ประเด็นยกเลิกการสอบเข้า ป.1 เป็นใจความส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กำลังผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และกลายเป็นที่สนใจจากทั้งพ่อแม่ คุณครู โรงเรียน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน การที่โรงเรียนจะทำการสอบเพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป
และหากเกิดขึ้นจริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีผลกระทบต่อเด็กและระบบการศึกษาบ้านเราอย่างไรบ้าง ผู้ปกครองต้องเตรียมตัวอย่างไร โรงเรียนจะหาวิธีไหนมาคัดเลือกเด็กเข้าโรงเรียน
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ เมื่อไม่มีการสอบเข้า ป.1 ก็คือ เด็กอนุบาลก็ไม่ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียน หรือเช้าวันหยุด เพื่อไปติวข้อสอบกันอีกต่อไปแล้ว
เราอาจเป็นผู้ใหญ่ที่เมื่อตอนเด็กใช้เวลาเช้าวันหยุดไปกับการตื่นมารอดูช่องเก้าการ์ตูน เลยนึกภาพการติวของเด็กอนุบาลไม่ค่อยออก เลยถือโอกาสชวน คุณครูมะแต—นิรชา วิณิชยกุล คุณครูอนุบาลที่ครั้งหนึ่งเคยรับหน้าที่เป็นติวเตอร์เตรียมเด็กๆ สอบเข้า ป.1 มาเล่าประสบการณ์ที่สถาบันกวดวิชาเด็กอนุบาล ว่าในหนึ่งปีนั้น คุณครูได้เห็นอะไรบ้าง และบทบาทของการเป็นติวเตอร์ กับการย้ายตัวเองมาเป็นคุณครูในโรงเรียนอนุบาลจริงๆ นั้นต่างกันอย่างไร และภาพการศึกษาของเด็กปฐมวัยแบบไหน ที่คุณครูคิดว่าควรจะเป็น
“เรายังไม่เห็นความทุกข์หรอก แต่เราเห็นความเบื่อ ความไม่อยากทำ และสิ่งที่เราสัมผัสได้จากเด็กๆ ชัดเจนเลยก็คือ เขาทำเพื่อพ่อแม่ เขาทำเพราะความรัก”
ประสบการณ์ในฐานะ ‘ติวเตอร์อนุบาล’
สมัยเราเรียนครุศาสตร์ปีสี่ อาจารย์มีงานมาแนะนำให้ทำช่วงปิดเทอม คือให้เราไปเป็นติวเตอร์ที่สถาบันติวในห้างฯ แห่งหนึ่ง สิ่งที่เราต้องทำคือไปติวเด็กอนุบาล เพื่อเตรียมสอบเข้า ป.1 เด็กอนุบาลสามนะ แต่บางทีก็อนุบาลสอง หรืออนุบาลหนึ่งเลยก็มี เพราะเงื่อนไขการสอบเข้าของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน
เราใช้เวลาอยู่กับเด็กทั้งวัน กินข้าวด้วยกันเลย เพราะเด็กๆ มาเรียนตั้งแต่ห้างเปิดในวันเสาร์ หนึ่งห้องติวก็จะมีเด็กประมาณห้าถึงหกคนอยู่ด้วยกัน มาถึงก็ทำชีตที่ทางสถาบันเตรียมไว้ให้ ครูมีหน้าที่อ่านโจทย์ ส่วนห้องอีกแบบจะเป็นห้องติวเดี่ยว คือมีแค่คุณครูกับเด็กตัวต่อตัว เป็นคอร์สวันจันทร์ถึงศุกร์ห้าวัน เรียกว่าเป็นคอร์สติวเข้มข้น เพราะใกล้สอบแล้ว
บรรยากาศในห้องติวเดี่ยวเป็นอย่างไร
เท่าที่เราเห็น มาวันจันทร์เขาก็ยังพอไหวนะคะ แต่พออังคารถึงศุกร์เด็กก็เริ่มไม่ไหวแล้ว เราตอนนั้นที่เป็นคนสอน เราก็พยายามจะให้เขาได้เยอะๆ แต่ยิ่งให้ก็เหมือนเป็นการยัดเยียด หลังๆ พอเราเห็นเขาล้า เราก็เอาเลโก้ เอาของเล่นมาให้เขาได้ผ่อนคลายบ้าง แล้วค่อยกลับไปทำชีตต่อ
นอกจากติวสอบแล้วยังมี ‘ติวเล่น’ ด้วย
ช่วงนั้นมีข่าวลือมาว่าจะมีการสอบแบบเล่น ประมาณว่าให้เด็กๆ เล่นกันอยู่ในห้องกระจกใหญ่ๆ แล้วด้านนอกก็จะมีกรรมการคอยให้คะแนน ทางสถาบันก็เลยเปิดคอร์สขึ้นมา เป็นห้องติวเล่น ซึ่งเด็กที่มาเรียนคอร์สนี้จะเรียนแบบเดี่ยว คืออยู่กับคุณครูสองคน เป็นห้องติวเล่นนะ แต่ไม่มีเพื่อนเล่นเลย (หัวเราะ) เราก็เลยมีหน้าที่เล่นกับเด็ก
ปฏิกิริยาหนึ่งที่เราสังเกตได้จากเด็กที่มาเรียนห้องของเรา คือจะเห็นว่าเขาโหยหาการเล่นมาก พอเขาเข้ามาในห้องแล้วจะพุ่งไปเล่นทันที เขาจะวิ่งเล่นเสียงดัง ขว้างปาข้าวของ เหมือนอยากเล่นเขาก็เล่นเลย แต่วิธีการเล่นไม่ถูก วิธีการควบคุมตัวเองของเขายังไม่ดี ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่ามันเกิดมาจากอะไร
เด็กในห้องติวในสายตาของคุณครู
เรายังไม่เห็นความทุกข์หรอก แต่เราเห็นความเบื่อ ความไม่อยากทำ และสิ่งที่เราสัมผัสได้จากเด็กๆ ชัดเจนเลยก็คือ เขาทำเพื่อพ่อแม่ เขาทำเพราะความรัก
คือเด็กบางคนมีความมุ่งมั่นว่าจะสอบเข้าที่นั่นที่นี่ให้ได้ แต่ที่เขามุ่งมั่นก็เพราะเขารักพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่ดีใจ เด็กหลายคนบอกว่าอยากเข้าที่นั่นที่นี่ให้ได้ เพราะว่าคุณพ่อเป็นศิษย์เก่าที่โรงเรียนนั้น เขายังอ่านไม่ได้ พูดชื่อโรงเรียนยังไม่ชัดเลย แต่เขาพูดถึงโรงเรียนที่พ่ออยากให้เข้า เพราะเขารักพ่อ บางทีเวลาเด็กๆ เริ่มเบื่อ เราก็จะบอกเขาว่า “อดทนทำอีกหน่อยนะ ถ้าทำเสร็จคุณแม่จะดีใจมากเลย” เด็กเขาก็จะมีแรงฮึดขึ้นมา นั่นคือความรักที่เขามีให้พ่อแม่จริงๆ
ความคาดหวังของผู้ปกครอง
ความคาดหวังของผู้ปกครองมีอยู่ตลอด ขนาดตอนที่เรามาเป็นครูโรงเรียนทางเลือก ที่ค่อนข้างจะชัดเจนกับแนวทางการเรียนการสอน ก็ยังมีผู้ปกครองมาฝากฝังว่า “คุณครูคะ น้องจะไปสอบเข้าที่โรงเรียนนี้นะ คุณครูช่วยติวให้หน่อยได้ไหม” เราก็ต้องยืนยันเจตนารมณ์และแนวทางของโรงเรียนให้ชัดเจน และเราอยากมีความรู้สึกที่ดีกับเด็ก อยากรักษาความสัมพันธ์และความไว้ใจที่เด็กมอบให้เราไว้ เพราะไม่อย่างนั้น ความสัมพันธ์ของเราจะเปลี่ยนไปเลยนะ ถ้าเราต้องกดดันให้เขาทำชีตต่างๆ ให้ทำอะไรที่เราเองก็ไม่ชอบ เราก็เลยปฏิเสธไป
แม้กระแสโรงเรียนทางเลือกจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ผู้ปกครองก็ยังมีความกังวลเรื่องการเข้า ป.1 ของลูกอยู่ดี คืออยากให้ลูกได้เรียนอย่างผ่อนคลาย แต่ก็ยังติดว่าจะสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้ไหม เหมือนยังไปไม่สุด เรารู้ว่าผู้ปกครองก็อยากแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ก็ด้วยความรักนั่นแหละ ทุกคนทำทุกอย่างด้วยความรัก
ตอนเป็นคุณครูที่โรงเรียนทางเลือกเป็นอย่างไรบ้าง
พอเรียนจบ เราก็รู้ว่าเราไม่ชอบการไปเป็นติวเตอร์แบบนั้น เลยมาเป็นคุณครูประจำชั้นอนุบาลที่โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง บรรยากาศในการเรียน ความเป็นอิสระ รวมถึงโครงสร้างของสถานที่ และรายละเอียดเล็กน้อยอื่นๆ แตกต่างจากโรงเรียนติวอยู่แล้ว คือเราก็จบปฐมวัยมา เราก็รู้ว่าที่จริงแล้วการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมันเป็นยังไง
พอพูดถึงการเรียน เราอาจตีความกันว่า การเรียนคือการนั่งโต๊ะ มีกระดาน มีการมองภาพ ถามแล้วตอบ อะไรแบบนั้น แต่ว่าสิ่งที่เด็กๆ ต้องการคือการ ‘เรียนรู้’ คือพอเป็นคำนี้แล้วมันลงลึกมากกว่า การเรียนรู้มันเรียนรู้จากอะไรก็ได้ เช่น เราเดินไปเจออุปสรรค มีหลุมอันนึงที่เราข้ามมันไปไม่ได้ เราก็จะคิดแล้วว่าจะเอาทรายมาถม สร้างสะพาน หรือวิธีการอะไรที่จะแก้ปัญหาให้เราผ่านไปให้ได้ จนเกิดเป็นประสบการณ์ที่เรามีต่อเรื่องนี้
เหมือนกับเด็กจะต่อบล็อก ยังไงก็วางไม่ลงล็อก ทำยังไงก็วางไม่ได้ แต่พอพลิกนิดหน่อย ขยับหามุมนิดนึง อ้าว บล็อกลงได้แล้ว พอเขาทำได้แล้วจะเกิดความรู้สึกว่า ตัวเขาเก่ง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงมีคุณค่าที่สุด เขาจะจำความรู้สึกนั้นได้ในระยะยาว ซึ่งการเรียนในห้องที่มีคุณครูคอยป้อน มีทุกอย่างสำเร็จรูปให้ มันขาดตรงนี้ไป เขาอาจจะมีความรู้ แต่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกเท่ากับเด็กที่ได้ลงมือเรียนรู้เอง
ซึ่งวิธีการแบบนี้มันช้า เห็นผลช้ากว่ามาก มองไม่เห็นคะแนน วัดผลให้เห็นกันชัดๆ ไม่ได้
พอพูดถึงการเรียน เราอาจตีความกันว่า การเรียนคือการนั่งโต๊ะ มีกระดาน มีการมองภาพ ถามแล้วตอบ อะไรแบบนั้น แต่ว่าสิ่งที่เด็กๆ ต้องการคือการ ‘เรียนรู้’ คือพอเป็นคำนี้แล้วมันลงลึกมากกว่า การเรียนรู้มันเรียนรู้จากอะไรก็ได้
สำหรับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ อาจมองว่าการเล่นมันไม่ได้อะไรหรือเปล่า
การเล่นมันมีทั้งแบบที่ปล่อยให้เขาเล่นอิสระ และการเล่นที่ถูกวางแผน ออกแบบจากคุณครูมาแล้ว ว่าเด็กเล่นอันนี้แล้วจะได้เรียนรู้อะไร บางคนพอได้ยินคำว่าเล่น ก็จะมองว่ามันไร้สาระ แต่กับเด็ก เขาไม่รู้สึกแบบนั้น เช่น ถ้าเขาได้ยินเราบอกว่า “ไปเล่นน้ำกัน” กับ “ไปเรียนว่ายน้ำกัน” ความสนใจของเขาก็ต่าง อารมณ์ก็ต่างกันแล้ว
ในวงการคุณครูมองเรื่องการยกเลิกสอบเข้า ป.1 อย่างไร
มองว่าหลายคนก็คงอยากให้มันเกิดขึ้นจริง เพราะว่าคุณครูที่อยู่ในโรงเรียนทั่วไป คนที่เป็นครูจริงๆ เขาก็อยากทำหน้าที่ครู ไม่ใช่แค่ดันให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คุณครูก็คงสบายใจขึ้น เพราะครูทุกคนรู้แหละ ว่าวิธีไหนที่เหมาะกับเด็ก ครูเขาพร้อมที่จะทำทุกอย่าง ปรับไปตามธรรมชาติของเด็ก ถ้า ผอ. หรือคนที่อยู่ข้างบนเข้าใจ เชื่อใจเด็ก เชื่อใจครู ทุกอย่างมันจะไปได้
สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือครูประถมจะกดดันครูอนุบาลว่า เด็กต้องอ่านหนังสือให้ได้นะ ถึงจะขึ้น ป.1 ได้ มันก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เราเลยพลาดโอกาสที่จะปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยวิธีของเขาไป ให้เขาได้เล่น เจ็ดขวบแปดขวบค่อยอ่านเขียนก็ไม่ช้าไปนะ เพราะเมื่อเขาพร้อม เขาจะอ่านได้อย่างแตกฉาน เขาจะเรียนภาษาได้อย่างสนุก เขาจะคิดเลขอย่างสนุกมากเลย อย่าไปเร่งเขา
เราเคยเจอเด็กอนุบาลสามที่เราเคยสอน เขาออกไปเรียนประถมที่โรงเรียนทางเลือกอื่น แล้วกลับมาค่ายที่โรงเรียนเรา ตอนนั้นเขาก็ยังเขียนสะกดคำไม่เป็นนะ แต่พอทำกิจกรรม เขาอยากเขียนป้ายว่า ‘บ้านนี้มีลูกชิ้น’ เขาก็มาถามคุณครูว่าเขียนยังไง คุณครูก็เลยให้ลองเขียนเองดู เขาก็ทำนะ เพราะเขาอยากเขียนมาก สุดท้ายเขาสะกดออกมาว่า ‘บานนี้มีรูชิ้น’ (หัวเราะ) คือเขาสะกดผิด แต่ว่ามันมีเสน่ห์มาก เพราะเขาสะกดจากการเชื่อมโยงเสียง เขาสังเกตและคาดเดาจากประสบการณ์ของตัวเอง ว่าคำมันน่าจะสะกดแบบนี้ แล้วเขาก็ภูมิใจมาก
เราเลยคิดว่า นี่แหละคือการเรียนรู้จากชีวิตจริง มันเกิดจากแรงขับข้างในที่เด็กอยากจะเขียน ไม่ใช่ใครไปสั่งให้เขาเขียน สมมติครูให้เราเขียนคำว่า ‘เรามีนา’ แล้วการมีนามันเชื่อมโยงอะไรกับชีวิตเราเหรอ เรามีพ่อมีแม่สิ ไม่ใช่มีนา ความเชื่อมโยงนั้นสำคัญนะ การเรียนทำไมต้องเริ่มจาก ก. ไก่ เราชื่อมะแต ก็ไม่มี ก. ไก่ เราไม่เห็นความเชื่อมโยงกับตัวเรา ทำไมไม่เรียน ม. ม้า หรือ ต. เต่า ก่อน
ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับตัวเรา แล้วก็ขยายไปที่พ่อแม่เรา คนในครอบครัว คนแถวบ้าน เด็กเขาก็จะรู้สึกว่ามันอวลๆ กลมๆ อยู่รอบตัว รู้สึกเชื่อมโยง แล้วเขาก็จะอยากเรียน
ถ้าไม่มีการสอบ เมื่อขึ้นชั้นประถมเด็กจะปรับตัวยากไหม เพราะมีความพร้อมมาไม่เท่ากัน และไม่ได้ถูกคัดกรองด้วยการสอบวัดทักษะ
เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เด็กจากโรงเรียนเดียวกันก็อาจมีความพร้อมไม่เท่ากัน สำคัญที่สุดคือครูต้องเชื่อใจเด็ก ไว้ใจเขา เพราะแต่ละคนมีความหลากหลาย ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรที่หลากหลาย เปิดเทอมปุ๊บมันไม่ใช่การมานั่งโต๊ะ แล้วก็เรียน เราก็ต้องให้กิจกรรมที่หลากหลายกับเด็กๆ ด้วย เพราะมันคือการเริ่มต้น ถ้ามาอัดเรียนตั้งแต่ต้น แล้วแปะป้ายให้เด็ก ว่าทำไมเด็กที่มาจากโรงเรียนนี้ถึงอ่านเขียนไม่ได้เลย สู้อีกโรงเรียนไม่ได้ อ้าว กลายเป็นเด็กโดนทำร้ายอีกแล้ว แล้วมันจะฝังลึกนะ เขาจะจำเลยว่าเราไม่เก่งว่ะ แล้วอนาคตเขาจะเป็นอย่างไร จะเป็นผู้ใหญ่ยังไง เป็นไอ้ขี้แพ้เหรอ
จริงๆ แล้ว เด็กเจอการสอบแข่งขันได้ไหม เพราะถ้าไม่สอบ ป.1 แต่โตขึ้นไปก็ต้องเจอการสอบคัดเลือกอยู่ดี
เราใช้การสอบในการวัดผลได้เมื่อเขาโตขึ้น แต่ยังไม่ใช่ในวัยนี้ สำหรับเด็กปฐมวัย เราอยากให้เขาแข่งกับตัวเองก่อน อยากให้เขาท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น วันนี้เขาเจอหลุมอันนึง อยากจะข้ามมากเลย เขาก็ค่อยๆ หาวิธีการต่างๆ จนเมื่อวันนึงข้ามได้ เขาจะดีใจชะมัด เขาก็อยากจะท้าทายตัวเองต่อ ใครจะแข่งอะไรยังไงไม่รู้ แต่เราตั้งมั่นกับเป้าหมายที่เราจะทำ เราว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีกว่า ตัดเรื่องความอิจฉาริษยาที่มันเป็นการรบกวนอะไรหลายอย่างในชีวิตเรามาก เราเลยไม่อยากให้เด็กเราเป็นแบบนั้นด้วย
ตามหลักวิชาการ ฐานการเรียนรู้แรกของเด็กคือฐานกาย กายต้องแข็งแรงก่อน ถ้าเขาไม่ได้คลาน ไม่ได้ปีนตอนเด็กๆ ไหล่เขาจะนั่งเขียนหนังสือนานๆ ไม่ได้ มันมีผลทั้งหมด ขา แขน การกระโดด การสัมผัส มันคือการเรียนรู้ทางร่างกายก่อน พอกายแข็งแรง ทำอะไรก็ได้ จิตใจมันก็เริ่มมา ร่างกายเราทำอะไรได้เยอะจัง ปีน โหนอะไรก็ได้ ช่วยแม่ทำงานบ้านก็ได้ ร่างกายเรามีประโยชน์จัง พอจิตใจดี สมองก็สดชื่น ก็อยากเรียนรู้
แทนที่จะสอบ ในเด็กเล็กเราจะมีการทดสอบ แต่เป็นการทดสอบทางพัฒนาการ เช่น Denver Test เพื่อดูพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ว่าเป็นอย่างไร เราสังเกตผ่านการเล่นและการทำ เช่น ดูว่าเขาขึ้นลงบันไดเป็นอย่างไร ต่อบล็อกได้ไหม เป็นการคัดกรองด้านพัฒนาการ ที่มันถูกบ่งชี้มาจากนักวิชาการ คุณหมอ และนักพัฒนาการเด็กมาแล้วว่า เด็กในวัยไหนควรจะทำอะไรได้บ้าง
คือการเรียนรู้จากชีวิตจริง มันเกิดจากแรงขับข้างในที่เด็กอยากจะเขียน ไม่ใช่ใครไปสั่งให้เขาเขียน สมมติครูให้เราเขียนคำว่า ‘เรามีนา’ แล้วการมีนามันเชื่อมโยงอะไรกับชีวิตเราเหรอ เรามีพ่อมีแม่สิ ไม่ใช่มีนา
ถ้าไม่มีการสอบ แล้วจะคัดเด็กอย่างไร
ทำได้หลายอย่างมาก อาจจะใช้ระบบใกล้บ้าน ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ สมมติลูกเขาถึงวัยเข้าโรงเรียน พ่อแม่ก็จะพาไปที่เขต เพื่อไปดูว่าในเขตนี้มีโรงเรียนไหนที่เราเข้าได้บ้าง แต่ละเขตเขาก็จะมีการแข่งกันเองด้วย เพื่อทำให้คุณภาพโรงเรียนดีขึ้น เพราะว่าส่วนหนึ่งเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ การจัดการก็ง่าย พบเจอผู้ปกครองไปมาหาสู่กันง่าย
หรือจะจับสลากเลยก็ได้ เขียนชื่อใส่กระดาษแล้วให้ ผอ. เป็นคนจับ มันก็แฟร์ดี ไม่เครียดด้วย อาจจะมีนอนกระสับกระส่ายลุ้นผลนิดหน่อย แต่ผลระยะยาวมันดีกว่า เพราะเด็กไม่ต้องไปติวให้บอบช้ำกันเป็นปี
กับอีกอย่างที่เราว่าสำคัญกว่า คือการคัดกรองคนเป็นพ่อแม่ เราต้องให้การศึกษากับพ่อแม่ พาพ่อแม่เข้าห้องเรียน เพื่อให้เขารู้ว่า เด็กวัยนี้ต้องการอะไร ธรรมชาติของเด็กคืออะไร และเราจะดูแลเขาอย่างไร นั่นคือหัวใจหลักของการเลี้ยงดูเลย
ถ้าเราลดการแข่งขันเรื่องนี้ลง สังคมมันก็น่าจะดีขึ้น เด็กๆ ของเราก็ไม่ต้องเริ่มต้นการเรียนด้วยการแข่งขัน
คนที่ค้านก็อาจมองว่า บริบทสังคมเราเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศอย่างฟินแลนด์ หรือประเทศอื่นๆ ที่ให้อิสระเด็กปฐมวัยได้เล่นตามธรรมชาติของเขาไม่ได้
โลกมันเปลี่ยนไปแล้วนะ ทักษะที่เด็กต้องมีก็เปลี่ยนตามไปด้วย บางคนอาจเรียนไม่เก่ง แต่เขามีความคิดสร้างสรรค์ เขาอาจทำธุรกิจให้ไปรอดได้ เขาหาลู่ทางให้กับตัวเองได้ เพราะเขารู้ว่าตัวเองชอบอะไร เขามีความชัดเจนในตัวเอง
แต่ค่านิยมของบ้านเรายังมองที่ผลลัพธ์ เด็กต้องอ่านหนังสือให้ได้ตั้งแต่สามขวบ บางคนเขาอ่านหนังสือได้ แต่เขียนไม่ถูกก็มี หรืออ่านได้ แต่ไม่รู้ว่านัยของคำมันเป็นอย่างไร เหมือนอ่านนิยายแล้วไม่สนุก เพราะเราแค่อ่านออก แต่เราไม่ได้เข้าใจ
ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ผ่าน จะทำอย่างไร
ถ้ามันไม่ผ่านจริงๆ เราก็ต้องทำใจ และไปต่อด้วยความเชื่อที่ว่า ครอบครัวสำคัญที่สุดในการดูแลเยียวยาให้เด็กรู้สึกดีได้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งที่สุด เพราะที่โรงเรียน คุณครูก็พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ในเมื่อเงื่อนไขมันมาแบบนี้ เรายังต้องสอบแข่งขันกันตั้งแต่ระดับอนุบาล มันก็เป็นเรื่องที่เกินกำลังที่เราจะไปกำหนดได้แล้ว ก็คิดว่าอยากจะส่งพลังไปที่พ่อแม่ดีกว่า เพราะเขาคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เขาคือคนที่จะซ่อมแซมเด็ก และให้กำลังใจเด็กได้ดีที่สุดค่ะ
NO COMMENT