READING

ความสุขที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กคนหนึ่ง: ค...

ความสุขที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กคนหนึ่ง: คุยกับ ป๊าโหน่ง—วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และ แม่ปิ๋ม—ประวีณา ทิพย์สุข

โหน่ง

จุดเริ่มต้นของบทสัมภาษณ์นี้เริ่มต้นเมื่อเกือบปีที่แล้ว…

 

เมื่อจู่ๆ หน้าฟีดเฟซบุ๊กของเราปรากฏภาพเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ดวงตากลมโตของเธอ จะบอกว่าบรรจุแววตาที่ไร้เดียงสาสมวัยเอาไว้, ก็ใช่ แต่จะบอกว่ามันเป็นแววตาที่มีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่, ก็ใช่อีก

ลินิน คือชื่อของเด็กผู้หญิงตากลมโตคนนั้น…

จากวันนั้น เราก็เริ่มรู้จักเด็กหญิงลินิน (อยู่ฝ่ายเดียว) ได้รับรู้ที่มาที่ไป ได้เห็นพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลง และช่วงเวลาน่ารักๆ ของลินินกับครอบครัว ผ่านการบอกเล่า (ด้วยตัวหนังสือและรูปถ่าย) ของ แม่ปิ๋ม—ประวีณา ทิพย์สุข

เป็นอย่างนั้นตลอดเกือบปีที่ผ่านมา…

แล้ววันหนึ่งเราก็ได้รับข่าวดีจาก พี่โหน่ง—วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ในฐานะ ‘ป๊าโหน่ง’ ของเด็กหญิงลินิน ว่าหลังจากที่เราเคยติดต่อขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับอุปการะเด็กเป็นลูกบุญธรรมไปตั้งแต่ปีก่อน ตอนนี้ขั้นตอนและกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

สำหรับเราถือเป็นการรอคิวสัมภาษณ์ที่ยาวนาน แต่สำหรับแม่ปิ๋มและป๊าโหน่งที่เฝ้ารอวันที่ลินินจะมาเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยระยะเวลาที่เท่ากัน ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าความหมายของการรอคอยนั้นจะแตกต่างกันมากแค่ไหน

จุดเริ่มต้นของการอยากมีลูกหรืออยากรับเด็กมาดูแล เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร

พี่โหน่ง: ต้องบอกก่อนว่า เราสองคนใช้ชีวิตคู่กันมานาน และมีความคิดตรงกันว่าจะไม่มีลูก ไม่ใช่เพราะมีไม่ได้ แต่รู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่เป็นชีวิตที่กำลังดีแล้ว มีหมาสองตัวที่รักมาก มีงานที่มั่นคง ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้ช่วยเหลือคนอื่นในแบบของเรา มันเป็นความสุขที่พอดีแล้ว แต่วันนึงก็มีเรื่องนี้ก็ค่อยๆ ก่อตัวเข้ามาในความคิดเรา

พี่ปิ๋ม: คือเรื่องเด็กถูกทอดทิ้งเป็นเรื่องที่เราสองคนสะเทือนใจทุกครั้งที่ได้รับรู้หรือได้ยินข่าวค่ะ ที่ผ่านมาหลายปี สิ่งที่เราทำได้ในแบบของเราก็คือการบริจาคให้กับองค์กรมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก สิ่งที่เราทำมันเล็กมาก ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาระดับใหญ่ได้อยู่แล้ว แต่ในแง่ความรู้สึกคือ ช่วยใครได้ก็ควรทำ ทำแล้วสบายใจ พอทำแล้วความหม่นเศร้าในใจก็ลดลงแค่นั้น

จริงๆ เรามีความคิดอยากทำอะไรที่เป็นจริงเป็นจังมากกว่านั้น เช่น รับเด็กมาอยู่ในความดูแลของเราเลย มาเป็นครอบครัวเดียวกันให้ชีวิตที่ดีกับเขา คิดกันไว้แบบนี้แต่จังหวะและโอกาสนั้นยังมาไม่ถึง

