รายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์เพิ่งจบซีซั่นที่สองไปได้ไม่นาน ในฐานะแฟนรายการที่เฝ้าดูอาหาร เอ๊ย! เฝ้าดูพัฒนาการของเด็กๆ มาตลอด ก็อดไม่ได้ที่จะติดต่อขอคิวน้องๆ ที่โดดเด่นน่าสนใจพร้อมคุณพ่อคุณแม่มาพูดคุยเรื่องครอบครัวและการเลี้ยงดูที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เด็กคนหนึ่งแสดงศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่
ตลอดการแข่งขัน เราได้เห็น น้องวี—วีรวิน เลิศบรรณพงษ์ เด็กชายวัย 9 ขวบ ที่เปล่งประกายฉายแววเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อน้องวีรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมในการแข่งขันรอบทีมชาเลนจ์ เราได้เห็นการคุมทีม แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และได้เห็นการพัฒนาฝีมือการทำอาหารต่อมา จนในที่สุด น้องวีก็เป็นเด็กเล็กคนเดียวที่เข้ามาเป็นหนึ่งในสามคนสุดท้ายของรายการ
บ่ายวันอาทิตย์ หลังกลับมาจากการแข่งฟุตบอล คุณแม่วารุณี ตันตสุรฤกษ์-คุณพ่อวิทวัส เลิศบรรณพงษ์ อนุญาตให้เราเข้าไปพูดคุยอย่างเป็นกันเองที่บ้านย่านสุขุมวิท
ถึงในรายการ น้องวีจะอยู่ในกลุ่มผู้แข่งขันรุ่นน้อง แต่สำหรับที่บ้าน น้องวีมีบทบาทเป็นลูกชายคนโตของคุณพ่อคุณแม่ พี่ชายของน้องวาว—เอวาริน เลิศบรรณพงษ์ น้องสาววัย 3 ขวบ ที่คุณแม่วางใจว่าถ้าปล่อยให้อยู่บ้านกันสองคนน้องวีจะต้องเป็นพี่ชายที่ทำอาหารให้น้องสาวกินได้แน่นอน
และเราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ใช่แค่ทำอาหารให้น้องสาวกินได้ แต่น้องวีอาจจะสร้างสรรค์เป็นเมนู fine dining อย่างดีเลยก็เป็นได้
“ถ้าเขามีความสุขที่ได้ทำอะไร เขาก็จะนำพาตัวเองไป แล้วก็ทำจนเก่งได้เอง”
อยากให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยเล่าแนวทางการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะลูกชายคนแรกอย่างน้องวี
แม่: อันนี้เป็นคำถามที่เคยตอบตอนน้องวีไปสัมภาษณ์เข้าโรงเรียนอนุบาล แหม่มก็ต้องอธิบายว่าเลี้ยงเขามาแนวไหน ก็เลยต้องคิดก่อนว่าเราอยากให้เขาออกมาเป็นยังไง ข้อแรกคืออยากให้เขาเป็นคนมีความสุข อย่างที่สองคือเป็นคนดี อย่างที่สาม ถ้าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คืออยากให้เขาเป็นคนเก่ง
ทีนี้เราจะทำให้เขามีความสุขได้ยังไง เราก็มานั่งคิดว่า คนเรามีความสุขเพราะอะไร เพราะเขาได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่วียังเป็นเด็ก เขาไม่รู้หรอกว่าโลกนี้มีอะไรให้ทำบ้าง เราเป็นพ่อแม่ก็ต้องพาเขาไป explore ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง แล้วเขาจะได้เลือกในสิ่งที่เขาชอบ
