย้ำเขาอย่างนั้น บางทีเด็กก็อยู่ไม่ได้ เขาก็ต้องหนีออกมาเหมือนกัน
ความรุนแรงในครอบครัวจะส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้ว มันกว้างมากเลย อย่างผลกระทบก็จะมีทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ อันนี้ขึ้นอยู่ว่าเขาเจออะไรมา ส่วนใหญ่ผลกระทบก็จะเป็นความรู้สึกมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกไม่มีอำนาจ ไม่เป็นที่ต้องการของคนอื่น บางคนก็รู้สึกขาดความรัก ทีนี้คนร้ายหรือคนที่ไม่หวังดีก็จะจับไต๋ตรงนี้ได้ ทำให้เด็กคิดว่าแบบนี้คือการแสดงความรักและเขาต้องตอบสนอง
และสิ่งนี้มันจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเขา อาจทำให้เด็กป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ในอนาคต
เพราะฉะนั้นแล้วหากเทียบระหว่างคนอื่นทำกับคนในบ้านทำ คนในบ้านทำย่อมเจ็บปวดกว่า เพราะว่าคนในบ้านมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเขา แต่กลับกลายเป็นว่าทำร้ายเขาแทน
เด็กที่ถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว มูลนิธิมีวิธีเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร
สมมติมีคนแจ้งเหตุว่าครอบครัวหนึ่ง พ่อข่มขืนกระทำชำเราลูก งานแรกที่ต้องทำเลย คือพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย จะต้องไปค้นหาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งประเมินว่าเด็กมีปัญหาสภาวะร่างกาย จิตใจ เป็นอย่างไรบ้าง พอประเมินเสร็จ เด็กต้องรับการบำบัดฟื้นฟู เยียวยาจิตใจ
ซึ่งตรงนี้มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ไม่ได้ทำตามลำพัง เราทำงานกับทีมทางวิชาชีพ ทีมหมอที่จะระดมทรัพยากรมาช่วยกัน เพื่อให้เด็กคนหนึ่งปลอดภัย และเด็กยังต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็ช่วยเหลือทางกฎหมายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อาจจะมีตำรวจ อัยการ ศาล แต่ก่อนที่เด็กจะไปเจอคนเหล่านี้ ก็ต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจทั้งตัวเด็กและตำรวจก่อน
ต้องมีการประเมินอะไรบ้าง ก่อนที่จะแยกเด็กออกมาจากครอบครัว
คือการจะแยกหรือไม่แยกเด็กออกมาจากครอบครัว เราจะดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก มันไม่ใช่แค่ความพร้อมหรือไม่พร้อม เราต้องประเมินหลายอย่าง เช่น ครอบครัวนี้ไม่มีความแข็งแรงพอ ทำให้เด็กถูก ทำร้ายหรือละเมิดจากหลายคนในบ้าน แบบนี้เรียกว่าทางกายภาพก็ไม่ผ่านแล้ว
หลักการของเราคือ เด็กต้องไม่ถูกกระทำซ้ำ หรือถ้าเด็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปกป้องตัวเอง เช่น มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างนี้คือไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมันง่ายต่อการที่คนจะเข้าถึง ก็ต้องแยกมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยก่อน พอแยกแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะลงไปหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมกับวิเคราะห์ตามหลักการต่างๆ เช่น บางคนอาจไม่เข้าใจว่าเด็กถูกข่มขืนแล้ว ทำไมยังต้องถูกแยกจากพ่อแม่ด้วย ปรากฏว่าเป็นเพราะพ่อแม่ไปปกป้องคนทำผิด ไม่ได้ปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างนี้
พอเวลาประเมินเสร็จ เราก็จะส่งเด็กไปตรวจทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างเวลาเราพูดว่าประเมินทางน่างกาย ไม่ได้หมายความว่า ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แล้วตรวจอวัยวะเพศเพื่อหาหลักฐานเท่านั้น มันไม่ใช่นะ เราต้องสแกนใหม่หมดเลย ไล่ดูประวัติว่าเป็นเด็กที่พ่อแม่ต้องการให้เกิดไหม มันจะไปสัมพันธ์กับเรื่องตอนดูแลครรภ์ บางคนอายุครรภ์ 6 เดือนแล้ว แม่ยังไม่เคยฝากครรภ์เลยก็มี เพราะฉะนั้นเวลานักสังคมสงเคราะห์ทำงาน เขาจะไล่ย้อนไปเลยว่าพ่อแม่เจอกันได้ยังไง แล้วตอนที่จะมีลูกยังไง เพื่อที่จะรู้ประวัติการเลี้ยงดูมาตั้งแต่ต้น
คือการจะแยกหรือไม่แยกเด็กออกมาจากครอบครัว เราจะดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก มันไม่ใช่แค่ความพร้อมหรือไม่พร้อม เราต้องประเมินหลายอย่าง
แล้วกระบวนการช่วยเหลือเด็กจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
สมมติตอนแรกพ่อแม่ยังไม่ฟังก์ชั่น ยังไม่พร้อมจะรับลูกกลับมาดูแล หรือพ่อแม่อยากจะตั้งตัวได้อีกหน่อย เราก็จะมีการทำงานกับครอบครัว จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว เด็กถึงจะได้กลับไป
ถ้าเป็นเด็กเล็กก็อาจทำเรื่องไปที่ครอบครัวบุญธรรม แทนที่เด็กจะอยู่สถานสงเคราะห์ ก็อาจจะได้รับการดูแลจากคนที่พร้อมมากกว่า หรือถ้าเด็กโตสามารถเอาชีวิตรอดเองได้ก็จะปล่อยให้เขาไปใช้ชีวิตของตัวเอง โดยมีเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ
แต่ถ้าเด็กมีปมในใจหลายด้าน และต้องใช้เวลาในการเยียวยา ก็อาจวางแผนช่วยไปจนถึงอายุ 24 ตามกฎหมาย แต่ถ้าเกินกว่านั้นอาจต้องไปใช้การแก้ปัญหาในแบบของผู้ใหญ่ต่อไป
แล้วในกรณีที่เด็กไม่ได้แยกจากครอบครัว
เราจะประเมินจากคนในครอบครัวก่อน สมมติว่าไม่เคยมีใครรู้เลยว่าพ่อทำแบบนี้ แต่พอรู้แล้ว ทุกคนก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตเด็กเต็มที่ ถ้าเป็นแบบนี้ก็คือไม่ต้องแยก
หลักการของเราคือ เด็กต้องไม่ถูกกระทำซ้ำ หรือถ้าเด็กอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปกป้องตัวเอง เช่น มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างนี้คือไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมันง่ายต่อการที่คนจะเข้าถึง ก็ต้องแยกมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยก่อน
การอยู่สถานสงเคราะห์จึงไม่ใช่ทางเลือกแรกเสมอไป
บางคนอาจมีคำถามว่าอยู่สถานสงเคราะห์ไม่ดีเหรอ แต่จริงๆ แล้วเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์จะไม่ได้เรียนรู้ชีวิตที่เป็นครอบครัว คือชีวิตครอบครัวมันมีทักษะที่ต้องใช้ระหว่างทางเยอะ พ่อแม่จะเป็นคนฝึกให้ลูกแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เช่น ดูแลตัวเอง มีความมั่นใจ เวลาเด็กต้องออกไปข้างนอกก็จะกล้าเผชิญหน้าคนอื่น กล้าคิด หรือกล้าตัดสินใจมากกว่า
แต่ถ้าอยู่ในสถานสงเคราะห์ แน่นอนว่าเขาก็จะได้รับการดูแลแบบสถานสงเคราะห์ ถึงเวลาก็ไปเอาถาดหลุมมารับอาหาร มันไม่เหมือนการใช้ชีวิตจริงๆ แถมยังอาจมีปัญหาตอนเด็กกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย
การอยู่สถานสงเคราะห์จึงไม่ใช่ทางเลือกแรกเสมอไป
บางคนอาจมีคำถามว่าอยู่สถานสงเคราะห์ไม่ดีเหรอ แต่จริงๆ แล้วเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์จะไม่ได้เรียนรู้ชีวิตที่เป็นครอบครัว คือชีวิตครอบครัวมันมีทักษะที่ต้องใช้ระหว่างทางเยอะ พ่อแม่จะเป็นคนฝึกให้ลูกแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เช่น ดูแลตัวเอง มีความมั่นใจ เวลาเด็กต้องออกไปข้างนอกก็จะกล้าเผชิญหน้าคนอื่น กล้าคิด หรือกล้าตัดสินใจมากกว่า
แต่ถ้าอยู่ในสถานสงเคราะห์ แน่นอนว่าเขาก็จะได้รับการดูแลแบบสถานสงเคราะห์ ถึงเวลาก็ไปเอาถาดหลุมมารับอาหาร มันไม่เหมือนการใช้ชีวิตจริงๆ แถมยังอาจมีปัญหาตอนเด็กกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย
พอเริ่มเห็นภาพว่าครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเด็ก
ถ้าเด็กมีครอบครัวที่เจ๋งก็จะไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดว่าครอบครัวไม่ฟังก์ชัน นอกจากไม่ฟังก์ชัน แล้วยังทำร้ายเด็กเสียเอง มันก็จะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปจัดการ
ถ้าเด็กมีครอบครัวที่เจ๋งก็จะไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดว่าครอบครัวไม่ฟังก์ชัน นอกจากไม่ฟังก์ชัน แล้วยังทำร้ายเด็กเสียเอง มันก็จะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปจัดการ
จะสอนลูกอย่างไรให้สามารถช่วยเหลือตัวเองจากการความรุนแรงทั้งภายนอกและภายในครอบครัว
ถ้าให้พูด ก็จะบอกว่าพ่อแม่รักหนูนะ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นให้หนูบอกพ่อแม่ก่อน หนูต้องประเมินให้ดีว่าอะไรเป็นสัมผัสที่หนูชอบหรือไม่ชอบ ถ้ามีคนในบ้านทำอะไรบางอย่างที่ทำแล้วหนูรู้สึกไม่สบายใจ ให้หาทางบอกคนที่ไว้วางใจได้ และหนูต้องหาให้ได้ว่าคนที่ไว้วางใจได้คือใคร ถ้าเป็นแม่ หนูก็บอกแม่เลย
จริงๆ มันขึ้นอยู่กับวัยของเด็กที่เราจะบอกด้วย ถ้าเราพูดกับเด็กมัธยม ก็อาจพูดตรงไปตรงมาได้ เพราะเขารู้จักคำศัพท์พวกนี้อยู่แล้ว ถ้าเป็นเด็กประมาณสิบขวบ ก็สามารถทำให้เด็กรู้จักตนเอง เรียนรู้เรื่อง private zone ในร่างกาย ว่าจะต้องไม่มีใครจับเลยแม้แต่พ่อแม่ก็ตาม
สิ่งสำคัญคือเราจะต้องสอนให้เด็กรู้จักประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองได้ สมมติยกตัวอย่างเช่น ลูกจะขอไปเที่ยวกลางคืนกับเพื่อน พ่อแม่ถ้าเป็นรุ่นเก่าๆ ก็จะไม่ให้ไป แต่ถ้าตอนนี้อาจจะเปลี่ยนเป็นถามว่าไปกับใครบ้าง สถานที่ที่จะไปเป็นแบบไหน สมมติถ้าเกิดสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะทำอย่างไร
เคยมีเคสนึงเด็กถูกคนข้างห้องข่มขืน เจ้าหน้าที่ก็ต้องถามว่าคนนั้นเขาทำอะไร หนูเห็นอะไรบ้าง เด็กก็ตอบว่าเห็นเหมือนของพ่อ คือเคสนั้นพ่อไม่ได้ทำ แต่เราได้ยินแบบนั้นก็ตกใจว่าพ่อเคยทำด้วยหรือเปล่า เลยต้องไปซักไซ้ไล่เรียงกับแม่ ความจริงก็คือ อ๋อ พ่อลูกแก้ผ้าอาบน้ำด้วยกัน เด็กเลยบอกว่าเหมือนของพ่อ แต่ความจริงสำหรับเด็กวัยนี้ก็ต้องมีขอบเขตแล้ว
ถ้าเราสอนเรื่องขอบเขตภายในบ้าน เช่น สอนว่าแม้แต่เพศเดียวกัน แต่การมาถอดเสื้อผ้าต่อหน้ากันก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ยิ่งเป็นเพศตรงข้ามก็ยิ่งทำไม่ได้ เด็กก็จะรู้ขอบเขตกับคนภายนอกด้วย
หากพบเจอสถานการณ์ที่ไม่ปกติ คนทั่วไปสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร
ตามกฎหมาย แค่คุณสงสัยก็สามารถรายงานได้แล้ว มีกรณีหนึ่ง มีคนได้ยินเสียงเด็กร้องตลอด ชาวบ้านก็สงสัยว่าเด็กโดนแม่ตีหรือทำร้ายหรือเปล่า เขาก็เลยแจ้งเหตุไป พอไปตรวจสอบ ปรากฎว่าจริงๆ แม่คนนี้มีปัญหาเรื่องทักษะในการเลี้ยงดูลูก เขาไม่เคยตีลูกเลย แต่เวลาที่ลูกอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ ลูกก็จะร้องไห้งอแง และแม่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ กระทรวงสาธารณสุขเลยเข้าไปทำงานเชิงบวกกับครอบครัวแทน
ส่วนเรื่องการแจ้งเหตุ สิ่งที่อยากจะฝากคือ ไม่ว่าจะมีหลักฐานหรือไม่ เพียงคุณสงสัยให้คุณแจ้งที่เบอร์ 1300 ได้เลย
COMMENTS ARE OFF THIS POST