พี่โหน่ง: เมื่อเกือบสองปีที่แล้ว มีข่าวแม่นำลูกสาววัยสองขวบขี่จักรยานยนต์ข้ามจังหวัดมาทิ้งไว้ที่หน้าสถานสงเคราะห์ พร้อมถุงเสื้อผ้า ตุ๊กตา ผ้าห่ม ตามตัวเด็กมีร่องรอยถูกทำร้ายด้วย ข่าวนี้ทำให้เราสองคนสะเทือนใจมาก ถึงกับคุยกันว่าไปติดต่อขอรับเด็กคนนี้มาอุปการะดีไหม นี่คือจุดเริ่มต้น

เราให้เพื่อนที่เป็นทนายลองหาทางติดต่อไปว่าอยากรับอุปการะเคสนี้ คิดไปเองว่าไม่ยาก ทางโน้นน่าจะยินดีที่มีคนยื่นมือไปช่วยเหลือ แต่ทนายบอกเราว่า การจะรับอุปการะเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันมีรายละเอียด มีขั้นตอน มีเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายอีกมาก มันไม่ใช่แค่เราไปขอเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง แล้วจะได้ตัวเด็กกลับมาง่ายๆ ตอนนั้นก็เลยพับเรื่องนี้เอาไว้ก่อน

พี่ปิ๋ม: แต่ความรู้สึกหลังจากนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเลยค่ะ เรายังคงอยากจะทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ต่อให้สำเร็จ ตอนนั้นด้วยความเข้าใจผิดไปเอง เราก็เดินดุ่มๆ ไปที่สถานสงเคราะห์แล้วแจ้งความต้องการว่าจะขออุปการะเด็ก ทางสถานสงเคราะห์ก็ให้ข้อมูลว่า ที่นี่เป็นสถานที่รับเลี้ยงและดูแลเด็กเท่านั้น เราต้องไปทำเรื่องขออุปการะเด็กอย่างถูกต้องที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมาให้เรียบร้อยก่อน

ขั้นตอนที่ศูนย์อำนวยการฯ มีอะไรบ้าง

พี่ปิ๋ม: เริ่มจากการแจ้งความต้องการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ศูนย์อำนวยการฯ ก่อนค่ะ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมเอกสารที่แสดงว่าเรามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นครอบครัวของเด็ก รวมไปถึงการตรวจสุขภาพ ตรวจสภาพจิต ตามกระบวนการทดสอบทางจิตวิทยา ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเยี่ยมที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ทั้งหมดนี้ทางศูนย์อำนวยการฯ จะเป็นผู้พิจารณา เมื่อทุกอย่างผ่านแล้วจึงจะส่งเรื่องต่อให้สถานสงเคราะห์

พี่โหน่ง: คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมสามารถเลือกเด็กได้ ความจริงแล้วมีสองสิ่งที่เราเลือกได้คือเพศและอายุของเด็กเท่านั้นครับ

พี่ปิ๋ม: เราระบุไปว่าอยากอุปการะเด็กอายุสามขวบ เพราะคิดว่าเป็นวัยที่เขายังไม่มีความทรงจำอะไรมาก ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่พร้อมให้เราเติมความทรงจำใหม่ๆ ได้มากมายเช่นกัน

แล้วมาเจอลินินคนนี้ได้อย่างไร

พี่ปิ๋ม: เราต่างคนต่างมาค่ะ ในส่วนของพ่อแม่เมื่อผ่านการพิจารณาคุณสมบัติต่างๆ แล้ว เราก็จะเป็น waiting list ในฝั่งของครอบครัว ส่วนของลินินก็จะมีรายละเอียดและกระบวนการที่ซับซ้อนกว่า มีการสืบประวัติที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ก่อนจะมาเป็น waiting list ในฝั่งของเด็กที่รออุปการะ และได้รับการแมตช์โดยสถานสงเคราะห์

และหลังจากแมตช์กันแล้ว

พี่ปิ๋ม: ตามข้อกำหนดคือ เราต้องทำความรู้จักกันก่อน ตอนนั้นลินินอยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์ เราไปหาเขาทุกอาทิตย์ ทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ไปใช้เวลาด้วยกันเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้เขาไว้ใจวางใจเรา เล่านิทาน เล่นของเล่น กินขนมด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในการสังเกตการณ์ของนักสังคมสงเคราะห์ตลอด

เวลาเท่านั้นมากพอที่จะทำให้ลินินคุ้นเคยกับเราไหม

พี่โหน่ง: จำนวนครั้งที่แวะมาเยี่ยมเด็กจะมากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้าน แต่สำหรับลินินเรามองออกตั้งแต่ครั้งที่สาม คือสองครั้งแรกที่เจอกันเขายังดูกลัว และมีระยะกับเรา เขาทำตัวแข็ง หน้านิ่ง และไม่พูด แต่ก็แอบสังเกตเราไปด้วย

พอไปเยี่ยมครั้งที่สาม เขาดูผ่อนคลายขึ้น เจอหน้ากัน ยกมือสวัสดีสวยมาก เก็บรองเท้าเป็นระเบียบ แล้วก็เดินมานั่งใกล้ๆ ฟังแม่เล่านิทาน เล่นของเล่นด้วยกัน ยอมให้จูงมือ ให้อุ้ม เริ่มเห็นรอยยิ้มเล็กๆ บ้าง พอถึงเวลาที่เราจะกลับบ้าน เขาก็ร้องไห้ตาม กอดเรา ไม่ยอมให้พี่เลี้ยงมาอุ้ม ทำเอาเรามีน้ำตาและก็แอบดีใจไปด้วย เพราะนี่คือความไว้วางใจแรกที่เขามีให้เรา

พอไปเยี่ยมครั้งที่สี่ ก็เห็นได้ชัดเลยว่าลินินรอเจอเราอยู่ แววตาก็ดูสดใสกว่าทุกครั้ง คุ้นเคยขึ้น วางใจขึ้น ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เลยคุยกันว่าเราไม่ควรใช้เวลากับตรงนี้นานเกินไป เพราะรู้ดีว่าชีวิตหนึ่งวันของเขาที่อยู่ที่นี่กับหนึ่งวันที่อยู่กับเรามันแตกต่างกันมาก เลยรีบตัดสินใจรับลินินมาอยู่ด้วยกัน

การออกจากสถานสงเคราะห์ครั้งแรกของลินิน ก็คือการได้เข้ามาอยู่ที่บ้านใหม่และครอบครัวใหม่

พี่ปิ๋ม: ใช่ค่ะ สามลำดับแรกที่เราอยากให้เขาคุ้นเคยและวางใจที่สุดก่อนก็คือที่บ้าน สัตว์เลี้ยง และคนในครอบครัว ให้รู้จักก่อนว่านี่คือบ้านของหนู บ้านเรามีป่าป๊า แม่ พี่น้ากับพี่ลิง (หมา) และพี่เลี้ยง ยังไม่รีบพาไปเจอคนอื่น ให้เดินสำรวจโลกที่เรียกว่าบ้านไปก่อน หลังจากนั้นค่อยพาไปสนามเด็กเล่นในหมู่บ้าน ค่อยๆ ให้เจอโลกใหญ่ขึ้นทีละนิด

ลินินมีปัญหาเรื่องการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมหรือเปล่า

พี่ปิ๋ม: ตอนแรกเราก็กังวลเรื่องนี้กันค่ะ เพราะเขาอยู่สถานสงเคราะห์มาเกือบสามปี นับจากนี้ทุกอย่างที่พบเจอจะเป็นเรื่องใหม่และโลกใหม่ของเขา เรากังวลกันตั้งแต่ล้อเริ่มหมุน ว่าเขาจะเมารถไหม จะร้องไห้ขอให้กลับไปส่งที่เดิมหรือเปล่า ตอนอยู่กันเองแล้วเขาจะกลัวเราสองคนไหม จะเข้ากับหมาสองตัวที่บ้านได้หรือเปล่า แต่ปรากฏว่าลินินผ่านหมดค่ะ พอขึ้นรถได้สักพักก็หลับยาวเลย มาถึงบ้านเจอพี่น้ากับพี่ลิงรอต้อนรับอยู่ก็ไม่ได้ตื่นกลัว สงบนิ่งมาก จนเราแปลกใจ ทั้งที่ลินินไม่เคยเจอหมามาก่อน พี่น้ากับพี่ลิงก็ดูแลน้องดีมาก วนเวียนอยู่ใกล้น้องไม่ไปไหนเลย

พี่โหน่ง: ตั้งแต่ลินินเข้ามาอยู่บ้าน เราไม่เห็นความกังวลของเขาเลยครับ เขาปรับตัวได้ดีในทุกๆ ด้าน นั่นเพราะเขาเคยผ่านช่วงเวลาที่ได้อยู่ร่วมกับคนจำนวนมากมาก่อน ที่สำคัญคือเขาอยู่ในระเบียบวินัยมาตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้ต้องชื่นชมสถานสงเคราะห์เลย สอนมาดีมาก ทุกครั้งที่เจอลินิน เขาจะเดินมาสวัสดี ถอดรองเท้า เก็บรองเท้าเป็นระเบียบนั่งเรียบร้อย ดูรู้เลยว่าเป็นเด็กที่ถูกสอนเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี ซึ่งดีกับพ่อแม่อย่างเราที่รับลินินมาอยู่ด้วยมากเลย

พี่ปิ๋ม: เราเข้าใจว่าที่สถานสงเคราะห์ของลินินมีเด็กที่อยู่ในความดูแลจำนวนมาก เฉพาะกรุ๊ปของลินินมีเด็กเล็กวัยเดียวกัน 23 คน การมีกฎกติกาที่จะอยู่ร่วมกันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนจึงจำเป็นมาก กิจกรรมทุกอย่างของเด็กต้องเป็นไปตามตารางเวลา ข้าวของทุกอย่างต้องแบ่งกันเล่นแบ่งกันใช้ เด็กๆ ต้องรู้จักอดทน รู้จักรอคอย ซึ่งเราค่อยๆ เห็นมุมเหล่านี้ตอนที่เริ่มไปทำความรู้จักลินิน

ทุกครั้งเขาจะใส่รองเท้า (ที่ไม่ค่อยพอดีเท้า) ไม่ซ้ำกันเลย บางวันก็ใส่เสื้อผ้าชุดสวยหลวมๆ บางวันก็ใส่เสื้อผ้าธรรมดาสอบถามพี่เลี้ยงเลยได้รู้ว่า เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่นเหล่านี้คือของที่ได้จากการบริจาค เป็นของส่วนรวม เด็กๆ ต้องแบ่งกันใช้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ชุดสวยๆ มีน้อยก็ต้องสลับกันใส่ อยากจะเล่นของเล่นชิ้นนี้ก็ต้องต่อคิว รองเท้าที่มีคนใจดีบริจาคมาก็จะมีแต่ไซซ์ใหญ่ เท้าเล็กอย่างลินินก็จะหาคู่ที่ใส่พอดียาก มีอะไรก็ต้องใส่อย่างนั้น แต่มันช่วยสอนเรื่องความพอใจ การเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี และความไม่ยึดติดได้ดีมากเลย ลินินซึมซับเรื่องเหล่านี้มาไม่น้อย

ตอนที่เราพาเขาไปเลือกซื้อตุ๊กตาครั้งแรก เขาดูตื่นเต้นมาก เดินดูไปยิ้มไปจับๆ แตะๆ บ้าง แต่ไม่หยิบตุ๊กตาตัวไหนมาเลย พอเรายื่นตุ๊กตาไปให้เขาก็เอาไปกอดไปหอม พอใจแล้วก็ส่งคืน เขาไม่เรียกร้อง แต่สุดท้ายแม่ก็ซื้อให้เอง เพราะอยากให้เขามีความสุขจากการได้มีบ้าง

พี่โหน่ง: อย่างตอนที่เราซื้อรองเท้าคู่แรกให้ เขามีความสุขมาก รักมาก เพราะไม่เคยมีรองเท้าเป็นของตัวเองมาก่อน ใส่ทั้งวันไม่ยอมถอด ใส่อาบน้ำ ใส่นอน เอาวางบนโต๊ะกินข้าว ล้างรองเท้าเองทุกวัน จากเด็กที่ไม่เคยมี ไม่เคยได้อะไรมาก่อน นิดนึงสำหรับเขาก็เป็นความพิเศษแล้ว ทุกวันนี้ลินินก็ยังเป็นเด็กที่มีความสุขง่ายมากกับเรื่องเล็กๆ

พี่ปิ๋ม: ถ้าจะมีอะไรที่เรารู้สึกว่าลินินตกหล่นไปในช่วงสามปีของชีวิตเขา ก็คงเป็นเรื่องการได้รับความรักความอบอุ่น ความสนุกสดใส ความมีชีวิตชีวาตามวัยของเขาที่มันหายไป

พี่โหน่ง: กับอีกอย่างคือทักษะและพัฒนาการบางอย่างที่ช้ากว่าเด็กคนอื่นเล็กน้อย ตอนแรกที่เจอกันลินินไม่พูดเลย เปล่งเสียงได้เป็นคำ อย่างแม่เล่านิทานเป็นประโยคเขาก็จะออกเสียงตามได้แค่คำสุดท้าย นักสังคมสงเคราะห์บอกว่าก็น่าจะมาจากการดูแลที่ไม่ทั่วถึง เพราะเขาไม่ค่อยได้สื่อสารกับใคร ทั้งการฟังและพูด คลังคำศัพท์ที่เขารู้จักก็เลยน้อยไปด้วย

อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้เขาไม่ได้รับการโฟกัสที่จะฝึกหรือสร้างพัฒนาการเท่าที่ควร

พี่ปิ๋ม: ใช่ค่ะ เด็กบางคนที่เงียบๆ ผู้ใหญ่ก็จะมองว่าเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่ต้องดูแลมาก ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง ก็จะไม่ถูกโฟกัส

พี่โหน่ง: ตอนที่เราไปเจอลินินพร้อมเพื่อนๆ ของเขา ก็จะมีเด็กหลายคนวิ่งเข้ามาหา มากอดเรา ยื่นมือมาให้เราจับ แต่ยกเว้นลินินที่ยืนมองเราเงียบๆ อยู่ตรงมุมห้อง ไม่ยิ้ม ไม่แสดงอารมณ์อะไรเลย อาจเป็นเพราะเขาไม่ใช่คนที่เคยได้รับความสนใจ เขาเลยไม่มั่นใจที่จะเดินมาหาเรา

เด็กทั่วไปช่วงวัยสองขวบ คือช่วงเวลา terrible two แต่ลินินที่ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในช่วงนั้น เป็นอย่างไรบ้าง

พี่ปิ๋ม: ช่วง terrible ของลินินเป็นบททดสอบใหญ่ของบ้านเราเลยค่ะ เพราะก่อนที่เขาจะเริ่ม terrible แม่ต้องไปอยู่โรงพยาบาลสัตว์สิบวัน เพื่อเฝ้าอาการและอยู่กับพี่น้าในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขา ส่วนพี่โหน่งก็ไปๆ มาๆ ระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล เพื่อดูแลลินินและดูแลความรู้สึกของคนในบ้าน เพราะทุกคนคิดถึงและเป็นห่วงพี่น้าเหมือนกัน

หลังจากอยู่โรงพยาบาลได้สิบวันพี่น้าก็จากไป แล้วช่วงเวลา terrible ของลินินก็มาทันที เราตั้งรับกันไม่ถูก เพราะทุกคนเพิ่งผ่านการสูญเสียมา ต้องคอยให้กำลังใจกันเต็มที่ เพราะอาการ terrible ใดๆ ที่หนังสือว่าไว้ ลินินเป็นหมด งอแง ดื้อ ต่อต้าน ขัดขืน ขว้างปาข้าวของ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าลินินจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน

เราสองคนกับพี่เลี้ยงต้องประชุมปรับแผนเพื่อรับมือกับลินินวันละหลายๆ รอบ รวมถึงต้องแตะมือผลัดกันไปพัก ไปตั้งสติ ไปร้องไห้คิดถึงพี่น้าบ้าง แต่โชคดีที่ช่วงเวลานี้เกิดขึ้นแค่สองสัปดาห์ เหมือนล้อกันเล่น เมื่อวานลินินยังปีนบันไดทำเราใจหายใจคว่ำอยู่เลย วันนี้ตื่นมาเป็นลินินก็เป็นอีกคนนึงไปแล้ว

ช่วงแรกของการมีลินินเข้ามาอยู่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง

พี่ปิ๋ม: หกเดือนแรกเหมือนการลงสนามจริงค่ะ บ้านเรานับจากนี้จะมีลูกเพิ่มมาอีกหนึ่งคน ลูกที่เพิ่งรู้จักกันตอนเขาสามขวบ ลูกที่พอจะรู้ความบ้างแต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเขาถึงมาอยู่ที่นี่ และพวกเราคือใครในชีวิตของเขา

ต่างกับก่อนหน้านี้ที่เราไปหาไปใช้เวลาด้วยกันที่สถานสงเคราะห์ ตอนนั้นเขาอาจจะไว้ใจและรู้สึกปลอดภัย เพราะยังอยู่ในพื้นที่ของเขา แต่เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ของเรา เราก็ต้องช่วยกันสร้างความไว้วางใจให้มากขึ้นไปอีก เราสองคนกับพี่เลี้ยง ใช้วิธีผลัดกันใช้เวลากับเขา ผลัดกันทำกิจกรรมร่วมกัน จะไม่เข้าไปรุมล้อมพร้อมกันให้เขาอึดอัด และไม่โอ๋เอาใจเขาเกินไป พยายามปฏิบัติกับเขาอย่างธรรมดาและธรรมชาติที่สุด พอเขารู้สึกผ่อนคลายก็จะไว้วางใจเราเอง

พี่โหน่ง: พอเขาคุ้นเคยกับบ้าน สิ่งแรกที่เราทำเมื่อลินินพร้อมออกไปข้างนอกก็คือ พาเขาไปตรวจสุขภาพ ตรวจฟัน และฉีดวัคซีนที่ยังไม่ครบ แต่ระหว่างนี้ก็ค่อยๆ เติมพัฒนาการและทักษะต่างๆ ให้ทันวัยของเขาไปด้วย เพราะช่วงแรก ทุกสองเดือนจะมีสังคมสงเคราะห์มาเยี่ยมบ้านเรา เพื่อติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ ของลินิน ทั้งสุขภาพ การเรียนรู้ อารมณ์ และความสัมพันธ์ในครอบครัว ทุกครั้งที่มาก็จะมีบททดสอบให้ลินินทำเพื่อประเมินทักษะ รวมถึงให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับพ่อแม่ด้วย

เข้าใจว่าลินินเติบโตมากับเด็กวัยเดียวกันหลายคน พอต้องมาเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน เขามีคิดถึงบ้านที่เคยอยู่หรือคิดถึงเพื่อนที่นั่นบ้างไหม

พี่ปิ๋ม: คิดว่าเขายังเล็กเกินไปที่จะรู้สึกผูกพันกับที่ไหน หรือเข้าใจว่าคนนี้คือเพื่อนสนิทจนรู้สึกคิดถึงค่ะ เราเคยเปิดรูปเพื่อนๆ ให้ดู เขาก็ไม่ได้ตื่นเต้นหรือโฟกัสที่ใครเป็นพิเศษ

พี่โหน่ง: เขาน่าจะยังไม่เข้าใจเรื่องความผูกพันครับ และอีกอย่างคือพอลินินมาอยู่กับเราที่เติมเต็มความรัก ความเอาใจใส่ และประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ เขาน่าจะสนุกและมีความสุขจนไม่ได้คิดถึงที่เดิม

ถ้าเลือกได้… อยากให้เขาจำเรื่องราวของตัวเองก่อนสามขวบได้ไหม

พี่โหน่ง: คำแนะนำจากนักสังคมสงเคราะห์คือ เราควรบอกความจริงกับลูก และไม่ควรปกปิดเรื่องของเขา เพราะถ้าเขามารับรู้ตอนโตมันจะส่งผลเสียมากกว่า ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของเราสองคนอยู่แล้ว

ความที่เป็นพ่อแม่ลูก แต่หน้าตาไม่เหมือนกัน ยังไงสักวันก็ต้องมีคำถามนี้ ยิ่งเราบอกเร็วเขาก็ยิ่งปรับตัวได้เร็ว มีภูมิคุ้มกันกับเรื่องนี้ได้ดี และเราเชื่อว่ามันจะไม่เป็นปัญหาสำหรับลินิน เพราะเขาเป็นเด็กมีเหตุมีผล สำคัญกว่านั้นคือความรักจากเรามันมากพอที่จะทำให้ลินินมองข้ามจุดนั้นไปได้

พี่ปิ๋ม: ทุกครั้งที่มีโอกาส เราจะบอกเขาผ่านการเล่านิทานบ้าง การเล่นบ้าง ผ่านสิ่งที่เราพบเห็นด้วยกันบ้าง เลือกใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายเล่าให้สนุก ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจได้ในทีเดียว เราค่อยๆ บอกเล่าไป แล้ววันนึงเรื่องนี้จะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเขา เวลานั่งดูรูปเก่าๆ ด้วยกัน เราจะเล่าว่า ตอนเด็กๆ ลินินเคยอยู่ที่นี่ หนูเคยนั่งกินข้าวตรงนี้ หนูเคยนอนเตียงนี้ นี่เพื่อนๆ ของหนู แต่ตอนนี้ลินินมาอยู่กับป๊าโหน่งและแม่ปิ๋มแล้ว เราเป็นพ่อแม่ลูกกัน และที่นี่เป็นบ้านของลินิน

พี่โหน่ง: เขาจะรับรู้ได้แค่ไหนไม่เป็นไร แต่เราอยากให้เขาจดจำที่ที่เคยจากมา เล่าความจริงตั้งแต่เด็กๆ เพื่อที่เขาเติบโตมาจะได้ไม่มีอะไรติดค้างใจ

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ อยากบอกอะไรครอบครัวที่คิดจะรับเด็กเป็นลูกบุญธรรมบ้าง

พี่โหน่ง: อย่างแรกเลย ต้องเข้าใจก่อนว่าการจะรับเลี้ยงเด็กสักคนเป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน กระบวนการรับเด็กบุตรบุญธรรมจึงมีรายละเอียดและข้อกำหนดที่เคร่งครัดมากในการเฟ้นหาครอบครัวที่เหมาะสมที่สุดให้กับเด็ก ทุกขั้นตอนจึงใช้เวลามาก ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ถ้าเข้าใจตรงจุดนี้ก็จะอดทนและรอคอยได้ ไม่ถอดใจไปก่อน

พี่ปิ๋ม: ใช่ค่ะ ถ้าเราถอดใจไปก่อน เด็กคนหนึ่งก็จะสูญเสียโอกาสสำคัญทั้งชีวิตของเขาไปด้วย เมื่อตั้งใจแล้วพ่อแม่เองก็ต้องพร้อมมากทั้งเวลา ความรัก ความเอาใจใส่ เรียกว่าต้องทุ่มเท เติมเต็ม และชดเชยช่วงเวลาของเขาที่ตกหล่นไปก่อนหน้านี้ให้สุดพลัง

การไม่ได้เลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิด เป็นเรื่องยากสำหรับการเลี้ยงเด็กคนหนี่งหรือเปล่า

พี่ปิ๋ม: การได้เขามาในช่วงอายุสามขวบเป็นเรื่องดีสำหรับเราที่เพิ่งเป็นพ่อแม่ครั้งแรกค่ะ เพราะเราข้ามผ่านช่วงเวลาการเลี้ยงดูเด็กที่เหนื่อยที่สุดและยากที่สุดไปแล้ว อย่างลินินมาตอนรู้ความแล้ว เขาเข้าใจสิ่งที่เราพูด ทำตามคำสั่งได้ บอกความต้องการได้ แค่นี้ก็ช่วยให้การเลี้ยงดูเขาต่อจากนี้เป็นเรื่องง่ายแล้ว ยังคิดเล่นๆ เลยว่าถ้าได้ลินินมาเร็วกว่านี้ เราอาจจะรับมือได้ไม่ดีเท่านี้

แต่จะเป็นการเสียโอกาสที่จะขัดเกลาหรือสร้างตัวตนให้เขาหรือเปล่า

พี่ปิ๋ม: เราเชื่อว่าเด็กจะเกิดจากใครไม่สำคัญเท่าการเลี้ยงดูจากเรา เรื่องนี้นับหนึ่งใหม่ที่เราได้ค่ะ ตัวตนของเขามีมาแต่เดิมก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เหลือมาจากการเลี้ยงดูและสิ่งที่เราเติมให้นับจากนี้ เราคุยกันตั้งแต่แรกเลยว่าพ่อแม่คือต้นฉบับของลูก เขาเห็นเราอยู่ในสายตาของเขาตลอด เพราะฉะนั้นถามตัวเองว่าอยากเป็นแบบอย่างให้เขามุมไหน อยากให้เขาจดจำและซึมซับส่วนไหนจากเราไป เพราะที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนผสมที่เขาจะเลือกไปสร้างตัวตนในแบบของเขาเอง

พี่โหน่ง: ตอนนี้ลินินเริ่มมีส่วนผสมของเราอย่างละนิดละหน่อย ที่เห็นได้ชัดคือเขาเป็นเด็กมีเหตุมีผลเหมือนแม่ และมีอารมณ์ขันขี้เล่นเหมือนผม

บ้านเราให้คุณค่ากับความสุขและการใช้ชีวิตมากกว่าความสำเร็จหรือความเป็นเลิศ เราเลยไม่ได้คาดหวังอะไรใหญ่โตจากลินิน แค่อยากให้เขาเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองและจะดีที่สุดเลยถ้าเขาสามารถช่วยเหลือคนอื่นด้วยเหมือนที่เขาเคยได้รับมา

ลินินเข้ามา เปลี่ยนครอบครัวเราไปยังไงบ้าง

พี่โหน่ง: ผมคิดว่ามันเป็น chapter ใหม่ของชีวิต ลินินเข้ามาเติมครอบครัวเราให้เต็มมากขึ้น เขาเป็นแหล่งความสุขแหล่งพลังใจของบ้านเรา สำคัญกว่านั้นคือผมรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นที่ได้เลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมีชีวิตที่ดี

เราสองคนเคยคุยกันว่าการรับลินินมาเหมือนเรากำลังทำโปรเจ็กต์ร่วมกัน แล้วโปรเจ็กต์นี้มันต้องอาศัยความเป็นทีม มองไปในทิศทางเดียวกัน เห็นความสำเร็จข้างหน้าร่วมกัน ถึงจะทำมันออกมาได้ดี และจากผลงานที่เห็น… ผมว่าทีมเราทำได้ดีทีเดียว หนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมากแม้ว่าจะมีเรื่องหนักหนาอะไรเข้ามาในชีวิต ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป การได้อยู่กับลินินมันคือการอยู่กับปัจจุบัน

พี่ปิ๋ม: ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าโลกของลินินมันเล็กเท่าตัวเขาค่ะ ความจริงแล้วมันมีอะไรบรรจุอยู่ในนั้นมากมาย ถ้าเทียบกับอายุของเขาแล้วมันเข้มข้นกว่าเราทั้งชีวิตเสียอีก รู้สึกนับถือหัวใจเล็กๆ ของเขาที่ผ่านเรื่องเหล่านี้มาได้ เป็นเกียรติมากที่ชีวิตเราถูกกำหนดมาให้ได้ดูแลเด็กที่วิเศษคนนี้

 

สัมภาษณ์วันที่: 12 ตุลาคม 2564

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST