บ้านโบราณทรงปั้นหยาสีเขียวบนถนนเจริญกรุง รายล้อมด้วยต้นไม้ ปูพื้นด้วยพรมหญ้าเทียมดึงดูดสายตาคนที่พบเห็นได้ทันที ไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ แต่ที่นี่คือสถานที่ที่เด็กๆ และครอบครัวจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพโดยมีหนังสือเป็นสื่อกลาง—ห้องสมุดเด็กดรุณบรรณาลัย ห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งแรกในประเทศไทย
ห้องสมุดดรุณบรรณาลัยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชมมายุครบ 60 พรรษา โดยชื่อของ ‘ดรุณบรรณาลัย’ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แปลว่า ‘ห้องสมุดสำหรับเด็ก’
คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์—ผู้อำนวยการห้องสมุดดรุณบรรณาลัย และรองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาและเรื่องราวของห้องสมุดที่อบอุ่นและน่ารักว่า จุดเริ่มต้นของดรุณบรรณาลัยมาจากโครงการหนังสือเล่มแรก (Bookstart) ในประเทศไทย เป็นโครงการที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษก่อนจะถูกนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ หลักการคือให้พ่อแม่ใช้หนังสือภาพเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงลูก ด้วยการอ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกอายุหกเดือน วันละ 5-15 นาที นอกจากจะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกน้อยแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ จดจำเรื่องราว และยังสร้างความผูกพันในครอบครัว
และแรงบันดาลใจสำคัญอีกอย่างก็คือ ห้องสมุดบ้านที่เรียกว่า ‘บุงโกะ’ ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่ประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการอ่านอยู่ในรากเหง้าและยาวนานมาถึงชีวิตประจำวัน จึงให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือของเด็กๆ และเพื่อเด็กๆ จะได้ไม่ต้องไปยืมหนังสือจากห้องสมุดไกลบ้าน ทำให้ในประเทศญี่ปุ่นมีบุงโกะถึงประมาณห้าพันแห่ง
บ้านโบราณหลังนี้ถูกปรับปรุงและตกแต่งใหม่โดยบริษัทแปลน อาร์คิเต็ค จำกัด ให้พื้นที่ภายในเต็มไปด้วยหนังสือน่ารักสีสันดึงดูดสายตา บนชั้นหนังสือเตี้ยๆ เพื่อให้เด็กสามารถเอื้อมหยิบได้ง่าย มีที่นั่งหลากหลายทั้งเก้าอี้และเบาะทรงกลม ส่วนที่น่ารักและเชิญชวนให้เราเดินเข้าไปหา คือบันไดสีรุ้งซึ่งเชื่อมพื้นที่จากในบ้านไปสู่ลานนอกบ้านที่มีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ สนามหญ้าเทียมกว้าง และทางลาดที่ปูด้วยไม้สีเข้ม เรียกว่า เนินนักอ่าน ล้วนเป็นสถานที่ๆ นักอ่านตัวจิ๋วสามารถหยิบหนังสือไปนั่งอ่านนอนอ่านได้ตามความสมัครใจ ถือว่าเป็นการออกแบบพื้นที่ด้วยความตั้งใจให้เด็กๆ สามารถอ่านหนังสือได้ทุกพื้นที่ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยพกหนังสือติดตัวให้กับเด็กๆ เพราะพวกเขาสามารถหยิบหนังสือมานั่งอ่านนอนอ่านที่ไหนก็ได้ในพื้นที่ของห้องสมุด
ปัจจุบันมีหนังสือในห้องสมุดดรุณบรรณาลัยราวสามพันเล่ม แบ่งหมวดหมู่ตามอายุเด็กปฐมวัย ได้แก่ 0-3 ปี 3-5 ปี และ 5 ปีขึ้นไป รวมถึงหนังสือต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้จัดตั้งคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อคัดสรรหนังสือดีเหมาะกับพัฒนาการของแต่ละช่วงวัยมาไว้ในห้องสมุดและจัดเป็นโซน เช่น
หนังสือสำหรับเด็กวัย 0-3 ปี ได้แก่ บอร์ดบุ๊ก หนังสือผ้า หนังสือลอยน้ำ หนังสือปกแข็งและปกอ่อน ซึ่งมีเทคนิคและลูกเล่น ทำมาจากวัสดุที่ทนทานกว่าหนังสือทั่วไป ส่วนเนื้อหามักจะเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เช่น การนับจำนวนสิ่งของ หรือทำความรู้จักกับสัตว์ใกล้ตัว
หนังสือสำหรับเด็กวัย 5 ปีขึ้นไป ถูกจัดอยู่บนชั้นบริเวณบันไดสายรุ้ง หนังสือของเด็กๆ วัยนี้จะเริ่มมีตัวอักษรและมีความซับซ้อนมากขึ้น มีความเป็นนามธรรมให้ได้ขบคิดมากขึ้น เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มไปโรงเรียนและเริ่มอ่านเขียนได้แล้ว
หนังสือสำหรับเด็กวัย 3-5 ปี ถูกจัดอยู่ในห้องใหญ่ที่สุดของห้องสมุด เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กจะมีความสนใจหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องสัตว์ในสวนไปจนถึงไดโนเสาร์ ดำดิ่งไปใต้ทะเล หรือเหินฟ้าขึ้นไปจนถึงอวกาศ ที่นี่จึงมีหนังสือสำหรับเด็กวัยนี้มากที่สุดตามไปด้วย
โซนหนังสือต่างประเทศ นอกจากหนังสือภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีทั้งหนังสือภาษาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน เกาหลี และอีกมากมายหลายภาษา
โซนนี้เป็นจุดที่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองมาก เพราะหนังสือต่างประเทศหลายเล่ม หาซื้อยากและไม่เคยมีการแปลเป็นภาษาไทยมาก่อน
ที่ดรุณบรรณาลัยจะมีบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และระบบในห้องสมุดไม่เหมือนกับห้องสมุดทั่วไป เพราะห้องสมุดที่นี่จะวางหนังสือด้วยการโชว์ปกให้เด็กๆ เลือกหยิบได้ตามใจชอบ และใช้รูปภาพเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้เด็กๆ เอาหนังสือกลับมาวางที่เดิมได้ถูกที่ และที่สะดุดตาอีกอย่างก็คือกล่องกระดาษใบโตรูปทรงคล้ายบ้าน สีสันสดใสมีสัญลักษณ์กากบาทสีแดง ซึ่งเรียกว่า ‘โรงพยาบาลหนังสือ’ เพื่อแก้ปัญหา หากเด็กๆ พบหนังสือที่ขาดหรือเสียหาย ทีมงานจึงสร้างกล่องขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ พาหนังสือมาส่งคุณหมอ คุณหมอจะได้จัดการเอาหนังสือไปซ่อมก่อนเก็บเข้าชั้นหนังสืออีกครั้ง
นอกจากการอ่านหนังสือแล้ว ที่นี่ยังมีการจัดกิจกรรมใหญ่ประจำปีรวมทั้งสิ้นสี่ครั้ง ได้แก่ กิจกรรมวันเด็กในเดือนมกราคม กิจกรรมวันหนังสือเด็กนานาชาติและวันหนังสือเด็กแห่งชาติในวันที่ 2 เมษายน กิจกรรมวันแม่ในเดือนสิงหาคม และกิจกรรมวันพ่อในเดือนธันวาคม และเวิร์กช็อปที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ สิ่งประดิษฐ์ การร้อง เล่น เต้นระบำ หรือเวิร์กช็อปสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เช่น การทำหนังสือนุ่มนิ่ม และทุกวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีกิจกรรมเล่านิทานจากทีมงาน และทีมอาสาซึ่งจะเปลี่ยนแนวของนิทานที่เล่าไปในแต่ละสัปดาห์ให้เข้ากับเทศกาลแต่ละช่วง
รู้จักเรื่องราวของห้องสมุดดรุณบรรณาลัยไปแล้ว เราก็อยากรู้ว่าเด็กๆ ซึ่งบางคนก็มาใช้เวลาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นนั้น เขาชอบอ่านหนังสืออะไรกัน เล่มไหนที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆ มากเป็นพิเศษ เราหาคำตอบจากทีมงานของดรุณบรรณาลัย ซึ่งมีทั้งอดีตคุณครูอนุบาล และทีมงานที่จบสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กโดยตรง มาให้คำตอบพร้อมหยิบหนังสือมาให้พวกเราดู แถมยังเล่านิทานในเล่มให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ทำเอารู้สึกอยากย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลยทีเดียว
หนังสือเด็กยอดนิยมที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย
• กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก เรื่องราวของยายเช้าที่สอดแทรกความเป็นไทยไว้ตั้งแต่เริ่มเรื่อง นอกจากเนื้อเรื่องจะตลกแล้วยังสอนเรื่องสุขอนามัยได้อย่างดี
• หนังสือชุด กุ๋งกิ๋ง ตุ๊บป่อง ป๋องแป๋ง ซีรีส์จบในเล่ม เช่น กุ๋งกิ๋งรักพ่อรักแม่ กุ๋งกิ๋งปวดฟัน กุ๋งกิ๋งท้องผูก แถมเร็วๆ นี้ กุ๋งกิ๋งยังไปไกลถึงอาเซียน ทำให้มีหนังสือชุดกุ๋งกิ๋งเที่ยวอาเซียนออกมาให้เด็กๆ อ่านกันอีกด้วย
• ถู แตะ เป่า เขย่า สนุกจัง! เป็นหนังสือที่ทำให้เด็กๆ สามารถวางแท็บเลตลงได้
• อึ หนังสือที่แค่ได้ยินชื่อเรื่อง เด็กๆ ก็ชอบใจแล้ว เปิดเล่มด้วยการเรียนรู้ว่าอึของสัตว์แต่ละชนิด อย่างช้างตัวใหญ่ อึเลยก้อนใหญ่ หนูตัวเล็ก อึเลยก้อนเล็ก อูฐโหนกเดียวก็มีอึก้อนเดียว อูฐสองโหนกก็อึสองโหนก (อันนี้ไม่จริงนะ) สัตว์หลายตัวหลายชนิดก็อึหลายสีหลายกลิ่นต่างกันไป แล้วงูอึทางไหนนะ? ทิ้งปริศนาไว้ให้เด็กๆ ได้สงสัยและจินตนาการต่อได้
• Guess How Much I Love You (ทายซิ หนูรักพ่อมากแค่ไหน) นิทานอมตะเรื่องหนึ่งของโลก เมื่อกระต่ายพ่อลูกพูดคุยกันเรื่องความรักและแข่งกันว่าใครจะรักกันมากกว่ากัน
• อีเล้งเค้งโค้ง นิทานคำคล้องจองที่สอนเด็กเรื่องอารมณ์ ผ่านเจ้าห่านหน้าตาบูดบึ้ง ที่เราเองก็เคยเห็นมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เลยถือเป็นหนังสือนิทานอมตะอีกเล่มของเมืองไทย
NO COMMENT