ระหว่างทางเขาก็อาจจะไม่กล้าทำหรือไม่กล้าลองบ้าง แต่สิ่งที่แหม่มทำได้ก็คือช่วยกระตุ้นให้เขากล้าทำอะไรใหม่ๆ สมมติเวลาเขาไม่กล้ากินอะไร แหม่มก็จะบอกว่าเขาว่า ถ้าวีลองกินวันนี้คำเดียว ไม่อร่อยเราก็เลิกกิน…
น้องวี: แต่ถ้าอร่อย กินได้ทั้งชีวิต (หัวเราะ)
แม่: ใช่ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ลอง
เคยอ่านเจอโควตอันนึงดีมาก เขาบอกว่า “Real protection means teaching children to manage risks on their own, not shielding them from every hazard”
คือบางบ้านไม่กล้าให้ลูกยืนหน้าเตาแก๊ส ไม่กล้าให้ลูกจับมีด แต่แหม่มคิดต่างกัน แหม่มคิดว่า อะไรที่เสี่ยงก็ควรให้เขาได้เจอ ต้องฝึก ต้องสอน ต้องให้รู้ตอนที่มีเราอยู่ เพราะอยู่กับเราปลอดภัยที่สุดแล้ว เราสอนได้ เราช่วยได้ ถ้าเกิดอันตราย เราชี้ เราเตือน เราบอกเขาได้ตลอด ดีกว่าปล่อยเขาไปเจอตอนที่ไม่มีเรา แล้วเขาต้องรับมือเอง จะเสี่ยงกว่าไหม
อย่างที่สองคืออยากให้เขาเป็นคนดี สิ่งที่เราพยายามยัดเยียดให้เขา (หัวเราะ) ก็คือฝึกวินัย จะเป็นคนดีก็ต้องรู้จักหน้าที่ตัวเอง รู้จักขอบเขตของตัวเองและคนอื่น แนวทางที่เราเลี้ยงเขามา ก็น่าจะเป็นแบบนี้
แล้วเรื่องความเก่ง…
แม่: เก่งนี่แหม่มคิดว่า ถ้าเขามีความสุขที่ได้ทำอะไร เขาก็จะนำพาตัวเองไปแล้วก็ทำจนเก่งได้เอง
เริ่มให้น้องทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่อายุเท่าไร
แม่: วีเป็นเด็กที่ทำกิจกรรมมาตลอด เขา active learning คือเป็นเด็กที่เรียนรู้จากการเล่น แต่เขาจะไม่เล่นของเล่น เขาชอบออกไปข้างนอกแล้วก็ทำกิจกรรมตั้งแต่ 2-3 ขวบก็เริ่มแล้ว ทั้งวาดรูป แล้วก็เล่นกีฬา
แล้วน้องเริ่มเข้ามาทำอาหารได้อย่างไร
แม่: ตัวแหม่มเองเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ การทำอาหารก็เป็นกิจกรรมที่ทำด้วยกันมาตลอด เพราะเราทำอาหารให้ลูกกินอยู่แล้ว เวลาทำก็จะชวนเขาทำด้วย เขาก็เห็นเราทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก แต่เริ่มเข้าครัวมาหยิบจับอะไรจริงจังก็ตอนที่มือไม้เขาแข็งแรง ประมาณสามขวบได้
“เด็กที่เกิดมาเหมือนกัน พ่อแม่เลี้ยงเหมือนกันสองคน ทุกอย่างเหมือนกัน ยังโตขึ้นมาไม่เหมือนกัน มันเพราะอะไร เพราะเด็กแต่ละคนก็มีสกิลติดตัวมาไม่เหมือนกัน เราต้องพยายามหมุนเขาให้เจอ”
แล้วอะไรทำให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าน้องวีสนใจการทำอาหารเป็นพิเศษ
พ่อ: น้องวีเป็นลูกคนแรก และด้วยความเป็นพ่อแม่มือใหม่ เรายังไม่รู้แนวทางในการเลี้ยงลูกที่ชัดเจน แต่เราก็เหมือนกับพ่อแม่คนอื่นๆ คือ อยากให้ลูกมีความสุข และอะไรที่ลูกทำแล้วมีความสุข เราก็สนับสนุนเต็มที่
แต่ทีนี้ผมเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีต้นทุนมาไม่เท่ากัน เด็กที่เกิดมาเหมือนกัน พ่อแม่เลี้ยงเหมือนกันสองคน ทุกอย่างเหมือนกัน ยังโตขึ้นมาไม่เหมือนกัน มันเพราะอะไร เพราะเด็กแต่ละคนก็มีสกิลติดตัวมาไม่เหมือนกัน เราต้องพยายามหมุนเขาให้เจอ พยายามให้เขาออกไปลองทำกิจกรรมต่างๆ แล้วเราจะรู้ว่าเขาชอบอะไร และการหมุนให้เขาไปเจออะไร ก็เป็นเรื่องของการสังเกตการณ์ด้วย พ่อแม่จะเป็นคนที่เห็นว่าเขาทำอะไรได้หรือไม่ได้ เช่น พ่อแม่บางคนพาลูกไปเตะฟุตบอล แต่ไม่ได้สังเกตว่าลูกทำไม่ได้ เพราะเด็กบางคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเล่นฟุตบอล เหมือนเด็กบางคนก็ไม่ได้เกิดมาเป็นเชฟ ไม่ได้เกิดมาเพื่อวาดรูป แต่พ่อแม่ฝืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือ ถ้าเราหมุนเขาให้เจอว่าสิ่งที่เขามีจริงๆ คืออะไร เขาอาจจะชอบอ่านหนังสือ เขาอาจจะชอบเล่นกีฬา พอเจอว่าเขาชอบอะไร แล้วเราค่อยส่งเสริมเขาไปทางนั้นมากกว่า
สำหรับวี เขาก็ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวเชฟ แต่เราเห็นว่าเขาเริ่มมีความสนใจเรื่องทำอาหารตั้งแต่เด็ก พอเขาเห็นแม่เข้าครัว เขาก็มาขอทำ ขอเล่นด้วย เพราะเด็กเห็นอะไรก็อยากลองอยากเล่น และเขาก็ทำได้ดี เป็นโชคดีของบ้านเราที่วีเขาไม่ชอบเล่นของเล่น
แม่: เขาชอบเล่นกับพ่อแม่
พ่อ: เขาเล่นของจริงเลย (หัวเราะ) คือเขาก็เข้าครัวไปช่วยแม่เขาทำอะไรง่ายๆ ก่อน
น้องวี: ปอกเปลือกไข่ ใช้มีดสเต๊กที่ฟันทื่อๆ หั่นผักนิ่มๆ หั่นสตรอว์เบอร์รี มะเขือเทศ แล้วก็เด็ดผักอะไรไป
พ่อ: ผมก็มองว่ามันเป็นการเล่น เขาจะได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก แล้วเขาก็เริ่มทำอาหารมาเรื่อยๆ ข้าวผัด สปาเกตตี้ ไข่คน ทำอะไรง่ายๆ สิ่งพวกนี้ผมเชื่อว่าเด็กหลายคนก็ทำได้ ถ้าเขาได้มีโอกาสเข้าไปลองทำ
จากเด็กที่เข้าไปทำอาหารกับคุณแม่ มาสู่รายการแข่งขันทำอาหารได้อย่างไร
พ่อ: เขาดูรายการมาสเตอร์เชฟกับแม่มาตลอด ทีนี้วันหนึ่งเขาก็มาบอกว่า รายการมาสเตอร์เชฟมารับสมัครเด็กที่โรงเรียน
น้องวี: ตอนนั้นเพื่อนมาบอกว่า เราไปสมัครกันเถอะ แต่สุดท้ายมีผมส่งคลิปไปคนเดียว คนอื่นไม่ส่งเลย (หัวเราะ)
แม่: เขาโดนเพื่อนเท (หัวเราะ)
น้องวี: คือเพื่อนเขาถ่ายคลิปกันเสร็จแล้ว แต่ว่าเขากลัวกรรมการ ก็เลยไม่กล้าส่ง
การที่น้องวีอยากลงแข่งทำอาหาร ทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นว่าน้องจริงจังกับการทำอาหารใช่หรือเปล่า
พ่อ: พอดีแม่เขามีเพื่อนทำร้านอาหาร พอเริ่มแข่ง ก็เลยลองให้เชฟมาสอนทำอาหาร ผมก็เริ่มเห็นความสามารถเขา เชฟมาสอนการใช้มีดหั่น สับ ซอยเร็วๆ ผมเรียนไปพร้อมกับลูก ผมยังทำไม่ได้เลย แต่วีทำได้หมดแล้ว มันก็เลยเหมือนที่ผมบอก ว่าถ้าเราหมุนเจอว่าลูกมีสกิลอะไร เขาก็จะต่อยอดได้เอง
สำหรับน้องวี ถ้าคุณมองเขาไกลๆ และไม่บอกว่านี่คือเด็ก คุณจะคิดว่าเขาเป็นเชฟจริงๆ เพราะบุคลิก ท่าทาง ทุกอย่างเขาคือเชฟ ผมเห็นแล้วยังตกใจเลย
ก่อนสมัครไปแข่งในรายการ ในสายตาคุณพ่อคุณแม่คิดว่าน้องวีเป็นเด็กที่ทำอาหารเก่งหรือว่าเริ่มไปเห็นพัฒนาการของเขาในรายการ
แม่: ในสายตาแม่ เราคิดว่าเขาเป็นเด็กที่ทำอาหารกินเองได้ และไม่อดตาย เพราะแหม่มถือว่าการทำอาหารเป็นซอฟต์สกิลที่เขาควรมีติดตัวไว้ ถ้าเขาไปเรียนเมืองนอก เขาต้องทำอาหารกินเองได้ ไม่ใช่ไปนั่งกินแต่แฮมเบอร์เกอร์ ก่อนเขาสมัครรายการ เราก็มั่นใจว่าในวัย 9 ขวบ เขาเป็นพี่ที่ทำสปาเกตตี้ให้น้องกินได้ หรือถ้าพ่อแม่ไม่อยู่แต่มีอาหารในตู้เย็น เขาก็ทำอาหารกินเองได้
แต่สกิลระดับทำอาหารกินเองได้กับสกิลที่ใช้แข่งขันในรายการมันดูห่างกันมาก ถ้าอย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่กังวลที่ลูกจะไปแข่งไหม
น้องวี: แม่ไม่เคยกังวลเลย แม่ให้ลุยตลอด
พ่อ: จริงๆ มันเป็นความทรงจำและประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับเด็กอายุ 9 ขวบ อะไรที่เขาไม่เคยลองก็ได้ลอง คือรายการมันสำหรับเด็ก 8-13 ปี วีอายุแค่อายุ 9 ขวบ ก็ยังจัดว่าเป็นกลุ่มเด็กเล็ก เราก็คิดว่าให้เขาไปสนุก แต่เขากลับไปโตในรายการ
น้องวี: แม่บอกว่า วีจะเข้าไปสร้างสีสันให้รายการสนุก (หัวเราะ)
พ่อ: ไปแข่งวันแรกแม่เขากลับบ้านมาก่อน ปรากฏว่าวีได้ติดหนึ่งในจานที่ดีที่สุด ผมก็ตกใจ ตอนแรกผมไม่ได้หวังอะไรเลยนะ แต่พอเข้าท็อปเท็น ก็เริ่มหวังแล้ว (หัวเราะ)
ถ้าไม่ใช่เรื่องเด็กกว่าหลายคน น้องวีกลัวอะไรในการแข่งขันบ้าง แล้วคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ถึงรอบไหน
น้องวี: ถึงเป็นเด็ก ผมก็ไม่กลัวครับ มันอยู่ที่ฝีมือ
แม่: แล้ววีคิดว่าจะไปได้ถึงรอบไหน
น้องวี: อย่างมากก็น่าจะสิบคนครับ
แม่: คือตอนแรกที่เข้าไป เราไม่ได้คิดไว้เลยว่าเขาจะไปได้ถึงไหน แต่ว่าระหว่างที่แข่ง วีเขาก็ซ้อม เราก็ช่วยกันซ้อม พัฒนาการเขาที่แม่เห็นมันเหลือเชื่อมาก ตอนนี้วีเขาไปไกลแล้ว เรื่อง Knife skills นี่พ่อแม่สู้เขาไม่ได้แล้ว
พอเริ่มเข้ามาแข่งขันจริงจัง มีการแบ่งเวลายังไง
แม่: priority ของเขาอันดับแรกต้องเป็นเรื่องเรียน เรียนเสร็จ เขาเป็นนักบอลโรงเรียน หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบคือเลิกเรียนก็ต้องไปซ้อมบอล เวลาที่เหลือก็คือเวลาที่ซ้อมทำอาหาร
แต่พอเข้ารอบลึกในรายการแล้ว ตารางเวลาก็เริ่มเปลี่ยนไป ก็ต้องไปขอโรงเรียนว่าตอนนี้มันเป็นโอกาสดีที่วีจะได้ไปลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ออกไปหาประสบการณ์นอกโรงเรียน เราก็ต้องขอเวลาให้เขานิดหนึ่ง
พอผ่านมาได้ถึงรอบสามคนสุดท้าย ต้องมีการเตรียมตัวยังไงบ้าง
แม่: จริงๆ ตอนรอบ semi final เขาป่วย ตอนนั้นวิกฤตมาก เพราะเขาไม่สบาย น้องสาวก็ติด แล้วกลายเป็นไม่สบายพร้อมกันสองคน เราไม่มีพี่เลี้ยง มือหนึ่งแม่ก็อุ้มน้องวาว อีกมือก็ช่วยวีซ้อมทำอาหาร จนต้องบอกเขาว่าวีทำพลาดบ้างก็ได้มั้งลูก ตกรอบเลยก็ได้มั้ง (หัวเราะ) แต่เขาไม่ยอม ตอนที่ไม่สบายแม่ต้องพาเขาไปโรงพยาบาล ไปฉีดยาให้หยุดอาเจียน จะได้ซ้อมได้
แต่พอเข้ามาถึงสามคนสุดท้าย เรามีเวลาประมาณสิบวันก่อนรอบไฟนอล ก็ต้องกลับมาคิดเมนู เราใช้การพูดคุยกับเขาเป็นหลัก เพราะเขาเป็นคนทำ ถ้าเขาไม่อิน ก็คงเข็นไม่ไหว แต่เราคุยกันว่า ในเมื่อเป็นรอบชิง อย่างแรกคือเมนูต้องสมศักดิ์ศรี อย่างที่สองคือมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ของประเทศไทย จะลืมเรื่องอาหารไทยไม่ได้ และข้อสำคัญคือขอให้เป็นอาหารในแบบของวี เพราะวีเขาเป็นคนที่ชอบเอาเทคนิคต่างๆ มาใช้ให้เป็นเมนูที่ดูสนุกสนาน
ถ้าปกติส่วนตัวน้องวีชอบทำอาหารประเภทไหน
น้องวี: ชอบทำพาสต้า อาหารไทยไม่ได้เก่งมากครับ ต้องมาฝึกเพิ่ม
แม่: แค่ผัดกะเพราได้ (หัวเราะ)
ตั้งแต่แข่งขันมา เมนูไหนหรือรอบไหนยากที่สุด
น้องวี: (คิดสักพัก) น่าจะเป็นไส้กรอกครับ เพราะว่าวีทำแตก
เคยทำไส้กรอกมาก่อนไหม
น้องวี: เคยทำครั้งสองครั้งครับ แต่บางทีก็ซื้อจากเซเว่นฯ มาต้ม (หัวเราะ)
รอบที่เป็นหัวหน้าทีมล่ะ
น้องวี: ไม่กดดันเลยครับ เฉยๆ
ปกติคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าน้องวีเป็นเด็กที่มีความเป็นผู้นำอยู่แล้วหรือเปล่า
พ่อ: เขาเป็นกัปตันทีมฟุตบอลนะ คือเวลาแข่งทีมจะต้องมีคนคอยกระตุ้นเพื่อน ซึ่งวีจะเป็นคนที่บอกเพื่อนว่าอย่ายอมแพ้ โค้ชก็เลยเลือกเขา และวีเขาเป็นคนกล้าแสดงออก แล้วเขาก็มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ คือเด็กบางคนอาจจะกล้าแสดงออก แต่พอเจอคนติแล้วอาจจะฝ่อ
แต่วีเขาไม่ฝ่อ ถ้าเขาตั้งใจจะทำอย่างนี้ เขาก็จะทำ ส่วนเรื่องกดดัน ผมคิดว่าเขาเริ่มมีความกดดันรอบที่เหลือกันอยู่ 7 คน แล้วเขาเป็นเด็กผู้ชายคนเดียว พอเพื่อนสนิทออกไป เขาออกมาร้องไห้เลย
ไม่ได้ร้องไห้เพราะเครียดการแข่งขัน แต่ร้องไห้เพราะเพื่อนไม่อยู่แล้ว
น้องวี: ใช่ครับ (หัวเราะ)
วันแข่งรอบไฟนอลสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง
น้องวี: ต้องไปถึงสตูดิโอหกโมงเช้า แล้วก็แต่งหน้าทำผม ได้เข้าไปถ่ายตอนประมาณเก้าโมงครึ่งครับ เข้าไปทำจานแรกชั่วโมงนึง แล้วก็ออกมาช่วงที่ให้กรรมการชิมอาหาร แล้วก็ถ่ายสัมภาษณ์ ท่องสูตรจานต่อไป แล้วก็กลับเข้าไปทำใหม่
แม่: เขาก็จะวนอยู่แบบนี้จนครบสามเมนู รวมสัมภาษณ์ทุกอย่างแล้วเสร็จประมาณห้าทุ่ม
พ่อ: เด็ก 9 ขวบ กับการทำสามเมนูทั้งวันมันยากมากเลยนะ
แม่: รอบอื่นปกติเขาทำเมนูละ 1 จาน แต่รอบนี้ 3 เมนู ต้องเสิร์ฟทั้งหมด 9 จาน แล้วแต่ละเมนูเขาต้องจำสูตร จำวัตถุดิบว่าต้องใช้อะไรบ้าง ต้องแม่นเรื่อง work flow ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง
บางคนไม่ได้อยู่กับเด็ก อาจจะคิดว่าเด็ก 9 ขวบ กับเด็กอายุ 12-13 ห่างกันไม่กี่ปี แต่คนที่เลี้ยงลูกมาเองจะรู้ว่าเด็กแต่ละปีเขามีความแตกต่างกันมาก แต่วีเขาเป็นเด็กที่ไม่กลัว เขาทำทุกอย่างด้วยความมั่นใจของเขา
แล้วน้องวีมีทำอะไรพลาดบ้างหรือเปล่า
น้องวี: มีทำของหก แต่มันยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง ผมก็เลยต้องลดสูตรทุกอย่างลงครึ่งหนึ่ง
พ่อ: ผมเครียดเลย โชคดีที่เวลาแข่งตั้งแต่ ep. 1 เขาให้ผู้ปกครองรออยู่ข้างนอก พอได้เข้าไปดูรอบสุดท้ายถึงรู้ว่า โอ้โห มันเครียดนะ
แต่เรารู้ว่าวีเขาก็เตรียมตัวไปร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ตอนแข่งมันก็ต้องมีอะไรที่ควบคุมไม่ได้ เช่น…
น้องวี: ที่บ้านน้ำแรง (หัวเราะ)
แม่: เราสองคนพ่อแม่ช่วยซ้อมวีเอง ตอนเราเห็นเขาทำ เราจะรู้เลยว่า นาทีที่เท่าไหร่ ถ้าเขายังไม่ได้ทำอันนี้ เขาจะเริ่มไม่ทันแล้ว และระหว่างทางมันจะมีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ เช่น ที่บ้านเราเปิดน้ำ ใช้เวลาแป๊บเดียวน้ำเต็มหม้อแล้ว แต่น้ำในสตูดิโอต้องรอนานกว่านั้น หรือเตาที่บ้านเราต้มน้ำ 7 นาทีเดือดแล้ว แต่ที่สตูดิโอ 12 นาทีแล้วน้ำยังไม่เดือด พวกนี้คือสิ่งที่เขาจะต้องไปเจอมันด้วยตัวเอง
หลังจากรายการจบแล้ว ตอนนี้น้องวีทำอะไรบ้าง
พ่อ: ตอนนี้อย่างแรกคือเขาต้องไปตามเรียนหนังสือให้ทัน ทีมฟุตบอลก็เริ่มตามตัวแล้ว ส่วนที่คิดไว้ก็อาจจะทำเชฟเทเบิ้ลเล็กๆ ให้เพื่อนแม่เขามากิน ไม่ได้เป็นบิซิเนสจริงจังอะไร
แม่: หรืออาจจะทำช่องยูทูบ แต่เราก็ค่อยๆ คิดค่ะ จะต่อยอดอะไรเราก็ดูตามศักยภาพของเขา ต้องถามเขา อย่างช่องยูทูบนี่ก็ถามเขาว่าอยากทำจริงๆ ใช่ไหม
น้องวี: อยากๆ (ทำหน้าจริงจัง)
“เขาเพิ่ง 9 ขวบ ตอนนี้อะไรก็เป็นไปได้ วันหนึ่งเขาอาจจะไปหยิบจับอะไรแล้วเขาชอบมากกว่า ก็ยังเป็นไปได้ เขายังไปได้อีกโดยที่เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะไปทางไหน ก็ต้องกลับไปที่คอนเซ็ปต์เดิม คือปล่อยให้เขาไปลอง”
แล้วอนาคตต่อไปน้องวีอยากทำอะไรอีก
น้องวี: เป็นนักฟุตบอลอาชีพครับ
พ่อ: ผมว่าเขาเป็นเด็กที่มีสกิลเรื่องการใช้มือใช้เท้าได้ดี แต่ถ้าให้เขาไปนั่งอ่านหนังสือสู้กับคนอื่นก็สู้ไม่ได้
เหมือนเป็นเด็กกิจกรรมมากกว่าเด็กเรียน
แม่: เป็นเด็กไม่เรียนเลยค่ะ (หัวเราะ) แต่จริงๆ เขาเรียนดีนะคะ
น้องวี: แต่ไม่ชอบเรียน (หัวเราะ)
พ่อ: จริงๆ เราก็หวังแค่ให้เขาเรียนอยู่ในเกณฑ์ average เขาจะได้มีเวลาไปพัฒนาด้านอื่น คือเมื่อก่อนคนอาจจะคิดว่า เราควรเป็นท็อปในด้านอะไรสักอย่าง แต่ผมคิดว่า ถ้าเราอยู่ในท็อป 20 แต่ว่าเรามีหลายสกิล มันก็ดี
แม่: ถ้าถามตอนนี้ว่าความฝันต่อไปของเขาคืออะไร ก็คิดว่าเขาเพิ่ง 9 ขวบ ตอนนี้อะไรก็เป็นไปได้ วันหนึ่งเขาอาจจะไปหยิบจับอะไรแล้วเขาชอบมากกว่า ก็ยังเป็นไปได้ เขายังไปได้อีกโดยที่เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะไปทางไหน ก็ต้องกลับไปที่คอนเซ็ปต์เดิม คือปล่อยให้เขาไปลอง แล้วอะไรที่เขาชอบและทำได้ เราก็ส่งเสริม
แล้วใจจริงคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกไปทางไหน
พ่อ: ถ้าเอาแต่ใจเลย ผมว่าพ่อแม่หลายคนก็อยากให้ลูกทำอะไรที่เป็นวิชาชีพ เพราะมันมั่นคงดี แต่สำหรับผม ถ้าเขาชอบอะไร ผมก็จะผลักดันไปให้สุด อย่างถ้าเขาอยากจะเป็นเชฟ ผมก็จะพาไปให้สุด ถ้าอาชีพเชฟในเมืองไทย มันเล็กเกินไปสำหรับเขา ถ้าผมยังอยู่ ผมจะพาเขาไปเปิดประสบการณ์ที่เมืองนอก ถ้าเขาต้องการนะ
แม่: สำหรับแม่คิดว่า มันยัง Unlimited possibilities เลยค่ะ อะไรก็เป็นไปได้ คิดว่าตอนนี้เขายังเด็กเกินไปที่เราจะไปล็อกเป้าให้เขาเป็นโน่นเป็นนี่ อนาคตของเขา เราควรปล่อยให้เขามีอิสระ ที่จะคิดจะลองทำอะไรใหม่ๆ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ ถ้าเราไม่ขีดเส้นจำกัดไว้
COMMENTS ARE OFF THIS POST