READING

เมื่อการเป็น ‘แม่’ ไม่ได้จำกัดไว้ให้ผู้หญิงเท่านั้...

เมื่อการเป็น ‘แม่’ ไม่ได้จำกัดไว้ให้ผู้หญิงเท่านั้น: คุยกับคุณแม่จิน-อาริยา มิลินธนาภา

transgender mother

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราถูกหล่อหลอมมาให้ผูกติดและยึดโยงคำว่า ‘แม่’ เอาไว้กับคำว่า ‘ผู้หญิง’ และเมื่อได้ยินคำว่า ‘เพศแม่’ ก็อนุมานได้ทันทีว่ามีความหมายถึงเพศหญิง ที่ควรได้รับการให้เกียรติในฐานะเพศที่เป็นผู้ให้กำเนิด

แต่ความจริงแล้วบทบาทและหน้าที่ของแม่ไม่ได้จบสิ้นลงในวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก แต่ยังหมายถึงการเลี้ยงดู ทะนุถนอม ปกป้อง อบรมสั่งสอนให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และอีกสารพัดความรับผิดชอบที่คนเป็นแม่พึงมีและทำได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศหญิง

ดังนั้น ถ้าไม่นับการอุ้มท้องและให้กำเนิดตามธรรมชาติแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเราควรจะมอบความเป็นแม่ให้กับใครก็ได้ที่รักและดูแลอีกหนึ่งชีวิตได้ไม่น้อยไปกว่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้

หากมองข้ามข้อจำกัดทางเพศและคำว่าทรานส์เจนเดอร์ไปได้ แม่จิน—อาริยา มิลินธนาภา ก็คือคนที่ทำหน้าที่แม่ของลูกชายสองคนวัย 7 ปีและ 5 ปี ได้ดีที่สุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะสามารถทำให้ลูกได้

วันที่ตัดสินใจว่าจะมีครอบครัวและมีลูกเป็นของตัวเอง

ต้องย้อนกลับไปตอนรู้จักกับสามี สามีเป็นชาวอเมริกันที่เคยมีครอบครัวและมีลูกมาก่อน เรารู้จักกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ประมาณหนึ่งปีเขาก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย คบหาดูใจกันประมาณสามปีก็ตัดสินใจแต่งงานและเริ่มมีการพูดคุยกันเรื่องลูก

แต่ตอนนั้นจินอายุ 24 เราก็คิดว่าอายุน้อยเกินไปหรือเปล่าที่จะมีลูกตอนนี้ แต่ทางสามีเขาโอเคมากๆ เราก็ตกลงกันและตัดสินใจว่าจะเข้าไปติดต่อที่บ้านเด็กหญิงราชวิถี ไปถามขั้นตอนการอุปการะเด็กว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ก็เลยถูกปฏิเสธมา

transgender

หลังจากถูกปฏิเสธครั้งแรก ตอนนั้นคิดอย่างไร

จริงๆ ตอนที่โดนปฏิเสธก็เสียใจ เพราะถึงเขาไม่ได้พูดตรงๆ แต่ก็รู้สึกได้ว่าเราถูกปฏิเสธด้วยเงื่อนไขของเพศสภาพ อีกเรื่องคืออายุยังน้อยก็พอเข้าใจได้ แต่เข้าใจว่าเหตุผลน่าจะเป็นเรื่องของเพศสภาพมากกว่า

เพราะเขาถามว่าเรามีทะเบียนสมรสหรือเปล่า เพราะถ้าจะขออุปการะบุตรบุญธรรมที่ไม่ใช่เชื้อสายเดียวกัน จำเป็นต้องมีทะเบียนสมรส ซึ่งเรากับสามีไม่มีทะเบียนสมรส และเมืองไทยก็จดทะเบียนไม่ได้อยู่แล้ว ก็เลยเลิกคิดเรื่องนี้ไปเลย

แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากอุปการะบุตรอีกครั้ง

ก็เวลาผ่านมา จนจินอายุประมาณ 30 ปี เราก็ได้เข้าไปช่วยเลี้ยงลูกของเพื่อนตั้งแต่แบเบาะ ได้ทำตั้งแต่ป้อนนม อาบน้ำ พาเข้านอน และดูแลอาหารการกินเขาในหลายๆ ช่วงวัย โดยที่เราไม่มีข้อมูลอะไรเลย จะเรียกว่าเป็นคุณแม่มือใหม่เลยก็ได้

เราก็ต้องเริ่มศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงเด็ก เริ่มรู้จักกลุ่มที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก ก็เลยได้ความรู้เกี่ยวกับการให้นม การเลี้ยงเด็กอ่อน

จินใช้ชีวิตอยู่กับการเลี้ยงเด็กอ่อนหกเดือน รู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไปทุกอย่างเพราะเราไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนเดิมปกติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องดูแลเขาตลอดเวลา

หลังจากนั้น เด็กก็กลับไปอยู่กับแม่ของเขา เราก็เลยรู้สึกว่าตลอดหกเดือนที่ผ่านมาเราโอเคนะ ไม่ได้รู้สึกว่าการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือยากเกินไปสำหรับเรา รู้สึกว่านี่แหละตัวตนของเราด้วยซ้ำ

ก็เลยกลับเข้ามาสู่กระบวนการขออุปการะบุตรอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เราขออุปการะลูกของน้องชาย ด้วยความที่น้องชายอยู่บ้านเดียวกันอยู่แล้ว ลูกเขาก็เลยเหมือนได้อยู่กับเรามาตั้งแต่แรก และเราก็อยู่ในที่ที่พร้อมทั้งสภาพแวดล้อมและก็ความอยากเป็นแม่ น้องชายก็เลยไม่ติดขัดอะไร

จินอุปการะลูกคนแรกตั้งแต่ลูกอายุ 1 เดือนกว่า ระยะห่างลูกคนแรกกับคนที่สองประมาณสองปี ปัจจุบันลูกชายคนโตอายุ 7 ขวบ ลูกชายคนเล็ก 5 ขวบแล้วค่ะ

กระบวนการขออุปการะลูกชายทั้งสองคนครั้งนี้เป็นอย่างไร

ครั้งนี้เป็นการขออุปการะเด็กที่เป็นญาติหรือมีสายเลือดเดียวกัน ต่างจากครั้งแรกที่เราเข้าไปเพื่อขออุปการะเด็กคนไหนสักคนเป็นลูก

เริ่มแรกก็เข้าไปติดต่อสำนักงานในพื้นที่ที่เราอยู่ ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเข้าไปติดต่อที่สถานสงเคราะห์บ้านเด็กหญิงราชวิถี เจ้าหน้าที่ก็จะให้เรากรอกเอกสาร และตรวจเอกสาร เช่น ตรวจประวัติอาชญากรรม ตรวจสุขภาพจิต ซึ่งแต่ละครั้งในการดำเนินการก็จะใช้เวลาพอสมควร และเกิดปัญหานิดหน่อย อย่างเพศสภาพของเรา ชื่อนำหน้าเราเป็น ‘นาย’ แต่ในบัตรประชาชนผมยาว เขาก็บอกให้ไปตัดผมสั้นแล้วทำบัตรประชาชนใหม่ ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำเพื่อลูก เขาอยากให้ทำอะไรก็ทำ ก็เลยไปทำบัตรประชาชนใหม่วันนั้นเลย แต่รวบผมขึ้น ไม่ได้ตัดผมสั้นอย่างที่เขาบอก

พอยื่นเอกสารทั้งหมดไป ก็ต้องรอการตรวจสอบค่อนข้างนาน เข้าใจว่าไม่ใช่แค่เฉพาะเคสเราเท่านั้น แต่การตรวจสอบต้องใช้เวลาเหมือนกันทุกเคส พอผ่านขั้นตอนนี้ สถานสงเคราะห์ก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้านเพื่อดูว่าการเป็นอยู่เราเป็นยังไง สภาพแวดล้อมเป็นยังไงบ้าง เมื่อคณะกรรมการพิจารณาลงมติเห็นพ้องตรงกันแล้วว่าอนุมัติ เราก็เข้าไปเอาหนังสืออนุมัติที่สถานสงเคราะห์เพื่อเอาไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่สำนักงานเขต เคสเราใช้เวลาทั้งหมดประมาณหนึ่งปี ส่วนตัวไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเข้าใจว่ามันเป็นไปตามขั้นตอนและเจ้าหน้าที่ก็ให้ความช่วยเหลือดีด้วย

“พ่อและแม่แท้ๆ ควรจะต้องมีตัวตนในชีวิตเขา เราไม่จำเป็นต้องลบตัวละครพ่อแม่ออกไปจากความทรงจำของเขา มันเป็นเรื่องที่ดีนะทำให้เขารู้ว่าคนที่ให้กำเนิดกับคนที่เลี้ยงดูมีได้หลายคน”

transgender

เราอ่านสัมภาษณ์คุณจินเมื่อสองปีก่อน ตอนนั้นบอกว่ายังไม่ได้เล่าเรื่องการอุปการะให้ลูกฟัง แต่ตอนนี้…

จินเล่าตรงๆ เพราะคิดว่าไม่มีอะไรต้องซ่อน สำหรับจินคิดว่าทั้งพ่อและแม่แท้ๆ ควรจะต้องมีตัวตนในชีวิตเขา เราไม่จำเป็นต้องลบตัวละครพ่อแม่ออกไปจากความทรงจำของเขา มันเป็นเรื่องที่ดีนะทำให้เขารู้ว่าคนที่ให้กำเนิดกับคนที่เลี้ยงดูมีได้หลายคน แต่ตอนนี้เขายังเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด แต่เราก็บอกเขาผ่านการเล่านิทาน หรือเล่าเรื่องราวให้เขาฟังว่า หนูออกมาจากท้องแม่ แล้วหนูก็มาอยู่กับหม่าม้า คนอื่นอาจจะมีแม่คนเดียว แต่หนูมีสองคนคือแม่กับหม่าม้า เจ๋งไหม ซึ่งเขาก็ชอบฟังนะ เพราะตอนเล่า เราใส่ความมั่นใจเข้าไปให้มันดูเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เล่าด้วยความรู้สึกเป็นเรื่องแปลกหรือเป็นเรื่องโกหก พอเขาเติบโตไปท่ามกลางทุกอย่างที่เป็นเรื่องจริง มันจะง่ายกว่าการที่เขาเติบโตไปกับเรื่องโกหก เพราะถ้าเป็นเรา ถ้ารู้ว่าโดนโกหกมาทั้งชีวิต เรายังจะเชื่อใจคนคนนี้ได้หรือเปล่า จินคิดแบบนี้

แต่ถ้าวันนึงเขาไม่อยากอยู่กับเราแล้วก็ไม่เป็นไร ถ้าเขามีความสุข เราก็จะไม่รั้งเขา ถามว่าเสียใจไหม ไม่เสียใจเลย เพราะการเลี้ยงคนคนนึงมา เรารักเขาก็อยากเห็นเขามีความสุข และถ้าเราผูกพันกันมากพอ ยังไงเขาก็จะมีเราอยู่ในชีวิต

“เคยเจอคำถามว่า แม่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ลูกโตขึ้นมาจะเป็นเหมือนเราหรือเปล่า เราก็คิดว่า มันใช่เหรอ ตรรกะมันบิดเบี้ยวมาก หรือถึงแม้ว่าลูกจะโตมาเป็นแบบเดียวกับเราจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เราจะให้เขาได้เป็นตัวของเขาเอง ได้ตัดสินใจเองว่าจะชอบอะไรหรือทำอะไร”

มีการอธิบายเรื่องเพศสภาพของแม่อย่างไร

เราบอกเขาตรงๆ ว่าหม่าม้าเกิดมาเป็นผู้ชาย แต่นี่คือตัวตนของเรา เราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ คิดว่าตอนนี้เขาอาจจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด เราก็ใช้วิธีเล่าให้เขาฟังผ่านนิทาน เช่น เขาเกิดมาได้ยังไง วิวัฒนาการของร่างกายที่แตกต่างกันระหว่างเพศชายและหญิง

เมื่อก่อนลูกก็ถูกล้อเรื่องเพศสภาพของแม่อยู่เหมือนกัน เวลาไปข้างนอกก็จะมีคนถามลูกเราว่า ‘แม่ไปไหน’ หรือ ‘ทำไมแม่เป็นแบบนี้’ สิ่งที่ทำได้คือกลับมาสอนลูกค่ะ เราจะบอกลูกเสมอว่าการล้อเลียนคนอื่นเป็นสิ่งไม่ดี เรามีลูกสองคน คนหนึ่งผิวขาว คนหนึ่งผิวคล้ำ ก็จะมีคนมาถามว่า ‘ลูกใคร’ เราก็ตอบกลับไปทันทีเลยว่าลูกเรานี่แหละ เพราะถ้ายึกยักที่จะตอบ อาจทำให้เด็กสับสนได้ว่าสิ่งที่เขาเป็นมันคือปมด้อยหรือเปล่า เราจะบอกลูกเสมอว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หน้าตารูปร่าง และสีผิวแต่ละคนแตกต่างกันได้ จินมองว่าก่อนที่เราจะสอนลูกให้มีความมั่นใจ เราต้องมั่นใจในตัวเขาก่อน

เคยเจอคำถามว่า แม่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ลูกโตขึ้นมาจะเป็นเหมือนเราหรือเปล่า เราก็คิดว่า มันใช่เหรอ ตรรกะมันบิดเบี้ยวมาก หรือถึงแม้ว่าลูกจะโตมาเป็นแบบเดียวกับเราจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เราจะให้เขาได้เป็นตัวของเขาเอง ได้ตัดสินใจเองว่าจะชอบอะไรหรือทำอะไร

จินมองว่าพื้นฐานการใช้ชีวิตของคนเราคือการมีความสุข แค่ปล่อยให้ลูกได้มีความสุข แล้วเป็นแค่เซฟโซนให้เขาก็เพียงพอแล้ว

ความรู้สึกรัก เหมือนแม่คนหนึ่งที่รักลูกมาก เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน 

ย้อนกลับไปตอนแรกๆ ก็มีคนพูดกับเราว่า เป็นลุงของเด็กๆ เหรอ เขาใช้คำพูดแบบนี้ แต่เรามองว่าในสายตาคุณ อยากให้เราเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ แต่ไม่ได้แปลว่าคำนั้นจะมาลบล้างความเป็นแม่ของเราได้

ความรู้สึกของการเป็นแม่ของเรา เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่แม่คลอดเขา มันตื้นตัน รู้สึกว่ากำลังมีอีกหนึ่งชีวิตที่เราต้องดูแล เรากังวลตลอดเวลาว่าเขาจะเป็นอะไรไหม เขาจะไม่สบายตัวไหม เขาจะร้อนหรือหนาวไปหรือเปล่า รายละเอียดมันยิบย่อยจนอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

สำหรับจินคำว่า ‘แม่’ ไม่ใช่การกำหนดเพศ แม่จะเป็นเพศไหนก็ได้ เพราะมันเป็นแค่คำเรียก สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็อยู่ที่การกระทำ วันที่เราได้ทำหน้าที่เหมือนแม่คนหนึ่งที่ดูแลลูกตั้งแต่แบเบาะ ให้นม กล่อมนอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย

transgender

ทราบมาว่าคุณมีน้ำนมให้ลูกด้วย

จินติดตามเพจ นมแม่แฮปปี้ แล้วอ่านบทความเกี่ยวกับการกินยาตัวหนึ่งที่ผลข้างเคียงคือทำให้มีน้ำนม เราก็ไปศึกษาเพิ่มเติมจนเจอบทความของ Jack Newman กุมารแพทย์ชาวแคนาดา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตร เขาบอกว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็มีต่อมน้ำนมเหมือนกัน เพียงแต่มีการพัฒนาฮอร์โมนที่แตกต่างกัน เมื่อผู้หญิงมีลูก ต่อมน้ำนมก็จะถูกกระตุ้นจากการที่ลูกดูดทำให้มีการผลิตน้ำนมออกมาเราก็เลยงดการกินฮอร์โมนทุกอย่างแล้วกินยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นการมีน้ำนม พอเริ่มมีน้ำนมเราก็ บีบให้น้ำนมออกมา ทำร่วมกับการกินอาหารที่ช่วยสร้างน้ำนม ก็ช่วยให้มีน้ำนมออกมาให้ลูกเยอะขึ้น แค่ไม่ได้ให้ลูกเข้าเต้าเท่านั้น

“รู้สึกว่าทุกวันนี้เหมือนเราเป็นเด็กที่ได้โตไปพร้อมกับลูก ได้ไปเที่ยวสวนสนุก ไปเที่ยวสวนสัตว์ รู้สึกว่าโชคดีจังเลยที่ได้เจอเขา ต่อให้ย้อนเวลากลับไปได้อีกครั้ง เราก็เลือกที่จะมีลูกอยู่ดี”

เรื่องยากของพ่อแม่ก็คือการเลือกโรงเรียนให้ลูก สำหรับคุณมีอะไรยุ่งยากหรือเปล่า 

ที่ผ่านมาไม่เคยเจออุปสรรคหรือปัญหาที่ทำให้รู้สึกยากลำบากอะไรเลย อย่างโรงเรียนของลูกตอนนี้ คุณครูและผู้ปกครองก็น่ารัก เหมือนเราได้เข้าไปเจอสังคมที่ดี แต่ก็จะมีโรงเรียนที่เราเคยเข้าไปดู แล้วเห็นท่าทางที่เขาฟีดแบ็กกลับมา เช่น ไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนแม่คนหนึ่ง หรือถามว่าเราเป็นอะไรกับเด็ก ในลักษณะที่ตัดสินเราจากเพศสภาพ ก็เลยไม่เลือกให้ลูกเรียนที่นั่น เพราะอยากให้ลูกได้อยู่ในสังคมที่ดีกว่า

transgender

การเลี้ยงลูกในแบบ ‘คุณแม่จิน’ เป็นอย่างไร

จริงๆ ก็ไม่ได้มีแนวทางว่าจะต้องเลี้ยงลูกแบบนี้ หรือใช้ทฤษฎีนี้เท่านั้นจินมองว่าเด็กเขามีนิสัยที่ติดตัวมา เราเลี้ยงลูกทั้งสองคนคล้ายๆ กัน แต่เขาแตกต่างกันด้วยตัวของเขาเอง

จินโตมาในสังคมที่ต้องทำตามคำสั่งตลอดเวลา พอมีลูกเราเลยให้สิทธิ์ลูกในการออกความคิดเห็นเต็มที่ มีหลายคนบอกว่า ลูกยังเด็ก ยังไม่รู้เรื่องหรอก แต่เราไม่โอเคเลยกับการคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่อง เพราะเราจะคุยกับลูกด้วยเหตุผล

จินไม่ได้สปอยล์หรือเข้มงวดกับลูกมากเกินไป แต่ส่วนตัวเป็นคนจริงจังกับเรื่องระเบียบวินัย เพราะเรามองว่าเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ มันจะดีกับตัวเขาในอนาคต ส่วนใหญ่ก็เริ่มจากชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยกันทำงานบ้าน ทุกอย่างเราจะช่วยกันทำเป็นทีม

“พ่อแม่หลายคนบังคับให้ลูกเรียนสิ่งนั้นสิ่งนี้ เรามองว่ามันเสียเวลาชีวิต เพราะลูกควรจะได้เอาเวลาไปใช้ในสิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุขดีกว่า สมมติวันหนึ่งลูกอยากเป็นในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่เราสามารถอยู่ข้างเขา”

เหมือนไม่ได้กำหนดแนวทาง แต่มีการเตรียมพื้นฐานไว้ให้

ก่อนจะเป็นแม่คน เราเคยบอกตัวเองว่าจะไม่คาดหวังอะไรในตัวลูกเลย เขาอยากทำอะไรก็ได้ แต่ระหว่างเส้นทางการเติบโตของเขา ก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะ ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ว่าเราจะประคับประคองให้เขาเดินไปในทางไหน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่คาดหวังเลยก็คงไม่ได้ เพราะสุดท้ายเราก็คาดหวังว่าอยากให้ลูกเติบโตไปเป็นคนน่ารัก ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่เราคงไม่คาดหวังให้เขาเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น อย่างจินอยากให้ลูกเล่นดนตรี ก็ให้เขาได้ลองเล่น ลองเรียน แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องคุยกันว่าเขายังสนใจที่จะเล่นดนตรีอยู่ไหม

พ่อแม่หลายคนบังคับให้ลูกเรียนสิ่งนั้นสิ่งนี้ เรามองว่ามันเสียเวลาชีวิต เพราะลูกควรจะได้เอาเวลาไปใช้ในสิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุขดีกว่า สมมติวันหนึ่งลูกอยากเป็นในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่เราสามารถอยู่ข้างเขา เพราะความเป็นพ่อแม่ อาจจะให้ชีวิตลูกได้ แต่ไม่สามารถบังคับชีวิตเขาได้ จินเองไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่เข้าใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเราเป็นแม่เอง ก็เลยไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะกว่าเด็กคนหนึ่งจะหาตัวตนของตัวเองได้ ต้องใช้เวลาหลายปี ต้องเรียนรู้ ต้องลองทำอะไรหลายอย่าง กว่าจะเจอสิ่งที่ชอบ เราไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าโดนขโมยเวลา

ตั้งแต่เลี้ยงลูกทั้งสองคนมา คิดว่าช่วงเวลาไหนยากที่สุดและผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ยังไง

จินว่าตอนปัจจุบันนี่แหละ (หัวเราะ) ตอนลูกยังเด็กรู้สึกว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของเรา แต่ตอนนี้เขาเริ่มโต เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เขาก็จะมีเหตุผลในการต่อรองกับเรา มันเลยไม่ใช่ความต้องการของเราอีกต่อไปแล้ว เช่น การแต่งตัว เมื่อก่อนก็จัดการให้ลูกได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เขาต้องเลือกเอง

จินงอนลูกทุกวัน แต่เราก็พยายามจะสงบสติอารมณ์ตัวเอง ยังคงต้องฝึกฝนต่อไป เพราะทุกวันก็จะมีเรื่องใหม่ เราก็ต้องมีวิธีจัดการตัวเองให้ดีขึ้นเหมือนกัน  ตอนนี้ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรเลย

เตรียมรับมือกับความวัยรุ่นของลูกหรือยัง

คิดว่าพอวัยรุ่น เขาจะต้องการพื้นที่ และเราต้องยอมรับก่อนว่าเขาจะไม่เหมือนเรา จินเชื่อว่าเราทุกคนต้องเคยมีความรู้สึก ‘อิหยังวะ’ กับพ่อแม่ตัวเอง ลูกเราก็จะเป็นแบบนั้นกับเราเหมือนกัน

transgender

ถ้ามีครอบครัวที่กำลังอยากอุปการะลูกบุญธรรม มีอะไรอยากบอกเขาเป็นพิเศษ

สิ่งที่ดีที่สุดคือเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่เลย ไม่ว่าจะเพศสภาพไหนก็ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาเหมือนกัน ปกติคนที่จดทะเบียนสมรส ก็จะมีการตรวจสอบประวัติและเอกสารทั้งของสามีภรรยา แต่เคสของจินไม่มีทะเบียนสมรส แต่สามีก็ถูกตรวจสอบด้วย เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเพราะสามีเราจะเป็นคนที่มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการเลี้ยงดูเด็กด้วย เราก็แย้งไปเล่นๆ ว่าไหนๆ ก็จะตรวจสอบสามีแล้วก็ให้เราจดทะเบียนสมรสได้เถอะ จะได้เป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย (หัวเราะ)

กฎหมายประเทศเรามีอะไรบ้างที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างครอบครัวของ transgender

สิ่งที่สำคัญเลยคือทะเบียนสมรส แต่สามีจินเป็นคนอเมริกัน เราก็เลยไปจดทะเบียนสมรสที่อเมริกา คิดว่าทำเพื่อป้องกันสิทธิ์ของลูกทั้งสองคน อย่างน้อยถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น ทะเบียนสมรสนี้ก็น่าจะใช้ดำเนินการอะไรได้บ้าง

ตอนนี้จินเป็นห่วงสิทธิ์ในการเป็นบิดามารดาที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เราเห็นการผลักดันเรื่องนี้มานานพอสมควร แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้การพิจารณาไปถึงขั้นไหนแล้ว มันก็จะดีกว่ามาก ถ้าจินกับสามีเป็นพ่อแม่ของลูกตามกฎหมาย เพราะถ้าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาเราจะได้ไม่ต้องไปเรียกร้องให้ลำบาก ทั้งที่เราสองคนก็ดูแลลูกของเรามาตลอด

สุดท้าย ถ้าต้องพูดอะไรถึงลูกและครอบครัว

การมีลูก ก็เหมือนเราให้ลูกไปทั้งชีวิตแล้ว เราจะไม่สามารถทำหน้าที่แม่แค่ไม่กี่ปีแล้วเลิกได้ เพราะฉะนั้น จะต้องคิดให้ดีว่าเราอยากมีลูกเพื่อเราหรือเพื่อใคร

สำหรับจินครอบครัวไม่จำเป็นต้องมาจากสายเลือดเดียวกันเสมอไป อาจจะเป็นใครก็ได้ที่ห่วงใยและใส่ใจเรา หรือผ่านเข้ามาในเส้นทางชีวิตของเราด้วยความหวังดี แบบนี้ก็ถือว่าเป็นครอบครัวแล้วค่ะ

สัมภาษณ์วันที่ 10 สิงหาคม 2564

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST