จากเด็กออทิสติกที่ได้รับการช่วยเหลือ และแรงสนับสนุนกำลังใจที่ดีจากคุณครูมาตลอดตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ทำให้เขาอยากก้าวขึ้นมาเป็นครูบ้าง เพื่อถ่ายทอดสิ่งดีๆ ที่ตัวเองได้เรียนรู้ให้กับเด็กๆ
มาวันนี้ น้องเชาว์ (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) ได้มาเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ให้กับนักเรียนประถมต้นในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งแล้ว และนอกเวลาสอนประจำ เขายังเข้าไปช่วยเหลือคุณครูท่านอื่นๆ ดูแลเด็กพิเศษอีกหลายคนเป็นพิเศษด้วย ซึ่งน้องเชาว์อยากบอกกับผู้ใหญ่ว่า…
“เด็กทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้…
แค่ผู้ปกครองกับโรงเรียนต้องร่วมมือกัน และเชื่อมั่นในตัวเด็ก”
รู้ว่าตัวเองมีอาการออทิสติกตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ คือเด็กออทิสติกจะมีความสามารถสองด้าน คือด้านความจำ จำได้ทุกรายละเอียด จำได้ทุกอย่างในบางเรื่อง และด้านความคิด คือสามารถใช้ความสามารถด้านการคิดได้ดีกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ชอบทำอะไรที่ใช้สมองเยอะๆ เช่น ตอนเด็กมีแข่งทำกระปุกออมสินของธนาคารออมสิน เชาว์ก็ได้ที่หนึ่งของโรงเรียน คือเรายังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถยังไง จากคำบอกเล่าของคนอื่นว่าเราทำอันนั้นได้ดี ทำอันนี้ได้ดี
แต่ตอนนั้นก็มีอุปสรรคในการเรียน
มีเยอะมากครับ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองต้องพึ่งคนอื่นอยู่มาก เพราะเรายังไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรยังไง
คนที่ช่วยก็คือครูที่เข้าใจเรา สมัยก่อนคนที่มีความเข้าใจยังน้อยมาก แต่ก็บังเอิญว่าเราโชคดี ที่ได้เจอครูที่เอาใจใส่ พยายาม และรู้วิธีที่จะแก้ปัญหาให้เรา ตั้งใจพัฒนาทางด้านวิชาการให้เรา
การได้เจอครูที่เข้าใจ เป็นเหตุผลให้เชาว์เลือกจะเป็นครูใช่ไหม
ใช่ครับ ครูมีบทบาทสำคัญมาก ตั้งแต่รุ่นอนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ พวกเขาช่วยให้เชาว์มีวันนี้
ตอน ม.5 มีครูแนะแนวท่านนึงบอกว่า การเป็นครูจะได้ช่วยเด็กยังไงบ้าง ก็เลยตัดสินใจเลือกเป็นครูตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็เริ่มคิดถึงเรื่องการเป็นครูของเด็กพิเศษ ที่บ้านก็สนับสนุน แต่อาจไม่มีกำลังที่จะส่งเสริม เพราะสมัยก่อนยังไม่มีอะไรที่จะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษ แค่ชื่อโรคสมัยนั้นคนก็ยังไม่รู้จัก คำว่าออทิสติกเพิ่งมาดังเมื่อช่วงประมาณปี 2010-2011 นี่เอง
ทำไมเลือกสอนวิชาคณิตศาสตร์
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ใช้ทักษะการคิด เราชอบและทำได้ดี แต่หลังจากที่เราได้คณิตศาสตร์ เราก็พัฒนามาด้านภาษา ด้านเข้าใจผู้อื่น ขยายขอบเขตความสามารถของเรามากขึ้น
(ครูเชาว์คิดวิธีบวกเลขโดยเลี่ยงทด สำหรับเด็กๆ ที่ไม่ค่อยเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ไว้ด้วย ใครสนใจลองเอาไปสอนเด็กๆ ดูนะคะ)
ความยากของการเป็นครูเชาว์
จะทำยังไงให้เด็กเชื่อฟัง จะจัดการเรียนการสอนยังไงให้ดำเนินไปได้ ทั้งเรื่องการปรับตัวกับนักเรียน ความเข้าใจ และวิธีการที่เราสอน เรามั่นใจว่าสามารถดูแลนักเรียนคนเดียวหรือกลุ่มย่อยได้ แต่ในความเป็นจริง เราต้องดูแลทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษ 12 ห้อง ห้องละ 30-40 คน รวมเป็น 480 คน
และการดูแลเด็กพิเศษที่นอกเหนือจากในวิชาเรียน ครูก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเด็กพิเศษ เพราะประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ปัญหามันไม่ได้มีแค่อย่างเดียว มีทั้งเรื่องครอบครัว สังคม และต้องเข้าใจผู้ปกครองด้วย
ปัญหาที่ยากที่สุดคืออะไร
ปัญหาสำคัญคือการส่งลูกเข้ามาเรียน แล้วผู้ปกครองเข้าใจผิดว่า เป็นหน้าที่ของครูที่จะปรับพฤติกรรมนักเรียน เหมือนเข้าใจผิดว่า พาลูกไปหาหมอแล้วลูกต้องหายป่วย โดยที่ที่บ้านก็ไม่ต้องปรับอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ พ่อแม่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปรับพฤติกรรมของลูก จุดเริ่มต้นจริงๆ อยู่ที่พ่อแม่ เราน่าจะส่งเสริม ให้เขาสามารถกลับไปปรับเองได้
เพราะจริงๆ แล้วสอนนักเรียนไปก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ถ้าผู้ปกครองไม่มีความเข้าใจ สภาพแวดล้อมที่เขาเจอมาเหมือนเดิมทุกวัน เป็นครูเลยต้องรู้หลายอย่าง ทั้งเรื่องการสอน จิตวิทยาเด็ก ครอบครัว สังคมสงเคราะห์ ไม่งั้นเราจะแก้ปัญหาที่ตัวนักเรียนไม่ได้เลย
“เราอยากรู้มากขึ้น เราอยากรู้ว่าตัวเราเป็นอะไร
เราอยากรู้ว่าทำไมไม่มีคนคบ”
เพราะว่าเราอยากสื่อสารกับคนในวงกว้าง เลยเป็นเหตุผลที่เริ่มเล่าเรื่องตัวเองลงพันทิปหรือเปล่า
ที่เขียนพันทิปเริ่มมาจากที่ตัวเองไม่เข้าใจตัวเอง ในมหาวิทยาลัยก็มีแต่คนไม่เข้าใจเรา ก็เริ่มไปเข้าห้องสมุดเพื่อค้นหาตัวเอง หาหนังสือเกี่ยวกับเด็กพิเศษ ที่อ่านแล้วก็ได้รู้ข้อมูลมากมาย เริ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเด็กพิเศษ ค้นคว้าเรื่องของตัวเองไปเรื่อยๆ
แต่ความรู้ที่เราค้นคว้ามาได้ มันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเราไง เราอยากรู้มากขึ้น เราอยากรู้ว่าตัวเราเป็นอะไร เราอยากรู้ว่าทำไมไม่มีคนคบ เราก็เลยมาดูในอินเทอร์เน็ต ก็มีเรื่องราวของเด็กพิเศษอยู่ไม่กี่กระทู้ ข้อมูลน้อยมากเลย ก็เลยลองสมัครแล้วถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองดู
พอได้สอน ได้เจอเด็กพิเศษจริง เราก็เริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจกระบวนการและภาวะความเป็นเด็กพิเศษของตัวเองขึ้น แล้วก็เริ่มถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเป็นลงไปในกระทู้ เพราะเราคิดว่ามีคนที่อยากรู้เหมือนกัน ว่าเด็กออทิสติกเขามีความรู้สึก เขาคิดอะไรอย่างไร เขามีภาวะยังไงบ้าง เราอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจตรงนี้ ก็เลยเขียนบทความขึ้นมา
มีทั้งประสบการณ์ตรงของตัวเอง แล้วก็ประสบการณ์จากเพื่อนออทิสติกคนอื่น
ใช่ครับ การเขียนก็จะเปลี่ยนไปตามประสบการณ์และความรู้ที่เราได้รับมา และก็มีกลุ่มเพื่อนออทิสติกมาเล่าเรื่องราวให้ฟัง แต่ละคนก็จะเจออะไรที่แตกต่างกันไป แต่ที่คล้ายกันก็คือการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
เป้าหมายในการเป็นครู
อยากจะช่วยเหลือเด็ก ทั้งเด็กพิเศษและเด็กทั่วไป เหมือนกับเราได้ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กๆ เรียนรู้ที่จะเข้ากับเขาให้ได้ แล้วเรียนรู้ต่อไปที่จะพัฒนาตัวเขาได้ พูดคุยเป็นรายบุคคล แลกเปลี่ยน เรียนรู้หลักการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเด็กๆ ก็ยอมรับและสนุกกับการสอนของเรา
แต่โจทย์ยากต่อไปก็คือ จะพัฒนาเด็กอย่างไร และยากตรงที่จำนวนเด็กมันเยอะ จะใช้วิธีไหนที่จะพัฒนาพวกเขาทุกคนให้ได้ เพราะการสอนเป็นหน้าที่ แต่การดูแลเด็กพิเศษเพิ่มเติม ก็เป็นส่วนที่เราเห็นปัญหาแล้วอยากทำเอง
หลักๆ คือเราอยากช่วยเหลือเด็กพิเศษ เราค้นคว้าหาความรู้ให้มากขึ้น อยากช่วยเหลือเด็กทั่วประเทศ เพราะสถานการณ์ของเด็กพิเศษ มันไม่ได้ดูดีขึ้นเลย มันเหมือนจะดีขึ้นนะ แต่ในทางกลับกันมันก็แย่ลง เพราะตัวผู้ปกครองหรือคุณภาพของบุคลากรในประเทศยังเข้มแข็งไม่พอที่จะพัฒนาต่อไป ยังขาดความรู้ ขาดการรับมือ และที่สำคัญคือ หลายคนยังขาดความใกล้ชิดกับลูก ขาดการฝึกปฏิบัติจริง
เด็กพิเศษที่ครูเชาว์เคยดูแล มีพฤติกรรมยังไงบ้าง
มีหลายประเภทครับ ทั้งอ่านหนังสือไม่ออก พฤติกรรม อารมณ์ หลายอย่างรวมกันหมดเลยครับ เช่น เคสที่มีมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่สนใจของผู้คนอย่าง ODD (Oppositional Defiant Disorder) ที่ผมเคยเขียนลงพันทิป จะเป็นเคสที่เด็กมีภาวะดื้อและต่อต้านก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้สึกอะไร
เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีปัญหาขาดความรัก ขาดความอบอุ่น สิ่งแวดล้อมที่เขาเจอเป็นด้านลบ สังคมก็ลบ แล้วยิ่งปัจจุบันคนอยู่แต่กับเทคโนโลยี ไม่ได้อยู่กับบุคคล มันเลยทำให้จิตใจเขาขาด ขาดจนไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งการใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ได้ปรับให้เขาดีขึ้นเลย เราก็ลองปรับพฤติกรรม ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เขาก็มีโมโหบ้าง แต่เราต้องให้ความรักเขาเรื่อยๆ ให้เขารู้สึกมีที่พึ่ง ไม่โดดเดี่ยว
จริงๆ แล้วนี่เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลเด็กทุกครอบครัวเลย ว่าต่อให้เด็กแย่ขนาดไหนนะ จะต้องหาใครสักคนนึงที่เป็นบวกมาช่วยเขาให้ได้ครับ มันจะช่วยปรับพฤติกรรม และพัฒนาการอะไรหลายๆ อย่างในเด็กก็จะดีขึ้นด้วย
ปรับพฤติกรรมของเด็กๆ อย่างไร
เราก็เริ่มจากสอนอะไรที่ทำเป็นประจำ เขาจะเรียนรู้ด้วยวิธีจดจำ และเริ่มคิดได้ แต่เรื่องของอารมณ์ ก็ต้องใช้ความเข้าใจในการสอน ต้องคุมอารมณ์ตัวเองให้อยู่ ไม่หงุดหงิดกับเด็กด้วย เพราะเด็กสมัยนี้ค่อนข้างเซนซิทีฟ กระบวนการดูแลก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
เราตั้งกระทู้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กเข้าใจ มีความรู้สึกร่วมกัน และหาวิธีแก้ไข มันอาจไม่ตรงทั้งหมด แต่อยากให้เข้าใจแล้วนำไปปรับใช้ได้
ประสบการณ์ที่เจอจากเด็กพิเศษ ทำให้เข้าใจเด็กปกติมากขึ้นไหม
เข้าใจมากขึ้นนะ ทั้งสังคม ทุกอย่าง คือเราดูเด็กเป็นรายบุคคลเลย ว่ามีพฤติกรรม อารมณ์ นิสัย ครอบครัวเป็นยังไง จริงๆ แล้วมันไม่ต่างกันเลย แค่เด็กพิเศษจะมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่าเด็กทั่วไป แต่เรายังพัฒนาเขาได้ในหลายๆ ด้าน เราอาจจะไม่ได้แก้ได้ทั้งหมดหรอก แต่เรียนรู้เพื่อที่ต่อไปในอนาคต จะช่วยเหลือบรรเทาให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรื่องอื่นที่ครูเชาว์อยากช่วยเหลือเด็ก
ปัญหาของเด็กทั่วไปคือครูดูแลเด็กไม่ทั่วถึง เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่จะเลกเชอร์แล้วปล่อยให้เข้าใจด้วยตัวเองทั้งหมด ต้องมีคนช่วยเหลือนะ ไม่ใช่สั่งแล้วให้เด็กทำตามทันที จะกลายเป็นว่าเด็กคิดเองไม่เป็น ต้องมีคำสั่งป้อนมาตลอด
ครูก็ด้วย ชอบสั่งให้เด็กทำให้ถูก แต่เด็กต้องเรียนรู้ที่จะผิดพลาด แล้วเรียนรู้ที่จะแก้ไข ไม่ใช่ผิดแล้วโดนต่อว่า มันจะทำให้เขาไม่กล้าทำผิด เพราะผิดก็โดนว่า ผิดแล้วจะไม่ได้รับคุณค่า มันเป็นเรื่องทางจิตวิทยา พอไม่ได้รับคุณค่าในตัวเอง ก็รู้สึกแย่กับตัวเอง
ส่วนเด็กออทิสติกหลายคน กว่าจะโตเป็นวัยผู้ใหญ่ ก็ต้องผ่านสังคมแบบที่พูดไปแล้วเหมือนกัน
เราต้องสอนให้เขาอยู่ในสังคมที่เหมาะสมที่อยู่ตรงกลางให้ได้ เรียนรู้หลักการอยู่ร่วมกัน ทำให้ทุกคนเลิกมองเด็กออทิสติกเป็นด้านลบ มันยาก แต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไป
“หลักสูตรในโรงเรียนส่วนใหญ่สอนแค่หลักวิชาการ ว่าต้องเขียนยังไง อ่านยังไง แต่ความเป็นมนุษย์ หลักการอยู่ร่วมกันต่างหากที่โรงเรียนควรสอน เพราะมันเป็นวิชาชีวิต”
อยากให้คนนอกช่วยเหลือ หรือเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กพิเศษอย่างไร
ยอมรับพวกเรา และยอมรับความจริง เพราะแม้ในหลายๆ เรื่องเรายังจัดการกับตัวเองไม่ได้ ยังต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ แต่พวกเราพัฒนาได้ พวกเราอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
คนทั่วไปเขาพร้อมเข้าใจแหละ แต่หลักสูตรในโรงเรียนส่วนใหญ่กลับสอนแค่หลักวิชาการ ว่าต้องเขียนยังไง อ่านยังไง แต่ความเป็นมนุษย์ หลักการอยู่ร่วมกันต่างหากที่โรงเรียนควรสอน เพราะมันเป็นวิชาชีวิต อยากให้หลักสูตรพัฒนาไปในแนวนี้ ไม่ต้องแข่งขันกัน แต่ให้เข้าอกเข้าใจ ร่วมมือกัน ไม่ทำให้โดดเดี่ยว หรือปลูกฝังความเจ็บปวดในหัวใจเขา
เพราะหลายคนที่โดนปลูกฝังมาแบบนี้ เขาจะโตมาแบบรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต รู้สึกว่าพยามเท่าไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ อยากให้ทุกคนจูงมือกันเขาเส้นชัย เพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง ไม่ใช่ไปลดคุณค่าคนอื่นให้มาเท่ากับตัวเอง
สุดท้ายถ้าให้ฝากอะไรถึงใครสักคน
จริงๆ ก็ไม่กล้า แต่อยากฝากถึงคนที่ดูแลระบบการศึกษา อยากให้เขาลงมาคลุกคลีกับเด็กจริงๆ มากกว่า อยากให้ลงมาอยู่กับเด็กจริงๆ สักสองสามอาทิตย์ อยู่ให้เข้าใจก่อน แล้วหลังจากนั้นจะไปคิดนโยบายอะไรต่อจากนั้นก็ค่อยว่ากัน
NO COMMENT